คนดี มาจากไหน ?

อ่าน: 3801

คืนนี้อ่านหนังสือเก่าจากหอสมุดสาขาวังท่าพระ สำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยศิลปากร เจอหนังสือที่พระราชเวที วัดมกุฏกษัตริยาราม ตีพิมพ์แจกในปี 2480 ชื่อ “คติของนักพูด และคนดี มาจากไหน ?” เป็นหนังสือที่สแกนมา อ่านได้แต่ไม่อยู่ในรูปแบบข้อความดิจิตอล ผมคิดจะพิมพ์ แต่พิมพ์ทั้งหมดก็ไม่ไหว เลยเลือกเอาครึ่งหลัง คือเรื่องคนดี มาจากไหน ? ก็แล้วกันครับ ตัวสะกดโบราณ การแบ่งย่อหน้า เครื่องหมายวรรคตอน (อันอาจเกิดจากข้อจำกัดของการเรียงพิมพ์เมื่อ 73 ปีก่อน) คงไว้ตามที่ปรากฏในหนังสือ

อ่านต่อ »


ชี้นิ้วโดยนัย

อ่าน: 4333

วันนี้ค้นคำว่า”ชี้นิ้ว” ก็ได้ความหมายที่ตรงกันทั้งนั้นครับ

  • ไทย-อังกฤษ สอ เศรษฐบุตร: to tell other people to work
  • ไทย-อังกฤษ NECTEC’s Lexitron Dictionary: [v.] order [syn.] ออกคำสั่ง,บัญชา,บงการ,สั่ง
  • พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน: ได้แต่สั่งการให้ผู้อื่นทํา ไม่ลงมือทําเอง
  • พจนานุกรม ไทย-ไทย อ.เปลื้อง ณ นคร: ได้แต่สั่งการให้ผู้อื่นทำ ตนเองไม่ทำ

แม้ในเอกสารอื่นๆ ที่ค้นเจอ ต่างก็มีความหมายในลักษณะเดียวกัน และออกไปในด้านลบมากกว่าบวก

อย่างไรก็ตาม ถ้าอยู่ในฐานะที่ออกคำสั่งได้และจำเป็นต้องใช้คำสั่ง ก็ขอให้พิจารณาข้อคิดของคำสั่งด้วย ถ้าไม่จำเป็นต้องใช้คำสั่ง การให้คำแนะนำจะดีกว่าไหมครับ

อ่านต่อ »


เปิดใจ

อ่าน: 3430

เปิดใจรับฟัง เป็นบุคลิกซึ่งพร้อมที่จะรับฟังข้อเท็จจริงใหม่ๆ มากกว่าที่จะเป็นอารมณ์ของจิตที่เดี๋ยวมีเดี๋ยวไม่มี — จะเห็นว่าการเรียกร้องให้คนอื่นกลับมารับฟังนั้น ไม่ค่อยประสบความสำเร็จ เพราะว่าคนที่เปิดใจรับฟังนั้น ไม่ต้องเรียกร้อง ส่วนคนที่ไม่รับฟัง อาจฟังได้ประเดี๋ยวประด๋าว (บางทีอาจแค่ได้ยินโดยไม่ได้ฟังด้วยซ้ำไป)

ผู้ที่เปิดใจรับฟัง มักจะมีความเป็นมนุษย์สูง มี self-esteem สูง สามารถตระหนักได้เองว่าความเข้าใจเดิมนั้นไม่ถูกต้อง(ทั้งหมด) พร้อมที่จะเปลี่ยนไปสู่ความจริง โดยละวางอคติ อัตตา มานะ ฯลฯ (ซึ่งเป็นเรื่องในอดีตทั้งนั้น) — แต่การเปิดใจรับฟัง ไม่ใช่การยอมรับเรื่องโกหกพกลม หรือเรื่องไร้สาระ รับฟังแบบนั้นน่าจะเรียกว่าความโง่เขลามากกว่านะครับ

