กระเป๋าเงินหาย..
อ่าน: 13975ข้อมูลต่อไปนี้เคยเป็นข่าวทางทีวีมาแล้ว แต่ผมเอามาจากหนังสือเล่มหนึ่ง ความน่าสนใจจึงอยากจะเอามาเขียนถึงอีก
มีการศึกษาเรื่องคุณธรรม ศีลธรรมของคนในสังคม โดยการเอากระเป๋าเงินทิ้งวางไว้ในที่สาธารณะต่างๆ จำนวนเงินก็มากโขประมาณ 2000 บาท ในนั้นมีที่อยู่ มีรูปเจ้าของกระเป๋าและรูปเด็กเล็ก ใครๆดูก็เดาออกว่าเด็กนั้นคือลูกเจ้าของกระเป๋าเงินใบนั้น
(รูปนี้ไม่เกี่ยวกับสาระนะครับ เอามาให้ดูเฉยๆ)
เขาไปทดลองในหลายจังหวัดรวมทั้งที่กรุงเทพฯ ด้วย พบว่า ที่จังหวัดหนึ่งเหนือกรุงเทพฯขึ้นไป มีการเอากระเป๋ามาคืนร้อยละ 60 ที่กรุงเทพฯ ได้คืนร้อยละ 50
การทดสอบนี้ได้ทำในประเทศต่างๆทั่วโลก ที่ประเทศหนึ่งในยุโรป มีเด็กอายุ 8 ขวบพบกระเป๋าตกที่พื้นพร้อมกับแม่ และทั้งสองคนบอกกันว่าเราไม่ควรเก็บเพราะมันไม่ใช่ของเรา ผู้เป็นแม่อธิบายภายหลังว่า “ดิฉันเติบโตในช่วงที่ครอบครัวตกอับ เงินทุกสตางค์จึงมีค่ามาก” และพ่อกับแม่อบรมเรื่องซื่อสัตย์มาตลอด
ที่อีกประเทศหนึ่งผู้หญิงแต่งกายดีมากจูงมือลูกสาวเดินเล่นอยู่ ทันใดนั้น เธอก้มลงเก็บกระเป๋าที่ทีมงานศึกษาวิจัยนี้ทิ้งไว้ เธอคนนั้นเอาใส่กระเป๋าตัวเองขณะที่ลูกน้อยยืนมองไม่ปริปาก ทีมงานไม่เคยได้รับการติดต่อกลับมาอีกเลย
แม่ค้าขายผลไม้วัยยี่สิบปีในประเทศหนึ่งแถบเอเชียเธอไม่ได้ร่ำรวย เธอคืนกระเป๋าโดยไม่ลังเล เธอกล่าวว่า “ดิฉันเป็นมุสลิม จึงรู้จักวิธีควบคุมจิตใจอย่างดี เวลาเผชิญหน้ากับสิ่งยั่วยวน” เธอกล่าว
ชายคนหนึ่งอพยพสงครามและไปเป็นลูกจ้างในร้านอาหารแห่งหนึ่งเอากระเป๋ามาคืน เขากล่าวว่า “ผมทำงานหนักมานาน รู้ดีว่ากว่าจะได้เงินจำนวนนี้มันเหนื่อยแค่ไหน” นักศึกษาคนหนึ่งทำงานสามแห่งเพื่อแลกกับเงินค่าเล่าเรียนและที่พัก ค่าใช้จ่ายต่างๆ เธออธิบายว่า “เงินจำนวนนี้ช่วยค่าใช้จ่ายต่างๆได้แน่นอน แต่พอเห็นรูปเด็กในกระเป๋านั้นเปลี่ยนใจเพราะคิดว่ามีคนที่ต้องการใช้เงินก้อนนี้มากกว่าเธอ เธอจึงนำกระเป๋าไปคืน”…..
การศึกษาครั้งนี้สรุปว่า
- การอบรมบ่มเพาะตั้งแต่ครอบครัวมีผลมากต่ออุปนิสัยของเด็กคนนั้นเมื่อเติบโตขึ้น
- ความศรัทธาในศาสนา ความเชื่อมั่นในหลักการศาสนา มีพลังมากในการกำหนดความคิด สำนึกแห่งการทำความดี ซื่อสัตย์
- การเผชิญความทุกข์ยากมาก่อน แล้วมีความตระหนัก “เอาใจเขามาใส่ใจเรา” ทำให้มีสติในการกระทำความดี ความเหมาะสม
ผมมีความเชื่อมั่นตามผลการศึกษาครั้งนั้น(ศึกษาเมื่อประมาณ 2544) แม้ว่าหลักการดังกล่าวมาทั้งหมดนั้นจะไม่ใช่เหตุผลร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่เป็นสาระหลักของการหลอมเด็ก คนให้เติบโตมาอย่างมีคุณธรรม จริยธรรม ศีลธรรม เนื้อแท้ก็คือวัฒนธรรมของครอบครัว วัฒนธรรมความเชื่อความศรัทธา และการเห็นอกเห็นใจ มันเป็นทุนทางสังคมเดิมๆของเรา
ผมคิดว่าระบบการศึกษา หรือครูก็คงมีความเห็นสอดคล้องกับสิ่งดังกล่าวแต่การนำหลักการสู่หลักสูตรและการปฏิบัติในชีวิตจริงในห้องเรียนนั้น ถูกปรับ สอดแทรก ฯลฯ เข้ามาในการเรียนการสอนในทุกวิชามากน้อยแค่ไหน ครูก็บอกว่า ครอบครัวต้องช่วย พ่อแม่ก็บอกว่า โรงเรียนต้องสร้างเด็ก
ข่าวหลังๆมานี้เจ็บปวดกับที่ว่า งบประมาณการศึกษาไทยมากที่สุดในโลก แต่ผลสัมฤทธิ์ถดถอยอย่างหนัก
ใครมาเชิญผมเป็นรัฐมนตรีศึกษาธิการผมก็ทำอะไรไม่ได้หรอกครับ สู้ผมสร้างในครอบครัวและสังคมเล็กๆของผมดีกว่า เริ่มจากที่นี่ก่อนดีกว่าผมว่านะ แต่ที่นักการเมืองมาพ่นออกอากาศกันโครมๆนั่นน่ะ ฟังแล้วเศร้าจริงๆ ล่องลอยอยู่บนฟองน้ำลายกันมากกว่า….
อ้าวไปจบลงตรงนี้ได้ไง ..หุหุ..