หักลดหย่อนภาษีด้วยการบริจาคช่วยน้ำท่วม
เรื่องนี้เป็นมหากาพย์ ที่นานมาหลายเดือนแล้ว
เริ่มตั้งแต่ ครม.ที่ผ่านมา มีมติออกกระราชกฤษฎีกาแก้ไขประมวลรัษฎากร เกี่ยวกับการบริจาคเพื่อช่วยเหลือภัยพิบัติหลายอย่าง เรื่องนี้ถ้าจำไม่ผิดก็ตั้งแต่วันที่ 4 เมษายน 2554 ครับ กว่า พรฎ.นี้จะประกาศในราชกิจจานุเบกษา ก็เป็นวันที่ 9 มิถุนายน เรื่องของภาษีเงินได้ ต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามกฏหมาย (ประมวลรัษฎากร) มติ.ครม.ก็ไม่มีผลอะไร จนกว่ากระทรวงการคลังจะไปออก พรฎ.แล้วประกาศในราชกิจจาฯ
ตาม พรฎ.ที่ประกาศนั้น มีลักษณะพิเศษหลายอย่าง เช่น
- เป็นหลักการที่ใช้ย้อนหลัง ตั้งแต่ 1 มกราคม 2554 เป็นต้นไป
- ยอมให้ภาคประชาชนได้ช่วยเหลือพี่น้องผู้ประสบภัยบ้าง เรียกว่าตัวแทนรับบริจาค ทั้งนี้มีกฏเกณฑ์ความโปร่งใสกำกับอยู่ ตามประกาศของอธิบดีกรมสรรพากร และต้องแยกการรับบริจาคออกจากกิจการปกติโดยเด็ดขาด — บัญชีรับบริจาคโดยบุคคลไม่เข้าเกณฑ์ เนื่องจากออกใบเสร็จไม่ได้ ถึงจะไปเอาใบเสร็จของนิติบุคคลอื่นมา ก็จะมีปัญหายุ่งยากตามมาเหมือนเป็นการอำพรางเนื่องจากเงินไม่เข้าที่นิติบุคคลผู้ออกใบเสร็จนั้น
- ประกาศของอธิบดีกรมสรรพากรในเรื่องนี้ ลงวันที่ 3 ตุลาคม 2554 แต่ประกาศบนเว็บของกรมช่วยปลายเดือนตุลาคม จึงเกิดความชัดเจนขึ้นเป็นครั้งแรก
- ก่อนออก พรฎ.นี้ เคยมี พรฏ.ในลักษณะเดียวกันออกมาก่อนหน้า แต่กำหนดขอบเขตของการบริจาคไว้เพียง 1 ตุลาคม - 31 ธันวาคม 2553 เท่านั้น แต่ในครั้งนั้น อธิบดีกรมสรรพากรออกประกาศให้ความชัดเจนไว้บนเว็บไซต์ของกรมตั้งแต่ปลายเดือนพฤศจิกายน 2553 จึงปฏิบัติไปได้อย่างถูกต้อง
อนึ่ง นิติบุคคลใด ที่ “เงินบริจาค” สามารถนำไปหักลดหย่อนภาษีได้ด้วยตัวของตัวเองนั้น จะต้องมีชื่อซึ่งค้นได้บนเว็บของกรมสรรพากร ดังนั้นไม่ใช่ว่าบริจาคให้มูลนิธิหรือสมาคมแล้วจะลดหย่อนภาษีได้ ถ้าบริจาคให้องค์กรใดที่ไม่มีชื่ออยู่ในนั้น แล้วเอาใบเสร็จรับเงินไปหักค่าใช้จ่ายตอนยื่นภาษี หากตรวจไม่พบในตอนที่ยื่นแบบแสดงรายการ ก็จะโดนปรับฐานที่ยื่นเท็จในภายหลัง แล้วถ้าผู้บริจาคเป็นนิติบุคคล เงินบริจาคจัดเป็นค่าใช้จ่ายต้องห้ามอีกด้วย (แบบเดียวกับเงินสินบน) ดังนั้นโปรดตรวจสอบก่อนจะผิดพลาด