นาวาฝ่าวิกฤต: Mobility in the time of flood

อ่าน: 2754

เรื่องนี้รู้มาสักพักหนึ่งแล้ว แต่ไม่ได้เขียนถึงแม้จะคิดว่าเป็นไอเดียที่ดีมากก็ตามครับ

https://www.facebook.com/groups/floodcontest/

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกับ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เชิญชวนนักเรียน นิสิต นักศึกษาและประชาชนชาวไทยส่งผลงานเข้าร่วมประกวดสิ่งประดิษฐ์ “นาวาฝ่าวิกฤต: Mobility in the time of flood” เพื่อช่วยเหลือบรรเทาทุกข์แก่ประชาชนและอำนวยความสะดวกในการปฏิบัติงานของ เจ้าหน้าที่ซึ่งให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ ประสบภัย ระหว่างวันที่ 26 ตุลาคม – 2 พฤศจิกายน โดยกำหนดให้การพัฒนาต้นแบบต้องเสร็จสิ้น ภายในวันที่ 10 พฤศจิกายน เพื่อส่งเข้าในรอบชิงชนะเลิศวันที่ 11 พฤศจิกายน ศกนี้ ชิงเงินรางวัลและเงินทุนพัฒนาโครงการมูลค่ากว่า 1 ล้านบาท โดยผลงานที่สำเร็จจะนำมาสนับสนุนช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบอุทกภัยต่อไป ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ e-mail: floo...@nectec.or.th หรือ Facebook: “Flood Mobile Contest Thailand”

…สำหรับโจทย์ของการประกวดในครั้งนี้ คือ เราจะช่วยผู้คนเดินทางสัญจรทางน้ำได้อย่างสะดวกและปลอดภัย ด้วยวัสดุอุปกรณ์และเครื่องมือใกล้ตัวที่เหลือใช้ หาได้ง่ายได้อย่างไร ผู้สนใจจะต้องพัฒนาสิ่งประดิษฐ์ในการเคลื่อนย้ายซึ่งสามารถรับน้ำหนักได้ที่ 160 กิโลกรัมในพื้นที่น้ำท่วมโดยสะดวกและปลอดภัย ซึ่งอาจจะเป็นแพและ/หรือใช้จักรยานที่สามารถขับเคลื่อนหรือปั่นในน้ำ แทนที่จะใช้การพาย มีความถ่วงสมดุลและสามารถลอยน้ำได้ โดยใช้วัสดุทั่วไปที่ต้นทุนต่ำ หาง่ายและมีอยู่ในท้องถิ่น สร้างขึ้นโดยง่ายเพื่อให้สิ่งประดิษฐ์ดังกล่าวสามารถนำไปใช้งานที่ใดก็ได้ในประเทศไทย ทั้งนี้ทรัพย์สินทางปัญญาเป็นของผู้ประดิษฐ์ แต่ผลงานต้องเปิดเผยและเผยแพร่ให้เป็นสมบัติสาธารณะ และอนุญาตให้คนไทยใช้งานได้ทั่วไป และสามารถนำไปผลิตเพื่อใช้งานจริงได้…

กล่าวคือเป็นพาหนะลอยน้ำ น้ำหนักบรรทุก 160 กก. เสถียรภาพดี ไม่ใช้เครื่องยนต์ เป็นเทคโนโลยีชาวบ้านซึ่งใครๆ ที่ไม่งอมืองอเท้า สามารถสร้างได้เองโดยไม่ต้องรอความช่วยเหลือ — ความคิดอย่างนี้น่ายกย่องครับ

ขอแสดงความยินดีกับทีมที่ผ่านการคัดเลือกทุกทีม ท่านใช้รอยหยักในสมองให้เป็นประโยชน์แล้ว

อ่านต่อ »


มีดี…ก็งัดออกมาเลย

อ่าน: 2674

เมื่อวานเข้ากรุงเทพไปทำเรื่องบัญชีการรับบริจาคซึ่งติดขัดอยู่ แก้ไขจนเรียบร้อยแล้วครับ หมดเวลาไปทั้งวันทั้งคืนจนไม่ได้เขียนบันทึก

