สว.ในสังคมใหม่

70 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 30 พฤษภาคม 2011 เวลา 14:01 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 2629

ผมมีประสบการณ์การดูแลผู้สูงอายุในสังคมเมือง คราวที่แม่ยายมาใช้ชีวิตบั้นปลายร่วมกันที่บ้านขอนแก่น

เราไม่มีประสบการณ์มาก่อนโดยตรง แต่ผ่านสังคมเก่าที่มีญาติพี่น้องมากมายห้อมล้อม คุณปู่ คุณย่า เจ็บป่วยลูกหลานมากมายช่วยกันดูแลแม่คราวคุณยายมาอยู่กับเราด้วยนั้นนึกออกอย่างเดียวว่าจะต้องหาคนมาดูแล

เรามีบ้านในเมืองและอาชีพก็เดินทางบ่อยมากทั้งพ่อบ้านแม่บ้าน โดยเฉพาะผมต้องไปประจำต่างจังหวัดจะมาอยู่บ้านเพียงวันหยุดงานคือ เสาร์ อาทิตย์ ลูกสาวก็ไปเรียนหนังสือต่างถิ่น ไม่ได้อยู่บ้าน คนอยู่บ้านคือ คนใช้ เรียกเธอว่าผู้ช่วยแม่บ้านก็แล้วกัน

การที่จะให้ผู้ช่วยแม่บ้านมาดูแลคนแก่ที่ป่วย หากเจ็บป่วยธรรมดาก็คงพึ่งพาอาศัยกันได้ แต่หากเจ็บป่วยที่ต้องดูแลมากๆจะแก้ปัญหาอย่างไร…..? มีทางเดียวคือส่งโรงพยาบาลและ หรือ จ้างคนมาดูแล นั่นเราต้องมีเงินมากพอที่จะใช้จ่ายรายการเช่นนี้

ที่ขอนแก่นมีสถาบันฝึกอบรมผู้ดูแลผู้ป่วยสูงอายุ เราไปติดต่อ ก็ได้เด็กสาวมา ทางสถาบันรับประกันการผ่านงานดูแลผู้สูงอายุทั้งผู้หญิงผู้ชาย ซึ่งได้ฝึกฝนมาจึงมีมาตรฐานจึงขอรับค่าจ้างอย่างต่ำสุด 5000 บาทต่อเดือน กินอยู่กับเจ้าของบ้าน

เราจ้างมาหนึ่งคน เธอก็มีความรู้ในการดูแลผู้ป่วยสูงอายุดีแต่ สาวๆก็คือสาวๆ ย่อมมีการติดต่อสื่อสารกับคนรัก กับญาติพี่น้อง กับครอบครัวเขา และเรื่องราวของเธอเราก็รู้เพียงระดับหนึ่งเท่านั้น ลึกๆเธอเป็นคนเช่นไรนั้นเราตั้งสมมติฐานไว้แล้วก็ศึกษากันต่อไป

มีการเปลี่ยนแปลงผู้ดูแลผู้สูงอายุ ถึงสามคนใน 1 ปี ส่วนใหญ่เธอก็อ้างว่า กลับไปทำงานที่บ้าน คนใหม่มาก็ต้องศึกษากันใหม่ ทำความเข้าใจกันใหม่ ในที่สุดเราเปลี่ยนผู้ดูแลเป็นคนที่ 5 และเราจ้างเธอมา 2 คนที่เป็นพี่น้องกัน และเธอกำลังเรียนหนังสือ เธอบริหารเวลาเรียน ดูแลผู้ป่วยกลางวันหนึ่งคน กลางคืนหนึ่งคน เธอเป็นสาวชาวบ้านที่หน้าตาซื่อๆ ตรงๆ เงียบๆ เก็บตัวไม่เหมือนสาวๆคนอื่นๆที่รักสวย งาม และพยายามหาเวลาเพื่อตัวเองมากขึ้น แต่เธอสองคนนี้ไม่ มีแต่เรียนหนังสือกับทำงานดูแลผู้สูงอายุ เราเองพึงพอใจมาก เราเลี้ยงเธอเหมือนลูกสาว ทั้งๆที่เธอเป็นลูกจ้างมาดูแลแม่ และเธอก็ปฏิบัติกับเราเหมือนญาติผู้ใหญ่ เธอเรียนเราว่า ลุง ป้า

ต่างกันลิบลับในเรื่องการดูแลผู้สูงอายุของคนในสังคมสมัยนี้กับสังคมเก่า ครอบครัวเราส่งคุณแม่ไปเป็นคนไข้ประจำกับคุณหมอที่เรารู้จักครอบครัวคุณหมอดีเพราะสามีคุณหมอเรียนจบจากสถาบันเดียวกัน และรู้จักกันมาก่อนแม้จะไม่สนิทสนมแต่ก็เคารพนับถือกัน และให้ความเป็นกันเอง ต้นทุนแบบนี้มีส่วนช่วยมากในการขอรับคำแนะนำพิเศษต่างๆ

หากเราไม่อยู่บ้านทั้งสองคน ผู้ดูแลคุณแม่สามารถยกหูโทรศัพท์ตามรถพยาบาลมารับไปโรงพยาบาลได้ทันที และคุณหมอ หรือโรงพยาบาลก็อำนวยความสะดวกให้เต็มที่เพราะเป็นคนไข้ประจำนานนับ 10 ปี นี่คือความสะดวกของสังคมใหม่ แต่ทั้งหมดนี้คือ คุณต้องมีงบประมาณใช้จ่ายในความสะดวกเหล่านี้ และค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับสุขภาพนั้น แพง(หากพึ่งพิงระบบเอกชน)…ต่อรองไม่ได้ เสียด้วย..

ผมสรุปว่า

  • ผู้สูงอายุหนึ่งคน คนดูแลเพียงหนึ่งคนไม่เพียงพอ ต้องสองคน
  • การดูแลผู้สูงอายุที่เจ็บป่วยเรื้อรัง คุณต้องมีงบประมาณมากเพียงพอในระบบเอกชน

ผู้ดูแลต้องผ่านการฝึกอบรมการดูแลผู้ป่วยสูงอายุ


ครอบครัวสังคมไทยโบราณเหมาะกับสังคม สว.

23 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 30 พฤษภาคม 2011 เวลา 11:13 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 2039

บันทึกต่อไปนี้เป็นการรวบรวมประสบการณ์ส่วนตัวของตัวเองและครอบครัวเกี่ยวกับชีวิตบั้นปลาย ในฐานะที่เราเป็น สว.ก็อยากจะขีดเขียนมุมของตัวเอง

เราเรียนรู้กันมานานแล้วว่าครอบครัวของสังคมไทย หรือสังคมตะวันออกก็ว่าได้ เป็นครอบครัวใหญ่ ครอบครัวขยาย เกาะกลุ่มกันเหนียวแน่น ทั้งในด้านที่อยู่อาศัย วัฒนธรรมประเพณี ความเชื่อ และสภาพสังคม เศรษฐกิจ มันเอื้อให้สังคมออกแบบมาเป็นเช่นนั้น คือ ในครอบครัวหนึ่งมีสามชั่วคนอาศัยร่วมกันในบ้านหลังเดียวกัน หรือชิดติดกัน หรือไม่ห่างจากกัน หรืออยู่ในหมู่บ้านเดียวกัน สามชั่วคน นั้น ชั้นที่ 1 คือ ปู่ ย่า / ตายาย ชั้นที่ 2 คือ พ่อ แม่ ชั้นที่ 3 คือ ลูก

แต่หลายครอบครัวก็มีมากกว่า 3 ชั่วคน เพราะมีหลานและแหลนอีก ครอบครัวแต่ก่อนจึงอบอุ่น จนมีคำกล่าวว่า “เสียงเด็กร้องไห้ เสียงไอคนแก่” เป็นสภาพสะท้อนสังคมสามชั่วคนที่มาอยู่ร่วมกัน ใกล้ชิดกัน เมื่อวิเคราะห์ลงไปเห็นว่าเหมาะสมกับลักษณะเศรษฐกิจที่มีฐานการเกษตรกรรมเป็นหลัก เพราะต้องการแรงงานในการช่วยกันทำการเกษตรซึ่งแรงงานเป็นปัจจัยหลัก ครอบครัวสมัยนั้นจึงต้องการมีลูกหลายคน แถบภาคกลางผมนั้นคุ้นเคยกับครอบครัวที่มีเด็กมากครอบครัวที่มีลูกน้อยที่สุดคือ 3 คน ส่วนใหญ่ 5-7 คน พอจบ ป. 4 ก็ออกจากโรงเรียนไปช่วยครอบครัวทำนากันทั้งนั้น

ครอบครัวแบบนี้อบอุ่น และเหนียวแน่น เพราะความเป็นญาติพี่น้อง เมื่อครอบครัวไหนมีเด็กเล็กก็จะมีพี่พี่ช่วยดูแลแทนพ่อแม่ที่ต้องไปใช้แรงงานทำมาหากิน ครอบครัวไหนมีคนเฒ่าคนแก่เจ็บป่วย ผู้ใหญ่ก็จะแบ่งญาติพี่น้องมาช่วยดูแล อาศัยหมอพื้นบ้าน ต้มยาสมุนไพร โบก พัดวีให้ นวดตัวนวดแขนขาให้ เช็ดเนื้อเช็ดตัวให้ หาข้าวปลาอาหารให้… โดยแรงงานการเกษตรแม้จะขาดไปสักคนสองคนก็มีญาติพี่น้องทดแทนให้

เด็กๆจะวนเวียนอยู่กับผู้ใหญ่ เห็น เรียนรู้โดยไม่ต้องเข้าห้องสอน ผู้ใหญ่ก็จะบอกกลบ่าวสั่งสอน ให้เหตุให้ผล ว่ากล่าวตักเตือน จนถึงตีก้นหากดื้อดึง

ผมเติบโตใสจากสภาพสังคมแบบนี้จริงๆ ผมมีปู่ ย่า ตายาย อา น้า พี่ๆ ญาติพี่น้องเต็มไปหมด นับกันไม่หวาดไม่ไหว ผู้ใหญ่ก็จะแนะนำให้กราบไหว้ ลุง ป้า น้า อา ท่านนั้น ท่านนี้..บางทีท่านเหล่านั้นก็เรียกไปกอด จูบ ให้ขนม ให้เศษสตางค์

สังคมแบบนี้คือประสบการณ์ผมเมื่อยุคก่อน 2500 หรือไม่เกิน 2510

ผู้เฒ่าผู้แก่เมื่อเจ็บป่วยก็มีลูกหลานดูแลไม่ขาด ใครอยู่บ้านเหนือบ้านใต้รู้ข่าวก็มากัน ลูกๆ หลานๆออกเรือนไปอยู่ไหนก็หาเวลาแวะเวียนมาเยี่ยมเยือนกัน หาส้มสูกลูกไม้ ติดไม้ติดมือมา มาบีบมานวดให้พ่อใหญ่แม่ใหญ่กัน

อบอุ่นจะตาย คนเฒ่าคนแก่ที่เจ็บป่วยก็ชื่นใจ ลูกหลานมาเยี่ยม พี่ป้าน้าอามาเยี่ยมกัน พูดคุยกัน ถามไถ่หากัน

หลังการพัฒนาสังคมให้ก้าวไปสู่ความก้าวหน้า ทันสมัย ลูกหลานเลิกทำนา มุ่งหน้าไปหาความรู้ในห้อง จบออกไปก็ไม่ได้อยู่บ้าน แยกกันไปคนละทิศละทาง มุ่งแสวงหายศถาบรรดาศักดิ์เอามาคุยโอ้อวดกัน(ในที) ไอ้คนนั้น จบ ป.โท ป.เอกที่นั่น ที่นี่ อีคนนี้ได้ทุนไปเรียนเมืองนอก ไอ้คนโน้นเงินเดือนมันเป็นแสน….

