พลังงานจากดวงอาทิตย์ (3)

2 ความคิดเห็น โดย Logos เมื่อ 19 August 2009 เวลา 0:41 ในหมวดหมู่ พลังงาน #
อ่าน: 4737

ในตอนที่แล้ว ออกไปในเชิงทฤษฎีซะเยอะเลย แต่ก็มีความจำเป็น คือว่าก่อนจะทำอะไร ก็ควรจะประเมินก่อนว่าทำแล้วได้อะไร

ปริมาณพลังงานจากดวงอาทิตย์ที่ตกกระทบผิวโลก มีค่าเฉลี่ยประมาณ 200 W/m2 ถ้าอยากได้พลังงานมากๆ ก็ต้องใช้พื้นที่มากขึ้น เมื่อรวมรวมพลังงานที่ตกกระทบพื้นแล้วหักเหแสงไปรวมกันที่ solar collector แล้ว ก็เปลี่ยนพลังงานแสง/ความร้อน เป็นพลังงานในรูปแบบอื่นเพื่อนำไปใช้ต่อไป

ปัญหาในขั้นที่สอง ก็อยู่ตรงนี้ล่ะครับ เมื่อมีการเปลี่ยนรูปพลังงาน ก็จะเกิดความสูญเสียเสมอ; พลังงานที่ตกกระทบกระจก สะท้อนออกไปไม่ได้ 100%; เมื่อนำแสงไปรวมกันที่ solar collector ก็จะมีความสูญเสียอีก

ห้องปฏิบัติการแห่งชาติแซนเดีย ของสหรัฐ ได้ทำการทดลอง Heliostat (หอรับแสงจากกระจกสะท้อนแสง) ในโครงการ National Solar Thermal Test Facility (NSTTF) พื้นที่รับแสงประมาณ 8 เอเคอร์ (32,328 ตารางเมตร หรือ 20 ไร่) รวมรวมแสงสะท้อนได้ 5 ล้านวัตต์ สร้างอุณหภูมิได้ 4000°F (2200°C) แต่นำความร้อนจากการรวมแสงนี้ไปเปลี่ยนเป็นไฟฟ้าได้ 1.5 ล้านวัตต์ (ประสิทธิภาพ 30%)

ประสิทธิภาพนี้ดูต่ำ เพราะ NSTTF ใช้สารละลายเกลืออิ่มตัว เป็นตัวพาความร้อนจาก solar collector ไปเก็บไว้ แล้วนำความร้อนไปปั่นไฟอีกต่อหนึ่ง เนื่องจากเป็นกระบวนการหลายทอด จึงมีความสูญเสียความร้อนเกิดขึ้น แต่มีข้อดีคือสามารถปั่นไฟในช่วงที่ดวงอาทิตย์ตกไปแล้ว ซึ่งมีความต้องการพลังงานไฟฟ้าสูงกว่ากลางวัน


พลังงานจากดวงอาทิตย์​ (2)

1 ความคิดเห็น โดย Logos เมื่อ 18 August 2009 เวลา 1:45 ในหมวดหมู่ พลังงาน #
อ่าน: 4483

โดยเฉลี่ย ดวงอาทิตย์ให้พลังงานกับโลกด้วย solar radiation ประมาณ 1366 วัตต์ต่อตารางเมตร ตัวเลข 1366 W/m2 นี้ เป็นค่าคงที่ (ค่าการแผ่พลังงานทั้งหมดที่ดวงอาทิตย์แผ่ออกมา หารด้วยพื้นที่หน้าตัดของโลก) แต่ตัวเลขนี้เด้งและถูกดูดซับโดยบรรยากาศ เหลือที่ผ่านชั้นของบรรยากาศลงมาเรื่อยๆ ค่าเฉลี่ยเมื่อลงมาถึงผิวโลกคือ 250 W/m2 และองค์กรอุตุนิยมวิทยาโลกบอกว่าค่าต่ำสุดที่วัดได้คือ 120 W/m2

สำหรับเมืองไทย แม้จะอยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตร แต่ก็อยู่ในเขตมรสุม อาจมีเมฆหรือฝนมาบัง ใช้ค่า 200 W/m2 ก็น่าจะปลอดภัย

