ถอดบทเรียนการทำหนังสือ โมเดลบุรีรัมย์

อ่าน: 10589

เมื่อวาน ส่งต้นฉบับไปโรงพิมพ์และสั่งพิมพ์แล้ว ก็เป็นอันว่ากระบวนการทำหนังสือโมเดลบุรีรัมย์เล่มนี้ จบลงเพราะทำอะไรอีกไม่ได้แล้ว

หนังสือเล่มนี้เป็นเล่มที่ 4 ที่ผมทำทั้งกระบวนการ เขียน-เลือก-รวบรวม-ทำปก-จัดรูปเล่ม-แต่งรูปประกอบ-เรียงพิมพ์-ตรวจ-แก้-ส่งโรงพิมพ์ หนังสือคงจะพิมพ์เสร็จและจัดโดยส่งมาที่ VBAC ได้ในวันที่ 3 ก.ค. หนึ่งวันก่อนการเปิดตัวในงานอะไรสักอย่างของสภาการศึกษา ที่ทำเนียบรัฐบาล

เพื่อให้เข้าใจกระบวนการทำหนังสือแบบของผมเอง ดูได้จากบันทึกเก่าครับ — ควรอ่านทั้งสองบันทึกก่อนอ่านบันทึกนี้ต่อไป

อันนี้แถม

ที่จริงเมื่อวานซืน ไปส่งต้นฉบับที่โรงพิมพ์มาแล้วครั้งหนึ่ง แต่ว่าเนื่องจากก่อนไปส่ง มีการแก้ไขที่ฉุกละหุกมาก แล้วมีจำนวนสั่งพิมพ์ที่มากพอสมควร ผมจึงไม่แน่ใจว่าต้นฉบับนั้นจะมีคุณภาพที่จะพิมพ์ได้ แม้ว่าเวลาจะกระชั้นชิดมาก แต่ก็นัดแนะกับโรงพิมพ์ว่าวานนี้ จะต้องขอตรวจปรู๊ฟก่อน แม้จะเสียเวลา โรงพิมพ์พูดไม่ออก ซึ่งเราก็เข้าใจว่าเวลาไม่มีแล้ว

ดังนั้นเมื่อกลับมาบ้านเมื่อวานซืน จึงลงมือตรวจต้นฉบับอีกครั้งหนึ่งร่วมกับคณะบรรณาธิการ คือครูปู หมอเบิร์ด และฝน ถ้าตรวจแก้ได้เมื่อคืนทั้งหมด เช้าขึ้น เอาต้นฉบับอันใหม่ไปให้โรงพิมพ์แล้วสั่งพิมพ์เลย จะประหยัดเวลาได้มากกว่าไปตรวจปรู๊ฟที่โรงพิมพ์แล้วแก้ไข

ในการตรวจแก้ขั้นสุดท้าย มีรายการส่งมาแก้ไขตลอดช่วงค่ำ แต่เวลาสำคัญคือตั้งแต่ช่วงห้าทุ่มจนแปดโมงเช้า ผมมีโอกาสอีกรอบหนึ่งที่ได้แก้ไขเรื่องการแบ่งคำทางขอบขวาของหน้า และการจัดรูปประโยคใหม่ทั้งเล่ม โปรแกรมเรียงพิมพ์ตัดคำได้ดีครับ แต่ตัดประโยคไม่ดี ต้องมาไล่ปรับเองทั้งเล่ม

ผมตรวจแก้มาทั้งคืน คิดว่าโอเคแล้ว แปดโมงเช้าจึงเตรียมดิสก์เพื่อส่งโรงพิมพ์ เจอรายการแก้ไขหมอเบิร์ดสุดละเอียดอีก ก็เลยแก้อีกครับ

แก้ไปจน 9 โมง มีความเห็นร่วมกันว่าพอแล้ว ต้องเตรียมดิสก์ไปส่งโรงพิมพ์แล้ว ถ้าทำจนสมบูรณ์แบบ จะเป็นการผิดปกติ ความสมบูรณ์แบบไม่มีประโยชน์อะไรเลยถ้าส่งงานไม่ได้ แต่เชื่อว่าด้วยความทุ่มเทของคณะบรรณาธิการที่ทำอย่างเต็มที ทำให้หนังสือนี้ มีคุณภาพดีเกินพอที่จะตีพิมพ์แล้ว

