Tablet….

2176 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 10 ธันวาคม 2011 เวลา 21:35 ในหมวดหมู่ การบริหารจัดการประเทศ #
อ่าน: 45093

ไม่น่าเชื่อว่าเด็กสมัยนี้จบ ป.6 อ่านหนังสือไม่ออก….?

ผอ.โรงเรียนมีชื่อแห่งหนึ่งของขอนแก่น ถูกตั้งข้อหารวยผิดปกติ เพราะเป็นแค่ ผอ.แต่มีเงินนับสิบล้าน..?

เด็กสมัยก่อนจะปั้นวัวปั้นควาย ด้วยมือเขาเอง ครูจะเป็นผู้สอนว่าขั้นตอนมีอะไรบ้าง เริ่มจากตรงไหน แล้วไปจบที่ตรงไหน ครูจะพาเด็กไปขุดดินในสถานที่ที่ดินดีที่สุดเหมาะที่สุดในการนำมาปั้น..ได้ดินมาแล้วต้องมานวดให้ได้ความพอดี ไม่แห้งไม่เปียกเกินไป ไม่แข็งเกินไป เด็กทำเอง ปั้นเอง ครั้งแล้วครั้งเล่า จึงผ่าน

เด็กสมัยก่อนคัดไทย
ฝึกเขียนตัวอักษร การผสมอักษร สระอยู่ตรงไหน พยัญชนะ วรรณยุกต์อยู่ตรงไหน ช่องไฟเป็นอย่างไร จะวางกระดานชนวนแบบไหน ใช้มือไหนเขียน …..ฯลฯ …?

กว่าจะมาเป็นครู กว่าจะมาเป็นผู้บริหารโรงเรียน ล้วนมาจากฝีมือทั้งสิ้น ไม่ใช่ไปวิ่ง สส. วิ่งรัฐมนตรีมา…?

เด็กคนหนึ่งมีความผิด ผอ.จะลงโทษ พ่อเด็กวิ่งไปขอ สส.ให้ ผอ.ระงับการลงโทษ….นี่มันอะไรกัน เสียการปกครองหมด เสียระเบียบ ข้อบังคับ แล้วเด็กคนอื่นเห็นเด็กที่ทำผิดแล้วไม่โดนทำโทษตามระเบียบมันคิดอะไร

และอีกหลากหลายประเด็นที่ผมได้มีโอกาสคุยกับ ผอ.โรงเรียนแห่งหนึ่งในขอนแก่น เป็นโรงเรียนที่ไม่ติดเมือง ผมฟัง ผอ.ท่านนี้เล่าให้ฟังแล้วสะอึกว่าระบบการศึกษาบ้านเรามันอาการทรุดหนักขนาดนี้เชียวหรือ…

ผมเรียนมาทางการศึกษาจึงสัมผัสสาระเหล่านี้ได้ดี แล้วในที่สุด ผอ.ก็มาลงที่ไอ้เจ้า Tablets ท่านกล่าวว่า ไม่เห็นด้วย แต่ไม่ปฏิเสธเทคโนโลยีตัวนี้ แต่ไม่ใช่เวลาที่เด็กเล็กๆจะมาเล่นเจ้านี่

ท่านกล่าวว่า เริ่มแล้ว มีผอ.โรงเรียนอนุบาลบางแห่งเอาใจรัฐบาล ประกาศขอนำร่อง Tablet ในโรงเรียนอนุบาลกันเลย แต่..ขอผู้ปกครองออกเงินสมทบจำนวนหนึ่ง..? ท่านผอ.ที่ไม่เห็นด้วยมากๆคือ การเอา Tablet มาเริ่มตั้งแต่อนุบาล.. เพราะก้าวข้ามขั้นของกระบวนการเรียนรู้การเขียน การผสมอักษร การวางสระ พยัญชนะ วรรณยุกต์ …ฯ ที่ใช้สมองกับทักษะของมือ… นี่ใช้นิ้วจิ้ม…เด็กที่โตมาด้วยการใช้นิ้วจิ้มนี่มันจะเป็นอย่างไร….??

มากไปกว่านั้น เบื้องหลังของ Tablet คือธุรกิจที่วางแผนและเตรียมกันมานานแล้ว แบบเรียนก็เป็นธุรกิจ สาระ เนื้อหาของการเรียนรู้จริงๆเป็นแค่ฉากหน้าที่ใช้วาทะศิลปฺพูดกันไป

ถามว่าเจ้ากระทรวงมีภูมิหลังเป็นอะไร ทำมาหากินอะไร…ไปค้นเอาเอง ก่อนจากลาผมเดินเข้าไปจับมือท่านผอ.ท่านนี้

ผมถามจริงๆ หากท่านผอ.มีอำนาจวาสนา ท่านอยากได้ใครมาเป็นเจ้ากระทรวง…

ท่านผอ.ตอบว่า ผมอยากให้ท่าน ศ. ดร.เกษม วัฒนชัย องค์มนตรีมาเป็นเจ้ากระทรวง ซึ่งสมัยหนึ่งท่านเป็นมาแล้ว ท่านดีมาก…ทั้งวิสัยทัศน์ นโยบาย ท่านไม่ลงไปล้วงลูก คุมนโยบายใหญ่ระดับชาติเท่านั้น แต่ปัจจุบันใครจะโยกย้าย เจ้ากระทรวงลงมาจัดการหมด….


ปรับเปลี่ยน…

48 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 9 ธันวาคม 2011 เวลา 9:47 ในหมวดหมู่ การบริหารจัดการประเทศ, งานพัฒนาสังคม #
อ่าน: 3560

ภาพนี้นำมาจาก อินเตอเนท ที่ผู้สื่อข่าวต่างประเทศเข้ามาทำข่าวในกรุงเทพฯ นำภาพน้ำท่วมไปเผยแพร่ทั่วโลก

วันนี้ใน ไทย พีบีเอส เล่าให้ฟังว่า ที่ญี่ปุ่นนั้นเกิดภัยพิบัติครั้งใหญ่บ่อยๆอย่างที่เราทราบดี แต่ครั้งหลังสุดนี้คือ สึนามิ ที่ฟูกุชิมา มีสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นเป็นแบบ Critical mass ที่น่าสนใจมากคือ

คนญี่ปุ่นตื่นตัวครั้งใหญ่ต่อพฤติกรรมประจำวันของคน มีการปรับตัวครั้งใหญ่เพื่อสร้างความพร้อมต่อภัยธรรมชาติที่อาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา..??? นั้นคือ

  • คนญี่ปุ่นหันมาใช้จักรยานกันมากขึ้นแทนที่จะใช้รถยนต์
  • สตรีญี่ปุ่นเลิกใช้รองเท้าส้นสูง หันมาใช้รองเท้าธรรมดาเพื่อพร้อมที่จะวิ่ง
  • สภาพบุรุษเลิกใช้เนคไท ใส่สูทธรรมดาเท่านั้น
  • ฯลฯ
  • และคนญี่ปุ่นแต่งงานกันมากขึ้น..!!!

คนญี่ปุ่นกล่าวว่า เขาตระหนักมากขึ้น มากขึ้น ว่าธรรมชาตินั้นยิ่งใหญ่เกินกว่าที่เราเข้าใจ……

การปรับเปลี่ยนที่เกิดขึ้นของพฤติกรรมคนต่อภัยธรรมชาติ อาจจะกล่าวอย่างหยาบๆได้ว่า ในที่สุดเราก็ต้องจำนนต่อธรรมชาติ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมนั้นก็เป็นไปเพื่อประโยชน์ของการดำรงชีวิต มากกว่าคำว่า แฟชั่น ค่านิยม หรือแม้แต่วัฒนธรรม เพราะอะไรก็ตามที่ไปขัดต่อวิถีธรรมชาติ ย่อมถูกทำลาย หรือได้รับผลกระทบ สิ่งที่ดีที่สุดคือการลู่ไปตามครรลองของธรรมชาติ

สิ่งสำคัญสุดที่อยู่เบื้องหลังการเปลี่ยนพฤติกรรมคือ การเปลี่ยนความคิด หากความคิดเปลี่ยนพฤติกรรมก็เปลี่ยน

เป็นข่าวที่สะท้อนกลับมาถึงบ้านเราว่า มหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นนั้น จะสร้างการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมอะไรบ้าง ซึ่งหากคิดแบบเร็วๆ ดูเหมือนมีหลายด้านที่ต้องมีการทบทวนการสร้างบ้านสร้างเมือง และพฤติกรรมของคนไทยเรา

หน่วยที่ต้องปรับเปลี่ยนทันทีคือ รัฐบาล ต่อแนวคิดในการบริหารจัดการน้ำ สิ่งก่อสร้างที่เกี่ยวข้องกับน้ำ และปริมาณน้ำที่มิอาจคาดการณ์ได้ โครงสร้างพื้นฐานและสาธารณะต่างๆนั้น เตรียมสำหรับวิกฤติต่างๆอย่างไรบ้าง ชุดสำเร็จของการแก้ไขปัญหาที่อาจเกิดขึ้นมีการเตรียมไว้หรือไม่ อย่างไร ฯลฯ

ส่วนตัวประชาชนเองที่อยู่ในความเสี่ยงทั้งหลายนั้น มีสำนึกของการเตรียมพร้อมแค่ไหน

พระพุทธองค์กล่าวไว้ตั้งสองพันกว่าปีว่า “ชีวิตอย่าตั้งอยู่บนความประมาท”

คอยดูกันต่อไปครับว่าอะไรบ้างที่จะเกิดการปรับเปลี่ยน….

หรือมุ่งหน้าคืนพาสปอร์ต และแก้กฎหมาย แก้รัฐธรรมนูญเพื่อคนบางคนแบบเนียนๆ….???


วิทยาศาสตร์เพื่อชีวิต..

1055 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 3 ธันวาคม 2011 เวลา 0:21 ในหมวดหมู่ การบริหารจัดการประเทศ, งานพัฒนาสังคม #
อ่าน: 21186

วิทยาศาสตร์ คือวิชาว่าด้วยการเข้าใจธรรมชาติ เข้าใจอะไร ก็เข้าใจกฎเกณฑ์ต่างๆของธรรมชาติรอบตัวเรา เข้าใจแล้วทำไม เข้าใจแล้วก็ อ๋อ….น่ะซี เอามาใช้ประโยชน์ได้ เข้าใจแล้วจัดการได้ หากมีปัญหา ก็เอาความเข้าใจนั้นไปจัดการได้….นำกฎเกณฑ์ไปสร้างนวัตกรรมต่างๆเพื่อประโยชน์แก่มนุษย์เพื่อการอยู่รอด และอื่นๆอีกมากมาย และก็มีที่เอาความรู้นี้ไปใช้ในทางทำลาย…ซึ่งแน่นอนเราไม่เห็นด้วย..


วันที่ผมไปเมืองกาญจนบุรี เพื่อดูงานมหกรรมพลังงานที่ สสส เป็นเจ้าภาพจัดนั้น มีหลายอย่างที่ผมสนใจ สิ่งหนึ่งคือรูปที่เห็นนี่แหละครับ
เนื่องจากมีเวลาน้อย เพราะต้องเดินไปตามโปรแกรมกับทีมงานที่ไปด้วย

รูปที่เห็นนั้นคือ การแสดงว่าในดิน และในน้ำนั้นมีพลังงานอยู่ หรือมีไฟฟ้าอยู่ กล่องซ้ายมือนั้นคือดินเปียก ถูกต่อด้วยสายไฟฟ้า ส่วนด้านขวามือนั้นคือกล่องเล็กๆหลายช่องที่บรรจุน้ำและต่อสายไฟฟ้า ทั้งสองกล่องนี้เมื่อเอาหลอดไฟไปต่อก็แสดงประจุไฟฟ้าออกมาด้วยหลอดไฟแดงขึ้น…

ผมไม่ได้ศึกษารายละเอียด ได้แค่ถ่ายรูปไว้

นี่คือความเป็นวิทยาศาสตร์ ที่คนเราเมื่อเข้าใจกฎเกณฑ์ของธรรมชาติแล้วก็เอามาใช้ประโยชน์คือทำให้เกิดแสงสว่างขึ้นได้ แม้ว่าแสงที่ได้ หรือพลังงานที่ได้จะไม่มาก แต่มันเป็นความรู้เบื้องต้นที่สามารถคิดต่อยอดได้อีกมากมาย ความรู้นี้ถูกค้นพบมานานแล้ว… การแสดงนี้เป็นของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ครับ


เครื่องที่เห็นนี้คือเครื่องทำไฟฟ้าขนาดเล็กโดยใช้พลังน้ำ เป็นฝีมือของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ที่เข้าไปช่วยชาวบ้าน “คีรีวง” จัดทำเรื่องนี้ บ้านคีรีวงนี้ใครไม่รู้จักก็ถามกูเกิลเอานะครับเพราะโด่งดังมากมายหลายเรื่อง และเป็นแม่แบบในการพัฒนาแบบพึ่งตนเองฉบับภาคใต้เลยหละครับ

เครื่องนี้หลักการง่ายๆ แค่เอาน้ำมาพ่นใส่ใบพัดที่เห็นนี่เครื่องก็จะหมุนก็เกิดกระแสไฟฟ้า เอาไปใช้ในครอบครัวได้สบาย บ้านคีรีวงเป็นสถานที่เหมาะมากเพราะเป็นเขตภูเขาที่มีน้ำจากภูเขาเพียงพอจึงมีการพัฒนาน้ำจากภูเขามาปั่นเครื่องทำไฟฟ้านี้ ทำกันทุกครอบครัวครับ..? ประหยัดค่าไฟฟ้าได้มาก

ความจริงรูปแบบการสร้างไฟฟ้าจากพลังน้ำนั้นมีมานานและมีต้นแบบหลากหลาย โครงการหลวงหลายที่ก็ใช้วิธีการนี้ แต่ส่วนใหญ่เป็นแบบขนาดใหญ่ที่สร้างกระแสไฟฟ้าที่ใช้ได้ทั้งชุมชน แต่ที่คีรีวงนี้มีขนาดเล็ก ใช้เฉพาะครัวเรือน..

แหมผมชอบจริงๆที่มาดูงานแบบนี้ เสียดายที่เวลาน้อยไป ท่านที่สนใจ ติดต่อ สสส นะครับ เพราะทุกคน ทุกสถาบัน ทุกหน่วยงานที่ไปร่วมแสดงนั้นได้รับทุนของ สสส ทั้งนั้นครับ…

ขอบคุณ สสส และควรต่อยอดผลงานเหล่านี้…

วันนี้เห็น อ.วิทย์ออก ทีวีเรื่องที่ คอน เอามาเขียนในลานด้วย คือ เครื่องมือกรองน้ำสะอาดแบบประหยัด ขอปรบมือดังๆอีกทีครับ…


ไปดูบ้าน

160 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 15 พฤศจิกายน 2011 เวลา 0:10 ในหมวดหมู่ การบริหารจัดการประเทศ, เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 5735

เป็นคำพูดที่ได้ยินบ่อยเหมือนอีกหลายคำในช่วงนี้

ที่บ้านขอนแก่นรับญาติมาพักด้วยสองครอบครัว ก็หนีน้ำมานั่นแหละ ครอบครัวผู้เป็นลูกสาวมาดูแลครอบครัวคุณแม่ที่ป่วย ทุกวันเธอก็โทรลงไปกรุงเทพฯถึงสามี ถึงเพื่อนบ้าน ให้ไปดูบ้านแล้วรายงานให้ทราบหน่อย เธอก็ซักไซ้อย่างละเอียดเหมือนอยากจะเห็นเองนั่นแหละ ก็ตัวอยู่ขอนแก่น ใจมันอยู่ที่กรุงเทพฯ เธอบอกว่าเฟอร์นิเจอร์ประเภท Build-in ในห้องรับแขกนั้นพังพินาจ และอื่นๆเพราะตอนหนีมาเก็บของได้ไม่มากนัก…เธอหลับตาทีไรเห็นรายจ่ายจำนวนมากรออยู่ข้างหน้า

เมื่อวันก่อนเธอบอกว่าได้รับ VDO ที่ญาติเดินทางไปดูบ้านแล้วถ่ายส่งมาให้ดู เออ เหมือนไปดูบ้านทางวีดีโอ..


