รดน้ำต้นไม้

อ่าน: 6786

ผมไม่รู้ว่าใครรดน้ำต้นไม้อย่างไรหรอกนะครับ ต่างคนก็ต่างจิตต่างใจ มีแบบอย่างที่ไม่เหมือนกัน

พืชรับน้ำและสารอาการจากระบบราก ซึ่งดูดเข้าได้มากผ่านรากฝอย แม้จะเป็นเส้นเล็กจิ๋วแต่มีปริมาณมาก เมื่อรวมกันแล้ว ก็สามารถหล่อเลี้ยงพืชให้เจริญเติบโตได้

รากที่ทะลวงไปในดิน มีปลายราก (root cap) เป็นเหมือนหัวเจาะ จะมีการออสโมซิสเอาน้ำและสารอาหารผ่านรากเข้าสู่แกนราก ซึ่งจะถูกส่งผ่านลำต้นไปสังเคราะห์แสงยังใบ

ดังนั้น รากแผ่ไปถึงไหน ก็ต้องรดน้ำถึงนั่นครับ — ไม่ใช่รดที่โคนต้นเฉยๆ

ปัญหาคือรากอยู่ในดิน จะไปรู้ได้อย่างไรว่าแผ่ไปถึงไหน ก็มีหลักประมาณการง่ายๆ คือกิ่งใบแผ่ไปถึงไหน รากก็แผ่ไปประมาณนั้น

แต่ยังมีปัญหาอีกอย่างหนึ่ง ในเมื่อเรารดน้ำที่ผิวดิน กว่าน้ำจะไปถึงราก ยังขึ้นกับว่าดินนั้นให้น้ำซึมลงไปมากน้อยแค่ไหน ดูดน้ำเอาไว้เท่าไร (เหลือให้รากและละลายสารอาหารในดินมากน้อยแค่ไหน)

เช่นเดียวกับการใส่ปุ๋ย แหงล่ะครับไม่ใช่ราดเอาไว้บนผิวดิน โดยปกติเราก็จะพรวนดินนำปุ๋ยลงไปหารากด้วย แต่ก็มีปัญหาอีกอย่างหนึ่งคือการพรวนดินอาจไปโดนราก แทนที่จะช่วยกลับทำลาย

สำหรับพืชที่รากลงลึกมากกว่าแผ่ออก มีวิธีง่ายๆ คือเอา เสา (ไม้ แป๊บเหล็ก ฯลฯ) ตอกลงไปในดิน แล้วถอนออก เวลารดน้ำหรือใส่ปุ๋ย ก็กรอกลงไปในรู น่าจะประหยัดน้ำและปุ๋ยมากกว่า เพราะว่าสามารถส่งน้ำและปุ๋ยลงไปใกล้รากมากกว่าการทำผ่านผิวดินแล้ว หวังให้ซึมลงไปตามธรรมชาติ

ถ้าเป็นพืชล้มลุกหรือผัก ซึ่งรากมักตื้นและแผ่ออก ใช้วิธีข้างบนแต่ตอกลงไปตื้นๆ ก็ได้ หรือไม่ก็ใช้ท่อน้ำพลาสติก ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางไม่เกินหนึ่งนิ้ว เจาะรูด้านข้างเยอะๆ (ข้างในถ้าใส่วัสดุอุ้มน้ำ เช่นสำลี ก็น่าจะดี) แล้วฝังลงไปในดิน ผลดีก็เช่นเดียวกัน คือน่าจะประหยัดน้ำเพราะส่งลงไปใกล้ราก แล้ววัสดุอุ้มน้ำ ก็จะค่อยๆ คายน้ำให้ดิน หวังว่าจะช่วยให้พืชผักทนแล้งได้ดีขึ้นเพราะว่ามียาโด๊ป วัสดุอุ้มน้ำคายน้ำให้ดินด้วยแรงดึงดูด กล่าวคือน้ำไหลจากที่สูงลงที่ต่ำ จึงทำให้ดินด้านล่างอ่อนกว่าผิวดิน น่าจะทำให้รากพืชเจาะลงในดินได้ดีกว่า ทำให้รากยึดพืชได้ดีกว่า และไม่โดนความร้อนที่ผิวดิน ซึ่งทำให้ประสิทธิภาพในการลำเลียงน้ำและสารอาหารสูงขึ้น

