รู้

อ่าน: 3499

ตามเรื่องในพุทธประวัติ ความตอนหนึ่งที่กล่าวโดยย่อคือ เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะเสด็จออกผนวช ปัญจวัคคีตามปรนิบัติอยู่หกปี จนเมื่อทรงละการบำเพ็ญทุกรกริยา ปัญจวัคคีจึงละทิ้งท่านไป ด้วยสำคัญผิดว่าพระองค์จะละทิ้งการแสวงหาทางหลุดพ้น เมื่อพระพุทธองค์ตรัสรู้แล้ว จึงตามหาพระอาจารย์ปรากฏว่าสิ้นอายุขัยไปแล้ว จึงระลึกถึงปัญจวัคคี เมื่อตามจนพบกัน พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงธรรมจักกัปปวัตตนสูตรในวันอาสาฬหบูชา

เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสรู้นั้น คำว่าตรัสรู้ คือรู้ถึงสิ่งที่ไม่เคยได้ร่ำเรียนหรือรับรู้มาก่อน แต่ยังมีประเด็นที่น่าสนใจซึ่งพระพรหมคุณาภรณ์ เขียนบทความเรื่อง หัวใจพุทธศาสนา (ซึ่งมีหลายมิติ) ความตอนหนึ่งว่า

บางท่านบอกว่า ” อริยสัจสี่ ” เป็นหัวใจพระพุทธศาสนา  เพราะว่าคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหมดรวมอยู่ในอริยสัจสี่

เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว เสด็จไปแสดงปฐมเทศนา  พระธรรมจักกัปปวัตตนสูตร ….พระองค์ตรัสพุทธพจน์ตอนหนึ่ง มีความว่า ตราบใดที่เรายังไม่ ( จตูสุ อริยสจฺเจสุ ติปริวฎฺฎํ ทวาทสาการํ ยถาภูตํ ญาณทสฺสนํ ) มีญาณทัศนะที่มีปริวัฎ ๓ มีอาการ ๑๒ ในอริยสัจสี่ เราก็ยังปฏิญาณไม่ได้ว่า ได้ตรัสรู้ ต่อเมื่อเรามีญาณทัศนะนั้น  จึงปฏิญาณได้ว่า ตรัสรู้   หมายความว่า  ตรัสรู้อริยสัจสี่ครบ  ๓  ด้าน  คือรู้ว่าคืออะไร แล้วก็รู้ว่าหน้าที่ต่ออริยสัจสี่แต่ละอย่างนั้นคืออะไร และรู้ว่าได้ทำหน้าที่ต่ออริยสัจนั้นแล้ว เวียนไปทุกข้อเรียกว่า  ๓  ปริวัฎ   อธิบายว่า รู้ในอริยสัจสี่แต่ละอย่างเริ่มตั้งแต่รู้ว่าทุกข์คืออะไร เราจะต้องทำอะไรต่อทุกข์ แล้วก็รู้ว่าหน้าที่ต่อทุกข์นั้นเราได้ทำแล้ว ถ้ายังไม่รู้อริยสัจด้วยญาณทัศนะครบทั้ง ๓ ในแต่ละอย่าง (รวมทั้งหมดเป็น  ๑๒  เรียกว่ามีอาการ  ๑๒) ก็ยังไม่สามารถปฏิญาณว่าได้ตรัสรู้เป็นสัมมาสัมพุทธะ

ต่อเมื่อได้ตรัสรู้อริยสัจ โดยมีญาณในอริยสัจแต่ละข้อครบทั้ง ๓ รวมเป็น ๑๒ จึงปฏิญาณได้ว่าเป็นสัมมาสัมพุทธะ

เป็นอันว่า  พระพุทธเจ้าตรัสรู้อริยสัจสี่  และการตรัสรู้อริยสัจสี่ทำให้เป็นพระพุทธเจ้า  อริยสัจสี่จึงเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา

ประเด็นอยู่ตรงนี้ครับ

ความรู้ที่เผยแพร่กันอยู่ในปัจจุบันนี้ ส่วนใหญ่พยายามบอกว่า “คืออะไร” เสียมากกว่า ดังนั้นจึงเป็นลักษณะบอกให้รับรู้ (แล้วจะสอบได้ ถ้าใครถามก็ตอบ “ถูก”); ส่วนรู้แล้วจะต้องทำอะไร (หน้าที่) และการนำความรู้นั้นไปปฏิบัติให้ได้ผล (ทำหน้าที่) กลับเป็นเรื่องที่ค่อนข้างจะละเลยกัน

คาถาธรรมบท มรรควรรคที่ ๒๐

โยคา เว ชายตี ภูริ
เอตํ เทฺวธา ปถํ ญตฺวา
ตถตฺตานํ นิเวเสยฺย

อโยคา ภูริสงฺขโย
ภวาย วิภวาย จ
ยถา ภูริ ปวฑฺฒติ.

ภูริปัญญาย่อมเกิดเพราะการประกอบแล, ความสิ้นไปแห่งปัญญาเพราะการไม่ประกอบ, บัณฑิตรู้ทางสองแพร่งแห่งความเจริญและความเสื่อมนั่นแล้ว พึงตั้งตนไว้โดยประการที่ภูริปัญญาจะเจริญขึ้นได้.

ภูริปัญญา = ปัญญาอันกว้างขวาง เสมอด้วยแผ่นดิน
การประกอบ = การกระทำ



Main: 0.016934871673584 sec
Sidebar: 0.22164297103882 sec