รับผิดชอบ

ไม่มีความคิดเห็น โดย Logos เมื่อ 7 August 2009 เวลา 0:06 ในหมวดหมู่ ข้อคิดชีวิต ปรัชญา ศาสนา #
อ่าน: 2985

ข้าพเจ้าและพระราชินีมีความยินดี ที่ได้มาร่วมในพิธีมอบปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์อีกวาระหนึ่ง ขอแสดงความชื่นชมกับผู้สำเร็จการศึกษาทุกๆ คน ที่ได้รับเกียรติและความสำเร็จในการศึกษาครั้งนี้

เมื่อวันวาน ข้าพเจ้าได้กล่าวในที่ประชุมนี้เป็นความว่า ในการวางโครงการพัฒนาเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศนั้น จำเป็นต้องพิจารณาอย่างละเอียดถี่ถ้วนว่า ผลจากโครงการที่จัดมีขอบเขตต่อเนื่องไปเพียงใด และมีผลดีผลเสียที่จุดใดอย่างไรบ้าง เพื่อจะได้วางแผนงานให้สอดคล้องต้องกันทุกๆ ส่วน ให้โครงการได้ประโยชน์มากที่สุด บัณฑิตของมหาวิทยาลัยมีความรู้ความสามารถอันเหมาะสมที่จะรับภาระนี้ จึงควรที่จะได้บำเพ็ญตัวเป็น นักวิชาการที่ดี เป็นนักปฏิบัติที่สามารถ ในอันที่จะใช้วิชาการโดยรอบคอบสุขุม ให้เป็นประโยชน์เกื้อกูลประเทศชาติ และประชาชนอย่างแท้จริงต่อไป

การจะทำงานให้มีประสิทธิผลและให้ดำเนินไปได้โดยราบรื่นนั้น จำเป็นอย่างยิ่งจะต้องทำด้วยความรับผิดชอบอย่างสูง ไม่บิดเบือนข้อเท็จจริง ไม่บิดเบือนจุดประสงค์ที่แท้จริงของงาน สำคัญที่สุด ต้องเข้าใจความหมายของคำว่า “ความรับผิดชอบ” ให้ถูกต้อง ขอให้เข้าใจว่า “รับผิด” ไม่ใช่การรับโทษ หรือถูกลงโทษ “รับชอบ” ไม่ใช่รับรางวัล หรือรับคำชมเชย การรู้จักรับผิด หรือยอมรับรู้ว่าอะไรผิดพลาดเสียหาย และเสียหาย เพราะอะไร เพียงใดนั้น มีประโยชน์ทำให้บุคคลรู้จักพิจารณาตนเอง ยอมรับความผิดของตนเองโดยใจจริง เป็นทางที่จะช่วยให้แก้ไขความผิดได้ และให้รู้ว่าจะต้องปฏิบัติแก้ไขใหม่ ส่วนการรู้จักรับชอบหรือรู้ว่าอะไรถูก อันได้แก่ถูกตามความมุ่งหมาย ถูกตามหลักวิชา ถูกตามวิธีการนั้น มีประโยชน์ทำให้ทราบแจ้งว่า จะทำให้งานสำเร็จสมบูรณ์ได้อย่างไร จักได้ถือปฏิบัติต่อไป นอกจากนั้น เมื่อเข้าใจความหมายของคำว่า “รับผิดชอบ” ตามนัยดังกล่าวแล้ว ผู้ที่เข้าใจซึ้งในความรับผิดชอบ จะสำนึกตระหนักได้ทันทีว่า ความรับผิดชอบคือหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายให้ทำ จะหลีกเลี่ยงละเลยไม่ได้ จึงใคร่ขอให้บัณฑิตศึกษาและสังวรระวังในความรับผิดชอบให้มากที่สุด ผู้ใดมีความรับผิดชอบ จะสามารถประกอบการงานให้บรรลุผลสำเร็จตามที่มุ่งหมายไว้ได้อย่างแน่นอน

ขออวยพรให้บัณฑิตใหม่ และทุกๆ ท่านที่ร่วมชุมนุมอยู่ในพิธีนี้ มีความสุขสวัสดี พร้อมทั้งความสำเร็จในชีวิตและหน้าที่การงานทุกประการ.

พระบรมราโชวาท
ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา
ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
วันศุกร์ที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๑๙


ยิ่งศึกษาพุทธศาสนาจะยิ่งไม่รู้พุทธศาสนา

1 ความคิดเห็น โดย Logos เมื่อ 3 August 2009 เวลา 0:01 ในหมวดหมู่ ข้อคิดชีวิต ปรัชญา ศาสนา #
อ่าน: 3551

…ต่อนี้ไปอาตมาขอให้ข้อคิดอันหนึ่ง ที่สำคัญมาก เพื่อให้เราชวนกันสนใจพระพุทธศาสนาโดยไม่ประมาทหรือโดยเร็ว อาตมาจะให้หลักที่จำได้ง่าย ๆ ก่อนว่า “ยิ่งศึกษาพุทธศาสนาจะยิ่งไม่รู้พุทธศาสนา” โดย เฉพาะก็ชาวต่างประเทศ เพราะคำว่าศาสนานั้นเขาเล็งถึงแต่หลักวิชาหรือหลักทฤษฎี รวมทั้งพิธีรีตอง เราต้องศึกษาโลกหรือศึกษาความทุกข์ จึงจะยิ่งรู้พุทธศาสนา

