พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนอะไร

ไม่มีความคิดเห็น โดย Logos เมื่อ 21 October 2008 เวลา 0:01 ในหมวดหมู่ ข้อคิดชีวิต ปรัชญา ศาสนา #
อ่าน: 3012

คำนำ

สมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาลย์ ทรงมีพระปรารภว่านักเรียนนักศึกษา ตลอดถึงข้าราชการผู้ที่ไปศึกษาต่อหรือไปรับราชการ ณ ต่างประเทศ ควรจะมีหนังสือแนะแนวคำสั่งสอนในพระพุทธศาสนาเป็นคู่มือ สำหรับอ่านเพื่อให้เกิดความรู้เป็นแนวทางสำหรับปฏิบัติตนเอง และเพื่ออธิบายให้บรรดามิตรชาวต่างประเทศ ผู้ต้องการจะทราบเข้าใจได้ถึงหลักธรรมบางประการในพระพุทธศาสนา จึงอาราธนา พระสาสนโสภณ (สุวฑฒโน) วัดบวรนิเวศวิหาร ให้เรียบเรียงเรื่อง “พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนอะไร” ในแนวความโดยพระประสงค์ในพากษ์ภาษาไทย และทรงอาราธนาให้พระขนติปาโล (Laurence C.R.Mills) วัดบวรนิเวศวิหาร กับพระนาคเสโน วัดเบญจมบพิตร แปลเป็นภาษาอังกฤษขึ้นก่อน และโปรดให้พระยาศรีวิสารวาจา พันตำรวจโท เอ็จ ณ ป้อมเพ็ชร์ และนายจอห์น โบลแฟลด์ ตรวจแปลเรียบเรียงขึ้นอีกโดยตลอด จนเป็นที่พอพระหฤทัยในพากษ์ภาษาอังกฤษแล้ว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้จัดพิมพ์ขึ้น เนื่องในวาระดิถีวันคล้ายวันประสูติ วันที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๑๐

วังสระปทุม
๒๑ ตุลาคม ๒๕๑๐

วันนี้เป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ครบรอบ ๑๐๘ พรรษา


รู้จักตนเอง

2 ความคิดเห็น โดย Logos เมื่อ 17 October 2008 เวลา 1:22 ในหมวดหมู่ ข้อคิดชีวิต ปรัชญา ศาสนา #
อ่าน: 3370

สมเด็จพระพุทธาจารย์ โต พรหมรังสี เป็นผู้เผยแพร่คาถาชินบัญชร มีชีวิตอยู่ในช่วงสมัยของรัชกาลที่ ๓ และ ๔

มีบันทึกคำสนทนาระหว่าง ดร.อาจอง ชุมสายฯ กับ (ร่างทรงของ) สมเด็จ โต ฯ (ที่สำนักปู่สวรรค์) เมื่อวันที่ ๑๘​ ธันวาคม ๒๕๑๒ บันทึกไว้ในหนังสือ โต พรหมรังษี จอมปราชญ์แห่งกรุงสยาม ซึ่งคุณเกหลง พานิช รวบรวม ไม่ว่าท่านจะคิดอย่างไร ผมคิดว่าข้อความส่วนที่ตัดตอนมานี้ ก็น่าคิดอยู่ดีครับ

**ทำอะไร? จึงจะเป็นประโยชน์ที่สุด**

( 18 ธันวาคม 2512)

ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา : ผมอยากจะถามหลวงพ่อว่า การกระทำอะไร? จึงจะเป็นการกระทำที่เป็นประโยชน์ที่สุดแก่โลกของเรา

สมเด็จฯ : จะให้อธิบายในแง่วัตถุ หรือในแง่ของจิตใจ ต้องตั้งประเด็นขึ้นมาก่อน

ดร.อาจอง : อะไรที่จะเป็นประโยชน์ที่สุด ในแง่ไหนก็ได้ครับ

สมเด็จ : คือ ถ้าในการแห่งการเป็นอยู่ ของการเป็นมนุษย์แล้วไซร้ เขาเรียกว่า ประโยชน์ทั้งหลาย ถ้าท่าน ยังติดคำว่า”มีประโยชน์” ท่านก็ยังไม่เข้าซึ้งถึงคำว่า “ไม่มีประโยชน์” เพราะสิ่งเหล่านี้ เป็นสิ่งสมมติแห่งการชิงดีชิงเด่นของเหล่ามนุษย์ทั้งหลาย ที่ตั้งกันขึ้นมา

