พฤติกรรม 13 อย่างที่เสริมสร้างความเชื่อใจ
อ่าน: 6133ความน่าเชื่อถือนั้น มาจากบุคลิก และความสามารถ อันสร้างความอุ่นใจได้ว่าจะเป็นผู้ที่ไว้วางใจได้ ไม่ทำให้ผิดหวัง
หนังสือ the Speed of Trust ของ Covey แยกแยะพฤติกรรมแบบนี้ออกมาเป็น 3 กลุ่ม คือ
- พฤติกรรมที่มาจากบุคลิก
- พฤติกรรมที่มาจากความสามารถ
- พฤติกรรมที่มาจากบุคลิกและความสามารถ
การสังเกตุพฤติกรรมที่คนแสดงออกมา จะช่วยให้ประเมินความน่าเชื่อถือได้ง่ายขึ้น แม้ว่าบางทีก็อาจผิดได้
ทั้งนี้ ไม่ได้หมายความว่าคนที่เราเชื่อถือ หรือเชื่อใจ จะไม่มีทางทำให้ผิดหวัง ชะตา ฟ้าลิขิต, สัตว์โลก ย่อมเป็นไปตามกรรม, ไม่มีใครที่จะสำเร็จตลอดเวลา, Sh!t happens แต่การไม่มีหลักประเมิน อาจผิดได้มากกว่า
พฤติกรรมที่มาจากบุคลิก
พฤติกรรม #1: พูดตรง (Talk Straight) — สื่อสารกับทุกคนอย่างตรงไปตรงมา ไม่ปล่อยให้ใครหลงอยู่ในความเข้าใจผิด คำว่าตรงไปตรงมาหมายความว่ามีความชัดเจน ชอบก็บอกว่าชอบ ไม่ชอบก็บอกไม่ชอบ ไม่กลับกลอกปลิ้นปล้อน ต่อหน้าพูดอย่าง ลับหลังพูดอีกอย่าง; ลักษณะการพูดตรง มักจะมีการประกาศความตั้งใจ (intent) ออกมาอย่างชัดเจนก่อน แต่การพูดไม่ตรงนั้น จะเต็มไปด้วยการปิดบังข้อมูล บอกไม่หมด ประจบประแจงเยินยอจนเลี่ยน หรือไหลไปเรื่อย
พฤติกรรม #2: ยอมรับนับถือผู้อื่นด้วยนำใสใจจริง (Demonstrate Respect) — การยอมรับนับถือผู้อื่น แสดง self-esteem เพราะเขารู้ว่าตัวเขาไม่ได้ด้อยค่าลงด้วยการนับถือผู้อื่น จึงไม่ต้องยกตนข่ม ดูถูก หรือทำให้ผู้อื่นรู้สึกต่ำต้อย เพื่อให้ตนรู้สึกว่าสูงกว่า; คนเรามีดีแตกต่างกัน ไม่มีใครสมบูรณ์แบบ ผู้ที่สามารถยอมรับนับถือผู้อื่นได้ด้วยความจริงใจ คือผู้ที่เห็นสิ่งที่ดีในตัวผู้อื่นตามความเป็นจริง คนที่มีลักษณะนี้ จะถามความเห็นอยู่บ่อยๆ จะต่างกับพวกที่ยึดเอาความคิดตนเป็นใหญ่ ชอบแสดงอำนาจ ชอบสั่งเพียงเพื่อให้ได้รู้สึกว่าตัวมีอำนาจ
พฤติกรรม #3: โปร่งใส (Create Transparency) — คนที่มีพฤติกรรมแบบนี้ จะอยู่กับความเป็นจริงที่สามารถตรวจสอบได้ ไม่มีอะไรหมกเม็ด จะเป็นพวกที่ไม่รวบอำนาจ หรือรวบการตัดสินใจไว้ที่ตัวเอง ไม่มีวาระซ่อนเร้น หากสงสัยอะไร เราสามารถถามได้ทุกเรื่อง และจะได้ยินคำตอบทุกเรื่อง (แล้วแต่ว่าเราเข้าใจหรือไม่)
พฤติกรรม #4: แก้ไขในสิ่งผิด (Right Wrongs) — ในกรณีที่เกิดผิดพลาด คนพวกนี้แก้ไข/ชดใช้ แทนการปกปิด แก้ตัว โบ้ย หาแพะ หรือปัดความรับผิดชอบ คนพวกนี้ทำมากกว่าพูด
พฤติกรรม #5: เหมือนกันทั้งต่อหน้าและลับหลัง (Show Loyalty) — การกระทำของคนแบบนี้ เหมือนกันทั้งต่อหน้าและลับหลัง เมื่อเขาชมเราเรื่อใดเรื่องหนึ่งต่อหน้า เขาก็ชมเราในเรื่องเดียวกันกับคนอื่นแม้เราไม่อยู่ เขาให้เครดิตเราสำหรับงานที่เราทำ โดยไม่ฮุบไปเป็นผลงานของตัวเอง ไม่นินทาใคร ไม่กล่าวอ้างโดยเท็จ หรือหลอกตัวเอง
พฤติกรรมที่มาจากความสามารถ
พฤติกรรม #6: มีผลงานคุณภาพ (Deliver Results) — อันนี้ไม่ใช่แค่มีผลงานเฉยๆ แต่หมายถึง commit กับงาน ใช้เวลาคิด ตระเตรียมการล่วงหน้า และสามารถสร้างงานออกมาด้วยคุณภาพที่ดี ตรงตามกำหนดเวลาที่ได้ตามสัญญาไว้ และตามต้นทุน (งบประมาณ) ที่คิดไว้ล่วงหน้า; การทำงานได้ตามเป้าหมาย หมายถึงคนๆนั้น รู้จักสิ่งที่ทำอย่างแท้จริง ไม่มั่ว; ถ้าทำไม่ได้ ก็จะบอกว่าทำไม่ได้ หรือทำได้ถ้ามีอะไรเพิ่ม