แต่ผู้เฒ่าแม่เฒ่าเหงาหงอย ยิ่งยามล้มป่วย แทนที่จะมีลูกหลาน พี่น้องมาดูแลใกล้ชิด นี่ใครก็ไม่รู้มาใส่ชุดขาวๆมาดูแลให้ อธิบายว่า เป็นการดูแลรักษาตามวิทยาการสมัยใหม่ เป็นการจัดระบบใหม่ทางสังคม ลูกหลานกว่าจะปลีกตัวมาได้ ก็มาแบบรีบมารีบไป..ยังไม่ทันหายคิดถึงเลย ลูกคนนั้นต้องไปรับผิดชอบเรื่องนั้นเรื่องนี้ ทิ้งให้แม่ที่ป่วยไข้ให้คนอื่นมาดูแลแทน โดยลูกหลายทิ้งเงินไว้ให้จัดจ้างใครก็ไม่รู้มาดูแล

แม้จะถูกหลักอนามัย เป็นไปตามวิชาการสมัยใหม่ แต่จิตใจไม่ได้เลย เหงาเหลือเกิน จะเยี่ยมก็มีเวลาเยี่ยม วันๆมีเพียงไม่กี่ชั่วโมงที่ลูกหลานจะมานั่งจับขอบเตียงดูแม่ทำตาปริบๆ บีบจับอะไรมากก็ไม่ได้….

…อือ….สักวันหนึ่งผมและท่านๆ ก็คงจะอยู่ในสภาพนั้น


ขอขอบคุณ..

178 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 30 พฤษภาคม 2011 เวลา 1:06 ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 5466

ท้องฟ้าเย็นวันที่ 28 พ.ค. 2554

งานฌาปนกิจศพแม่สาคร ช่วงฉ่ำ เสร็จสิ้งลงแล้ว..

ลูกๆแม่สาคร ช่วงฉ่ำ กราบขอบพระคุณทุกท่านที่เดินทางไปร่วมงาน

ที่ร่วมทำบุญ และที่ส่งใจไปให้

ขอขอบพระคุณด้วยความซาบซึ้ง ทุกๆท่าน..


 


แม่สาคร

2264 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 25 พฤษภาคม 2011 เวลา 16:40 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 17013

แม่สาคร ช่วงฉ่ำ เป็นชาวบ๊าน ชาวบ้าน

ในมุมมองของคนสมัยใหม่ก็ว่าแม่เป็นบ้านนอก เปิ่น

พูดจาอะไร ใครได้ยินแล้วก็ยิ้มๆ เพราะภาษาที่ใช่ บ่งบอกความเป็นคนบ้านนอก

จะเดินเข้าร้านใหญ่ๆ แม่ก็ถอดรองเท้าเข้าร้าน เอารองเท้าวางไว้หน้าร้าน

ครั้งหนึ่งนานมาแล้ว ให้แม่มีประสบการณ์ขึ้นเครื่องบินจากขอนแก่นเข้ากรุงเทพฯ

แม่ก็ยกมือไหว้เครื่องบิน ยกมือไหว้แอร์โฮสเตทเขาไปทั่ว

สมัยที่ผมได้เข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พ.ศ. 2512 พ่อให้เงินค่ารถและค่าใช้จ่ายประจำเดือนผมเพียง 500 บาทจำนวนนี้รวมค่ารถจากกรุงเทพฯไปเชียงใหม่ในนั้นด้วย แม่แอบเอาเงินยัดใส่มือผมอีก 60 บาท

..กลัวลูกไม่พอกิน แต่แม่มีเพียงเท่านี้..

อีกครั้งหนึ่ง ครบกำหนดที่เปิดเทอมเรียนมหาวิทยาลัย จะต้องมีค่าเทอมแต่ทางบ้านไม่มีเงิน แม่เป็นคนดึงมือผมลงไปเก็บขวดใต้ถุนบ้านที่สะสมไว้เอาไปล้างทำความสะอาด แล้วเอาไปขายพอได้ค่ารถไปเชียงใหม่ แต่ค่าเทอมนั้นจะส่งตามไป ผมทราบว่าการแก้ปัญหาไม่มีเงินคือ แม่ต้องไปกู้ยืมเงินหลวงตาเจิมวัดตูมข้างบ้านส่งเป็นค่าเทอมให้ผม

…….ฯลฯ……..


เมื่อผมลงมาเยี่ยมแม่ที่บ้านในทุกช่วงโอกาส

ตอนที่ลากลับผมก้มกราบแม่

แม่จะดึงแขนผมไป หอม ฟอดใหญ่ทุกครั้ง พร้อมบอกว่า

“แม่คิดถึงลูกนะ หมั่นมาเยี่ยมแม่เมื่อมีโอกาสนะลูก”

มีคนทักว่า พ่อจะเสียชีวิตก่อนแม่ แม่สาครจะอยู่จนคลานเลย…

แม่สาคร ชาวบ๊านชาวบ้าน ทำนา ทำสวนครัว เป็นแม่บ้านของครูประชาบาล ส่งลูกเรียนหนังสือ 7 คน …. แม่ชอบอ่านหนังสือธรรม ชอบทำบุญเหมือนชาวบ้านทั่วไป

แม่สาคร วัย 89 ปี แบกสังขารที่มีหัวใจโต ความดันต่ำ ไตวายขั้นสุดท้าย ตับพิการ ปอดติดเชื้อ มือเท้าบวมเป่งเพราะระบบภายในหมดอายุ หมดศักยภาพที่จะทำหน้าที่ต่อไปได้

แม่สาครชาวบ๊าน ชาวบ้านท่านนี้นอนบนเตียงมา 2 เดือนเศษ

เตียงข้างๆล้มหายจากไปคนแล้วคนเล่า ต่อหน้าต่อตาปริบๆของแม่สาคร

แล้วคืนวันที่ 23 ตี 1อีก 50 นาทีผมเขียนงานเสร็จก็ล้มตัวลงนอนที่บ้านขอนแก่น อีกเพียง 5 นาทีเท่านั้นเสียงโทรศัพท์ก็ดังขึ้น เสียงน้องชายผมบอกว่า “แม่เราไปแล้วพี่….”

ถึงคราวที่แม่สาครละสังขารไปด้วยความสงบ

..ผมรักแม่ครับ..


เมฆขาว

200 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 24 พฤษภาคม 2011 เวลา 4:19 ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 7840

เมฆขาว

เจ้ามาจากธุลี

เหตุปัจจัยทำให้เจ้าแสดงรูปร่างออกมา

ลอยละล่อง ตามกระแสลม

แล้วเจ้าก็กลับคืนสู่ธรรมชาติเดิมแท้

สงบเถิดเมฆขาว


กะปูด

139 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 19 พฤษภาคม 2011 เวลา 22:21 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 3744

นั่งเขียนงานอยู่ ได้ยินเสียง ก๊ก.. ก๊ก..

โผล่ไปดูที่หน้าต่างผ่านมุ้งลวด

เห็นเจ้านกกะปูดกำลังทุบอะไรอยู่

ขยับไปแอบดูใกล้ๆผ่านมุ้งลวด

นั่นมันหอย เมื่อฝนตก ดินชื้น หอยก็เดินกันทั่วรั้วบ้าน

นั่นมันอาหารเลิศรสของเจ้านกกะปูดรึนี่

เจ้ากะปูดตาแดง ใช้ปากจิกหอยแล้วก็ทุบ

จนเปลือกหอยแตกออก

แล้วก็ใช้ความคมของปากจิกเอาเนื้อออกมาจากเปลือก

ตัวกำจัดหอยโดยธรรมชาติ

… วงจร ห่วงโซ่อาหาร …


ถึงท่านสีสุวัน ๓

3 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 19 พฤษภาคม 2011 เวลา 16:05 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 1040

๓ : โปแกรม PhotoScape การ Download โปรแกรมท่านพิมพ์คำนี้ลงใน Google ท่านก็จะได้ข้อมูลเกี่ยวกับ PhotoScape มากมาย ท่านก็เลือก Download โปรแกรมนี้ใน version ล่าสุด ดูเหมือนจะเป็น Version 3.5 ฟรีนะครับ


No.1 แสดงผลการค้นหาโปรแกรม PhotoScape ใน Google

เมื่อ Download และ install แล้วก็ลองเปิดดูหน้าตาของโปรแกรมนี้นะครับ

หรือ

No. 2 แสดงหน้าตาของโปรแกรม PhotoScape เมื่อ download แล้ว install แล้ว และลองเปิดดู

โปรแกรมนี้มีลูกเล่นเยอะ ก็เจ้าวงกลมที่มีรูป สัญลักษณ์ต่างๆนั้นล้วนเป็นลูกเล่นทั้งนั้น ลองเล่นดูนะครับ จะขอกล่าวเฉพาะส่วนที่ใช้ปรับแต่ภาพเท่านั้น

๔ : การแก้ไขภาพ ลูกเล่นส่วนนี้ของ PhotoScape ทำอะไรได้มากมายจริงๆ ผมใช้ประจำ กล่าวได้ว่าเป็นหลักก็ได้ เพราะลูกเล่นอื่นๆเกือบไม่ได้ใช้เลย


การแก้ไขภาพก็คือการเอาภาพของเราที่มีข้อที่สมควรปรับแก้มาใช้โปรแกรมนี้ ลูกเล่นนี้จัดการแก้ไข เช่น กรณีที่รูปที่เราถ่ายมามันเอียง


ดังรูปตัวอย่างนี้ เราก็สามารถใช้ลูกเล่นของ PhotoScape จัดการได้ดังนี้

  • เมื่อเปิดโปรแกรม PhotoScape แล้ว เราไปคลิก “แก้ไขภาพ” เราจะได้รูปที่ที่หน้าจอของเรา


เราก็ดูทางซ้ายมือของจอ พยายามเลื่อนเคอร์เซอร์ไปที่ directory ที่มีรูปที่เราต้องการแก้ไข ปรับปรุง เมื่อพบแล้วเราก็เอาเคอร์เซอร์ไปคลิกรูปที่เราต้องการแก้ไข รูปนั้นก็จะไปปรากฏในช่องว่างใหญ่ทางขวามือพร้อมที่จะให้เราจัดการอื่นๆต่อไป


รูปนี้ที่เราจะแก้ไขก็คือ รูปถูกถ่ายมาไม่อยู่ในแนวระนาบ มีลักษณะเอียง ทางขวามือต่ำลง ทางซ้ายมือสูงขึ้น เราต้องการใช้ลูกเล่นของ PhotoScape ปรับแก้ไขให้รูปนี้อยู่ในแนวระนาบ เราทำได้ดังนี้


ที่หน้าจอของ PhotoScape ที่มีรูปที่เราต้องการแก้ไขนั้น ตรงลูกศรชี้จะมีสัญลักษณ์ ที่มีความหมายให้สามารถปรับแก้ภาพลักษณะนี้ได้ เราก็คลิกไปที่สัญลักษณ์นี้ เราจะได้หน้าจอเป็นอย่างนี้..


