แนวคิดเกี่ยวกับภัยพิบัติและการจัดการ
อ่าน: 5111แน่นอนว่าไม่มีใครที่อยากให้เกิดภัยพิบัติขึ้น เมื่อเกิดขึ้นคราใด ก็จะมีความเสียหายอย่างหนักเกิดขึ้นในทันที แต่ส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่าภัยพิบัติไม่ได้เกิดขึ้นบ่อย บางทีก็ทำให้เราประมาท คิดไปว่าพื้นที่ที่อาศัยอยู่มีความปลอดภัย จึงไม่ได้เตรียมทางหนีทีไล่ไว้
ภัยธรรมชาติเกิดขึ้นเป็นวงกว้าง เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ในที่สุดแล้ว ทั้งรัฐและเอกชนจะเข้ามาช่วยเหลือ แต่ปัญหาคือผู้ประสบภัยจะต้องอยู่ให้ได้ก่อนที่ความช่วยเหลือจะเข้ามาถึง
ยังมีภัยอื่นๆ ซึ่งแม้ไม่สร้างความเสียหายร้ายแรงหรือเป็นวงกว้างเท่าภัยธรรมชาติขนาดใหญ่ เช่นสึนามิ ไต้ฝุ่น แผ่นดินไหวรุนแรง แต่ก็สร้างความเสียหายจนชีวิตไม่สามารถดำเนินต่อไปได้อย่างปกติ เช่นภัยแล้ง น้ำท่วม ดินถล่ม ลมกรรโชก พายุ โรคพืช การจราจรติดขัด ไฟฟ้าดับ น้ำประปาไม่ไหล ฯลฯ ภัยต่างๆ เหล่านี้ แม้จะไม่เสียหายร้ายแรงเท่าภัยพิบัติขนาดใหญ่ แต่ก็เกิดขึ้นบ่อยกว่ามาก และมีผลกระทบต่อชีวิตของผู้คนในพื้นที่โดยตรง
โดยเหตุที่พื้นที่กว่าสามร้อยล้านไร่ของแผ่นดินไทย มีความแตกต่างกันมาก อีกทั้งภัยต่างๆ ไม่สามารถทำนายล่วงหน้าได้ (อาจจะยกเว้นเส้นทางพายุ ซึ่งก็ไม่สามารถรู้ได้แน่ชัดว่าจะรุนแรงขนาดไหน) การเตรียมพร้อมจากส่วนกลาง จึงไม่สามารถที่จะป้องกัน แก้ไข บรรเทาความทุกข์ยากที่เกิดขึ้นได้ทัน
ดังนั้นชุมชนคนในแต่ละพื้นที่ จึงต้องเข้าใจความเสี่ยงภัยของตน เพราะความเสี่ยงในแต่ละพื้นที่ไม่เหมือนกัน จะใช้การเตรียมการ หรือการจัดการความเสี่ยงแบบเดียวกันไปหมดไม่ได้