Curnutt Solar Furnace รูปนี้ใช้กระจกเงา 100 บาน รวมแสงได้อุณหภูมิ 1600°F (870°C) ให้กำลัง 6200 วัตต์ (ถ้าเอามาปั่นไฟฟ้าด้วยประสิทธิภาพเพียง 40% จะได้ไฟฟ้า 220V 10A)

ส่วนรูปข้างล่าง ก็เป็นโครงการ DIY อีกอันหนึ่งซึ่งใช้ ถังน้ำปิดที่อัดลมเข้าไปเพื่อส่งน้ำเข้าไปเผา รวมแสงได้อุณหภูมิ 1000°F ได้แรงดันไอน้ำเอาไปปั่นกังหัน ถ้ารวมแสงได้ความร้อนเพียงพอ ยิ่งใส่น้ำเข้าไป (ยิ่งมีแรงดันส่งเข้าไปเผาเท่าไหร่) ก็จะยิ่งได้กำลังออกมาเท่านั้น


พลังงานจากดวงอาทิตย์ (1)

6 ความคิดเห็น โดย Logos เมื่อ 17 August 2009 เวลา 0:21 ในหมวดหมู่ พลังงาน #
อ่าน: 4049

เราคุ้นเคยกับดวงอาทิตย์ตั้งแต่เกิดจนตาย โดยที่ส่วนใหญ่ไม่ได้รู้สึกเลยว่า ดวงอาทิตย์เป็นต้นทางของพลังงานแทบทุกอย่างบนโลก เช่น

  • เชื้อเพลิงฟอสซิลมาจากซากพืชซากสัตว์: สัตว์กินเนื้อ เหยื่อกินพืช พืชใช้แสงอาทิตย์มาเปลี่ยนแร่ธาตุในดินเป็นไฮโดรคาร์บอน เมื่อทับถมกันนานๆ ภายใต้ความร้อนและแรงกดดัน ก็เปลี่ยนเป็นน้ำมันดิบ -> พลังงานจากดวงอาทิตย์ เปลี่ยนแปลงพันธะทางเคมีของแร่ธาตุสร้างสารประกอบใหม่ แล้วเมื่อเราทำลายพันธะทางเคมีที่ธรรมชาติสร้างไว้ พลังงานที่สะสมอยู่ในพันธะทางเคมีเหล่านั้น ก็ปล่อยออกมา
  • ถึงเป็นพลังงานศักย์ เช่นพลังงานไฟฟ้าจากเขื่อน เขื่อนปั่นไฟจากน้ำ น้ำไหลมาจากต้นน้ำลำธาร ต้นน้ำได้น้ำมากจากฝน น้ำฝนมาจากแสงอาทิตย์เผาน้ำให้ระเหย จนกลั่นตัวตกลงมาเป็นฝน ก็กล่าวได้ว่ามาจากพลังงานจากดวงอาทิตย์เช่นกัน
  • ดวงอาทิตย์ให้พลังงานกับโลกมาสี่พันห้าร้อยล้านปี แต่ในช่วงเพียงร้อยกว่าปีที่ผ่านมา ตั้งแต่เราถลุงเอาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติมาใช้อย่างเถิดเทิง ปลดปล่อยพลังงานเคมีออกมาอย่างไม่ยั้ง แล้วจะไม่ให้โลกร้อนจนสุกได้อย่างไรครับ!

ทุกคนต้องใช้พลังงาน แต่ถ้าจะไม่ทำให้ปัญหาโลกร้อนเลวร้ายลงไปอีก ก็ควรหันไปหาพลังงานจากดวงอาทิตย์ เปลี่ยนเองพลังงานที่ดวงอาทิตย์หว่านลงมา เป็นพลังงานรูปแบบอื่นเพื่อนำไปใช้… แน่ล่ะครับ ทำไม่ได้หรอก ข้อเท็จจริงก็เป็นอย่างนี้แหละ