หน้าจอเราจะเห็นรูปซ้อนกัน รูปหน้าสุดจะมีตารางปรากฏให้เห็นถึงระนาบมาตรฐานของรูป ซ้อนกับรูปที่เราต้องการแก้ไข จากนั้นเราก็เอาเคอร์เซอร์คลิกแช่ไว้ที่สัญลักษณ์ตรงลูกศรแดงชี้ แล้วลองขยับไปมา เราก็จะพบว่า รูปนั้นมีการปรับระนาบไปตามที่เราขยับ

เราก็ดำเนินการขยับเคอร์เซอร์ไปจนกว่ารูปที่เราแก้ไขนั้นปรับอยู่ในสภาพระนาบที่สุด แล้วก็ไปคลิก “ตกลง” รูปนี้จะหายไปและรูปเดิมที่ปรากฏหน้าจออยู่นั้นจะใช้เวลานิดหนึ่งทำการปรับให้อยู่ตามแนวระนาบที่เราจัดทำไว้นั้น

นี่คือรูปสุดท้ายที่เราได้มาทางหน้าจอคอมพ์ของเรา

จากนั้นเราก็สามารถ resize หรือย่อ หรือขยายรูปนี้ได้ ตามความต้องการขนาดขอรูปที่เราต้องการนำไปใช้
โดยเราคลิกไปที่ลูกศรของปุ่ม “ย่อ/ขยาย” เราจะได้ภาพข้างล่างนี้

แล้วเราก็เลิก scale ที่เราต้องการ คลิกไปตรงขนาดที่ต้องการ รูปเราก็จะ ย่อ หรือขยายไปอยู่ขนาดที่เราคลิกนั้น แล้วเราก็ save ไว้ เราก็จะได้รูปที่ต้องการดังข้างล้างนี้

เราจะได้รูปเดิมที่ไม่เอียง พร้อมที่จะเอาไปใช้ประโยชน์อื่นๆต่อไป

ต่อ ตอนที่ 4


ถึงท่านสีสุวัน ๒

508 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 19 พฤษภาคม 2011 เวลา 14:13 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 3804

๒ : ยุค DSLR กล้องพัฒนาไปมากมายเป็นประโยชน์มหาศาลโดยเฉพาะวงการแพทย์ และวิทยาศาสตร์แขนงต่างๆที่จำเป็นต้องใช้รูปถ่ายประสิทธิภาพสูง ถ่ายง่าย ดูซิ เจ้าดาวเทียมสหรัฐนั้น วัตถุขนาด 1 เมตรเคลื่อนไหว ดาวเทียมซูมเข้ามาเห็นละเอียดยิบ นอกจากนี้ยังใช้ภาพถ่ายไปเป็นประโยชน์ทางการเกษตรด้วยมากมาย เช่น เนื่องจากประเทศไทยส่งออกข้าวเป็นอันดับหนึ่งของโลก ปริมาณข้าวและคุณภาพข้าวแต่ละปีนั้นเป็นปัญหาต่อคู่แข่งการส่งข่าวออกทั้งสิ้นคือไปแข่งราคาตลาดโลกกัน ปริมาณการผลิตต่อปีและที่จะส่งออกนั้นมีผลต่อการกำหนดนโยบายของประเทศคู่แข่ง

ผู้รู้กล่าวว่าดาวเทียวอเมริกาวนมาเหนือหัวบ้านเราถ่ายรูปแปลงข้าวทั่วประเทศของเราในแต่ละช่วงเวลาไว้ ประกอบกับข้อมูลทางราชการ สถิติต่างๆที่เปิดเผยนั้น อเมริกาสามารถคาดการณ์ได้ว่าปีนี้ไทยจะผลิตข้าวได้เท่าไหร่ กินเท่าไหร่ มีสถิติอยู่แล้ว จะส่งออกเท่าไหร่ เขาจะแข่งขันกับเราจะทำอย่างไรได้บ้าง ข้อมูลเหล่านี้มีส่วนสำคัญในการเอาไปกำหนดนโยบายการค้าข้าวกับไทย และประเทศอื่นๆ

ผมก็ฝอยไปเรื่อยไม่เข้าเรื่องซักที กำลังโม้ว่า กล้องถ่ายรูปมีประโยชน์มากมายเกินกว่าคนทั่วไปใช้เก็บภาพที่ระลึกมาเท่านั้น

แม้ว่ากล้อง DSLR จะมีความสมบูรณ์มากๆแล้วเกือบไม่ต้องทำอะไรเลย แค่กดชัดเตอร์ก็จะได้รูปสวยๆมาแล้ว เพราะระบบคอมพิวเตอร์ในกล้องถูกพัฒนาให้ปรับค่าต่างๆโดยอัตโนมัติให้คนที่กด shutter release ไม่ต้องทำอะไรเลย

กระนั้นก็ตามแม้ว่ากล้องจะดีแค่ไหนก็ตาม หากปัจจัยภายนอกไม่เอื้อให้บ่อยครั้งเราก็ได้รูปที่ไม่พึงปรารถนา เช่น

มือสั่น เอ้า…ก็สร้างเทคโนโลยีป้องกันการสั่นมาให้

แสงน้อย ก็สร้างระบบการชดเชยแสงในตัวกล้องมาให้

แสง Contrast มาก ก็สร้างระบบเฉลี่ยแสงมาให้

หากเป้าหมายมีแสงสลัวๆ ก็ทำระบบวัดแสงมาให้และเชื่อมกับแฟลชอัตโนมัติ หากแสงไม่เพียงพอเกินไปแฟลชก็จะทำงานอัตโนมัติ…

กล้องรุ่นใหม่ๆยังสามารถโฟกัสได้หลายจุดในเฟรมเดียวกันอีก โอยเก่งไปหมดเจ้ากล้อง DSLR ในปัจจุบันนี้

เหลือแต่ว่า ผู้ถ่ายรูปจะมีศิลปะในการหามุมกล้องอย่างไรจึงจะสวย ออกมาดูดี จะถ่ายอย่างๆไรให้วนเวียนอยู่ในหลักการถ่ายรูป เรื่ององค์ประกอบก็สำคัญ เรื่องความชัดลึก เรื่อง Composition ฯลฯ และเรื่องการรอคอยจังหวะ เรื่องการคาดการณ์ล่วงหน้าว่าอะไรจะเกิด เราจะถ่ายรูปเหตุการณ์นั้นๆควรจะอยู่จุดไหนดีที่สุด ฯลฯ เหล่านี้ต้องเรียนรู้ไปถ่ายรูปไป วิเคราะห์วิจารณ์กันไป

บุคลากรที่พัฒนาการถ่ายรูปดีที่สุดคือกลุ่มนักข่าว นักเขียนบทความ นักสะสมรูปเฉพาะเรื่อง ท่านเหล่านี้จะต้องถ่ายรูปออกมาเป็นงานศิลปะแขนงหนึ่งทีเดียว ภายในเสี้ยววินาทีนั้นจะต้องได้รูปนั้นๆออกมา นี่คือมืออาชีพจริงๆ

อย่างไรก็ตามใครๆก็อยากถ่ายรูปให้ได้ดี แต่ก็มีอุปสรรคภายนอกมากมาย เช่น รูปขณะรถวิ่ง เรือวิ่ง ยากนะครับที่จะหามุมกล้องดีดีมาได้

ปัจจุบันจึงมี program จัดการเรื่องรูปมากมาย ที่จะมาช่วยแก้ไข ปรับปรุงรูปถ่ายของเราให้ดูดีได้ ผมจะไม่ขอกล่าวถึงโปรแกรมอื่นๆ จะกล่าวเฉพาะโปรแกรม PhotoScape เท่านั้น เพราะผมคุ้นกับมันเป็นอย่างดี…

ต่อตอน ๓



ถึงท่านสีสุวัน ๑

146 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 19 พฤษภาคม 2011 เวลา 11:45 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 2342

ท่าน “สีสุวัน สังบัวบุลม” หรือ Sisouvan Sangbouaboulom รู้จักกับผมทาง fb ในชมรมคนรักมวลเมฆ ท่านเป็นอาจารย์ที่วิทยาลัยเทคนิคในเวียงจัน ก็ติดต่อกันเรื่อยมาตามโอกาส ผมไปเวียงจันก็ไม่มีโอกาสนัดพบท่าน

มีครั้งหนึ่งท่านถามผมเรื่องการปรับแต่งรูปที่ถ่ายมาให้ดูดี ผมก็รับปากท่าน แต่ไม่ได้ลงมือสักที เลยถือโอกาสนี้ เขียนตามความเข้าใจของผมเสียที ผมเชื่อว่าแต่ละท่านก็มีเทคนิคเฉพาะตน หากท่านมีคำแนะนำเสริม เพิ่ม ก็เป็นประโยชน์แก่ผู้อ่านทั่วไปนะครับ

๑ : ก่อนอื่นๆทำความเข้าใจเรื่องกล้องสักนิดว่า ยุค DSLR หรือ Digital Single Lens Reflect หรือกล้องดิจิตอลที่เรารู้จักกันในปัจจุบันนั้นเข้ามาแทนที่กล้อง SLR หรือ Single Lens Reflect Camera เขาเรียกย่อๆว่า SLR ซึ่งเป็นกล้องรุ่นเก่าที่ไม่มีระบบอัตโนมัติต่างๆมากนัก ระบบธุรกิจด้านกล้องพัฒนามานานและญี่ปุ่นก็เป็นเจ้ายุทธ์จักรด้านนี้ ผมเติบโตและบ้ากล้องแบบลูกทุ่งมาสมัย Nikon F2 ใครบ้ากล้องย่อมรู้จักตัวนี้ว่ามันยอดเยี่ยมแค่ไหน และหนักจนคอเคล็ดเลยหละ

สมัยนั้น คร่าวๆเป็นว่า พ.ศ. 2520 ลงไปในอดีตนั้นใครที่เล่นกล้อง SLR นั้นจะต้องเรียนรู้วิธีถ่ายรูปมากกว่าปัจจุบันหลายเท่าตัว เพราะต้องตั้ง shutter speed และ Aperture เอง หรือตั้ง ความเร็ว shutter และรูรับแสงเอง ซึ่งมีหลักการ ทฤษฎีให้เรียนรู้กัน ซึ่งแค่เจ้าสองตัวนี่ก็มีเทคนิคมากมายว่าหากวัตถุประสงค์จะถ่ายรูปดอกไม้ควรตั้งอย่างไร หากจะถ่ายรูปวิว ควรจะตั้งอะไรอย่างไร การถ่ายรูป Portrait ควรจะ focus ตรงไหน เทคนิคทั้งนั้น คนไทยฝีมือดีดีในสมัยนั้นก็มีมากมาย มีการประกวดภาพถ่ายระดับชาติด้วย