กระบวนการนี้ เหมือนเอาเข็มฉีดยา ฉีดน้ำและปุ๋ยลงไปใต้ดิน ลงไปยังราก ซึ่งนั้นคือวัตถุประสงค์ของการรดน้ำต้นไม้

« « Prev : ใครใครก็ไม่รักผม

Next : รดน้ำกลางแดดเปรี้ยง อาจทำให้เกิดไฟไหม้ได้! » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

6 ความคิดเห็น

  • #1 sutthinun ให้ความคิดเห็นเมื่อ 7 April 2010 เวลา 6:19

    เรืยนเรื่องนี้แล้วสนุก
    เราไม่รู้ว่าต้นไม้แต่ละต้นต้องการน้ำอย่างไร แค่ไหน เมื่อไหร่ จึงจะพอดี เราทำได้แค่-กลางๆ คิดแทนต้นไม้ การให้น้ำ-ปริมาณน้ำ-ปริมาณปุ๋ย-ชนิดปุ๋ย -การปกคลุมหน้าดิน (ในกรณีไม่อยู่ในสภาพธรรมชาติ) จะจัดให้ตรงกัูบระบบของธรรมชาติมากที่สุด ชาวไร่ยังทำอยู่ในชั้นนี้
    -เรื่องพืช กับ น้ำ มหัศจรรย์มาก ท่ามกลางดินแห้งแล้ง แตงโมไปเอาน้ำมาจากไหนมากมายสะสมไว้ในผล  ประสิทธิภาพของการแสวงหาน้ำมาเก็บไว้ของแตงโมน่าสนใจนัก ส่วนมะพร้าวก็ดูดน้ำไปไว้ในผลบนยอดเรือนต้น แต่ก็ไม่น่าทึ่งเพราะมีรากลึก แตงโมน่าจะพิเศษกว่าพืชอื่นๆ ถ้าจะทำการวิจัยเอากระบวนการของแตงโมไปทำนาโนใช้ ต่อไป

  • #2 sutthinun ให้ความคิดเห็นเมื่อ 7 April 2010 เวลา 6:28

    แล้งนี้มีเรื่องพิเศษที่เจอ
    ฟักทองที่เกิดเองตามมีตามเกิด ยังเขียวเป็นปกติ
    แต่ฟักทองที่เราปลูก โอ๋ รดน้ำ ให้ปุ๋ย เว้นวรรคไม่ได้เลย เผลอเมื่อไหร่เหี่ยวเมื่อนั้น
    นิสสัยของต้นไม้ ระบบ-โปรแกรมที่ต้นไม้ตั้งไว้ เป็นรหัสที่น่าสนใจมาก
    วิธีตอกท่อ ช่วยประคองความชุ่มชื้นในหน้าแล้ง เหมาะกับการปลูกต้นไม้แบบประณีต ถ้าให้เหมาะเตรียมหลุม ใส่ปุ๋ย เพราะกล้าไว้ แล้วปลูกช่วงต้นฝนจะเหนื่อยน้อยที่สุด ส่วนต้นไม้ที่ยังยืนหยัดด้วยตนเองไม่ได้ ถ้าช่วยให้น้ำแบบท่อได้ก็จะดีมาก โดยเฉพาะไม้ที่ไม่ค่อยทนแล้ง

