ภาษีจากการซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์
ตลาดหลักทรัพย์ และตลาดรองต่างๆ เป็นตลาดทุนของประเทศ — กิจการตลาดหลักทรัพย์มีมาตั้งแต่ปี 2496 มีการรวมตลาดหลักทรัพย์(เอกชน)ต่างๆ เป็นตลาดเดียวในปี 2505 และจัดตั้งเป็นตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ตาม พรบ.ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในปี 2517 [อ้างอิง]
รัฐบาลที่ผ่านมา เห็นว่าตลาดทุนมีความสำคัญต่อการระดมและบริหารจัดการเงินทุน จึงยกเว้นภาษีเงินได้จากกำไรที่เกิดจากการซื้อขายหลักทรัพย์ เฉพาะที่เกิดขึ้นในตลท. แม้จะมีผลทางด้านบวกจริง แต่การยกเว้นภาษีเงินได้จากกำไรนี้ ทำให้ ตลท.เป็นเครื่องมือที่ใช้ปั่นกำไรมหาศาลตลอดสามสิบกว่าปีที่ผ่านมา แม้ว่าในปี 2535 จะมีการจัดตั้งคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) เพื่อดูแลตลาดทุนทั้งระบบ ซึ่งการกำกับด้วยกฎระเบียบได้สร้างภาระมากมายต่อบริษัทจดทะเบียน และการดูแลก็ทำได้เพียงลักษณะ reactive คือให้เหตุการณ์เกิดขึ้นก่อนแล้วจึงสอบสวนลงโทษ
ผู้ลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ มีความอ่อนไหวต่อข่าวและกระแสเป็นอย่างมาก รายการวิเคราะห์หุ้นต่างๆ ใช้เครื่องมือทางเทคนิคกันเป็นหลัก ทำให้การลงทุนในตลาดทุนกลายเป็นการเก็งกำไรไปซะมาก; ผมเคยเป็นผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนครับ เมื่อหุ้นของบริษัทเข้าซื้อขายใน ตลท. มีหุ้นที่ไม่ติด silent period และสามารถซื้อขายในตลท.ได้ 110 ล้านหุ้น แต่วันแรกที่ทำการซื้อขายในเดือน พ.ย.2544 ปรากฏว่ามีหุ้นของบริษัทซื้อขายในตลท. 318 ล้านหุ้น โดยเฉลี่ยแสดงว่าทุกหุ้นที่มีอยู่ในตลาดในขณะนั้น ซื้อขายกันเกือบสามรอบ ซื้อเช้า-ขายสาย-ซื้อก่อนเที่ยง-ขายตอนเปิดตลาดช่วงบ่าย-ซื้ออีกตอนบ่ายแก่ๆ-ขายก่อนกลับบ้าน อะไรจะขนาดนั้น!
ปรากฏการณ์ลักษณะนี้ ชี้ให้เห็นว่า “ผู้ลงทุน” ใน ตลท. ต้องการกำไรระยะสั้น ซึ่งไม่น่าจะตรงกับคำว่าการลงทุนครับ ผมไม่คิดว่าควรจะห้ามซื้อขายหุ้นเร็ว แต่ถ้าจะอาศัยเครื่องมือพัฒนาตลาดทุน ก็ควรใช้ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ ถ้าจะถือสั้น ก็น่าจะแบกต้นทุนเพิ่มบ้างครับ