ในปี 2528 W.B.Stine และ R.W.Harrigan แต่งหนังสือชื่อ “Solar Energy Systems Design” (John Wiley and Sons, Inc. 1985) ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น “Power from the Sun” และในปี 2544 ก็มีเว็บไซต์ให้อ่านหนังสือเล่มนี้ได้ฟรีเกือบทั้งเล่ม คลิกอ่านได้ที่นี่ หนังสือนี้เป็นหลักการการออกแบบที่จะรับพลังงานแสงอาทิตย์แบบง่ายๆ มีโปรแกรมคำนวณความเข้มของพลังงาน ซึ่งช่วยให้ประมาณการปริมาณพลังงานที่จะรับมาได้ เป็นเว็บที่น่าสนใจครับ


คำนวณปริมาณพลังงานไฟฟ้าที่เก็บได้บนหลังคา

อ่าน: 3241
  1. คลิก Roofray
  2. เลื่อนหาลังคาบ้านของเราครับ
  3. คลิก “จุด” ที่เป็นขอบของหลังคาไปจนครบ (คลิกที่ “จุด” แรกเพื่อจบ)
  4. ลากเส้นตั้งฉากกับหลังคา

นี่คือการเข้าใจศักยภาพของตนเองครับ


ปล่องไฟแสงอาทิตย์

อ่าน: 4585

เมื่อวาน นั่งคุยกับครูบาเรื่องเทคโนโลยีง่ายๆ ที่ชาวบ้านเอาไปใช้ประโยชน์ได้เลย ครูบาเล่าถึง “บ้านโพนทราย” ซึ่ง (อย่างน้อยก็ครั้งหนึ่ง) มีสภาพเป็นทะเลทรายกลางแผ่นดินอีสาน

ผมค้นภาพถ่ายดาวเทียมดู อ.โพนทราย จ.ร้อยเอ็ด เห็นลักษณะแห้งแล้วครับ

ทำให้สงสัยจริงๆ ว่าเราปล่อยให้เกิดสภาพแห้งแล้วจนเป็นทะเลทรายขึ้นในแผ่นดินไทยได้อย่างไร แล้วจะหาประโยชน์จากสภาพอย่างนี้ได้อย่างไร ทำให้นึกไปถึง Solar Chimney ที่อาศัยหลักการที่ว่าอากาศร้อน ลอยสูงขึ้น

Solar Chimney ปล่อยให้แสงกระทบ “collector” เมื่ออากาศใต้ collector ร้อน ก็จะพยายามลอยขึ้น (แต่ติด collector เอง) เมื่อเราทำให้ collector เอียงเล็กน้อย อากาศร้อนก็จะไหลไปทางด้านที่สูงกว่า ถ้าสร้างโครงสร้างให้ด้านที่สูงมารวมกันตรงกลาง ทำให้อากาศร้อนไหลเข้ามารวมกันตรงกลาง เพื่อออกไปทางปล่อง เราก็ปั่นไฟฟ้าได้

อ่านต่อ »


เกิดอะไรขึ้นในท้องวัว

อ่าน: 9440

ฝรั่งว่าวัวตด/เรอ ปล่อยมีเทน ทำให้โลกร้อน ผมไม่อยากเถียงแทนวัวหรอกนะครับ เพราะไม่รู้ว่ายังไงกันแน่… แต่มีคำถามในใจ

สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่สาม ให้ข้อมูลไว้ว่า

วัวควายที่กินหญ้าเพียงอย่างเดียวเป็นอาหาร  สามารถดำรงชีพและให้ผลิตผลได้  ทั้งนี้เพราะวัวควาย  มีกระเพาะแบบพิเศษผิดไปจากหมู หมา เป็ด ไก่ ซึ่งเป็นสัตว์กระเพาะเดี่ยว (simple stomach) วัวควายเป็นสัตว์เคี้ยวเอื้องที่มีกระเพาะแบ่งเป็นหลายช่อง  เรียกว่า  กระเพาะรวม (compound  stomach) กระเพาะรวมนี้แบ่งได้เป็น ๔ ช่อง คือ ช่องแรก เรียกว่า กระเพาะรูเมน (rumen) หรือ กระเพาะขอบกระด้ง หรือ ผ้าขี้ริ้ว เป็นช่องที่ใหญ่ที่สุด ซึ่งเป็นกระเพาะที่ทำให้วัวควาย เป็นสัตว์ที่มีความสามารถพิเศษ เพราะในกระเพาะนี้มีจุลินทรีย์อยู่มากมายหลายชนิด  ทำหน้าที่ในการช่วยย่อยหมักหญ้า และอาหารหยาบอื่น ๆ  ให้มีคุณค่าต่อร่างกายของวัวควายได้   ถ้าวัวควายปราศจากจุลินทรีย์ในกระเพาะรูเมนนี้  จะไม่สามารถดำรงชีพด้วยหญ้าเพียงอย่างเดียวได้  ช่องที่สอง เรียกว่า กระเพาะรวงผึ้ง (honey comb หรือ reticulum)  ช่องนี้เป็นช่องที่เล็กที่สุด ช่วยในการดูดซึมน้ำและโภชนะบางอย่าง ที่ได้จากการย่อยหมักหญ้าในช่องแรก ช่องที่สาม เรียกว่า กระเพาะสามสิบกลีบ (omasum) ทำหน้าที่ในการดูดซึมน้ำจากอาหาร และช่วยลดขนาดของอาหารที่มาจากช่องที่สองให้เล็กลง และยังเป็นทางผ่านของนมจากหลอดอาหารไปกระเพาะช่องสุดท้ายขณะวัวควายยังเล็ก อยู่ด้วย ช่องสุดท้าย เรียกว่า กระเพาะธรรมดา (abomasum) เทียบได้กับกระเพาะของสัตว์กระเพาะเดี่ยว เพราะในช่องนี้จะมีการสร้างน้ำย่อยมาย่อยอาหารอย่างแท้จริง ก่อนที่จะส่งไปย่อยและดูดซึมเข้าสู่ร่างกายที่ลำไส้เล็กต่อไป

การที่วัวควายเติบโตและให้ผลิตผลได้   ด้วยการกินหญ้าเพียงอย่างเดียว เพราะมีกระเพาะรูเมนซึ่งเต็มไปด้วยจุลินทรีย์ ที่ทำหน้าที่หมักและย่อยหญ้า และอาหารหยาบอื่น ๆ จนในที่สุดให้ผลพลอยได้จากกระบวนการนั้นเกิดขึ้น  ในรูปวิตามินบางชนิด  กรดอะมิโน และกรดไขมันบางชนิด อันจำเป็นต่อร่างกายวัวควาย

ตรงนี้ต่างหาก น่าสนใจ… ในเมื่อวัวควาย ใช้จุลินทรีย์ที่มีอยู่ในธรรมชาติ ช่วยย่อยหมักหญ้าจน crack เซลลูโลสและปล่อยมีเทนออกมาได้ บางทีจุลินทรีย์นั้น น่าจะมีประโยชน์ในการเปลี่ยนหญ้า/วัชพืช ซึ่งมีอยู่มากมายในเมืองไทย ให้เป็นพลังงานได้

ฝรั่งอีกนั้นแหละ บอกว่าแบคทีเรียตัวนั้นชื่อ Moorella thermoacetica ซึ่งเปลี่ยนเซลลูโลสเป็นเอทิลอะซิเตท ซึ่งเปลี่ยนเป็นเอทานอลได้

วี๊ดวิ่ว เท่ไม่เบาแฮะ ฝรั่งเรียนรู้ แล้วหาประโยชน์; พี่ไทยรู้ไว้เพื่อสอบ สอบได้แล้วภูมิใจ แต่ทำไม่เป็น ซื้อเค้าอย่างเดียว

ทำไมไม่ลองเป็นผ้าขี้ริ้ว(ในวัว)ดูบ้างล่ะครับ


รีไซเคิลดวงอาทิตย์

อ่าน: 4374

เมื่อหลายปีก่อน มีโฆษณาของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต เรื่องโรงผลิตไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับที่เขื่อนลำตะคอง ผมชอบโฆษณานั้นมากครับ เป็นการใช้หลักคิดที่เป็นวิทยาศาสตร์มาแก้ปัญหาความต้องการไฟฟ้าสูงในช่วงหัวค่ำ แถมด้วยการสื่อสารกับประชาชนด้วยคำพูดง่ายๆ ว่า “รีไซเคิลน้ำ”