บ้านอยู่ปากเกร็ดฝั่งตะวันออกของแม่น้ำ แม่น้ำเจ้าพระยาอยู่ทางตะวันตกห่างเพียง 1 กม. ทางตะวันออกเป็นคลองประปา ทางเหนือเป็นแนวคันดินพระราชดำริ (ถนนประชาชื่นปากเกร็ดหรือศรีสมาน) น้ำยังไม่ท่วม ก็ต้องยกความดีให้กับเทศบาลนครปากเกร็ดและชาวบ้านปากเกร็ดที่ป้องกันเขื่อนอย่างเข้มแข็ง

เมื่อน้ำทะลักแนวป้องกันเข้ามา เป็นเรื่องใหญ่ เพราะว่าพื้นที่ไม่ได้ราบเรียบ น้ำที่ขังอยู่ในที่ต่ำจะไม่ระเหยไปเอง แต่จะต้องสูบออก สถานการณ์นี้ เจอกันมาทุกจังหวัดตามแนวการไหลของน้ำ การยกน้ำปริมาณ 1 ลิตร (ซึ่งหนัก 1 กก.) ขึ้นสูง 1 เมตร ใช้กำลัง 1 วัตต์ บกน้ำหนึ่งคิวขึ้นสูงหนึ่งเมตร ใช้กำลัง 1 กิโลวัตต์ แต่น้ำที่ทะลักเข้ากรุงร้อยล้านคิว ที่ต้องสูบออก ใช้พลังงานอีกมหาศาลครับ

บ้านเรือนริมคลองที่น้ำยังไม่ท่วม พยายามกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำให้หมด ผักตบชวา และกอหญ้าริมตลิ่ง เอาออกนะครับ จะช่วยให้น้ำผ่านไปเร็วที่สุด

อ่านต่อ »


สัญญาณน้ำ

อ่าน: 2323

น้ำท่วมกรุงเทพ ก็เป็นการศึกษาภูมิศาสตร์อีกแบบหนึ่ง คือสื่อสารมวลชนแทบจะอุทิศเนื้อที่ทั้งหมดให้กับข่าวนี้

แต่การศึกษาที่ดีนั้น ไม่ต้องรอให้ใครมาบอก หรือฟันธงว่าถูกหรือผิด เราโตๆ กันแล้ว ไม่ได้กำลังทำข้อสอบอยู่นะครับ การศึกษาที่นำไปสู่ความรู้นั้นไม่ใช่แค่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น แต่จะต้องเข้าใจความหมายจนสามารถนำไปประยุกต์ใช้งานได้อีกด้วย

