หนังสือ เจ้าเป็นไผ ๑

โดย Logos เมื่อ 25 May 2009 เวลา 0:16 ในหมวดหมู่ ลานปัญญา #
อ่าน: 4169

มีอะไรจะแนะนำก็บอกมาเลยนะครับ เกิดมาก็ไม่เคยทำหนังสือ เคยแต่เขียนๆๆๆๆ แล้วมีคนนำไปทำต่อให้ ครั้งนี้จึงเป็นประสบการณ์ใหม่ ยังไม่รู้เหมือนกันว่าจะออกมาเป็นยังไง

คราวนี้
(1) เปลี่ยนขนาดฟอนต์ จาก 14pt เป็น 16pt ตัวใหญ่ขึ้น 14% ช่องว่างระหว่างบรรทัด ห่างขึ้น
(2) เพิ่ม A52S อธิบายมิติทางสังคมของเฮฮาศาสตร์ ของพี่บู๊ท
(3) เรียงเอาการแนะนำของครูบาไปไว้หน้าเรื่องทั้ง 10
(4) มีเชิงอรรถ (footnote) ท้ายหน้าทุกเรื่อง อ่านแล้วไม่งงว่าอ้างมาจากไหน
(5) เพิ่ม “ประโยคเด็ด” (quotes) แต่ยังจัดรูปแบบไม่สวย

อย่างไรก็ตาม หนังสือที่ชาวเฮตั้งใจทำ ก็มีแนวโน้มจะพิมพ์ออกมาได้ ลองทำ dummy ขยายขนาดตัวอักษรให้อ่านได้ง่ายขึ้น ใส่รูป ออกมา 148 หน้า อาจจะยังขาดอะไรอยู่เล็กน้อย เชื่อว่าหนังสือเจ้าเป็นไผ ๑ จะยาว 160 หน้า ราคาพองาม (ยังไม่ได้ส่งตีราคาครับ) แต่ก็หวังให้ราคาถูกที่สุด คงจะไม่เกิน 150 บาท รวมค่าจัดส่งทางไปรษณีย์ — มั่วเอา

ช่วงนี้ ก็จะตรวจสอบความถูกต้อง และ consistency ของการจัดรูปแบบต่างๆ

คำนิยม เจ้าเป็นไผ

ศาสตราจารย์นายแพทย์ประเวศ วะสี

ประเทศไทยมีทรัพยากรมหาศาล เกินพอที่จะสร้างสรรค์สวรรค์บนดิน  หรือสร้างประเทศไทยให้เป็นประเทศที่น่าอยู่ที่สุดในโลก ที่เราล้มลุกคลุกคลาน ต้วมเตี้ยมเตาะแตะแตกตายอยู่เช่นทุกวันนี้ เพราะมองไม่เห็น หรือดวงตาบ่มีแวว ไม่เห็นสิ่งสำคัญที่สุด

สิ่งสำคัญที่สุดคือคนไทยทุกคน

ที่เราเห็นผิดก็คือเห็นเขาเป็นไพร่ เป็นทาส เป็นคนไม่มีการศึกษา โง่-จน-เจ็บ เมื่อเห็นผิดอย่างนี้ประเทศก็ไม่มีกำลัง

ความจริงคือเขามีคุณค่าความเป็นคน

คนทุกคนมีศักดิ์ศรีและคุณค่าแห่งความเป็นคน และมีศักยภาพแห่งความสร้างสรรค์ ทุกคนมีความรู้ในตัว ที่ได้มาจากการทำงานและประสบการณ์ชีวิต ความรู้ในตัวคนเป็นความรู้ที่มีประโยชน์จริง ไม่ว่าจะเป็นความรู้ในการทำไร่ทำนา ความรู้ในการเลี้ยงควาย ความรู้ในการทำกับข้าว ในการจักสาน ในการร้องเพลง ในการทำก๋วยเตี๋ยว ในการผสมปูน ในงานช่างไม้…ฯลฯ

