นาถกรณธรรม
อ่าน: 3672พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต)
[324] นาถกรณธรรม 10 (ธรรมอันกระทำที่พึ่ง, ธรรมสร้างที่พึ่ง, คุณธรรมที่ทำให้ตนเป็นที่พึ่งของตนได้ - virtues which make for protection)
- ศีล (ความประพฤติดีงามสุจริต รักษาระเบียบวินัย มีอาชีวะบริสุทธิ์ - good conduct; keeping moral habits)
- พาหุสัจจะ (ความเป็นผู้ได้ศึกษาเล่าเรียนมาก มีความรู้ความเข้าใจลึกซึ้ง - great learning)
- กัลยาณมิตตตา (ความมีกัลยาณมิตร, การคบคนดี ได้ที่ปรึกษา และผู้แนะนำสั่งสอนที่ดี - good company; association with good people)
- โสวจัสสตา (ความเป็นผู้ว่าง่ายสอนง่าย รับฟังเหตุผล - amenability to correction; meekness; easy admonishability)
- กิงกรณีเยสุ ทักขตา (ความเอาใจใส่ช่วยขวนขวายในกิจใหญ่น้อยทุกอย่างของเพื่อนร่วมหมู่คณะ รู้จักพิจารณาไตร่ตรอง สามารถจัดทำให้สำเร็จเรียบร้อย - willingness to give a helping hand; diligence and skill in managing all affairs of one’s fellows in the community)
- ธัมมกามตา (ความเป็นผู้ใคร่ธรรม คือ รักธรรม ใฝ่ความรู้ใฝ่ความจริง รู้จักพูดรู้จักฟัง ทำให้เกิดความพอใจ น่าร่วมปรึกษาสนทนา ชอบศึกษา ยินดีปรีดาในหลักธรรมหลักวินัยที่ละเอียดลึกซึ้งยิ่งๆ ขึ้นไป - love of truth; to the Doctrine, be pleasant to consult and converse with and rejoice in the advanced teaching of both the Doctrine and the Discipline)
- วิริยารัมภะ (ความขยันหมั่นเพียร คือ เพียรละความชั่ว ประกอบความดีมีใจแกล้วกล้า บากบั่นก้าวหน้า ไม่ย่อท้อ ไม่ทอดทิ้งธุระ - energy; effort; energetic exertion)
- สันตุฏฐี (ความสันโดษ คือ ยินดี มีความสุขความพอใจด้วยปัจจัย 4 ที่หามาได้ด้วยความเพียรอันชอบธรรมของตน - contentment)
- สติ (ความมีสติ รู้จักกำหนดจดจำ ระลึกการที่ทำคำที่พูดไว้ได้ ไม่มีความประมาท - mindfulness; ability to remember what one has done and spoken)
- ปัญญา (ความมีปัญญาหยั่งรู้เหตุผล รู้จักคิดพิจารณา เข้าใจภาวะของสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง - wisdom; insight)
นาถกรณธรรมนี้ ท่านเรียกว่าเป็น พหุการธรรม หรือ ธรรมมีอุปการะมาก เพราะเป็นกำลังหนุนในการบำเพ็ญคุณธรรมต่างๆ ยังประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่นให้สำเร็จได้อย่างกว้างขวางไพบูลย์