สังคมและส่วนรวม

อ่าน: 3099

พระบรมราโชวาท เรียบเรียงขึ้นตามที่ได้บันทึกพระสุรเสียงไว้
พระราชทานแก่นักศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
ณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา
วันจันทร์ ที่ ๒๖ สิงหาคม ๒๕๑๙

ในวันนี้ได้มามอบปริญญาแก่นักศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ณ วิทยาเขตนี้ ซึ่งนับว่าเป็นครั้งแรกที่ได้มา คราวก่อนๆ นี้ก็ได้เคยไปมอบปริญญาที่ปัตตานีและเกิดปัญหาขึ้นมาว่า มหาวิทยาลัยนี้มีวิทยาเขตถึง ๒ แห่ง และเกิดความน้อยใจกันว่าทำไมไปมอบปริญญาที่แห่งเดียวไม่มา ณ ที่นี่ บัดนี้ก็ได้แก้ไขสถานการณ์แล้วได้มาที่นี่เมื่อปีที่แล้วที่ปัตตานีก็ได้พบกับนักศึกษาที่กำลังศึกษาในมหาวิทยาลัยเหมือนกัน และก็ได้แจ้งต่อเขาว่าในปีหน้า คือปีนี้จะมาที่หาดใหญ่ ก็ไม่มีข้อที่จะเกิดความเข้าใจผิดกัน อย่างไรก็ตาม ทุกครั้งที่เข้าในงานมอบปริญญาที่ไหนก็ตาม มีความรู้สึกว่ามีความยินดี เพราะเห็นผู้มีความรู้ คือผู้ที่ได้เล่าเรียนในวิชาการต่างๆ ได้สำเร็จการศึกษา และจะออกไปปฏิบัติงานตามความรู้ที่มี เป็นความรู้ที่มีความแตกต่างกันหลายสาขา รวมความที่เรียกว่าศิลปวิทยา

ศิลปวิทยานี้คือความรู้ในวิชาการ ความรู้ในวิชาการนี้แบ่งเป็นหลายชนิดด้วยกันและต้องใช้กันทั้งนั้น สำหรับให้สังคมและประเทศมีความเจริญรุ่งเรือง คือประเทศเรามีอยู่ตั้งอยู่ และสังคมก็คือทุกคนที่อยู่ ณ ที่นี้ ทุกคนที่อาศัยอยู่ในประเทศเป็นสังคม สังคมนี้อยู่ร่วมกันเพื่ออะไร ก็เพื่อให้อยู่ได้สบาย มีความผาสุก ความมั่นคง อนาคตแจ่มใส เพื่อการนี้ เราก็ต้องใช้ความรู้เพื่อที่จะทะนุบำรุงความมั่นคงนี้ ทะนุบำรุงและส่งเสริมให้ความเป็นอยู่ อยู่อย่างสบายขึ้นทุกที ให้อยู่สบายขึ้นนี้ก็ต้องมีหลายอย่างประกอบกัน สิ่งที่สำคัญก็คือต้องเห็นอกเห็นใจกัน และเกื้อหนุนสนับสนุนซึ่งกันและกัน ถ้าเกื้อหนุนสนับสนุนซึ่งกันและกันด้วยวิชาการก็ยิ่งดี ถ้าพูดถึงวิชาการในการอยู่เป็นสังคมก็เรียกว่าสังคมศาสตร์ ก็ต้องใช้วิชาการของสังคมศาสตร์มาทำให้การอยู่ร่วมกันเป็นไปโดยสวัสดิภาพ คือให้รู้ว่า คนเรามาอยู่เป็นสังคมจะต้องมีระเบียบการอย่างไร เมื่อพูดถึงเช่นนี้ก็หมายความต้องมีวิชาทางด้านนิติศาสตร์มาประกอบด้วย คือจะต้องมีระเบียบการ มีกฎหมาย มีระเบียบที่มั่นคง ถ้าพูดถึงระเบียบมีกฎหมายนั้นก็จะต้องรู้ทางด้านรัฐศาสตร์ คือการปกครอง ปกครองนี้ไม่ใช่กดขี่ ปกครองคือให้ทุกคนมีการเป็นอยู่โดยไม่เบียดเบียนผู้อื่น โดยส่งเสริมผู้อื่น อันนี้ก็จะต้องมีการจัดระเบียบปกครองให้ดี เพื่อไม่ให้มีการเบียดเบียนกัน เพราะแต่ละคนถ้าลืมไปว่าอยู่ในสังคม ก็อาจจะอยากมีเสรีภาพมาก แต่ละคนที่อยากมีเสรีภาพก็อาจจะนึกว่า นั่งที่ใดที่นั้น เป็นของตน และข้างเคียงของตนก็เป็นของตนเหมือนกัน ลืมไปว่ามีคนอื่นอยู่ข้างๆ อย่างท่านทั้งหลายที่นั่งอยู่อย่างมีระเบียบเรียบร้อยนี้ ถ้าเกิดลืมขึ้นมา เกิดหลับหูหลับตาแล้วก็นึกว่าไม่มีใครอยู่ข้างๆ ก็เกิดบิดขี้เกียจขึ้นมา บิดไปบิดมาก็ไปโดนคนอื่น คนอื่นเขาก็เคืองเอา การเคืองของคนอื่นนั้นอาจจะแสดงออกมาในรูปต่างๆ กัน อาจจะบอกอย่าเลย อย่าทำอย่างนี้เป็นการกวนกัน แต่ถ้าเกิดใจร้อน ไม่ยั้งสติ อาจทะเลาะกันเลย ก็ไม่เกิดประโยชน์แก่ผู้ใดเลย ทำให้ทั้งหมดอลเวง และทำให้ไม่มีความผาสุกมั่นคง