ผมได้อ่านหนังสือนี้หลายรอบมากๆ ชอบทั้งเนื้อหา ชอบทั้งความไหลลื่นของเรื่อง (คนเรียงเรื่องเก่ง) ชอบรูปประกอบ (คนถ่ายรูปเก่ง และคนเลือกรูปมาใช้เก่งมาก) อ่านไปทุกรอบ สะดุดใจประเด็นความรู้ใหม่ทุกรอบ

อ่านต่อ »


จะเอาผลแต่รดน้ำเฉพาะกิ่ง

ไม่มีความคิดเห็น โดย Logos เมื่อ 12 June 2012 เวลา 17:31 ในหมวดหมู่ เทคโนโลยีชาวบ้าน #
อ่าน: 4650

มีคนบ่นว่าบ้านเราดีแต่ขายแรงงานราคาถูก ไม่สามารถสร้างผลิตภัณฑ์ที่ขายในระดับนานาชาติได้เอง ค่าใช้จ่ายในการวิจัยและพัฒนาคิดเป็นระดับ 0.3% ของจีดีพี ซึ่งต่ำต้อยด้อยพัฒนาซะเหลือเกิน ประเทศที่พัฒนาแล้วมีตัวเลขนี้สูงกว่าเราสักสิบเท่า จึงหนีไม่รอดที่จะนำเข้าการออกแบบ นำเข้าวัตถุดิบมาผสมกับแรงงานราคาถูก แล้วขายออกไปสู่ตลาดโลกในราคาถูก กำไรที่เกิดขึ้น บริษัทข้ามชาติก็นำกลับไปหมด เหลือเป็นเพียงค่าแรงและเศษภาษีถูกๆ ให้กับคนไทย (เผลอๆ ได้ BOI ไม่เสียภาษีอีกด้วยซ้ำไป)

แต่วันนี้ค่าแรงของเราไม่ได้ถูกอีกต่อไปแล้ว ทั้งสังคมไม่ได้ขวนขวายที่จะพยายามทำอะไรด้วยตัวเอง ติดแหงกอยู่กับความสะดวกสบาย เคยมีอดีตที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีให้ความเห็นไว้ว่าซื้อเอาง่ายกว่า คุ้มกว่าทำเอง (ซึ่งถูกต้องเมื่อมองเฉพาะเรื่องราคา แต่ไม่ถูกเมื่อมองเรื่องความยั่งยืน) การศึกษาถูกบังคับด้วยหลักสูตรและ “มาตรฐานการศึกษา” ซึ่งรับประกันว่าเป็นความรู้แห้งๆ ทำอะไรไม่เป็น เด็กส่วนหนึ่งจะเข้ามหาวิทยาลัยและเรียนต่อไปได้ ซึ่งเป็นการเลื่อนเวลาการตกงานออกไปในอนาคต

เหมือนกับที่จั่วหัวเรื่องไว้ ผมคิดว่าอาการอย่างนี้ เป็นเหมือนความต้องการที่จะเอาผล แต่ไปรดน้ำเฉพาะตรงกิ่ง แทนที่จะบำรุงทั้งต้นโดยเริ่มตั้งแต่ราก ไม่ว่าจะปฏิรูปการศึกษามากี่หน ก็ไม่เคยคิดว่าบางทีปัญหาจะอยู่ที่ตัวคนปฏิรูปเอง ปฏิรูปไปกี่ครั้งก็เหมือนเดิม เช่นเดียวกับการทำรัฐประหาร และการเลือกตั้ง

อ่านต่อ »


บ่อปลาและแปลงผักในป่าคอนกรีต

อ่าน: 6956

หลายปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจไม่ดีทั่วโลก บ้านเรารับข่าวสารแต่มักจะไม่เข้าใจเนื้อแท้ของข่าวว่ามีอะไรซ่อนอยู่บ้าง