บันทึกนี้ผมมีบางประเด็นจะเสนอ

  1. เขื่อนต่างๆ ที่แตกแล้ว และได้พิจารณาแล้วว่าน้ำปริมาณมากจะไม่บ่ามาเพิ่มอีก ตัวคันดินและกระสอบทรายจะกักน้ำเอาไว้ ทำให้น้ำลดช้าและนิ่งจนเน่าเสีย ดังนั้นหากคันดินแตกแล้วจนน้ำด้านนอกและด้านในแนวป้องกันมีระดับที่เท่ากัน จะดีกว่าหรือไม่หากจะรื้อคันดินออก เปิดทางให้น้ำไหลออกได้สะดวก กระสอบทรายที่น้ำล้นข้ามมาแล้ว ควรย้ายไปเสริมหลังแนวกำแพงบริเวณแม่น้ำหรือส่วนที่ยังทานอยู่ดีไหม ในช่วงน้ำท่วมเครื่องมือกลเข้าพื้นที่ไม่ได้ ข้อเท็จจริงก็คือมันก็ไม่ง่ายที่จะรื้อออกหรอกครับ แต่ก็ยังน่าพิจารณาอย่ดี
  2. น้ำที่ไหลข้ามถนน น่าจะเป็นตัวชี้บ่งถึงปริมาณน้ำที่กำลังมาได้ ยกตัวอย่างเช่นระดับน้ำที่ไหลข้ามถนนสายเอเซีย (ขึ้นเหนือผ่านอยุธยา) หรือถนนรังสิต-สระบุรีแถววังน้อย หรือระดับน้ำบนถนนสายอื่นๆ… ไม่น่ายากที่จะทำไม้วัดระดับน้ำสักอัน ปักไว้กับดิน ไม่ต้องกังวลว่าจะต้องใช้เทียบกับระดับน้ำทะเลานกลาง เช่นบนนถนนหนึ่ง วันนี้ระดับ +10 ซม. ถ้าพรุ่งนี้เหลือ +5 ซม. ก็แปลว่าน้ำมาลดลงแล้ว ข้อมูลที่ไม่เป็นวิชาการอย่างนี้ ใครก็ทำได้ ไม่มีต้นทุน แต่ส่งสัญญาณสำคัญเพื่อให้การจัดการปั๊มน้ำ วางแผนได้ดียิ่งขึ้น… ถ้าน้ำไม่ข้ามถนนจากฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยามาทาง อ.วังน้อย (โรงไฟฟ้าวังน้อยของ กฟผ.) หรือ อ.คลองหลวง (หน้าธรรมศาสตร์รังสิต) ก็แปลว่าแรงกดดันต่อคันดินและกำแพงกระสอบทรายต่อคลองรังสิต จะลดลงมหาศาล
  3. ควรจะมีการจัดตั้งเครือข่ายเตือนภัยในภาคประชาชน หากระดับน้ำสูงขึ้นผิดปกติ ผู้ที่อยู่เหนือน้ำ สามารถแจ้งเตือนการเปลี่ยนแปลงระดับน้ำไปยังผู้ที่อยู่ใต้น้ำได้ ให้ระวังคันดิน/กระสอบทรายที่มีอยู่ อาจจะต้องเสริมความสูงหรือความแข็งแรง เพื่อที่ว่าผู้ที่อยู่ทางใต้น้ำ จะได้มีโอกาสสูงขึ้น วิธีที่ดีที่สุดคือถ่ายรูปแล้วทวิตบอกครับ ติดแท็ก #thaiflood ด้วยเสมอ ส่วนจะติด tag อื่นด้วย ก็ติดไปตามสบายครับ
  4. น้ำทะเลหนุนสูงสุดวันที่ 30 นี้ จากนั้นก็จะค่อยๆลดลง แต่จะหนุนสูงสุดอีกครั้งหนึ่งประมาณกลางเดือนหน้า ดังนั้นจะทำอะไรก็รีบทำซะครับ น้ำเหนือยังมีอีกมาก ไม่ใช่ว่าผ่านรอบนี้ไปแล้วจะจบ
  5. ถ้ายังไม่ได้อ่านบันทึกที่แล้ว ลองไปอ่านดูนะครับ อ่านทุกลิงก์ในบันทึก สอนวิธีทำอีเอ็มเพื่อใช้บำบัดกลิ่นน้ำเน่า จะต้องใช้เวลาหมักน้ำอีเอ็ม 7 วัน ดังนั้นยิ่งเริ่มเร็วก็ยิ่งดี ใช้ขวดพลาสติกที่มีฝาปิดสนิท (ขวดน้ำหรือขวดน้ำอัดลม) ใช้น้ำตาลทรายแดง ใช้น้ำที่ท่วมอยู่นั่นแหละ และหัวเชิ้ออีเอ็มที่ราคาไม่แพง ผสมในสัดส่วนที่ถูกต้อง ตั้งทิ้งไว้ในร่ม 7 วัน — หัวเชื้อ 1 ลิตร หมัก 7 วันได้ 100 ลิตร ถ้าเอาอีเอ็ม 100 ลิตรนี้ไปหมักต่อ อีก 7 วันกลายเป็นหมื่นลิตร แล้วถ้ายังทนเหม็นได้ไม่ยอมเอาไปใช้ ก็หมักต่อ อีก 7 วันกลายเป็นล้านลิตร