แต่สิ่งที่ดีที่สุด คือ ให้ทุกๆคน “รู้จักตัวเอง” ให้ทุกๆคน ไม่มีตัว”โลภ” ให้ทุกๆคน ไม่มีตัว”โกรธ” ให้ทุกๆคน ไม่มีตัว”หลง” ทุกๆคน มี “สติสัมปชัญญะ” พร้อมเสมอ ในการปฏิบัติตนว่า ตนเกิดมาเป็นมนุษย์นี้ เพราะว่ามีกรรมในอดีตส่งผล นำตนมาเกิดในปัจจุบัน เพื่อในการใช้กรรม

เมื่อทุกคนเข้าซึ้งถึงสัจจะอันนี้แล้ว โลกมนุษย์นี้ จะเป็นโลกที่ผ่องใส โลกมนุษย์นี้ จะเป็นโลกที่แสนจะให้ประโยชน์แก่คนในดวงดาวอื่น ที่เขาอาจจะมาเยี่ยมเยือนโลกมนุษย์เราด้วย

แต่ทุกวันนี้ ที่โลกมนุษย์ ไม่มีความดี ที่จะเป็นประโยชน์ต่อเหล่าดวงดาวทั้งหลาย เพราะมนุษย์ลืมตน มนุษย์ไม่รู้จักตัวเอง มนุษย์พยายามคิดในสิ่งที่ไม่ควรคิด มนุษย์พยายามสร้างในความเจริญทางวัตถุ เพื่อเอามาเข่นฆ่ากัน ซึ่งอาตมาก็ได้เทศน์ไว้มากแล้ว…

สำหรับข้อความฉบับเต็ม อ่านได้ตรงนี้ครับ ธรรมสากัจฉา…ดร.อาจอง ชุมสายฯ-สมเด็จโต พรหมรังษี
ธรรมสากัจฉาแปลเป็นภาษาบ้านๆ ว่าสนทนาธรรม


“พุทธธรรมสถานผาซ่อนแก้ว” สุดจะบรรยาย

5 ความคิดเห็น โดย Logos เมื่อ 13 October 2008 เวลา 2:03 ในหมวดหมู่ ข้อคิดชีวิต ปรัชญา ศาสนา #
อ่าน: 6900

 


กันเอาไว้ ป้องกันอุบัติเหตุซ้ำสอง อิอิ

เว็บไซต์ของพุทธธรรมสถานผาซ่อนแก้ว

อ่านต่อ »


สำรวจวัดเขากระไดม้า 11-12 ตุลาคม 2551

13 ความคิดเห็น โดย Logos เมื่อ 12 October 2008 เวลา 21:44 ในหมวดหมู่ ข้อคิดชีวิต ปรัชญา ศาสนา #
อ่าน: 7410

ตามที่เคยเล่าไว้ บริษัทจองกฐินไว้ที่วัดใน อ.ชาติตระการ จ.พิษณุโลกครับ แต่พอไปถึงวัดแล้ว เพิ่งถึงบางอ้อ ที่จริง วัดชื่อวัดเขากระไดม้าครับ เป็นพระธรรมยุต สายพระป่า

วันที่ 11 ไปถึงวัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร จ.พิษณุโลก เอาเย็นซะแล้ว ออกจากบริษัทมาเกือบเที่ยง ไปด้วยรถตู้ใช้แก๊ส NGV เสียเวลาไปต่อคิวเติมแก๊สบ้างครับ ด็อกแด็กมาถึงวัดก็เกือบ 17 น.แล้ว รีบวิ่งไปที่พิพิธภัณฑ์ แต่ไม่ทันแล้ว เจ้าหน้าที่ล็อกประตูเสร็จตอนที่ไปถึงพอดี จึงได้ภาพมาดังนี้ครับ (คลิกบนภาพเพื่อขยาย)

อ่านต่อ »