ดังนั้นเมื่อเจอคนที่เปิดใจรับฟังแล้ว ใช้โอกาสนั้นให้คุ้มค่า ให้เหตุผล ให้ความจริง ให้หลักฐาน จะเสนออะไรก็ให้ชัดว่าตรงนั้นคือข้อเสนอ ที่เหลือเขาตัดสินใจได้เอง; อย่าใส่ไปแต่อารมณ์ การคาดเดา ซึ่งคงจะนำมาซึ่งความผิดหวังทั้งสองฝ่าย -> ห้ามเด็ดขาดที่จะบอกว่าเรื่องนี้ตกผลึกมาแล้ว เพราะนั่นแปลว่าคิดมาเป็นที่สิ้นสุดแล้ว ปรับปรุงให้ดีขึ้นไม่ได้เลย อย่างนี้เหลือคำตอบแค่รับหรือไม่รับ ซึ่งมีโอกาสถูกปฏิเสธสูงมาก เพราะผู้เสนอย่อมไม่เข้าใจข้อจำกัดของผู้รับฟังทั้งหมด; ใช้อัตตา ก็นำไปสู่ผลของอัตตา คือติดแหงกครับ

อ่านต่อ »


สำเร็จ ล้มเหลว

อ่าน: 2928

พจนานุกรมแปลคำว่าสำเร็จไว้ว่า ว. ที่เสร็จเรียบร้อยแล้ว แต่ไม่แปลคำว่าล้มเหลวไว้ ถึงกระนัั้นก็อนุมาณได้ว่าความหมายตรงกันข้ามกับสำเร็จ

มีอยู่อย่างหนึ่ง ซึ่งผมคิดว่าคนไทยเราไม่ค่อยสังเกตเกี่ยวกับสองคำนี้ คือมันเป็นคำวิเศษณ์ที่ชี้บ่งถึงความเป็นอดีต คือว่าต้องมีเหตุการณ์เกิดขึ้นในอดีตแล้ว จึงจะบอกได้ว่าสำเร็จหรือล้มเหลว ซึ่งตัดสินได้ยากหากไม่มีเกณฑ์ที่ได้ตกลงกันไว้ก่อน ในกรณีหลังนี้ความสำเร็จหรือความล้มเหลว ขึ้นอยู่กับมุมมอง

แต่ที่สำคัญยิ่งกว่านั้น คือไม่ว่าจะสำเร็จหรือล้มเหลว เรื่องก็ผ่านไปแล้ว จะไปเปลี่ยนแปลงอดีตไม่ได้แล้ว การที่เคยสำเร็จ ไม่ได้รับประกันว่าจะสำเร็จอีกในอนาคต จำเป็นต้องอ่านสถานการณ์ตามความเป็นจริง เตรียมตัว ปรับเปลี่ยนตามความจำเป็นเพื่อช่วยให้ประสบความสำเร็จอีกในอนาคต ส่วนความล้มเหลวที่เกิดขึ้นแล้วนั้น ก็ไม่ได้หมายความว่าจะล้มเหลวอีกตลอดไป หากรู้จักเรียนรู้ ปรับปรุง แก้ไขข้อผิดพลาด

ไม่มีใครจะสำเร็จหรือล้มเหลวตลอดไปหรอกนะครับ อย่าไปติดกับมันนานนัก หลังจากความสำเร็จ เรานำเอาความภูมิใจติดตัวไปได้ แต่ไม่ควรปลื้มกับความสำเร็จนานเกินไปจนไม่ทำอะไรใหม่ (จึงไม่มีความสำเร็จอันใหม่) แล้วหลังจากความล้มเหลว เราก็นำเอาบทเรียนติดตัวไปได้ อย่าทำผิดพลาดซ้ำสอง

อ่านต่อ »


ท่านพุทธทาสฝากไว้

อ่าน: 2872

ท่านพุทธทาสเขียนหนังสือ ฟ้าสางระหว่าง ๘๐ ปี อสีติสังวัจฉรายุศมานุสรณ์ พิมพ์ขึ้นเป็นอนุสรณ์ในโอกาสครบรอบอายุ ๘๐ ปี โดยมีมรดกธรรม ๑๘๙ ข้อ ที่ท่านฝากไว้ให้แก่ชาวพุทธสืบทอดต่อไป หนังสือแบ่งเป็นสองภาค คือมรดกที่เป็นเรื่องฝ่ายวัตถุธรรมและพิธีกรรม กับมรดกที่เป็นเรื่องฝ่ายนามธรรมและสติปัญญา