คนเล่นกล้องสมัยนั้นเสียเงินมหาศาล เพราะเมื่อล้างอัดมาแล้ว ต้องจ่ายเงินน่ะซี ฟิล์มหนึ่งมี 36 รูปๆละ 10 บาทขนาด Postcard หากถ่ายหลายม้วน เธอเอ้ยข้าวปลาไม่ต้องกินกัน สมัยนั้นจะถ่ายสักรูปก็ต้องมั่นใจว่า ดี ใช้ได้ ถูกต้องตามหลักการถ่ายรูปแล้ว ตั้งค่าต่างๆถูกต้องแล้ว ผมนั้นยังหนุ่มแน่น ยังไม่มีภาระก็ทุ่มเงินเดือนซึ่งไม่กี่บาทลงมาที่รูปหมด อิอิ..โสน้าน่า



สมัยนั้นไม่มีคอมพิวเตอร์ และโปรแกรมตกแต่งรูปเหมือนปัจจุบัน ถ่ายไปอย่างไรก็ล้างอัดมาอย่างนั้น รูปสีที่ล้างมาทิ้งลงถังขยะก็มากมายเพราะเบลอบ้าง ฯ เจ้าของร้านล้างอัดเขาก็ชอบ ทั้งๆที่รู้ว่าจะล้างอัดมาแล้วก็ใช้ไม่ได้ เขาก็ล้างมาให้ เพราะเขาไปเงิน อิอิ อยู่เชียงใหม่สมัยนั้นก็รู้จักมักจี่กับร้านล้างอัดรูปหลายร้าน เดี๋ยวนี้หายไปไหนหมด…


บ้าขนาดลงทุนล้างอัดรูปขาวดำเอง ใช้ห้องส้วมที่พักนั่นแหละเป็นห้องมืด ขอยืมเครื่องมือเจ้าของที่พัก(เช่าที่พักอยู่) ซึ่งบ้ากล้องเหมือนกัน ศึกษากระบวนวิธีแล้วไปซื้อน้ำยามาล้างอัดจนสว่าง เอารูปขาวดำที่ล้างมาได้ ห้อยผึ่งเต็มห้อง ไม่ต้องหลับนอนกัน ถ่ายรูปอะไรหรือ..ก็คุณตุ๊ คนข้างกายนี่แหละเป็น Subject ห้า ห้า ห้า หากไม่สวยก็โดนทุบซะน่วมเลย ห้า ห้า ห้า…

เนื่องจากเราย้ายที่ทำงานไปทั่ว ไม่รู้ว่าไปซุกอยู่ที่ไหนบ้างภาพชุดนั้น ไปคว้ารูปสีมาได้ ก็มาแปลงเป็นขาวดำซะพอเป็นตัวอย่างนะครับ


เรียนรู้ จากความเป็นไป

58 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 18 พฤษภาคม 2011 เวลา 21:19 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 1716

ชีวิตที่ต้องทบทวนวิถี

ช่วงเวลาของชีวิตลอยล่องไปกับกระแส

กระแสหลายๆกระแส

คนจำนวนมากพยายามบังคับหางเสือ

ให้ลอยไปตามกระแสอย่างปลอดภัย

บางคนไม่ยอมตามกระแส

แม้จะต้องขวาง หรือทวนกระแสด้วยซ้ำไป

เมฆเกิดขึ้น ลอยละล่องไปเพราะปัจจัยแห่งความเป็นไป

เมฆก้อนเดียวกัน ต่างเวลากัน ก็สะท้อนแสงที่ต่างกัน

ก่อนที่จะสลายตัวไป ตามปัจจัยแห่งความเป็นไป

เพราะมีเหตุ จึงเกิดสภาวะ

เพราะมีปัจจัย สภาวะจึงเป็นไป

รับรู้ เรียนรู้ จากความเป็นไป


ก้าวหน้ามาก แต่ยังมีอีกหลายก้าว

125 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 13 พฤษภาคม 2011 เวลา 9:10 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 4139

วันที่ 11-12 พ.ค. 54 มีการจัด “เวทีวิชาการชาวบ้านกับการจัดการความรู้เพื่อความมั่นคงทางอาหารเรื่องพันธุกรรมเพื่อความเป็นไท” ที่ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ท่านที่อยู่ในวงการคงหลับตาออกนะครับว่าใครจะมาร่วมงานบ้าง จัดโดย NGO และศูนย์วิจัยข้าวหลายแห่ง มีนักวิชาการจากศูนย์วิจัยข้าวหลายท่านมาร่วมงานด้วย และ NGO คนดังหลายท่าน


ผมชื่นชม NGO ที่รวมตัวกันทำเรื่องนี้มานาน เมื่อผมเหลียวหลังไปมองน้องๆเหล่านี้ก้าวหน้ามาก โดบเฉพาะเรื่องการค้นหาสายพันธุ์พื้นบ้าน การตามสายพันธุ์พื้นบ้าน การขยายพันธุ์พื้นบ้าน การทำวิจัยแบบพื้นบ้าน และมีความพยายามจะยกระดับกระบวนการนี้ให้เป็นวาระแห่งชาติของวงการ

ผมเห็นด้วยและสนับสนุน หลังจากที่ชาวนาเราปลูกข้าว กข. 6 มะลิ 105 มานานจนทิ้งข้าวพื้นบ้านไปเกือบหมด หลายพื้นที่หมดแล้วจริงๆ  NGO เป็นกลุ่มแรกๆที่หันหลังกลับมาฟื้นความหลากหลายทางชีวภาพสิ่งนี้ โชคดีที่ศูนย์วิจัยข้าวของราชการให้ความร่วมมือและเดินเคียงคู่กันไป NGO พี่ใหญ่ถึงกับออกปากชื่นชมราชการส่วนนี้ซึ่งปกติไม่ค่อยญาติดีกันเท่าไหร่


เท่าที่ฟังผู้มาร่วมงานและเครือข่ายการทำงานนี้ของ NGO พบว่ามากันทั่วประเทศ เหนือ กลางใต้ อีสานมาหมด ตอนแรกกะผู้มาร่วมงาน 400 คน นี่ปาเข้าไป 600 คน จนผู้จัดงานบอกขาดทุนไป 6 หมื่นกว่าบาท และไม่ได้เก็บสตางค์คนที่มา..

งานนี้มีเวทีที่สำคัญหลายอย่างที่ผมชอบคือเอาชาวบ้านตัวจริงที่ทำเรื่องข้าวพื้นบ้านมาพูดมาเล่า อธิบายการเก็บรักษาพันธุ์ และขยาย เอามูลนิธิข้าวขวัญของพี่ใหญ่ตัวเอ้ของวงการ NGO ที่ทำเรื่องนี้มานานที่สุพรรณบุรี มีตัวแทนโรงเรียนชาวนา และที่ถือว่าเป็นเรื่องใหม่สำหรับผมคือเรื่อง “กฎหมายพันธุ์พืช” มีอาจารย์นักกฎหมายมาสรุปสาระเรื่องนี้ให้ที่ประชุมเข้าใจ นี่ก็ระเบิดเวลาอีกลูกหนึ่งของสังคมเพราะสาระนั้นเป็นปฏิปักษ์กับวิถีชีวิตชาวบ้านที่จะเติบโตขึ้นมา และก็เกิดเหตุขึ้นแล้วด้วย


ผมตั้งใจฟังทั้งสองวันว่าก้าวหน้าไปแค่ไหน อย่างไร และจะเอาไปใช้ ไปต่อยอดในพื้นที่ทำงานพัฒนาชนบทได้อย่างไรบ้าง มากมายครับ

แต่งานที่เห็นว่ามีอีกหลายก้าวที่กลุ่มนี้จะต้องเดินต่อไปคือ

  • การศึกษาและบันทึกลักษณะรายละเอียดประจำสายพันธุ์พืช โดยเฉพาะข้าวพื้นบ้านชื่อนั้นๆ มีการบอกกล่าวกันเท่านั้น การบันทึกก็มีอยู่ในวงแคบๆของศูนย์วิจัยข้าว แต่ที่ชาวบ้านทำกันเองนั้นต้องการนักวิชาการลงไปแนะนำทำการบันทึก ซึ่งเป็นงานมหาศาล ราชการทำเองไม่หมด
  • การศึกษาวิเคราะห์คุณค่าสารอาหารประจำสายพันธุ์ข้าว มีการทำในวงจำกัดเท่านั้น และชาวบ้านไม่มีปัญญาที่จะทำ ราชการต้องเข้ามา หรือเอกชนต้องเข้ามา หรือสถาบันการศึกษาต้องเข้ามาช่วย

เหล่านี้เป็นประเด็นวิจัยเพื่อสังคม เพื่อชาวบ้าน เพื่อประเทศชาติทั้งนั้น อย่ามาโฆษณาครัวโลกเลยหากไม่ก้าวลงมาช่วยกันทำเรื่องพื้นๆเหล่านี้

ในงานนี้มี NGO ลาวเข้ามาร่วมสัมมนาด้วย ท่านทำงานอยู่ที่เมืองสะหวันนะเขตกล่าวว่าจากการสำรวจชุมชนลาวพบว่า ข้าวพันธุ์พื้นบ้านหายไปหมดแล้ว มีแต่พันธุ์ของทางราชการที่ตอบสนองปุ๋ยเคมีทั้งสิ้น น่าเสียดายจริงๆที่ความหลากหลายทางชีวภาพของเราหดหายไปเพราะความหลงผิดของมนุษย์เรานี่เอง แต่ก็ชื่นชมศูนย์วิจัยข้าวไทยของกรมวิชาการเกษตร และกลุ่ม NGO ขยับเรื่องนี้มานานแล้ว

ผมเองก็แตะๆอยู่บ้างในอดีต แต่ไม่ได้ลงลึกเรื่องนี้สักเท่าไหร่ เห็นทีจะมีงานใหญ่ทำเสียแล้ว…


วัดป่าฮวก ตอนที่ 3

227 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 10 พฤษภาคม 2011 เวลา 22:12 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 3644

การบูรณะครั้งที่ผ่านมานั้น ได้ปูพื้นหน้าโบสถ์ ซ่อมฝ้าเพดานภายในโบสถ์ เสาหน้าเอนเอียง พื้นโบสถ์และหลังคาบางส่วน ยังต้องการซ่อมแซมอีกมาก โดยเฉพาะหลังคา ภาพภายในและบริเวณรอบๆวัด


มีเรื่องเล่ามากมายเกี่ยวกับโบสถ์หลังนี้ ท่านสมบุนเล่าว่า ช่วงที่มีการบูรณะทางขึ้นวัดภูสี คนงานสตรีหลายท่านถือโอกาสมานอนพักผ่อนในโบสถ์เอาแรง ก่อนที่จะไปทำงานต่อ แต่พอเคลิ้มๆหลับ ก็พบว่ามีคนตัวใหญ่สูงมาขับไล่ออกไป บอกว่าที่นี่เป็นที่ศักดิ์สิทธิ์ไม่ใช่ที่สตรีจะมานอน….!!!??