(ขอยืมภาพน้ำท่วมมาประกอบ)

ญาติอีกรายอยู่เสนานิเวศ เป็นหมู่บ้านจัดสรรยุคแรกๆของพื้นที่นี้ เมื่อเวลาผ่านมาถึงปัจจุบันหมู่บ้านกลายเป็นที่ลุ่มเพราะหมู่บ้านที่สร้างภายหลังถมสูงขึ้นกันทั้งนั้น เมื่อฝนตกหน่อยเดียวเสนานิเวศน้ำฝนก็ท่วมทุกที มาคราวนี้มีหรือจะรอด ญาติอพยพไปเช่าที่พักอยู่ใกล้ๆ ทั้งที่หน่วยงานจัดหาที่พักให้ แต่ชอบที่จะอยู่ที่เช่าเอง เพราะต้องการอยู่ใกล้บ้าน เพื่อ “ไปดูบ้าน”

ดูทีวีเห็นหลายต่อหลายคนหนี้น้ำท่วมไปได้ไม่เท่าไหร่ก็ต้องย้อนกลับมาดูบ้าน โดยเฉพาะพี่น้องแถบบางบัวทอง ต้องเช่าเรือไปในราคาขูดรีดคนทุกข์ แต่ก็ยินยอมจ่ายเพราะใจมันอยู่ที่บ้าน ญาติผมที่เสนานิเวศก็เช่นกัน เหมาเรือพายลำหนึ่ง หลายสตางค์ พายเข้าไปในหมูบ้านเพื่อ ดูบ้าน น้ำลึกมาก เข้าไปในบ้าน เห็นแล้วก็น้ำตาตกเอาทีเดียว

พื้นไม้ลอยละล่อง น้ำสีดำและมีกลิ่นเหม็น เธอบอกว่ายังเห็นฟองอากาศลอยขึ้นมาปุดๆจากพื้นห้องบ้านชั้นล่าง เสียหายหมดสิ้น พยายามทำใจแต่ก็อดเศร้าโศกไม่ได้ วิมานของเธอพังพินาจสิ้น


(ขอยืมภาพน้ำท่วมมาประกอบ)

ได้เห็นภาพบ้านแล้วก็สมใจที่ได้ “ไปดูบ้าน” แต่ก็หดหู่ใจเป็นที่สุด ขากลับออกมาไม่มีแรงพายเรือ พี่ชายต้องลงเดินลุยน้ำจูงเรือออกมา ห้องที่เช่าพักนั้น เช่าเป็นเดือนได้เลย และอาจจะต้องหลังปีใหม่ไปแล้วกว่าจะได้กลับเข้าบ้านจริงๆ เพราะแม้น้ำจะลดลงในวันนี้ แต่การซ่อมแซมนี่ซิ อาจจะใช้เวลามากกว่าเดือน

โดยเฉพาะไม่มีช่างให้จ้างไปซ่อมบ้านน่ะซี

อือ…วันนี้คุณ “ไปดูบ้าน” หรือยัง


หากเป็นนครสวรรค์โมเดล..

477 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 13 พฤศจิกายน 2011 เวลา 0:11 ในหมวดหมู่ การบริหารจัดการประเทศ #
อ่าน: 6399

ปัญหาน้ำท่วมนั้นมันซับซ้อนมากกว่าปกติ การพัฒนาสร้างบ้านสร้างเมืองนั่นแหละกลายเป็นการผูกปมปัญหามากขึ้น ความมีเสรีมีส่วนสร้างองค์ประกอบให้เกิดปัญหา การพัฒนาเพื่อเพิ่มผลผลิต เพื่อเพิ่มรายได้ ก็มีส่วนสร้างปมเงื่อนไขให้เกิดปัญหาอย่างคาดไม่ถึงมาก่อน ไม่ได้คิดถึง รู้เท่าไม่ถึงการณ์ ไม่ได้พิจารณามาก่อน การพัฒนาที่ดินเพื่อมุ่งหวังกำไรแบบไร้วิสัยทัศน์ว่ากิจกรรมที่ทำนั้นจะมีส่วนสร้างปัญหาน้ำท่วมโดยรวม กิจกรรมมนุษย์ขาดมิติการพัฒนาที่สอดคล้องกับธรรมชาติ

ข่าวไทยพีบีเอสเมื่อเย็นวันนี้กล่าวว่า

ผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ลงลุยไถนาในวันรณรงค์ ฟื้นฟู ชาวบ้านหลังเผชิญอุทกภัยน้ำท่วม และกล่าวรณรงค์ให้เกษตรกรทำนาเพียงสองครั้งต่อปีคือ นาปีกับนาปรัง ทั้งนี้มีเหตุผลว่า หลีกเลี่ยงความเสี่ยงต่ออุทกภัยเช่นปีนี้ ซึ่งรัฐจะต้องตั้งงบประมาณมาชดเชยมากมาย จึงเรียกร้องให้เกษตรกรทำการผลิตข้าวเพียงสองครั้งต่อปี….และประกาศเป็นการรณรงค์เรื่องนี้

ผู้สื่อข่าวไปถามชาวบ้านแถบนั้นแล้วได้ข้อเท็จจริงว่า

ชาวนา: มันเป็นไปไม่ได้หรอกครับที่ท่านผู้ว่ามารณรงค์เช่นนั้น เพราะความจริงก็คือ ชาวนาแถบนี้จำนวนมากที่เช่านาทำ เจ้าของนาคิดค่าเช่าไร่ละ 900 บาทต่อปี ใครเช่า 5 ไร่ก็ 4500 บาทต่อปี และที่สำคัญที่เป็นเหตุผลว่าไม่สามารถทำตามที่ท่านผู้ว่ารณรงค์ได้ก็คือ เจ้าของที่นาจะคิดค่าเช่า 900 บาทต่อไร่ต่อปีนั้น หมายถึงผู้เช่าจะทำนา สองครั้งหรือสามครั้งก็คิดเท่าเดิม…. แล้วชาวนาผู้เช่าที่ดินคนไหนจะทำนาเพียงสองครั้งในเมื่อเสียค่าเช่าเท่าเดิม…คือ 900 บาทต่อไร่ต่อปี ไม่เปลี่ยนแปลง…

ชาวนา: ผมก็จะยังต้องเช่านาทำ และขอเสี่ยงปลูกข้าวครั้งที่สามต่อไป

ผมไม่ทราบว่าจังหวัดดำริเรื่องนี้โดยไม่มีการศึกษารายละเอียดเรื่องนี้ได้อย่างไร แนวคิดการเสนอให้เกษตรกรทำนาเพียงสองครั้งเพื่อลดความเสี่ยงในการปลูกข้าวครั้งที่สามลง และเป็นการประหยัดงบประมาณรัฐที่จะต้องจัดสรรงบชดเชย ดูจะเป็นเจตนาดีที่ขาดความรอบคอบในการทำงานเพื่อแก้ปัญหานี้

ผมละหวาดเสียวว่าเจตนาดีเรื่องนี้จะประกาศเป็น “นครสวรรค์โมเดล” ขึ้นมาอีกน่ะซี


การพร่องน้ำเขื่อน

349 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 12 พฤศจิกายน 2011 เวลา 7:54 ในหมวดหมู่ การบริหารจัดการประเทศ, งานพัฒนาสังคม #
อ่าน: 7837

เนื่องจากเคยทำงานที่เขื่อนลำปาว จ.กาฬสินธุ์ ในโครงการจัดการน้ำในระดับไร่นาสนับสนุนโดยรัฐบาลเนเทอร์แลนด์ และมาทำงานกับกลุ่มบริษัท ยูโรคอลซัล เรื่องปรับปรุงและพัฒนาการใช้ประโยชน์เขื่อนในภาคอีสาน หลายแห่ง โดยมีกรมชลประทานเป็นหน่วยงานหลัก อยากแสดงความเห็นเกี่ยวกับการพร่องน้ำของเขื่อนต่างๆ ไม่ใช่คำอธิบายเชิงวิชาการ เป็นเพียงความเข้าใจที่มีโอกาสใกล้ชิดเรื่องนี้

  • น้ำในเขื่อนมาจากไหน

เขื่อนในประเทศเรานั้นยกเว้นเขื่อนเจ้าพระยา หรือเขื่อนที่กั้นแม่น้ำนั้น น้ำมาจากฟ้า คือน้ำฝน เขื่อนแบบนี้เราเรียก Dam ส่วนเขื่อนเจ้าพระยานั้นเป็นการก่อสร้างขวางทางแม่น้ำขนาดใหญ่ จึงไม่จำเป็นต้องคอยน้ำฝน แค่เอาบานประตูน้ำปิดลง วันเดียวน้ำก็เต็มหน้าเขื่อน เขื่อนแบบนี้เรียกว่า River-Pondage (หากสะกดผิดก็ขออภัยด้วย)

  • วัตถุประสงค์การสร้างเขื่อนเพื่ออะไร

หากเป็นเขื่อนของกรมชลประทานก็เน้นเรื่องหลักคือ เพื่อการเกษตร โดยสร้างระบบคลอง คูส่งน้ำขึ้นมาเชื่อมต่อกับประตูระบายน้ำปกติจะทำสองบานซ้ายขวา กระจายไปตามพื้นที่การเกษตรโดยอาศัยแรงโน้มถ่วงโลก หรือระดับสูงต่ำของพื้นที่เป็นตัวนำน้ำไป และพยายามกระจายออกไปให้มากที่สุดตามกำลังความสามารถของปริมาณน้ำที่เก็บกักได้ในเขื่อนและสภาพพื้นที่

การเกษตรในที่นี้หมายถึงน้ำเสริมการทำนาข้าวในฤดูฝนสำหรับปีที่ฝนน้อย หรือฝนทิ้งช่วง แต่หลักๆคือน้ำเพื่อการเกษตรในฤดูแล้ง หรือหลังนาปี ไม่ว่าเกษตรกรจะใช้น้ำเพื่อปลูกข้าวนาปรัง ปลูกพืชเศรษฐกิจอื่นๆ หรือแม่แต่เลี้ยงปลา กรมชลประทานก็สามารถจัดการน้ำให้ได้

อีกวัตถุประสงค์หนึ่งคือเพื่อชะลอการไหลบ่าของน้ำหลากที่จะทำให้เกิดน้ำท่วมพื้นที่ใต้เขื่อนได้ แต่ก็มีข้อจำกัดแค่ปริมาณความสามารถในการเก็บกักเท่านั้น หากปริมาณฯฝนมากเกินกว่าเก็บกัก ก็ไม่สามารถช่วยอะไรได้ วัตถุประสงค์ข้อนี้มักกล่าวอ้างประโยชน์ของเขื่อน แต่ผู้อธิบายไม่ได้อธิบายทั้งหมดว่ามีข้อจำกัดนะ.. หากเกินระดับเก็บกักแล้ว มีเขื่อนก็เหมือนไม่มีเขื่อนเพราะเก็บกักไม่ได้แล้ว ต้องปล่อยไปตามธรรมชาติ

เขื่อนของกรมชลประทานแบบนี้จะสร้างทั้งขนาดเล็ก กลาง และ ใหญ่ ซึ่งมีความจุมากที่สุดก็นับหลายพันลูกบาศก์เมตร โดยมีหน่วยวัดที่ระดับเก็บกักจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

ส่วนเขื่อนของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต หรือ กฟผ นั้นสร้างขึ้นเพื่อใช้ประโยชน์พลังน้ำในการสร้างกระแสไฟฟ้าเอาไปใช้เป็นหลัก มิได้มีวัตถุประสงค์เพื่อการเกษตร นอกจากจะดัดแปลงเล็กน้อยเพื่อการเกษตรได้บ้าง

  • การเก็บกักน้ำของเขื่อน

เขื่อนที่สร้างขึ้นมานั้นมีการศึกษาความเหมาะสม อย่างรอบด้านแล้ว จึงตัดสินใจก่อสร้าง โดยกำหนดระดับเก็บกักน้ำฝนที่คาดว่าจะก่อเกิดประโยชน์สูงสุดต่อสภาพพื้นที่และในแง่มุมต่างๆ ตัวเลขเก็บกักนั้นใช้มาตรฐานสากลระบุ คือปริมาตรลูกบาศก์เมตรที่ระดับน้ำทะเลปานกลาง คนในวงการก็จะพูดสั้นๆว่า เขื่อนนี้มีปริมาตรความจุเท่ากับ …. ที่ระดับเก็บกักฯ นายช่างชลประทานที่รับผิดชอบจึงต้องศึกษาสถิติน้ำฝนในรายละเอียดย้อนหลังไปมากที่สุดเพื่อศึกษาค่าเฉลี่ยและ Trend ในแต่ละช่วงปี โดยมีข้อมูลการพยากรณ์อากาศของกรมอุตุนิยมวิทยาเป็นข้อมูลหลัก

  • จัดการน้ำในเขื่อน

วัตถุประสงค์เขื่อนแตกต่างกัน การจัดการน้ำจึงไม่เหมือนกันในรายละเอียด แต่หลักการใหญ่ๆคือ ปริมาณน้ำที่เก็บกักได้ก็จะบริหารปล่อยออกไปตามแผนงานที่กำหนดไว้ล่วงหน้าแล้ว และปรับปรุงไปตามสภาวการณ์ทุกช่วงระยะที่กำหนด เช่นทุกสัปดาห์ เป็นต้น หากเป็นเขื่อนเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าก็จะต้องพิจารณาปริมาณกระแสไฟฟ้าที่ต้องการผลิตซึ่งจะบ่งชี้ปริมาณน้ำที่ต้องใช้สร้างกระแสไฟฟ้า คือปริมาณน้ำที่ต้องปล่อย

เช่นเดียวกันน้ำเพื่อการชลประทานก็ต้องปล่อยน้ำลงคลองส่งน้ำตามแผนงานของฝ่ายส่งเสริมการผลิตว่ามีพื้นที่ที่ทำการเกษตรเท่าไหร่ ปลูกอะไร ช่วงเวลานั้นอยู่ระยะไหนของการเพาะปลูก ซึ่งต้องการน้ำที่แตกต่างกัน เจ้าหน้าที่ชลประทานแต่ละตอนส่งน้ำจะต้องเตรียมประชุมกับเกษตรกรในพื้นที่ของตนตั้งแต่ต้นฤดูการผลิตเพื่อสำรวจจำนวนครัวเรือนที่ประสงค์จะทำการผลิตในช่วงฤดูแล้งนี้มีจำนวนกี่ครัวเรือน รวมพื้นที่กี่ไร่ แปลงที่ทำการผลิตอยู่ตรงไหน ตั้งใจจะปลูกพืชอะไร แยกชนิด ประเภท จัดทำระบบข้อมูลอย่างละเอียดจึงมาวางแผนปล่อยน้ำว่าจะเริ่มปล่อยน้ำให้เกษตรกรได้เมื่อใดวันที่เท่าใด โดยคำนึงถึงการประหยัดน้ำ เพราะน้ำทุกหยดมีต้นทุน

  • การพร่องน้ำ

โดยสภาพปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมาในแต่ละปีนั้นจะมีปริมาณมากเกินการเก็บกักของเขื่อน และมีความไม่แน่นอนว่าแต่ละปีจะตกกี่ครั้ง กี่วัน ที่เรียกว่าการกระจายตัวของฝน แต่ละครั้งนั้นมีปริมาณน้ำที่จะเข้าเขื่อนจำนวนเท่าใด ข้อมูลเหล่านี้วิศวกรแหล่งน้ำที่ควบคุมการบริหารจัดการน้ำเขื่อนจะต้องศึกษาข้อมูลต่างๆที่เกี่ยวข้องอย่างละเอียด และฝนตกแต่ละครั้งต้องรีบตรวจสอบว่ามีปริมาณเท่าใดที่เข้ามาในเขื่อน และศึกษาข้อมูลคาดการณ์ข้างหน้าว่าจะมีฝนตกอีกกี่ครั้ง น้ำที่จะเข้าเขื่อนจำนวนเท่าใด

โดยปกติ วิศวกรแห่งน้ำที่ควบคุมและบริหารน้ำเข้าและออกจากเขื่อนจะเปิดบานประตูเขื่อนให้น้ำในเขื่อนไหลออกไปจำนวนหนึ่ง เพื่อให้เขื่อนมีปริมาตรเก็บกักน้ำมากเพียงพอที่จะรับน้ำฝนใหม่ที่จะตกลงมา การเปิดบานประตูและปล่อยน้ำออกจากเขื่อนนี้เราเรียก “การพร่องน้ำเขื่อน”

หากข้อมูลชัดเจน และการคาดการณ์จากการพยากรณ์แม่นยำ แน่ชัด หรือมีความเชื่อมั่นสูง การพร่องน้ำในปริมาณที่เหมาะสมก็จะพอดีกับปริมาณน้ำที่จะเติมเข้ามาใหม่จากฝนที่ตกลงมา หากบริหารได้เช่นนี้ ก็จะไม่ส่งผลเสียหายแต่อย่างใด และหากในแต่ละปีปริมาณฝนที่ตก และการกระจายตัวของฝนอาจจะคลาดเคลื่อนไปบ้าง การบริหารจัดการก็ไม่น่าจะมีปัญหาอย่างใด