ฉะนั้น การที่อยู่เป็นสังคมก็จะต้องมีระเบียบ และมีความรู้ในเสรีภาพของตนนอกจากนี้ นอกจากระเบียบ และความรู้ถึงเสรีภาพ ถึงขอบเขตของเสรีภาพ ซึ่งหมายความว่า แต่ละคนจะต้องมีความรู้ในธรรมะ คือรู้ว่าจะต้องปฏิบัติตนอย่างไรถึงจะมีความเจริญ มีความดี มีความผาสุก เราก็ย่อมอยากอยู่ดีขึ้นตลอดไป การอยู่ดีขึ้นตลอดไปนั้นจะต้องมีวิชาการอย่างตอนนี้ เรานั่งอยู่ ยืนอยู่ในที่นี้ ก็เคราะห์ดีที่เวลานี้ฝนไม่ตก แต่ถ้าตกก็ยังไม่มีความเดือดร้อนเท่าไหร่ ไม่มีความลำบากเท่าไหร่ เพราะว่ามีหลังคาอยู่ ไม่เหมือนที่ปัตตานีเมื่อปีที่แล้วที่เดือดร้อน เพราะว่าการชุมนุมดังนี้ แบบนี้ กระทำข้างนอก ฝกตกก็ต้องลำบาก ต้องย้ายที่ เพราะว่ากลัวเปียกกัน คราวนี้ ถ้าสมมุติว่าฝกตกก็ไม่ค่อยเปียกกันแต่สำหรับอย่างนี้ก็ต้องสร้างหลังคา ต้องสร้างอาคาร การสร้างอาคารต้องใช้หลักวิชาวิทยาการที่เหมาะสม มิฉะนั้นอาคารอาจจะไม่แข็งแรง ถ้ามีพายุฝนขึ้นมาก็อาจจะล้มลงมา เกิดความไม่เรียบร้อยเกิดอันตราย ฉะนั้น อยากอยู่ดี อยากให้มีความสบายขึ้นก็ต้องอาศัยวิทยาการ ในที่นี้ก็วิทยาการในด้านวิศวกรรม และสถาปัตยกรรม ฉะนั้น การอยู่ดีกินดี ก็ต้องอาศัยวิชาการ ว่าถึงวิชาการทางวิศวกรรมทางเกษตรกรรม ทางอื่นๆ ทางการแพทย์ ทางการศึกษา ทั้งหมดนี่ก็เป็นวิชาการที่ทำให้เราอยู่ดีขึ้น ก็จะต้องช่วยกันให้ผู้ที่มีความสามารถที่จะเรียนในสาขาวิชาต่างๆ นี้ ได้เรียน ได้มีความรู้ เพื่อที่จะบริการ เพื่อที่ทำงานให้ส่วนรวมมีความก้าวหน้าได้ ถ้าแต่ละคนได้เรียนรู้มาดีแล้ว ก็สามารถที่จะปฏิบัติตามที่มีความตั้งใจในใจตั้งแต่เดี๋ยวนี้เป็นต้นไปว่าอยากจะทำงานเพื่อส่วนรวม

อ่านต่อ »


รู้รักสามัคคี - Our loss is our gain

2 ความคิดเห็น โดย Logos เมื่อ 28 August 2008 เวลา 0:09 ในหมวดหมู่ ข้อคิดชีวิต ปรัชญา ศาสนา #
อ่าน: 6590

พระราชดำรัส ที่ทรงเรียบเรียงและปรับปรุงขึ้นจากที่ได้บันทึกพระสุรเสียงไว้
พระราชทานแก่คณะบุคคลต่างๆ ที่เข้าเฝ้า ฯ ถวายชัยมงคล
ในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา
ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต
วันพุธ ที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๓๔

ขอขอบใจท่านนายก ฯ (นายอานันท์ ปันยารชุน) ที่ได้อำนวยพรในนามของทุกๆ ท่านที่ได้มาในวันนี้ ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ดีมาก เพราะว่าแต่ก่อนนั้น เวลามีโอกาสเช่นนี้ เมื่อประมาณ ๓๐ ปีก่อน แม้จะมีผู้เข้าพบจำนวนมากพอใช้ ก็ได้ทักทายทุกคณะ เป็นอันว่า แต่ละคนๆ เขาได้ให้พร. แต่เดี๋ยวนี้ โดยที่จำนวนทวีขึ้นมาก ถ้าทำเช่นนั้น ก็ไม่มีทางที่จะเสร็จได้ภายในวันนี้. แต่ก่อนนี้ หลังจากพิธีในวัง ก็ได้มาพบกับท่านที่มาให้พร. โดยมาก ก็ไม่ได้รับประทานอาหารกลางวัน เพราะว่าต้องรับแขกตั้งแต่เที่ยงจนถึงบ่ายสี่โมง แล้วบ่ายสี่โมงครึ่ง ก็ต้องไปงานพิธีในวังอีก.