มีเอกสารจากเว็บของเทศบาลนครราชสีมาอ้างอิงได้ว่า

เขื่อนลำตะคองเป็นเขื่อนแห่งแรกที่กรมชลประทาน กระทรวงพัฒนาการแห่งชาติ(ปัจจุบันสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์) ได้วางแผน สำรวจ ออกแบบรายละเอียด ออกแบบและก่อสร้างเอง โดยไม่ได้รับความช่วยเหลือจากต่างประเทศ เริ่มก่อสร้างเขื่อนในปี พ.ศ. 2507 กั้นลำตะคองบริเวณบ้านคลองไผ่ ตำบลลาดบัวขาว อำเภอสีคิ้ว เป็นเขื่อนดินสูง 40.3 เมตร ยาว 521 เมตร เก็บกักน้ำได้ประมาณ 324 ล้านลูกบาศก์เมตร ก่อสร้างแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2512 สิ้นงบประมาณก่อสร้าง 236 ล้านบาท ใช้เป็นแหล่งเก็บกักน้ำไว้ใช้ประโยชน์ทางด้านเกษตรกรรม อุตสาหกรรม เพื่อการอุปโภค-บริโภค และเพื่อป้องกันน้ำท่วม พื้นที่ชลประทานได้รับประโยชน์จากเขื่อนลำตะคองมากกว่า 127,540 ไร่

ภายหลังต่อมาประมาณปี พ.ศ. 2538 การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยได้ดำเนินการก่อสร้างโรงงานผลิตไฟฟ้าพลังน้ำลำตะคองแบบสูบกลับบริเวณเส้นแบ่งเขตระหว่างอำเภอปากช่องและอำเภอสีคิ้ว เป็นโครงการสะสมพลังงานไฟฟ้าในช่วงที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าน้อย(Off Peak) นำมาผลิตเป็นกระแสไฟฟ้าทดแทนในช่วงที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูง(Peak Demand ) โดยการสูบน้ำจากอ่างเก็บน้ำลำตะคองของ กรมชลประทานขึ้นไปเก็บไว้ชั่วคราวที่อ่างเก็บน้ำที่สร้างขึ้นใหม่บนเขา เขื่อนลั่นและปล่อยน้ำกลับมาในอ่างเก็บน้ำลำตะคองเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าในช่วง ที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงช่วงตั้งแต่ 18.30-21.30 น. บริเวณที่เป็นโรงผลิตกระแสไฟฟ้าตั้งอยู่บนเขายายเที่ยง เขตอำเภอสีคิ้ว และได้มีการปลูกต้นไม้ทดแทนพื้นที่ป่าที่เสื่อมโทรมลงไป พร้อมกับการสร้างสวนสาธารณะขึ้นบริเวณใกล้สำนักงานโครงการริมถนนมิตรภาพ ทำให้ทัศนียภาพเหนือเขื่อนลำตะคองมีความสวยงามมากยิ่งขึ้น ทำให้ลำตะคองกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวหนึ่งของจังหวัดนครราชสีมา

บริเวณเขื่อนลำตะคองซึ่งเป็นจุดสูบน้ำ เพื่อผลิตน้ำประปาหล่อเลี้ยงประชาชนในเขตเทศบาลนครนครราชสีมา น้ำเหนือเขื่อนได้รับสารอาหารประเภทฟอสเฟต และไนเตรตที่ถูกระบายลงมาจากเทศบาลตำบลปากช่องในปริมาณสูง จากการเปรียบเทียบความเข้มข้นของปริมาณสารอาหารดังกล่าวกับแหล่งน้ำอื่นๆประมาณได้ว่า น้ำในเขื่อนลำตะคองมีปริมาณฟอสเฟตสูงกว่าลำน้ำอื่นๆมากกว่า 2 เท่า และมีปริมาณไนเตรตสูงกว่า 10เท่า ความเข้มข้นของสารอาหารทั้งสองชนิดนี้ในแหล่งน้ำมีแนวโน้มจะก่อให้เกิดการ เจริญเติบโตอย่าผิดปกติของพืชน้ำและเป็นอุปสรรคต่อการผลิตน้ำประปา