พระพุทธเจ้าท่านใช้คำเดียวกัน โลกคือทุกข์ ทุกข์คือโลก หรือชีวิตก็คือโลก พระไตรปิฎกทั้งหมดไม่อาจจะช่วยให้เข้าใจพุทธศาสนา การที่ชาวต่างประเทศมีความเห็นว่า ศึกษาพระไตรปิฎก ให้หมดทั้ง ฝ่ายเถรวาทและฝ่ายมหายาน แล้วยังแถมศึกษาวิชาทั้งหมดเกี่ยวกับประเทศอินเดีย เช่นศิลปะวัฒนธรรม ศาสนาของอินเดียทั้งหมด ยิ่งไม่มีทางรู้พุทธศาสนา ยิ่งจะวนเวียนอยู่ในป่ารกป่าพงอะไรอันหนึ่งเท่านั้น ในที่สุดก็เลิกรากันไปเอง เว้นไว้แต่จะศึกษาโลกหรือชีวิตหรือความทุกข์คือตัวเองในขอบเขตที่ยาวประมาณ วาหนึ่งนี้เท่านั้น เราจึงจะรู้พุทธศาสนาหรือรู้ธรรมะ

เดี๋ยวนี้เราพากันหลงเรียนพุทธศาสนา โดยเรียนพระไตรปิฎกทั้งหมด เรียนเรื่องของประเทศอินเดียทั้งหมด โดยหวังว่าจะรู้ธรรมะหรือจะรู้พุทธศาสนา อาตมายืนยันว่า ยิ่งไปทำอย่างนั้นยิ่งไม่รู้พุทธศาสนา ขอให้ศึกษาสิ่งที่เกิดขึ้นแก่เนื้อแก่ตัว มองดูเข้าไปในเนื้อในตัวจริง ๆ ว่าเราเป็นทุกข์เพราะความยึดมั่นถือมั่น ในวินาทีที่เราไม่มีความยึดมั่นถือมั่น เราไม่มีความทุกข์เลยอย่างนั้น ยิ่งมองมากเท่าไร ก็จะเข้าใจพุทธศาสนาหรือธรรมะโดยตรง และโดยเร็วยิ่งขึ้นเท่านั้น…

ข้อความนี้ ตัดตอนมาจากหนังสือ “วิวาทะ ระหว่าง ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช กับ ท่านพุทธทาสภิกขุ” ซึ่งหากจะเห็นภาพของ “วิวาทะ” นี้ทั้งหมด ก็น่าจะอ่านทั้งหมดครับ

อนุสนธิจากเรื่องนี้ ผมคิดว่ามีประเด็นแบบเดียวกันกับคำว่าเศรษฐกิจพอเพียง ต่างคนต่างพูด ต่างคิดว่าพูดเรื่องเดียวกัน แต่ที่จริงไปกันคนละทาง ไม่มีคำตอบหรือแรงจูงใจที่จะปฏิบัติ

  • ชีวิตบ้านป่า
  • อีสานโพล 68.4% ของแรงงานอีสานที่ไปทำงานที่อื่น อยากกลับท้องถิ่น; กลับมาแล้ว 39.3% จะมาค้าขาย/ธุรกิจส่วนตัว, 26.9% มาเป็นลูกจ้างรัฐ และ 18.2% มาทำการเกษตร — ใครจะทำอะไรก็เป็นอิสระครับ แต่มีงานแบบที่คนต้องการรออยู่ที่บ้านจริงหรือ? เตรียมอะไรไว้ให้?


จุดแท้จริงของความเป็นคน

6 ความคิดเห็น โดย Logos เมื่อ 18 July 2009 เวลา 0:22 ในหมวดหมู่ ข้อคิดชีวิต ปรัชญา ศาสนา #
อ่าน: 2989

ข้าพเจ้าเคยพบคนหลายคนที่มีความรู้สึกภายในใจรุนแรง จนแสดงออกมาทางกายวาจาว่า ท่านแน่ใจเป็นที่สุดแล้วว่า ท่านเป็นคนเต็มเปี่ยมตามคำแปล หรือความหมายของคำว่า คน. ท่านหยิ่งตัวเอง เพราะเหตุนี้ และเห็นว่า เรื่องที่พวกเพื่อนๆ นำมาคุยมาเล่า ให้ฟังนั้นยังต่ำเกินไป ไม่ถึงขีดของความเป็นคน หรือเป็นเรื่องลัทธิครึ เก่าเกินสมัยเรื่องใด เรื่องหนึ่งเท่านั้น

ทีนี้ ข้าพเจ้า ตั้งอกตั้งใจ พิจารณาดู จุดแท้แห่งความเป็นคน ของท่าน เหล่านั้นว่า คืออะไรกันแน่ ในที่สุด พบว่า จุดแห่งความเป็นคน ของท่านเหล่านี้ ตามที่ท่านเข้าใจ ก็คือ การที่ ท่านสามารถหารายได้มากๆ ทำงานเบา มียศศักดิ์สูงๆ และสามารถหาความเพลิดเพลินทุกประการ มาให้แก่ตนได้ ตามวิธีหรือลักษณะที่นิยมกันว่า เป็นการกระทำของคนชั้นสูง หรือ จะสรุปให้สั้นที่สุด ความเป็นคนของท่าน ก็คือ ความมีเกียรติอันสูงสุด นั่นเอง เมื่อเป็นเช่นนี้ เข็มอันชี้จุดแห่งความเป็นคนของท่าน ก็ได้ชี้บ่งไปยัง การได้ทำงานชนิดมีเกียรติมาก มีผลมากนั่นเอง และทำด้วยตัณหา คือ ความอยาก เป็นนั่น เป็นนี่.