Paradox ของสายตา กับการไม่รู้จักเป้าหมาย

อ่าน: 5596

พุทธวิธีควบคุมความวิตก

ไม่มีความคิดเห็น โดย Logos เมื่อ 10 October 2008 เวลา 0:06 ในหมวดหมู่ ข้อคิดชีวิต ปรัชญา ศาสนา #
อ่าน: 4062

เศรษฐกิจไม่ดี การเมืองก็เฟอะฟะ คนที่น่าจะหวังพึ่งได้แถมมีหน้าที่ที่จะต้องเป็นที่พึ่ง ก็กลับกลายเป็นตัวบัดซบไปหมด กลัวผู้มีอำนาจ จะลุแก่อำนาจกระทำการให้เสียหายหนักเข้าไปอีก ฯลฯ

คนเรายังไม่หลุดพ้น เจออย่างนี้เข้าบ่อยๆ ก็อาจจะเอ๋อ กังวล หรือหลุดโลกไปได้เลยนะครับ นักศึกษาทางพุทธคงเข้าใจไม่มากก็น้อยว่าทุกข์นั้น เกิดเพราะใจเราแสวงหาเอง…

…แต่ก็อย่างว่าแหละ คนเรายังไม่หลุดพ้น จะปล่อยวางลงทั้งหมดได้อย่างไร พระไตรปิฎกแนะนำอุบายไว้ห้าอย่าง ซึ่งทั้งห้าวิธีนั้น เป็นเรื่องของความคิดทั้งนั้น ได้แก่

  1. ละ (เปลี่ยน) ความคิดนั้น
  2. พิจารณาโทษ ของความกังวลที่เป็นอกุศล เพื่อที่จะละให้ได้
  3. เลิกคิดเสีย
  4. ให้ใคร่ครวญถึงเหตุผล (มนสิการสัณฐานแห่งวิตกสังขาร) ว่าทำไมจึงยังติดอยู่กับความคิดนั้น
  5. ขบกราม (ใช้ฟันกัดฟัน) แล้วดุนเพดานปากด้วยลิ้น

ทั้งห้าวิธี ไม่ต้องลงทุน และไม่ได้เบียดเบียนทั้งตัวเองหรือผู้อื่น ไม่เหมือนปล่อยให้จิตติดอยู่ในวังวนของความกังวล จากนั้นก็คิดไปเองว่าจะเป็นอย่างโน้น เป็นอย่างนี้ มีปัญหาอะไรก็ไม่ถาม ก้าวล่วงผู้อื่นทั่วไปหมด เพียงเพราะคิดไปเอง กลัวไปเอง แต่ทำร้ายผู้อื่นไปแล้ว หลังจากนั้นก็เต็มไปด้วยเหตุผลต่างๆ นานา

อ่านต่อ »


สำนึกสร้างปัญญา

5 ความคิดเห็น โดย Logos เมื่อ 9 October 2008 เวลา 0:52 ในหมวดหมู่ ข้อคิดชีวิต ปรัชญา ศาสนา #
อ่าน: 2750

เรื่อง สำนึกสร้างปัญญา
วันอาทิตย์ที่ ๒๐ มีนาคม ๒๕๒๐

ญาติโยมพุทธบริษัททั้งหลาย

ณ บัดนี้ถึงเวลาของการฟังปาฐกถาธรรม อันเป็นหลักคำสอนในทางพระพุทธศาสนาแล้ว ขอให้ทุกท่านอยู่ในอาการอันสงบ ตั้งอกตั้งใจฟังด้วยดี เพื่อให้ได้ประโยชน์อันเกิดขึ้นจากการฟังตามสมควรแก่เวลา.

เมื่อวันอาทิตย์ก่อนได้พูดถึงความร้อนให้ญาติโยมทั้งหลายได้ฟังกัน มีหลายคนบอกว่าปาฐกถาเป็นที่ถูกอกถูกใจ แล้วก็บอกว่าควรจะเอาไปอ่านอีกที จึงจะได้เกิดความรู้ความเข้าใจดีขึ้น เพราะว่าการฟังครั้งเดียวอาจจะลืมได้ อ่านบ่อยๆ เตือนตนเองบ่อยๆ ให้เกิดความสำนึกในสิ่งอันเราจะต้องปฏิบัติ เพราะในชีวิตประจำวันของคนเรานั้น อาจจะมีอะไรเป็นเหตุให้เกิดความเผลอไผล ประมาทในการคิด การพูด การกระทำอยู่บ้าง เมื่อมีความผิดพลาดเกิดขึ้นแล้ว ไม่รู้ไม่เข้าใจในเรื่องที่ได้กระทำผิดพลาดไปนั้น ก็จะเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายมากขึ้น ตามปกติทั่วๆ ไป นั้นไม่ชอบความผิด ไม่ชอบความเสียหาย