อย่างในวันนี้ถ้านับดู หากไม่มีนายก ฯ มาบรรเทาความเดือดร้อน ก็จะทำให้ต้องเสียเวลามากมายเพราะว่าเวลาพบคณะหนึ่งก็จะต้องรับพร. ถ้าเขาเริ่มต้นด้วยคำ “ขอเดชะ…” คูณด้วย ๓๐๐ คณะ ก็จะใช้เวลา ๑๕ นาที เฉพาะสำหรับ “ขอเดชะ….” แล้วต่อไปเขาก็จะต้องว่า “ข้าพระพุทธเจ้า…ชื่อนั้นๆๆ…ขอถวายพระพร.” ชื่อนั้นๆๆ…ก็กินเวลาอีกประมาณ ๑๕ นาที. แล้วต่อไป ก็จะต้องว่า “ขอถวายพระพรให้ทรงพระเจริญ” แล้วบางทีเขาก็พูดติดลมต่อไปอีกมากมาย. และต่อจากนั้นเขาจะต้องว่า “ด้วยเกล้า ด้วยกระหม่อม ขอเดชะ” ก็กินเวลาไปอีก ๑๐ นาที. ตอนที่เขาพูดเสร็จแล้ว เราก็จะต้องมีอัธยาศัยไมตรี. อย่างน้อยที่สุด ก็จะต้องบอก “ขอบใจ”. คำว่า “ขอบใจ” นี้จะใช้เวลาไปอีกประมาณ ๑๐ นาที คือ “ขอบใจ” ๓๐๐ ครั้งก็ ๑๐ นาที. นอกจากนั้น เราก็ควรมีอัธยาศัยไมตรีมากกว่านั้นเพราะว่าเมื่อเจอคนโน้นคนนี้ ก็จะต้องทักทายกันบ้าง. “โอ้ไม่ได้พบมานานคุณเสนาะ (นายเสนาะ อูนากูล รองนายกรัฐมนตรี) สบายดีหรือ” อะไรอย่างนี้ ก็จะต้องใช้เวลาไปอีก. รวมแล้ว เวลาจะล่วงไปอย่างน้อยที่สุด ๑ ชั่วโมงครึ่งในการทักทายปราศรัย ไม่นับเวลาเดินด้วย มิฉะนั้นงานอาจไม่เกิดอัธยาศัยไมตรี. การพูดว่า “ขอบใจ” เฉยๆ อาจไม่พอ ก็จะต้องพูดจาอะไรมากกว่านั้น.

อ่านต่อ »


“ถูกต้อง”

อ่าน: 4136

ในเวลาที่มีพิธีกรเกมโชว์ใช้คำว่า “ถูกต้องนะคร้าาาาบบบ” เป็นที่ฮิตกันไปทั่วเมือง แม้ทางฝั่งการบ้านการเมือง การแสดงความคิดเห็น ก็ยังยืนยันว่า ฝ่ายของตนนั้นถูกต้อง และอีกฝ่ายหนึ่งไม่ถูกต้อง ผมค้นพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน… เชื่อไหมครับ ว่าไม่พบคำว่า “ถูกต้อง” !

ถูก ๑
ก. โดน, แตะต้อง, สัมผัส, เช่น ถูกเนื้อถูกตัว; เหมาะกัน, เข้ากัน, เช่น ถูกนิสัย; ตรงกันกับ เช่น ถูกกฎหมาย ถูกลอตเตอรี่; เป็นกริยาช่วย แสดงว่าประธานของประโยคเป็นผู้ถูกทํา (มักใช้ในข้อความที่ทําให้ผู้ถูกทําเดือดร้อนหรือไม่พอใจ) เช่น ถูกเฆี่ยน ถูกลงโทษ. ถูกกระทำ ก. ถูกทำให้มีอันเป็นไปต่าง ๆ โดยวิธีใช้เวทมนตร์เป็นต้น. ถูกกัน ก. เข้ากันได้, ชอบพอกัน. ถูกขา ก. เข้ากันได้, รู้ชั้นเชิงกัน, (มักใช้ในการพนันและการเล่นกีฬา). ถูกคอ ก. ชอบพอ, ถูกอัธยาศัยกัน, มีรสนิยมเข้ากันได้. ถูกคู่ ก. เข้าคู่กันได้. ถูกใจ ก. ชอบ, ต้องใจ, ถูกอกถูกใจ ก็ว่า. ถูกโฉลก ก. ถูกตามตำรับนับโฉลก, ถูกชะตากัน, เป็นมงคล. ถูกชะตา ก. ถูกใจกันแต่แรกเห็น. ถูกตา ว. งาม, น่าดู, ต้องตา. ถูกน้อย (โบ) ก. ถูกลักษณะอย่างวิ่งน้อย เป็นอาการของม้าวิ่งเรียบ ๆ ช้า ๆ. (อิเหนา). ถูกปาก ว. อร่อย. ถูกส่วน ว. ได้สัดส่วน, สมส่วน. ถูกเส้น (ปาก) ว. เข้ากันได้, ชอบพอกัน, ถูกอกถูกใจ. ถูกใหญ่ (โบ) ก. ถูกลักษณะอย่างวิ่งใหญ่ เป็นอาการของม้าวิ่งอย่างเร็ว. ถูกอกถูกใจ ก. ชอบ, ต้องใจ, ถูกใจ ก็ว่า.
ถูก ๒
ว. จริง, ชอบ เช่น ถูกใจ, เหมาะสม, ไม่ผิด เช่น คิดถูก ทําถูก; มีราคาตํ่า, ไม่แพง.

