การจัดสรรความถี่สาธารณะ

โดย Logos เมื่อ 1 January 2010 เวลา 23:09 ในหมวดหมู่ คอมพิวเตอร์ การใช้งาน โปรแกรม, สังคม ชุมชน ครอบครัว #
อ่าน: 5202

ความถี่ 2.4 GHz เป็นหนึ่งในความถี่ที่สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (International Telecommunication Union หรือ ITU) แนะนำให้ประเทศสมาชิก กันไว้เป็นความถี่สำหรับการใช้งานทางอุตสาหกรรม วิทยาศาสตร์ และการแพทย์ (ISM band) เรื่องนี้มีความสำคัญเนื่องจากหากทุกประเทศทำตาม (ซึ่งส่วนใหญ่ก็ทำตามจริงๆ) การผลิตเป็นจำนวนมาก จะช่วยให้ราคาต่อหน่วยถูกลง และผู้ใช้สามารถเข้าถึงโครงข่ายได้ในง่ายขึ้น

ในประเทศไทย ก่อนรัฐธรรมนูญปี 2540 กรมไปรษณีย์โทรเลขในขณะนั้น ได้จัดสรรความถี่ 2.4 GHz ให้แก่องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย (ปัจจุบันเป็น บมจ.ทีโอที) ให้ใช้สำหรับทำโทรศัพท์ทางไกลชนบท เพื่อประชาชนในพื้นที่ห่างไกลจากระบบโทรศัพท์ ในปี 2539 กรมไปรษณีย์โทรเลข ออกประกาศให้เครื่องวิทยุระยะสั้นที่ใช้ความถี่ ISM band ที่มีกำลังส่งต่ำ ไม่ต้องขออนุญาตตั้งสถานีวิทยุ ต่อมาในปี 2546 ก็มีประกาศยกเลิกเงื่อนไขที่ห้ามใช้นอกอาคารสถานที่

ในปัจจุบัน กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ได้ออก “กฎกระทรวง กำหนดให้เครื่องวิทยุคมนาคมและสถานีวิทยุคมนาคมบางประเภทได้รับยกเว้นไม่ต้องได้รับใบอนุญาต พ.ศ. 2547” ซึ่งในข้อ 2 (12) กำหนดกำลังส่งของเครื่องวิทยุรับส่งในความถี่ 2.4-2.5 GHz ไม่ให้มีกำลังส่งออกอากาศสมมูลแบบไอโซทรอปิก (Equivalent Isotropically Radiated Power : E.I.R.P.) เกิน 100 มิลลิวัตต์ [ข้อมูลเรื่องการรบกวนกัน ในย่านความถี่ 2.4 GHz]

ถ้าใช้ในอาคาร กำลังส่ง 100 mW E.I.R.P. ก็เหมาะดีแล้วครับ แต่เมื่อยอมให้ใช้นอกอาคาร กำลังส่งแค่นั้นมันไม่พอ ก็รู้รู้กันอยู่ สัญญาณแบบนี้ ไปไม่ไกล แค่ลมพัด ก็หลุดแล้ว ถ้าไปได้ไกลถึง 50 เมตร ก็ถือเป็นโชคแล้ว การที่ความถี่ในช่วงนี้ ส่งได้แค่ 50 เมตร จะให้ coverage ต่ำ ทำให้โอกาสที่เมืองไทยจะมี Wi-fi city เป็นไปได้ยาก เนื่องจากต้องใช้ access point เป็นจำนวนมาก

ในมหานครของต่างประเทศหลายแห่ง เขาขยายกำลังส่งได้ไกลกว่านี้ บางแห่งใช้กำลังส่ง 500 mW (แต่ทำให้ร้อนมาก จึงลดกำลังส่งลงมาเหลือ 3-400 mW แล้วใช้ร่วมกับ Smart Antenna) หากขยายกำลังส่งสูงสุดของอุปกรณ์ที่ใช้ความถี่วิทยุ ISM band ออกไปเป็น 300 mW เมื่อกำลังส่งสูงขึ้น 3 เท่า จำนวน access point ที่จะใช้ให้บริหารใน Wi-fi city ก็จะลดลง 9 เท่า; วันนี้ ดูจะไม่มีเหตุผลเลยที่เขตเมืองซึ่งไม่มีโทรศัพท์ทางไกลชนบท จะถูกจำกัดกำลังส่งไว้ เหมือนกับตั้งใจจะให้ใช้แต่ภายในอาคาร

E.I.R.P. หมายถึงกำลังส่งของ access point หักการสูญเสียในสายส่ง บวกกำลังขยายของสายอากาศ; เนื่องจากสายอากาศมีกำลังขยาย ดังนั้นเหลือให้กำลังส่งให้ access point ส่งด้วยกำลังนิดเดียว

ผมก็ไม่แน่ใจว่าเรื่องนี้ควรจะทำอย่างไร ไม่รู้ว่าจะเป็นกระทรวงไอซีทีจะออกกฏกระทรวงใหม่ หรือ สำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติจะทำอะไรได้ เพียงแต่คิดว่าเพื่อประโยชน์ของผู้ใช้แล้ว น่าจะมีการพิจารณาทำอะไรสักอย่างนะครับ จะได้ไม่ต้องซื้อ access point กันเยอะนัก

มีข้อเสนอเพิ่มเติมสองข้อ คือ

  1. ให้ขยายกำลังส่งเฉพาะเครื่องวิทยุรับส่งที่ทำงานรับส่งข้อมูลดิจิตอลระยะใกล้ในแบบ Spread spectrum หรือ CDMA (เช่น Wi-fi หรือ ZigBee (ที่จริง Bluetooth ด้วย แต่พวกนี้มีกำลังรับส่งต่ำมากอยู่แล้ว)) เรื่องนี้จึงจะไม่รบกวนต่อการใช้ความถี่ ISM band แบบอื่นๆ เช่น Cordless telephone
  2. ให้ใช้เฉพาะในเขตเมือง เขตเทศบาล เพื่อให้แน่ใจว่าไม่รบกวนโทรศัพท์ทางไกลชนบท

เพิ่มเติม (ขอบคุณ @lewcpe ครับ): สำหรับความถี่ 5 GHz ซึ่งใช้กับ Wi-fi 802.11 a/h/j/n กทช.ออก​ “ประกาศคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง การใช้ความถี่วิทยุสำหรับอุปกรณ์สื่อสารระยะสั้น (Short Range Devices) ย่านความถี่วิทยุ 5 GHz” บางช่วง ส่งได้ด้วยกำลัง 1 W ครับ

« « Prev : ข้อคิดส่งท้ายปีวัวดุ - แก้อาการสะกดจิตตัวเอง

Next : คิดอย่างแตกต่าง » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

ความคิดเห็นสำหรับ "การจัดสรรความถี่สาธารณะ"

ไม่มีความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 0.49942398071289 sec
Sidebar: 0.13107085227966 sec