มุมมองผู้บริโภคและพลเมืองต่อแผนแม่บทฯ กสทช.
สำนักงานคณะกรรมการกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (สำนักงาน กสทช.) จะจัดเวทีสัมนาและรับฟังความคิดเห็นในวันพฤหัสบดีที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕ เวลา ๐๘.๓๐-๑๖.๓๐ น. เป็นเรื่อง (ร่าง) แผนแม่บทฯ 3 ฉบับ มีเวลารับฟังความคิดเห็น 35 45 และ 30 นาที ตามลำดับสำหรับร่างแผนแม่บททั้งสามฉบับ ซึ่งคงมีผู้เชี่ยวชาญไปปล่อยของเยอะแยะ คงไม่เหลือเวลาสำหรับผู้บริโภคและพลเมืองคนหนึ่งซึ่งไม่ได้ทำธุรกิจนี้อีกแล้วมั๊งครับ (รู้ว่าคิดไปเอง…แต่ก็คิดอยู่ดี)
อย่างไรก็ตาม ทั้งในฐานะของผู้บริโภคและพลเมือง ผมก็มีความคิดเห็นต่อบางส่วนของแผนแม่บทดังกล่าวบ้างเหมือนกัน อยากจะใช้พื้นที่ตรงนี้เขียนเอาไว้ โดยมองจากบางประเด็นซึ่งสำนักงาน กสทช.ได้เผยแพร่เอกสารไว้ล่วงหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่อง (ร่าง) แผนการจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึง และบริการเพื่อสังคม (พ.ศ. 2555-2559)
จากเอกสาร (ร่าง) แผนการจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึง และบริการเพื่อสังคม (พ.ศ. 2555-2559) หน้า 36-37
สถานการณ์การเข้าถึงบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงของประเทศไทยมีอัตราอยู่ในระดับต่ำมาก ทั้งนี้ ข้อมูลการกระจายตัวของโครงข่ายบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในมิติด้านความครอบคลุมต่อจำนวนครัวเรือนจากฐานข้อมูลของ สำนักงาน กสทช. พบว่า พื้นที่ให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงมีครอบคลุมครัวเรือนทั้งสิ้น 8,246,150 แห่ง หรือ คิดเป็นร้อยละ 39 ของครัวเรือนทั้งประเทศ และเมื่อพิจารณาในมิติของจำนวนผู้ใช้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (Subscribers) กลับพบว่ามีจำนวนครัวเรือนเพียง 2,114,197 แห่ง ที่ใช้บริการดังกล่าว หรือคิดเป็นร้อยละ 10 ของจำนวนครัวเรือนทั่วประเทศ
ทั้งนี้ กล่าวได้ว่าครัวเรือนที่อาศัยอยู่ในเขตพื้นที่ให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงอีกจำนวนกว่า 6,131,953 ครัวเรือน หรือ คิดเป็นร้อยละ 29 ของจำนวนครัวเรือนทั่วประเทศ ไม่ได้มีการเชื่อมต่อบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงเข้าสู่ครัวเรือน ซึ่งหากรวมจำนวนครัวเรือนที่อาศัยอยู่นอกเขตพื้นที่ให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง สรุปได้ว่า สถานการณ์การเข้าถึงบริการอินเทอร์เน็ตความเร็งสูงในประเทศไทยยังอยู่ในระดับต่ำ โดยที่มีครัวเรือนอีกจำนวน 19,029,779 ครัวเรือน หรือคิดเป็นร้อยละ 90 ของจำนวนครัวเรือนทั้งประเทศ ที่ยังไม่มีการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ซึ่งอาจจะมีสาเหตุการไม่เชื่อมต่อบริการดังกล่าวในหลายปัจจัย และเป็นประเด็นที่มีผลต่อการกำหนดนโยบายด้านการขยายการเข้าถึงบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงของ กสทช. ที่จะต้องนำปัจจัยต่างๆ ดังกล่าวมาประกอบการพิจารณา ต่อไป