เป็นไปได้หรือนี่ ที่ไม่มีการนิยามความหมายของคำว่าถูกต้องเอาไว้ ไม่ว่าจะเป็นในรูปของกริยา วิเศษณ์ หรือนาม (ความถูกต้อง) เอาไว้

อ่านต่อ »


เกียรติยศและความสำเร็จ ไม่ได้มาพร้อมกับปริญญา

ไม่มีความคิดเห็น โดย Logos เมื่อ 16 August 2008 เวลา 23:33 ในหมวดหมู่ ประสบการณ์ชีวิต #
อ่าน: 2738

พระบรมราโชวาท
ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ณ ศาลาอ่างแก้ว มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
วันพฤหัสบดี ที่ ๒๘ มกราคม ๒๕๓๖

ข้าพเจ้ามีความยินดี ที่ได้มาทำพิธีมอบปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่อีกวาระหนึ่ง และได้ทราบรายงานว่ามหาวิทยาลัยได้ปรับปรุงขยายงานทุกด้าน ให้ก้าวหน้าสอดคล้องกับสภาวการณ์บ้านเมือง. ขอแสดงความชื่นชมกับผู้ทรงคุณวุฒิและบัณฑิตทุกระดับ ทุกสาขา ที่ได้รับเกียรติและความสำเร็จ.

บัณฑิตทั้งหลายได้ผ่านการศึกษาอบรมมาครบถ้วนตามหลักสูตร สมความตั้งใจแล้ว ถือว่ามีความรู้ความสามารถพร้อม ที่จะนำไปปฏิบัติงานและสร้างสรรค์ความเจริญมั่นคงให้แก่ตน แก่ส่วนรวม ให้สำเร็จได้. การสร้างความมั่นคงและความเจริญก้าวหน้าในชีวิต มีแนวปฏิบัติที่ใคร่จะแนะนำดังนี้. ข้อแรก ให้ระลึกถึงเกียรติภูมิของบัณฑิตไว้เสมอ เพื่อป้องกันมิให้ประพฤติผิด คือประพฤติทวนหลักวิชา หลักการ เหตุผล และความถูกต้องชอบธรรม. ข้อสอง ให้ตั้งเป้าหมายในการงาน ในชีวิต ไว้แต่ในทางที่สุจริตดีงาม และเป็นประโยชน์ยั่งยืน แล้วมุ่งดำเนินสู่เป้าหมายนั้นอย่างเที่ยงตรงจริงใจ. ข้อสาม มีความเพียรพยายามกล้าแข็ง ไม่ขาดสาย ทั้งในการสร้างสรรค์งาน และการปฏิบัติปรับปรุงตน เพื่อให้มีความรอบรู้ความจัดเจนชำนาญและวิวัฒนาการก้าวหน้ายิ่งๆ ขึ้น. ข้อสี่ ไม่ทำตัวทำใจให้คับแคบ หากให้กว้างขวาง หนักแน่น สมบูรณ์ด้วยเมตตาและไมตรี เพื่อสามารถผูกสัมพันธ์ ร่วมงาน ร่วมคิดอ่านกับผู้อื่นได้อย่างสอดคล้องคล่องตัว. เพียงเท่านี้ ก็เชื่อว่าจะช่วยให้แต่ละคนดำรงตนอยู่และปฏิบัติหน้าที่การงานทั้งปวงได้โดยราบรื่น ทั้งสามารถบรรลุถึงความสำเร็จที่พึงประสงค์ทุกประการได้อย่างงดงาม.

ข้าพเจ้าขออวยพรให้บัณฑิตใหม่มีความเข้มแข็งสมบูรณ์ พร้อมด้วยกำลังกาย กำลังใจ และกำลังปัญญา สามารถประกอบกรณียกิจทั้งปวงให้บรรลุผลเลิศได้ทุกอย่าง และขอให้ทุกท่านที่มาร่วมประชุมในงานนี้ มีความผาสุกสวัสดีตลอดทุกเมื่อทั่วกัน.


ข้าราชการ

1 ความคิดเห็น โดย Logos เมื่อ 15 August 2008 เวลา 0:33 ในหมวดหมู่ สังคม ชุมชน ครอบครัว #
อ่าน: 2975

พระบรมราโชวาท พระราชทานแก่ข้าราชการพลเรือน
เนื่องในวันข้าราชการพลเรือน
วันพุธ ที่ ๑ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๓๐

ข้าราชการที่สามารถต้องมีความรู้ครบสามส่วน คือความรู้วิชาการ ความรู้ ปฏิบัติการ และความรู้คิดอ่านตามเหตุผลตามความเป็นจริง ต้องมีความจริงใจและความ บริสุทธิ์ใจในงาน ในผู้ร่วมงาน ในการรักษาระเบียบแบบแผน ความดีงาม ความถูกต้อง ทุกอย่างในแผ่นดิน ต้องมีความสงบและหนักแน่นทั้งในกาย ในใจ ในคำพูด ต้องสำรวจดู ความบกพร่องของตนเองอยู่สม่ำเสมอ แล้วปฏิบัติแก้ไขเสียโดยเร็ว ไม่ปล่อยให้เจริญ งอกงามทำความเสียหายให้แก่การกระทำ ความคิด และการงาน.