ความหมายของการเตือนภัย

อ่าน: 3496

ผมคิดว่ามีคนเข้าใจความหมายของคำนี้คลาดเคลื่อนไปเยอะนะครับ

คำว่าเตือนภัย ไม่ได้มีความหมายแค่บอกกล่าวเท่านั้น เนื่องจากภัยมีความสำคัญเกี่ยวกับความอยู่รอด ดังนั้นผู้สื่อสารและผู้รับสารจะต้องเข้าใจอย่างเดียวกัน หากเป็นการคาดเดา ก็ต้องสื่อให้ชัดเจนว่าเป็นการคาดเดาและแสดงเหตุผลสนับสนุนด้วย แต่นี่ยังไม่สำคัญเท่ากับว่าผู้รับสารต้องรู้ว่าจะทำอะไรต่อ ไม่อย่างนั้นการเตือนภัยก็เป็นกิจกรรมอันไม่เกิดประโยชน์เลย -> เตือนหรือไม่เตือน มีค่าเท่ากัน คือไม่รู้ว่าจะต้องทำอย่างไรอยู่ดี

ดังนั้นหากจะมีการเตือนภัยอย่างเป็นระบบ ระบบนั้นจะต้องครอบคลุมการทำความเข้าใจถึงภัยในลักษณะต่างๆ ความเสี่ยงของพื้นที่ แผนจัดการความเสี่ยงต่างๆ การฝึกซ้อม การลงมือแก้ไขความเสี่ยงต่างๆ ล่วงหน้า ตลอดจนแผนสำรองด้วย

การเตือนภัยเป็นอำนาจตามกฏหมาย!!! แต่คนที่มีเพื่อน มีเครือข่าย และเป็นมนุษย์นั้น เค้าไม่รอการเตือนภัยกันตามกฏหมายหรอกครับ อย่างช่วงเดือนกรกฎาคม ที่น้ำแม่น้ำยมและแม่น้ำน่านกำลังไหลบ่าลงมาทางใต้นั้น เทศบาล-อบต.ที่กำลังประสบภัย ยังมีน้ำใจโทรบอกกัน เพื่อที่จะเตือนภัยเทศบาล-อบต.ที่อยู่ในเส้นทางของภัยพิบัติ

กรณีสึนามิเมื่อปี 2547 นั้น คลื่นเข้าที่ฝั่งตะวันตกของภูเก็ตก่อน แต่ด้วยความที่ไม่มีการเตรียมตัวใดๆ มาก่อน จึงไม่มีการเตือนภัย… เคยเล่าแล้วในบล็อกนี้ว่าวันนั้นน้องสาวผมพร้อมทั้งครอบครัวพักอยู่ที่บ้านทางใต้ของภูเก็ต เมื่อคลื่นใหญ่ซัดมาชนกำแพงกันคลื่นน้ำกระเด็นไปสูงพอๆ กับยอดมะพร้าว ทุกคนตกใจ ไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น แต่ก็ได้โทรไปสั่งอพยพแขกของรีสอร์ตบนเกาะพีพีซึ่งอยู่ห่างจากโรงแรมอื่นๆ บนเกาะ อีกครึ่งชั่วโมงสึนามิจึงไปถึงเกาะพีพี ทำให้รอดได้เป็นร้อยคน

อ่านต่อ »


ทดสอบระบบคลังภาพ

อ่าน: 3453

บ่ายสามโมงครึ่ง เริ่มมีน้ำเอ่อขึ้นมาแถวบ้าน เป็นระดับประมาณ 10 ซม.ต่ำกว่าถนนซึ่งค่อนข้างสูง

นอกจากว่านี่คือสัญญาณเตือนว่ากำลังจะเป็นผู้ประสบภัยแล้ว ยังแสดงให้่เห็นว่าน้ำหลากมาเป็นปริมาณมากอีกด้วย น้ำที่หลากมานี้มีปลาติดมาด้วย ซึ่งคุณภาพน้ำแย่มาก ขนาดปลาหงายท้องเลยครับ แต่เมื่อพระอาทิตย์ตกระดับน้ำสูงขึ้นประมาณ 10 ซม. จากนี้ไปคงขึ้นช้าเพราะว่าเป็นระดับเดียวกับน้ำในทะเลสาปใหญ่ซึ่งไม่ห่างจากบ้าน รอดไปอีกวันหนึ่ง