เศรฐกิจโลกไม่ดีมาหลายปีแล้วครับ อัตราคนว่างงานในสหรัฐไม่ได้ดีขึ้นอย่างที่เข้าใจกัน เนื่องจากปลายช่วงรัฐบาลบุชผู้ลูก มีการเปลี่ยนแปลงการนับจำนวนผู้ว่างงานเป็นจำนวนผู้รับสวัสดิการการว่างงานจากรัฐ แต่ว่ารัฐจ่ายสวัสดิการนี้เพียงปีเดียว ถ้าในหนึ่งปียังหางานไม่ได้ ก็จะไม่นับเป็นผู้ว่างงานอีกต่อไปเนื่องจากไม่ได้รับสวัสดิการการว่างงานจากรัฐอีกแล้ว สหรัฐพิมพ์ธนบัตรเท่าไรก็ได้ เอาไปซื้อน้ำมัน โอเปคไม่ใช่ว่าไม่รู้ว่านี่มันแบ๊งค์กงเต็ก แต่ไม่มีเงินสกุลใหญ่อื่นๆ ที่มีความมั่นคงพอ จะสังเกตได้ว่าเศรษฐีอาหรับเอาเงินไปซื้อห้างสรรพสินค้า โรงแรม หรือแม้แต่ทีมฟุตบอล ทั้งนี้เพื่อเปลี่ยนเงินสดไปเป็นสินทรัพย์อย่างอื่นเผื่อว่าระบบเงินตราจะมีปัญหาหนัก

ทั้งในอเมริกาและยุโรป นอกจากความเชื่อในกระแสโลกวิบัติปี 2012 แล้ว ปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาความอยู่รอดของยูโรโซน ปัญหาการขาดดุลย์การค้าที่กลับเพิ่มขึ้นอีกของญี่ปุ่น อัตราการว่างงานในสหรัฐและยุโรป เงินเฟ้อ ประเทศล้มละลาย แต่ที่สำคัญที่สุดคือราคาน้ำมันผันผวน ทำให้ผู้คนเริ่มระแวงว่าเมื่อระบบโลจิสติกส์มีปัญหา แหล่งผลิตทางอุตสาหกรรมจะมีปัญหาสองเด้ง คือการขนส่งวัตถุดิบเข้ามาผลิตไม่ได้และส่งสินค้าที่ผลิตแล้วไปขายไม่ได้เช่นกัน พื้นที่เกษตรกรรมก็เช่นกัน ถ้าราคาน้ำมันผันผวนมาก เครื่องจักรกลการเกษตรทำงานไม่ได้ จะไม่มีแรงงานเพียงพอที่จะเก็บเกี่ยว และจะไม่สามารถขนพืชผลไปขายได้

แล้วเมืองจะอยู่รอดได้อย่างไร ถ้าไม่สามารถส่งสินค้าและอาหารจากแหล่งผลิตสู่เมือง คำว่าเมืองไม่ใช่กรุงเทพนะครับ ชุมชนต่างๆ ที่มีความสะดวกสบายแต่ไม่สามารถผลิตอาหารเลี้ยงตัวเองได้ เป็นอาการเดียวกันหมด

บันทึกนี้เสนอวิธีการปลูกพืชอาหารและเลี้ยงปลา โดยอาศัยพึ่งพากันและกัน เรียกว่าระบบ Aquaponics

อ่านต่อ »


ใช้ชีวิตที่สวนป่า 22 พค - 8 มิย 2555

อ่าน: 5158

ผมไปสวนป่าเป็นระยะเวลานานอีกครั้งหนึ่ง ครั้งนี้ตั้งใจจะไปทำหนังสือโมเดลบุรีรัมย์เพื่อส่งโรงพิมพ์ก่อนสิ้นเดือนพฤษภาคม ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าทำไมต้องรีบขนาดนั้น ฮี่ฮี่ฮี่

ที่เคยทำมา เมื่อเรื่องพร้อม รูปพร้อม ผม (มือสมัครเล่น) จะใช้เวลาครึ่งอาทิตย์ในการเรียงพิมพ์ ปรับรูป วางข้อความและรูปภาพลงในร่างหนังสือ ปรับแก้เรื่องการแบ่งคำและการตัดคำที่ขอบบรรทัด และใช้เวลาอีกสองอาทิตย์ตรวจแก้รายละเอียดโดยทีมบรรณาธิการสามคน เครื่องมือที่เตรียมไปสวนป่า เป็นเครื่องมือสำหรับเรียงพิมพ์หนังสือครับ