แต่ในกรณีที่ปีใดที่มีฝนตกมาก เช่นปีนี้ที่มีพายุเข้ามาถึง 5 ครั้ง แต่ละครั้งปลดปล่อยน้ำออกมามากมายลงสู่หน้าเขื่อน จนเกินระดับเก็บกัก ก็จำเป็นที่จะต้องระบายน้ำออกมากกว่าทุกปี เพื่อรักษาความปลอดภัยของตัวเขื่อนให้มีความมั่นคงในการเก็บกัก ตรงนี้เองที่ปริมาณน้ำที่พร่องออกมามากเกินกว่าปกติย่อมส่งผลต่อพื้นที่ด้านล่างของตัวเขื่อน คือ น้ำท่วม และก่อให้เกิดความเสียหายต่างๆ

  • พร่องน้ำเขื่อนอย่างไรจึงจะปลอดภัย

คำถามนี้ วิศวกรแหล่งน้ำผู้ควบคุมย่อมอธิบายได้ แต่ในมุมมองของผมนั้นคิดว่าในกรณีปกตินั้นไม่มีปัญหาอย่างใด แต่ในปีที่มีฝนตกมาก เช่น ปีนี้ ยากที่จะบริหารจัดการน้ำ เพราะการพร่องน้ำมากมันรุนแรงกว่าฝนตกมาก เพราะฝนตกมากนั้นมันตกกระจายตัวในพื้นที่กว้าง แต่การพร่องน้ำในปริมาณที่มากออกมานั้น มันมากเกินกว่าที่ลำน้ำหน้าเขื่อนจะรับได้ เพราะเป็นปริมาณที่มากผิดปกติ หากไม่พร่องก็อาจก่อปัญหาความมั่นคงของตัวเขื่อน ปล่อยมามากก็ทำให้เกิดการท่วมอย่างรวดเร็ว และส่งผลเสียหายมากกว่า โดยเฉพาะพื้นที่สองข้างริมฝั่งลำน้ำที่เป็นทางไหลออกขากน้ำจากเขื่อน

อาจจะพร่องน้ำบ่อยครั้งในปริมาณที่ไม่กระทบต่อการท่วมย่อมได้ แต่ก็เสี่ยงต่อน้ำฝนที่จะเติมลงมาใหม่ว่าจะมีมากเพียงพอให้เก็บกักตามแผนงานหรือไม่ แม้จะใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ สถิติ การพยากรณ์ที่แม่นยำ แต่ไม่มีหลักประกันในความเชื่อมั่นสูงแต่อย่างใด การบริหารงานเก็บกักน้ำจึงเป็นการบริหารงานความเสี่ยงแบบหนึ่ง

ยิ่งหากมีการเมืองเข้ามาแทรก หรือมีอำนาจที่เหนือกว่ามาสั่งการให้บริหารจัดการตามประสงค์ของผู้สั่งการ โดยไม่ได้อยู่บนฐานข้อมูลและความเหมาะสมแล้ว ความผิดพลาดในการบริหารงานย่อมเกิดขึ้นได้เสมอ

  • ประโยชน์ของเขื่อน

ทัศนะส่วนตัวเห็นว่าเขื่อนมีประโยชน์โดยเฉพาะเพื่อการเกษตร เป็นความฉลาดของมนุษย์ที่ดัดแปลงธรรมชาติมาเพื่อความมั่นคงด้านอาหาร แต่ขนาดของเขื่อนนั้นอาจไม่จำเป็นต้องใหญ่มากเพราะส่วนที่ทำให้เกิดผลเสียก็ย่อมมี เช่นไปกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สภาพธรรมชาติต่างๆ สองด้านนี้ต้องศึกษาและประเมินแบบมีส่วนร่วมอย่างละเอียดว่าความเหมาะสมอยู่ที่ตรงไหน


ศูนย์ผู้ประสบภัยน้ำท่วม

682 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 10 พฤศจิกายน 2011 เวลา 16:35 ในหมวดหมู่ การบริหารจัดการประเทศ, งานพัฒนาสังคม, ทุนสังคม #
อ่าน: 5023

นั่งดู ไทยพีบีเอส หลายวันรู้สึกชอบใจรายการ “ชุมชนคนสู่น้ำ” ที่ตระเวนไปหลายแห่งเอาการจัดการศูนย์ประสบภัยออกมาเผยแพร่ว่าที่นั่นที่นี่จัดการอย่างไร มีปัญหาอะไรบ้าง การช่วยเหลือของรัฐเป็นอย่างไร และที่เน้นมากคือการบริหารจัดการอย่างไร โดยมีหมอโกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ เป็นวิทยากรคอยเสริม คอยสรุปออกมาเป็นหลักการ แนวคิด ฯลฯ

ไทย พีบีเอส คัดเลือกศูนย์ฯที่ประสบผลสำเร็จในการบริหารจัดการและเอามาเผยแพร่นับว่ามีประโยชน์กับศูนย์ผู้ประสบภัยอื่นๆเอาไปดัดแปลง ปรับใช้ และมีแง่มุมที่น่าคิดมากมาย ของชื่นชม ไทย พีบีเอส โดยเฉพาะน้องหมอโกมาตร ที่ไม่ได้พบกันมานานนับสิบๆปี


(ภาพจากอินเตอเนท)

ขออนุญาตกล่าวถึงน้องหมอโกมาตร ผมคิดว่าเป็นหมอที่เดินออกมาจากอิทธิพลการเคลื่อนไหว 14 ตุลา ที่มีหมอหลายท่านออกสู่ชนบททั้งที่เปิดเผยตัวตน เช่น หมอสงวน นิตยารัมพงศ์ ที่ท่านเสียชีวิตไปแล้ว หมอแหยง หรือสำเริง แหยงกะโทกแห่งโคราช หมอโกมาตร และอีกหลายต่อหลายท่าน บุคคลเหล่านี้เคยร่วมงานกันมาสมัยโน้น แล้วต่างแยกย้ายไปกันตามเส้นทาง ท่านเหล่านี้เป็นแบบอย่างหมอรุ่นใหม่หลายท่านตามมา

หมอโกมาตรเป็นหมอคนแรกๆที่ก้าวออกมาสนับสนุนแพทย์แผนไทย สมุนไพร และกระบวนการเยียวยาตามภูมิความรู้โบราณของท้องถิ่น อาจจะเรียกการแพทย์ทางเลือกก็ได้ ท่านศรัทธาชุมชน และภูมิปัญญาชุมชนที่ท่านเอาไปผสมผสานความรู้ทางการแพทย์สมัยใหม่ จนท่านได้มีโอกาสไปเรียนต่อต่างประเทศทางด้านมานุษยวิทยา(ถ้าจำไม่ผิด) ซึ่งหายากมากที่แพทย์ไปเรียนต่อทางด้านนี้ ส่วนใหญ่ก็เรียนทางผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน…

ผมขอกล่าวถึงศูนย์ประสบภัยที่ออกรายการวันนี้ คือศูนย์บ้านม้า เขตประเวศ กทม.นี่แหละ เป็นชุมชนอิสลาม อยากสรุปสั้นๆว่า


(ภาพจากอินเตอเนท)

  • แรกเข้า

หมอโกมาตรเรียกว่าการจัดการพื้นที่ มีการประมวลผลผู้เข้ามาอยู่ในศูนย์ผู้ประสบภัยนี้อย่างไรบ้าง ลงทะเบียนให้หมดที่เราเรียกว่าทำฐานข้อมูล จากฐานข้อมูลก็มาคัดกรองเป็นกลุ่ม ตามความเหมาะสม เช่น กลุ่มผู้ป่วยควรจะอยู่ในพื้นที่ที่ง่ายต่อการเคลื่อนย้าย กลุ่มผู้สูงอายุควรจะอยู่ใกล้ห้องน้ำและไม่อยู่ในชั้นสูงๆของอาคาร กลุ่มสตรี กลุ่มที่มีครอบครัว ฯลฯ


(ภาพจากอินเตอเนท)

  • ปฐมนิเทศ

มีการปฐมนิเทศผู้ที่เข้ามาพักพิงในศูนย์ เพื่อให้เข้าใจระเบียบ ข้อตกลงที่จัดทำกันขึ้นมาเองโดยผู้อพยพนี้ ข้อแนะนำการพักพิง การปฏิบัติตัวในการอยู่ร่วมกันซึ่งจะไม่มีความเป็นส่วนตัวเหมือนบ้านของตัวเอง การทำความเข้าใจเบื้องต้นนี้เป็นความสำคัญในการที่ชุมชนชั่วคราวควรพูดจากันให้รู้เรื่อง เข้าใจ เช่นห้องตากเสื้อผ้ารวม ห้องแต่งตัวสตรี ห้องเก็บของส่วนกลาง ห้องนอน พื้นที่ทิ้งขยะ ฯลฯ หากไม่ทำความเข้าใจกันคงมั่วน่าดู

  • การบริหารจัดการศูนย์ฯ

ดูเป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องการผู้รับผิดชอบในเรื่องต่างๆที่จะต้องทำร่วมกัน ผู้บริหารศูนย์จึงระดมคนในศูนย์นั่นแหละมาช่วยกันรับผิดชอบใครมีความสามารถอะไร ถนัดอะไรก็มาช่วยกัน แบ่งความรับผิดชอบกัน เช่น ฝ่ายลงทะเบียน ฝ่ายรับและบริหารจัดการของบริจาค ฝ่ายรักษาความสงบ ฝ่ายทำอาหาร ฝ่ายสุขอนามัย ฝ่ายเก็บขยะ ฝ่ายน้ำดื่มน้ำใช้ สารพัดฝ่ายที่จำเป็น ที่สมควรจัดทำขึ้น

  • การบริหารจัดการเฉพาะเรื่องเฉพาะฝ่าย

ตรงนี้สำคัญมาก กรณีที่น่าสนใจคือ ผู้บริจาคไม่ทราบว่าผู้รับบริจาคต้องการอะไร ขาดแคลนอะไร แต่ละคนแต่ละครอบครัวไม่เหมือนกัน แต่ละเพศไม่เหมือนกัน แต่ถุงยังชีพนั้นจัดสิ่งของเหมือนกันหมด ของบริจาคหลายอย่างไม่ได้ใช้ สิ่งที่ต้องการไม่ได้รับการบริจาค ฯลฯ และผู้บริจาคไม่ได้เข้าระบบการจัดการ เห็นผู้ประสบภัยก็ให้อย่างเดียว เรียกว่าเจตนาดีแต่ไม่ตรงกับความต้องการ ศูนย์แห่งนี้มีกระบวนการคือของบริจาคทั้งหมดมากองรวมกันเป็นส่วนกลาง แล้วแยกแยะออกเป็นกลุ่ม แล้วจัดสรรให้ตรงตามต้องการแก่ผู้พักอาศัย เท่าที่จำเป็นก่อน ส่วนเหลือยังอยู่เป็นส่วนกลาง ใครหมดก็มาเบิกไปใหม่ และเบิกได้เฉพาะเวลาเท่านั้น โดยมีการลงทะเบียนหรือจัดทำระบบข้อมูลขึ้นมาเพื่อควบคุมให้เกิดความเรียบร้อย ทั่วถึง ขาดแคลนอะไรก็สามารถร้องขอโดยตรงต่อผู้บริจาคได้.ยังมีรายละเอียดอีกมาก..

กรณีบ้านม้าที่เป็นชุมชนมุสลิมนั้นพบว่าสิ่งของบริจาคบางอย่างเป็นสิ่งต้องห้ามทางศาสนา เช่น เนื้อหมูบริจาค ก็สามารถส่งคืนผู้บริจาคหรือส่งต่อไปให้ศูนย์อพยพอื่นๆได้

  • อย่าให้เวลาล่วงเลยไปอย่างไร้ประโยชน์

ทางศูนย์ทราบดีว่าการมาร่วมกันนั้นคืออพยพหนีภัยน้ำท่วมบุคคลที่มีหน้าที่ก็ออกไปทำหน้าที่ ยังมีส่วนที่เหลืออยู่ในศูนย์ เช่นเด็กและผู้สูงอายุ อย่าปล่อยให้วันเวลาผ่านไป ศูนย์สามารถจัดการเพิ่มพูนความรู้ต่างๆให้แก่กลุ่มคนเหล่านี้ได้ตามความเหมาะสม ซึ่งอาจจะสำรวจความต้องการก่อน หรือจากการสังเกตเห็นของผู้บริหารงานศูนย์ เช่นกลุ่มเด็กๆ ก็อาจจัดกิจกรรมที่เหมาะสมสำหรับเด็กที่สร้างสรรค์ โดยการหาผู้ที่มีความสามารถภายในศูนย์เอง หากไม่มีก็แสวงหาจากภายนอกได้ ผู้สูงอายุก็สามารถจัดกิจกรรมที่เหมาะสมได้เช่นเดียวกัน

มีรายละเอียดอีกมากที่น่าสนใจ ท่านที่ได้ติดตามรายการนี้คงทราบดี ผมประทับใจบทเรียนที่คณะวิทยากรสรุปและหมอโกมาตรสรุปคือ

  • การจัดตั้งเดิมของชุมชน: ชุมชนมุสลิมมีองค์กรเฉพาะของเขาอยู่เดิมแล้วซึ่งมิใช่โครงสร้างของการปกครองของรัฐบาล การจัดตั้งเดิมนี้คือฐานสำคัญที่มาหนุนเนื่องให้เกิดการแก้ไขปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพ
  • ระบบเครือข่าย: นอกจากการจัดตั้งดั้งเดิมของชุมชน ยังมีเครือข่ายมุสลิมมรชุมชนอื่นๆทั้งใกล้เคียงและห่างไกล เมื่อเพื่อนประสบภัยต่างก็หนุนช่วยกันเต็มที่ เป็นพลังกลุ่ม และเครือข่ายที่เห็นประโยชน์ชัดเจน
  • ชุมชนที่มีฐานศาสนาร่วมกันและเคร่งครัดเช่นมุสลิมนี้ ต่างใช้วิกฤตินี้เรียนรู้สัจธรรมของคำสอนและธรรมชาติ: เช่นมีการสรุปจากวิกฤตินี้ว่า แก่นแท้ของชีวิตคืออะไร ยามปกติเราก็ประมาท เมื่อประสบภัยเราก็ตระหนักถึงพื้นฐานง่ายๆของชีวิตที่จำเป็นและต้องการ ส่วนเกินของชีวิตมีมากมาย
  • หมอโกมาตรกล่าวว่า บางศูนย์ขนาดใหญ่เอาดนตรีวงใหญ่ๆมาขับกล่อม เพียงเจตนาช่วยด้านบันเทิงมิให้จมในกองทุกข์ แต่อีกมุมหนึ่งเป็น”ทัศนะกลบเกลื่อน” ความเป็นจริง ตรงข้ามควรที่จะเอาความจริงนั้นมาสรุปบทเรียนชีวิตต่างหาก มิได้ปฏิเสธกิจกรรมบันเทิง แต่ความเหมาะสมอยู่ตรงไหน อย่างไร เป็นรายละเอียดที่ต้องใส่ใจมากกว่าเพียงเจตนาดี
  • ท่านผู้นำศาสนาท่านหนึ่งสรุปว่า “ศีลธรรม จริยธรรม ไม่มีใครเป็นเจ้าของ” ทุกคนสามารถมีได้ สร้างขึ้นมาได้ รักษามันได้ และมันเป็นแก่นแกนของดารดำรงชีวิตร่วมกัน

    ผมเรียนรู้จากรายการนี้มากทีเดียว และเชื่อว่าศูนย์อพยพอื่นๆก็มีการบริหารจัดการ ซึ่งอาจจะแตกต่างไปตามความเหมาะสม และท้ายที่สุดท่านนักบวชมุสลิมพบว่า ยามนี้ต้องใช้ปลัก 3 ป. คือ ป เปิด คือเปิดใจรับสิ่งที่มันเกิดขึ้น ฯลฯ ป ปรับ คือ ต้องปรับชีวิตให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เผชิญอยู่ให้ได้ และ ป เปลี่ยน คือการที่ไม่เคยเปิดก็ต้องเปิด และที่ไม่เคยปรับก็ต้องปรับ

    ขอบคุณหมอโกมาตร นักบวชและผู้นำอิสลามบ้านม้า และรายการชุมชนคนสู้น้ำ แห่ง ไทยพีบีเอสครับ