วัดป่าฮวก สร้างเคียงคู่ภูสี ขนานถนนหน้าพระราชวัง หันหน้าไปทางทิศเหนือ ดังนั้นหากไปยืนหน้าโบสถ์มองไปทางทิศเหนือ ขวามือก็เป็นภูเขามีร่องรอยการสร้างกุฏิพระ เดิมเป็นป่าไผ่รวก หรือไม้ฮวก อันเป็นที่มาของชื่อวัดแห่งนี้ ท่านสมบุน กล่าวว่าในอนาคตหากเป็นไปได้จะสร้างกุฏิพระขึ้นมาในสถานที่เดิม เพื่อจะได้มีพระมาจำพรรษา และจะได้ดูแลโบสถ์อันสำคัญแห่งนี้ด้วย


ผมมองหน้าท่านสมบุน แล้วก็ชื่นชมจิตใจท่านจริงๆ ท่านสมบุนกล่าวต่อไปว่า “…ผมสำนึกในพระกรุณาธิคุณของสมเด็จพระเทพฯที่พระราชทานทุนหลวงให้ไปเรียนที่เชียงใหม่ ทุกวันนี้หากผมจะใช้ความรู้ไปหากินวาดรูปขายที่ตลาดกลางคืนหลวงพระบาง ผมก็จะมีรายได้เพิ่มขึ้น แต่สำนึกผมนั้นต้องการสนองเจตนาของสมเด็จพระเทพฯมาวาดรูปที่โบสถ์นี้ขายเพื่อเอาเงินเข้ากองทุนบูรณะโบสถ์หลังนี้ต่อไป….”


โฮ น้ำตาผมจะไหลเอา เมื่อได้ยินท่านสมบุนกล่าวเช่นนั้น…. ใจผมนึกไปว่าหากมีโอกาสใดๆที่จะหาเงิน หาทองมาทำนุโบสถ์หลังนี้ ผมก็จะทำ…

วันนั้นค่ำเกินไปท่านสมบุนขอตัวกลับไปบ้านพัก ผมขอนัดท่านสมบุนใหม่ในวันถัดไปเพื่อขอสัมภาษณ์ต่อ ผมเดินกลับที่พักผ่านตลาดกลางคืนหลวงพระบางที่เต็มถนนหน้าพระราชวัง ผมเดินลัดเลาะชายภู ริมน้ำคาน ด้วยสมองที่อิ่มเอิบ คิดไปร้อยแปดเกี่ยวกับโบสถ์หลังนี้ ท่านสมบุน และพระกรุณาธิคุณขององค์สมเด็จพระเทพฯ….

บ่ายห้าโมงวันรุ่งขึ้นผมไปพบท่านสมบุนตามนัดหมาย เราคุยกันไปเรื่อยๆโดยผมอัดเทปไว้ด้วย และขออนุญาตเอาไปเขียนที่ลานปัญญา ท่านสมบุนไม่ติดขัดอย่างใด จู่ๆท่านก็ดึงมือผมเดินออกมาหน้าโบสถ์ตรงประตูเข้าด้านซ้ายมือแล้วกล่าวว่า….


บานประตูองค์นี้ถูกขโมยไปขายเพิ่งได้คืนมาเมื่อสามเดือนที่แล้ว..??? ขโมยปีนเข้าทางหน้าต่างแล้วมาถอดบานประตูไปขายให้พ่อค้าคนไทย..!!!!!! เข้าใจว่าเป็นไปตามใบสั่ง… แต่บุญเหลือเกิน..เพราะสถานที่นี้คือสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ เราทราบเรื่องทั้งหมดและได้คืนมาด้วยความสมบูรณ์ มีพ่อค้าคนไทยที่ค้าขายของเก่าสองรายสั่งเอาบานประตูองค์นี้ โชคดีที่พ่อค้าทั้งสองคนทะเลาะกัน คนหนึ่งไปกระซิบบอกตำรวจ เราเลยได้เรื่องทั้งหมดและตามไปจับเอามาได้ กำลังจะลำเลียงเอาออกจากลาว บุญเหลือเกิน…

ผมขนลุกซู่เมื่อทราบรายละเอียดเช่นนั้น ใจนึกว่า ช่างบาปเหลือเกินคนที่ทำ คนที่สั่งซื้อ…เมื่อเอากลับมาและติดตั้งที่เดิมท่านสมบุนจึงต้องลงมาดูแลใกล้ชิดกว่าแต่ก่อน

ใจผมนึกว่า อยากสนับสนุนท่านสมบุนที่จะทำนุบำรุงโบสถ์แห่งนี้ งานที่ผมจะเข้าไปเกี่ยวข้องมากขึ้นนั้นราคาเป็นพันล้าน หมื่นล้าน หากเจ้าของโครงการแบ่งเจียดเศษกะตังมาทำ CSR โดยการอนุรักษ์สมบัติทางประวัติศาสตร์แห่งนี้ก็จะเป็นประโยชน์แก่ทุกฝ่าย….

คนตัวใหญ่แต่สถานภาพกระจอกอย่างผมก็คิดได้แค่นี้แหละในตอนนี้…..


วัดป่าฮวก ตอนที่ 2

826 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 10 พฤษภาคม 2011 เวลา 20:33 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 6038

ขอแนะนำท่านผู้ทำหน้าที่เฝ้าโบสถ์หลังนี้ ท่านชื่อ สมบุน บุนทะวง เป็นชาวหลวงพระบางที่ได้รับพระราชทานทุนหลวงจากสมเด็จพระเทพฯพร้อมเพื่อนอีก 4 คน ไปเรียนที่คณะวิจิตรศิลป์ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เรื่องการอนุรักษ์งานโบราณโดยตรง เมื่อจบท่านก็มารับราชการกรมศิลป์หลวงพระบาง ซึ่งทั้งกรมมีเจ้าหน้าที่ด้านอนุรักษ์เพียง 2 คน ไม่มีงบประมาณจากรัฐทำการอนุรักษ์ ต้องพึ่งพาการช่วยเหลือจากต่างประเทศ แต่ก็เพียงเล็กน้อยเท่านั้น

ปัจจุบันท่านใช้ฝีมือตัวเองผลิตงานขายแล้วเอารายได้มาทำกองทุนเพื่ออนุรักษ์ต่อไปโดยเฉพาะโบสถ์หลังนี้ ท่านสมบุนจะมานั่งที่โบสถ์นี้หลังจากเลิกงานราชการแล้วและวันหยุดเท่านั้น วันเวลาอื่นๆโบสถ์จึงไม่เปิด และท่านเท่านั้นที่ถือกุญแจ เปิดแต่ผู้เดียว รูปวาดพระพุทธที่ท่านสมบุนถือนั้นผมซื้อและให้ท่านเซ็นด้านหลัง ผู้ใดไปหลวงพระบางต้องการติดต่อท่านก็อนุญาตเอาเบอร์โทรติดต่อท่านได้นะครับ เบอร์นั้นอยู่ที่รูปกลางตัวเลขด้านขวามือล่างนะครับ


ท่านสมบุนเล่าว่าแต่ก่อนสมัยปฏิวัติที่นี่ใช้เก็บ “ผูกคัมภีร์” ต่างๆของโบราณเต็มไปหมด เมื่อปลดปล่อยแล้วก็ย้ายเอาไปไว้ในพระราชวัง ที่นี่ก็ทิ้งร้างไปเลย

ท่านไม่ทราบว่าสมเด็จพระเทพฯท่านทราบเรื่องวัดนี้ได้อย่างไร สมเด็จพระพี่นางก็เคยเสด็จมา พระองค์เจ้าหม่อมศรีรัตน์ท่านก็มา เจ้านายไทยมากันเยอะครับ ผมเป็นคนต้อนรับท่านเหล่านั้น…สมบุนกล่าว


เมื่อเรียนจบแล้วก็มาร่วมกับช่างศิลป์กรมศิลปากรไทยฟื้นฟูรูปวาดฝาผนังในโบสถ์นี้ที่ชำรุดมากมาย บางรูปแตะไม่ได้เลยเป็นฝุ่นผงร่วงปลิวลงมาเลย ต้องใช้วิชาและความพยายามมาก ใช้เวลามากกว่าจะฟื้นคืนมาได้เท่าที่เห็น ซึ่งที่เสียหายไปไม่สามารถซ่อมได้ก็มีเยอะ


ภาพเหล่านี้นอกจากเป็นพุทธประวัติที่พบเห็นทั่วไปแล้ว หลายภาพสะท้อนวัฒนธรรม ประเพณีท้องถิ่น และสภาพธรรมชาติสมัยนั้น เช่นความบูรณ์ของป่า มีสัตว์ป่ามากมาย มีนกหลายชนิด ที่ปัจจุบันหายไปแล้ว

ในระหว่างที่ผมคุยกับท่านสมบุนนั้นก็มีสองสามี ภรรยา หน้าตาเป็นคนไทยกำลังจะเดินขึ้นไปภูสี เห็นความสูงชันก็คงเปลี่ยนใจเดินเข้ามาที่โบสถ์ที่เราคุยกันอยู่ ผมสอบถามท่านทั้งสอง ก็เดาไม่ผิด ท่านเป็นอดีตข้าราชการศึกษาธิการอำเภอแห่งหนึ่งของจังหวัดกาญจนบุรี ปัจจุบันทำหน้าที่เกี่ยวกับศาสนาให้กับบ้านเมืองยามที่ออกจากราชการแล้ว ท่านให้ชื่อผมไว้ ผมเอาไปเก็บที่ไหนไม่ทราบ ขออภัยท่านด้วย


หลังจากที่ท่านทราบว่าโบสถ์หลังนี้สร้างโดยรัชการที่ 5 ท่านบอกว่า โฮ..ขนลุกเลย เพราะวันนี้พาภรรยาไปกราบพระประธานในโบสถ์ที่หลวงพระบางถึง 8 วัดแล้ว แห่งนี้เป็นแห่งสุดท้าย วัดที่ 9 แล้วมาทราบเช่นนี้ บุญเหลือเกิน ท่านขอตัวเข้าไปกราบพระประธานด้านในพร้อมภรรยาท่าน ส่งเสียงสวดดังลั่นเลย สักครู่ท่านออกมา ท่านไม่พูดอะไรเดินลิ่วๆไปหลังโบสถ์

สักพักใหญ่ๆก็เดินออกมาหน้าพบกับพวกเรา แล้วท่านก็พูดว่า หลักฐานที่น่าจะสนับสนุนได้อีกอย่างคือ องค์พระเจดีย์ด้านหลังโบสถ์หลังนี้ ท่านสันนิฐานเอาเองว่า “น่าจะเป็นที่เก็บอัฐิเจ้าจอมพระองค์โปรด” ของท่านผู้สร้างโบสถ์หลังนี้ เพราะตามคติโบราณ เมื่อเจ้าจอมสิ้นก็จะเอาอัฐิไปบรรจุไว้ที่หลังโบสถ์ที่ทรงสร้าง เมื่อใดที่มีกิจมาทำบุญตามประเพณี หรือวันสำคัญใดๆที่มาวัดนี้ มาที่โบสถ์นี้ ก็จะถือโอกาสมาคารวะอัฐิเจ้าจอมด้านหลังพร้อมกันด้วย


ท่านยกตัวอย่างวัดสวนดอกที่เชียงใหม่…นั่นคือวัดหลวงชั้นเอก ด้านหลังวัดมีเจดีย์หลายพระองค์ ล้วนแต่เป็นที่บรรจุอัฐิเจ้านายชั้นสูงฝ่ายเหนือทั้งสิ้น รวมทั้งเจ้าจอมด้วย…

เจดีย์ด้านหลังรูปทรงมิใช่ธรรมดา และมีการหุ้มด้วยทองแดงที่องค์พระเจดีย์ด้วย ด้านหน้ามีสถานที่สำหรับวางดอกไม้ ธูปเทียน เครื่องบูชา ท่านสันนิฐานไว้เช่นนั้น สำคัญจริงๆโบสถ์หลังนี้

เป็นบุญเหลือเกินที่ได้มากราบเป็นวัดที่ 9 ท่านอดีตศึกษาธิการอำเภอตื่นเต้นไม่หาย….


