พาหนะสำหรับเดินทางระยะไกลในน้ำเชี่ยว
ยิ่งเห็นข้อมูลผู้ประสบภัย ยิ่งรู้สึกว่าภัยครั้งนี้ครอบคลุมพื้นที่กว้างใหญ่ และรุนแรงในแง่ที่กระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวันของชาวบ้านเป็นจำนวนมาก
มีชาวบ้านหลายพื้นที่ ที่ถูกตัดขาดเป็นระยะเกิน 10 กม. พายเรือมารับความช่วยเหลือก็ไม่ไหว ครั้นไม่ออกมาก็จะถูกลืมหรือถูกมองข้ามไป หากว่าไฟฟ้าไม่ดับและการสื่อสารยังใช้ได้ โทรออกมาบอก อบต. (หรือ สพฉ. 1669 ขอให้ช่วยประสานกับมูลนิธิในบริเวณนั้น) อาจจะเป็นความหวัง แต่ถ้าโชคไม่ดี เจ้าหน้าที่มีงานล้นมือ มีคนต้องการความช่วยเหลือทั่วไปหมด ความช่วยเหลือก็ไม่มาเสียที อย่างนี้ชาวบ้านมีแต่ตายกับตายครับ
ทางออกนั้น คงไม่มีทางอื่นนอกจากจะหาวิธีเดินทางออกมารับความช่วยเหลือกลับเข้าในหมู่บ้าน แต่ก็มีปัญหาใหญ่ตามมาอีก คือน้ำเชี่ยวมาก หากน้ำไม่แรง ใช้แพราคาหน่วยเป็นพันบาทยังพอไหว แต่ถ้าน้ำแรงขนาดเรือราคาหลายหมื่นบาท (หรือเป็นแสน) ล่มได้ จะต้องหาวิธีอื่นที่ดีกว่า เรื่องนี้คงจะเกินกำลังของชาวบ้าน แต่หากผู้ที่มีความรู้ มีกำลังจะช่วย ก็จะเป็นอานิสงส์แรงครับ
เรื่องพาหนะในน้ำเชี่ยวนั้น ผมคิดถึงไฮโดรฟอล์ย จะใช้กำลังคน หรือใช้เครื่องก็แล้วแต่ หลักการใช้โครงเป็นแพหรือเรือคาตามารัน (เรือหลายลำตัว) ที่หากไม่เคลื่อนที่ก็ลอยได้ แต่เมื่อเคลื่อนที่ ใต้ท้องเรือก็จะมีปีกสร้างแรงยก ทำให้ลำตัวเรือลอยขึ้นเหนือน้ำ การที่ลำตัวเรือไม่สัมผัสผิวน้ำ จะลดแรงต้านของน้ำ ทำให้ไม่ต้องการแรงขับมากนัก นอกจากนั้นก็ยังทนต่อความแรงของกระแสน้ำได้ดีกว่าเรือหรือแพธรรมดา