อพยพ
อ่าน: 3171คับที่อยู่ได้ คับใจอยู่ยาก … ถ้าคับแค้นอะไรก็อยู่ (ก็ไม่มีทางเลือกนี่นา เอ หรือว่าเลือกที่จะคับแค้นเอง)
เวลาเราพูดถึงที่หลบภัยแล้ว ส่วนใหญ่จะมองว่าแค่เป็นที่หมายที่ตกลงกันไว้ล่วงหน้า ว่าหากเกิดภัยก็ให้มารวมพลกันตรงนี้ เช่นวัด โรงเรียน ศาลาประชาคม ฯลฯ … คิดแค่นั้นคงไม่พอหรอกครับ ถ้าเกิดภัยจนถึงขนาดว่าจะต้องอพยพแล้ว บางทีอาจจะต้องอยู่กันนานหน่อย เรื่องอย่างนี้ไม่เหมือนกับแพ็คกระเป๋าไปเที่ยวเสาร์-อาทิตย์ครับ
สถานที่…ขนาดไหนจึงพอ
แค่ระบุที่หมายว่าจะอพยพไปเมื่อเกิดภัยนั้นไม่พอ จะต้องดูความพร้อมของสถานที่หลบภัยด้วย
UNHCR ให้แนวคิดเกี่ยวกับพื้นที่อพยพเอาไว้ว่า ศูนย์อพยพควรจะมีพื้นที่ขั้นต่ำ 45 ตารางเมตรต่อผู้อพยพหนึ่งคน เช่นหมู่บ้านขนาด 200 คน ไม่ว่าจะแห่กันไปอยู่วัดหรือโรงเรียนก็ตาม ศูนย์อพยพนั้นควรจะมีพื้นที่ 9,000 ตารางเมตร (5.6 ไร่)
พื้นที่อันนี้รวมถึงสิ่งปลูกสร้างสำหรับพักพิง โรงครัว พื้นที่ส่วนกลาง และแปลงพืชผักสำหรับผลิตอาหารไว้เลี้ยงคน แต่เมื่อคำนึงถึงระยะห่างระหว่างสิ่งปลูกสร้าง ที่ต้องเว้นไว้เพื่อกันไฟไหม้ ตัวเลข 45 ตารางเมตร/คน ดูจะไม่พอแล้ว แต่อย่างไรก็ตาม ตัวเลข 45 ตารางเมตร/คน ดูจะเป็นขั้นต่ำสำหรับการเตรียมการมองหาสถานที่
นอกจากขนาดของพื้นที่โดยรวมแล้ว ยังมืพื้นที่ขั้นต่ำสำหรับพักอาศัยด้วย ซึ่งมีกำหนดไว้ที่ 4.5 ตารางเมตรต่อคน พื้นที่นี้สำหรับนอนและเป็นพื้นที่ส่วนตัว เราอาจจะคิดว่าในภาวะที่ไม่ปกติ จะอะไรกันนักหนา แต่ว่าสภาพจิตใจของผู้ที่ต้องอพยพนั้น ก็ไม่ปกติเช่นกัน การอยู่กันอย่างแออัด จะทำให้สุขภาพกายและสุขภาพจิตเสื่อมทรามลง อันจะเป็นปัญหาเรื่องสุขภาวะ จะเอาเต้นท์ขนาดใหญ่หรือหลุมหลบภัยลง ก็อย่าเอาคนเข้าไปยัดในนั้นทั้งหมด ในเมื่อสถานที่นี้เป็นสถานที่ปลอดภัย ก็ทำให้มันพออยู่ได้เถิดครับ
ต้องย้ำอีกครั้งว่าตัวเลขทั้งสองนี้ เป็นตัวเลขขั้นต่ำ หากมีที่ทางขยับขยาย ก็ควรทำนะครับ
ความพอเพียงต่อการดำรงชีวิต
แน่ล่ะครับ เวลาที่อพยพ อะไรๆ ก็ไม่เหมือนเดิม แต่ว่าถ้ายังอยู่ในบ้านที่มีภัย ก็ไม่เหมือนเดิมเช่นกัน
