อ.เวียงสา จ.น่าน
อ่าน: 3909เมื่อวาน ได้โอกาสดีที่ได้เรียนประสบการณ์จากทีม #thaiflood และ #arsadusit ที่ลงพื้นที่ จ.น่าน และ จ.สุโขทัย
แม้จะได้คุยเป็นเวลาสั้นๆ แต่มีประเด็นชวนคิด คือ อ.เวียงสาทางใต้ของ อ.เมืองนั้น ยังน้ำท่วมหนัก เริ่มเน่าเสีย ท่วมซ้ำซาก (ธรรมดาท่วมเดือน 8 ทุกปี) เพื่อที่จะดูให้ชัด ก็ต้องกลับไปดูแผนที่ครับ
ภูมิประเทศ
ดูจะเป็นแอ่งมีแม่น้ำน่านเป็นระดับต่ำที่สุด สังเกตได้ว่ามีแม่น้ำไหลมาจากภูเขาทั้งตะวันตกและตะวันออก มาลงแม่น้ำน่าน ใต้ตัว A มีแม่น้ำน่านจากทางเหนือ ไหลมาบรรจบกับแม่น้ำอะไรก็ไม่รู้ซึ่งไหลมาจากทางหุบเขาทางตะวันออก
แม้แม่น้ำน่านจะดูเหมือนเป็นแม่น้ำหลัก แต่แม่น้ำจากทางตะวันออกนั้น ท่าทางไม่ใช่เล่นเหมือนกัน เนื่องจากไหลผ่านหุบเขามา หากมีฝนตกหนักในภูเขา น้ำฝนที่ตกลงบนภูเขาก็จะต้องไหลลงที่ต่ำ ลงมารวมกันในหุบเขากลายเป็นแม่น้ำ จึงคาดว่ามีปริมาณน้ำมากเช่นกัน แต่เมื่อน้ำมากไหลมาเจอน้ำมาก อาจจะต้องจัดการจราจรของน้ำที่สามแยกบ้าง
แม่น้ำน่านก่อนผ่านสามแยก ไหลวกไปทางตะวันออกเฉียงเหนือ ก่อนจะย้อนกลับมาตะวันตกเฉียงใต้ อาการคล้ายๆ กับแม่น้ำเจ้าพระยาที่ไหลอ้อมผ่านท่าเรือกรุงเทพ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานแนวพระราชดำริ คลองลัดโพธิ์ สร้างทางลัดให้น้ำไหลลงทำเลได้เร็วขึ้น
เช่นเดียวกันตรงที่แม่น้ำไหลย้อนไปย้อนมานี้ หากทำทางลัดก็จะระบายน้ำทางเหนือได้รวดเร็วขึ้น จะระบายน้ำจาก อ.เวียงสา อ.เมือง กิ่งอ.ภูเพียง อ.ท่าวังผา และอำเภออื่นๆ ที่อยู่เหนือขึ้นไปได้อย่างรวดเร็วขึ้น
แต่เมื่อดูละเอียดแล้ว ปรากฏว่าในพื้นที่มีถนนตัดผ่านและมีบ้านเรือนชาวบ้านตั้งอยู่ จุดแคบที่สุดเป็นระยะประมาณ 400 เมตร ไม่ยากนักที่จะขุดคลอง แต่ขุดคลองไม่ได้เนื่องจากเป็นบ้านเรือนประชาชน… อาจจะใช้วิธีฝังท่อขนาดใหญ่ไว้ใต้ดินเป็นทางลัดของน้ำ
เรื่องนี้ดูเหมือนเป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องคุยกันในชุมชนครับ ไม่มีใครตัดสินใจแทนได้ แต่ถ้ายังแก้ปัญหาด้วยวิธีเดิมๆ (คือไม่ได้แก้อะไร รอวิกฤตผ่านไปเอง) ปัญหาเดิมๆ (น้ำท่วมซ้ำซาก) ก็จะกลับมาอีกนะครับ
ล้านฝาย
แผนที่ข้างบนที่มีรูปตัว A มีพื้นที่ประมาณ 50 x 50 กม. หรือ 2,500 ตารางกิโลเมตร ถ้าหากฝนตกวันละ 50 มม. ในพื้นที่นี้ ก็จะเป็นปริมาตรน้ำ ก็จะมีน้ำใหม่ 125 ล้านลูกบาศก์เมตรทุกวัน ซึ่งต้องไหลระบายแม่น้ำน่าน ถ้าไหลออกไปไม่ทัน น้ำก็จะเอ่อล้นตลิ่งกลายเป็นน้ำท่วมอย่างที่เกิดขึ้น ถึงตัวเลขพื้นที่จะไม่แม่นยำ แต่หลักคิดเป็นเช่นนั้นครับ — น้ำท่วมอีสานใต้ก็เป็นหลักการนี้ ฝน 600 มม./6วัน ตกในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ (2,100 ตร.กม) คิดเป็นปริมาณน้ำ 1,260 ล้านลูกบาศก์เมตร แล้วไหลลงเขื่อนสองเขื่อน เขื่อนลำตะคองมีความจุ 310 ล้านลูกบาศก์เมตร (และมีน้ำค้างอยู่ก่อนแล้ว) และเขื่อนลำพระเพลิงมีความจุ 110 ล้านลูกบาศก์เมตร (มีน้ำค้างอยู่ก่อนแล้วเช่นกัน) จะไปรับไหวได้อย่างไรครับ — น้ำท่วมหาดใหญ่ พูนพิน กรุงชิง ก็ทำนองเดียวกัน