คำนำ

ข้าพเจ้าไม่มีมรดกอะไร ที่จะฝากไว้กับเพื่อนพุทธบริษัท ผู้เป็นเพื่อน เกิด แก่ เจ็บ ตาย ทั้งหลาย นอกจากสิ่งที่ระบุไว้ในข้อความข้างล่างนี้ ด้วยความหวังว่า ถ้ายังมีการสืบมรดกนี้อยู่เพียงใด กิจกรรมสวนโมกขพลาราม ก็จะยังคงมีอยู่ตลอดกาลนานเพียงนั้น และ “พุทธทาส” ก็จะยังคงมีอยู่ในสถานที่นั้นๆ ตลอดกาล เพียงนั้นขอได้โปรดรับพิจารณากันเสียแต่บัดนี้ ซึ่งจะเป็นการง่ายในการสืบมรดก ดังกล่าวขอให้ถือว่า เป็นมรดกธรรมแก่บรรดาเพื่อน ผู้มอบกาย ถวายชีวิต ในการสืบอายุพระศาสนา เพื่อประโยชน์แก่คนทั้งโลกเถิด มิได้เป็นเรื่องส่วนบุคคลแต่ประการใด.

ข้างบนเป็นลิงก์ต้นทาง แต่ผมเอามา markup (format) ใหม่โดยไม่เปลี่ยนแปลงเนื้อหาตัวสะกดของภาษาโบราณนะครับ แต่พบว่ามีพิมพ์ผิดเยอะเหมือนกันซึ่งได้แก้ไขไปแล้ว หากจะดูต้นฉบับ ก็ขอให้คลิกลิงก์ข้างบน

อ่านต่อ »


วิธีปฏิบัติที่รวบรัด

4 ความคิดเห็น โดย Logos เมื่อ 5 June 2010 เวลา 15:54 ในหมวดหมู่ ข้อคิดชีวิต ปรัชญา ศาสนา #
อ่าน: 3076

บันทึกนี้คงจะจะรวบรัดมากครับ นำคำเทศนาของท่านพุทธทาสมาให้อ่าน

วิธีปฏิบัติที่รวบรัด

การปฏิบัติ จะทำอย่าง ค่อยทำ ค่อยไป นี้ มันจะตายเสียก่อน

ฉะนั้น ผมจึงถูกด่าถูกหา ถูกอะไรโดยคนทั่วไป จากผู้หลักผู้ใหญ่ว่าสอนนอกเรื่อง นอกแบบ เอาเรื่องโลกกุตตระ พ้นโลกเหนือโลกมาสอนประชาชน อย่างที่มีผู้ค้านอยู่เสมอ เขาเยาะเขาด่าอยู่เสมอ ว่าเอาเรื่องโลกุตตระมาสอนประชาชน นี้ไม่ใช่แต่ฆราวาสดอก พระเถระผู้ใหญ่ก็เคยดุผมอย่างมาก เรื่องเอาธรรมะ เรื่องหลุดพ้น มาสอนประชาชน หลายปีมาแล้ว เราก็ไม่ใช่คนดื้อดึง ใครพูดว่าอะไร เราฟังอย่างดี ฟังอย่างดีว่าเขาพูดนั้น ถูกหรือไม่ถูก จริงหรือไม่จริง มันก็เห็นว่ายังถูกอยู่ เห็นว่าทำอย่างนี้ มันยังถูกอยู่ ฉะนั้น จึงยังทำต่อไป ใครจะว่าอย่างไร จะด่าอย่างไร ก็ไม่สนใจเสีย