ความเห็นอย่างแจ่มแจ้ง ได้ขยายตัว ออกไป ตามแนวนั้น อีกว่า คน คือสัตว์ชนิดหนึ่งซึ่งเห็นแก่ตัวจัด เป็นทาสแห่งความทะเยอทะยานของตัวยิ่งกว่าสัตว์อื่นๆ ทุกชนิด และ คน คงมิใช่ สัตว์ที่เกิดมาเพื่ออิสรภาพ และความสุขอันสงบ เพราะถ้าเกิดมาเพื่อความสุขสงบ ก็คงไม่ยอมตน เป็นทาสของความเห็นแก่ตัว ที่บังคับให้ทำให้คิดเพื่อตัวทุกๆ ชั่วโมง แม้เวลาหลับก็ยังฝัน แม้บนเตียง ที่นอนเจ็บ ก็ยังครุ่นคิด เพื่อการหาสิ่งบำเรอตัว สัตว์ที่ไม่ใช่คน ย่อมได้รับการพักผ่อน หรือ ความสงบ ยิ่งกว่า สัตว์ที่เรียกว่า คน ประเภทนี้ มากนัก

อีกอย่างหนึ่ง คนคือสัตว์ชนิดหนึ่ง ซึ่ง ขยาย “พวงอัตตา” หรือ “พวงตัว” ออกเรื่อยๆ โดยไม่มีเวลาสิ้นสุด และการขยายนั้น ก็เพื่อตนจะได้แบกไว้เองเท่านั้น ครั้งแรก มีอัตตาหรือ ตัวเพียงตัวเดียว พอ “ความเป็นคน” มากขึ้น ก็มี ภรรยา สามี ลูกหลาน ข้าทาสบริวาร หรือ อันเตวาสิก สัทธิวิหาริกพอกขึ้นเป็นพวง เมื่อสิ่งที่เรียกว่า “บุญบารมี” มากขึ้น บริวารเหล่านั้น ต่างก็มี การขยายพวงของตัว ออกไปๆ และพวงน้อยๆ เหล่านั้น รวมกันเป็นพวงใหญ่ พวงเดียว อีกต่อหนึ่ง โดยมี อัตตา ตัวแรกนั่นเอง อ้าออกรับ เป็นเจ้าของพวง ผู้มีเกียรติ หยิ่งตัวเอง เสมอว่า การที่สามารถ หิ้วพวงใหญ่ๆ เช่นนั้น ไว้ได้นั้น เป็น “เกียรติอันสูงสุด” นี่เป็น จุดหมายของความเป็นคนปริยายหนึ่ง ซึ่งน่าจะสรุปได้สั้นๆ ว่า เกียรติของความเป็นคนก็คือ การเกิดมาเพื่อแบกพวงอัตตา พวงใหญ่ๆ นั่นเอง กระมัง

อีกปริยายหนึ่ง ซึ่งค่อนข้างจะเด่นอยู่มาก ก็คือว่า คนได้แก่สัตว์ชนิดหนึ่งซึ่งเอาเปรียบผู้อื่นเป็น และรู้สึกว่า ผู้อื่นเอาเปรียบตนก็เป็น. ความรู้สึกเช่นนี้ เป็นความรู้สึกที่หาได้ยากในสัตว์ จำพวกนกหนู เมื่อ “ความเป็นคน” ยังน้อยอยู่ ก็ไม่ค่อยรู้สึกว่าใครเอาเปรียบตน หรือ ลูบคมตน เมื่อความเป็นคนชนิดที่กล่าวนั้น มีมากขึ้น เรื่องนิดเดียว และ ชนิดเดียวกันนั่นเอง กลับเห็นเป็นเรื่องที่ ผู้อื่นลูบคมตน เอาเปรียบตน ไม่เคารพตน ผู้เป็นหัวหน้าหมู่อย่างใหญ่หลวง และมักหาเรื่อง ลงโทษ ลูกหมู่ หรือ ลูกพวง เป็นการประดับเกียรติของตน ถ้าจะกล่าว อีกอย่างหนึ่ง ก็ได้ว่า คน คือ สัตว์ที่รู้จักผูกโกรธ หรือแก้แค้นเพื่อนฝูงด้วยกัน ในกรณีที่สัตว์ซึ่งต่ำกว่าคนทำเช่นนั้นไม่เป็น จุดหมายของความเป็นคนตามนัยนี้ น่าจะได้แก่ การไม่ยอมให้ใครมาลูบคม เล่นได้นั่นเอง

เมื่อข้าพเจ้า ได้สังเกต ลักษณะแห่งความเป็นคนของบรรดาท่าน ซึ่งท่านแน่ใจตัวเองว่า ถึงขีดสุด ของความเป็นคน จนพบว่า ท่านหมายถึงอะไร โดยนัย ที่กล่าวมาแล้ว ก็ยังไม่แน่ว่า ข้าพเจ้าเข้าใจ ท่านเหล่านั้น ได้ถูกต้องทำให้ต้องซักซ้อมดูอีกเป็นหลายครั้ง แต่ในที่สุด ก็ไม่พบอะไร มากไปกว่านั้น จึงยุติว่า ความเป็นคน ตามความหมายธรรมดา เท่าที่มีที่เป็นกันอยู่ในจิตใจมนุษย์เรานั้น ไปได้ไกล เพียงแค่นั้นเอง แต่อย่างไรก็ตาม ข้าพเจ้ายังไม่พอใจว่า ความเป็นคน มีเพียงเท่านั้นเอง น่าจะมี เป็นอย่างอื่น.

ทีนี้ เราจงชวนกัน มามองไปยัง บุคคลประเภท ที่ไม่มีอัตตา เห็นตนเอง และผู้อื่น เป็นเช่นกับ พืชพรรณ ธัญญชาติ ซึ่งต่างก็เกิดขึ้นแล้ว เจริญงอกงาม และดับไปในที่สุด ตามเรื่องของตนๆ พวงอัตตา ของคนประเภทนี้ ก่อขึ้นไม่ติด ครั้นหนักเข้า ตัวเองก็ไม่มี คน หรือ สัตว์ก็ไม่มี ไม่เห็นแก่ตัว ไม่ถือพวกถือพวง ไม่รู้สึกว่า ได้เกียรติหรือเสียเกียรติ ทำงานเพียงเพื่อความตั้งอยู่ได้ของร่างกายนี้ เพียงเพื่อต้านทาน ธรรมชาติ ใช้หนี้ธรรมชาติ ตามที่ปัญญา บ่งให้ทำเฉพาะในด้านกาย เช่น พ่อแม่เลี้ยงตนมา ก็เลี้ยงตอบแทน เมื่อยังไม่หลุด ก็ต้องเลี้ยงลูกหลานของตนเอง ใช้หนี้ธรรมชาติอันนี้ ไม่รู้สึกว่ามีใคร เสียเปรียบได้เปรียบในโลกนี้ มีแต่สิ่งทั้งหลายที่หมุนไป ตามเหตุตามปัจจัย ยินดีที่จะให้อภัยกันเสมอ ถือหลักความจริง เป็นแนวแห่งการครองชีพ ไม่แสวง”บุญบารมี” มาเพื่อใช้ อำนวยการ สำเร็จความใคร่ ให้แก่ ความทะเยอทะยานอยากของตน ไม่อ้าออกรับ สิ่งทั้งหลาย มาเป็นของตน เหล่านี้ เมื่อเรามอง ซึ้งลงไปถึงหัวใจของเขา เรากลับพบว่า จุดแห่งความเป็นคนของเขานั้น ตรงกันข้าม จากของคนจำพวก ที่กล่าวมาแล้ว ข้างต้น ในที่สุด ข้าพเจ้า ก็กระทบกันกับ ปัญหาว่า ถ้าเช่นนั้น พวกไหนเล่า เป็นคนที่แท้จริง ตามความหมาย ซึ่งอาจเป็นที่พอใจได้ด้วยกันทุกฝ่าย.