แต่ปรากฏว่าเรื่องยังไม่พร้อม สั้นไป จำนวนเรื่องน้อยไป รูปยังไม่ได้รวบรวม จึงต้องรอทั้งเรื่องและรูป ในระหว่างรอก็เลยทำหนังสือ เจ้าเป็นไผ ๑ (พิมพ์ครั้งที่ 3) กับ เจ้าเป็นไผ ๒ (พิมพ์ครั้งที่ 2) ส่งโรงพิมพ์ไปก่อน ทั้งสองเล่มไม่มีวางขายทั่วไปครับ จะมีขายที่ร้านค้าของหมู่บ้านโลกในสวนป่า ส่วนช่องทางอื่นยังไม่ได้พูดจาตกลงกัน แต่จะไม่วางขายตามร้านขายหนังสือ ที่เคยทำมา สั่งซื้อโดยโอนเงินเข้าบัญชีธนาคาร แล้วผมส่งหนังสือให้ทางไปรษณีย์ เรื่องนี้ไม่ยุ่งยากเพราะหนังสือกระจายอยู่ในวงชาวเฮ ซึ่งรู้จักกันหมด มีที่อยู่อยู่แล้ว หรือไม่ก็เป็นมหาวิทยาลัยสั่งซื้อมา ซึ่งจัดส่งไปให้เป็นล็อตๆ ได้ แต่ถ้าหากหนังสือจะกระจายในวงกว้างขึ้น ต้องหาระบบที่ดีมารองรับก่อนครับ

ทีนี้ในเมื่อหนังสือโมเดลบุรีรัมย์ยังทำไม่ได้เพราะครูบาป่วยเป็นงูสวัด ก็หาเรื่องอย่างอื่นทำ อย่างแรกก็ส่งหนังสือ เจ้าเป็นไผ ๑/๒ ไปโรงพิมพ์แล้ว น่าจะพิมพ์เสร็จอาทิตย์หน้า

อ่านต่อ »


เปิดตัวคุณชาย

อ่าน: 4014

อย่างที่รู้กันว่าถนนหลวงที่จะเข้ามาสวนป่านั้น ชำรุดเสียหายเป็นระยะทางยาว

ปีนี้ได้งบประมาณมา 6.93 ล้านบาทเพื่อซ่อมหลุมบ่อระยะทาง 1.3 กม. มี สส.มาติดป้ายแสดงความยินดีกับชาวบ้านด้วย แต่มันซ่อมไป 100 เมตรเท่านั้นก็เลิกซ่อมแล้ว (มันไหนก็ไม่รู้ แต่สมควรเรียกว่ามัน) เหลือระยะที่จะต้องซ่อมอีก 1.4 กม. (ไม่ได้คิดเลขผิด ถนนเสีย 1.5 กม.) เมื่อวาน ไปสั่งของในอำเภอมาสร้างบ้าน ผ่านมาเห็นกำลังง่วนกันอยู่เชียว แต่แวะช่วยไม่ได้เพราะมีธุระต้องรีบไปรีบกลับมาดูการล้มไม้ยูคาที่สวนป่า

วันนี้หลังจากเล่นเครื่องตบดินพอได้เหงื่อ จึงบอกครูบาว่าขอไปช่วยเค้าซ่อมถนน มีอะไรฉุกเฉินให้ครูบาโทรไปตาม (ครูบาอยู่คนเดียว แม่หวีไปวัด)

พอไปถึงที่ เค้าซ่อมไปแล้วกิโลหนึ่งเมื่อวาน วันนี้กำลังทำต่อ คิดว่าเย็นนี้จะเสร็จหมด — การซ่อมถนน ทำทีละครึ่งเพื่อจะได้ไม่ต้องปิดการจราจรทั้งสาย — ผมแบกจอบส่วนตัวลงรถเบนซ์ไปช่วย มีชาวบ้านประมาณ 30 คน พระ 3 รูป ไม่ต้องรู้จักใคร แต่ชาวบ้านคงเห็นผมเป็นตัวประหลาดเหมือนกัน ต่างมารุมซักถาม “มาจากไหน อยู่ที่ไหน มาทำอะไร ฯลฯ”

หนีจากความเป็นท่านในกรุงเทพ มาเป็นท่านเอากลางป่า อย่างนี้ก็มีด้วย

ทำไปก็สนุกดีครับ ไม่ต้องมีหัวหน้า ไม่ต้องมีคนสั่งการ ทุกคนรู้หน้าที่ เป็นประโยชน์ร่วมกัน มีคนหนึ่งที่ชาวบ้านเรียก “กำนัน” แรกๆ ก็ยืนดู ยืนชี้ พอผมลงมือทำ ก็ช่วยทำโน่นทำนี่

ระหว่างที่วางจอบไปขนหินขนทราย มีคนขอยืมจอบส่วนตัวไปใช้แล้วชมว่าเหมาะมือดี น้ำหนักกำลังดี

อ่านต่อ »



Main: 0.83122181892395 sec
Sidebar: 0.28716897964478 sec