แนวคิดเกี่ยวกับป่าต้นน้ำ
ผมคิดว่าเป็นเรื่องปกติที่ต่างคนต่างพยายามป้องกันทรัพย์สินและท้องถิ่นของตนเอง ในเมื่อปลายปีที่ผ่านมาเกิดมหาอุทกภัยทำให้เสียหายหนัก ปีนี้ทั้งรัฐ ทั้งเอกชนก็เกิดความพยายามต่างๆ มากมายที่จะป้องกันสถานการณ์ในลักษณะดังกล่าว แต่ผมคิดว่ากระบวนการคิดนี้ รีบเร่งจนอาจจะคิดไม่จบนะครับ
การปลูกป่าที่ต้นน้ำนั้น ก็สมควรอยู่แล้วครับ (ที่จริงคือไม่น่าไปถางป่าเลยตั้งแต่ต้น) แต่ลงมือปลูกวันนี้ เมื่อไรจะเป็นป่า
หยดน้ำมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 4 มม. คิดเป็นปริมาตรของหยดน้ำ 0.03 มิลลิลิตร ถ้าใบไม้หนึ่งใบมีน้ำฝนค้างอยู่หนึ่งหยด ต้นไม้เล็กหนึ่งต้นมีใบไม้พันใบ ต้นไม้เล็กสามหมื่นต้นก็จะมีใบไม้รวมกันสามสิบล้านใบ และสามารถหยุดน้ำไว้บนอากาศได้ 1 ลูกบาศก์เมตร (ไม่เยอะหรอกครับแต่ได้มาฟรี แล้วทำให้บริเวณนั้นเย็นสบายจาก evaporative cooling ดูน้ำหนาวที่โกร๋นไปหมดแล้วสิครับ ตอนนี้ไม่หนาวแล้ว) ต้นไม้เล็กสามหมื่นต้นนี่ เมื่อเทียบกับพื้นที่ภูเขาหนึ่งลูก เล็กมากครับ แต่ถ้าคิดจะ “ปลูก” จะเป็นมหกรรมใหญ่โตเลย
การปลูกป่าต้นน้ำ ควรหาต้นไม้โตเร็ว ใบเยอะ เพื่อปลูกเขื่อนไว้ในอากาศ อย่าเพิ่งไปปลูกไม้เบญจพรรณ ซึ่งโตช้า ใบใหญ่แต่ใบจำนวนน้อยเลยครับ ปลูกไม้พุ่มยังดีกว่า โตเร็ว ปลูกได้ถี่ ร่มไม้คลุมดิน ป้องกันดินจากแสงแดดเผา ลดแรงปะทะของเม็ดฝนซึ่งทำให้เกิดการกัดเซาะได้ด้วย
“ปลูกป่าแบบไม่ต้องปลูก” พระราชทานแนวคิดไว้ จำได้ไหมครับ