พระตำหนัก ภูพิงคราชนิเวศน์
วันที่ ๒ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๓๐



ความสุขความเจริญ

ไม่มีความคิดเห็น โดย Logos เมื่อ 12 August 2008 เวลา 0:14 ในหมวดหมู่ สังคม ชุมชน ครอบครัว #
อ่าน: 3474

พระบรมราโชวาท
ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรและอนุปริญญาบัตรของ
จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย
ณ หอประชุมจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย
วันพฤหัสบดี ที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๑๘

ข้าพเจ้าและพระราชินีมีความยินดี ที่ได้มาร่วมในพิธีมอบปริญญาบัตรและอนุปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัยอีกวาระหนึ่ง และที่ได้ทราบรายงานว่ากิจการด้านต่างๆ ของมหาวิทยาลัยดำเนินมาด้วยความก้าวหน้าตลอดเวลา

ขอแสดงความชื่นชมกับบัณฑิตและผู้ทรงคุณวุฒิ ที่ได้รับปริญญาและปริญญากิตติมศักดิ์สาขาวิชาต่างๆ กับขอชมเชยบรรดาอาจารย์อาวุโส ที่ได้ช่วยเหลืองานของมหาวิทยาลัยด้วยความเข้มแข็งและยั่งยืนมั่นคง

ในการที่ผู้สำเร็จการศึกษาจะออกไปเริ่มต้นการงาน ซึ่งเป็นภาระสำคัญอีกขั้นหนึ่งต่อไปนั้น จำเป็นจะต้องมีจุดหมายในชีวิตที่ถูกต้องและสมควร สำหรับยึดถือเป็นเบื้องต้นก่อน จึงจะช่วยให้ได้รับผลสำเร็จอันควรพึงพอใจ จุดหมายสำคัญนั้น ได้แก่ความเจริญก้าวหน้าและความผาสุกอันแท้จริงของแต่ละคน ซึ่งเมื่อประกอบเข้าด้วยกันแล้ว จะสามารถอำนวยผลดี และก่อเกิดประโยชน์สุขแก่สังคมและประเทศชาติโดยส่วนรวมอย่างไพศาล

ความสุขความเจริญอันแท้จริงนั้น หมายถึงความสุขความเจริญที่บุคคลแสวงหามาได้ด้วยความเป็นธรรม ทั้งในเจตนาและการกระทำ ไม่ใช่ได้มาด้วยความบังเอิญ หรือด้วยการแก่งแย่งเบียดบังมาจากผู้อื่น ความเจริญที่แท้นี้มีลักษณะเป็นการสร้างสรรค์ เพราะอำนวยประโยชน์ถึงผู้อื่นและส่วนรวมด้วย ตรงกันข้ามกับความเจริญอย่างเท็จเทียม ที่เกิดขึ้นมาด้วยความประพฤติไม่เป็นธรรมของบุคคล ซึ่งมีลักษณะเป็นการทำลายล้าง เพราะให้โทษบ่อนเบียนทำลายผู้อื่นและส่วนรวม การบ่อนเบียนทำลายนั้น ที่สุดก็จะกลับมาทำลายตน ด้วยเหตุที่เมื่อส่วนรวมถูกทำลายเสียแล้ว ตนเองก็จะยืนตัวอยู่ไม่ได้ จะต้องล่มจมลงไปเหมือนกัน ดังนั้น ข้าพเจ้าจึงได้นำเรื่องนี้มาปรารภในโอกาสนี้ เพื่อให้ทุกคนเล็งเห็นถ่องแท้ว่า ความเจริญผาสุกที่แท้กับไม่แท้ของบุคคลอยู่ที่ไหน และนำมาพิจารณาดำเนินชีวิตและการงานได้โดยถูกต้อง

ขออวยพรให้บัณฑิตใหม่มีกำลังกายใจและความคิดอันสมบูรณ์ มีสติอันมั่นคงที่จะควบคุมความคิดและการกระทำทั้งปวงมิให้ผิดพลาด เพื่อสามารถนำตนให้ก้าวถึงความสุขความเจริญและความสำเร็จที่แท้จริงอันพึงปรารถนา.


จบการศึกษา ไม่ใช่เรียนจบแล้ว

2 ความคิดเห็น โดย Logos เมื่อ 30 July 2008 เวลา 11:50 ในหมวดหมู่ ประสบการณ์ชีวิต #
อ่าน: 3370

พระบรมราโชวาท
ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยขอนแก่น
ณ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
วันพฤหัสบดี ที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๔๑

                ข้าพเจ้ามีความยินดี ที่ได้มาทำพิธีมอบปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยขอนแก่นและได้ทราบว่ากิจการของมหาวิทยาลัยดำเนินก้าวหน้าไปด้วยดีทุกด้าน. ขอแสดงความชื่นชมกับผู้ทรงคุณวุฒิและบัณทิตทุกคน ที่ได้รับเกียรติและความสำเร็จ ทั้งขอขอบใจมหาวิทยาลัยเป็นอย่างมาก ที่มอบปริญญาศิลปศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์แก่ข้าพเจ้า.