  • #3 มิสเตอร์สะตอฯ ให้ความคิดเห็นเมื่อ 7 April 2010 เวลา 7:49

    สวัสดีครับ
    รากฝากอยู่ที่ไหนรดน้ำตรงนั้น ใส่ปุ๋ยตรงนั้น นะถูกต้องที่สุดแล้วครับ ใส่แต่ปุ๋ยไม่ใส่น้ำในการละลายสารอาหารพืชก็นำไปใช้ได้ยากเช่นกันครับ สารอาหารบางชนิดเคลื่อนที่เองได้ บางชนิดเคลื่อนที่เองไม่ได้ก็ต้องรอน้ำ คราวนี้หากรากปุ๋ยที่เข้มข้นสูงไปฝังที่บริเวณรากบางทีอาจจะทำให้เกิดผลเสียต่อรากด้วยเช่นกันครับ ผมแนะนำว่า การใส่ปุ๋ยหากเป็นพืชยืนต้นให้ใส่บริเวณทรงพุ่มรอบต้นที่มีรากฝอยอยู่ครับ ส่วนการรดน้ำ รดบริเวณใส่ปุ๋ยและบริเวณภายในวงกลมรอบบริเวณที่ใส่ปุ๋ยด้วยก็จะดีครับ เพราะว่ารากในบริเวณภายในวงทรงพุ่มด้านล่างก็ต้องการน้ำเช่นกันครับ เพราะรากใต้ดินจากรากแก้วก็จะมีส่วนหนึ่งที่เป็นรากฝอยใต้ดินลึกด้วยครับ
    งานวิจัยผมผมไม่ได้เขียนตอบอะไรเหล่านี้ครับ แต่ผลที่ได้ก็อธิบายสิ่งเหล่านี้ได้ครับ เกี่ยวกับตำแหน่งการให้น้ำให้ปุ๋ยแก่ต้นพืชครับ เพราะน้ำก็ไหลในดิน สารอาหารก็แพร่ในดินที่มีน้ำ ไม่มีน้ำสารอาหารก็เปรียบเสมือนเกลือครับ สำหรับการให้ปุ๋ยต้องให้แบบฝังกลบนะครับ เพราะอาจจะมีสารอาหารบางตัวระเหยหายด้วยอากาศได้ครับ หรือว่าแพร่ไปกับอากาศได้ครับ ทำให้พืชไม่ได้ส่วนนั้นครับ
    พืชแต่ละชนิดก็มีความพิเศษที่แตกต่างกันครับ แต่ละต้นสรรพคุณก็แตกต่างกัน นี่คือความงามในธรรมชาติ จริงๆคนเราก็ทำนองนี้เช่นกันครับ มีความหลากหลาย สรรพคุณรู้แตกต่างกัน หากเราบริหารคนให้เหมาะก็จะเป็นประโยชน์ที่สุดในสังคมครับ

    สรุปว่ารากฝอยจะช่วยในการดูดน้ำเข้าลำต้นมากที่สุดครับ แต่รากฝอยจะอยู่บริเวณใกล้ๆ ปลายรากครับ รากที่แก่แล้วก็จะไม่ทำหน้าที่ดูดน้ำจากดินแล้วครับ เพราะเปลี่ยนหน้าที่เป็นโครงสร้างในการยึดลำต้นทรงพุ่มให้อยู่ได้แทนหน้าที่ดูดน้ำ และช่วยเป็นท่อในการลำเลียงจากรากฝอยไปยังใบครับ
    ถามว่าต้นไม้สูบน้ำไปสู่ชั้นบรรยากาศได้อย่างไร หาผมให้คนเราขึ้นไปอยู่บนยอดไม้ แล้วใช้ปากดูดน้ำจากถังด้านล่างให้สูงขึ้นไปเข้าปากตัวเองในความสูง 20 เมตร ผมคิดว่าคิดหนักอยู่เหมือนกันนะครับ แต่ต้นไม้ทำได้นะครับ นี่คือความสุดยอดของธรรมชาติครับ เรียนเรื่องนี้แล้วสนุกครับ จะได้ปรัชญาอะไรอีกมากมายเลยครับ แล้วจะเข้าใจธรรมชาติมากขึ้น ดั่งที่ผมเคยเขียนไว้ในโก๊ะว่า ต้นไม้นี่ฉลาดมากๆ เลย มีการถ่ายทอดความรู้จากรุ่นสู่รุ่นเอาไว้ในยีนของเมล็ดพันธุ์ครับ

    ขอให้สนุกนะครับ

  • #4 Panda ให้ความคิดเห็นเมื่อ 7 April 2010 เวลา 11:16

    ต้นไม้ก็เป็นสิ่งมีชีวิตเหมือนฅน….การต่อสู้และปรับตัวเพื่อการดำรงชีวิตอยู่ได้ก็เหมือนฅนเรา  ต้น(พันธุ์)ที่ปลูกและได้รับการเอาใจมาตั้งแรกเกิดอย่างมากเกินไป เช่นให้น้ำให้ปุ๋ยอย่างเหลือเฟือ ก็จะมีชีวิตที่สบาย รากไม่แข็งแรง เหมือนเด็กที่โตมาอย่างสะดวกสบาย มีทุกอย่างพร้อม พอเจออะไรลำบากหน่อย ก็อยู่ไม่ได้…..อิอิ