พฤติกรรม #7: ปรับปรุงตลอดเวลา (Get Better) — คือการปรับปรุง เปลี่ยนแปลงตัวเองและสิ่งที่ทำ ให้ดียิ่งๆ ขึ้นไป ไม่หยุดนิ่ง เรียนรู้ เพิ่มพูนประสบการณ์ตลอดเวลา เปลี่ยนเอาความผิดพลาดมาเป็นประสบการณ์ เปลี่ยนความสำเร็จมาเป็นความคิดในการปรับปรุง
พฤติกรรม #8: เผชิญหน้ากับความเป็นจริง (Confront Reality) — ไม่หลอกตัวเองด้วยความเพ้อเจ้อ เผชิญหน้ากับความเป็นจริง ทั้งที่ชอบและไม่ชอบ เห็นปัญหาเป็นปัญหาและแก้ไข เห็นโอกาสเป็นโอกาสและป้องกันความเสี่ยงก่อนทำ ยอมรับในข้อจำกัด ยอมรับเพื่อนร่วมงานต่างๆในแบบที่เขาเป็นไม่ว่าดีหรือไม่ดี การตระหนักว่าใครดีหรือไม่ดีตรงไหน ทำให้ใช้จุดดี-หลีกเลี่ยงจุดไม่ดีได้
พฤติกรรม #9: ทำความคาดหวังให้ชัดเจนสำหรับทุกคน (Clarify Expectations) — ความคาดหวังหรือสิ่งที่คาดหวัง เป็นเป้าหมายร่วมกันของผู้ที่อยู่ร่วมกัน หากไม่มีเป้าหมายร่วม หมู่คนก็ไม่สามารถจะอยู่รวมกันได้ ต่างคนต่างทำไปตามที่เห็นสมควร และในที่สุดจะนำไปสู่ความวุ่นวาย หากยังมีใครยังไม่ชัดเจนในความคาดหวัง คนที่มีพฤติกรรมนี้ จะอธิบายหรือพูดคุย/ปรับเปลี่ยนจนทุกๆ คน เห็นภาพเดียวกัน เพื่อที่ต่างจะแยกย้ายไปทำงานของตนไปในทิศทางเดียวกัน (แต่ไม่เหมือนกัน)
พฤติกรรม #10: มีความรับผิดชอบ (Practice Accountability) — ทั้งตนเองและผู้ที่ร่วมกันอยู่ ใครทำอะไร ได้รับสิ่งนั้น ผิดเป็นผิด ชอบเป็นชอบ ตลอดจนสื่อสารความคืบหน้าของสิ่งที่ทำอยู่ ไม่หลบเลี่ยงความรับผิดชอบ ไม่ชี้นิ้ว เอาความดีใส่ตัว เอาความชั่วใส่คนอื่น (โดยเฉพาะอย่างยิ่งลับหลังเขา)
พฤติกรรมที่มาจากบุคลิกและความสามารถ
พฤติกรรม #11: ฟังก่อน (Listen First) — เข้าใจเหตุการณ์ ข้อจำกัด ความคิด ความรู้สึกของคู่สนทนาก่อนที่จะตัดสินหรือให้คำแนะนำใดๆ การตัดสินไปโดยไม่รู้อะไร มีโอกาสผิดสูง และเกิดมาจากอคติ หากเรารู้ดีกว่าคู่สนทนาโดยไม่ต้องฟังเขา บางที เราควรจะเป็นคนที่ทำงานนั้นแทนที่จะให้เขาทำ; พฤติกรรมด้านตรงข้าม เฟคจนไม่อยากแปลครับ “The opposite and counterfeit are to speak first and listen last, or not at all, and to pretend to listen while waiting for your own chance to speak.”
พฤติกรรม #12: รักษาคำพูด (Keep Commitments) — โดยทั่วไป เป็นวิธีที่เร็วที่สุดที่จะสร้างความเชื่อถือ และเป็นเรื่องที่สำคัญมากที่จะต้องรักษาคำพูด; คนทั่วไปมักคิดว่าคำสัญญาที่ให้กันระหว่างสมาชิกในครอบครัว จะสำคัญน้อยกว่าคำสัญญาในงาน เพราะว่าครอบครัวสนิทกัน พูดจากันได้ ความจริงไม่เป็นอย่างนั้น สัญญาก็คือสัญญา และการรักษาสัญญาคือเครื่องหมายของเกียรติของคน ดังนั้นอย่าให้สัญญามั่วที่รักษาไม่ได้
พฤติกรรม #13: ขยายวงความเชื่อใจ (Extending Trust) — เพราะเราไม่สามารถทำทุกอย่างได้ด้วยตัวเอง และเราไม่วางใจที่จะมอบหมายให้คนที่เราไม่เชื่อใจกระทำการแทนเรา ดังนั้นหากมัวแต่ระแวงคนอื่นโดยไม่มีเหตุผล นอกจากไม่ได้งานแล้ว ยังจะเป็นโรคประสาทด้วย ความระแวงเป็นการผลักไสผู้คนให้ออกห่างจากตัวเรา จึงเหลือกำลังในการทำอะไรต่อมิอะไร น้อยลงเรื่อยๆ โดยไม่รู้ตัว
« « Prev : ขึ้นบ้านใหม่ “มูลนิธิ OpenCARE”
1 ความคิดเห็น
ขอบคุณค่ะ คุณครู ^_^