                เมื่อครั้งที่บัณฑิตยังศึกษาเล่าเรียนอยู่นั้น ย่อมคุ้นเคยกับการมีอาจารย์เป็นที่ปรึกษาคอยให้คำแนะนำช่วยเหลือ แต่เมื่อศึกษาสำเร็จและออกไปปฏิบัติหน้าที่การงานด้วยตนเอง บางคนอาจรู้สึกว้าเหว่อยู่บ้าง ที่ไม่มีครูบาอาจารย์คอยประคับประคองชี้แนะ. ความจริงข้อนี้มิใช่เรื่องที่ควรวิตกกังวลให้มากเกินไป เพราะงานที่ท่านจะไปทำนั้นปรกติมิใช่งานที่จะทำคนเดียว หากจะต้องร่วมมือกับผู้อื่นฝ่ายอื่นอีกมาก. บรรดาผู้ร่วมงานเหล่านั้นย่อมมีทั้งผู้มีความรู้ความสามารถมากกว่า และผู้มีความรู้ด้อยกว่าแต่มากด้วยประสบการณ์ ซึ่งถือได้ว่าเป็นผู้มีอาวุโส ที่ท่านจะนับถือเป็นครูในอันที่จะเรียนรู้และขอคำปรึกษาได้เป็นอย่างดี. อีกอย่างหนึ่ง การทำงานร่วมกับผู้อื่นนั้น ที่จะให้เป็นไปโดยราบรื่น ปราศจากปัญหาข้อขัดแย้งย่อมเป็นไปได้ยาก เพราะคนจำนวนมากย่อมมีความคิดความต้องการที่แตกต่างกันไป มากบ้าง น้อยบ้าง. ท่านจะต้องรู้จักอดทนและอดกลั้น ใช้ปัญญา ไม่ใช้อารมณ์ ปรึกษากัน และโอนอ่อนผ่อนตามกันด้วยเหตุผล โดยถือว่าความคิดที่แตกต่างกันนั้น มิใช่เหตุที่จะทำให้ข้อขัดแย้งโต้เถียงเพื่อเอาแพ้เอาชนะกัน แต่เป็นเหตุสำคัญที่จะช่วยให้เกิดความกระจ่างแจ้งทั้งในวิถีทางและวิธีการปฏิบัติงาน. ถ้าบัณฑิตจะมีความคิดเห็นและปฏิบัติได้ดังที่กล่าวนี้ ก็เชื่อว่าจะสามารถดำเนินชีวิตและกิจการทุกอย่างให้ราบรื่นและมั่นคง จนบรรลุความสำเร็จพร้อมทั้งความเจริญก้าวหน้าได้ดังที่มุ่งหวัง.

                ขออวยพรให้บัณฑิตใหม่ทุกคน และผู้มาร่วมประชุมทุกท่าน ประสบความสุข ความสำเร็จ และความสวัสดีโดยทั่วกัน.


น้ำ

ไม่มีความคิดเห็น โดย Logos เมื่อ 30 July 2008 เวลา 4:45 ในหมวดหมู่ ประสบการณ์ชีวิต #
อ่าน: 2851

พระราชดำรัส เรียบเรียงขึ้นตามที่ได้บันทึกพระสุรเสียงไว้
ในโอกาสที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ พลอากาศเอก สิทธิ เศวตศิลา
นำคณะเอกอัครราชทูต และกงสุลใหญ่ไทยประจำภูมิภาคยุโรป แอฟริกา และตะวันออกกลาง
พร้อมด้วยข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ของกระทรวงการต่างประเทศ
เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท
ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน
วันศุกร์ ที่ ๒๙ ธันวาคม ๒๕๓๒

                ข้าพเจ้าดีใจ ที่ได้มีโอกาสพบกับข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ของกระทรวงการต่างประเทศอีกครั้งหนึ่ง ทั้งได้พบกับทูตานุทูตที่นี่ และฝ่ายกงสุลของกระทรวงการต่างประเทศที่มาประชุมในกรุงเทพในครั้งนี้