บางส่วนของปัญหาการจัดการน้ำในภาพรวม

458 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 9 พฤศจิกายน 2011 เวลา 11:31 ในหมวดหมู่ การบริหารจัดการประเทศ, งานพัฒนาสังคม #
อ่าน: 9542

ในช่วงเดือน สิงหาคมถึงเดือนตุลาคม รวมสามเดือนที่ผมได้เข้าไปลุยพื้นที่คลองต่างๆของปทุมธานีเพื่อเก็บข้อมูลชุมชน ความคิดเห็นของผู้นำชุมชนและประชาชนในงานก่อสร้างโรงงานผลิตยาแห่งที่สองขององค์การเภสัชกรรมที่คลอง 10 ซึ่งเป็นพื้นที่ อำเภอธัญบุรี นอกจากนี้ในรัศมี 5 กม.จากที่ตั้งโครงการ ยังต้องไปเก็บข้อมูลต่างๆเช่นเดียวกัน นั่นหมายถึงครอบคลุมพื้นที่ของ อำเภอหนองเสือ ซึ่งอยู่ด้านเหนือของอำเภอธัญบุรีและติดต่อกับอำเภอวังน้อยของจังหวัดอยุธยา และเก็บข้อมูลทางด้านใต้ของ ธัญบุรีคืออำเภอลำลูกกา


ผมไม่เคยมาพื้นที่แถบนี้มาก่อนแรกๆจึงงงกับสภาพพื้นที่ ที่เป็นคลองจากทิศเหนือ-ใต้ และคลองขวางทางตะวันออกตะวันตก ตลอดสามเดือนนั้นผมได้พบข้าราชการตั้งแต่ระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล ผู้นำชาวบ้านรวมถึงตัวเกษตรกรเอง และ เจ้าหน้าที่บริหาร อปท. จึงมีความเข้าใจพื้นที่นี้มากขึ้น ซึ่งเกี่ยวข้องกับน้ำท่วมครั้งนี้ด้วย

  • สองวัตถุประสงค์หลักของระบบคลองน้ำ

พื้นที่ของจังหวัดประทุมธานีส่วนนี้ถูกพัฒนามาตั้งแต่รัชการที่ 5 เท่าที่รับฟังมานั้นพระองค์ทรงมีประสงค์จะสร้างทางระบายน้ำจากทิศเหนือกรุงเทพฯไปลงทะเลโดยให้ผ่านพื้นที่เหล่านี้ เป็นระบบป้องกันน้ำท่วมกรุงเทพฯ ในขณะเดียวกันก็สามารถพัฒนาพื้นที่เป็นเขตเกษตรกรรมก้าวหน้า เพราะสามารถจัดการน้ำเข้ามาหล่อเลี้ยงได้ตลอดปี

เจ้าของพื้นที่ดั้งเดิมตรงนี้นั้นเป็นพื้นที่ของพระมหากษัตริย์ ที่ทรงพระราชทานให้แก่พระบรมวงศานุวงศ์ทั้งหลาย เมื่อพัฒนาระบบคลองส่งน้ำจึงมีชื่อคลองที่เป็นชื่อ “เจ้านาย” อยู่หลายแห่ง และในระยะเวลาต่อมาที่ดินเปลี่ยนมือไปสู่ประชาชนที่เป็นผู้มีเงินทอง….

แต่ผมสอบถามผู้นำชุมชนและเกษตรกรพบว่าร้อยละ 70-90 ของพื้นที่เหล่านี้เป็นพื้นที่เช่า..เกษตรกรเช่าในอัตราที่แตกต่างกันไปตามลักษณะของพื้นที่..

  • การเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดิน

เป็นที่ทราบดีว่าอาชีพหลักของประชาชนไทยเรานั้นคือการทำการเกษตร ทำนา ทำสวน กรุงเทพฯในสมัยรัชการที่ 5 นั้นเหมือนกรุงเวียงจันทร์ปัจจุบันที่กลางกรุงยังมีการทำนากันอยู่ พื้นที่ปทุมธานีเขตนี้ก็ทำการเกษตรทั้งหมด

เมื่อน้ำดีการพัฒนาการเกษตรก็ก้าวหน้า จนเกิดนวัตกรรมพันธุ์ข้าวหลายสายพันธุ์เกิดขึ้นที่นี่ ที่มีชื่อเสียงคือพันธุ์ข้าว “เหลืองปทุม” และอื่นๆเพราะมีสถานีข้าวของกรมการข้าวที่นี่ น้ำดี การพัฒนาเทคโนโลยี่การผลิตการเกษตรดี จึงเป็นเขตเกษตรก้าวหน้า และอยู่ใกล้กรุงเทพฯ จึงเป็นแหล่งผลิตที่สำคัญเพื่อการบริโภคของคนเมืองกรุง และการส่งออกต่างประเทศ

เมืองพัฒนาไปมากเท่าใด ก็ขยายตัวออกไปรอบๆกรุงเทพฯมากขึ้น ที่ดินในกรุงเทพฯแพงขึ้น อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ขนาดย่อมและขนาดเล็กก็ขยายตัวไปรอบๆกรุงเทพฯรวมทั้งพื้นที่ตรงนี้ด้วย โดยเฉพาะรอบๆถนนสายหลักและตามต้นลำคลองทั้งหลาย จนมีการพบมลพิษและปัญหาต่างๆมากขึ้นจึงมีการกำหนดให้พื้นที่ปทุมธานีส่วนนี้เป็นพื้นที่สีเขียว ไม่อนุญาตให้ทำโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ขนาดกลาง แต่มีขนาดย่อมและขนาดเล็กมากมายนับร้อยนับพันแห่ง


อุตสาหกรรมขยาย และที่ดินกรุงเทพฯแพงมาก และเป็นพื้นที่ใกล้กรุงเทพฯ การคมนาคมสะดวก จึงเกิด “บูม” ในเรื่องที่พักอาศัย ทั้งเป็นที่พักของแรงงานในโรงงานอุตสาหกรรมแถบนั้น และบ้านพักข้าราชการที่ขยายไปอยู่ การลงทุนหมู่บ้านจัดสรรนั้นเติบโตเกินไป และพบปัญหาระบบน้ำประปาไม่มี อาศัยน้ำใต้ดินที่คุณภาพน้ำไม่เหมาะที่ใช้ดื่ม แม้เป็นน้ำใช้ก็มีปัญหา จึงเกิดล่มสลายของหมู่บ้านจัดสรรมากมายอย่างน่าเสียดายยิ่งนัก บางแห่งทั้งโครงการมีผู้อยู่อาศัยไม่ถึงสิบหลัง นอกนั้นปล่อยร้างต้นไม้ขึ้นเป็นป่า หรือซื้อแล้วทิ้ง ซื้อแล้วให้ธนาคารยึดมากมายเหลือคณานับนัก


ดังนั้นพื้นที่เกษตรเดิมถูกสภาพเมืองบุกรุกกลายเป็นบ้านจัดสรร โรงงานอุตสาหกรรม แม้แต่สนามกอล์ฟ ทำให้พื้นที่เกษตรกรรมลดลง พื้นที่เหล่านั้นถูกถมเพื่อก่อสร้าง ทำให้พื้นที่รองรับน้ำเดิมลดลงไป

  • การปรับเปลี่ยนระบบการเกษตร

การเกษตรดั้งเดิมคือการทำนาทำสวน เมื่อระบบคลองถูกพัฒนา น้ำดี ระบบประตูน้ำชลประทานเข้ามาจัดการน้ำ จึงเหมาะอย่างยิ่งต่อการพัฒนาการเกษตรเป็นแบบก้าวหน้า เมื่อเทคโนโลยี่การเกษตรพัฒนามากขึ้น การทำนาแถบนี้เป็นแบบก้าวหน้าทั้งสิ้น ไม่มีวัว ควาย มีแต่เครื่องจักรร้อยเปอร์เซ็นต์ พบว่าในสองปีทำนา 5 ครั้ง พบว่าเมื่อเก็บเกี่ยวเสร็จก็เริ่มเพาะปลูกข้าวรุ่นใหม่ต่อไปเลยทันที เกิดระบบพืชสวนขนาดใหญ่ หลายแห่งเปลี่ยนจากการทำนามาเป็นทำสวน ยกร่อง ปลูกพืชเศรษฐกิจอื่นๆ เช่น ส้ม ซึ่งส้มทั้งหมดล้มละลายไปเมื่อสิบปีที่แล้วเพราะโรคระบาดหนัก เกษตรกรหลายคนมีหนี้สินเป็นหลายล้านบาท ใช้หนี้ธนาคารมาจนถึงปัจจุบัน ทำสวนฝรั่ง มะนาว ฟัก แฟง บวบ ฯลฯ การปลูกพืชเศรษฐกิจแบบนี้ไม่เหมือนภาคกลางส่วนอื่นหรือภาคเหนือภาคอีสานที่ปลูกอย่างมากก็ไม่เกินสองไร่ แต่พื้นที่แถบนี้อย่างต่ำ สิบไร่ขึ้นไป

น้ำท่วมครั้งนี้ยังมีสื่อสารมวลชนไปสอบถามชาวบ้านคลอง 9 ว่ากำลังงมฟักที่เตรียมเก็บขายนับ 10 ตันมาจากใต้น้ำ..?

การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการผลิตการเกษตรนั้นเป็นไปอย่างอิสระ ใครใคร่ปลูกอะไรปลูก..จึงไปกระทบวัตถุประสงค์ของระบบชลประทานพื้นที่นี้ที่เพื่อการเกษตรและเพื่อระบายน้ำออกทะเลยามที่น้ำหลากมากเกินไปและจะเข้าท่วมกรุงเทพฯ


ช่วงปลายเดือนสิงหาคมเรื่อยมาจนถึงต้นเดือนตุลาคมนั้นเป็นช่วงเก็บเกี่ยวข้าวของภาคกลาง ที่แต่ละเจ้า แต่ละรายไม่ได้ปลูกข้าวพันธุ์เดียวกัน เวลาเดียวกัน ข้าวจึงสุกพอจะเก็บเกี่ยวได้ไม่พร้อมกัน เมื่อเจ้าหน้าที่ชลประทานได้รับคำสั่งให้พร่องน้ำในคลองและเปิดรับน้ำเข้าคลองมากขึ้นจึงไปกระทบช่วงการเก็บเกี่ยวข้าวของเกษตรกร ปัญหาก็เกิดขึ้น…เอาหละซี..น้ำก็มากขึ้น คำสั่งกรมชลประทานก็สั่งให้นายช่างเปิดประตูรับน้ำเข้าคลอง เกษ๖รกรที่ยังไม่ได้เก็บเกี่ยวก็ไปร้อง อบต เกษตรอำเภอ นายอำเภอ สส. ใครใกล้ชิดใครก็ไปที่นั่น โดยเฉพาะนักการเมืองท้องถิ่นและระดับชาติในพื้นที่นั้นๆก็ย่อมรักษาฐานเสียง หรือหาเสียงนี่คือโอกาสการสร้างความเชื่อถือในอำนาจ ต่างก็วิ่งสุดฤทธิเพื่อระงับการรับน้ำเข้าคลองเพื่อให้เกษตรเก็บเกี่ยวให้เสร็จก่อน

ดังกล่าวว่า พันธุ์ข้าวไม่เหมือนกัน ปลูกไม่พร้อมกัน กำหนดสุดท้ายของการเก็บเกี่ยวจึงไม่สามารถกำหนดได้ คนนี้เกี่ยวเสร็จ คนนั้นยังไม่เสร็จ และปัจจัยอื่นๆ เช่น ไม่มีแรงงาน ใช้เครื่องจักรก็ไม่สามารถลงไปในท้องนาได้เพราะน้ำสูงไป อุปสรรคจึงซับซ้อนมากขึ้นหลายเท่าตัวนัก

การเมืองย่อมเหนือกว่าหลักการ การเปิดรับน้ำเข้าคลองเพื่อเร่งช่วยระบายน้ำลงทะเลตั้งแต่ต้นมือจึงล่าไปกว่าที่ควรจะทำ….?????

แล้ววิกฤติก็มาเผชิญอย่างใหญ่หลวง..ดังที่เราเห็น


  • การเคร่งครัดต่อความรับผิดชอบในหน้าที่

สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นมันเหมือนห่วงโซ่ของเหตุปัจจัย มันมิใช่เพียงสิ่งใดสิ่งหนึ่ง แต่มาจากหลายปัจจัย การแก้ปัญหาจึงเป็นเรื่องใหญ่เพราะสังคมเราซับซ้อนมากขึ้น มากขึ้น เหมือนที่ผมมีความเห็นต่อระบบจราจรในกรุงเทพฯกับต่างจังหวัด ว่า กฎจราจรอันเดียวกัน ต่างจังหวัดจะย่อหย่อนไปก็ไม่ค่อยกระทบปัญหามากนัก แต่ในกรุงเทพฯที่มีรถมาก ถนนแคบ เวลามีจำกัด ยิ่งต้องเคร่งครัดกฎระเบียบมาก หากใครละเมิดจะส่งผลกระทบมากมาย

การจัดการน้ำก็ทำนองเดียวกัน เมื่อปีไหนน้ำน้อย หรือไม่มากจนท่วม การจัดการก็ยืดหยุ่นได้ ไม่กระทบอะไรมากนัก หากปีไหนน้ำมากมาย หากการจัดการน้ำไม่เคร่งครัดต่อหลักการจัดการน้ำย่อมส่งผลกระทบมากมายเพราะปริมาณน้ำจำนวนมากมายนั้นไม่สามารถผลักให้รีบไหลลงทะเลได้ ก็เอ่อท่วม

นานๆ หรือหลายปีน้ำจะมากมายสักที แม้เจ้าหน้าที่ชลประทานเอง เจ้าหน้าที่ อบต. เทศบาล และเจ้าหน้าที่รัฐส่วนที่รับผิดชอบต่างก็ละเลยการสำรวจตรวจตราระบบคลองให้มีความพร้อมในการระบายน้ำได้เต็มศักยภาพ ปล่อยให้มีการบุกรุก ปล่อยให้มีวัชพืชขึ้นเต็มคลอง ปล่อยให้คูคลองตื้นเขินตามกาลเวลา บานประตูเสียหายไม่ได้แก้ไข..ฯลฯ ล้วนมีผลต่อระบบระบายน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ

นี่คือความเห็นส่วนตัวที่เป็นเหตุ ปัจจัยส่วนหนึ่งในประสบการณ์ของผม ยังมีเหตุ ปัจจัยอีกมากมายนักที่เป็นองค์ประกอบของการเกิดเหตุน้ำท่วมครั้งนี้

มองไปข้างหน้าแล้ว ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยในการแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำท่วม แต่มนุษย์ย่อมมีปัญญาในการแก้ไขปัญหา หากสามัคคีกัน ร่วมมือกัน…

แต่เอ จะมีวันนั้นไหมหนอ.. เพราะมัวแต่ชี้นิ้วว่า เองน่ะผิด…??


กรณีความขัดแย้งเรื่องบานประตูน้ำชลประทาน..

411 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 7 พฤศจิกายน 2011 เวลา 15:18 ในหมวดหมู่ การบริหารจัดการประเทศ, งานพัฒนาสังคม #
อ่าน: 11656

กรณีความขัดแย้งบานประตูเปิดปิดน้ำชลประทานเพราะน้ำท่วม… หากมีใครถามผมว่า หากคุณเป็นผู้รับผิดชอบ คุณจะทำอย่างไร..? ผมอยากแสดงความคิดเห็นในฐานะคนทำงานพัฒนาคน… โดยมองจากประสบการณ์ แม้ว่าเงื่อนไข รายละเอียด สาระ และปัจจัยต่างๆไม่เหมือนกัน แต่พยายามนำเสนอเพื่อต่อยอดเท่านั้นเอง

  • ไม่มีสูตรสำเร็จในการแก้ปัญหา

เพราะชุมชนแตกต่างกัน มากมาย การแก้ปัญหาที่อีสานอาจจะสำเร็จ แต่กระบวนวิธีเดียวกันอาจจะใช้ไม่ได้เลยที่ปทุมธานี อาจใช้หลักการเดียวกันได้ แต่ผู้ดำเนินการต้องพลิกแพลงไปตามปัจจัยในระหว่างการดำเนินการ หรืออาจจะพบช่องทางที่นำไปสู่ความสำเร็จได้หากคิดวิเคราะห์ไปตลอดเวลาของการจัดทำกระบวนการ


(ขอบคุณภาพจาก อินเตอเนท)

  • ทำงานมวลชนแบบต่อเนื่อง

เป็นที่ยอมรับกันว่าการทำงานกับคนนั้น ต้องจริงใจเป็นเบื้องต้น มีความพยายามเข้าใจเขาผู้เดือดร้อน ถามว่าแสดงอย่างไร… ตอบว่า มันไม่ใช่พอน้ำท่วมแล้วมาแสดงด้วยคำพูดกันใหญ่ว่า เข้าใจ เห็นใจ จริงใจ แล้วก็หายหน้าไป เดี๋ยวก็โผล่มา เดี๋ยวก็หายไป ต้องมีความผูกพันกันมาก่อนหน้านี้แล้วนานพอสมควรที่ชุมชนนั้นๆจะรู้จักเราดี

นั้นหมายความว่าเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบบานประตูชลประทานต้องทำงานมวลชนมาก่อนหน้านี้ตลอดเวลามานานแล้ว

  • งานมวลชนคืองานอะไร..?