สหภาพยุโรป (EC) ได้ให้ทุนพัฒนาระบบตรวจการณ์ภัยพิบัติแก่บริษัท AnsuR ของนอรเวย์ ซึ่งเขียนโปรแกรมบนโทรศัพท์มือถือแอนดรอยด์ เรียกว่าระบบ ASIGN (Adaptive System for Image Communication over Global Networks) ซึ่ง

  1. ถ่ายรูปด้วยกล้องในโทรศัพท์หรือแท็บเล็ตที่ใช้ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์
  2. ระบุพิกัดที่ถ่ายด้วย GPS (หรือ aGPS) ที่มีอยู่ในโทรศัพท์
  3. ส่งรูปถ่ายของสถานการณ์เข้าเซอร์เวอร์กลาง โดยส่งภาพเล็ก thumbnail ขนาด 600×360 pixels ทำให้ไม่เสียเวลาในการส่ง แต่เมื่อต้องการภาพละเอียดเพื่อซูมดู เซอร์เวอร์กลางจะขอภาพรายละเอียดสูงจากมือถือมาอีกครั้งหนึ่ง

ภาพจากโทรศัพท์มือถือเครื่องต่างๆ จะถูกรวบรวมเอาไว้เป็นจุดในแผนที่ตามพิกัดที่ถ่ายรูป เรื่องนี้เมื่อเราดูแผนที่ จะเห็นสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ พร้อมทั้งมีเวลาที่ถ่ายรูปกำกับไว้ด้วย

จึงอยากเชิญชวนผู้ที่มีโทรศัพท์แอนดรอยด์ โหลดโปรแกรมไปทดลอง ถ่ายภาพที่เกี่ยวกับอุทกภัย ไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วมแล้ว น้ำยังไม่ท่วม ภาพคน เขื่อน รอยรั่ว ความเสี่ยงต่างๆ การร้องขอความช่วยเหลือ ความต้องการ ฯลฯ ใช้ได้ไม่ว่าจะเป็นผู้ประสบภัยเอง หรือผู้ที่เข้าไปช่วยเหลือ เมื่อถ่ายรูปแล้ว ส่งผ่าน 3G/EDGE/GPRS/Wi-fi/ADSL/LAN หรืออะไรก็ได้ที่เชื่อมต่ออยู่กับอินเทอร์เน็ต

อ่านต่อ »


กว่าจะได้ความรู้มา

อ่าน: 2868

พระราชดำรัส
ในโอกาสที่ประธานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ นำผู้เข้าร่วมสัมมนา
และบุคคลต่างๆ ที่เกี่ยวของเฝ้า ฯ เพื่อรับพระราชทานพระบรมราโชบายเกี่ยวกับการดำเนินงานในช่วงต่อไป
ณ ศาลาดุสิดาลัย
วันศุกร์ ที่ ๒๖ สิงหาคม ๒๕๓๑

วันนี้ก็ขอพูดแบบที่เคยทำในระยะที่ผ่านมา คือโดยมากให้ความเห็น ก็ให้ความเห็นตอนที่ไปเยี่ยมศูนย์ศึกษา หรือตอนที่ไปในภูมิประเทศ ที่เป็นเช่นนั้นเพราะว่าถ้าหากว่าจะมาให้ปาฐกถาเรื่องอะไรก็ตามอย่างนี้ต่อที่ประชุมก็ไม่คอยถนัดนัก แล้วก็ไม่ทราบว่าจะมีประโยชน์หรือไม่ ฉะนั้นที่จะพูดนี้ก็พูดเหมือนเวลาไปเยี่ยมศูนย์ศึกษา