                ความจริงท่านทั้งหลายก็เป็นผู้ใหญ่ที่มีความรู้และความสามารถมาก ถึงได้เป็นผู้ใหญ่ในทางราชการนี้ และแต่ละคนก็มีความรู้ด้านต่างๆ พร้อมที่จะปฏิบัติงาน งานของกระทรวงการต่างประเทศนั้นก็มีความสำคัญ เพราะว่าจะต้องเป็นผู้แทนของประเทศไปสู่ประเทศต่างๆ ในโลก ซึ่งข้อนี้เป็นสิ่งสำคัญ เพราะว่าชื่อเสียงของประเทศนั้นจะทำให้ประเทศอื่นๆ เขามีความนับถือ และเมื่อมีความนับถือก็จะทำให้เขาร่วมมืออย่างดี ไม่ใช่เฉพาะแต่การร่วมมือ แม้แต่เพียงไม่เบียดเบียนก็เป็นผลงานอย่างหนึ่งที่ควรจะมุ่ง คือว่าประเทศหนึ่งประเทศใดก็จะอยู่ได้ด้วยการสร้างสรรค์ประเทศให้ก้าวหน้า แต่ว่าต้องมีความปลอดภัยด้วย ปลอดภัยนั้นก็ได้มาจากป้องกันศัตรู ป้องกันไม่ให้ศัตรูเข้ามา อีกด้านหนึ่งก็เป็นการส่งเสริมให้มีมิตรที่ดี เพื่อลดจำนวนศัตรูอย่างหนึ่ง และเพื่อให้เป็นผู้ที่จะมาช่วยถ้ามีศัตรู แต่ที่ดีที่สุดก็คือไม่มีศัตรู ฉะนั้นงานของท่านก็สำคัญอยู่ที่จะทำให้ประเทศอื่นๆ เป็นมิตร วิธีทำให้ประเทศอื่นๆ เป็นมิตร นั้นก็คือแสดงความตั้งใจดีของเรา หวังดีของเราทั้งแสดงว่าเรามีความจริงใจอยากที่จะได้เป็นมิตร ไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน ฉะนั้นงานของท่านก็มีหลายด้าน

อ่านต่อ »


ผู้พิพากษา

ไม่มีความคิดเห็น โดย Logos เมื่อ 29 July 2008 เวลา 20:00 ในหมวดหมู่ ประสบการณ์ชีวิต #
อ่าน: 4143

พระราชดำรัส เรียบเรียงขึ้นตามที่ได้บันทึกพระสุรเสียงไว้
ในโอกาสที่ประธานศาลฎีกา นายประมาณ ชันซื่อ นำผู้พิพากษาเข้าเฝ้า ฯ
ถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่ครั้งแรก
ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน
วันจันทร์ ที่ ๑๙ เมษายน ๒๕๓๖

                ผู้พิพากษาที่จะออกไปรับหน้าที่ครั้งแรก มีประเพณีที่จะต้องเปล่งวาจาเป็นการแสดงสัตย์ปฏิญาณว่าจะปฏิบัติงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริต และด้วยความตั้งใจที่ซื่อตรง. การเปล่งสัตย์ปฏิญาณนี้เป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะเป็นการยืนยันว่าท่านทั้งหลายจะปฏิบัติงานด้วยความตั้งใจ เพื่อให้ได้ประโยชน์ในหน้าที่ของผู้พิพากษา.

                หน้าที่ที่สำคัญนี้จะต้องมีหลายอย่าง จะต้องมีความรู้วิชาการ จะต้องมีความตั้งใจที่เข้มแข็ง แข็งแรงและมีความซื่อสัตย์สุจริต. ในการปฏิบัติหน้าที่ผู้พิพากษานี้จะต้องประสบปัญหาหลายอย่าง จะต้องพยายามที่จะขบปัญหาเหล่านั้น ด้วยความตั้งใจและด้วยความรู้ที่ถูกต้อง. เพราะขั้นแรกปัญหาที่เกิดขึ้น เราจะต้องขบด้วยความรู้ในวิชาการ. ถ้าปัญหานั้นเข้าไปในหลักของกฎหมายใด ก็จะต้องทำตามนั้นโดยเคร่งครัด. ที่สำคัญคือตอนไหนที่จะต้องตีความกฎหมาย เพราะว่ากฎหมายอาจเปิดโอกาสให้พิจารณาตามทฤษฎี. ข้อนี้เป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะว่าดุลยพินิจนี้จะต้องอาศัยหลักกฎหมายหลักวิชาส่วนหนึ่ง แต่อีกส่วนหนึ่งจะต้องอาศัยหลักของความยุติธรรมซึ่งเรียนรู้ยาก. จะต้องฝึกให้เห็นว่าอันไหนที่สมควร อันไหนไม่สมควร และข้อนี้ก็คือที่ได้เปล่งวาจาว่าจะปราศจากอคติ.

อ่านต่อ »


จิตใจระเบิดขวด

ไม่มีความคิดเห็น โดย Logos เมื่อ 26 July 2008 เวลา 9:11 ในหมวดหมู่ ข้อคิดชีวิต ปรัชญา ศาสนา #
อ่าน: 4352

พระราชดำรัส พระราชทานแก่ข้าราชการ นิสิต นักศึกษา พ่อค้า ประชาชน
คณะกรรมการของมูลนิธิและสมาคมต่างๆ เฝ้า ฯ ถวายพระพรชัยมงคล
เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาผกาภิรมย์
วันพฤหัสบดี ที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๑๑

