ปัญหาชวนคิดของน้ำป่า
อนุสนธิจากการประชุมกับกลุ่ม CSR โคราชเมื่อวันอาทิตย์ (บันทึกที่แล้ว) มีข้อมูลของคุณอลงกต ผอ.กองทุนวิจัยและอนุรักษ์ช้างไทย
คุณอลงกตอยู่ในพื้นที่ เดินป่า และรู้จักเจ้าหน้าที่อนุรักษ์ป่ารุ่นบุกเบิกมากมาย เล่าให้ฟังว่าน้ำท่วมคราวที่แล้ว ท่วมมิดหลังช้างซึ่งติดอยู่กับกอไผ่ ช้างต้องชูงวงขึ้นเหนือน้ำเอาตัวรอด จนเจ้าหน้าที่ไปช่วยแก้ไขนำออกมา
ในป่าเขาใหญ่ ลำน้ำที่ไปลงลำตะคองผ่านปากช่องนั้น ต้นน้ำอยู่ลึกเข้าไปในป่า กลางทางเป็นน้ำตกเหวสุวัต ความเร็วของกระแสน้ำตั้งแต่ต่นน้ำจนถึงน้ำตกเหวสุวัต พวกเจ้าหน้าที่อนุรักษ์ป่าเก่าๆ บอกว่าไม่ค่อยเปลี่ยนแปลง แต่กระแสน้ำมีความเร็วสูงขึ้นมาก ตั้งแต่น้ำตกเหวสุวัตลงไปยังเขื่อนลำตะคอง ผ่านหมูสี ขนงพระ หนองน้ำแดง ปากช่อง จันทึก ทั้งนี้เป็นเพราะผู้คนเข้ามาตั้งบ้านเรือน ทำให้สภาพริมตลิ่งเปลี่ยนแปลงไป
เปลี่ยนอย่างไร: คุณอลงกตอธิบายว่าเมื่อก่อน ริมตลิ่งมี swamp (พื้นที่ปะทะของน้ำ) เมื่อน้ำป่าไหลบ่ามาชนตลิ่งที่คดเคี้ยว ก็จะไหลท่วมตลิ่งเข้าสู่ที่ลุ่มชุ่มน้ำ ลดความรุนแรงลง แล้วก็จะไหลออกไปตามแรงดึงดูด
ต่อมาเมื่อมีการตั้งบ้านเรือน พื้นที่ swamp ถูกปรับปรุง ถูกถม มีเขื่อน ทำให้น้ำป่าไหลบ่าไปตามทางน้ำ โดยไม่มีอะไรมาชะลอความเร็วลง ดังนั้นเมื่อฝนตกหนัก น้ำป่าใช้เวลาไม่นานที่จะไหลเข้าท่วมชุมชนในที่ต่ำกว่า ทำให้ชาวบ้านมีเวลาในการขนของหนีน้ำน้อย ข้าวของจึงเสียหายมาก