แต่ว่าทั้งๆ ที่เราไม่ชอบ ก็มีอาการเผลอ ประมาท เกิดการผิดพลาดในชีวิตขึ้นมาได้ และเมื่อเกิดความผิดพลาดแล้ว เราไม่ได้พิจารณา สอดส่องในเรื่องนั้นให้เห็นชัด ว่าอะไรเป็นเหตุให้เกิดความเสียหาย เมื่อไม่รู้ไม่เข้าใจสาเหตุของเรื่อง บางทีก็ทำซ้ำลงไปอีก ซ้ำแล้วซ้ำอีก ไม่รู้จักจบไม่รู้จักสิ้น อันนี้เป็นเหตุให้เกิดความยุ่งยากในชีวิตประจำวัน เราทั้งหลายไม่ต้องการความยุ่งยาก ไม่ว่าในแง่ใดๆ เมื่อไม่ต้องการความยุ่งยาก ก็ควรจะได้หมั่นตักเตือน พิจารณาตนเองตามแนวธรรมะที่เราได้ศึกษาเล่าเรียน จากการอ่านบ้างการฟังบ้าง เพื่อเอาไปแก้ไขปัญหาชีวิตต่อไป

การแก้ปัญหาชีวิตประจำวันของเราแต่ละเรื่องแต่ละประการนั้น ควรจะอาศัยความรู้ความชำนาญ หรือประสบการณ์ในชีวิตเป็นเรื่องประกอบ ถ้าไม่มีความชำนาญ หรือประสบการณ์ในชีวิต เป็นเครื่องประกอบ เราก็ไม่สามารถจะแก้ไขในเรื่องนั้นๆ ได้ เพราะเหตุอันนี้แหละพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงได้ตักเตือนภิกษุบ้าง อุบาสกอุบาสิกาบ้าง ในเมื่อพระองค์พอที่จะพูดจะแนะนำพร่ำเตือนคนเหล่านั้นได้ ท่านก็มักจะเตือนว่า ท่านทั้งหลายอย่าอยู่ด้วยความประมาท พึงมีสติปัญญาคอยกำหนดความเป็นอยู่ของตนไว้ตลอดเวลา การมีสติปัญญาคอยกำหนดตนนั้น เป็นเรื่องสำคัญซึ่งเราพูดในภาษาไทยว่า มีความรู้สึก มีความสำนึกแล้วก็มีความคิดความเข้าใจในเรื่องนั้นเข้ามา

อ่านต่อ »


บุญ บารมี

ไม่มีความคิดเห็น โดย Logos เมื่อ 6 October 2008 เวลา 1:06 ในหมวดหมู่ ข้อคิดชีวิต ปรัชญา ศาสนา #
อ่าน: 3126

บุญ ความหมายตามพจนานุกรมพุทธศาสน์ของพระพรหมคุณาภรณ์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) กล่าวว่า บุญ คือ เครื่องชำระสันดาน ความดี กุศล ความสุข ความประพฤติชอบทางกาย วาจา และใจ กุศลธรรม

