อุดมศึกษาจากหนังสือธรรมาภิธาน
จากหนังสือ ธรรมาภิธาน พจนานุกรมคำสอนพระพุทธศาสนา พระนิพนธ์ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก
อุดมศึกษา
การศึกษาทุกอย่างเพื่อให้ขึ้นถึงขั้นสูงสุด คือ ปัญญา ปัญญาสิกขาได้แก่ศึกษาปัญญาจึงเป็น อุดมศึกษา ของคน ข้อที่ควรทราบก่อนคือ ปัญญาได้แก่อะไร? ศึกษาปัญญานั้นศึกษาอย่างไร?
ปัญญา คือความรู้ทั่วถึงความจริงของ สิ่งที่ควรรู้ทั้งหลาย คำว่า ปัญญา ซึ่งเป็น ภาษามคธ กับคำว่า ปรัชญา ซึ่งเป็นภาษา สันสกฤตเป็นคำเดียวกัน พระพุทธเจ้า ตรัสไว้ว่า “แสงสว่างเสมอด้วยปัญญา ไม่มี” เพราะไม่มีแสงอะไรที่จะส่องให้เห็น ความจริงทั้งหลายได้เหมือนอย่างแสง ปัญญา เพียงแต่จะคิดเลขสักข้อหนึ่งจะใช้ แสงอะไรส่องให้เห็นได้นอกจากใช้ปัญญา คิด ศึกษาปัญญา อันหมายถึงศึกษาเพื่อให้เกิดปัญญานั้น คือ ศึกษาด้วยการเรียน ๑ การคิด ๑ การทำ ๑
การเรียนดังที่เรียกว่า โสตศึกษา ศึกษาด้วยการฟังทางหู ดังที่ฟังครูอธิบาย หรือฟังเทศน์นี้ ทัศนศึกษา ศึกษาด้วยการ ดูทางตา เช่นดูหรือเที่ยวดูสิ่งต่างๆ โดย มากศึกษาด้วยทางทั้งสองนี้ แต่ก็อาจศึกษา ได้ทางอื่นอีก คือ ฆายนศึกษา ศึกษาด้วย การสูดกลิ่นทางจมูก สายนศึกษา ศึกษา ด้วยการลิ้มรสทางลิ้น ผุสนศึกษา ศึกษา ด้วยการถูกต้องทางกาย รวมความว่า ศึกษาด้วยอาศัยประสาททั้งห้า คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย แต่การเรียนอาศัยทางหู ทางตามากกว่าทางอื่น เพราะบุคคลมี ภาษาสำหรับพูดถ่ายทอดความรู้ให้แก่กัน มีตัวหนังสือสำหรับเขียนอ่านแทนภาษา จึงอาจฟังหรืออ่านให้เกิดความรู้ขึ้นได้ ปัญญาที่เกิดจากความรู้ดังกล่าวเรียก สุตมยปัญญา แปลว่า ปัญญาที่เกิดจาก การฟัง คือ ยกโสตศึกษาขึ้นเป็นที่ตั้งเพราะส่วนใหญ่เรียนด้วยการฟัง ถึงจะดู หนังสือนั้นๆ ก็ใช้แทนภาษาที่พูดกันนั้น เอง จึงอาจนับเข้าในโสตศึกษาได้