งานที่เจ้าหน้าที่ชลประทานจะต้องเข้าไปคลุกคลีกับชุมชน ตั้งแต่หัวหน้าชุมชนทุกระดับจนถึงชาวบ้านทุกครัวเรือน ทั้งในภาระงานที่รับผิดชอบนำความรู้ความเข้าใจไปอธิบายให้ชุมชนฟัง อธิบายอย่างหมดเปลือก ถึงภาระหน้าที่ บทบาท การบริหารน้ำ ปัญหา อุปสรรค ข้อจำกัด ผลดี ผลเสีย ประโยชน์ต่างๆ ชุมชนได้อะไร เสียอะไร ระบบน้ำทั้งหมดเป็นอย่างไร ฯลฯ อธิบายซ้ำซาก ใช้เครื่องมือต่างๆทางเทคนิควิทยาการมาช่วย เช่น ระบบ Simulation ทั้งนี้เพื่อให้ประชาชนที่อยู่รอบๆบานประตูน้ำและทั้งระบบน้ำ เข้าใจบทบาทหน้าที่ของบานประตูและความต่อเนื่องของระบบการจัดการในภาพใหญ่ ภาพรวม นี่คือเป้าหมายแรกของงานมวลชน

  • งานมวลชนต้องละรูปแบบทางการ

เจ้าหน้าที่ชลประทานต้องอุทิศเวลาส่วนตัว เวลางานออกไปเยี่ยมเยือน พูดคุยกับชาวบ้านอย่าง “ไม่เป็นทางการ” ไปแวะถามไถ่การทำนา ทำสวน หรือการทำอาชีพต่างๆของเขา ไปเยี่ยมเยือนผู้นำ ที่เราเรียกว่า Key informant เป็นระยะๆจนเกิดความสนิทสนม กิจกรรมแบบไม่เป็นทางการนี้แหละที่เป็นเงื่อนไขที่สำคัญสุดของงานมวลชน ก่อนที่จะนำไปสู่ความเข้าใจในสาระที่กล่าวมาข้างต้น ซึ่งงานแบบนี้เจ้าหน้าที่ชลประทาน หรือข้าราชการทั่วไปมักไม่ได้ให้ความสำคัญ ตรงข้ามมักเห็นว่าไม่ใช่หน้าที่ ไม่ได้กำหนดไว้ในบทบาทหน้าที่ และไม่ถนัดที่จะทำ เพราะส่วนใหญ่เป็นนายช่าง จะวางตัวในขอบเขตหนึ่ง ซึ่งถือเป็นจุดอ่อนของเจ้าหน้าที่ที่ทำงานเทคนิคกับมวลชน ผมเคยสอบถามว่าในวิทยาลัยชลประทานนั้นมีวิชาที่ว่าด้วยสังคมศาสตร์บ้างหรือเปล่า คำตอบคือไม่มี เน้นความเป็นเลิศทางช่างเท่านั้น นี่คือจุดอ่อนของบุคลากรเทคนิคของบ้านเรา

  • งานมวลชนต้องรับฟัง และทำซ้ำ

การใช้เวลาเพียงสามชั่วโมงไปอธิบายให้ประชาชนทั้งชุมชนเข้าใจระบบการทำงานของบานประตูกับระบบการจัดการน้ำทั้งระบบนั้น ไม่มีทางที่จะเข้าใจทั้งหมด ยิ่งใช้วิธีแบบทางการ ก็อย่าหวังว่าตามีที่มีอาชีพปลูกข้าวมาตลอด 60 ปีจะเข้าใจทั้งหมด ให้เวลาเขา รับฟังเขามากๆ ต้องทำแบบ two way communication ตลอดเวลา คือชุมชนสามารถสอบถามถึงความไม่เข้าใจ ต่างๆได้ ซึ่งมีเทคนิควิธีมากมายจะบอกกล่าวให้ชุมชนทราบ เช่น โทรศัพท์ การเดินเข้าไปหา การ เขียนจดหมายถึง การเชิญไปอธิบายเพิ่มเติม ฯลฯ ทำซ้ำๆหลายครั้งหลายหน พาไปดูของจริง ตระเวนไปดูทั้งระบบ ฯลฯ

  • งานงานมวลชนนั้นเป็นทักษะเฉพาะคน

พร้อมที่จะดัดแปลงกระบวนวิธี เพราะมวลชนนั้นแตกต่างกันมากมาย อายุ เพศ อาชีพ ลักษณะที่ตั้งชุมชน การเข้าถึงของสื่อต่างๆ ระบบถนน และระยะห่างจากสังคมเมือง สิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศ ศาสนา ความเชื่อ วัฒนธรรม ประเพณี ฯลฯ ล้วนแต่เป็นปัจจัยห่อหุ้มมวลชนให้มีลักษณะเฉพาะ และแตกต่างกันและกัน

  • งานมวลชนกับชุมชนแบบไหน

ที่กล่าวมานั้นเป็นมวลชนประเภท ชุมชนแบบดั้งเดิม ซึ่งง่ายเพราะชุมชนดั้งเดิมของสังคมไทยนั้นมีลักษณะร่วมมากกว่า มีทุนทางสังคมเป็นแรงเกาะเกี่ยวแบบดั้งเดิมอยู่แล้ว การทำงานมวลชนง่ายกว่า หากผู้รับผิดชอบเข้าใจโครงสร้างสังคมแบบดั้งเดิม และคลำหาตัวบุคคลได้ถูก เท่ากับเดินมาถูกทางไปมากแล้ว โครงสร้างชุมชนดั้งเดิมนั้นถูกซ้อนทับด้วยโครงสร้างการปกครองสมัยใหม่ พ่อเฒ่าพูดกับผู้ใหญ่บ้าน หรือนายก อบต.พูดนั้น บางชุมชนนั้น พ่อเฒ่าพูดมีน้ำหนักมากกว่า คุณผู้ทำหน้าที่เข้าใจและคลำหาบุคลากรเหล่านี้ได้หรือไม่

ส่วนชุมชนอีกแบบเป็นแบบสมัยใหม่ คือหมู่บ้านจัดสรร เป็นชุมนเมือง เป็นชุมชนที่สมาชิกมาจากทั่วสารทิศ แตกต่างกัน มีลักษณะการเกาะเกี่ยวกับด้วยกฎ ระเบียบ ข้อตกลง ข้อบังคับ มากกว่าความสัมพันธ์ทางด้านจิตใจ ความสนิทสนม มีความเป็นส่วนตัวสูง ตัวใครตัวมัน เก็บตัว มันเหมือนมีกำแพงบางอย่างขวางกั้นความสัมพันธ์ระหว่างกันอยู่

  • งานมวลชนไม่ใช่มาทำเมื่อเกิดเหตุความขัดแย้งแล้ว

คนที่ทำงานมวลชนที่หวังผลนั้นต้องทำมาอย่างต่อเนื่อง หลักการของในหลวงที่พระราชทานให้ไว้นั้นสั้นที่สุดและครอบคลุมที่สุดคือ “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” ในกระบวนการทำงานด้านสังคมชุมชนนั้นเรามีเครื่องมือมากมายที่จะ “เข้าใจชุมชนทั้งครบ” เรามี PRA, RRA, Socio-gram, Triage, Community profile, Historical profile, Sustainability analysis, Livelihoods analysis, Transect, Dairy routine work, ฯลฯ เพื่อศึกษาด้านลึกของแต่ละครอบครัว เพื่อวิเคราะห์จุดร่วม หรือเงื่อนไขที่จะเชื่อมต่อระหว่างกัน งานมวลชนแบบนี้ต้องใช้คนที่มีประสบการณ์สูงมาทำ เพราะจะเข้าใจเครื่องมือที่ใช้ ท่าที กระบวนวิธี และการสื่อสารกันและกัน เอามาวิเคราะห์ แล้วมาทำความเข้าใจร่วมกันระหว่างเจ้าหน้าที่เพื่อกำหนดบทบาทหน้าที่ด้านมวลชนเฉพาะ

นี่คือเครื่องมือที่เข้าใจเขา ประการสำคัญขอย้ำว่า ต้องมีเจ้าหน้าที่เฉพาะที่ทำหน้าที่นี้เพื่อทุ่มเทเวลาในการทำงานด้านมวลชน เพื่อเข้าใจเขา การเข้าใจเขานั้นมิใช่เพียงเข้าใจ แต่ต้องเป็นการ “เข้าใจด้านลึกของเขาทั้งครบ”


(ขอบคุณภาพจาก อินเตอเนท)

  • เขาเข้าใจเราไหม

เราเข้าใจเขาแล้วทั้งภาพรวม ภาพย่อย เงื่อนไข การเกาะเกี่ยว เอกลักษณ์ ความเป็นปัจเจก ความสามัคคี ความขัดแย้ง กลุ่มอิทธิพล การเชื่อมโยงภายในภายนอก ฯลฯ แล้วมาถึงคำถามใหญ่ว่า แล้วเขาเข้าใจเราไหม เข้าใจบานประตูชลประทานไหม เข้าใจระบบการจัดการน้ำไหม เข้าใจความเชื่อมโยงของบานประตูนี้กับบานอื่นๆ คลองอื่นๆ ส่วนอื่นๆ ระบบการสั่งการ การตัดสินใจ ฯลฯประโยชน์ต่างๆที่จะเกิดขึ้นรวมทั้งเงื่อนไข ปัญหาอุปสรรคต่างๆในการปฏิบัติงาน มวลชนต้องเข้าใจ อย่างน้อยที่สุดกลุ่มผู้นำ และ Key Informant ต้องเข้าใจโดยละเอียด ทุกครั้งที่มีการปฏิบัติงานต้อง Inform ให้กลุ่มผู้นำทราบโดยเฉพาะในช่วงฤดูการเปิดปิดประตูน้ำเพื่อการเพาะปลูกและเพื่อการระบายน้ำในกรณีน้ำท่วม อาจพิจารณาถึงขั้นตั้งผู้นำชุมชนให้เป็นคณะกรรมการที่ปรึกษาด้วยซ้ำไป


(ขอบคุณภาพจาก อินเตอเนท)

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแนวคิดหยาบๆที่นำเสนอมาภายหลังที่เกิดกรณีความขัดแย้งการเปิดปิดบานประตูน้ำชลประทานคลองต่างๆ..ในกรณีน้ำท่วม ซึ่งผมส่วนตัวเชื่อว่า เจ้าหน้าที่พยายามที่สุดแล้วแต่ดังกล่าวว่า การทำงานมวลชนนั้นมันมิใช่เพิ่งจะมาทำช่วงวิกฤตินี้ ไม่มีผลเพราะมันเกิดความคาดหวังและอารมณ์ร่วมมากกว่าเหตุผลที่เอามาพิจารณาร่วมกัน

บทเรียนนี้จะทำให้ทุกท่านที่เกี่ยวข้องทบทวนและเอาไปพิจารณากำหนดแผนงานที่สำคัญในอนาคตเพื่อยกระดับการทำงานมวลชนควบคู่ไปกับงานด้านเทคนิค


คำถามที่ต้องตอบ..

47 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 4 พฤศจิกายน 2011 เวลา 9:52 ในหมวดหมู่ การบริหารจัดการประเทศ, งานพัฒนาสังคม, ทุนสังคม #
อ่าน: 3586

วิกฤติน้ำท่วมบ่งชี้แนวทางการเติบโตของสังคม ของประเทศให้เห็นชัดๆมากขึ้น ผมยังไม่แตะในเรื่องสาเหตุของอุทกภัย แต่เมื่อเกิดแล้วนั้นประชาชนประสพภัยอะไรบ้าง

ประเด็นที่ใหญ่ที่สุดคือ ปัญหาการดำรงชีพด้วยปัจจัยสี่พื้นฐานนี่แหละ ความจริงมากกว่าปัจจัยสี่

เป็นที่ชัดเจนว่าสังคมเมืองนั้นดำรงชีพด้วย “เงิน” เวลาของชีวิตส่วนใหญ่ต้องเข้าระบบงาน เพื่อได้เงิน และเอาเงินนั้นไปซื้อทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิต และชีวิตที่ขึ้นกับเงินตรานั้นยังเคลือบไปด้วยค่านิยม ความทันสมัย แฟชั่น มากกว่าคุณสมบัติความจำเป็นขั้นพื้นฐาน ยิ่งทำให้ชีวิตยืนอยู่บนราคาที่แพงมากขึ้น ต้องใช้เงินที่มีปริมาณมากขึ้น ในขณะที่รายได้นั้นไม่มากเพียงพอ จึงกลายเป็น “ชีวิตผ่อนส่ง” ยิ่งติดใน ค่านิยม ความทันสมัย แฟชั่นมากเท่าไหร่ อัตราการผ่อนส่งของชีวิตก็แพงมากขึ้น


(ขอบคุณภาพจากอินเทอเนท)

สภาพชีวิตเช่นนี้ได้สร้างลูกโซ่แห่งทัศนคติ นิสัย แห่งการได้มาของปริมาณเงินตรา และค่อยๆก้าวข้ามคุณค่าเดิมของสังคมในด้านความเอื้ออาทร บาป สิ่งไม่พึงกระทำที่มีวัฒนธรรมดั้งเดิมของสังคมกำกับ เวลาที่มีอยู่ต้องเข้าระบบงาน บางแห่งทำงานมากกว่า 12 ชั่วโมงต่อวัน

เด็กรุ่นใหม่มีวิถีประจำวันที่หลุดลอยออกจากคุณค่าทางสังคมเดิมออกไป ใช้เงินตรามากมายไปกับสิ่งที่มิใช่ความจำเป็นขั้นพื้นฐาน เพียงเพื่อตอบสนองความต้องการที่แฝงบนค่านิยมมากกว่าความจำเป็น

แน่นอนครอบครัวใดที่มีอาชีพที่สร้างรายได้มากเพียงพอ ก็ก้าวผ่านสภาพสังคมแบบนี้ไปได้ แต่ครอบครัวใดที่ไม่มีรายได้เพียงพอ แต่ค่านิยมนั้นท่วมท้นการตอบสนอง ก็ดิ้นรนในวิธีการได้มาซึ่งเงินตราไปในช่องทางที่เขาจะพึงทำได้ หลายคนทำงานพิเศษ แต่หลายคนต้องก้าวไปบนเส้นทางที่ผิดต่อระเบียบบ้านเมือง

อย่างไรก็ตามวิถีคนเมืองพัฒนามาบนสภาพเช่นนี้นับชั่วอายุคน จนเป็นความเคยชิน และรู้สึกแปลกแยกเมื่อต้องไปอยู่ในสังคมที่มีวิถีแบบชนบท


(ขอบคุณภาพจากอินเทอเนท)

เมื่อเงินไม่มี ปัจจัยสี่ก็ขาดแคลน ตรงข้ามเมื่อมีเงินแต่ไม่สามารถจับจ่ายตามต้องการได้ ก็กระทบต่อปัจจัยสี่ เช่น กรณีเกิดน้ำท่วมในลักษณะวิกฤติมีเงินก็ซื้ออะไรไม่ได้ ในขณะที่ชีวิตประจำวันขึ้นกับการใช้จ่ายวันต่อวัน นี่คือการสูญเสียปัจจัยการดำรงชีวิต กล่าวอีกทีคือ พึ่งตัวเองไม่ได้เลย…

ในสถานการณ์วิกฤตน้ำท่วมครั้งนี้ เราจึงเห็นขบวนการช่วยเหลือเรื่องปัจจัยสี่ โดยเฉพาะอาหาร น้ำ ฯ และที่ร้ายมากไปกว่านั้นคือ ความรู้ในการพึ่งตนเองก็ไม่มี หรือมีน้อย

กรณีวิกฤติน้ำท่วมครั้งนี้บ่งบอกว่ากระทบต่อลูกโซ่ของวิถีสังคม การขับเคลื่อนของสังคม ประเทศ และเลยไปถึงความมั่นคงของประเทศ ยิ่งใจกลางของวิกฤติน้ำอยู่ในใจกลางของนครหลวงที่รวมศูนย์ทุกอย่างของประเทศอยู่ที่นี่..