บารมี คือ คุณความดีที่บำเพ็ญอย่างยิ่งยวด เพื่อบรรลุจุดหมายอันสูงยิ่ง

วิธีสร้างบุญบารมีในพระพุทธศาสนามีอยู่ ๓ ขั้นตอน คือการให้ทาน การถือศีล และการเจริญภาวนา ที่นิยมเรียกกันว่า “ทาน ศีล ภาวนา” ซึ่งการให้ทานหรือการทำทานนั้น เป็นการสร้างบุญที่ต่ำที่สุด ได้บุญน้อยที่สุด ไม่ว่าจะทำมากอย่างไรก็ไม่มีทางที่จะได้บุญมากไปกว่าการถือศีลไปได้ การถือศีลนั้นแม้จะมากอย่างไร ก็ไม่มีทางที่จะได้บุญมากเกินไปกว่าการเจริญภาวนาไปได้ ฉะนั้น การเจริญภาวนานั้น จึงเป็นการสร้างบุญบารมีที่สูงที่สุด ได้มากที่สุด ในทุกวันนี้เรารู้จักกันแต่การให้ทานอย่างเดียว เช่นการทำบุญตักบาตร ทอดกฐินผ้าป่า สละทรัพย์สร้างโบสถ์ วิหาร ศาลาการเปรียญ ส่วนการถือศีล แม้จะได้บุญมากกว่าการทำทาน ก็ยังมีการทำกันเป็นส่วนน้อย เพื่อความเข้าใจอันดี จึงขอชี้แจงการสร้างบุญบารมี อย่างไรจึงจะเป็นการลงทุนน้อยที่สุด แต่ได้บุญบารมีมากที่สุด

อ่านต่อ »


อุเบกขา

4 ความคิดเห็น โดย Logos เมื่อ 4 October 2008 เวลา 1:11 ในหมวดหมู่ ข้อคิดชีวิต ปรัชญา ศาสนา #
อ่าน: 3850

พระนิพนธ์เรื่องอุเบกขานี้ สมเด็จพระญาณสังวรทรงแสดงถึงอุบายวีธีในการปฏิบัติตนเพื่อความสงบของจิตใจ ตั้งแต่ระดับต่ำไปถึงระดับสูง ด้วยอุบายวิธีทางธรรม ซึ่งนับว่าเป็นการวางเฉยด้วยปัญญา หรือวางเฉยอย่างถูกวิธี ฉะนั้น การฝึกหัดปฏิบัติตนตามอุบายวิธีดังกล่าวนี้ จึงจำเป็นและมีประโยชน์ต่อทุกคน เพื่อเป็นเครื่องมือสำหรับบรรเทาหรือแก้ไขปัญหาชีวิตในระดับหนึ่ง จึงเป็นเรื่องที่ทุกคนควรจะได้ศึกษา และหัดปฏิบัติ

ธรรมปฏิบัติข้อหนึ่งซึ่งผู้ปฏิบัติพึงปฏิบัติให้มีขึ้นก็คืออุเบกขา อุเบกขาที่พึงปฏิบัตินี้เป็นอุเบกขาส่วนเหตุ เพื่อที่จะได้อุเบกขาที่เป็นส่วนผล และคำว่าอุเบกขานี้ ก็เป็นคำที่พูดกันในภาษาไทย และก็มีคำแปลทั่วไปว่า ความวางเฉย เมื่อให้คำแปลและเข้าใจกันดังนี้ จึงทำให้เกิดความเข้าใจผิดกันก็มี เกิดความเข้าใจถูกก็มี

ส่วนให้เกิดความเข้าใจผิดนั้นก็คือ เข้าใจว่าอุเบกขาเมื่อเป็นความวางเฉยไปเสียทุกสิ่งทุกอย่าง ก็หมายความว่าไม่ทำอะไร ไม่เอาใจใส่ในอะไร จึงดูคล้ายๆกับผู้มีใจไม่สมประกอบซึ่งไม่รู้เรื่องราวอะไร กลายเป็นผู้ที่มีใจเลื่อนลอย เป็นปัญญาอ่อนหรืออะไรทำนองนี้ ดังนี้เป็นความเข้าใจผิดในอุเบกขา ส่วนที่เป็นความเข้าใจถูกนั้นก็คือ เข้าใจอุเบกขาที่เป็นธรรมปฏิบัติอันถูกต้อง

ในขั้นนี้พึงมีความเข้าขั้นพื้นฐานไว้ก่อนว่า ความวางเฉยด้วยความไม่รู้ก็มีอยู่ แต่ว่าเป็นความวางเฉยที่ไม่ใช่ธรรมปฏิบัติในพุทธศาสนา แต่อาจเป็นอุเบกขาที่มีเป็นธรรมชาติธรรมดาเหมือนอย่างความยินดี ความยินร้าย และความวางเฉยไม่รู้จักความยินดียินร้ายที่คนทั่วไปมีกันอยู่ คือเมื่อประสบอารมณ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความยินดีก็เกิดความยินดี ประสบอารมณ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความยินร้าย ก็เกิดความยินร้าย ประสบอารมณ์ที่เป็นกลางๆ มิใช่เป็นที่ตั้งแห่งความยินดีหรือความยินร้าย ก็เกิดความรู้สึกเป็นกลาง ซึ่งก็เป็นอุเบกขา อาการของจิตเหล่านี้ทุกคนย่อมมีอยู่โดยปกติ