ในเมื่ออพยพแล้ว ประเด็นสำคัญไม่ใช่การพยากรณ์ว่าเมื่อไหร่จึงควรจะอพยพ เราน่าจะพิจารณาเรื่องการอพยพอย่างจริงจังเมื่อประเมินว่าสถานการณ์มีแนวโน้มเสื่อมทรามลง ไม่ต้องรอให้เลวร้ายจนถึงขีดสุดก็ได้ เมื่อสถานการณ์เลวร้ายแล้ว อาจจะอพยพไม่ทันครับ
แต่เมื่อตัดสินใจอพยพแล้ว แล้วยังไงต่อ จะกินอะไร มีน้ำไหม ไฟฟ้าหรือพลังงานล่ะ เครื่องมือสื่อสารสำหรับติดต่อขอความช่วยเหลือล่ะมีไหม วิทยุทรานซิสเตอร์สำหรับรับฟังข่าวสาร ฯลฯ เรื่องพวกนี้ ต้องเตรียมการล่วงหน้าทั้งนั้นครับ ถึงตอนนั้น มีเงินก็ไม่รู้จะเอาไปซื้ออะไรแล้วนะครับ
การอพยพจึงไม่ใช่การเดินทางไปยังสถานที่ปลอดภัย แต่ยังหมายรวมถึงการรอดอยู่อย่างปลอดภัยจนกว่าจะได้รับความช่วยเหลือ หรือว่าสถานการณ์ปลอดภัยแล้ว
อาหารจะกินอย่างไร ต่อให้กินถั่วงอกทุกมื้อ ก็ต้องเตรียมเมล็ดถั่วเขียวไว้ล่วงหน้า จะกินข้าวไข่เจียว ก็ต้องมีข้าวที่หุงได้และมีแม่ไก่นะครับ เรื่องนี้จึงไม่ใช่การเอาตัวรอดจากภัยไปอดตายยังค่ายผู้อพยพ แต่จะต้องคิดเหมือนเป็นการลงทุน/ทำประกันชีวิตเอาไว้
เรามีสิทธิ์ที่จะคิดว่าเรื่องนี้ ควรจะมีคนเตรียมไว้ให้ แต่ถ้าอยู่เมืองไทยมานานแล้ว และไม่ไร้เดียงสาบ้าอุดมคติจนเกินไป ก็ควรจะเข้าใจแล้วล่ะครับ ว่าอะไรเป็นอะไร
« « Prev : ประชุมเครือข่ายอาสาช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ ครั้งที่ 4
Next : โดมสำหรับพักพิงชั่วคราว » »
2 ความคิดเห็น
เริ่มอ่านต้นๆ ก็นึกถึงพระบาลีว่า ” ยหึ ชีเว ตหึ คจฺเฉ น เกตหโต สิยา - พึงเป็นอยู่ได้ในที่ใด ก็ควรอยู่ในที่นั้น ไม่ควรให้สถานที่ทำลายตน ”
อ่านไปอีกช่วงหนึ่ง ก็นึกถึงยุทธวิธีการถอยในสมัยเรียนรด. ซึ่งเป็นการฝึกการตั้งรับข้าศึก และเมื่อไม่อาจยันข้าศึกได้ก็ให้ถอยไปรวมตัวกันยังจุดนัดพบ… และการอพยพของโมเสส ซึ่งมีผู้วิจารณ์ว่าโมเสสมีปัญหาเรื่องการควบคุมคน จึงได้ขึ้นไปบนภูเขาแล้วสร้างบัญญัติ ๑๐ ประการขึ้นมาโดยอ้างพระผู้เป็นเจ้า…
และเมื่อมาถึงย่อหน้าสุดท้าย… ก็รู้สึกขำๆ แล้วจินตนาการความเป็นไปของบ้านเมืองปัจจุบัน
เจริญพร
ความช่วยเหลือจากภายนอก ควรจะไปลงที่ศูนย์อพยพก่อน
แต่ถ้าความช่วยเหลือมาช้าหรือช้ามาก คนที่อยู่ในศูนย์อพยพตั้งเยอะแยะ รวมตัวกันทำอะไรก็มีพลังครับ แต่ว่าอย่างมัวแต่งอมืองอเท้า รอความช่วยเหลือจนหมดแรงไปเสียก่อนล่ะครับ