ความเท่าเทียมในการเข้าถึงข้อมูล
เมื่อคืนฟังอดีตนายกฯ อานันท์ ปันยารชุน พูดถึงปัญหาความยากจน ว่าเป็นรากเหง้าของปัญหาต่างๆ มากมาย มีความบางตอนที่กรุงเทพธุรกิจสรุปมาว่า
ผมอยากจะเลิกพูดเรื่อง โรดแมพ 5 ข้อ เพราะอยู่บนโต๊ะแล้ว ต้องถามว่าปัญหาคืออะไร การเมือง หรือสังคม ถามว่าปัญหาอยู่ที่ไหน ผมว่ารากเหง้าของปัญหาอยู่ที่ความยากจน ที่พูดๆ กันเป็นปัญหาปลายเหตุ ปัญหาใหญ่คือความยากจน หากทำให้ความยากจนลดลงไป ถ้าปลดเปลื้องหนี้สิน ชีวิตก็จะดีขึ้น
คนยากจนคือ จนรายได้ หาเช้ากินค่ำ พวกไม่มีงานทำ ทุพพลภาพ พวกมีงานทำ แต่อยู่นอกระบบประกันสังคม นอกระบบประกันสุขภาพ แต่บางคนมีงานทำ อาจจะเป็นคนจนได้ พวกจนโอกาส หมายความว่า เกิดมาในครอบครัวที่มีรายได้ไม่ดี ไม่สามารถไปหาหมอ เข้าถึงถึงระบบพยาบาล ขาดโอกาสเข้าถึงระบบการศึกษาที่ดี บางคนเรียนดีแต่ไม่มีเงินเรียนมัธยม หรือมหาวิทยาลัย
อีกพวกหนึ่งคือจนสิทธิ เช่น สิทธิมนุษยชน รัฐธรรมนูญเขียนไว้สวย แต่เขาเข้าไม่ถึง หรือระบบยุติธรรม และเป็นธรรม เขาขาดสิ่งเหล่านี้ อาจไม่มีความยุติธรรมในกฎหมายบางเรื่อง ความเสมอภาคในการบังคับใช้กฎหมาย กฎหมายฉบับเดียวกันคุณกับผมต้องได้รับการปฏิบัติที่เท่าเทียมกัน และมันก็มีเรื่องคอร์รัปชันตามมาด้วย
ปัญหาคนจนที่ผ่านมา เป็นการให้ทานมากกว่า คนไทยใจดี ขนาดเศรษฐกิจไม่ดียังให้วัด ให้โรงพยาบาล ซึ่งก็ไม่ผิด ดีด้วย แต่ต้องช่วยเสริมสร้างให้เขาดำรงชีวิตได้อย่างมีศักดิ์ศรี เขาเป็นมนุษย์แล้วเขามีสิทธิอะไรบ้าง
การแก้ไขปัญหายากจน ประเทศอื่นเขาผ่านมาแล้ว ของเราค่อนข้างลำบาก ใจผมอยากเห็นภาคประชาชนเป็นผู้ชี้นำรัฐบาล ผมไม่อยากเห็นการพึ่งรัฐบาลอย่างเดียว เวลาคนพูดอยากให้ปฏิรูปประเทศไทย ผมฟังแล้วผมยิ้ม ผมยิ้มด้วย 2 เหตุผล คือ ผมได้ยินมาตั้งแต่เด็ก แต่ก็ทำไม่สำเร็จสักที อันที่สองคือ ปฏิรูปอะไร ปฏิรูปเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา สาธารณสุข สื่อ เอาเวลาจากไหนมา ในเมื่อขณะนี้เป็นปัญหาเฉพาะหน้า อยากทำทำไปไม่ได้ขัดข้อง ดี แต่ต้องมองว่าปัญหาไหนสำคัญกว่า ระยะยาว กลาง สั้น และใครเป็นคนทำ
แก้ปัญหาก็ต้องมองที่สาเหตุ จะแก้ให้เป็นอะไรก็ร่วมกันกำหนดที่เป้าหมาย นักบริหารก็จะมองอย่างนี้ล่ะนะครับ; ส่วนการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้านั้น ไม่ได้แก้อะไรที่สาเหตุเลย เป็นเพียงแต่เลื่อนปัญหาไปไว้ในอนาคตเท่านั้น