ข้อแรก เรื่องคำว่าศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องจากพระราชดำรินั้น คำนี้ทำให้เข้าใจว่าเป็นการศึกษาการพัฒนาที่เป็นเรื่องของพระราชดำริ ซึ่งไม่ใช่อย่างนั้น อันเนื่องมาจากพระราชดำริ หมายความว่าทั้งอันนี้เป็นศูนย์ศึกษา ทั้งอันนี้เป็นพระราชดำริ แล้วที่ดำเนินงานก็ดำเนินงานตามที่มีพระราชดำริ แต่ชื่อของกิจการก็ชื่อเพียงว่าศูนย์ศึกษาการพัฒนา ซึ่งหมายความว่าเป็นศูนย์หรือเป็นแห่งหนึ่งที่รวมการศึกษาเพื่อดูว่าทำอย่างไรจะพัฒนาได้ผล และแม้กระนั้นที่ตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนานี้มิได้ตั้งชื่อก่อน ได้ตั้งศูนย์ก่อนถึงได้ให้ชื่อว่า ศูนย์ศึกษาการพัฒนา ซึ่งหมายความว่าได้ตั้งกิจการอย่างหนึ่ง และได้ตั้งชื่อซึ่งจะชี้ว่าศูนย์หรือกิจการนี้ทำอะไร

มีคนที่เข้าใจว่าศูนย์ศึกษาการพัฒนานั้น เป็นเหมือนสถานีทดลองหรืออีกอย่างหนึ่งก็เป็นวิทยาลัย ทั้งสองอย่างนี้ไม่ใช่ เป็นสถานที่ที่ผู้ที่ทำงานในด้านพัฒนาจะไปทำอะไรอย่างหนึ่งหรือจะเรียกว่าทดลองก็ได้ เมื่อทดลองแล้วจะทำให้ผู้อื่นที่ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญในวิชานั้นได้สามารถเข้าใจว่าเขาทำอะไรกัน อันนี้ก็เป็นประโยชน์อย่างหนึ่งที่จะได้จากกิจการศูนย์ศึกษาการพัฒนา คือเป็นการทำอะไรของฝ่ายหนึ่ง และทำให้ฝ่ายอื่นได้เข้าใจว่าคนอื่นเขาทำอะไรกัน เรียกว่าเป็นการทำให้เจ้าหน้าที่ด้านพัฒนาได้มีการร่วมมือสอดคล้องกัน อันนี้ก็เป็นข้อแรกที่สำคัญที่ว่าไม่ใช่สถานีทดลอง ก็เพราะว่าสถานีทดลองในด้านต่างๆ ก็มีอยู่มากแล้ว เช่น ทดลองเพาะพันธุ์ต่างๆ ทดลองพันธุ์ข้าว เป็นต้น นี้มีอยู่หลายแห่งแล้วและทำงานได้ดีมาก ได้ผลได้ประโยชน์มาก

อ่านต่อ »


เฝ้าระวังความสั่น

อ่าน: 4497

ก็เรื่องแผ่นดินไหวนั่นล่ะครับ

จนปัจจุบัน ยังไม่มีใครทำนายแผ่นดินไหวได้แม่นยำ — ทำนายได้ แต่มักไม่ถูก; “มักไม่ถูก” แปลว่าทำนายไปเรื่อยๆ คงมีถูกบ้างเหมือนกัน — ซึ่งการทำนายด้วยความรู้จริงนั้น ประกอบไปด้วยองค์ประกอบสองสามเรื่อง คือ (1) เกิดที่ไหน (2) เกิดเมื่อไหร่ในอนาคต [และ (3) เกิดแรงแค่ไหน] ด้วยความซับซ้อนและแตกต่างของโครงสร้างของดิน+แผ่นเปลือกโลก แผ่นดินไหวเกิดได้จากหลายสาเหตุ มีผู้สังเกตสิ่งบอกเหตุซึ่งใช้ได้เป็นบางกรณี แต่ยังไม่มีวิธีการใดๆ ที่จะทำนายแผ่นดินไหวได้ถูกต้องแม่นยำ

ถึงจะไม่มีสูตรทำนายแผ่นดินไหวแบบครอบจักรวาล หมั่นสังเกตสิ่งบอกเหตุรอบตัว ก็ยังดีกว่าไม่รู้อะไรเลย เช่น earth sounding ช้างกับ ELF เมฆแผ่นดินไหว การศึกษาการเคลื่อนตัวของเปลือกโลกด้วย GPS ฯลฯ ส่วนสัญญาณจากอวกาศ มีผู้พยายามศึกษาเช่นกัน (ข้อมูลที่ผมเห็น ก็พบว่ามี correlations สูง แต่ยังไม่มีการตั้งทฤษฎี) และได้ร้องขอให้ช่วยกันสังเกต