วัดป่าฮวก ตอนที่ 1

3 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 10 พฤษภาคม 2011 เวลา 16:18 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 1344

ถ้าไม่บันทึกเรื่องนี้คงนอนไม่หลับ เพราะติดค้างมาหลายวัน แผนที่ยุ่งๆนี่คือหลวงพระบาง ผมต้องการชี้ให้เห็นที่ตั้งของ “วัดป่าฮวก” ที่ผมเกริ่นไว้แล้วนั้น ย้ำว่าอยู่ตรงฐานภูสี ตรงข้ามพระมหาราชวังเจ้ามหาชีวิต อยู่ทางขวามือของบันไดขึ้นภูสี


เนื่องจากวัดนี้ไม่ได้อยู่ในโปรแกรมทัวร์ จึงมีน้อยคนนักที่จะแวะเข้าไป และหากชายคนนั้นไม่เขียนป้ายบอกถึงความสำคัญของวัดนี้ ก็คงจะยิ่งน้อยไปอีกที่จะมีคนแวะเข้าไป เพราะ เป็นโบสถ์ หรือสิมเก่า ดูภายนอกก็งั้นๆ ไม่เห็นจะน่าเดินเข้าไปใช้เวลาอะไรเลย แค่เห็นก็เพียงพอแล้ว อะไรทำนองนั้น


ผมเองก็คิดเช่นนั้น ยิ่งมากับทัวร์เขาก็จะเร่งเวลาที่จะต้องไปดูโน่นดูนี่ตามโปรแกรม

แต่วันนั้นผมมีเวลาจึงเดินเข้าไปก็ต้องตะลึง และขนลุกที่ทราบว่าสร้างโดยรัชการที่ 5 ของประเทศไทย สภาพที่เห็นนี้ได้รับการบูรณะแบบง่ายๆมาแล้วครั้งหนึ่งโดยสมเด็จพระเทพฯท่านทรงพระดำริ โดยให้ทุนการศึกษากับคนหลวงพระบางไปเรียนปริญญาเรื่องการอนุรักษ์โดยตรงที่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จำนวน 5 ทุน แล้วให้กลับมาสะสมเงินบริจาคแล้วทำนุบำรุง ท่านทรงพระปรีชามากจริงๆ ผมนึกเองในใจ ทำไมไม่ตีปีบขอรับการบริจาคแล้วแห่ ยกโขยงกันมาซ่อมแซม ประกาศให้ครึกโครม ผมเดาเอาว่า ก็เพราะโบสถ์หลังนี้อยู่ที่หลวงพระบาง อยู่ตรงหน้ามหาราชวัง อยู่ในเมืองมรดกโลก หากทำเช่นนั้น ผลดีก็มี แต่ผลไม่ดีก็อาจจะมีมากกว่า สู้ทำเงียบๆ แต่ทำแบบยั่งยืนคือสนับสนุนให้คนหลวงพระบางไปเรียนเอาความรู้มาและมาทำนุบำรุงกันไป เงียบๆดีกว่า


ภาพขวามือคือพระมหาราชวังที่ผมยืนถ่ายรูปจากหน้าวัดป่าฮวก ภาพซ้ายมือคือวัดในบริเวณมหาราชวัง ที่สง่า โอฬาร สวยงามมากๆ ความรู้สึกของคนธรรมดาอย่างผมรู้สึกได้ว่าสิ่งสมควรทำกับวัดป่าฮวกนั้นคืออะไร ทำนุบำรุงแบบเงียบๆ


สิ่งที่ผมบันทึกนี้เป็นเพียงประวัติศาสตร์บอกเล่า ไม่สามารถยืนยันว่าถูกต้องแค่ไหน เพราะผมสอบถามจากท่านผู้มาเฝ้าโบสถ์วัดป่าฮวกซึ่งได้รับทุนจากสมเด็จพระเทพฯ ว่า หลายสิบปีก่อนนั้นวัดป่าฮวกมี “หน้าบัน”ที่เป็นรูปครุฑแล้วตัวครุฑหลุดหายไปเหลือแต่ฐาน ต่อมาคนหลวงพระบางเอารูปแกะช้างสามเศียรมาติดแทนที่ครุฑบนฐานเดิม

สิ่งที่เป็นหลักฐานยืนยันว่ารัชการที่ 5 มาทรงสร้างไว้นั่นก็คือ หลักฐานครุฑนี่เองเพราะครุฑคือสัญลักษณ์ของพระมหากษัตริย์ไทย แล้วที่หายไปนั้นแน่ใจหรือว่าเป็นครุฑ คำถามนี้ตอบว่า หนึ่งฐานที่คงเหลือนั้นคือฐานครุฑที่มีอยู่ทั่วไปในกรุงเทพฯ และท่านผู้เฝ้าโบสถ์กล่าวว่า “เจ้านายไทย” มาถ่ายรูปอย่างละเอียดไปแล้วไปตรวจสอบหลักฐานที่หอสมุดแห่งชาติ พบว่ามีภาพเก่า โบราณของหน้าบันโบสถ์หลังนี้ และปรากฏรูปครุฑจริงๆ…!!!!????


มากกว่านี้ ภาพบนฝาผนังในโบสถ์เป็นภาพที่มีทั่วไปในโบสถ์ของกรุงเทพฯมหานคร ซึ่งไม่มีภาพเหล่านี้ในโบสถ์ของวัดที่หลวงพระบางเลยสักแห่งเดียว ท่านผู้เฝ้าโบสถ์ยังมีความเห็นแย้งบ้างว่า ความจริงภาพในโบสถ์ในเมืองไทยปัจจุบันนั้น บางแห่งก็เป็นฝีมือช่างลาว เช่นภาพที่วัดในทางภาคเหนือเป็นต้น..


ผมไม่ได้เรียนประวัติศาสตร์ศิลปะจึงไม่มีความรู้เรื่องนี้เลย แต่ท่านผู้เฝ้ากล่าวต่อไปว่า กรมศิลปากรไทยส่งนักวิชาการมาหลายครั้ง และกล่าวยืนยันข้อมูลเช่นนั้น

สวยงามเหลือเกิน และยิ่งทราบว่านี่คือโบสถ์ที่พระมหากษัตริย์ไทยมาทรงสร้างไว้ ก็ยิ่งตื่นเต้น

มีตอนต่อไป..



หลวงพระบางอีกครั้ง

30 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 10 พฤษภาคม 2011 เวลา 10:08 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 2281

จะไปไชยบุรี มีหลายทาง แต่ที่นิยมกันคือ บินจากเวียงจัน ไปลงหลวงพระบาง แล้วนั่งรถจากหลวงพระบางไปไชยบุรี เมื่อมีโครงการที่นั่น รถโครงการก็มารับ แล้วก็ปุเลง ขึ้นเขาลงห้วย ฝุ่นตลบ หัวแดงไป และอันตราย อย่างที่เคยเขียนถึงอุบัติเหตุมาแล้วนั่นแหละ เครื่องบินจากเวียงจันไปหลวงพระบางนั้น มีหลายเที่ยวต่อวัน ทุกวัน เป็นเครื่องขนาดกลาง เพราะหลวงพระบางเป็นเมืองมรดกโลกคนมาเที่ยวมากมายมหาศาล อีกเส้นทางหนึ่งที่ไปไชยบุรีคือ ขึ้นเครื่องตรงจากเวียงจันไปไชยบุรีเลย แต่มีสัปดาห์ละสองเที่ยวคือวันอังคารและวันศุกร์ เท่านั้น เป็นเครื่องบินเล็กมี 11 ที่นั่ง หรือบางวันอาว์เปลี่ยนบอกว่าเป็นเฮลิคอบเตอร์ เสียงดังจนหูอื้อ จริงๆมีรถโดยสารวิ่งตรงเหมือนกันแต่ใช้เวลาทั้งวันและใครที่เมารถละก็หลายคนไม่แนะนำ..


ครั้งที่แล้วผมนั่งเครื่องไปลงที่หลวงพระบางและคอยรถเสีย 2 วันเพราะรถเสียและติดงานจึงมีเวลาท่องหลวงพระบาง ได้รับคำแนะนำจากสนามบินหลวงพระบางให้ไปพักที่ เรือนพักจิดลัดดา ราคาคืนละ 400 บาทห้องเล็กๆพอซุกหัวนอนไม่มีเฟอร์นิเจอร์อะไร สภาพใหม่ เพราะหลวงพระบางมีแต่นักท่องเที่ยว จึงต้องการที่พักมากมาย ใครมีบ้านก็ทำเป็นเรือนพักหมด หาเงินเข้ากระเป๋าดีกว่า ที่พักแบบนี้เป็นพวก Back packer มาพักกัน เจ้าของเดิมมีอาชีพขายทอง พนักงานเป็นอดีตช่างตีทอง พูดภาษาต่างประเทศเป็นไฟทั้งอังกฤษ ญี่ปุ่น ถามว่าไปเรียนที่ไหนมา เขาบอกว่าเรียนจากการคุยแบบหน้าด้านๆเอง


ที่พักแห่งนี้ติดกับภูสี ซึ่งคือวัดภูสี เป็นภูเขาลูกเล็กกลางเมืองหลวงพระบาง อยู่ในโปรแกรมการท่องเที่ยวที่เชิญขึ้นไปชมเมืองหลวงพระบางทั้งเมืองและดูพระอาทิตย์ตกที่สวยงาม นึกถึงดอยสุเทพ แต่ไม่สูงเท่า ภูสีอยู่ตรงหน้าพระราชวังเจ้ามหาชีวิตเลยทีเดียว


ผมชอบเส้นทางเดินขึ้น หากเทียบกับดอยสุเทพแล้วนั้น บันไดเดินขึ้นดอยสุเทพนั้นตรงดิ่ง เลย แต่ที่ภูสีนั้นวนไปมา แบบพยายามค่อยๆลาดชันขึ้นไป ตรงหักศอกก็มีที่พักเหนื่อยเหมาะสำหรับผู้สูงอายุที่จะได้พัก และตลอดเส้นทางเดินจะปกคลุมด้วยต้นจำปี จำปา อายุเป็นร้อยๆปี ช่วงออกดอกนึกซิว่ามันจะหอมแค่ไหนระหว่างเดิน ผมนึกไปถึงปราสาทวัดพูที่จำปาสัก ก็เช่นเดียวกันมีต้นจำปาตลอดเส้นทางเดินขึ้น นึกถึงเพลงนี้