ถามว่าหากวิกฤติน้ำเกิดในชนบทสภาพจะแตกต่างกันอย่างไร.. ตอบได้ว่า การซวนเซของปัจจัยสี่นั้นมีแน่นอน แต่ฟื้นตัวเร็วกว่า เพราะมีสภาพ เงื่อนไขของวิถีชีวิตที่พึ่งตัวเองได้มากกว่าพึ่งพาภายนอก รวมทั้งเขามีประสบการณ์ในการยังชีวิตด้วยสิ่งแวดล้อมรอบข้างได้มากกว่า

ภาพนี้นั้นจึงเป็นคำถามใหญ่ๆว่า แนวทางการเติบโตของสังคมแบบเมืองนั้นควรทบทวนอย่างหนัก เพราะวิกฤติในทำนองนี้จะเกิดขึ้นอีกในอนาคต และอาจจะหนักมากกว่านี้ก็เป็นได้

หากไม่มีพลังงาน เช่นไฟฟ้า แก๊ส จะทำอย่างไร..?

หากไม่มีอาหารในซูปเปอร์มาร์เก็ต จะทำอย่างไร…?

หากบ้านพักไม่สามารถพักได้ มีความรู้อะไรจะแก้ปัญหานี้..?

หากน้ำที่มีท่วมบ้านท่วมเมืองดื่มไม่ได้ จะมีความรู้พื้นฐานอะไรแก้ปัญหานี้ได้…?

หากมีเงิน แต่ใช้ไม่ได้ จะแก้ปัญหาการดำรงชีพอย่างไร…?

หากเจ็บป่วยขั้นพื้นฐาน จะมีความรู้อะไร มีปัจจัยเอื้ออย่างไรที่จะแก้ปัญหาพื้นฐานนี้ได้…?

ฯลฯ….

การพึ่งตัวเองในเมืองคืออย่างไร

เป็นคำถามที่ต้องตอบ….?


น้ำตาชาวนามากกว่าน้ำท่าที่ท่วมเมือง..

1259 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 14 ตุลาคม 2011 เวลา 21:06 ในหมวดหมู่ การบริหารจัดการประเทศ, งานพัฒนาสังคม #
อ่าน: 18137

…..”ปล่อยน้ำมาเถอะ ให้ท่วมกรุงเทพฯครึ่งเข่า จะได้ลดการท่วมที่อยุธยาให้เหลือครึ่งเข่า”….. เป็นคำประกาศของคนกลุ่มหนึ่งในกรุงเทพฯแล้ว ขณะที่รัฐบาล และนายก อบจ.ปทุมธานียืนยันว่าจะป้องกันได้แน่ไม่ยอมให้น้ำเข้ากรุงเทพฯ…..

เพื่อการแก้ปัญหาน้ำพัฒนาไป มีการสรุปบทเรียนและปรับเปลี่ยนวิธีการ หรือเพิ่มวิธีการแก้ไขเฉพาะจุดกันมากขึ้น เป็นสิ่งปกติที่มนุษย์พึงกระทำ แต่เมื่อป้องกันไม่ให้น้ำเข้าที่หนึ่งก็ไปท่วมมากขึ้นในอีกที่หนึ่งหรือหลายที่

ไม่มีใครอยากโดนน้ำท่วม คนที่อยู่กรุงเทพฯด้านในก็นึกไปว่า เพราะกรุงเทพฯคือหัวใจของประเทศ เศรษฐกิจที่สำคัญหากน้ำท่วมก็เศรษฐกิจล่มสลายทำนองนั้น ขอให้คนที่อยู่รอบนอกเสียสละ หากคนที่อยู่กรุงเทพฯด้านในมีบ้านอยู่รอบนอกบ้างล่ะ….??

เรื่องแบบนี้เอาเหตุผลมาอธิบายคนที่โดนน้ำท่วมจนหมดตัว เขาเหล่านั้นยากที่จะรับฟัง มีแต่ขมขื่นเก็บไว้ข้างใน คนข้างนอกนั้นก็เสียภาษีเหมือนกับคุณแต่ทำไมคุณจึงมีอภิสิทธิต้องไม่ให้น้ำท่วม….

ตาสี ยายมี บ้านที่ถูกน้ำท่วมนั้น คุณค่าความเป็นคนไทยนั้นต่างอย่างไรจากคุณ เป็นคำถามในใจพร้อมกับน้ำตาตกใน

ความรู้สึกนั้นเกิดขึ้นในร้อยแปดรูปแบบอย่างแน่นอน คำอธิบายก็สามารถอธิบายได้ แต่ยอมรับได้มากน้อยแค่ไหนนั้น น่าคิด …..

การเผยอ ความรู้สึกแบบนี้ออกมามิต้องการตอกลิ่มให้เกิดการแตกแยก เป็นเพียงว่า ต่อไปประเด็นน้ำท่วมหรือภัยพิบัติต่างๆนั้นเป็นวาระแห่งชาติที่ต้องคิดมากๆ เตรียมการมากๆ พร้อมที่จะก้าวออกมาแก้ไขด้วยแผนงานของชาติที่ร่วมกันวางไว้จากทุกภาคส่วน ไม่ว่ารัฐบาลใครสีไหน จะเป็นเพศไหนก็ต้องเอาแผนนี้ไปใช้ แล้วพัฒนาไปให้เหมาะสมกับสถานการณ์นั้นๆ

รัฐมนตรีอย่ามาเสียน้ำตา เพราะชาวนาเขาเสียน้ำตามานานแสนนานแล้ว คุณเสียน้ำตาแต่ฐานเศรษฐกิจของคุณไม่กระทบอะไร แต่ชาวบ้านเสียน้ำตานั้นเพราะฐานรายได้พังหมดตัว มันต่างกันมากมายนัก ถ้าคุณไม่ลงไปคุณก็ยังคงไปเตะฟุตบอลกับเขมรอีกรอบละมั๊ง

ทั้งปีรายได้มาจากข้าวในนา เมื่อปีที่แล้วเพลี้ยลงหมด ปีนี้น้ำท่วมหมด ลูกต้องเรียนหนังสือ ใช้เงิน ต้นทุนทำนาก็แพงลิบลิ่ว รัฐเอางบประมาณไปทุ่มกับเมกกะโปรเจคอะไรนั้น จะบ้าบอไปสร้างเอนเทอเทนคอมเพลกอีก มันเป็นหมาบ้าไปแล้ว แม้จะออกมาแก้ตัว แต่ในหัวมันยังคิดอยู่ มีจังหวะเมื่อไหร่ก็ดันขึ้นมา กินเศษกินเลยกันอิ่มหมีพีมัน ชาวนาข้างๆเอนเทอเทนมาเป็นลูกจ้างแรงงานให้พวกคุณโขกสับต่อไปงั้นหรือ…

พี่ ป้า น้า อา ผมก็หมดตัวเหมือนกัน มันไม่เป็นข่าวหรอก เพราะมันไกลปืนเที่ยง คุณหญิงคุณนาย เจ้านาย ไปไม่ถึงหรอก

น้ำตาชาวนามันมากมายกว่าน้ำที่ท่วมอีก

เพราะน้ำท่วมมันมีวันแห้งเหือด

แต่น้ำตาชาวนานั้นมันตกด้านใน

สะกิดเมื่อไหร่ มันก็เอ่อท้นจิตวิญญาณแห่งความรู้สึก

มันไม่มีวันแห้งเหือดนะ..

“งานช่วยเหลือเฉพาะหน้านั้นหนักเหลือเกิน

งานฟื้นฟูหลังน้ำท่วมก็ยิ่งหนักเพราะเป็นภาระต่อเนื่อง”…


ประสบการณ์เล็กๆแต่มีราคาเกี่ยวกับน้ำ…

อ่าน: 10561

เหตุผลที่สำคัญที่เรากู้เงินมิยาซาวา เมื่อปี 40 และเหตุผลที่สำคัญของ สปก. อ้างถึงในการขอแบ่งเงินกู้จากประเทศญี่ปุ่นเมื่อมาทำโครงการพัฒนาชนบทคือ ระบบการเงินของประเทศพัง เราต้องการมาฟื้นฟูประเทศ การฟื้นฟูมีหลายแนวทาง หนึ่งก็คือการสร้างความอุดมสมบูรณ์ให้เกิดขึ้นในสังคมโดยเฉพาะชนบท เพื่อเกษตรกรมีรายได้ ทีกำลังซื้อ ดังนั้นอีสานแห้งแล้งจึงเป็นต้นเรื่อง เพื่อให้เหตุผลขลังก็จ้างบริษัทที่ปรึกษามาทำการศึกษา Feasibility study (FS) ว่าชาวอีสานต้องการแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร ประโยคนี้พูดที่ไหน เมื่อไหร่ก็ถูก

แล้วโครงการเงินกู้มิยาซาวาก็ได้รับการอนุมัติ ซึ่งผมได้รับมอบหมายให้มีส่วนรับผิดชอบดำเนินงานมาเกือบสิบปี การประเมินผลที่เรียกว่า External Final Evaluation เพิ่งเกิดขึ้น ผลเป็นอย่างไรผมขอไม่ลงรายละเอียด ระหว่างการดำเนินงานส่วนหนึ่งก็อยู่ในบันทึกลานดงหลวงนั่นแหละ

ถามอีสานแล้งจริงไหม คงไม่ต้องตอบ เพราะมันกลายเป็นคำคู่กับภาคอีสานมานานแล้ว แต่จริงๆที่ไหนๆก็แล้ง เหนือ กลาง ตะวันออก ตะวันตก แม้ภาคใต้ก็เคยแล้ง เพียงแต่อีสานเกิดปรากฏการณ์มากกว่า และทางเลือกมีน้อยเพราะลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ราบสูงนั่นเอง

ไม่ใช่อีสาน แห้งแล้งเท่านั้น น้ำท่วมก็เกิดขึ้นมาหลายครั้งแล้ว และเกิดขึ้นมาคู่กับโลก เพราะหากเราเป็นคนทำงานชนบทและสนใจ “พัฒนาการสังคมชนบท” เราก็ใช้วิธี Dialogue ผู้เฒ่าผู้แก่ของชุมชน เราก็จะทราบ “พัฒนาการของหมู่บ้าน ชุมชน สังคม” กระบวนการนี้ดีมากๆ ไม่เห็นโรงเรียนที่ไหนทำเลย มีแต่เรียนสิ่งไกลตัว ผู้เฒ่าผู้แก่ก็เอามานั่งให้กราบไว้เท่านั้น ไม่พอครับ ประสบการณ์ของท่านคือประวัติศาสตร์

ผู้เฒ่าผู้แก่บอกว่า การย้ายถิ่นฐานของคนในอดีตเป็นเรื่องปกติ ทำไมต้องย้าย ก็โรคร้ายระบาดผู้คนล้มตาย หรือเกิดแห้งแล้งหนักข้าวปลาขาดแคลน หรือตรงข้ามน้ำท่วมใหญ่ ผู้เฒ่าผู้แก่มีพิธีกรรมความเชื่อเป็นของคู่กับสังคมโบราณ เมื่อ “นางเทียม” บอกให้ย้ายหมู่บ้าน ก็พากันย้าย… ย้ายไปไหน นี่แหละความรู้หรือที่เรียกภูมิปัญญาของคนโบราณเขาก็เลือกเอาพื้นที่ที่ดอน แต่มีแหล่งน้ำใกล้ๆ มีป่าให้หาสิ่งก่อสร้างอิงอาศัย เป็นแหล่งอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค มีพื้นที่ให้เพาะปลูก ดูดินว่ามีความอุดมสมบูรณ์แค่ไหน เมื่อทุกอย่างได้ ก็ทำพิธีขอพื้นที่ตั้งหมู่บ้าน

ดิน น้ำ ป่า เป็นสิ่งสำคัญสำหรับคนโบราณ และสืบทอดมาจนปัจจุบันและยังหนาแน่นในกลุ่มบางชนเผ่าเช่น กะโซ่ที่ดงหลวง หรือชุมชนชาวเขาเผ่าต่างๆ หรือชุมชนที่อาว์เปลี่ยนเล่าให้ฟังนั่น

แล้วฝรั่งก็มาล่าเมืองขึ้น ใครลืมประวัติศาสตร์นี้ก็ไปทบทวนดู มันรู้สึกเจ็บลึกๆเหมือนกันที่ความศิวิไลซ์ของชนเผ่าผิวขาวตะวันตกมาแย่งชิงดินแดนเราไปอย่างด้านๆโดยใช้เล่ห์เพทุบายต่างๆ และที่สำคัญใช้กำลังบังคับ ผมว่าการที่อมริกันไม่ชนะสงครามเวียตนามนั้น ตะวันตกได้บทเรียนที่มีค่ามากๆ อ้าว..เรื่อยเปื่อยไปแล้วนะเนี่ย

เมื่อยุคการพัฒนาเข้ามา อ้างอิงกันถึง สัญญาเบาริง อ้างถึงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติกี่แผนต่อกี่แผนมานี่น่ะ ลัทธิเมืองขยายตัว ลัทธิธุรกิจแผ่พลังครอบคลุมชนบท ตามหลักทฤษฎีทั้งเศรษฐศาสตร์และสังคม ชนบทค่อยๆกลายเป็นเมือง คุณค่าชนบทตกอยู่ภายใต้นิยามของการพัฒนา ว่าเป็นพื้นที่ด้อยการพัฒนา…?? แต่ภายหลังมายกยอปอปั้นว่าชนบทมีทุนทางสังคมมากที่สุด ชนบทมีภูมิปัญญา….??? แต่ดูเหมือนก็ยังแค่เป็นเพียงคำพูด “การพัฒนาก็ยังใช้หลักการทางเศรษฐศาสตร์ตะวันตกเป็นธงนำ ไม่ได้ใช้ทุนทางสังคมเป็นตัวตั้ง”

“สภาพกายภาพของพื้นที่” การเกษตรค่อยๆเปลี่ยนแปลงไปตามกระแสการพัฒนาตามหลักการที่กล่าวว่า “เพื่อความเจริญ” แต่หลายเรื่องหลายอย่างไปขัดกับสภาพธรรมชาติของการเกิดและการถ่ายเทน้ำ

ทุกครั้งที่โครงการพัฒนาชนบทที่ผมทำงานอยู่มีงานพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น สระน้ำประจำไร่นา ฝายกั้นน้ำ หรือใหญ่ขึ้นไปหน่อยคือ โครงการสูบน้ำด้วยไฟฟ้า ก็จะมีวิศวะการใหญ่มาคุมงาน นัยใช้ความรู้มหาศาลมาบริหารจัดการเพื่อประโยชน์สุขมวลประชา และตามหลักการมีขั้นตอนที่ต้องประชุมพูดคุยกับชาวบ้านในชุมชนนั้นๆ ชาวบ้านก็ตอบคำถามตามประสบการณ์พื้นที่ของเขาแบบตรงๆ แต่ไม่มี Subject area ด้านงานก่อสร้างดังวิศวกร แต่วิศวกรก็ไม่มี Subject area ด้านสภาพชุมชน ขอโทษนะครับวิศวกรทั้งหลาย วิศวกรที่ผมพบนั้นยืนหยัดถึงความรู้แห่งตน มากเกินไปที่จะรับฟังชาวบ้าน แล้วความผิดพลาดมักพบภายหลังการก่อสร้างเสมอๆ มิเพียง “ไม่สำเหนียกเสียงชาวบ้าน” แม้เจ้าหน้าที่อย่างผมที่บริหารโครงการเขาก็ไม่ฟัง

แม้ว่า สตง.จะตามมาตรวจสอบ แต่เล่ห์เหลี่ยมของความจัดเจนในกลยุทธนั้น วงการระบบ..ย่อมรู้แก่ใจ

ความบกพร่องผิดพลาดย่อมเกิดขึ้นได้ในทุกๆงาน ไม่ว่างานนั้นราคา 10 บาท หรือ หมื่นล้านบาท แต่หากราคานั้น 10 บาทก็ถือว่าเล็กน้อย หากราคางานนั้นสูง สิ่งที่เสียหายคือสังคม ประเทศชาติ และที่ร้ายคือความรู้สึก

ขอยกตัวอย่าง งานก่อสร้างโครงการสูบน้ำด้วยไฟฟ้าที่พื้นที่ผมรับผิดชอบ ถูกออกแบบมาจากกรุงเทพฯ โดยดูพื้นที่จากแผนที่ ต่อให้เป็นแผนที่ที่ละเอียดแค่ไหนก็ตามเถอะก็ต้องออกไปดูพื้นที่จริง ต่อให้ดูพื้นที่จริงแค่ไหนก็เถอะ หากไม่คุยกับชาวบ้าน หรือต่อให้คุยกับชาวบ้านแค่ไหนก็เถอะ หากไม่มี Subject area ทางด้านสังคม-วิศวกรรม หรือวิศวกรรมสังคม หรือจะเรียกอะไรก็แล้วแต่ ที่เป็นรายละเอียดเชิงประวัติศาสตร์พื้นที่ อันตราย

การก่อสร้างโรงสูบน้ำถูกออกแบบมาแล้วดังกล่าวสมมุติว่าสูง 10 เมตร นัยว่า ข้อมูลที่ใช้นั้นรอบด้านแล้ว เจ๋งแล้ว แต่เมื่อลงมือก่อสร้างผมได้พูดคุยกับชาวบ้านและผู้นำชาวบ้านว่า น้ำท่วมสูงสุดแค่ไหน ก็ได้คำตอบ และแบบที่ออกมานั้นก็ดูจะไม่มีปัญหา แต่เมื่อไปสอบถามผู้เฒ่าผู้แก่พบว่า ในรอบ 20 ปี จะมีน้ำท่วมใหญ่ครั้งหนึ่งโดยประมาณ เมื่อตามตรวจสอบระดับน้ำที่ท่วมพบว่ามันสูงกว่าที่คนอื่นๆพูดกัน…

ตายหละหว่า…หากอนาคตข้างหน้าครบรอบ 20 ปีที่น้ำจะท่วมใหญ่ อาคารสูบน้ำที่ไม่ใช่ระบบ Floating station มันก็อวสาน บานทะโล่หละซี เท่านั้นเองงานก่อสร้างต้องหยุดชะงักเอาไปออกแบบใหม่ ยกขึ้นอีก 1 เมตร….??