๒๐ กันยายน ๒๔๘๔

คัดจาก หนังสือ ชุมนุมข้อคิดอิสระ พุทธทาสภิกขุ
พิมพ์ ครั้งที่ ๕ พ.ศ. ๒๕๓๘ โดย สำนักพิมพ์สุขภาพใจ

อ่านต่อ »


มิจฉาสมาธิ และสัมมาสมาธิ

3 ความคิดเห็น โดย Logos เมื่อ 14 July 2009 เวลา 0:15 ในหมวดหมู่ ข้อคิดชีวิต ปรัชญา ศาสนา #
อ่าน: 4307

แมวเฝ้ารูหนูก็มีสมาธิ นักย่องเบาก็มีสมาธิ  แต่ไม่ใช่สัมมาสมาธิ เป็นสมาธิของสัตว์เดียรัจฉาน  ไม่ใช่บ่อเกิดของปัญญา พระพุทธองค์ทรงเรียกว่า มิจฉาสมาธิ  หลวงพ่ออธิบายว่า

“สมาธิทั้งหลายเหล่านี้ แบ่งเป็นมิจฉาสมาธิอย่างหนึ่ง  คือเป็นสมาธิในทางที่ผิด เป็นสัมมาสมาธิอย่างหนึ่ง  คือสมาธิในทางที่ถูกต้อง นี่ก็ให้สังเกตให้ดี

มิจฉาสมาธิคือความที่จิตแน่วแน่เข้าสู่สมาธิ เงียบหมด  ไม่รู้อะไรเลย ปราศจากความรู้ นั่งอยู่ ๒ ชั่วโมงได้  กระทั่งทั้งวันก็ได้ แต่จิตไม่รู้ว่ามันไปถึงไหน มันเป็นอย่างไร  ไม่รู้เรื่อง

นี้สมาธิอันนี้เป็นมิจฉาสมาธิ  มันก็เหมือนมีดที่เราลับให้คมดีแล้ว แต่เก็บไว้เฉย ๆ ไม่เอาไปใช้  มันก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร อย่างนั้นเป็นความสงบที่หลง คือ ไม่ค่อยรู้เนื้อรู้ตัว

เห็นว่าถึงที่สุดแล้วก็ไม่ค้นคว้าอะไรอีกต่อไป  จึงเป็นอันตราย เป็นข้าศึก ในขั้นนั้นเป็นอันตราย  ห้ามปัญญาไม่ให้เกิด ปัญญาเกิดไม่ได้ เพราะขาดความรู้สึกรับผิดชอบ

ส่วนสัมมาสมาธิที่ถูกต้อง ถึงแม้จะมีความสงบไปถึงแค่ไหน  ก็มีความรู้อยู่ตลอดกาล ตลอดเวลา มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ บริบูรณ์  รู้ตลอดกาล นี้เรียกว่า สัมมาสมาธิ

เป็นสมาธิที่ไม่ให้หลงไปในทางอื่นได้  นี้ก็ให้นักปฏิบัติเข้าใจไว้ให้ดี จะทิ้งความรู้นั้นไม่ได้  จะต้องรู้ตั้งแต่ต้นจนปลายทีเดียว ถึงจะเป็นสมาธิที่ถูกต้อง  ขอให้สังเกตให้มาก”

และอีกโอกาสหนึ่งหลวงพ่อพูดถึงสมาธิสองอย่างอีกนัยหนึ่ง

“ความสงบนี้มีสองประการคือ ความสงบอย่างหยาบอย่างหนึ่ง  และความสงบอย่างละเอียดอีกอย่างหนึ่ง อย่างหยาบนั่นคือ เกิดจากสมาธิ  ที่เมื่อสงบแล้วก็มีความสุข แล้วถือเอาความสุขเป็นความสงบ

อีกอย่างหนึ่งคือความสงบที่เกิดจากปัญญา  นี้ไม่ได้ถือเอาความสุขเป็นความสงบ  แต่ถือเอาจิตที่รู้จักพิจารณาสุขทุกข์เป็นความสงบ  ความสงบจึงไม่ใช่ความสุข  ฉะนั้นความสงบที่เกิดจากปัญญานั้นจึงไม่ใช่ความสุข แต่เป็นความสงบ

เพราะว่าความสุขความทุกข์นี้เป็นภพ เป็นชาติ เป็นอุปาทาน  จะไม่พ้นจากวัฏสงสาร เพราะติดสุขติดทุกข์ ความสุขจึงไม่ใช่ความสงบ  ความสงบจึงไม่ใช่ความสุข

ฉะนั้นความสงบที่เกิดจากปัญญานั้น จึงไม่ใช่ความสุข  แต่เป็นความรู้เห็นตามความเป็นจริงของความสุขความทุกข์  แล้วไม่มีอุปาทานมั่นหมายในสุขทุกข์ที่มันเกิดขึ้นมา  ทำจิตให้เหนือสุขเหนือทุกข์นั้น ท่านจึงเรียกว่าเป็นเป้าหมาย  ของพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง”