ผมดีใจที่เห็นข้อความข้างบนปรากฏอยู่ คือถ้าไม่รู้ว่ามีปัญหาอะไร ก็ไม่มีโอกาสจะแก้ไขปัญหานั้นหรอกนะครับ ถ้าอนุมาณว่าข้อมูลข้างบนถูกต้อง ครัวเรือน 29% ที่อยู่ในเขตการให้บริการแต่เลือกที่จะไม่ใช้บริการนั้น ผมคิดว่าเป็นสิทธิ์ของเขา และเป็นเรื่องการตัดสินใจลงทุนของผู้รับใบอนุญาตเอง แต่ว่าครัวเรือนอีก 61% ที่อยู่นอกพื้นที่ให้บริการนั้น ถึงอยากจะใช้บริการก็ใช้ไม่ได้นะครับ… อันนี้คือความไม่ทั่วถึงและไม่เท่าเทียม
ข้อ ๕ ผู้รับใบอนุญาตมีหน้าที่ต้องจัดสรรรายได้พึงประเมินในอัตราร้อยละ ๔ ต่อปี ให้แก่กองทุน เพื่อนำไปใช้ดำเนินการตามแผนการจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม
แต่ตั้งแต่ยุค กทช.มาแล้วครับ ผู้รับใบอนุญาตก็จ่ายสมทบค่า USO เพราะถึงอย่างไรก็ผลักภาระให้ผู้บริโภคได้อยู่ดี ด้วยการ “ลดช้า” หรือ “ปัดเศษขึ้น” แล้วเมื่อจ่ายค่า USO ไปแล้ว ผู้รับใบอนุญาตก็จะ “ทิ้ง” ท้องถิ่นที่ “ไม่มีธุรกิจ” ไป ทำให้พื้นที่จำนวนมากของประเทศ ไม่มีการบริการคมนาคมพื้นฐานอย่างที่ควรจะเป็นโดยเฉพาะอย่างยิ่งอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง — นี่คือ 61% ของครัวเรือนทั้งประเทศที่อยู่นอกพื้นที่ให้บริการ และถึงอยากจะใช้บริการก็ใช้ไม่ได้
เพื่อแก้ไขปัญหาสองอย่างคือ (1) พื้นที่ห่างไกลจากบริเวณที่มี high-speed trunk ให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงอยู่แล้ว และ (2) เงินกองทุน USO งอกขึ้นเรื่อยๆ โดยยังไม่ได้แก้ปัญหาความทั่วถึงและเท่าเทียม อยากให้ กสทช. พิจารณาข้อเสนอต่อไปนี้
- ออกใบอนุญาตสำหรับผู้ให้บริการทางผ่านสำหรับแก้ปัญหา last mile โดยกองทุน USO สนับสนุนการจัดตั้งเสาสัญญาณ wireless local loop ไม่เกินเสาละ p หมื่นบาทจ่ายตามความเป็นจริง (หรือว่ากองทุน USO ซื้อทรัพย์สินให้แล้วนำไปติดตั้งในท้องถิ่นตามข้อกำหนด) เพื่อรับส่งสัญญาณอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงที่ระยะไกลกว่า 4 กม. จาก high-speed trunk (ในอำเภอ) ที่ให้บริการอยู่แล้ว — ใบอนุญาตนี้ไม่ให้เก็บค่าบริการผ่านทางจากผู้ใช้บริการปลายทาง เพื่อเปิดโอกาสให้ท้องถิ่นที่ต้องการบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงได้ใช้บริการในลักษณะนี้ และให้เก็บค่าไฟฟ้าเล็กน้อยจากผู้รับใบอนุญาตที่ให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ส่วนการลงทุนนั้นมาจากการสนับสนุนของกองทุน USO และการออกแบบทางโทรคมนาคมจาก TRIDI หรือ เนคเทค… เงื่อนไขตามนี้ จะให้ผู้ให้บริการทางผ่านของข้อมูลกลายเป็นกิจการที่ไม่แสวงหาผลกำไรไปโดยธรรมชาติ จะไม่ขัดกับใบอนุญาตที่ออกไปแล้วเพราะถึงอย่างไรกิจการที่แสวงหาผลกำไร (ผู้รับใบอนุญาตอื่นๆ) ก็ไม่สนใจพื้นที่อย่างนี้อยู่แล้วเนื่องจากไม่คุ้มค่าการลงทุนที่จะลากสายออกมาตั้ง DSLAM
- เพราะผู้ให้บริการทางผ่าน อาจจะต่อกับ high-speed trunk ได้แห่งเดียวด้วยข้อจำกัดทางการลงทุน ดังนั้นอาจจะเหนี่ยวนำให้เกิดการรวมตัวเชื่อมต่อกันระหว่าง(สาขาของ)ผู้รับใบอนุญาตต่างๆ ที่เปิดบริการอยู่ในท้องถิ่นนั้น ทำให้ท้องถิ่นสามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลกันได้โดยไม่ต้องวิ่งมาอ้อมที่กรุงเทพ
- ประกาศอนุญาต unlicensed bands ซึ่งให้ใช้กำลังส่งไม่เกิน 100 mW EPP โดยไม่ต้องขออนุญาต; ควรพิจารณาประกาศเพิ่มเติม เพื่อเพิ่มกำลังเป็นไม่เกิน 1 W (ตาม FCC) และให้ขออนุญาต เพื่อใช้เฉพาะคู่กับเสาอากาศแบบบีมสัญญาณให้พุ่งไปในทางเดียว เพื่อใช้เป็น wireless local loop ระยะไกลเกินกว่า 4 กม. ซึ่ง DSLAM ให้บริการไม่ได้ (ตามเอกสารข้างบน อ้างแล้ว)
- เปิดให้ใช้ freespace optic กำลังต่ำสำหรับแก้ปัญหา last mile ผมแปลกใจมาตั้งแต่สมัย กทช.แล้วว่าทำไมจึงไม่ปล่อย freespace optic ออกมาพร้อมกับ unlicensed band เนื่องจากโอกาสเกิดการรบกวนระหว่างกันนั้นแทบไม่มีเลย เนื่องจาก freespace optic ต้องการ line of sight ถ้าเกิดการบังกันขึ้น ก็ใช้ไม่ได้อยู่ดี
- โทรศัพท์พื้นฐานมีแต่จะลดความสำคัญลงเรื่อยๆ ดังนั้นสายสัญญาณที่จะวิ่งไปสู่พื้นที่ที่ไม่มีโครงข่ายสาย ยิ่งมีโอกาสน้อยลง มีแต่ WLL และ freespace optic เท่านั้นที่พอจะดึงให้ CAPEX และ OPEX ต่ำลงมาในระดับที่จะไม่ต้อง subsidize มากนัก แต่ว่าผู้รับใบอนุญาตก็ไม่อยากลงทุนในพื้นที่ที่ไม่มีธุรกิจ จึงเหลือแต่กองทุน USO ของ กสทช. ที่พอจะเปิดโอกาสให้พื้นที่ห่างไกลได้มีโอกาสได้รับบริการโทรคมนาคมพื้นฐานที่เท่าเทียมขึ้นบ้าง; ซึ่งข้อเสนอเหล่านี้ ไม่ตรงกับแผนงานข้อ 1.4 ในภาคผนวก 7 ของเอกสาร (ร่าง) แผนการจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึง และบริการเพื่อสังคม (พ.ศ. 2555-2559) ซึ่งจะเปิดประมูล USO ทั่วประเทศในวงเงินกว่าหมื่นเก้าพันล้านบาท
« « Prev : วิธีก่อสร้างโดมอย่างรวดเร็ว
Next : เที่ยวงานวันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2555 » »
ความคิดเห็นสำหรับ "มุมมองผู้บริโภคและพลเมืองต่อแผนแม่บทฯ กสทช."