โลจิสติกส์ของการบรรเทาทุกข์
อ่าน: 3420เวลาเกิดภัยพิบัติขนาดใหญ่ ก็มักจะมีการรับบริจาคเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยครับ
เรื่องนี้มีมาตั้งแต่สมัยแหลมตะลุกพุก พ.ศ.2505 มีการออกทีวีร้องเพลง ซึ่งคนที่ร้องเพลงนั่นแหละ ที่เป็นคนไปกระตุ้น(ล่วงหน้า)ให้คนรู้จักแจ้งความจำนงว่าจะบริจาค การบริจาคแบบนี้ ตั้งอยู่บนสมมุติฐานอันใหญ่ว่าเงินบริจาค จะถูกใช้ไปอย่างรวดเร็วเพื่อบรรเทาทุกข์ให้ผู้ประสบภัย การใช้จ่ายเงินบริจาค ตรงไปตรงมา ไม่รั่วไหลตกหล่น ไม่ซื้อของแพงเกินไป ไม่มีผลประโยชน์ขัดแย้ง…
ผู้รับบริจาค เป็นเพียงทางผ่านของความช่วยเหลือเท่านั้นนะครับ ที่ผ่านมา ผู้รับบริจาคทำอะไรไปแล้วบ้างเพื่อให้ผู้บริจาคเห็นว่าทุกอย่างตรงไปตรงมาอย่างที่ควรจะเป็น — รับอะไรมา จ่ายอะไรไป เปิดเผยรายการต่อผู้บริจาคและไม่ได้บริจาค เลิกงุบงิบทำกันดีไหมครับ
ทั้งการรับและการเบิกจ่าย จะต้องมีบัญชีที่โปร่งใสคอยควบคุม และเรื่องนี้กลับไม่ค่อยทำกัน จะเป็นด้วยไม่ว่างหรือคิดว่ายุ่งยากก็แล้วแต่ — ผมคิดว่าการช่วยผู้ประสบภัยสำคัญนะครับ แต่ความโปร่งใสตรงไปตรงมาต่อผู้บริจาคก็สำคัญเช่นกัน ป่วยการจะไปเรียกร้องความโปร่งใสจากคนอื่นในขณะที่ตัวเราเองก็ไม่ทำ
ลองนึกถึงสถานการณ์โกลาหลของศูนย์รับบริจาคต่างๆ — พื้นที่ก็แคบ ของบริจาคหลั่งไหลมา พอมาถึงก็ต้องรีบนำออกไปแจกทันที เหมาะหรือไม่เหมาะยังเป็นเรื่องรอง — ตรงนี้แทบไม่มีบัญชีตรวจนับเลยครับ ถ้าทำได้ ถือว่ายอดๆๆๆๆๆ มาก
การไม่มีบัญชีควบคุม ทำให้ไม่รู้ว่าของบริจาค เข้าออกเท่าไหร่ รั่วไหลไปไหนหรือไม่! ของบริจาค มอบมาด้วยน้ำใจ เพื่อผู้ประสบภัย เป็นสิ่งมีค่านะครับ จะถือว่าได้มาฟรี แล้วทำตกหล่นสูญหายไปนั้นไม่ได้ ที่เขียนนี้ไม่ได้แปลว่ามีอะไรตกหล่นสูญหายนะครับ เพราะว่าเมื่อไม่มีบัญชีควบคุมแล้ว ไม่รู้ตัวด้วยซ้ำไปว่ามีอะไรหายไปหรือเปล่า!