หลวงพ่อชา สุภทฺโท


เศษ[เดียร]ถีย์

อ่าน: 4157

ไม่ได้เขียนผิดหรอกนะครับ แต่เขียนอย่างนี้แล้วให้ความรู้สึก ว่ามีเศรษฐีอยู่มากมาย ที่ไม่เข้าใจคุณค่าและหน้าที่ ของความมั่งมีที่เกินพอ ยังเอาเปรียบ ขูดรีด กอบโกย ไม่รู้จักพอ โดยไม่ได้ตระหนักว่าทรัพยากรที่มีอยู่ในโลกนี้ มีอยู่อย่างจำกัด เมื่อคนหนึ่งมีมากเกินไป จะมีอีกหลายๆ คนที่ขาดแคลน ในเมื่อคนส่วนใหญ่ขาดแคลนจนอยู่ไม่ได้ คนที่มีพอก็จะอยู่ไม่ได้เช่นกัน

วันนี้ ตัดตอนเอาบทความของอาจารย์อัจฉรา โยมสินธุ์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ จากกรุงเทพธุรกิจมาให้อ่านครับ บทความเต็มอ่านได้จากลิงก์ที่ให้ไว้

สังคมไทยของเราจะยิ่งด้อยคุณภาพลงไปอีกหากเศรษฐีในบ้านเราเป็นเศรษฐีอนาถา ซึ่งผู้เขียนขอแบ่งออกเป็น 5 ประเภท ดังนี้

1. เศรษฐีขี้โกง คือ คนที่ร่ำรวยมาจากการคดโกง ประกอบอาชีพที่ไม่สุจริต หาทรัพย์สินเงินทองมาได้โดยไม่ชอบธรรม ไม่ว่าจะเป็นการค้ายาเสพติด ค้าอาวุธ ทุจริตคอร์รัปชัน โกงกินงบประมาณแผ่นดิน กินนมโรงเรียน กินถนนหนทาง กินตั๋วรถเมล์ กินรถไฟฟ้า ใช้เงินปิดหูปิดตาเจ้าหน้าที่เพื่อให้ได้งาน ได้สัมปทาน หรือทำธุรกิจที่เอารัดเอาเปรียบสังคม ผลิตสินค้าไม่มีคุณภาพ ค้ากำไรเกินควร เอาเปรียบพนักงาน ปล่อยน้ำเสียลงในแม่น้ำลำคลอง

คงต้องยอมรับว่าเรื่องราวการคดโกงสารพัดรูปแบบ ยังมีให้เห็นมากมายในสังคม คนที่ร่ำรวยขึ้นมาได้โดยเส้นทางเหล่านี้ แม้จะมีสิ่งอำนวยความสะดวกมากมายในชีวิต แต่คงหาความสุข ความสงบ ความสบายใจได้ยากในแต่ละวัน เพราะรู้อยู่เต็มอกว่าตัวเองทำอะไรไว้บ้าง ความทุกข์ใจจากความหวาดระแวงจะรุมเร้าอยู่ตลอดเวลา

2. เศรษฐีไร้ฝีมือ คือ คนที่ร่ำรวยจากมรดกตกทอดที่พ่อแม่หรือบรรพบุรุษสั่งสมไว้ให้ซึ่งเมื่อได้มา แล้วกลับไม่รู้จักใช้ให้เกิดประโยชน์ทั้งแก่ตัวเองและสังคม แต่กลับผลาญทรัพย์สินเงินทองไปอย่างไร้ค่า ใช้เที่ยวเตร่ เถลไถล ซื้อหาข้าวของราคาแพง ใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่าย แถมการงานก็ไม่ทำให้เป็นชิ้นเป็นอัน ไม่มีผลงาน ไม่ตั้งใจเรียน ไม่เห็นคุณค่าของการทำงาน ไม่มีการพัฒนาตนเอง เพราะเห็นว่าตัวเองมีทุกอย่างตามที่ต้องการแล้ว ไม่เห็นจะต้องทำอะไรให้ลำบาก เศรษฐีอนาถาประเภทนี้ ในที่สุดแล้วก็จะพบว่าตนเองไม่มีคุณค่า ไม่มีความภาคภูมิใจในตนเอง และมักจะไม่มีมิตรแท้ มีแต่มิตรที่คิดจะปอกลอก หลอกลวงเอาทรัพย์สินเงินทอง

3. เศรษฐีปีศาจ คือ คนที่ร่ำรวยแต่กลับใช้เงินใช้ทองที่มีมากมายไปทำร้ายเบียดเบียนส่วนรวมเพื่อ ประโยชน์ส่วนตัว เช่น สร้างบ้านพักตากอากาศรุกล้ำพื้นที่ป่าสงวน สร้างรีสอร์ทบนชายหาดสาธารณะ หลบเลี่ยงภาษีสารพัดรูปแบบ กระทั่งใช้เงินซื้อเก้าอี้ ซื้อที่นั่งในโรงเรียน ในที่ทำงาน หรือในสภาเพื่อให้ลูกหลานหรือตัวเองได้เข้าไปเรียน เข้าไปทำงานในที่ที่ต้องการ ทั้งที่ไม่มีความรู้ ความสามารถ ไม่มีอุดมการณ์เพียงพอ ทำให้คนที่เหมาะสมกว่า มีความรู้ ความสามารถมากกว่าหมดโอกาสในการเรียน การทำงานหรือการพัฒนาประเทศ เพราะไม่มีเงินถุง เงินถังมาจ่ายค่าแป๊ะเจี๊ย เศรษฐีกลุ่มนี้มักหลงเข้าใจผิด คิดว่ามีคนให้ความเคารพนับถือในตำแหน่งหน้าที่การงานที่ดูดี และแม้หน้าตาจะยิ้มแย้มแจ่มใส แต่ลึกๆ แล้วมักมีความกังวลใจในความรู้ ความสามารถของตนเองอยู่ตลอดเวลา