ผมไม่มีรายละเอียดของภูสีแห่งนี้ แต่คิดว่าเป็นสถานที่ประกอบพิธีทางประเพณีและศาสนาของนครหลวงพระบางแน่นอนเพราะอยู่หน้ามหาราชวัง และดูจากคุณยายที่เอาดอกไม้ ธูปเทียน มาขายเพื่อสักการะ ชุดสักการะนี้ทำแบบฝีมือชาวบ้านที่ประณีต สวยงามบ่งบอกถึงความศรัทธา ที่เอามาขายได้ ผมก็อุดหนุนคุณยาย แปลกที่เขาขายเป็นคู่ไม่ขายเดี่ยว คุณยายก็บอกว่า คนเราต้องมีคู่การถวายความเคารพสักการะก็ควรทำเป็นคู่ ทำพร้อมกัน หรือหากมาคนเดียวก็ถวายเผื่อแก่กัน… ผมไม่คิดเชิงธุรกิจแต่เชื่อในความหมายของท้องถิ่น


อิอิ ใครยังไม่มีคู่ก็ไปหลวงพระบางแล้วไปทำบุญที่นี่เน้อ…อิอิ อาจจะได้คู่เป็นชาวต่างชาติ เพราะมากมายจริงๆ เดินไปทางไหนก็จะชนโดยเฉพาะพวกฝรั่งเศส อาจเพราะลาวและที่นี่เคยเป็นเมืองขึ้นรึเปล่า..เขาเลยตามมาดู…อดีตแผ่นดินในปกครองของเขา..

ฮือ..ไม่อยากคิดมาก เพราะผมไม่ชอบการเป็นเมืองขึ้นใคร….

เพราะนั่นคือผู้รุกราน…


ความสำเร็จและบาดแผลของแม่กำปอง

145 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 8 พฤษภาคม 2011 เวลา 10:46 ในหมวดหมู่ งานพัฒนาสังคม #
อ่าน: 3460

“บ้านแม่กำปอง” หมู่ บ้านเล็กๆ กลางหุบเขา ในกิ่งอำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ เป็นหมู่บ้าน OTOP Village Champion ทั้งนี้ คนในชุมชนนั้นๆ มีส่วนร่วมในการพัฒนาหมู่บ้าน OTOP อย่างเข้มแข็ง มีผลิตภัณฑ์ OTOP ที่โดดเด่น นอกจากนั้น ในหมู่บ้านมีศักยภาพ ในการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว สามารถรักษาอัตลักษณ์ และเอกลักษณ์ของท้องถิ่นในหมู่บ้านชุมชนไว้ได้

พรมมินทร์ พวงมาลา อดีตผู้ใหญ่บ้านแม่กำปอง ผู้ริเริ่มจัดทำหมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ เล่าว่า เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ.2539 สมัยที่เป็นผู้ใหญ่บ้านเห็นว่าที่หมู่บ้าน มีศักยภาพด้านการท่องเที่ยว มีต้นทุนทางธรรมชาติ ทั้งอากาศ ป่าไม้ และน้ำตกที่มีความสูง 7 ชั้น จึงได้ขอความร่วมมือจากชาวบ้าน ให้ร่วมกันพัฒนาน้ำตก และบริเวณหมู่บ้านให้สะอาด และจัดทำเป็นโฮมสเตย์ขึ้น จนมาถึงปัจจุบัน ก็มีบ้านที่เข้าร่วมโครงการโฮมสเตย์ 10 หลังคาเรือน และสามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้ประมาณ 50-60 คน ด้วยกัน

แม่กำปองตั้งอยู่ในหุบเขา มีภูเขาล้อมรอบแทบทั้งสี่ด้าน ทำให้มีอากาศเย็นสบาย ค่อนข้างหนาวในฤดูหนาว มีทัศนียภาพสวยงาม ชาวบ้านอยู่กันเรียบง่าย บ้านเรือนเป็นบ้านไม้สะอาดเรียบร้อย ไม่ทิ้งวิถีชีวิตของชาวบ้าน เป็นที่ชื่นชอบของนักท่องเที่ยว ที่แนะนำกันแบบปากต่อปาก

กิจกรรมในชุมชนที่นักท่องเที่ยวจะได้มีส่วนร่วมมีทั้งการท่องเที่ยว ดูวิถีชีวิตของชุมชน ดูการเก็บใบชา ใบเมี่ยง การทำเมี่ยง การทำสมุนไพร การปลูกกาแฟ ซึ่งเป็นอาชีพหลักของชาวบ้าน และหากนักท่องเที่ยวอยากจะชมการแสดงฟ้อน หรือการแสดงดนตรีพื้นเมือง ก็สามารถทำได้เช่นกัน ตอนเช้า ก็จะมีการทำบุญตักบาตร ร่วมกับเจ้าของบ้านอีกด้วย

แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติมี “น้ำตกแม่กำปอง” ซึ่งมีสายน้ำไหลตลอดทั้งปี มีความสูง 7 ชั้นด้วยกัน บนชั้นที่ 7 มีแอ่งน้ำสามารถลงเล่นน้ำได้ นอกจากนั้น ก็ยังมีเส้นทางเดินป่าศึกษาธรรมชาติ ทั้งระยะใกล้และไกล โดยระยะไกลนั้นจะสามารถเดินขึ้นถึง “ดอยม่อนล้าน” ยอดเขาที่สูงจากระดับน้ำทะเล 1,700 เมตร ในวันที่อากาศดี จะสามารถมองเห็นทิวทัศน์ได้ทั้ง 3 จังหวัด คือ เชียงใหม่ ลำพูน และลำปาง นอกจากนั้น บนยอดดอยม่อนล้านก็ยังมีสวนสน สวนสมเด็จย่า และลานของศูนย์พิทักษ์ป่า ซึ่งสามารถกางเต็นท์พักแรม ชมบรรยากาศบนยอดดอยได้ และที่น่าสนใจก็คือ ในช่วงฤดูหนาวประมาณ เดือนธันวาคมถึงเดือนมกราคม ต้นพญาเสือโคร่งหรือต้นซากุระเมืองไทย ก็จะออกดอกสีชมพูบานสะพรั่งสวยงามมากทีเดียว ข้อมูลทั้งหมดเอามาจากแหล่งนี้ (ขอบคุณแหล่งข้อมูลมา ณ ที่นี้ด้วย)

http://www.yourhealthyguide.com/travel/tn-maekampong-homestay.html

ผมกลับมาจากลาว คนข้างกายกลับมาจากภาคเหนือ เธอไปที่อุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน ลำปาง เพื่อพาชาวบ้านจากชัยภูมิไปดูงานการใช้พลังน้ำผลิตไฟฟ้าจากน้ำตก เธอแวะไปนอนที่โฮมสเตย์แม่กำปอง ซึ่งครั้งหนึ่งเธอมาประเมินผลโอทอปนั่นเอง กลับมาเธอก็เล่าให้ฟังว่า แม่กำปองก้าวไปไกลมากและชื่นใจเหลือเกินที่ชาวบ้านลุกขึ้นมาร่วมมือกันพัฒนาชุมชนตนเองจนเป็นแบบอย่างที่น่าเรียนรู้ยิ่งนัก

แต่ภายใต้ความสำเร็จที่คนไปเยือนชื่นชมนั้นก็มีมุมที่น่าคิด ที่ผู้นำและชาวบ้านร่วมกันสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนกลับถูกระเบียบราชการมากดกั้นให้ความเข้มแข็งของชุมชนตีบตัน

ความสนิทสนมของอดีตผู้นำกับคนข้างกายมีมาตั้งแต่สมัยประกวดโอทอป ผู้นำท่านนี้เล่าให้คนข้างกายฟังว่า ชุมชนสร้างฝายกักน้ำไว้หลายแห่งเพื่อเอาพลังน้ำไปสร้างกระแสไฟฟ้าจนเหลือใช้ เพราะการอนุรักษ์ป่ารอบหมู่บ้านทำให้น้ำมากพอทั้งปี และชุมชนไม่ใหญ่ ไม่ขยาย ไม่มีนายทุนหรือคนเมืองไปกว้านซื้อ ทำให้ปริมาณไฟฟ้าที่ผลิตได้เหลือใช้จึงนำไปขายเข้าสู่ระบบของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค นำรายได้เข้าชุมชนเพื่อสร้างความเข้มแข็ง ในด้านต่างๆรวมทั้งสวัสดิการประชาชน

แต่แล้วปัญหาที่ไม่คาดคิดก็เกิดขึ้น เมื่อ สตง.มาตรวจและบอกกับชุมชนว่า ทำกิจกรรมนี้ได้แต่ความเป็นเจ้าของต้องเป็นของท้องถิ่นเท่านั้น กฎหมายไม่อนุญาตให้หมู่บ้านเป็นเจ้าของ…? ผู้นำแม่กำปองก็ลองไปคุยกับ อบต.ว่ามีทางทำได้ไหมโดยให้ อบต.เป็นเจ้าของแต่ทำสัญญากันว่า รายได้ร้อยละ 90 ให้เป็นของหมู่บ้าน ยกให้ อบต. 10% ทำไปได้พักเดียว สตง.มาบอกว่าทำไม่ได้ต้องให้ อบต.เป็นเจ้าของเท่านั้น รายได้ทั้งหมดให้ตกกับ อบต.และให้เอารายได้นี้แบ่งให้กับทุกหมู่บ้าน เฉลี่ยไป…???

ทั้งที่ผู้นำบ้านแม่กำปองและชาวบ้านสร้างมากับมือแล้วผลจบลงเช่นนี้ เขาตัดสินใจปิดกิจการการผลิตกระแสไฟฟ้าขายให้กับการไฟฟ้า ผลิตเพียงพอใช้ในชุมชนเท่านั้น

เนื่องจากแม่กำปองมีชื่อเสียง ผู้หลักผู้ใหญ่ไปแวะเวียนกันไม่ซ้ำหน้า ปัญหาใหญ่นี้ถูกเสนอให้ได้รับรู้ ระหว่างการบริการความประทับใจแบบสุดๆ แต่แล้วทุกอย่างก็เงียบกริบ เหมือนป่าสาก…..