ผู้ที่ไม่เคยปฏิบัติธรรมเลยก็มีอุเบกขาเช่นนี้อยู่ ดังนี้เป็นอุเบกขาที่มีอยู่กันเป็นปกติ มิใช่เป็นธรรมปฏิบัติ

แต่ที่เป็นธรรมปฏิบัตินั้น หมายถึงความวางเฉยด้วยความรู้ คือรู้แล้วก็วางเฉย อันความวางเฉยด้วยความรู้นี้ เกี่ยวแก่การที่ต้องปฏิบัติทำจิตใจให้เกิดความวางเฉยขึ้น และความวางเฉยด้วยความรู้นี้ก็เป็นอาการของจิตที่มีความทนทาน รู้แล้วก็วางเฉยได้ กับเป็นอาการของจิตที่ประกอบด้วยปัญญาเพ่งพินิจรู้ จึงหมายถึงรู้เรื่องที่เป็นไป กับรู้ที่เป็นปัญญา ดังจะยกตัวอย่าง

อันเรื่องที่เป็นไปนั้น ดังเช่น นินทา สรรเสริญ กล่าวได้ว่าบุคคลทุกๆคนจะต้องมีผู้นินทาบ้าง มีผู้สรรเสริญบ้างอยู่ด้วยกันทั้งนั้น และแต่ละคนก็ต้องมีผู้นินทา มีผู้สรรเสริญไม่ใช่น้อย แต่ว่าไม่ได้ยิน จึงไม่รู้ว่าเขานินทาอย่างไรบ้าง เขาสรรเสริญอย่างไรบ้าง จิตจึงเป็นกลางๆไม่ยินดียินร้าย เพราะไม่รู้คือไม่ได้ยินเขาพูด ไม่ทราบว่าเขาพูดอย่างนั้นอย่างนี้ ดั่งนี้เป็นลักษณะที่วางเฉยด้วยความไม่รู้จริงๆ แต่อันที่จริงนั้นเขานินทาอยู่แล้ว เขาสรรเสริญอยู่แล้ว ซึ่งทุกคนก็จะเป็นอย่างนี้ด้วยกันทั้งนั้น ยิ่งเป็นคนที่มีชื่อเสียงมาก ต้องทำงานเกี่ยวข้องกับคนเป็นอันมาก ก็จะต้องมีผู้สรรเสริญมาก มีผู้นินทามาก แต่ว่าเขาพูดลับหลังไม่รู้ เมื่อไม่รู้ก็เฉยๆ ดั่งนี้เรียกว่าเฉยด้วยความไม่รู้จริงๆ

คราวนี้เมื่อได้ยินเขาพูด ได้ทราบว่าเขาพูดนินทาบ้าง สรรเสริญบ้าง ก็วางเฉยได้ ดั่งนี้เรียกว่ามีความทนทาน เป็นการวางเฉยด้วยความรู้ คือรู้เรื่องที่เป็นไป ซึ่งน่าจะยินดีก็ไม่ยินดี น่าจะยินร้ายก็ไม่ยินร้าย วางเฉยได้ รู้ว่าเขาว่าก็วางเฉยได้ เขานินทา เขาสรรเสริญก็วางเฉยได้

อีกอย่างหนึ่งวางเฉยด้วยปัญญา คือว่าโดยปกตินั้นก็จะมีชอบใจไม่ชอบใจขึ้นมาก่อน แต่แล้วก็พิจารณาให้เกิดความรู้ที่เป็นปัญญาขึ้นมา เมื่อเกิดปัญญาขึ้นมาก็เกิดความวางเฉยได้ อันความวางเฉยได้ด้วยความรู้ที่เป็นปัญญานี้ต้องอาศัยการปฏิบัติอันเรียกว่า “โยนิโสมนสิการ” ทำไว้ในใจโดยแยบคาย พิจารณาให้เห็นเหตุเห็นผล เห็นสัจจะคือความจริง อันนี้แหละเป็นข้อปฏิบัติให้เกิดอุเบกขาซึ่งเป็นที่มุ่งหมายในทางปฏิบัติธรรม


