คืนแม่

2 ความคิดเห็น โดย Logos เมื่อ 12 August 2010 เวลา 13:42 ในหมวดหมู่ การจัดการความรู้, สังคม ชุมชน ครอบครัว #
อ่าน: 4984

เมื่อคืนเป็นวันก่อนวันเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถทรงมีพระราชดำรัส มีความตอนหนึ่งว่า

…ระหว่างที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ประทับที่ศิริราช ทรงปฏิบัติพระราชกิจตามปกติ เช่น พระราชทานพระบรมราชวโรกาส ให้บุคคลต่างๆ เฝ้าฯ หลายครั้ง ท่านนายกรัฐมนตรีก็ได้ไปเฝ้าฯ หลายครั้งแล้ว เพื่อทรงติดตามปัญหาความทุกข์ยาก ของประชาชนทั่วประเทศ เรื่องที่ทรงห่วงมากระยะนี้ ก็เรื่องน้ำ ปัญหาเรื่องน้ำ ตั้งแต่ตอนที่ฝนทิ้งช่วง ประชาชนประสบปัญหาภัยแล้ง ต้องทรงส่งฝนหลวงไปช่วย จนถึงขณะนี้ฝนตกมาแล้ว ก็ยังทรงติดต่อตามข่าว และสถิติทุกอย่าง เพื่อเตรียมการไว้สำหรับป้องกัน หรือแก้ปัญหาต่างๆ ที่อาจจะมีมาอีก

ฝนหลวง คือ วิธีการทำให้เกิดฝน ซึ่ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงค้นและพัฒนามาตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๙๘ เพื่อช่วยประชาชนในท้องถิ่น ที่ขาดแคลนน้ำ แต่ก็ไม่ใช่ว่า จะทำฝนหลวงได้ทุกพื้นที่ ทุกเวลา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รับสั่งว่า ไม่ใช่ทำได้ง่ายๆ ทรงอธิบายว่า ต้องมีเมฆ และความชื้นในอากาศเพียงพอ จึงจะทำได้ โครงการฝนหลวง มีผลงานเป็นที่รู้จักกันดี และเป็นที่เรียกร้องของประชาชนเสมอ ในยามที่ฝนทิ้งช่วงนานๆ จนเกิดปัญหาภัยแล้ง อย่างในปีนี้ น้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั่วประเทศ มีปริมาณน้อย และลดลงอย่างรวดเร็ว ปริมาณฝนสะสมตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม ถึง ๒๘ กรกฎาคมนี้ มีน้อยกว่าปีที่แล้วถึง ๑ ใน ๔

ทางราชการได้ออกประกาศเตือน ให้ชาวนา ชาวไร่ ลดการปลูกพืชฤดูแล้ง พยายามปลูกพืช ที่ใช้น้ำน้อยแทน แต่ประชาชนก็ยังปลูกมากกว่า ที่ทางราชการวางแผนไว้ถึง ๖๐ กว่าเปอร์เซ็นต์ ส่วนมากเป็นการปลูกข้าวนาปรัง ซึ่งต้องใช้น้ำมากเสียด้วย ข้าพเจ้าก็เห็นใจ และเข้าใจชาวนา เพราะเมื่อข้าวได้ราคา และนาว่าง ก็อยากจะปลูกข้าวต่อไป แม้จะทราบว่าน้ำไม่พอ บางคนก็ยอมเสี่ยง เผื่อว่าโชคดี ฝนอาจจะมาเร็ว แต่เมื่อฝนไม่ตก ข้าวก็เหี่ยวแห้งรอวันตาย

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงติดตามเรื่องสถานการณ์น้ำ อยู่ตลอดเวลา แม้ระหว่างประทับพักฟื้นอยู่ ที่โรงพยาบาลศิริราช ก็ไม่ทรงว่างเว้นเลย เดือนมิถุนายนนี้ ทรงขอให้สำนักฝนหลวง และการบินเกษตร ตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงพิเศษ ในภาคเหนือ ๔ แห่งด้วยกัน ภาคอีสาน ๑ แห่ง ภาคกลาง ๑ แห่ง เพื่อเพิ่มน้ำให้เขื่อนใหญ่ ๕ แห่ง คือ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน จ.พิษณุโลก และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ระดับน้ำก็กระเตื้องขึ้นมา และพื้นที่แห้งแล้งภายนอกก็ลดลง

การทำฝนหลวงนี้เป็นที่สนใจ นานาชาติอย่างกว้างขวาง และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงจดสิทธิบัตรการทำฝนหลวงไว้แล้ว ใครจะใช้เทคโนโลยีฝนหลวง ต้องขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตก่อน หลายชาติมาศึกษาดูงาน ในประเทศไทย บ้างก็ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต ใช้เทคโนโลยีฝนหลวง เช่น เมื่อเร็วๆ นี้ ทางรัฐควีนส์แลนด์ ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งเป็นรัฐที่ค่อนข้างแห้งแล้งอยู่เสมอ ได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต ใช้เทคโนโลยีฝนหลวง พระองค์ท่านก็พระราชทาน แสดงให้เห็นว่า พระมหากรุณานั้นมิได้จำกัดอยู่เพียงราษฎร ในประเทศไทยเท่านั้น แต่แผ่กว้างไปถึงชาวโลกด้วย

ซึ่งข้าพเจ้าก็ภาคภูมิใจ ที่พระปรีชาสามารถของพระองค์ท่าน มีส่วนช่วยดับทุกข์ของเพื่อนมนุษย์ ในนานาประเทศ ซึ่งบางประเทศนั้น ก็มีชื่อเสียงทางเทคโนโลยีด้านอื่นๆ ยิ่งกว่าประเทศไทยด้วยซ้ำไป และจากที่บ้านเราฝนแล้งมาระยะหนึ่ง ต่อไปนี้จะมีข่าวดี ที่พึงต้องระวังไปพร้อมกัน เพราะมีแนวโน้มของสภาพอากาศว่า ตั้งแต่เดือนสิงหาคม ถึงตุลาคมปีนี้ ประเทศไทยจะมีฝนมากกว่าปกติ ข่าวดีก็คือ เราจะได้มีน้ำสำรองไว้ใช้ในปีหน้า แต่ที่ควรระวังคือ ปัญหาน้ำป่าไหลหลาก และน้ำท่วมที่จะตามมา ดังที่เราเห็นเป็นข่าวอยู่บ่อยๆ ในระยะนี้

เมื่อวันที่ ๓๐ กรกฎาคม นี้เอง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้คณะผู้บริหาร สถาบันสารสนเทศน้ำ และการเกษตร เข้าเฝ้าฯ กราบบังคมทูลรายงาน สรุปสถานการณ์น้ำ ได้รับสั่งให้ย้ำทุกหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องเรื่องน้ำทั่วประเทศ ให้ช่วยกันวางแผน เพื่อรับมือปัญหาน้ำที่ขาดแคลน เป็นประจำทุกฤดูแล้ง และจะขาดแคลนมากขึ้น ในอนาคต โดยให้คำนึงถึงการประสานประโยชน์ ไม่เน้นด้านใดด้านหนึ่งมากเกินไป

อ่านต่อ »



Main: 0.54942893981934 sec
Sidebar: 0.59739398956299 sec