หลังจากนั้นสองปี น้ำก็ท่วมสูงสุดดังที่ผู้เฒ่าบอกกล่าว หากไม่ยกสูงอีก  1 เมตรก็เรียบร้อย….?

เกือบไปแล้วไหมล่ะ ….!!!???


Entertainment Complex 2

65 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 2 ตุลาคม 2011 เวลา 16:04 ในหมวดหมู่ การบริหารจัดการประเทศ, งานพัฒนาสังคม, ทุนสังคม #
อ่าน: 4019

ภาพของทุ่งกุลานั้นใครต่อใครก็นึกถึงความแห้งแล้ง ขาดแคลน การอพยพแรงงาน ขาดข้าวกิน ฯลฯ ล้วนเป็นสภาพที่เป็นความด้อย เป็นปัญหา เป็นอุปสรรคของการพัฒนาประเทศ จึงสมควรคิดใหม่ทำใหม่คือเลิกทำการเกษตรซะ เอาไปทำบ่อนกาสิโนสร้างรายได้เข้าประเทศเป็นแสนๆล้านดีกว่า…..


ต้องยอมรับว่าอดีตนั้นมีสภาพเป็นเช่นนั้นจริงๆ แต่หน่วยงานราชการไทยและ NGO เข้าไปพัฒนามานานมากแล้วเปลี่ยนแปลงสภาพความทุกข์ยากดังกล่าวมาเป็นพื้นที่ทำเงินทำทองให้แก่เกษตรกรทีเดียว

มีสถานีพัฒนาที่ดินที่ กู่พระโกนา อ.สุวรรณภูมิ ทำหน้าที่ศึกษาพัฒนาพื้นที่นี้มานานแล้ว มีโครงการพิเศษที่กู้เงินจากต่างประเทศมาทำงานวิจัยและพัฒนามากมาย รวมทั้งเงินให้เปล่าของประเทศออสเตรเลียจนนำเข้าต้นไม้ชนิดหนึ่งที่ฮือฮามากที่สุดในสมัยนั้น คือต้นยูคาลิปตัส สายพันธ์ คามาลดูเลซิส (พ่อครูบารู้เรื่องนี้ดีที่สุดท่านหนึ่ง) ผมเองมีส่วนร่วมของโครงการพัฒนาทุ่งกุลาอยู่บ้างในสมัยเมื่อสามสิบปีที่แล้วมา


กู่พระโกนา ที่ตั้งสถานีพัฒนาที่ดิน กรมพัฒนาที่ดิน

มีองค์กรพัฒนาเอกชนเข้ามาทำงานแถบนี้หลายต่อหลายโครงการ จนปัจจุบัน จนเกิดค้นพบปราชญ์ชาวบ้านในแถบนั้นก็หลายท่าน มีโครงการของจังหวัดร้อยเอ็ดและจังหวัดรอบข้างทุ่งกุลา เช่น บุรีรัมย์ สุรินทร์ ยโสธร ฯ ที่เข้ามาเร่งรัดพัฒนาพื้นที่ทุ่งกุลาที่อยู่ในขอบเขตจังหวัดของตนกันมานาน

ในทางธรณีวิทยานั้น อีสานเคยมีน้ำทะเลท่วมมาสองครั้ง แต่ละครั้งนานนับล้านๆปี จนน้ำทะเลแห้งตกผลึกเป็นชั้นเกลือ ซ่อนอยู่ใต้ผิวดิน ที่เรียกภูเขาเกลือ หรือ Salt dome มีระยะห่างจากผิวดินแตกต่างกันไป มีอิทธิพลต่อผิวดินแตกต่างกันไปตามระบบธรรมชาติ และการทำกิจกรรมของคนบนผิวดินนั้น จนเกิดการแพร่กระจายของเกลือบนผิวดิน นี่เองที่นักวิชาการดิน (อาว์เปลี่ยนนี่ก็คนหนึ่ง) เข้าใจเรื่องนี้ดี และเกิดตั้งสำนักงานพัฒนาที่ดินที่ทุ่งกุลานี่เพื่อศึกษาค้นคว้าหาทางจัดการอย่างถูกวิธี ทุ่งกุลานั้นอยู่ในแอ่งโคราชของหลักทางธรณีวิทยา เป็นพื้นที่ลุ่มที่สุดของแอ่งนี้ กับแอ่งสกลนครที่มีหนองหาญเป็นพื้นที่ก้นกระทะของแอ่งนี้

ในทางประวัติศาสตร์ทุ่งกุลาคือแหล่งผลิตเกลือมาแต่โบราณกาล ท่านอาจารย์ศรีศักดิ์ วัลลิโภดมและคณะศึกษาเรื่องนี้และทำหนังสือมาแล้ว ใครสนใจหามาอ่านได้ และมีนักศึกษาทำปริญญาโท เอก ก็หลายท่าน

สมัยที่ทำงานเกี่ยวข้องกับทุ่งกุลานั้นจำได้ว่ามีการศึกษาวิจัยกันมาก มีการจัดสัมมนาทางวิชาการก็หลายครั้ง การที่เอาออสเตรเลียมาร่วมทำโครงการเพราะ ออสเตรเลียมีพื้นที่คล้ายๆทุ่งกุลา และสามารถแก้ปัญหาได้ระดับหนึ่ง จึงเอาประสบการณ์ที่นั่นมาใช้ จึงเป็นที่มาอย่างหนึ่งของการนำเข้ายูคาลิปตัสหลายสายพันธุ์ รวมทั้ง คามาล ดูเลซิส ยูคาลิบตัสมันเกี่ยวกับพื้นที่ที่มีความเค็มอย่างไร ผมไม่อาจลงรายละเอียดได้ แต่หากท่านขับรถผ่านทุ่งกุลาจะเป็นตามคันนามีแต่ต้นยูคาลิปตัสเต็มไปหมด

ผมจำได้ว่าการศึกษาพันธุ์พืชที่เหมาะสมกับพื้นที่ดินเค็มนั้นมีมากมายหลายชนิด เช่นมะขามเทศ และข้าวหอมมะลิ 105 ซึ่งน่าที่จะมีพันธุ์ข้าวพื้นบ้านอีกจำนวนหนึ่ง แต่รัฐส่งเสริมการผลิตข้าวพันธุ์ดี พื้นที่ส่วนใหญ่จึงเปลี่ยนพันธุ์มาเป็นมะลิ 105 ซึ่งเป็นข้าวที่มีความหอมมาก คุณภาพดีที่สุด ส่งออกตรงไปต่างประเทศก็มี เช่นที่ยโสธรที่มีกลุ่มเกษตรกรรวมกันผลิตข้าวมะลิอินทรีย์ส่งออก…


ดูเหมือนผมเคยกล่าวไว้บ้างว่า ข้าวมะลิ 105 ของไทยนั้นชื่อกระฉ่อนไปทั่วโลกขายดี ประชากรโลกชอบและเป็นสินค่าส่งออกอันดับหนึ่งมานาน (แต่ชาวนาก็ไม่รวยสักที ?) มีต่างชาติพยายามที่จะเอาพันธุ์ข้าวมะลิ 105 ไปปลูกเพื่อแข่งกับไทย อย่างที่เรารับทราบที่อเมริกา เรียกข้าวจัสมิน ที่เวียตนาม และแม้ที่ลาว แต่ไปตั้งชื่อใหม่ แล้วก็อ้างสรรพคุณว่าหอมเท่ามะลิ 105 หรือดีกว่า แต่ราคาถูกกว่า

ผมเคยคุยกับท่าน ผอ.สถานีข้าวที่สกลนครชื่อ “พี่ขี” เข้าใจว่าท่านเสียชีวิตไปแล้ว ท่านเป็นนักวิชาการข้าวทำข้าวมะลิมานานและกล่าวว่า ไม่มีทางที่ต่างประเทศจะผลิตข้าวมาเทียบเท่ามะลิ 105 ของไทย ยกเว้นเทียบเท่า(ซึ่งไมเท่า) หรือปลอมปน หรือสรวมยี่ห้อ ท่านกล่าวว่าให้เอาเมล็ดมะลิ 105 ไปปลูกเถอะ ก็จะไม่ได้คุณสมบัติเท่าที่ผลิตในเมืองไทยแถบทุ่งกุลา หรือพื้นที่ใกล้เคียง ฟังดูเหตุผลคือ เพราะคุณภาพดิน(ที่มีความเค็มนิดหน่อย) และสภาพธรรมชาติบน Longitude และ Latitude ของประเทศไทยเท่านั้น ผมไม่มีความรู้เรื่องนี้ เพียงจำเอาการสนทนามาเล่าสู่กันฟัง

ทุ่งกุลาร้องให้ เปลี่ยนแปลงไปจากสภาพเดิมๆมากมาย กลายเป็นแหล่งเศรษฐกิจข้าวชั้นเลิศของประเทศไทย ไหนเลยจะเอาพื้นที่ไปทำบ่อนคาสิโน…

ความคิดชุ่ยๆ…แบบนี้เรียกอะไรดีล่ะ…หือ ท่าน

นี่คือตัวอย่างผู้หลักผู้ใหญ่เมืองไทยที่คิดอะไรไม่ดูรายละเอียดบริบทของพื้นที่นั้นๆ และหาข้อมูลรอบด้านเสียก่อน คิดแล้วไม่ทำก็ให้อภัยกันไป

แต่หากเอาจริงขึ้นมา คงสนุกหละครับ…


เราจะกลับมา..

172 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 4 กรกฏาคม 2011 เวลา 23:46 ในหมวดหมู่ การบริหารจัดการประเทศ #
อ่าน: 3576

ไปเหอะพวกเรา คะแนนเสียงก็ลงแล้ว

เราทำหน้าที่แล้ว กลับไปทำงานปกติของเรา

คอยติดตามว่าสัญญาน่ะจะทำได้สักแค่ไหน

แต่ดู ปัญหาใหญ่ๆรออยู่ข้างหน้าเยอะอยู่นะ

เมื่อถึงวันนั้นเราจะกลับมาอีก

นะพวกเรา..


บ่นกับตัวเอง..

70 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 12 มิถุนายน 2011 เวลา 11:14 ในหมวดหมู่ การบริหารจัดการประเทศ #
อ่าน: 2082

ของเล่นของผมหนึ่งอย่างคือการถ่ายรูปเมฆ จริงๆผมชอบถ่ายรูปวิถีชนบท มันเป็นการเก็บชีวิตของพี่น้องร่วมชาติ ร่วมโลก ที่สำหรับบางคนคุ้นชิน เหมือนผมที่บ่อยครั้ง เห็น แต่ไม่ได้คิดอะไร แต่ในฐานะที่เราทำงานพัฒนานั้น ผมมักเห็นแล้วเก็บเอามาวิเคราะห์ วิจารณ์ ทั้งในแง่ถกเกียงกับเพื่อนๆ คนข้างกาย และรวมไปถึงบันทึกเป็นบทความ

มันเป็นความสนใจเฉพาะตน ทุกท่านก็มีมุมของตนเอง มีวัตถุประสงค์ เป้าหมายของตนเอง อย่างที่ผมเคยเอามาแสดงในลานหลายครั้ง เช่นผมเห็นคนแก่ในสังคมชนบทลาวที่ไม่มีลูก ความสงสัยคือ เขาอยู่ได้อย่างไร เอาข้าวที่ไหนกินเพราะร่างกายเกินกว่าจะไปทำนาแล้ว เจ็บไข้ได้ป่วยใครจะดูแลเยียวยา เมื่อเราตั้งคำถามแก่ชาวบ้าน เขาก็ตอบว่า ก็คนในชุมชนนั่นแหละช่วยเหลือกัน คนโน้นเอาข้าวมาให้กิน คนนี้เอาเสื้อผ้ามาเผื่อแผ่ คนนั้นเอาหยูกยามาให้ ฯลฯ อือ..แค่นี้ก็นึกย้อนไปถึงชุมชนบ้านเกิดผมสมัยเด็กๆ ที่เห็นและผ่านสภาพสังคมแบบนี้มาแล้ว บางครอบครัวที่ยากจน วัดข้างบ้านยังเผื่อแผ่ เพราะข้าวที่ชาวบ้านตักบาตรใส่ทุกเช้านั้น พระท่านฉันท์ไม่หมด ก็เอาไปผึ่งแดดให้แห้ง “ข้าวสุกแห้ง” นี้สามารถกลับเอาไปหุงกินใหม่ได้ ครอบครัวยากจนหลังวัดก็ได้อานิสงส์นี้

ผมกลับมาขอนแก่น ไปธุระในเมือง แล้วก็มีคนแก่ ตายายเดินมาขอทาน ขอรับบริจาค ปากก็พล่ามบ่นถึงความไม่มี ขอเงินไปซื้ออาหารกิน นี่คือคนแก่ในสังคมเมือง เมืองที่มีความเจริญมากมายทุกด้าน แต่คนแก่ต้องมาขอทาน…. ผมคิดไปต่างๆนาๆ

ความเจริญคืออะไร

ชนบทคืออะไร

สังคมเราเดินไปทางไหนกัน

เทศบาลทุ่มเงินก้อนโตพัฒนาทีมฟุตบอลจังหวัด

นักการเมืองเสนอพัฒนาสนามบินเป็นนานาชาติ ที่ยิ่งใหญ่

นักบริหารบ้านเมืองเสนอสร้างสิ่งใหญ่ที่สุดในโลก เพื่อคาดหวังให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว

ความเจริญหล่อหลอมจิตใจคนไปในทิศทางใด..

การมีส่วนร่วม ที่เป็นประโยคให้ใครต่อใครกล่าวถึงกันนั้น เอาส่วนไหนมาร่วมบ้างเล่า..

