แผนที่สถานการณ์ (ครั้งที่เท่าไหร่ก็ไม่รู้)
อ่าน: 4834คนเราพอแก่ตัวเข้า บางทีก็ย้ำคิดย้ำทำ คือลืมว่าคิดแล้วลืมว่าทำแล้ว ซึ่งการลืมนี่…พูดยากครับ ถ้าจำได้ก็ไม่ลืมน่ะซิ
แผนที่สถานการณ์ เป็นสิ่งจำเป็นที่สุดในการประเมินความช่วยเหลือ ประเมินความเสียหาย วางแผนโลจิสติกส์ ฯลฯ แต่ก็พูดไปเถอะ จนปัจจุบันก็ยังไม่มีครับ ผ่านอุทกภัยครึ่งประเทศเมื่อปีที่แล้ว ภัยการสู้รบตามเขตชายแดน ภัยหนาว ภัยแล้ง แล้วก็อุทกภัยทางใต้รอบใหม่ (ผู้มีอำนาจคงลืมไป ว่าไม่เคยสั่งให้ทำ — ทหารจะเข้าใจว่าแผนที่ยุทธการสำคัญอย่างไร แต่ทหารทำไม่ได้ ถ้าไม่มีคำสั่ง)
ในเมื่อสิ่งที่จำเป็นต้องมี ดันไม่มี ดังนั้นก็พยายามต้องทำเองครับ ภาคประชาชน(บางส่วน)นั้น ไม่ได้ทำอะไรชุ่ยๆ ไม่ใช่ว่ารับบริจาคมา แล้วร้อนรนจัดซื้อจัดหาส่งไปช่วยผู้ประสบภัย เอาจำนวนมาเบิ้ลกัน ส่งของไปแล้วตรงกับความต้องการหรือเปล่าก็ไม่รู้ มากเกินไปหรือน้อยเกินไปหรือเปล่า ช่วยคนที่เดือดร้อนจริงหรือเปล่า ฯลฯ ข้อมูลพวกนี้ จำเป็นต้องมีการประสานกันครับ เนื่องจากอาสาสมัครแต่ละหน่วย มีความรู้ความชำนาญและประสบการณ์ที่แตกต่างกัน การประสานงานที่ดีที่สุด คือเอาความจริงจากพื้นที่มาตีแผ่ เพื่อให้แต่ละหน่วยเข้าช่วยในเรื่องที่ตนทำได้ดี ซึ่งแผนที่สถานการณ์จะเป็นตัวประสานที่ดีที่สุด แต่ก็ยังไม่มีการทำกัน
แผนที่สถานการณ์ มีลักษณะเป็นแผนที่เชิงภูมิสารสนเทศ เช่นในกรณีน้ำท่วม เราก็ต้องรู้ว่าพื้นที่ไหนถูกตัดขาด มีคนอยู่ตรงนั้นเท่าไหร่ จะได้วางแผนเรื่องน้ำและอาหารได้ถูกต้อง ที่พักสำหรับผู้ประสบภัยจะทำอย่างไร ถนนหนทางที่จะนำความช่วยเหลือเข้าไปถูกตัดขาดหรือไม่ จะต้องซ่อมอะไรก่อนหลัง ทางน้ำอยู่ไหน อย่างกรณีวาตภัย อะไรเสียหาย ที่ไหนต้องการอะไร มีคนเดือดร้อนเท่าไหร่ หรืออย่างภัยแล้ง ชาวบ้านที่ต้องการน้ำอยู่กันตรงไหนบ้าง ไร่นาเสียหายเท่าไหร่ ฯลฯ