อยู่กับน้ำ
อ่าน: 4873ที่จริงไม่อยากเขียนเรื่องเฉพาะกาลเลย เพราะอยากให้บันทึกใช้ได้นานๆ แต่คงเลี่ยงไม่ได้ล่ะครับ มีเรื่องต้องเตือน
- ปริมาณน้ำในเขื่อนสิริกิติ์ มีระดับ 94% ของความจุของเขื่อน เขื่อนภูมิพลมีระดับ 78% ของความจุของเขื่อน (ความจุของเขื่อนอื่นๆ ดูได้โดยคลิกที่รูปแผนที่ประเทศไทยในบล็อกนี้)
- สัปดาห์นี้ กรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์ว่า “ร่องมรสุมจะเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณประเทศไทยตอนบนมีฝนตกเพิ่มขึ้น กับมีฝนตกหนักบางแห่ง” แปลว่าจะมีน้ำฝนมาเพิ่มอีก
- ระบบประเมินสถานการณ์อุทกภัย ซึ่งสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (สทอภ.) พัฒนาขึ้น ดูได้ที่ http://flood.gistda.or.th/
- สำหรับภาพถ่ายจากดาวเทียมของวันนี้ (3 ก.ย. 54 — ดูด้วย Google Earth) เห็นน้ำท่วมในลุ่มน้ำยม ตั้งแต่ใต้ อ.เมือง สุโขทัย ยันนครสวรรค์ ส่วนลุ่มน้ำน่าน ก็ท่วมที่ อ.พรหมพิราม (พิษณุโลก) ข้าม อ.เมืองไป แล้วท่วมต่อไปยันบึงบอระเพ็ด
- พิจิตรอาการหนัก เพราะน้ำท่วมทั้งสองลุ่มน้ำ (ยม น่าน) ตลอดแนวเหนือใต้ของจังหวัด
- ดูแล้ว เห็นน้ำปริมาณมหาศาลมารออยู่แล้ว พื้นที่ใดอยู่ทางใต้น้ำแต่น้ำยังไม่ท่วม ก็อย่านิ่งนอนใจครับ
- อ.ชาติตระการ อ.นครไทย (พิษณุโลก) พื้นที่เป็นภูเขา เมื่อฝนตก น้ำก็จะไหลลงมากองอยู่ในหุบเขา ไหลไปรวมกับแม่น้ำน่านเหนือ อ.เมืองพิษณุโลก น้ำส่วนนี้อยู่ใต้เขื่อนเรศวร อ.พรหมพิราม
- ทุ่งแสลงหลวง (พิษณุโลก) อ.เขาค้อ (เพชรบูรณ์) เป็นพื้นที่รับน้ำฝน และไหลลงแม่น้ำเข็ก ไหลเรื่อยมาทางตะวันตก จนมาถึง อ.วังทอง (พิษณุโลก) ก็วกลงใต้อ้อม อ.เมืองพิษณุโลก ลงไปพิจิตรอีกเด้งหนึ่ง
- หากจะแก้ปัญหาน้ำท่วม อย่าไปดูเฉพาะที่น้ำท่วมอย่างเดียวนะครับ มองหาสาเหตุให้เจอแล้วแก้ไขบรรเทาเสีย