ข่าวลือ
อ่าน: 3566เหตุการณ์ก่อความสงบนี้ ไม่ใช่ว่าจะปราศจากเค้าลาง เชื่อว่าผู้ที่สนใจข่าวสาร คงทราบดี ส่วนผู้ที่ติดตาม อาจจะคาดเดาได้ด้วยซ้ำไป
ผมอยากบอกว่าทุกฝ่ายคาดการณ์ผิด เหตุการณ์ลุกลามเพราะข้อมูลถูกบิดเบือน จะโดยเจตนาหรือไม่ก็ตาม ผู้รับข่าวสาร คิดเอาเองโดยเชื่อข้อมูลที่ไม่ได้ตรวจสอบ ทำให้ต่างฝ่ายต่างคิดว่าเป็นผู้ถูกกระทำ ที่จริงแล้วผู้ถูกกระทำโดยความรุนแรงที่เกิดขึ้น คือสังคมไทยทั้งหมด
ในสถานการณ์อันซับซ้อนแบบนี้ ยากจะพูดว่าสาเหตุอันใดเป็นตัวจุดชนวน เหมือนมีผู้ยิงปืนแล้วมีคนเสียหาย กฏหมายจะต้องหาว่าใครเป็นผู้เหนี่ยวไก แต่ว่าในกรณีความไม่สงบนี้ สังคมไทยควรมองย้อนกลับไปนานกว่านั้น หาทางป้องกันไม่ให้ใครเอาลูกไปใส่ในปืนต่างหาก
- คนฟังอยากฟังเรื่องที่อยากฟัง แต่คนพูดกลับพูดในเรื่องที่อยากพูด ดังนั้นเมื่อพูดออกมา คนบางส่วนจึงไม่ฟัง
- ในเมื่อเรื่องที่พูด กับเรื่องที่อยากฟังเป็นคนละเรื่อง ความคิดจึงไปกันคนละแนว ยังแตกต่างกันโดยพื้นฐาน คุยกันไม่รู้เรื่อง เป็นประเด็นการจัดลำดับความสำคัญของเรื่องที่ต้องการสื่อ
- ในเหตุการณ์ชุลมุน ไม่มีช่องทางการสื่อสารโดยตรงระหว่างกลุ่มที่ขัดแย้งกัน ฝ่ายก่อความไม่สงบปิดข่าวสารจากรัฐจากผู้ชุมนุม ใช้ข่าวสารของตนเองเท่านั้น ส่วนรัฐปิดช่องทางสื่อสารของอีกฝ่ายหนึ่งไปยังแนวร่วม
- การที่สื่อข้อความทางเดียว ไม่ทำให้การสื่อข้อความสมบูรณ์ ผู้สื่อข้อความออกไป ไม่มีทางรู้ได้ว่าผู้รับรับข้อความนั้นได้หรือไม่ รับได้ถูกต้องหรือไม่ รับถูกต้องแล้วเข้าใจหรือไม่ เข้าใจแล้วจะเชื่อหรือไม่ เชื่อแล้วจะปฏิบัติตามหรือไม่
- ข้อความที่น่าเชื่อถือ มักจะมีส่วนผสมระหว่างข้อเท็จจริง (ซึ่งต่างกับความจริง) กับสิ่งที่ผู้รับข่าวสารต้องการจะได้ยินและต้องการจะเชื่อ ฟังดูสมเหตุผล แล้วปล่อยให้ผู้ฟังคิดไปเอง
- ข่าวลือที่พูดต่อๆกันไป คือการรับประกันความถูกต้องของข้อมูล ด้วยความน่าเชื่อถือของตัวผู้พูดเอง แล้วเมื่อปล่อยข่าววนไปวนมาในกลุ่ม ข่าวสารเรื่องเดียวกัน กลับมาซ้ำแล้วซ้ำอีก ยิ่งเพิ่มความน่าเชื่อถือ เพราะคือการยืนยันซ้ำข่าวสารที่ต้องการจะเชื่ออยู่แล้ว หน่วงเวลาตามธรรมชาติโดยการลืออ้อมไปอ้อมมา