ความมั่นคงสามแนวทาง เพื่อให้อยู่ได้
นอกเหนือจากปัจจัยสี่ (อาหาร ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค) ซึ่งเป็นความจำเป็นขั้นต่ำสุดต่อการดำรงชีวิตแล้ว มีปัจจัยสำคัญสามอย่าง ที่จำเป็นต้องใส่ใจเป็นพิเศษ คือความมั่นคงสามแนวทางได้แก่ อาหาร น้ำ และพลังงาน ทั้งสามมีนัยสำคัญต่อ “สภาพ” ของสังคมมนุษย์ หากขาดไปอย่างใดอย่างหนึ่ง อาจเกิดความวุ่นวายขนานใหญ่จนลุกลามเป็นสงครามได้
อาหาร
เป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ เป็นสิ่งที่ทุกคนควรได้รับอย่างพอเพียงต่อการเจริญเติบโต และครบถ้วน เมืองไทยมีดิน(บางส่วน)อุดมสมบูรณ์ จากน้ำท่วมที่ลุ่มภาคกลาง แต่ในพื้นที่อื่นๆ เรากลับทำลายดินกันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน เริ่มด้วยการถางป่า ทำให้ดินถูกแดดเผา เร่งให้ความอุดมสมบูรณ์ (humus) สลายไปหมด ซึ่งโดยธรรมชาติ มันก็ค่อยๆสลายที่อุณหภูมิสูงกว่า 25°C อยู่แล้ว เมื่อไม่มีร่มเงาของต้นไม้ ดินที่ถูกแดดเผา อาจมีอุณหภูมิสูงกว่า 70°C กลายเป็นดินทรายไปหมด ใส่ปุ๋ยเท่าไหร่ ความอุดมสมบูรณ์ก็ถูกทำลายไปอีกซ้ำซาก เพราะว่าไม่ได้แก้ที่สาเหตุ
ยิ่งทำการเกษตร ก็ยิ่งจน ที่ดินของปู่ย่าตายายก็รักษาไว้ไม่ได้ เห็นแก่เงินเฉพาะหน้า พอนายทุนมากว้านซื้อ ก็รีบขายไปหมด เมื่อไม่มีที่ทำกิน ก็ไปบุกรุกพื้นที่ป่า ทำลายต้นไม้หนักเข้าไปอีก เมื่อพื้นที่ป่าหายไปมากเข้า ความชื้นไม่มี ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล ผลผลิตต่ำเป็นหนี้เป็นสิน เป็นวังวนไม่รู้จบสิ้น
เมื่อวันที่ 12 ต.ค. 2542 โลกมีประชากรเกินหกพันล้านคน และจะมีเกินเจ็ดพันล้านคนในปี 2555… ถึงมีคนมากขึ้น แต่กลับมีพื้นที่เพาะปลูกน้อยลง พื้นที่เพาะปลูกที่มีก็ไม่รู้จักบำรุงรักษา
โดยนิยาม ทรัพยากรเป็นสิ่งที่ทีค่า แต่มีอยู่อย่างจำกัด หากถลุงใช้กันตามสบายโดยเอาประโยชน์ส่วนตนเป็นที่ตั้งแล้ว ทรัพยากรมีแต่จะหมดไปอย่างรวดเร็วและเปล่าประโยชน์ [tragedy of the commons ] [tyranny of small decisions]