นี่มันเป็นการรวบรัด การปฏิบัติให้เร็วเข้า อย่าทำอะไร ให้มันมากเรื่องเลย ถือหลักว่าเป็นอยู่ด้วยจิตว่าง ทำงานด้วยจิตว่างกินอาหารของความว่าง เป็นอยู่เหมือนตายแล้ว นี้กระโดดมาทีเดียวอย่างนี้เลย แล้วขอให้ เป็นอยู่อย่างนี้ อยู่เรื่อยไป ผลสุดท้าย มันจะเหลือเหมือนที่พูดเมื่อตะกี้ ให้เหลือประโยคเดียวว่า ทำไปเพื่อโลก ทั้งเทวดา และมนุษย์ นี่เหลือทำเพื่อผู้อื่น ก็แล้วกัน ทำทุกอย่างเพื่อผู้อื่น เรื่องอื่นมันคิดตก หมดแล้ว ปัญหาอื่น มันตอบได้หมดแล้ว คิดตกหมดแล้ว ในที่สุด มันเหลือแต่ว่า ทำนี่ทำไป ทำเพื่อผู้อื่น อย่างนี้เป็น วิธีที่ดีที่สุด ที่ลัดที่สุด ที่ง่ายที่สุด ที่สะดวกที่สุด แต่ว่าทำเพื่อผู้อื่นของเรา ที่เราพูดกันนี้ มีความหมายมากกว่าที่คนอื่นพูด

ที่คนอื่นเขาพูด ก็มีเยอะแยะไป ทำเพื่อผู้อื่น เป็นเรื่องศีลธรรมเด็กๆ เด็กอมมือทำเพื่อผู้อื่น ลูกเสือก็มี แต่เราทำเพื่อผู้อื่นนี้ ทำเหมือนอย่าง ที่พระพุทธเจ้า ท่านว่า คือ ไม่มีตัวเรา ไม่มีตัวเรา ศีลธรรมเด็กอมมือ ก็มีตัวกู กูทำเพื่อผู้อื่น จะได้อยู่เป็นสุขด้วยกัน หรือว่า เขาจะขอบใจเรา หรือว่า เราจะมีเกียรติ นั่นทำเพื่อผู้อื่น ของเด็กๆ แต่ทำเพื่อผู้อื่น ของพระพุทธเจ้า ของพระอรหันต์นั้น ก็คือว่า มันไม่มีตัวเรา ไม่มีตัวกู แล้วจะทำเพื่อตัวกูได้อย่างไร มันทำไม่ได้ เพราะมันไม่มีตัวกู มันไม่มีตัวเรา ก็ทำเพื่อผู้อื่น เสียเรื่อยไปเลย กระดิกอะไรไปที่ไหน ก็เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น เสียเรื่อย

นี้ก็เรียกว่า นี่คือการปฏิบัติธรรมที่แท้จริง ที่สูงสุด จนเกินกว่า ที่จะเรียกว่าวิปัสสนา หรืออะไรๆ เสียอีก เพราะว่าคำว่า วิปัสสนา เดี๋ยวนี้มันแย่เต็มทีแล้ว เหมือนที่ผมเคยเล่าว่า ผมก็เคยถูกถาม ไปที่ไหนก็มักจะเคยถูกถามว่า ที่สวนโมกข์ทำวิปัสสนาไหม? นี่คุณคิดดูผมจะตอบอย่างไร? เขาถามว่าที่สวนโมกข์ทำวิปัสสนากันหรือเปล่า? มีคนกล้าถามถึงอย่างนี้ ถ้าเป็นวิปัสสนาตามแบบที่ผู้ถามว่า แล้วเราไม่มี เราไม่ทำด้วย ไม่อยากจะทำด้วย

วิปัสสนาตามความหมาย ที่ผู้ถามเขาถาม เราไม่อยากจะมี ไม่อยากจะทำ แต่ถ้าปฏิบัติอย่างนี้ อย่างที่ผมว่า ที่จะเป็นวิปัสสนา หรือยิ่งกว่าวิปัสสนานี้ มันเป็นการทำในขั้นผลของวิปัสสนาเสียอีก นี่เรามี แต่เขาไม่เรียกว่า วิปัสสนา ผู้ถามนั้นไม่เรียกว่า วิปัสสนา