แต่การสร้างเขื่อนเพื่อรับน้ำนั้น ไม่น่าจะเป็นไปได้ไม่ว่าในทางใดๆ แต่หากคิดจะป้องกัน เราก็ต้องพยายามชะลอน้ำ(ป่า)เอาไว้ไม่ให้ไหลมาลงแม่น้ำน่านในเวลาใกล้ๆ กัน
ที่จ.แพร่ มีการต่อต้านเขื่อนแก่งเสือเต้น ในที่สุดมีความคิดเรื่อง 1 ล้านฝาย = 1 เขื่อนแก่งเสือเต้น น่าจะเป็นแนวคิดที่ชาวน่านเรียนรู้และใช้ประโยชน์ได้ กล่าวคือแทนที่จะปล่อยให้น้ำไหลจากภูเขาสูง ลงสู่แม่น้ำน่านอย่างอิสระ ไปสร้างฝายชะลอน้ำไว้เยอะๆ เพื่อชะลอการไหลของน้ำลงมา หากน้ำไหลมาช้า ก็จะไม่รุนแรงเหมือนน้ำป่า แม่น้ำน่านมีเวลาระบายน้ำได้ทัน ไม่ท่วมไร่นาและบ้านเรือนอย่างที่เป็นอยู่
น้ำ
น่านไม่ได้มีน้ำประปาทุกพื้นที่ แม้แต่ประปาภูเขาก็ไม่ได้มีทุกพื้นที่ บางหมู่บ้าน ยังอาศัยน้ำบ่อซึ่งเป็นน้ำซับ (ประปาภูเขาก็ไม่มี)
ทีนี้เวลาน้ำป่าขุ่นคลักไหลมา ก็ลงท่วมบ่อน้ำของชาวบ้าน และนำตะกอนสกปรกลงไปในบ่อน้ำด้วย เมื่อน้ำท่วมไปแล้ว ตะกอนยังอยู่ในบ่อ ทำให้ใช้น้ำในบ่อไม่ได้ น้ำที่ท่วมบ่อน้ำไม่ลดลงง่ายๆ เนื่องจากตะกอนไปอุด จะต้องเอาน้ำออกจากบ่อ แล้วฆ่าเชื้อโรค บำบัดบ่อเสียใหม่
แต่ปัญหาใหญ่คือเอาน้ำออกจากบ่อไม่ได้ ชาวบ้านหลายร้อยหลังคาเรือนยังรอปั๊มน้ำอยู่ครับ ก็จะซื้อปั๊มน้ำส่งไปให้… ด้วยความน่ารักและความเกรงใจ เขาไม่ได้ขอปั๊มห้าร้อยตัว แต่ขอเพียงไม่กี่ตัว และจะหมุนเวียนกันใช้เอง!
เรื่องช่วยคน จะทำอะไร ไม่ควรงุบงิบทำหรอกนะครับ เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็ไม่เป็นไร จะเอาไปทำก็ยังโอเคแต่ควรประสานกันสักหน่อย เพื่อจะได้ไม่ต้องทำงานซ้ำซ้อนกัน
Next : รูปที่(ไม่)มีทุกบ้าน » »
4 ความคิดเห็น
ผมคิดว่าแนวคิดเหล่านี้ อบต พื้นที่นั้นสมควรได้รับไปคิดต่อ เพื่อหาทางรับมือกับปัญหาน้ำมาก น้ำน้อยต่อไปในอนาคต
อะไรทำได้หรือไม่ได้ คนในพื้นที่รู้ดีที่สุดครับ แต่ความคุ้นชินกับสิ่งที่เคยทำมา อาจจะทำให้มองข้ามความเป็นไปได้ในการปรับปรุง คนนอกไม่รู้รายละเอียดมากนัก แต่สามารถให้มุมมองที่สดใหม่ หากทั้งสองฝ่ายร่วมกันทำงาน ก็สามารถจะใช้จุดดีของแต่ละฝ่ายได้ –บล็อกพี่สอนผมเยอะครับ
ข้อมูลเพิ่มเติม
นักวิชาการแหล่งน้ำมีเต็มประเทศ แต่..เฮ้ออย่าเซดดีก่วา เดี๋วยอารมณ์แตกอีก
ตอนน้ำท่วมโคราช ผมออกไปลุยหาข้อมูล แต่นวชกลน. เขาไม่รู้ร้อนอะไรกันเลยสักคน
ตอนท่วมหาดใหญ่ผมก็หา ก็ได้ข้อสรุปเดียวกันกับโคราช เขียนบทความเสนอไปจนมือหงิก ก็แค่นั้น รัฐบาลอภิสิทธิ์ก็รับปาก ว่าจะตั้งกก.เร็วที่สุด แล้วชื่อผมก็ไปติดโผด้วย แต่แล้วก็ไม่มีอะไรออกมาจนบัดนี้ก็วืดไปแล้ว ถ้าน้องปูเธอมาทำต่อจะรักเลยนะ เรื่องทุกอย่างในอดีตให้อภัยหมด
เรื่องนี้จะแก้อย่างไร: รวบรวมแนวร่วม ตั้งเป้าหมายให้ชัด แล้วลงมือทำเลยครับ อย่าตั้งเงื่อนไขต้องได้อย่างนั้นอย่างนี้เอาไว้ก่อน ไม่เช่นนั้นภาคประชาชนก็จะไม่ขยับเสียที แล้วก็ต้องเป็นเหยื่อไปเรื่อยๆ ต่อให้ไม่มีแรงมหาศาลเหมือนภาครัฐ (ซึ่งรัฐก็ไม่ทำในสิ่งที่ควรทำอยู่ดี) แต่ก็คงไม่ถึงขนาดง่อยเปลี้ยเสียขาเป็นโปลิโอ หากขยับเข้าใกล้เป้าหมายได้หนึ่งก้าว ก็ยังใกล้เป้าหมายกว่ายืนฝันอยู่เฉยๆ นะครับ