ถ้าเราเคารพเฉพาะความรู้ในตำรา คนส่วนน้อยเท่านั้นที่มีเกียรติ คนส่วนใหญ่ไม่มีเกียรติ ประเทศที่คนส่วนใหญ่ไม่มีเกียรติจะอยู่ได้อย่างไร นั่นแหละคือปัญหาของเรา

ถ้าเราเคารพความรู้ในตัวคน คนทั้งหมดจะมีเกียรติ คนมีเกียรติก็อยากจะทำอะไรดี ๆ ประเทศก็จะแข็งแรง

ความรู้ในตัวคนมาจากวิถีชีวิต วิถีชีวิตร่วมกันคือวัฒนธรรม ความรู้ในตัวคนมีฐานอยู่ที่วัฒนธรรม วัฒนธรมคือรากของสังคม การตัดรากต้นไม้แล้วจะเกิดอะไรขึ้นการตัดรากของสังคมก็เช่นเดียวกัน การพัฒนาใน 100 ปีที่ผ่านมาคือ การตัดรากทางวัฒนธรรม การเคารพความรู้ในตัวคนคือการหันไปหารากทางวัฒนธรรม

การรวมตัวร่วมคิดร่วมทำในทุกพื้นที่ ในทุกองค์กร และในทุกเรื่อง เอาความรู้ในตัวมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ต่อยอด จะเกิดนวัตกรรมและพลังสร้างสรรค์มหาศาล

ถ้าทุกคนตระหนักรู้ถึงศักดิ์ศรีและ คุณค่าของความเป็นคนในตัวเอง และศักยภาพของความสร้างสรรค์ มีความรู้ในตัวเอง สามารถทำเรื่องดี ๆ ที่ตนถนัด สามารถรวมตัวกันเป็นกลุ่มและเชื่อมโยงกันเป็นเครือข่าย จะทำให้เกิดความสุขและความสร้างสรรค์อันหลากหลายเต็มแผ่นดิน

ครูบาสุทธินันท์ ปรัชญพฤทธิ์ ได้ริเริ่มชักชวนให้มีการลงขันเล่าเรื่องของตัวเอง “เจ้าเป็นไผ” ลงในสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ถ้ามีการทำเรื่องทำนองนี้มากขึ้น ในที่สุดเราจะมีระบบข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ของคนไทยทุกคน คนไทยทุกคนจะเป็นคนเก่งในทางที่ต่าง ๆ กัน คนไทยทุกคนจะภูมิใจในตนเอง อยากทำเรื่องดี ๆ มากขึ้น และเราจะมีแหล่งเรียนรู้มหาศาลทั่วแผ่นดิน

ขอให้ “เจ้าเป็นไผ” ก่อให้เกิดความบันดาลใจแก่เพื่อนคนไทย ให้เห็นคุณค่าความรู้ในตัวคน และเกิดการทำ”แผนที่มนุษย์” (Human Mapping) กันในทุกพื้นที่ว่าใครทำอะไร เป็นใครทำ อะไรเก่ง ให้คนไทยทุกคนมีเกียรติมีศักดิ์ศรีเป็นกำลังของแผ่นดิน ที่จะร่วมสร้างสรรค์ประเทศไทยให้เป็นสวรรค์บนดิน หรือเป็นประเทศที่น่าอยู่ที่สุดในโลก

คำนำ

หนังสือเจ้าเป็นไผฉบับนี้ ไม่ใช่หนังสือที่รวบรวมอัตชีวประวัติของบุคคลที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงในชีวิต หากแต่เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับกลุ่มคนจากหลากหลายสาขาอาชีพ ความรู้ความชำนาญ ซึ่งมารวมกันอยู่ที่เว็บไซต์ ลานปัญญา http://lanpanya.com/ เรียกตนเองว่า “ชาวเฮ” ใช้กระบวนการเฮฮาศาสตร์อันไร้รูปแบบ เชื่อมโยงกันด้วยจิตใจ และความปรารถนาดี แปรเปลี่ยนเป็นการอาสาทำงานเพื่อส่วนรวม