สำหรับการผลิตไฟฟ้าในช่วงกลางวัน ซึ่งมีความต้องการไฟฟ้าน้อยกว่านั้น ถ้าผลิตออกมาแล้ว เก็บไว้ไม่ได้ เอาไฟฟ้าส่วนเกินไปทยอยสูบน้ำขึ้นไปไว้ยังเขื่อนบนเขา ซึ่งปล่อยน้ำลงมาผลิตไฟฟ้าในช่วงหัวค่ำซึ่งมีความต้องการพลังงานไฟฟ้าสูงกว่า เปลี่ยนไฟฟ้าเป็นพลังงานศักย์ แล้วเอาพลังงานศักย์มาเปลี่ยนกลับเป็นพลังงานไฟฟ้า

สำหรับพลังงานแสงจากดวงอาทิตย์แล้ว อาจคิดได้แบบเดียวกัน!

ถาม: แล้วเมื่อดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้าไปแล้ว จะไปเอาแสงมาจากไหน!
ตอบ: เอาแสง/ความร้อนของดวงอาทิตย์มาใช้ตรงๆ ไม่ได้หรอกครับ แต่เปลี่ยนพลังงานแสงเป็นพลังงานอื่น แล้วเอามาแปลงกลับเป็นรูปที่ต้องการได้ — นั่นไงครับ ถึงได้เรียกว่าการ“รีไซเคิลดวงอาทิตย์”

อ่านต่อ »


น้ำมันจากต้นไม้ (2)

อ่าน: 5136

ไม่ใช่เรื่องน้ำมันพืชหรอกนะครับ หมายถึง Biofuel เป็นตอนต่อจากบันทึกน้ำมันจากต้นไม้

กระบวนการที่พูดกันมากคือการผลิตเอทานอลจากพืช เอทานอลซึ่งเป็นแอลกอฮอลอย่างหนึ่ีง สามารถนำมาผสมกับน้ำมันดีเซลทำให้ราคาถูกลงได้บ้าง

เอทานอลสามารถทำได้โดยการหมักแป้งเป็นน้ำตาล แล้วจึงเปลี่ยนน้ำตาลกลูโคสไปเป็นเอทานอล (กลูโคสเป็นน้ำตาล แต่ที่ใช้กันมากคืออ้อยหรือข้าวโพด ก็เลยเกิดเป็นประเด็นว่าเอาพืชอาหารมาทำเป็นพลังงาน แล้วทำให้อาหารมีราคาที่แพงขึ้น)

กลูโคส (C6H12O6) →หมัก→ เอทานอล (2C2H6O) + คาร์บอนไดออกไซด์ (2CO2)

หรือไม่ก็ใช้ เอทิลีนในสภาพก๊าซ (C2H4) + ไอน้ำ (H2O) → เอทานอล (CH3CH2OH) เอทิลีนปริมาณมาก มาจากอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ซึ่งเป็นทรัพยากรที่มีจำกัด และต้องนำเข้า ดังนั้นถ้าเลี่ยงได้ก็ควรจะเลี่ยง

ซึ่งสมการแรก ไม่ใช่เทคโนโลยีขั้นสูง ชาวบ้านทำเองได้ จึงน่าสนใจกว่า

แต่ก็อีกนั่นแหละครับ สมการแรกปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมา แล้วจะไปแก้ปัญหาโลกร้อนได้อย่างไร!