        ขอขอบใจที่พากันมาอวยพร ที่ให้พรนั้นสรุปได้ว่าให้ทรงพระเจริญ สิ่งใดที่ต้องการขอให้สำเร็จ คำให้พรให้เจริญนั้นจะเจริญได้ถ้ามีกำลังใจ เมื่อมาให้กำลังใจให้อย่างนี้ก็คงจะเจริญได้ ความเจริญนั้นมีหลายอย่าง จะเล่าให้ฟัง เมื่อ ๒๐ กว่าปีมาแล้ว ไปเฝ้าสมเด็จ ฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศ ฯ ทรงเจริญชนมพรรษาถึง ๙๐ ทูลว่า ขอให้ทรงพระเจริญ แล้วลงกราบท่าน ท่านรับสั่งไม่ค่อยได้ เพราะไม่ทรงสบาย ทรงเจ็บพระศอ และทรงเพลีย แต่ในที่สุดก็รับสั่งว่า เจริญแล้ว คงจะหมายความว่าทรงพระชรามากแล้ว และตามความจริง สมเด็จ ฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศ ฯ ก็ทรงพระเจริญมากด้วยคุณธรรม คือทรงมีความสามารถและความเพียรพยายามทุกด้าน โดยมากมักจะนึกถึงกันแต่ทางศิลปะ แท้จริงยังทรงสามารถทางการปกครองและทางวิชาการอื่นๆ อีก จึงทรงเป็นผู้ที่เจริญ และเมื่อตรัสว่าเจริญแล้ว จึงหมายความว่าพระชนมายุมากแล้วด้วย เจริญพอแล้วด้วย

        ที่ทุกคนมาให้พรว่าให้ทรงพระเจริญ คงจะให้เจริญทางจิตใจ วันนี้มีสมาคมองค์การต่างๆ โรงเรียน นักศึกษา และนักเรียนมาให้พรกันมากมายรวมทั้งสมาคมที่เป็นห่วงเรื่องสุขภาพจิตด้วย และเมื่อวันก่อนก็มีองค์การศาสนาต่างๆ ทุกศาสนาที่มีอยู่ในเมืองไทยมาให้พร ได้พูดด้วยทุกราย จึงต้องพูดกับนักเรียนบ้างเพื่อไม่ให้น้อยใจ ที่ตั้งใจจะพูดด้วยก็เรื่องสุขภาพจิต เพราะได้เคยพูดฝากกับผู้ที่เป็นสมาชิกสมาคมส่งเสริมสุขภาพจิตว่า “หมู่นี้ สุขภาพจิตไม่ค่อยดี” คุณหญิงอัมพรจึงมาให้พรว่า “ขอให้ทรงพระเจริญและให้พระสุขภาพจิตดียิ่งๆ ขึ้น” คำว่าพระสุขภาพจิตที่ใช้เป็นคำใหม่ มีความหมายอย่างไร ไม่ทราบได้ ตามจริงก็คงจะอยากให้พรให้มีสุขภาพทางจิตดี คิดว่าสุขภาพทางจิตหรือความรู้สึกนึกคิดจะดีได้ก็เพราะมีคนอื่นเอาใจช่วย อย่างที่ทุกคนมาเฝ้า ฯ นี้ ยินดีมีโอกาสพูดด้วย ถ้าทุกคน ทั้งเด็กทั้งผู้ใหญ่ ทั้งผู้ที่เป็นนักศึกษา และเป็นครู เห็นความสำคัญในเรื่องสุขภาพจิต ขอโทษ ขององค์พระประมุข ถ้าทุกคนร่วมมือกันทำงานตามจุดประสงค์แล้ว จะทำให้สุขภาพจิตขององค์พระประมุขดีได้ และถ้าแต่ละคนทั้งเด็กทั้งผู้ใหญ่รู้สึกว่ามีหน้าที่ที่จะรักษาสุขภาพจิตของ องค์พระประมุข เมื่อถวายพระพรให้ทรงพระเจริญ หรือให้ทรงพระชนมายุยืนนานเป็นร้อยปีหรือเป็นหมื่นปี ก็ขอให้เข้าใจว่าได้ถวายพระพรให้สุขภาพจิตขององค์พระประมุขดีด้วย

        คำว่าองค์พระประมุขนั้นแสดงถึงส่วนรวมของประเทศ คือแต่ละคนรวมกันเข้าก็เป็นประชาชน เป็นสังคมของประเทศ ผู้ที่อยู่ในที่นี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของประชาชน เป็นส่วนหนึ่งของประเทศ ถ้าแต่ละคนอยากดีก็จะต้องช่วยกันทำให้ประเทศดีขึ้น อย่างเมื่อกี้เดินผ่านทหาร ตำรวจ นักเรียนที่เป็นลูกเสือ นักเรียนที่เป็นอนุกาชาด นักเรียนที่เป็นนักเรียนในโรงเรียนราษฎร์ โรงเรียนรัฐบาล นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ทุกคนพากันอวยพรให้ทรงพระเจริญ จึงต้องขอร้องทุกคนที่ขอให้ทรงพระเจริญนี้ทำหน้าที่ เพราะถ้าพูดหรือคิดขึ้นมาว่าขอให้ทรงพระเจริญ เป็นการคิดเป็นคำพูดลอยๆ เก๋ๆ ตามสมัย โดยเฉพาะในวันเฉลิมพระชนมพรรษายิ่งต้องพูดอย่างนั้นแล้วก็จะไม่ได้ผล แต่ถ้านึกถึงว่าทรงพระเจริญหมายความว่า องค์พระประมุขทรงพระเจริญ หมายความว่าประเทศจงเจริญก็เกิดหน้าที่ขึ้นมา แต่ละคนเกิดมีหน้าที่ต่อประเทศชาติ ซึ่งหมายความว่าหน้าที่ส่วนของตัวด้วยและหน้าที่ในส่วนรวมของกลุ่มด้วย

อ่านต่อ »



Main: 0.089936017990112 sec
Sidebar: 0.33222103118896 sec