ชุมชนลานปัญญาเป็นชุมชนที่มีลักษณะพิเศษ กล่าวคือสมาชิกรวมตัวกันอยู่ได้อย่างสงบสุข ใช้ความแตกต่างของปัจเจกชน แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ทำงานร่วมกันเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ร่วมกัน คือความสงบสุขทางใจ นอกจากนี้ ชุมชนลานปัญญา อาจจะต่างกับชุมชนออนไลน์อื่นๆ ในบางลักษณะคือ

• เหล่าสมาชิกพบปะกันตามแต่โอกาสจะอำนวยเพื่อทำกิจกรรมร่วมกัน จึงไม่มีความจำเป็นต้องสร้างภาพลักษณ์ให้ใครเข้าใจเป็นอย่างอื่น เพราะว่าใครเป็นอย่างไร จะปรากฏออกมาเองเมื่อคบหาทำงานร่วมกันไปนาน ๆ ลานปัญญาจึงไม่ใช่ชุมชนออนไลน์ที่ใช้หลบซ่อนตัวตน ไม่ว่าจะใช้ชื่อจริงหรือใช้นามแฝงในการใช้งาน
• สังคมลานปัญญา เคารพและยอมรับความแตกต่างทางความคิด แต่มีเป้าหมายร่วมกันในการใช้สิ่งที่สมาชิกแต่ละคนมีอยู่ ทำให้เมืองไทยดีขึ้นบ้าง; บนความเคารพซึ่งกันและกัน งานที่ทำร่วมกัน เป็นไปโดยการอาสาและรับฟัง ซึ่งต่างออกไปจากการชี้นิ้วสั่ง ตั้งตัวชี้วัด พิพากษา และเอาแพ้เอาชนะกัน
• คนแต่ละคนมีความแตกต่างกัน มีพื้นฐานต่างกัน มีความพร้อมในแต่ละเรื่องต่างกัน และมีข้อจำกัดที่แตกต่างกัน ความคาดหวังที่จะให้ทุกคนเป็นเหมือนกันไปหมดนั้น ไม่เป็นจริง
• พันธะระหว่างกัน เป็นไปโดยความเกรงใจในระบบเครือญาติ เป็นแบบจำลองหนึ่งของสังคม Chaordic ที่กำหนดและเคลื่อนสู่เป้าหมายร่วมกันโดยไม่มีการปกครองตามลำดับชั้น
• มีกฎระเบียบน้อยที่สุด

คุณค่าในตัวเรา ไม่ใช่สิทธิโดยกำเนิด หรือเป็นสิ่งที่ตัวเราคิดไปเองว่ามีหรือไม่มีอยู่เท่าไหร่ คุณค่าในตัวคนเป็นสิ่งที่ผู้อื่นมอบให้จากการกระทำของเรา

ไม่ว่าสิ่งที่เป็นอยู่ในยุคปัจจุบัน จะถือว่าเป็นความก้าวหน้าหรือถอยหลังของมนุษยชาติก็ตาม ความรู้และประสบการณ์ของมนุษยชาติกว้างขวาง ลึกซึ้งขึ้นเรื่อยๆ จนไม่มีใครที่จะสามารถรู้ในศาสตร์หนึ่งใดได้ทั้งหมด

แต่แม้ในความไพศาลแห่งความรู้นั้น กลับไม่มีมนุษย์คนใดดำรงชีวิตอยู่ได้ ในแบบที่เป็นอยู่ ด้วยตัวของตัวเองเท่านั้น มนุษย์จำเป็นต้องอาศัยการช่วยเหลือเกื้อกูลต่อกันและกัน เป็นมิตรและเคารพต่อธรรมชาติและเพื่อนมนุษย์ ถนอมสันติสุขไว้ด้วยความอดทนอดกลั้น และความเข้าใจสภาวะรอบตัวอย่างลึกซึ้ง แทนที่จะฝืนจัดการทุกอย่างไปตามแต่ใจปรารถนาเพื่อตัวเองแต่ผู้เดียว

ในความพึ่งพาซึ่งกันและกันนั้น จะเกิดคุณค่าก็ต่อเมื่อมนุษย์สามารถใช้ประโยชน์จากความแตกต่างได้ หากทุกคนเป็นเหมือนกันไปหมด สังคมมนุษย์ก็จะกลับสู่สังคมแรงงานหรือสังคมยุคหิน