ถ้าหากมีการทำนายแผ่นดินไหวที่แม่นยำก็ดีไป แต่ในเมื่อไม่มี ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ กำหนดขอบเขตการเฝ้าระวังเอาไว้อย่างชัดเจน แม้จะเป็นลักษณะ reactive ก็ตาม

อ่านต่อ »


ถอดบทเรียนอาสา

4 ความคิดเห็น โดย Logos เมื่อ 16 August 2011 เวลา 23:10 ในหมวดหมู่ การจัดการความรู้, สังคม ชุมชน ครอบครัว #
อ่าน: 3816

วันนี้มีโอกาสดีที่ได้นั่งฟังอาสาดุสิต ถอดบทเรียนการลงพื้นที่ช่วยเหลือผู้ประสบภัยในหลายจังหวัดทางภาคเหนือ

หลังจากพายุนกเตนผ่านไปและน้ำท่วมไปรอบหนึ่งแล้ว ก็ยังเกิดฝนตกหนักซ้ำอีก มีน้ำป่าและโคลนถล่ม ในเขต อ.วังชิ้น แพร่ และ อ.สบเมย แม่ฮ่องสอน ทีมงานอาสาดุสิต จึงลงพื้นที่บรรเทาทุกข์ยาวนาน โดยส่งภารกิจ 2-6 ลงพื้นที่ประสบภัย มีแบ๊งค์ ขับรถ 4×4 ขึ้นไปจากกำแพงเพชรไปยังสบเมย ซึ่งเป็นรถเพียงคันเดียวที่ขนของเข้าพื้นที่ประสบภัยได้ มีกวางมาจากขอนแก่น ลงพื้นที่วังชิ้นก่อนรอบหนึ่ง มากรุงเทพ แล้วย้อนกลับไปสบเมยอีกรอบหนึ่ง มีเปาว์ซึ่งไปน่าน วังชิ้น ป่วยจนเข้าโรงพยาบาลที่เชียงใหม่ ถึงกระนั้นระหว่างที่ไข้ลงก็ยังมาช่วยขนของไปสบเมย มีอ๊อดและโบ้ซึ่งอยู่ตลอดตั้งแต่วังชิ้นยันสบเมย มีปูตามไปจัดการของบริจาคแต่ถูกห้ามเข้าพื้นที่ประสบภัยเนื่องจากมีอันตราย (และตามไปดูคนป่วย ฮา)… ขอบคุณอาสาสมัครทุกท่านที่เสียสละความสุขสบายส่วนตัว ไปเสี่ยงภัย เพื่อคนไทยร่วมชาติที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน แต่รู้ว่าทุกข์ยากเกินจะอยู่เฉยๆ ขอบคุณผู้บริจาคทุกท่าน ด้วยน้ำใจและปัจจัยต่างๆ ทำให้อาสาสมัครสามารถนำความช่วยเหลือลงไปสู่ผู้ประสบภัยได้ด้วย ขอบคุณภาคีเพื่อนพ้องที่ทำงานอยู่ในพื้นที่อยู่แล้ว

อาสาดุสิตมีลักษณะที่แปลกอยู่อย่างหนึ่ง คือไม่ใช่แค่ไปแจกของ หรือเดินไปเดินมาเพื่อถ่ายรูป แต่นำความรู้และไปกระตุกแนวคิดใหม่ๆ พยายามให้ชาวบ้านช่วยเหลือตัวเองได้ด้วย เรื่องอย่างนี้ อาศัยความรู้ ความทุ่มเท ที่สุดแล้ว ชาวบ้านก็จะต้องยืนอยู่บนขาของตัวเองให้ได้ ส่วนการแก้ไขนั้น ก็ต่างกับการแก้ไขสถานการณ์ที่เราเห็นกันโดยทั่วไป การแก้ไขสถานการณ์นั้นที่จริงเป็นการเลื่อนปัญหาไปไว้ในอนาคต โดยที่ไม่ได้แก้อะไรไปเลย เมื่อสาเหตุยังอยู่เหมือนเดิม ชาวบ้านก็มีโอกาสโดนอีก หมดตัวซ้ำซากอยู่อย่างนี้

