สุขภาพจิต
อ่าน: 3644พระราชดำรัส เรียบเรียงขึ้นตามที่ได้บันทึกพระสุรเสียงไว้
ในโอกาสที่คณะจิตแพทย์ นักวิชาการสุขภาพจิต
อาจารย์จากมหาวิทยาลัย และผู้ทรงคุณวุฒิจากสถาบันต่างๆ
เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท
ณ พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์
วันอังคาร ที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๐สุขภาพจิตและสุขภาพทางกายนี้ มีความสัมพันธ์ที่จะโยงกันอย่างยิ่ง และเป็นความจริงตามที่ท่านอธิบดีได้แจ้งว่า ควรที่จะถือว่าสุขภาพจิตเป็นสำคัญสำหรับให้ประชาชนมีความผาสุกกันได้อีกข้อหนึ่ง ในการอบรมบุคลากรให้รู้จักใช้สุขภาพจิตนั้นก็เป็นข้อหนึ่งที่สำคัญ ข้อแรก สุขภาพจิตและสุขภาพกายนั้น พูดได้ว่าสุขภาพจิตสำคัญกว่าสุขภาพกายด้วยซ้ำ เพราะว่าคนไหนที่ร่างกายสมบูรณ์แข็งแรงแต่จิตใจฟั่นเฟือนไม่ได้เรื่องนั้น ถ้าทำอะไรก็จะยุ่งกันได้ กายที่แข็งแรงนั้นก็จะไม่เป็นประโยชน์ต่อตนเองหรือสังคมอย่างใด ส่วนคนที่สุขภาพกายไม่สู้จะแข็งแรงแต่สุขภาพจิตดี หมายความว่าจิตใจดี รู้จักจิตใจของตัวและรู้จักปฏิบัติให้ถูกต้อง ย่อมเป็นประโยชน์ต่อตัวเองมาก และเป็นประโยชน์ต่อสังคมได้มาก ในที่สุดสุขภาพจิตที่ดีก็อาจจะพามาซึ่งสุขภาพทางกายได้ หรือถ้าสุขภาพกายไม่ดีนักก็ไม่ต้องถือว่าเป็นของสำคัญ อันนี้เป็นในด้านความสัมพันธ์ระหว่างสุขภาพจิตกับกาย ในด้านที่จะศึกษาหรือสั่งสอนเกี่ยวข้องกับสุขภาพจิตนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่มีความหนักใจอยู่ เพราะว่าการศึกษาสุขภาพจิตเพื่อการศึกษาเฉยๆ หรือสอนเพื่อการสอนสุขภาพจิตเฉยๆ นั้น ย่อมจะไม่มีประโยชน์นัก แต่ว่าถ้าโยงกันว่า ผู้ที่จะปฏิบัติทั้งในด้านที่จะรักษาร่างกาย หรือปราบโรคในหน้าที่ของแพทย์ พยาบาล แต่ใช้สุขภาพจิตด้วย ย่อมจะมีความสำเร็จได้มาก ฉะนั้นที่ว่าใช้สุขภาพจิตก็หมายความว่าตนเองหรือผู้ที่ปฏิบัตินั้นจะต้องมีสุขภาพจิตที่ดี ผู้ที่จะสอนในวิชาอื่น หรือปฏิบัติงานอย่างอื่นนอกจากการรักษาพยาบาล ก็ย่อมต้องมีสุขภาพจิตที่ดี อย่าเพิ่งไปสอนสุขภาพจิต สอนตัวเองถึงสุขภาพจิตที่ดีหรือสภาพจิตที่ถูกต้องและความเห็นที่ถูกต้องก่อนจึงจะสอนได้ดี ยังในด้านการรักษาร่างกาย ถ้าสมมุติว่าให้ยาที่ถูกต้องแต่ด้วยวิธีที่ผู้ที่ให้นะสุขภาพจิตไม่สู้ดีนัก หมายความว่าโยนให้ หรือในเวลาที่คนไข้มาหานายแพทย์ๆ ก็ด่าเสียหน่อย คือก็กล่าวว่าทำไมจึงต้องมากวน ก็หมายความว่าสุขภาพจิตของผู้เป็นแพทย์นั้นไม่สู้ดีนัก การพัฒนาสุขภาพจิตจึงต้องพัฒนาที่ตัวผู้ปฏิบัติ ไม่ใช่ว่าจะมาศึกษาสุขภาพจิตเฉยๆ การที่จะปฏิบัติด้วยสุขภาพจิตที่ดีก็หมายถึงว่าจะต้องอบรมตนเองให้มีสุขภาพจิตที่ดี ไม่ใช่ว่าจะไปสอนคนอื่น ผู้ที่มีสุขภาพจิตที่ดีแล้วอาจจะสอนคนอื่นได้ ชักชวนให้คนอื่นมีสุขภาพจิตดี จนกระทั่งงานที่ทำมีความสำเร็จที่ดีได้ เช่นเวลารักษาผู้ป่วยก็ทำด้วยความละมุนละไม ทำให้ผู้ที่มีโรคสบายใจขึ้น คือไว้ใจแพทย์ได้ และมีกำลังใจขึ้นมา ย่อมทำให้กายนั้นรับการรักษาได้อย่างเต็มที่ และทำให้กายนั้นหายจากโรคภัยได้สะดวก