การรับมือสิ่งท้าทายอุบัติใหม่
เมื่อต้นปี 2551 หรือปลายปี 2550 สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ร่วมกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ได้จัดการสัมนาระดมความคิดเห็นหลายรอบ เพื่อพยายามกำหนดขอบเขตของ “สิ่งท้าทายอุบัติใหม่” (emerging challenges) เตรียมความพร้อมให้กับประเทศไทย
เผอิญผมได้มีส่วนไปร่วมด้วยหลายครั้ง เห็นว่าวิธีการแบบนี้ น่าสนใจครับ ต่างกับการประชุมสัมนาแบบการบรรยายซึ่งเชิญผู้รู้ไปหมดมาพูด ต่างกับการประชุมเชิงปฏิบัติการที่ตั้งธงไว้แล้วว่าจะต้องได้ข้อสรุปในแนวไหน แต่เป็นการประชุมโฟกัสกรุ๊ปของผู้เชี่ยวชาญในแขนงต่างๆ ที่เลือกเชิญผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจากหลายวงการ ทั้งเศรษฐกิจ สังคม และวิทยาการต่างๆ มาคุยกันเป็นกลุ่มย่อยๆ เพื่อระดมความคิด จัดเรียงลำดับความสำคัญ หาแนวทางเตรียมการรับมือเบื้องต้น ทุกคนได้พูดครับ ไม่อย่างนั้นจะเชิญมาทำไม
เก็บข้อมูลดิบไว้ทั้งหมด แต่นำข้อสรุปของแต่ละกลุ่ม มากลั่นกรองเป็นข้อสรุปของรอบ ของเรื่อง ของสาขา แล้วเข้าสภาที่ปรึกษาฯ อีกครั้งหนึ่ง ก่อนเสนอไปยังรัฐบาลเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ โดยสิ่งท้าทายอุบัติใหม่ที่มีลำดับความสำคัญสูงใน 5 ประเด็นได้แก่
- การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่ทำให้เกิดสภาวะโลกร้อน
- เทคโนโลยีอุบัติใหม่ เกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตดัดแปรพันธุกรรม (GMOs)
- พลังงานทางเลือก: พลังงานนิวเคลียร์
- การพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศ ในกระแสโลกาภิวัตน์
- การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร และมิติสังคมวัยวุฒิ