4. เศรษฐีโง่ คือ คนรวยที่ไม่รู้จักพอแม้จะมีทรัพย์สมบัติมากมายแต่ก็ไม่เคยพอใจ ต้องการจะมีให้มากขึ้นไปอีก เศรษฐีอนาถากลุ่มนี้จะตั้งหน้าตั้งตาหาแต่เงิน ทำงานหามรุ่งหามค่ำ จนไม่มีเวลาดูแลตัวเอง ไม่มีเวลาให้ครอบครัว พักผ่อนไม่เพียงพอ ไม่ได้ออกกำลังกาย ไม่มีเวลาใช้ชีวิตตามธรรมชาติ เพราะมัวแต่ WORK HARD แบบไม่ SMART สักเท่าไร เศรษฐีประเภทนี้อาจจะรู้ตัวเมื่อเส้นเลือดในสมองแตกเพราะความเครียด หรือเป็นเบาหวาน เป็นมะเร็ง เป็นอัมพฤกษ์ อัมพาตไปเพราะไม่เคยดูแลตัวเอง หรือครอบครัวแตกแยก ซึ่งในที่สุดแล้วเงินทองที่ตั้งหน้าตั้งตาหามาได้มากมาย ก็ไม่ได้สร้างความสุขอย่างแท้จริงในชีวิตได้เลย เพราะรู้อะไรก็ไม่สู้ รู้จักพอ!!

5. เศรษฐีเห็นแก่ตัว คือ เศรษฐีที่ไม่รู้จักแบ่งปัน คิดแต่จะสะสมทุกอย่างไว้เป็นของตัวเอง ไว้ให้ลูกหลานตัวเอง ไม่ยอมแบ่งให้แก่สังคม ความเห็นแก่ตัวเหล่านี้ มักก่อให้เกิดการเอารัดเอาเปรียบ เบียดเบียนสังคมอยู่เสมอๆ ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่จากคนที่มีโอกาสมากกว่าจึงไม่ถูกแบ่งปันไปให้กับคน ที่ด้อยโอกาสกว่า ช่องว่างและความไม่เป็นธรรมในสังคมจึงเพิ่มมากขึ้นทุกวัน

เพราะความสุขในชีวิตไม่ได้วัดกันที่จำนวนทรัพย์ สินเงินทอง เศรษฐีอนาถาหรือผู้มีส่วนเกินมากจนเกินพอดีหากอยากลิ้มรสความสุข ความสงบอย่างแท้จริงจึงต้องลดส่วนเกินลงบ้างเพื่อรักษาระดับความพอดีไว้ให้ ไม่ขาดไม่เกิน ง่ายๆ เพียงรู้จัก “พอเพียง” และ “แบ่งปัน”


การให้

4 ความคิดเห็น โดย Logos เมื่อ 30 June 2009 เวลา 0:03 ในหมวดหมู่ ข้อคิดชีวิต ปรัชญา ศาสนา #
อ่าน: 3368

ในที่นี้ การให้หมายถึงให้เลย ไม่ใช่ให้ยืม ให้แล้วเอาคืน; เหมือนให้ความคิด/ให้หลักคิด ให้แล้วเอาคืนไม่ได้ จะไปลบออกจากสมองของผู้ฟังไม่ได้

สิ่งใดเมื่อให้ไปแล้ว ก็ไม่ใช่ของเราอีกแล้ว จึงไม่ควรจะต้องไปลำเลิกว่าอันนี้เป็นของฉันให้เธอไปนะ ถ้ายังคิดอย่างนั้น บางทีอาจไม่เคยให้เขาเลยตั้งแต่ต้น — ความสำนึก/ขอบคุณที่เกิดในตัวผู้รับเป็นเรื่องความกตัญญู ซึ่งก็เป็นเรื่องมโนคติของผู้รับ ไม่ใช่เรื่องที่ผู้ให้ที่เป็นผู้ให้จริงๆ จะต้องไปเตือน โกรธแค้น หรือคาดหวังการตอบแทน

ก่อนให้ควรพิจารณาก่อนว่าผู้รับสมควรได้รับหรือไม่ สิ่งที่ให้เป็นของบริสุทธิ์ หามาได้โดยบริสุทธิ์ และให้ไปแล้วเกิดประโยชน์ต่อผู้รับหรือไม่ ถ้าให้ไปแล้วกลับเป็นภาระแก่ผู้รับ การให้ก็เป็นการเบียดเบียน — เมื่อคิดพิจารณาได้ดังนี้ การให้ก็จะทำให้ใจเบิกบาน เพราะไม่ใช่การเบียดเบียนตัวเอง ให้แล้วไม่เดือดร้อน ไม่ทุกข์ใจ ไม่ต้องกู้หนี้ยืมสินมาให้เพื่อเอาหน้า ให้แล้วผู้คนไม่สรรเสริญก็ไม่เป็นไร เพราะไม่ได้คาดหวังตั้งแต่แรกอยู่แล้ว เมื่อรู้ว่าสิ่งที่ให้ไปเกิดประโยชน์ต่อผู้รับ ก็ยังได้รับความปลื้มใจกลับมาเป็นโบนัส


ชาตินั้นเปรียบได้กับชีวิตคน

ไม่มีความคิดเห็น โดย Logos เมื่อ 17 June 2009 เวลา 0:21 ในหมวดหมู่ ข้อคิดชีวิต ปรัชญา ศาสนา #
อ่าน: 3564