คณะผู้จัดทำหวังว่าหนังสือเล่มนี้ จะช่วยให้เห็นประโยชน์ในศักดิ์ศรีและพลวัตของสังคมมนุษย์ ทั้งในแง่ของการเรียนรู้ ความแตกต่าง การต่อสู้ แรงจูงใจ ตลอดจนการประยุกต์ใช้ เพื่อความสงบสุขของชุมชนและสังคม

คณะบรรณาธิการชาวเฮ

« « Prev : บริหารแบบไม่บริหาร: Google’s Eric Schmidt

Next : เรื่องเกี่ยวกับความคิด » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

6 ความคิดเห็น

  • #1 sutthinun ให้ความคิดเห็นเมื่อ 25 May 2009 เวลา 1:22

    ระหว่างที่อ่านทวนยกสุดท้าย ถ้าเจอคำเย่นเย้อ
    คนอ่านสามารถเข้าไปแก้ได้ไหม
    โดยภาพรวมแล้วเยี่ยมมาก

  • #2 Logos ให้ความคิดเห็นเมื่อ 25 May 2009 เวลา 1:34
    จาก draft ที่อ่านด้วย Acrobat Reader สามารถก๊อบปี้มาลง Word แล้วแก้ไขได้โดยไม่ต้องจัดให้สวยนะครับ ตรงไหนจะเน้น ใช้ตัวเอียง เสร็จแล้วส่งมาที่ผมครับ

    ตั้งใจจะทำให้เสร็จก่อนวันศุกร์ที่ 29 นี้ เผื่อว่าจะพิมพ์แล้วเริ่มส่งให้กับผู้จองได้ทันงานปลูกต้นไม้ครับ

  • #3 bangsai ให้ความคิดเห็นเมื่อ 25 May 2009 เวลา 2:19

    ผมปริ๊นออกมาทั้งหมดแล้ว มานั่งพิจารณา แก้ไขส่วนที่ควรแก้ไขน่ะครับ ส่วนหนึ่งได้ส่งมาให้ดูแล้ว

  • #4 Logos ให้ความคิดเห็นเมื่อ 25 May 2009 เวลา 3:06
    ที่พี่แจ้งมาแก้ไขหมดแล้วครับ โหลดใหม่ได้ หรือจะไม่โหลดใหม่ก็ได้ครับ หน้าไม่เปลี่ยน ยังใช้ไฟล์เดิมดูได้

    แต่ถ้านักเขียนท่านใดยังไม่ได้โหลดไฟล์ไป จะเห็นเวอร์ชั่นล่าสุด (ตีสาม) ครับ

    จบคราวนี้ ควรจะเล่น blog tag จปผ นะครับ

  • #5 Logos ให้ความคิดเห็นเมื่อ 25 May 2009 เวลา 16:35
    สำหรับผู้ที่ช่วยตรวจทาน จะมีการแก้ไขทันทีที่อ่านการแจ้งเตือนครับ เมื่อแก้แล้วจะอัพโหลดขึ้นเครื่องแม่ข่ายทันที จึงขอให้สามารถโหลดรุ่นล่าสุดไปดูได้ตาม URL ทีีเคยแจ้งไป เมื่อไหร่ก็เมื่อนั้น ไฟล์ขนาด 15 MB 148 หน้า (แต่ถ้าพิมพ์แล้ว ไม่ต้องพิมพ์ใหม่นะครับ)
  • #6 Logos ให้ความคิดเห็นเมื่อ 26 May 2009 เวลา 3:38
    คืนนี้เพิ่งได้อ่านหนังสืออย่างจริงจังในระหว่างจัดรูปแบบ (ซึ่งต้องอ่านทุกตัวอักษร)

    เป็นหนังสือที่ดีจริงๆ ครับ ขอบอก

    สำหรับในไอเน็ต สั่งจองที่คุณพัช (IS) โดยยังไม่ต้องจ่ายเงินครับ


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 0.99003314971924 sec
Sidebar: 0.47284007072449 sec