อ่านต่อ »


น้ำกำลังจะท่วม ทำอะไรดี

อ่าน: 3647

ถ้าไม่ถูกตัดขาดจากโลกและรับฟังข่าวสารบ้าง คงมีเวลาเตรียมตัวล่วงหน้าอย่างน้อย 5-7 วัน สำหรับภัยฝนถล่มครับ และอาจจะเป็น 1-2 วันสำหรับพายุลมกรรโชก

แต่ปัญหาใหญ่ก็คือเรามักไม่ค่อยเตรียมตัวอะไร หวังว่ามันจะไม่เกิดขึ้นกับเรา เพราะว่าในอดีตก็คลาดแคล้วมาได้ทุกที … ลืมความเป็นอนิจจตาไป ถ้าคราวก่อนๆ รอดตัวไป ก็ไม่ได้แปลว่าคราวนี้จะแคล้วคลาด เพราะเป็นคนละคราว

เมื่อน้ำเหนือกำลังมา ชะลอน้ำไว้ทางต้นน้ำไม่ได้เพราะไม่ได้เตรียมไว้ก่อน ทางเหนือจึงท่วมไปเรียบร้อยแล้ว จากนั้นน้ำก็จะไหลลงมาตามความลาดเอียงของภูมิประเทศ น้ำจะไม่ระเหยไปเฉยๆ น้ำมาแน่ๆ (แต่จะท่วมหรือไม่ก็อีกเรื่องหนึ่ง) เมื่อน้ำเหนือจะมา น้ำทะเลหนุนอีกต่างหาก ทีนี้จะทำอะไรดีครับ

อ่านต่อ »


เตรียมรับภัยจากซอมบี้

อ่าน: 4468

ช่วงกลางปี เป็นเรื่องเป็นราวขึ้นมาเมื่อ Ali S. Khan เขียนบันทึกในบล็อก Public Health Matters ของ Centers for Disease Control and Prevention (CDC) และ CDC นำมาตีพิมพ์ใหม่บนเว็บ

บันทึกนั้น ใช้ชื่อว่า Preparedness 101: Zombie Apocalypse เป็นเรื่องการเตรียมพร้อมสำหรับภัยจากซอมบี้ (คนตายที่ฟื้นขึ้นมา “มีชีวิต” ใหม่อีก ที่สำคัญ​ซอมบี้กินคน และฆ่าไม่ตาย) ประกอบกับเหตุการณ์อีกสองอย่างคือ FEMA จัด National Level Exercise 2011 เป็นการซ้อมรับเหตุฉุกเฉินทั้งประเทศ ประกอบกับผู้อำนวยการนาซ่าออกมาเตือนพนักงานเรื่องความปลอดภัยของตัวเองและครอบครัว ในโปรแกรม Personal/Family Preparedness ทั้งหมดนี้ ออกมาในเวลาที่ใกล้เคียงกัน ผู้คนก็ตกใจว่าเกิดอะไรขึ้น มีทั้ง Planet X Tyche Nibiru 2012 Elenin (รายละเอียด) ขั้วแม่เหล็กโลกพลิก ลมสุริยะจากการระเบิดบนดวงอาทิตย์ ดาวเรียงตัว สุริยจักรวาลโคจรผ่านระนาบการหมุนของแกแลกซี่ทางช้างเผือก รังสีคอสมิค UFO ฯลฯ เรื่องพวกนี้อาศัยข้อมูล/ข่าวสารมือสองทั้งนั้นนะครับ จึงกลายเป็นเรื่องของความเชื่อ+สมมุติฐาน+บอกต่อ+กระแสไป อันเป็นสิทธิส่วนบุคคล

อ่านต่อ »



Main: 0.064605951309204 sec
Sidebar: 0.13592600822449 sec