  • #5 ป้าจุ๋ม ให้ความคิดเห็นเมื่อ 7 April 2010 เวลา 17:28

    -ในยามที่ธรรมชาติเข้าสู่สภาวะแห้งแล้งมากอย่างนี้ และปีนี้ก็ทำท่าว่าจะต้องเจอวิกฤตเรื่องน้ำขาดแคลนแน่ค่ะ  ดังนั้นการให้น้ำต้นไม้ที่ถูกต้องนี่น่าสนใจมากๆค่ะ
    -ต้นไม้แต่ละชนิดก็มีธรรมชาติแตกต่างกัน ทั้งระบบราก กิ่ง ใบ จึงมีความต้องการน้ำในปริมาณที่แตกต่างกันในพืชแต่ละชนิดค่ะ กรมวิชาการเกษตรได้มีผลงานวิจัยที่ศึกษาเรื่องปริมาณความต้องการน้ำในพืชแต่ละชนิด(มีข้อมูลเฉพาะพืชเศรษฐกิจเท่านั้นค่ะ) ความจริงนอกจากปริมาณน้ำที่ต้องการแล้ว  เวลาการให้น้ำ(Timing)คือจะให้เวลาใดดีที่สุดก็จำเป็น และวิธีการให้ก็สำคัญเช่นกัน เช่นว่าจะให้แบบspringler หรือ แบบหยด หรือแบบฝอยคล้ายULEM ในการปลูกในเชิงเศรษฐกิจ บางครั้งต้องใช้หลายๆอย่างร่วมกันจึงจะได้ผลดี
    -ที่บ้านต้นไม้มีไม่มากนัก แต่ก็มีการจัดการเล็กน้อยค่ะ บางชนิดก็ทำแบบน้ำหยดค่ะ บางชนิดก็รดเช้า-รดเย็นค่ะ(ความจริงเวลาที่ให้น้ำต้นไม้ที่ดีที่สุดคือตอนเช้าค่ะ…อิอิ ตามทฤษฎี) แต่ที่บ้านพบว่าช่วงนี้ รู้สึกว่าต้นไม้ต้องการน้ำมาก ก็ให้ตอนเย็นด้วยพอแดดร่มลมตกค่ะ แต่บางจุดก็ให้เวลาเดียวค่ะ(ตอนเช้า)  บริเวณหลังบ้านอ.Handyได้กรุณามามาติดตั้งULEMให้ 2 จุดก็ช่วยได้มากค่ะ ต้นไม้ในบริเวณที่อยู่ใกล้ULEMค่ะ ทำให้บรรยากาศไม่แห้งมาก สังเกตเห็นว่าต้นไม้บริเวณนั้นดูสดชื่นกว่าที่อื่นค่ะ ที่สำคัญเวลาULEMทำงานถ้าเรานั่งอยู่บริเวณนั้นก็จะเย็นชื่นใจไปด้วยค่ะ แต่น้ำจากULEMนั้นไม่เพียงพอสำหรับต้นไม้นะคะ โดยเฉพาะช่วงนี้ค่ะ ต้องให้น้ำวิธีอื่นช่วยด้วยค่ะ  น้ำจากULEMน่าจะเป็นตัวเสริมได้หรือไม่ทำในChamberหรือกระโจมเพาะชำ หรือเพาะเห็ดน่าจะดีค่ะ
    -เรื่องความมหัศจรรย์ของต้นไม้ก็เหมือนๆกับระบบในร่างกายคนนี่แหละค่ะ บางครั้งธรรมชาติก็รู้จักหาทางปรับสภาพตัวเองเพื่อความอยู่รอด มีเพื่อนคนหนึ่งเส้นเลือดหัวใจตีบหมอบอกว่าควรต้องผ่าตัดเส้นเลือดทำby passโดยจะตัดเอาเส้นเลือดที่ขามาทำอะหลั่ยค่ะ ไม่งั้นอาจตายง่าย แต่เจ้าตัวไม่อยากผ่าตัดเพราะกลัว ช่วงรอผ่าตัดก็วิ่งออกกำลังกายสม่ำเสมอ พร้อมทั้งควบคุมอาหาร ในที่สุดไม่ต้องผ่าตัดเพราะมีเส้นเลือดใหม่เกิดขึ้นเองเป็นเส้นใหม่by passไปเรียบร้อยแล้ว ก็เลยไม่ต้องผ่าตัดค่ะ  นี่เป็นมหัศจรรย์ของธรรมชาติค่ะ

  • #6 Logos ให้ความคิดเห็นเมื่อ 7 April 2010 เวลา 20:22
    KM ครับ แค่ไหนก็แค่นั้น

แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 0.11803698539734 sec
Sidebar: 0.12800717353821 sec