เพราะว่า เขาเข้าใจว่า เป็นอย่างอื่น ต้องตั้งต้น ตั้งแต่พิธีขึ้นครู ขึ้นครูบาอาจารย์ มีระเบียบพิธีต่างๆ ทำท่าทาง ต่างๆ เดินจงกรม ยุบหนอพองหนอ อะไรก็ตาม มันมากมาย ก่ายกองเป็นระเบียบ เป็นแบบที่ ผู้อื่นเห็นได้ เข้าใจได้ เห็นได้อย่างนี้ก็ได้ ใครๆ จะทำก็ได้ มันก็วิปัสสนา แล้วก็ตามแบบนั้น วิปัสสนาตามแบบนั้น แล้วก็เป็นตามแบบของตัวกู เสียด้วยซ้ำไป คือ วิปัสสนา อวดคน วิปัสสนา ทำให้คนเห็น วิปัสสนาของตัวกู มันก็จะแย่ไปเหมือนกัน นี่มันเพิ่ม ตัวกู-ของกู เขายังไม่รู้

อ่านต่อ »


คนละเรื่องเดียวกันบนแกนเวลา

4 ความคิดเห็น โดย Logos เมื่อ 3 June 2010 เวลา 0:03 ในหมวดหมู่ ข้อคิดชีวิต ปรัชญา ศาสนา #
อ่าน: 3787

กลางคืนก็ไม่นอน วานซืนนอนแปดโมงเช้า แต่เมื่อวานนอนเที่ยง ที่ยืดออกมาเพราะไปเจอเรื่องน่าสนใจ เรื่อง Time perspective ของนักจิตวิทยาชื่อ Philip Zimbardo ซึ่งก็เป็นข้อสังเกตที่น่าสนใจ

แต่นั่นไม่ได้ทำให้ผมชอบ ผมชอบเรื่องนี้ด้วยเหตุผลสองอย่าง คือ (1) ผมเดาไม่ออกว่าเรื่องจะไปต่ออย่างไร และ (2) แม้จะพูดต่อไปถึงเรื่องที่ผมแปลกใจแล้ว ก็ยังมีเรื่องที่เดาทางไม่ออกตามมาอีกหลายระลอก

อ่านต่อ »


ความฉลาดคืออะไร — ไอแซค อสิมอฟ

อ่าน: 5402

What Is Intelligence, Anyway? จากหนังสืออัตชีวประวัติของ ไอแซค อสิมอฟ

อ่านต่อ »


การแสวงหาคำตอบ

2 ความคิดเห็น โดย Logos เมื่อ 26 May 2010 เวลา 21:08 ในหมวดหมู่ ข้อคิดชีวิต ปรัชญา ศาสนา #
อ่าน: 3738

คำตอบอะไรก็ตาม มักไม่หล่นอยู่ตามทางที่เราเดินไป ถ้ามันมีหล่นอยู่ตามรายทางแล้ว โลกนี้คงไม่เครียดเพราะว่าผู้คนคงสามารถหาคำตอบได้ง่ายๆ แล้วชีวิตก็จะมีความสุข

พระธรรมโกษาจารย์ (เงื่อม อินฺทปญฺโญ พุทธทาสภิกขุ) ใช้เวลาถึง 22 ปี ค้นคว้าพระไตรปิฎก เพื่อคัดกรองว่าสิ่งใดที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนไว้ สิ่งใดเป็นสิ่งที่ครูบาอาจารย์ให้อรรถาธิบายเพิ่มเติม ซึ่งในภายหลัง ได้มีหนังสือชุด -จากพระโอษฐ์ ตีพิมพ์ออกมาหลายชุด

แนวคิดนี้ พระอาจารย์คึกฤทธิ์ โสตฺถิผโล วัดป่านาพง ได้รับมาสานต่อ และวัดป่านาพงได้จัดทำเว็บเพื่อเผยแพร่ต่อสาธุชนผู้สนใจ

ท่านเน้นย้ำมากในเรื่องการศึกษา และปฏิบัติธรรมะว่า ควรศึกษาโดยตรงในธรรมะจากพระโอษฐ์เท่านั้น เพราะที่ทรงตรัสถึงขีดจำกัดของสาวกที่เป็นเพียงผู้เดินตามมรรค การแสดงความเห็นของสาวกย่อมมีข้อผิดเพี้ยน ซึ่งเป็นเหตุเสื่อมและเป็นความอันตรธานแห่งธรรมวินัยของตถาคตในกาลยืดยาวนาน ฝ่ายอนาคต และเป็นเหตุแห่งการนับถือศาสนาพุทธที่ผิดเพี้ยนไปด้วย รวมถึงการนำพระพุทธศาสนาไปใช้ในทางที่ไม่ถูกต้อง

