แผนที่สถานการณ์ (ครั้งที่เท่าไหร่ก็ไม่รู้)

โดย Logos เมื่อ 21 April 2011 เวลา 0:48 ในหมวดหมู่ สังคม ชุมชน ครอบครัว #
อ่าน: 4846

คนเราพอแก่ตัวเข้า บางทีก็ย้ำคิดย้ำทำ คือลืมว่าคิดแล้วลืมว่าทำแล้ว ซึ่งการลืมนี่…พูดยากครับ ถ้าจำได้ก็ไม่ลืมน่ะซิ

แผนที่สถานการณ์ เป็นสิ่งจำเป็นที่สุดในการประเมินความช่วยเหลือ ประเมินความเสียหาย วางแผนโลจิสติกส์ ฯลฯ แต่ก็พูดไปเถอะ จนปัจจุบันก็ยังไม่มีครับ ผ่านอุทกภัยครึ่งประเทศเมื่อปีที่แล้ว ภัยการสู้รบตามเขตชายแดน ภัยหนาว ภัยแล้ง แล้วก็อุทกภัยทางใต้รอบใหม่ (ผู้มีอำนาจคงลืมไป ว่าไม่เคยสั่งให้ทำ — ทหารจะเข้าใจว่าแผนที่ยุทธการสำคัญอย่างไร แต่ทหารทำไม่ได้ ถ้าไม่มีคำสั่ง)

ในเมื่อสิ่งที่จำเป็นต้องมี ดันไม่มี ดังนั้นก็พยายามต้องทำเองครับ ภาคประชาชน(บางส่วน)นั้น ไม่ได้ทำอะไรชุ่ยๆ ไม่ใช่ว่ารับบริจาคมา แล้วร้อนรนจัดซื้อจัดหาส่งไปช่วยผู้ประสบภัย เอาจำนวนมาเบิ้ลกัน ส่งของไปแล้วตรงกับความต้องการหรือเปล่าก็ไม่รู้ มากเกินไปหรือน้อยเกินไปหรือเปล่า ช่วยคนที่เดือดร้อนจริงหรือเปล่า ฯลฯ ข้อมูลพวกนี้ จำเป็นต้องมีการประสานกันครับ เนื่องจากอาสาสมัครแต่ละหน่วย มีความรู้ความชำนาญและประสบการณ์ที่แตกต่างกัน การประสานงานที่ดีที่สุด คือเอาความจริงจากพื้นที่มาตีแผ่ เพื่อให้แต่ละหน่วยเข้าช่วยในเรื่องที่ตนทำได้ดี ซึ่งแผนที่สถานการณ์จะเป็นตัวประสานที่ดีที่สุด แต่ก็ยังไม่มีการทำกัน

แผนที่สถานการณ์ มีลักษณะเป็นแผนที่เชิงภูมิสารสนเทศ เช่นในกรณีน้ำท่วม เราก็ต้องรู้ว่าพื้นที่ไหนถูกตัดขาด มีคนอยู่ตรงนั้นเท่าไหร่ จะได้วางแผนเรื่องน้ำและอาหารได้ถูกต้อง ที่พักสำหรับผู้ประสบภัยจะทำอย่างไร ถนนหนทางที่จะนำความช่วยเหลือเข้าไปถูกตัดขาดหรือไม่ จะต้องซ่อมอะไรก่อนหลัง ทางน้ำอยู่ไหน อย่างกรณีวาตภัย อะไรเสียหาย ที่ไหนต้องการอะไร มีคนเดือดร้อนเท่าไหร่ หรืออย่างภัยแล้ง ชาวบ้านที่ต้องการน้ำอยู่กันตรงไหนบ้าง ไร่นาเสียหายเท่าไหร่ ฯลฯ

การทำแผนที่ออกมาหนึ่งฉบับ จะใช้ได้ไม่นานเพราะสถานการณ์ของภัยนั้น แทบจะเปลี่ยนแปลงรายวัน จึงต้องมีการสำรวจซ้ำ ใช้แบบสองถามแบบงานวิจัยตามแบบแผนนั้น ไม่ได้พลวัตของภัยพิบัติครับ

ในเมื่อรัฐยังเฉยๆ แต่แผนที่อย่างนี้มีความจำเป็น ก็ต้องหามาใช้นะครับ [ภาพมุมสูง: วิธีสร้างและวิธีใช้] เรื่องรัฐเฉยๆ นี้ ถ้าเข้าใจระบบราชการ แม้จะไม่ถูกใจก็ตาม แต่ก็จะพอเข้าใจได้ว่าทำไมจึงเฉยๆ นะครับ ไม่มีประโยชน์ที่จะบ่นหรือทำไม่เป็นเรื่องให้มันเป็นประเด็นขึ้นมา (เพราะถึงอย่างไรมันก็ไม่เป็นเรื่องอยู่แล้ว)