ไหนว่าสนับสนุนให้ชุมชนเข้มแข็ง ไหนโฆษณาให้ผู้นำสร้างความร่วมมือกับชุมชน ไหนว่าให้สามัคคีกัน คนข้างกายถามว่าชาวบ้านแม่กำปองคิดอย่างไร..คงไม่ต้องอธิบายนะครับ เพราะเรารับรู้กันได้โดยไม่ต้องบอกกล่าว

เฮ่อ……


น้ำซัน

359 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 4 พฤษภาคม 2011 เวลา 23:37 ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 2903

ตรงที่ผมถ่ายรูปนั้นเป็นร้านอาหาร ตรงนี้เราเรียกแม่น้ำสองสี ซ้ายมือไกลๆนั่นคือแม่น้ำโขงน้ำขุ่น ขวามือน้ำใสกว่านั้นคือ แม่น้ำซัน อันเป็นที่มาเพลงกุหลาบปากซันนั่นแหละ

เมืองปากซัน อยู่ในแขวงบริคัมไซ ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับ อ.บึงกาฬ หรือจังหวัดใหม่ที่สุดของไทยเรา ที่นี่มีโครงการสูบน้ำด้วยไฟฟ้าที่ผมมาเขียนรายงานให้ในเรื่องการพัฒนากลุ่มผู้ใช้น้ำร่วมกับนักวิชาการสาขาอื่นๆให้กับ UN ซึ่งเป็นเจ้าของเงิน เราต้องมานำเสนองานเขียนต่อประชาชนในพื้นที่ ต่อผู้นำเมืองปากซัน และเมืองปากกะดิ่ง

ผมมาเมืองปากซันเมื่อยี่สิบกว่าปีมาแล้วสมัยนั้นมาอบรมให้กับประชาชนร่วมกับองค์กร NGO ยุคแรกๆที่มาทำงานในลาวหลังการปลดปล่อย เปลี่ยนไปหมด ไม่เหลือภาพเก่าๆให้เห็นอีก สมัยนั้นระหว่างอบรม ก็มีกองหลอนมายืนถือปืนคุ้มครองเรา สมัยนี้ไม่มีกองหลอนแต่มีหน่วยงานใหม่ระดับหมู่บ้านทำหน้าที่แทน

สมัยโน้นเราไปดูพื้นที่บ้านโน้นบ้านนี้ เมื่อมาพบเจ้าเมืองท่านก็พูดเหมือนว่าเดินไปกับเราด้วย เราทราบภายหลังว่ามีหน่วยระดับบ้านทำหน้าที่รายงานให้เจ้าเมืองทราบหมดว่าเราไปที่ไหน พูดกับใคร เรื่องอะไร ปัจจุบันก็ยังเป็นเช่นนั้น ซึ่งผมเห็นด้วย


เราพักที่โรงแรมซึ่งเจ้าของเป็นชาวเวียตนาม เจ้าหน้าที่ทั้งหมดเป็นชาวเวียตนาม มีร้านอาหารติดน้ำซัน เราก็ฝากท้องไว้ที่ร้านอาหารนี้ ที่น้ำซันผมเห็นชาวบ้านมาทอดแห ลงเบ็ด ลงข่ายจับปลาเหมือนชนบทที่ผมเห็นในเมืองไทย

ถนนสาย 13 ใต้ สายนี้เชื่อมนครเวียงจันผ่านบริคัมไซไปสะหวันนะเขต เมืองที่ผมคุ้นเคยที่สุด

การประชุมกับเจ้าเมืองและเจ้าหน้าที่หน่วยงานต่างๆระดับเมืองนั้น ผมประทับใจเจ้าหน้าที่สิ่งแวดล้อมเมือง ที่ท่านยืนยันให้ศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้ละเอียด มีโอกาสคุยกันท่านบอกว่ามีโอกาสมาศึกษาดูงานในเมืองไทยหลายแห่ง หลายโครงการและในฐานะที่ท่านเรียนจบปริญญาโทมาทางนี้ ก็ตระหนักเรื่องนี้มาก และไม่ต้องการให้งานพัฒนาใดๆต้องส่งผลกระทบทางลบต่อสิ่งแวดล้อม

ความตื่นตัวในเรื่องนี้มีมากในยุคปัจจุบัน ผมเห็นเป็นเรื่องดีที่เจ้าหน้าที่บ้านเมืองให้ความสำคัญในเรื่องนี้ การลงทุนใดๆไม่ควรส่งผลกระทบหรือส่งผลกระทบน้อยที่สุดต่อสิ่งแวดล้อม

ไม่มีอะไรหรอก แค่เขียนบันทึกมาเท่านั้น..


มะพร้าวกับโบสถ์

446 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 3 พฤษภาคม 2011 เวลา 8:12 ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 8665

 

มะพร้าวคือตัวแทนธรรมชาติ

หลังคาโบสถ์คือตัวแทนศาสนา

ธรรมชาติกับศาสนาคือสิ่งที่ต้องควบคู่ไปกับสังคมมนุษย์

หากขาดธรรมชาติ สุขภาพร่างกายมีปัญหา

หากขาดศาสนา จิตใจหยาบกร้าน สังคมวุ่นวาย

——–

ริมโขง เวียงจัน 540503


ความหลังที่สุรินทร์

7 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 1 พฤษภาคม 2011 เวลา 0:30 ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 926

ประมาณปี พ.ศ. 2523-2525 ผมเผ่นจากภาคเหนือไปอีสานเพราะควันหลงเดือนตุลา คนข้างกายได้รับทุนจากรัฐมนตรีเยอรมันไปเรียนที่นั่น

ทำไมต้องสุรินทร์: เพราะ ลาวเวียตนาม เขมรถูกปลดปล่อย ศัพท์ปลดปล่อยนั้นเป็นของพรรคคอมมิวนิสต์ เหมือนดงหลวง มุกดาหารที่ผมทำงานมาสมัยโน้น ชาวบ้านก็บอกว่าที่นี่คือเขตปลดปล่อยมาก่อน

เพราะสงครามจึงเกิดการอพยพมากมาย โดยเฉพาะชายแดนไทย-กัมพูชาเพราะมีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ จึงมีค่ายอพยพชายแดนบริเวณนี้มากมาย และนี่เองที่เป็นเหตุให้มีหน่วยงานต่างประเทศนับร้อยๆองค์กรเข้ามาช่วยเหลือ เพื่อนฝูงผมจำนวนมากต่างมาทำงานกับค่ายอพยพเหล่านี้ ที่จังหวัดสุรินทร์ก็มีค่ายอพยพเช่นกัน

เวลาผ่านไป เกิดประเด็นทางสังคมเกิดขึ้นคือ คนอพยพในค่ายมีความกินดีอยู่ดีมากกว่าชาวบ้านคนไทยที่อยู่รอบๆค่าย…ประเด็นทางสังคมนี้เอง หน่วยงานต่างประเทศที่มาทำงานในค่ายนั้นต่างก็ทยอยสร้างโครงการพัฒนาชนบทไทยไปด้วย

พ.ศ. นั้นเองที่เมืองไทยเป็นยุคองค์กรพัฒนาเอกชน จึงเกิด กป.อพช. (คณะกรรมการองค์กรพัฒนาเอกชน) เรียก NGO นั้นแหละ ผมเองเป็นหนึ่งในกลุ่มก่อครั้ง เพราะก่อนหน้านั้นเรามีการประชุมกันที่ชะอำทุกปี จนพัฒนามาดังกล่าว

CUSO ย่อมาจาก Canadian University Services Oversea เป็นองค์กรหนึ่งที่สนใจจะทำงานพัฒนาชนบทตามชายแดนไทย-กัมพูชาที่จังหวัดสุรินทร์ โดยรวมองค์กรที่สนใจมาร่วมกันทำโครงการในพื้นที่เดียวกัน เท่าที่ผมจำได้ มี GGAT ของคุณหญิงกนก สามเสนวิลล์ มี PDA ของท่านมีชัย วีระไวทยะ มีมูลนิธิการศึกษาเพื่อชีวิตและสังคม มี บัณทิตอาสาสมัครของจุฬาฯที่มีท่านอาจารย์จอห์น อึ้งภากรณ์ มีมูลนิธิโฮลสหทัย มี…ฯ มีทีมคณะพี่เลี้ยงเป็นแกนกลาง ผมเป็นหนึ่งในนั้น

ชายแดนไทย-กัมพูชาตรง อ.กาบเชิง อ.สังขะ อ.บัวเชด ของจังหวัดสุรินทร์นั้นชนพื้นคือชาวเขมร(สูง) ขะแมลือ ส่วนเขมรในประเทศเขมรนั้นเรียกเขมรต่ำหรือ ขะแมกรอม ภาษาราชการจะใช้คำว่าราษฎรไทยเชื้อสายเขมร

ผมไปทำงานใหม่ๆสมัยนั้น มีท่านอาจารย์ มรว.อคิน รพีพัฒน์ และทีมงาน ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง และอีกหลายท่านเป็นวิทยากรอบรม โดยมีท่าน ดร.สุธีรา ทอมสัน(วิจิตรานนท์)เป็นที่ปรึกษาโครงการท่านอาจารย์สุธีราท่านเป็น Science Board of Canada ด้วยนะ ท่านอาจารย์สุธีราเป็นสตรีไทยคนแรกๆที่เปิดประเด็นสิทธิสตรีขึ้นในประเทศนี้

ผมต้องไปนอนในหมู่บ้านชายแดนที่เป็นชาวเขมรที่บ้าน “ขนาดมอญ” การอยู่บ้านชาวบ้านในชนบทนั้นไม่มีปัญหาสำหรับผม แต่ที่นี่ ผมเกิดปัญหาที่จำได้แม่นคือท้องผมเสีย และบ้านชาวบ้านไม่มีห้องน้ำ ต้องเข้าป่า…โฮยมันทรมานผม และมันเกิดเหตุกลางคืน….

ผมต้องไปเรียนภาษาเขมรที่วิทยาลัยครูสุรินทร์ มีการสอบด้วย เดี๋ยวนี้ลืมหมดแล้ว ช่วงที่เราทำงานที่นั่นก็ยังเกิดการปะทะกัน มีการซ้อมการอพยพ มีหลุมหลบภัย ชาวบ้านไปหาของป่าก็โดยกับระเบิดขาขาดบ่อยๆ

ที่นั่นผมรู้จักกันตรึม แซนโดนตา กนบติงต๊อง วัฒนธรรมเขมร ไม้ประดู่ที่มีลายสีดำสวยที่สุดที่ผมเคยเห็น เห็นพิธีกรรมชนเผ่าเขมร เห็นพิธีความเชื่อในเรื่องไสยศาสตร์ แม่แต่หมอจากศิริราชก็งง อธิบายไม่ได้ว่ามันคืออะไร

เห็นการตกเขียวข้าวจากแปลงนา งานสำคัญที่ผมได้ก่อฐานรากไว้ และบัดนี้เติบโตไปมากมายนั้นคือ กลุ่มเครดิตยูเนี่ยน หรือกลุ่มออมทรัพย์ ทราบว่ามีเงินหลายสิบล้านบาทแล้ว

ผมออกมาจากที่นั่นแล้วไปอยู่ขอนแก่นก่อนที่โครงการจะจบลงเพราะมีงาน ของโครงการ USAID ที่ผมสนใจที่นั่น ที่สุรินทร์น้องๆก็ตั้งเป็นมูลนิธิ NET ขึ้นมาจนปัจจุบันนี้

มูลนิธิ NET ในปัจจุบันยังทำหน้าที่อยู่ชายแดนแถบนั้น และน้องๆก็เติบโตกัน

เมื่อเกิดการปะทะกันชายแดน และมีชาวบ้านอพยพ ผมดูข่าวแล้วก็นึกได้ว่า นั่นคือหมู่บ้านที่ผมทำงานมาทั้งนั้นเลย …..



Main: 0.13295888900757 sec
Sidebar: 0.063635110855103 sec