ท่านแนะนำการศึกษาพระพุทธศาสนาจากพระโอษฐ์ จากหนังสือที่ท่านพุทธทาสได้รวบรวมเฉพาะคำพูดจากพระโอษฐ์ของพระผู้มีพระภาค เจ้าโดยตรง ไม่ปนความเห็นของผู้ใด มี ๕ เล่ม คือ ๑.อริยสัจจากพระโอษฐ์ ภาคต้น ๒.อริยสัจจากพระโอษฐ์ ภาค ปลาย ๓. ขุมทรัพย์จากพระโอษฐ์ ๔.พุทธประวัติจากพระโอษฐ์ และ ๕.ปฏิจฺจสมุปฺบาทจากพระโอษฐ์ ซึ่งทางธรรมสภาได้รวบรวมและจัดส่งให้โดยสะดวกแก่ผู้โทร สั่งซื้อ ท่านกล่าวว่า การที่พุทธบริษัทศึกษาและปฏิบัติจากคำสอนของพระพุทธเจ้าโดยตรงนี้ จะทำให้การภาวนาเจริญก้าวหน้า และเป็นทางเดียวที่จะช่วยสืบต่ออายุพระพุทธศาสนาที่บริสุทธิ์ได้อย่างสมบูรณ์

อ่านต่อ »


สื่ออะไรในสื่อสังคม

อ่าน: 2659

อย่างไรก็ตามเมื่อเทคโนโลยีทางการสื่อสาร “ก้าวหน้า” ขึ้น คนก็มี “เครื่องมือ” ใหม่ๆ ที่จะติดต่อ สื่อสาร แลกเปลี่ยนกัน ในความก้าวหน้าช่องทางการสื่อสารนั้น มีอยู่สองอย่างที่ไม่ได้เปลี่ยนแปลง คือ

  • เครื่องมือคือเครื่องมือ จะดีหรือไม่ดีอยู่ที่คนใช้ หากไม่เข้าใจเครื่องมือ หรือใช้เครื่องมืออย่างไม่เหมาะสม ผลลัพท์ก็ไม่ดี
  • ผู้ใช้เป็นผู้เลือก เลือกอ่านได้เอง เลือกเชื่อได้เอง เลือกเขียนได้เอง ไม่มีใครจะมาบังคับกะเกณฑ์ให้ดู ให้ฟัง ให้เชื่อในสิ่งที่ผิดได้ หากรู้จักพิจารณาอย่างแยบคาย

อย่างไรก็ตาม เรามักอ้างว่าข้อมูลข่าวสารมากมาย อ่านไม่หมด ย่อยไม่ไหว ก็แล้วทำไมจึงยังรับข่าวสารมากมายเหมือนเดิมล่ะครับ รับมาก็พิจารณาไม่ทัน ในที่สุดก็ปล่อยผ่านไปอยู่ดีใช่ไหม ถ้าทำเหมือนเดิม จะให้ผลแตกต่างออกไปได้อย่างไร

ข้อมูลในลักษณะเขาเล่าว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแบบที่สรุปฟันธงมาให้แล้ว คนที่มักเชื่อไปเลยนั้น เชื่อในสองแนวคือ เชื่อเพราะอยากจะเชื่อ(อคติ) และเชื่อเพราะเชื่อถือคนที่ส่งข้อมูลให้(อคติเช่นกัน) ผมมีบันทึกเกี่ยวเนื่องกับกาลามสูตรอยู่หลายบันทึก หากสนใจก็คลิกอ่านได้ครับ ในเมื่อความเชื่อนั้นเกิดจากอคติ จะเป็นการตัดสินใจที่ดีได้อย่างไร

อ่านต่อ »



Main: 0.16846203804016 sec
Sidebar: 0.74705004692078 sec