ความคิดเรื่องการได้มาของภาพมุมสูงสำหรับทำแผนที่สถานการณ์นั้น ผมไม่ได้เขียนทุกเรื่องในเวลาเดียวกัน แต่ถ้าตามอ่านมานาน (แล้วไม่ลืม) อาจจะเห็นว่ามีตั้งแต่ว่าว บันลูน Quad rotor เครื่องบินบังคับวิทยุ UAV ปีกบินโฟม

วันนี้ไปหาอีกไอเดียหนึ่งคือร่มบินครับ สภาพของพื้นที่ประสบภัยแต่ละพื้นที่ ไม่เหมือนกัน ดังนั้นการถ่ายภาพมุมสูง ก็ไม่น่าจะมีวิธีการที่ครอบจักรวาล/วิธีเดียวใช้ได้ทุกสถานการณ์ ถ้าเป็นน้ำท่วมในที่ราบกว้างใหญ่หรือบินสำรวจการกระจายตัวของประชากร ใช้เครื่องบิน/ปีกบินคงเหมาะกว่า แต่ถ้าต้องบินช้าๆ ในพื้นที่ที่มีภูเขาและลมแรง

ที่เล็งไว้เป็นลำใหญ่ดังรูปทางขวาครับ ใบพัด 16 หรือ 17 นิ้ว ใช้เครื่องเบนซิน บรรทุกน้ำมันสักครึ่งหรือหนึ่งลิตร น้ำหนักบรรทุกประมาณ 1 กก. ร่มบินนี้ จะช้ากว่าเครื่องบินมาก อาจจะได้สัก 20-30 กม./ชม. แต่ถ้าบรรทุกน้ำมันไปสักลิตร อาจจะบินได้ประมาณชั่วโมงหนึ่ง ซึ่งคงเก็บข้อมูลของพื้นที่ประสบภัยได้เยอะเลย… การควบคุมก็ง่ายมาก มีคันเร่ง กับการเลี้ยวซ้ายขวา (2CH)

บรรดาเครื่องยนต์ไฟฟ้า มีเวลาบินไม่นาน (น้อยกว่า 15 นาที) ถึงความเร็วจะสูงกว่าร่มบินก็ตามที จะเหมาะกับการส่งไปเก็บข้อมูลที่รู้ตำแหน่งแล้วเพิ่มเติม ไปแล้วรีบกลับ พอกลับมาแล้ว ต้องเปลี่ยนแบตจึงจะขึ้นไปบินใหม่ได้ แบตสำรองก็ต้องชาร์ตเต็มล่วงหน้ามาจากที่พัก(ซึ่งมีไฟฟ้า)… แต่ถ้าเป็นเครื่องยนต์เบนซิน พอลงมาเติมน้ำมันแล้ว กลับขึ้นไปบินอีกได้เลยครับ

แต่หลักการทั้งหมดคือ ไม่เอาหรูครับ เอาแบบซ่อมแซมได้ในพื้นที่หากแตกตักเสียหาย

« « Prev : ตายน้ำตื้น (ปะการัง)

Next : วันเวลาไม่คอยใคร » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

2 ความคิดเห็น

  • #1 จอมป่วน ให้ความคิดเห็นเมื่อ 21 April 2011 เวลา 1:02

    เวลามีสถานการณ์เกิดขึ้นมักตามมาด้วยสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการสำรวจ
    คงต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของอาสาสมัครที่จะช่วยสำรวจด้วยนะครับ  อิอิ

  • #2 Logos ให้ความคิดเห็นเมื่อ 21 April 2011 เวลา 1:12
    ขอบคุณครับ

    ถึงความปลอดภัยของชาวบ้านจะสำคัญ แต่ความปลอดภัยของคนที่เข้าไปช่วยสำคัญกว่าครับ เพราะถ้าคนช่วยเจ๊งไป ก็ไม่มีคนช่วยผู้ประสบภัยอยู่ดี; ถ้าอากาศไม่ดี ขึ้นบินไม่ได้ ก็ไม่บินครับ … เมื่ออากาศไม่ดี ภาพมุมสูงก็ไม่มีเป็นธรรมดาครับ

    น้ำท่วมเมื่อปลายปีที่แล้ว มีบ้านพังมากมาย เรือจมไปเป็นอ่าวๆ เลย แถวนราธิวาส/ปัตตานี ปัจจุบันนี้ผ่านไปสี่ห้าเดือนก็ยังไม่ได้ซ่อม จะเรียกว่าอะไรดีครับ ตกสำรวจ? พลั้งเผลอ? ลืม? ไม่รู้? หรือนึกว่าเสร็จแล้ว?

    ไม่ว่าจะเรียกว่าอะไร การวางแผนโดยไม่มีข้อมูลที่แท้จริง จะไม่นำไปสู่การตัดสินใจที่ดีหรอกครับ


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 0.21866011619568 sec
Sidebar: 0.14846587181091 sec