อนุสนธิจากแผ่นดินไหวในเฮติ
ผมเจตนาไม่เขียนเรื่องนี้ในขณะที่เกิดเหตุการณ์สดๆ ร้อนๆ คืออยากเทียบความคิดกับสถานการณ์จริงที่เกิดขึ้น ว่าห่างไกลกันแค่ไหนครับ
สถานการณ์คือ เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2553 เวลา 04:53:10 ตามเวลาประเทศไทย มีแผ่นดินไหวขนาด M7 ห่างจากเมือง Port-au-Prince (ในประเทศเฮติ) 23 กม. เป็นแผ่นดินไหวบนบกที่อยู่ตื้น จึงเกิดความเสียหายกับบ้านเรือนมาก โครงสร้างพื้นฐานถูกทำลายเป็นส่วนใหญ่ ระบบโทรคมนาคมไม่เหลือ (ยกเว้นยิงตรงผ่านดาวเทียม) เฮติตั้งอยู่บนรอยแยกพอดี จึงมีความเสี่ยงนี้เป็นธรรมชาติ บ้านเรือนไม่ค่อยมีตึกสูง ถึงเป็นตึกเตี้ย ก็ถล่มลงเป็นจำนวนมาก
จนถึงขณะที่เขียนนี้ ผ่านไปแล้ว 10 วัน โครงสร้างพื้นฐานยังไม่กลับมา
- สนามบินในพื้นที่รองรับเครื่องบินได้วันละร้อยเที่ยว ในขณะที่มีความช่วยเหลือต้องการส่งเข้าไปกว่าพันเที่ยว การแก้ไข: เปิดสนามบินสำรองห่างออกไป 40 กม แล้วขอใช้สนามบินอีกสองแห่งในโดมินิกัน (ประเทศติดกัน)
- ท่าเรือซึ่งเป็นทางผ่านของความช่วยเหลือล็อตใหญ่และน้ำมัน ทหารอเมริกันเพิ่งซ่อมเสร็จ คาดว่าคงอีกวันสองวันกว่าเรือจะเดินทางเข้าไปเทียบได้
- ไฟฟ้า: หายไปชั่วขณะ
- โทรศัพท์: ยังไม่มี ยกเว้นโทรศัพท์ผ่านดาวเทียม
- อินเทอร์เน็ต: ไม่มี ถ้ามี วิดีโอข่าวจะเร็วกว่านี้
- โรงพยาบาล: ถูกทำลาย ไม่น่าจะมีไฟฟ้า ผู้บาดเจ็บล้มตายมาก โรงพยาบาลสนามมีจำนวนไม่พอ
- อาหาร: ไม่พอ น้ำสะอาดไม่พอ
- เงิน: ไม่มี ถึงมีก็ไม่มีความหมาย
- ที่พัก: ไม่มี ที่พักชั่วคราวมีจำนวนไม่พอ
- เศรษฐกิจ: ย่อยยับ
อย่างนี้จึงเรียกวิกฤต เป็นสถานการณ์ซึ่งชีวิตไม่สามารถดำเนินต่อไปได้อย่างปกติ เงินไม่มีความหมาย ถึงมีเงินก็ไม่รู้จะเอาไปซื้ออะไร ธุรกิจบริการหยุดหมด การซื้อขายสินค้าเจอปัญหาเรื่องการขนส่ง-เดินทาง อาหารเข้าสู่พื้นที่ประสบภัยไม่ได้ ติดต่อสื่อสารไม่ได้ ตามหาครอบครัวและญาติไม่ได้ เต็มไปด้วยความโกลาหล
นี่เป็นสเกลของภัยพิบัติขนาดใหญ่ ซึ่งต่อให้เตรียมพร้อมอย่างไร ก็ยากที่จะรับมือได้ดี แต่นั่นไม่ใช่เหตุผลที่จะละเลยการเตรียมพร้อม