อ่านต่อ »


น้ำมันจากต้นไม้

อ่าน: 5763

วารสาร Technology Review ของ MIT รายงานว่าห้องปฏิบัติการแห่งชาติแปซิฟิคนอร์ธเวสต์ของสหรัฐ (PNL) ประสบความสำเร็จในการแปลงน้ำตาลฟรุคโตสหรือกลูโคส (ในพืช) ไปเป็นสารเคมีชนิดหนึ่ง ซึ่งสามารถนำไปแปลงอีกต่อหนึ่งเป็นโพลีเอสเตอร์ พลาสติก หรือแม้แต่น้ำมันไบโอดีเซล (ที่ไม่ใช่ดีเซลจากปิโตรเลียมผสมน้ำมันพืชใช้แล้ว) ด้วยการบวนการที่ง่าย และมีราคาถูก

สารเคมีดังกล่าวเรียกว่า hydroxymethylfurfural หรือ HMF ในสมการเคมีทางขวา

1 คือ fructopyranose
2 คือ fructofuranose
3,4 คือ สารประกอบในการบวนการ dehydration (ดึงเอาโมเลกุลของน้ำออก)
และ 5 คือ HMF

HMF สามารถแปลงเป็น 2,5-Dimethylfuran หรือ DMF ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงในสภาพของเหลว และในหลายๆ กรณี มีคุณสมบัติดีกว่าเอธานอล

กระบวนการ dehydration ของ PNL ใช้คาตาลิสต์ (ซึ่ง Wikipedia ว่าเป็นโครเมียมคลอไรด์ แต่ Science Direct บอกว่าเป็น SO42−/ZrO2 และ SO42−/ZrO2–Al2O3) และเป็นกระบวนการแบบขั้นตอนเดียวซึ่งง่าย และมีราคาถูก — ZrO2 คือ เซอร์โคเนียมออกไซด์

ห้องปฏิบัติการแห่งชาติ PNL มีความชำนาญในกระบวนการเคมีโดยใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติ เช่น Chemicals from Biomass

มีคำยื่นขอจดทะเบียนสิทธิบัตรสำหรับ กระบวนการนี้ ซึ่งคำอธิบายกระบวนการผลิต เริ่มต้นที่หน้า 82 — ผมไม่ได้ยุให้ลอกหรอกนะครับ การนำสารประกอบอินทรีย์มาเพิ่มมูลค่า น่าสนใจกว่ากระบวนการอุตสาหกรรมปิโตรเคมี โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่กระบวนการอันนี้ ใช้คาตาลิสต์กับความดัน ซึ่งมีความสิ้นเปลืองและมีของเสียในกระบวนการผลิตต่ำ น่าจะเป็นประเด็นที่นักวิจัยไทยควรจะให้ความสนใจ มากกว่าที่จะไปมุ่งเป็นเลิศในอะไรสักอย่าง แต่ไม่เกิดประโยชน์กับสังคมไทย


กังหันน้ำก้นหอย (5)

อ่าน: 5538

บันทึกเรื่องสูบน้ำใช้ธรรมชาติกับฟิสิกส์ซึ่งผมเขียนไว้เมื่อวันที่ 9 มี.ค. 2551 ถูก reblog ครั้งหนึ่งไปยังฟิสิกส์ราชมงคล

เมื่อศึกษาเพิ่มเติม แล้วเขียนออกมาเป็นบันทึกชุดกังหันน้ำก้นหอย [1] [2] [3] [4] และบันทึกนี้ซึ่งเป็นบันทึกสุดท้าย ผมได้รับความคิดเห็น อีเมล และ SMS ขอข้อมูล และขอเว็บไซต์ที่ไปศึกษามา และแจ้งด้วยว่าอยากร่วมทดลองสร้างต้นแบบ เนื่องจากเห็นว่าเป็นประโยชน์กับชีวิตชาวบ้าน สร้างได้ด้วยราคาถูก และชาวบ้านบำรุงรักษาได้เอง ขออนุโมทนาด้วยครับ

ผมเองไม่ค่อย bookmark อะไรไว้ เมื่อจะศึกษาอะไรก็ค้นเอาในเวลาที่สนใจ เพียงแต่ว่าเวลาค้าจะต้องหาคำสำคัญ (keyword) ให้ถูกต้อง ในกรณ๊นี้ใช้ “spiral pump” “water wheel” “hydro power” ฯลฯ

สำหรับเว็บไซต์ที่ไปเอารูปมา อยู่ที่



Main: 0.06140398979187 sec
Sidebar: 0.20452094078064 sec