ความกตัญญู กตเวที เป็นเครื่องหมายของคนดี

ไม่มีความคิดเห็น โดย Logos เมื่อ 30 September 2008 เวลา 0:14 ในหมวดหมู่ ข้อคิดชีวิต ปรัชญา ศาสนา #
อ่าน: 5792

[๒๗๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงภูมิอสัตบุรุษและสัตบุรุษแก่เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว ภิกษุทั้งหลายนั้น ทูลรับพระดำรัสพระผู้มีพระภาคแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภูมิอสัตบุรุษเป็นไฉน อสัตบุรุษย่อมเป็นคนอกตัญญูอกตเวที ก็ความเป็นคน อกตัญญูอกตเวทีนี้ อสัตบุรุษทั้งหลายสรรเสริญ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความเป็นคน อกตัญญูอกตเวทีนี้ เป็นภูมิอสัตบุรุษทั้งสิ้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย ส่วนสัตบุรุษ ย่อมเป็นคนกตัญญูกตเวที ก็ความเป็นคนกตัญญูกตเวทีนี้ สัตบุรุษทั้งหลาย สรรเสริญ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความเป็นคนกตัญญูกตเวทีทั้งหมดนี้เป็นภูมิสัตบุรุษ

[๒๗๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวการกระทำตอบแทนไม่ได้ง่ายแก่ ท่านทั้ง ๒ ท่านทั้ง ๒ คือใคร คือ มารดา ๑ บิดา ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุตรพึงประคับประคองมารดาด้วยบ่าข้างหนึ่ง พึงประคับประคองบิดาด้วยบ่าข้างหนึ่ง เขามีอายุ มีชีวิตอยู่ตลอดร้อยปี และเขาพึงปฏิบัติท่านทั้ง ๒ นั้นด้วยการอบกลิ่น การนวด การให้อาบน้ำ และการดัด และท่านทั้ง ๒ นั้น พึงถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะบนบ่าทั้งสองของเขานั่นแหละ ดูกรภิกษุทั้งหลาย การกระทำอย่างนั้น ยังไม่ชื่อว่าอันบุตรทำแล้วหรือทำตอบแทนแล้วแก่มารดาบิดาเลย ดูกรภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง บุตรพึงสถาปนามารดาบิดาในราชสมบัติ อันเป็นอิสราธิปัตย์ ในแผ่นดิน ใหญ่อันมีรตนะ ๗ ประการมากหลายนี้ การกระทำกิจอย่างนั้น ยังไม่ชื่อว่าอัน บุตรทำแล้วหรือทำตอบแทนแล้วแก่มารดาบิดาเลย ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะ มารดาบิดามีอุปการะมาก บำรุงเลี้ยง แสดงโลกนี้แก่บุตรทั้งหลาย ส่วนบุตรคนใดยังมารดาบิดาผู้ไม่มีศรัทธา ให้สมาทานตั้งมั่นในศรัทธาสัมปทา ยังมารดา บิดาผู้ทุศีล ให้สมาทานตั้งมั่นในศีลสัมปทา ยังมารดาบิดาผู้มีความตระหนี่ ให้สมาทานตั้งมั่นในจาคสัมปทา ยังมารดาบิดาทรามปัญญา ให้สมาทานตั้งมั่นในปัญญาสัมปทา ดูกรภิกษุทั้งหลาย ด้วยเหตุมีประมาณเท่านี้แล การกระทำอย่างนั้น ย่อมชื่อว่าอันบุตรนั้นทำแล้ว และทำตอบแทนแล้ว แก่มารดาบิดา

อังคุตตรนิกาย ทุกนิบาต ปฐมปัณณาสก์ สมจิตตวรรคที่ ๔ ๒๐/๒๗๗-๒๗๘



Main: 0.14983105659485 sec
Sidebar: 0.48014998435974 sec