“… ความรู้ความสามารถทางวิชาการ กับความรู้ความเข้าใจอันกระจ่างชัดในบ้านเมืองของเรานั้น เมื่อนำมาใช้ ด้วยกันให้ประสมประสานสอดคล้อง แล้วจะบันดาลให้งานของชาติทุกอย่างบรรลุผลเลิศ. การปฏิบัติงานสร้างสรรค์ ความเจริญของบ้านเมืองโดยใช้หลักการนี้จึงนับเป็นการธำรงรักษาชาติอย่างแท้จริง. ชาตินั้นเปรียบได้กับชีวิตคน. กล่าวตามหลักความจริง คนเราประกอบด้วยร่างกายส่วนหนึ่ง จิตใจส่วนหนึ่ง. ทั้งสองส่วนคุมกันอยู่บริบูรณ์ชีวิต ก็คงอยู่. ส่วนใดส่วนหนึ่งทำลายไป ชีวิตก็แตกดับ เพราะอีกส่วนหนึ่งจะต้องแตกทำลายไปด้วย. ชาติของเรานั้นมี ผืนแผ่นดินและประชากรอันรวมกันอยู่เป็นส่วนของร่างกาย มีศิลปวิทยา มีธรรมเนียมประเพณี มีความเชื่อถือและ ความคิดจิตใจที่จะสามัคคีกันอยู่เป็นปึกแผ่น ซึ่งรวมเรียกว่า “ความเป็นไทย” เป็นส่วนจิตใจ. ชาติไทยเราดำรง มั่นคงอยู่ก็เพราะยังมีทั้งบ้านเมืองและความเป็นไทยพร้อมบริบูรณ์. แต่ถ้าความเป็นไทยของเรามีอันเป็นต้อง เสื่อมสลายไปด้วยประการใดแล้ว ชาติก็ต้องสิ้นสูญ เพราะถึงหากบ้านเมืองและผู้คนจะยังอยู่ ก็ไม่มีสิ่งใดประสาน ยึดเหนี่ยวให้รวมกันอยู่ได้ จะต้องแตกแยกจากกันไปในที่สุด เหมือนส่วนต่างๆ ของร่างกายที่ต้องแตกจากกัน เมื่อสิ้นชีวิต. บัณฑิตของมหาวิทยาลัยนี้แต่ละคนต่างมีศิลปวิทยาการกับทั้งความสำนึกในชาติชุบย้อมกายใจไว้เป็น อย่างดีแล้ว ควรอย่างยิ่งที่จะตั้งใจพยายามนำไปใช้ประกอบการงานของตนๆ ด้วยความสุจริตและบริสุทธิ์ใจโดย เต็มกำลัง เพื่อให้ชาติบ้านเมืองของเรามีความเป็นอิสระมั่นคงและเป็นผาสุกสวัสดียั่งยืนอยู่ตลอดไป. …”

พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร
แก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
ณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
วันศุกร์ ที่ ๒๒ กันยายน ๒๕๒๑


เจ้าเป็นไผ ๑: เครือข่ายมนุษย์ จิตใจและสมอง

อ่าน: 5588

คลอดแล้วครับ!

เมื่อเย็นไปรับหนังสือมาแล้วทั้งหมดครับ เต็มท้ายรถพอดี ไม่ค่อยเห่อเท่าไหร่เลยนะเนี่ย แต่มีความสุขมากที่งานที่เราทำร่วมกัน ออกมาเป็นรูปเล่มได้ครับ

ในฐานะหัวหน้าคณะบรรณาธิการ ขอขอบคุณผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับหนังสือทุกขั้นตอน ตั้งแต่มันยังเป็นเพียงความคิดอยู่ จนผลักดันให้ออกมาเป็นรูปเล่มได้ครับ

หนังสือมีคุณภาพดีมาก รูปค่อนข้างเล็กแต่คมชัด และคุณค่าที่แท้จริงของหนังสือคือเนื้อเรื่อง ซึ่งบรรจงกลั่นออกมาจากชีวิตจริง มีบทเรียนชีวิตเพียบ ชีวิตคนเรา มีข้อจำกัดไม่เหมือนกัน มีโอกาสในการเรียนรู้ชีวิตไม่เหมือนกัน การที่ได้อ่านหนังสือเล่มนี้ จะช่วยให้เราเข้าใจคนอื่นมากขึ้นครับ

อ่านแล้วรู้สึกยินดีและภูมิใจที่ได้คบหา แลกเปลี่ยนความคิดเห็น เรียนรู้ร่วมกับนักเขียนชาวเฮทุกท่าน แม้จะไม่รู้จักบรรดานักเขียนเป็นส่วนตัว บทเรียนชีวิตที่กลั่นออกมา คงทำให้ท่านได้ฉุกคิดอะไรได้บ้าง ก่อนที่จะตัดสินผู้อื่นไม่ว่าเรื่องอะไร

ตอนนี้ ดูจากปริมาณการสั่งจองล่วงหน้ากว่าห้าร้อยเล่มแล้ว เชื่อว่าคงจะต้องพิมพ์ครั้งที่สองเร็วๆ นี้ล่ะครับ

อ่านต่อ »


ลัทธิมักขลิวาท

1 ความคิดเห็น โดย Logos เมื่อ 23 May 2009 เวลา 1:44 ในหมวดหมู่ ข้อคิดชีวิต ปรัชญา ศาสนา #
อ่าน: 3402

จากพุทธประวัติจากพระโอษฐ์ (พุทธทาสภิกขุ แปลพระไตรปิฎก)

ทรงระบุลัทธิมักขลิวาท ว่าเป็นลัทธิทำลายโลก

ภิกษุ ท.! ในบรรดาผ้าที่ทอด้วยสิ่งที่เป็นเส้น ๆ กันแล้ว ผ้าเกสกัมพล(ผ้าทอด้วยผมคน) นับว่าเป็นเลวที่สุด. ผ้าเกสกัมพลนี้ เมื่ออากาศหนาว มันก็เย็นจัด, เมื่ออากาศร้อน มันก็ร้อนจัด. สีก็ไม่ งาม กลิ่นก็เหม็น เนื้อก็กระด้าง;ข้อนี้เป็นฉันใด, ภิกษุ ท.! ในบรรดาลัทธิต่าง ๆ ของเหล่าปุถุสมณะแล้ว ลัทธิมักขลิวาท นับว่าเป็นเลวที่สุด ฉันนั้น.

ภิกษุ ท.! มักขลิโมฆบุรุษนั้น มีถ้อยคำและหลักความเห็นว่า “กรรมไม่มี, กิริยาไม่มี, ความเพียรไม่มี” (คือในโลกนี้ อย่าว่าแต่จะมีผลกรรมเลยแม้แต่ตัวกรรมเองก็ไม่มี, ทำอะไรเท่ากับไม่ทำ. กิริยาและความเพียรก็นัยเดียวกัน).

ภิกษุ ท.! แม้พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลาย ที่เคยมีแล้วในอดีตกาลนานไกล ท่านเหล่านั้น ก็ล้วนแต่เป็นผู้กล่าวว่า มีกรรม มีกิริยามีวิริยะ. มักขลิโมฆบุรุษย่อมคัดค้านพระอรหันตสัมมา สัมพุทธเจ้านั้น ว่าไม่มีกรรม ไม่มีกิริยา ไม่มีวิริยะ ดังนี้.

ภิกษุ ท.! แม้พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลาย ที่จักมีมาในอนาคตกาลนานไกลข้างหน้า ท่านเหล่านั้นก็ล้วนแต่เป็นผู้กล่าวว่า มีกรรมมีกิริยา มีวิริยะ. มักขลิโมฆบุรุษย่อมคัดค้านพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเหล่านั้น ว่าไม่มีกรรม ไม่มีกิริยา ไม่มีวิริยะ ดังนี้.

ภิกษุ ท.! ในกาละนี้ แม้เราเองผู้เป็นอรหันตสัมมาสัมพุทธะก็เป็นผู้กล่าวว่า มีกรรม มีกิริยา มีวิริยะ. มักขลิโมฆบุรุษย่อมคัดค้านเราว่า ไม่มีกรรม ไม่มีกิริยา ไม่มีวิริยะ ดังนี้.

ภิกษุ ท.! คนเขาวางเครื่องดักปลา ไว้ที่ปากแม่น้ำ ไม่ใช่เพื่อความเกื้อกูล, แต่เพื่อความ ทุกข์ ความวอดวาย ความฉิบหาย แก่พวกปลาทั้งหลายฉันใด; มักขลิโมฆบุรุษเกิดขึ้นในโลก เป็นเหมือนกับ ผู้วางเครื่องดักมนุษย์ไว้ไม่ใช่เพื่อความเกื้อกูล, แต่เพื่อความทุกข์ความวอดวาย ความฉิบหาย แก่สัตว์ทั้งหลายเป็นอันมาก ฉันนั้น.

๑. บาลี โยธาชีววรรค ติก. อํ. ๒๐/๓๖๙/๕๗๗. ตรัสแก่ภิกษุทั้งหลาย.


สรุปทริปเบิกโรงวัดพระบาทห้วยต้ม อ.ลี้ ลำพูน

อ่าน: 5370

เรื่องนี้ คงจะเริ่มต้นขึ้นที่คุณอมรา พวงชมพู กรรมการผู้จัดการบริษัทสยามแฮนด์ จำกัด เจ้าของเสื้อแบรนด์ “แตงโม” ซึ่งเป็นนักศึกษาหลักสูตรเสริมสร้างสังคมสันติสุขรุ่นที่ ๑ ได้เจอกับครูบา ในงานวันระพีเสวนาครั้งที่ 2/2552 ป้าจุ๋มก็อยู่ด้วย คุยไปคุยมาก็ไปถึงเรื่องอรรถประโยชน์ของต้นเอกมหาชัย คุณอมราอยากได้ไปปลูกที่วัดพระบาทห้วยต้ม สองพันต้น ก็เลยมีอันจะต้องไปดูสถานที่ บอกกล่าววิธีเตรียมหลุม ระยะห่าง การใส่ปุ๋ยเพื่อเตรียมหลุม ฯลฯ ซึ่งนั่นเป็นที่มาหลักของทริปนี้ครับ; เรื่องอื่นเป็นเรื่องรองทั้งนั้น ทั้งเส้นทางเถิน-ลี้ ทั้งดอยอินทนนท์ ทั้งร้านถนอมโภชนา ทั้งกิ๊ก (สองอันหลังนี่ หลุดออกมาทีหลัง ฮี่ฮี่ฮี่)

โรงงานเสื้อแตงโม

โรงงานเสื้อแตงโมนั้น กระจายอยู่ทั่วไป สร้างงานให้ชาวบ้านในพื้นที่ที่ไม่ค่อยมีโอกาส (เช่นที่นราธิวาส) เป็นโรงงานที่ไม่มีเวลาเข้างาน อยากจะมาทำตอนไหนก็มา ทำมากได้มาก ทำน้อยได้น้อย โดนใจผมมากครับ คนเราอยากได้อะไร ต้องหาเอา (earn) จะมัวนั่งรอสิ่งที่ต้องการไม่ได้ ถ้าต้องการเปลี่ยนแปลง ก็ต้องทำไม่เหมือนเดิม กรีดยางแล้วมาเย็บเสื้อก็ยังได้ ดีกว่าอยู่กับบ้านเฉยๆ

กับการทำงานเป็นลำดับชั้นที่เราคิดกันว่า “เป็นระบบ” นั้น เป็นการเคารพความรู้ความชำนาญในตัวคนแค่ไหน การที่หัวหน้าใหญ่สั่งการบ้าๆบอๆ แถมบางทีทำเพื่อตัวเองนั้น ดีกับสังคมนั้นอย่างไร หากทุกๆคนในสังคมนั้น มีส่วนช่วยกันร่วมสร้างสังคมนั้นขึ้นมา มากบ้างน้อยบ้าง เขาแต่ละคนได้รับโอกาสอย่างยุติธรรมหรือไม่

หรือว่า “พอไม่โปรด ก็เลยแป็ก” เป็นเรื่องที่ยุติธรรมแล้ว

อ่านต่อ »



Main: 0.08214807510376 sec
Sidebar: 0.14358592033386 sec