ผมบ่นกับตัวเองน่ะ…


Paksan

64 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 14 มีนาคม 2011 เวลา 20:34 ในหมวดหมู่ การบริหารจัดการประเทศ, งานพัฒนาสังคม #
อ่าน: 3516

วันนี้ที่ปากซัน แขวงบริคัมไซ

UNDP ให้มาศึกษาการพัฒนาน้ำเพื่อการเกษตร

เรามาเป็นหนึ่งในทีมงาน

ปลาแห้งที่แขวนขายข้างทาง ไม่มีโอกาสจอดรถสอบถาม

แต่แสดงถึงความอุดมสมบูรณ์

เพลงกุหลาบปากซันยังไพเราะเหมือนเดิม

เมื่อ 30 ปีก่อนเคยมาแล้วครั้งหนึ่ง

มาครั้งนี้จำไม่ได้แล้วว่าภาพเดิมอย่างไร

สังคมเปลี่ยน คนเปลี่ยน พื้นที่เปลี่ยน

คำถามของคนทำงาน คือ

เปลี่ยนอย่างไร แบบไหน ..ฯลฯ เหมาะสมที่สุด


โลกมนุษย์ในอีก 50-80 ปีข้างหน้า

248 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 15 กุมภาพันธ 2011 เวลา 23:32 ในหมวดหมู่ การบริหารจัดการประเทศ, งานพัฒนาสังคม, เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 5570

เมื่อวานนี้กับวันนี้เป็นการจัด Lesson Learn workshop ของโครงการเดิมที่ทำมาเกือบสิบปีที่มุกดาหาร โดย ส.ป.ก.เป็นหน่วยงานหลักในการจัดงาน คนข้างกายในฐานะถูกเชิญให้เป็นผู้มาประเมินผลโครงการที่เรียกว่า Terminal evaluation ก็เข้ารับฟังด้วย มีท่านเลขา ส.ป.ก. และท่านรองเลขา ส.ป.ก.มาร่วมงานด้วย

สำหรับท่านเลขานั้นท่านเป็นคนใหม่สำหรับโครงการ ท่านเป็นวิศวกรที่มาดำรงตำแหน่งที่นี่ ก็ชื่นชมโครงการ ส่วนท่านรองฯท่านนี้นั้น เสมือนเป็นเจ้าของโครงการเพราะสร้างมากับมือ จึงทะลุปรุโปร่ง บางช่วงมีการเมืองเข้ามาแทรกบ้างจนเป๋ไปก็มี

คนข้างกายความจริงต้องเดินทางไปพิษณุโลกเพื่อรับผิดชอบงานศึกษาวิจัยการใช้น้ำบาดาลมาทำการเกษตร กับกรมทรัพย์ฯ แต่ก็ต้องมานั่งฟังสรุปผลงานนี้ด้วย และเธอก็บอกชอบใจที่ได้ฟังท่านรองเลขาฯพูดเมื่อวาน

ท่านกล่าวว่า เพิ่งกลับมาจากเกาหลี และที่นั่นมีโอกาสฟังปาฐกถาของศาสตราจารย์ ที่ได้รับโนเบล “เรื่องภาวะโลกร้อน ผลกระทบ และการเตรียมตัวของมนุษยชาติ” ผมเองก็ชอบ เหมือนท่านรองเลขาฯมาตอกย้ำประเด็นความสำคัญและการที่หน่วยงานต้องคิดและเตรียมตัวเริ่มทำอะไรได้แล้วทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยเฉพาะในระยะยาวที่ยังคุยกันน้อยมากๆว่ารัฐต้องทำอะไร หน่วยงานต่างๆต้องทำอะไร ชาวบ้านต้องทำอะไร แต่ละคน แต่ละภาคส่วนต้องทำอะไร…

ท่านกล่าวว่า ปัญหาใหญ่คือ ภาวะขาดแคลนอาหาร… แรงงานภาคเกษตรลดลง ผู้สูงอายุมากขึ้น ปัญหาภัยธรรมชาติ ฯลฯ เพราะเป็นที่คาดการณ์ว่า ที่แห้งแล้งจะแล้งหนัก ที่ฝนตกชุกก็จะมากเกินความพอดี พืช สัตว์ ปรับตัวไม่ทัน หรือเกิดโรคภัยใหม่ๆมากขึ้น..และทั้งหมดนี้ส่งผลโดยตรงต่อการผลิตทางการเกษตร

เราก็รู้มาบ้างว่า ดร.อรรถชัย จินตเวช ที่คณะเกษตรศาสตร์ มช.ท่านศึกษา simulation เรื่องโลกร้อนอยู่ ทราบว่าอีตาเม้งของเราก็ศึกษาเรื่องนี้

ผมเองแลกเปลี่ยนกับท่านรองเลขาฯว่า เรื่องใหญ่เรื่องนี้น่าที่จะมีวาระการสัมมนาบ่อยครั้งขึ้นเพื่อเอาวิชาการเรื่องนี้มาแลกเปลี่ยนและเฝ้ามองทิศทางกันให้มากขึ้น และต้องเตรียมตัวตั้งแต่เดี๋ยวนี้ มิเช่นนั้นก็สายเกินไป

อย่างน้อยที่สุด มา update เรื่องงานศึกษา วิเคราะห์วิจัย การทดลองต่างๆที่ไหนในโลกนี้เอามาศึกษาแลกเปลี่ยนกัน ปรากฏการณ์ต่างๆมีสาเหตุจากอะไรแม้จะยังสรุปไม่ได้ก็ถือเป็นการเตือนภัยกัน และในฐานะที่แต่ละคนยืนในจุดที่แตกต่าง มีหน้าที่การงาน จะทำอะไรได้บ้าง

ผมทำงานกับชาวบ้าน ควรทำอะไรบ้าง…. ผมเสนอท่านว่า ผมได้เริ่มทำไปบ้างแล้วแม้จะเป็นเพียงสิ่งเล็กๆ แต่ก็น่าจะมีประโยชน์ในการเอาผลมาใช้ คือ ผมได้เห็นประโยชน์การให้ชาวบ้านทำบันทึกอุณหภูมิ ความชื้นสัมพัทธ์ ปริมาณน้ำฝน และปรากฏการณ์ธรรมชาติต่างๆรอบตัวชาวบ้าน เกิดอะไรเมื่อไหร่ ผลเป็นอย่างไร บันทึกไว้ ซึ่งยากนะครับที่จะให้ชาวบ้านบันทึกเพราะชาวบ้านไม่ใช่นักเขียนบันทึกอย่าง blogger ทั้งหลาย แต่ก็มีเทคนิค เช่น ให้ลูกๆช่วย หรือหากหน่วยงานจะมีสิ่งตอบแทนบ้างก็แล้วแต่เงื่อนไข


ข้อมูลเหล่านี้เหมือนเป็น ฐานข้อมูลเบื้องต้นที่ทำหน้าที่เฝ้าระวัง ฯลฯ ท่านรองเลขาสนใจ แต่ผมไม่ได้อยู่ดงหลวงแล้ว ไปติดตามเอาข้อมูลมาใช้ได้ ในระบบราชการทำอะไรได้บ้างก็ต้องไปคิดอ่านกันต่อไป

คิดเลยเถิดคนเดียวไปถึงฝ่าย GIS ของ ส.ป.ก. ได้คุยกับผู้ชำนาญการเพื่อสร้างโปรแกรมทำฐานข้อมูลตัวนี้ขึ้นมา เช่น หากว่าการบันทึกดังกล่าวข้างต้นมีประโยชน์ ความจริงกรมอุตุเขามีอยู่แล้ว แต่สถานีห่างเกินไป และไม่ได้บันทึกปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรที่เป็นฐานอาหารของเรา หากทุกหมู่บ้านในพื้นที่ ส.ป.ก.(หรือทุก 10-20 หมู่บ้าน…?) มีการบันทึก สาระดังกล่าว บันทึกปรากฏการณ์ต่างๆ เอานักวิเคราะห์ต่างๆมา นักวิจัยพันธ์ข้าวสายพันธุ์ใหม่ และพืชต่างๆสายพันธุ์ใหม่มาคุยกัน อีก 20 ปีข้างหน้าเราน่าที่จะบรรลุการแก้ไขอะไรมาบ้าง


FW mail เรื่องปลาตาย นกตายมาถึงบ่อยมากขึ้น บ้างก็กล่าวว่าโลกมีการเปลี่ยนแปลงสนามแม่เหล็กโลก โอย ผมไม่รู้เรื่อง..แต่ที่แน่ๆ ในเขื่อนน้ำงึมสองที่ลาวเมื่อสองสัปดาห์ที่ผ่านมานั้นเกิดมีปลาตายลอยแพกันแล้ว ตอนนี้คนที่บริษัทไปศึกษากันใหญ่ว่ามาจากสาเหตุอะไร…

นี่แค่น้ำมันพืชขาดตลาด ยังเดือดร้อนกันขนาดนี้(แม้จะมีเรื่องธุรกิจ การเมืองอยู่เบื้องหลัง)

หากข้าวไม่มีกิน จะกลับไปกินเผือกกินมันก็ไม่มีป่าให้ไปขุดเผือกแล้ว คุยกันว่า ชุมชนอโศกต่างๆนั้นจะอยู่รอดเพราะท่านเตรียมตัวเรื่องอาหารมานานแล้ว…..

คิดไปเรื่อยเปื่อย แต่ต้องทำจริงๆ..

(ขอบคุณภาพจาก internet และ FW mail)


ประชาธิปไตยแบบไหน..

5 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 29 กันยายน 2010 เวลา 8:14 ในหมวดหมู่ การบริหารจัดการประเทศ #
อ่าน: 1186

“ประชาธิปไตย ไม่ได้หมายความว่าประชาชนเป็นใหญ่

แต่ประโยชน์ของประชาชนต้องเป็นใหญ่

หากประชาชนเป็นใหญ่ ประชาชนที่บ้าบอก็มี

บ้านเมืองก็ฉิบหายหมด..”

…ท่านพุทธทาส…

กำลังรื้อถอนผลงานของกลุ่มผู้ที่อ้างว่ารักชาติ เชิดชูประชาธิปไตย

ประชาธิปไตย ในความหมายของเขาคือการทำลายอย่างนั้นหรือ

จะให้เด็กรุ่นหลังเรียนรู้อะไรจากคนรุ่นนี้ในความหมายของคำว่าประชาธิปไตย ในเมื่อการกระทำแบบนี้ เขาอ้างว่านี่คือกลุ่มรักชาติ รักประชาธิปไตย

หากการเคลื่อนตัวของสังคม ประเทศชาติเต็มไปด้วยอารมณ์เหนือเหตุผล

เราก็กำลังก้าวลงสู่หุบเหวแห่งความพินาจ สิ้นชาติสิ้นแผ่นดิน

โปรดใช้สติเถิด..


เจ้าดารารัศมี..

1103 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 4 กรกฏาคม 2010 เวลา 7:03 ในหมวดหมู่ การบริหารจัดการประเทศ #
อ่าน: 16589

บ่อยมากที่ขึ้นเชียงใหม่ต้องแวบกราบท่านผู้เป็นเจ้าของวังแห่งนี้

อยู่ที่ค่าย ตชด. อ.แม่ริมครับ

ใครไปเชียงใหม่ หาโอกาสไปแวะน่ะครับ

ที่คือส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ภาคเหนือ ประวัติศาสตร์ไทย

วังดาราภิรมย์ ของเจ้าดารารัศมี พระชายารัชการที่ 5


มองสังคมป่าไม้เห็นสังคมมนุษย์

376 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 16 มิถุนายน 2010 เวลา 15:02 ในหมวดหมู่ การบริหารจัดการประเทศ, งานพัฒนาสังคม, ทุนสังคม #
อ่าน: 5822

(บันทึกยาวครับ..)

ไปเยี่ยมยามแม่บังเกิดเกล้า ยามเฒ่าแก่ ให้บุพการีชื่นอกชื่นใจแล้วก็เดินทางกลับ ภาระปัจจุบันไปไหนๆได้ไม่นานนัก ก็ดีกว่าไม่ได้ไปเลย แม้ว่าใจอยากจะอยู่กับแม่นานๆ

คนข้างกายมีงานวิจัยประเภท Action Research กับเจ้าหน้าที่กรมป่าไม้หลายชิ้น จึงคุ้นเคยกับบุคลากรกรมป่าไม้หลายท่าน เธอมีคำถามกับเจ้าหน้าที่ป่าไม้ว่า ป่านั้นถูกบุกรุกทำลาย ทำร้ายมากมายทุกหนแห่ง สมัยก่อนที่สมเด็จพระนเรศวรยกทัพไปตีเมืองโน้นเมืองนี้ ต้องบุกป่าฝ่าดงไปนั้น ป่าในอดีตจริงๆเป็นอย่างไรหนอ..? ดร.โกมล แพรกทอง ผู้เชี่ยวชาญป่าไม้กล่าวว่า อยากดูก็ไปที่ ป่าสะแกราช ที่ปักธงชัย นครราชสีมา รอยต่อกับเขาใหญ่ รอยต่อกับพื้นที่วังน้ำเขียว “ที่นั่นเป็นป่าบริสุทธิ์เท่าที่เหลืออยู่ในประเทศไทย” มีโอกาสก็ไปดูซะ…

ทีมงานของคนข้างกายขอร้องไว้ก่อนแล้วว่า ให้ผมพาไปพักผ่อนบ้างหลังลุยเขียนงานใหญ่ๆ สามชิ้น กลัวจะฟุบเข้าโรงพยาบาลอีก เมื่อหันหัวรถออกจากบ้านอ่างทองก็ตั้งเป้าหมายเขาใหญ่ ที่กำลังดังเป็นเป้าหมาย.. เข้าปากช่องเลี้ยวขวาเข้าเขาใหญ่ มีที่พักมากมาย แต่ไม่เอา ใช้เส้นทาง Local Road รอบเขาใหญ่จากปากช่องไปวังน้ำเขียว เป็นถนนเส้นเล็กๆ แต่ธุรกิจรีสอร์ท บ้านพัก สวน ตั้งแต่หรูหราเริ่ด ไปจนแบบชาวบ้านธรรมดา เต็มไปหมดตลอดทาง…

ค่ำพอดีเลยหาที่พักสบายๆข้างทาง ได้ที่พักชื่อ วิลล่า เขาแผงม้า ร่มรื่น สะอาด บริการดี ราคาสมน้ำสมเนื้อต่อคืน อาหารเช้าเพียบ ที่แปลกคือห้องน้ำแบบโอเพ่นแอร์ แต่ปลอดภัย คนงานทำความสะอาดตลอดเวลา สภาพทั่วไปเป็นเนินเขา การเดินขึ้นลงอาจจะไม่สะดวกสำหรับผู้สูงอายุ แต่มีบริการฟรีรถกอล์ฟรับส่งกระเป๋า หรือจะขึ้นลงก็ตาม เขามีเด็กขับบริการเอาใจ สว. อย่างเรา

หลังอาหารเช้ากับบรรยากาศสดชื่น เราก็ลุยตรงไปที่สถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช ผ่านประตูโดยมอบบัตรประชาชนให้ ยามก็รายงานขึ้นไปว่ามีคนสนใจมาศึกษาแบบไม่เป็นทางการ ก็ได้รับการต้อนรับที่ดี คุยกับเจ้าหน้าที่สักพักใหญ่ๆ พอดีเขามีแค้มป์เด็กนักเรียนจาก “ดัดดรุณี” เราจึงขอแยกตัวไปสัมผัสป่าบริสุทธิ์ซึ่งขับรถช้าๆตามกติกาขึ้นไปอีกสอง กม.จากสำนักงานที่พัก คนข้างกายบอกว่า “เอารถไปจอด แล้วขอลงนั่งฟังเสียงป่าแบบเงียบๆนะ”

ก่อนหน้านี้เจ้าหน้าที่ป่าไม้เล่าว่า ป่าสะแกราชส่วนนี้รอดมือการสัมปทานป่ามาได้อย่างน่าอัศจรรย์ จึงเป็นความจริงที่เป็นเพียงพื้นที่เดียวในประเทศไทยที่บริสุทธิ์ผุดผ่อง หากเราสังเกตสภาพป่าสะแกราชตั้งแต่ปากทางเข้ามาจะพบว่ามี “สังคมไม้ป่า” ที่แตกต่างกันไปหลายแบบ ผมไม่มีความรู้เรื่องนี้จึงไม่กล้าเอ่ยชื่อชนิดป่า ความจริงเขามีเจ้าหน้าที่มาให้ความรู้แต่เราปฏิเสธ

มีร่องรอยการศึกษาวิจัยหลายที่หลายแห่ง อันเนื่องมาจากความสมบูรณ์ของป่านี่เองจึงเป็นแหล่งศึกษาวิจัย ผมเองก็ซื้อหนังสือมาหอบใหญ่เกี่ยวกับกรณีศึกษาของป่าสะแกราชแห่งนี้

หยุดรถเป็นระยะ ถ่ายรูปบ้าง ลงไปดูร่องรอยการศึกษาวิจัยบ้าง และก็มาเห็นต้นไม้ใหญ่ที่มีต้นไม้เล็กเกาะยึดไว้ ทั้งที่เป็นเถาวัลย์ และต้นไม้อิงอาศัย… แหมฉุกคิดขึ้นมาทันทีถึงคำว่าสังคมป่าไม้ ที่นักวิชาการท่านกล่าวถึง นี่ไงสังคมป่าไม้ที่ความหลากหลายทางชีวภาพของไม้ป่าอิงอาศัยกันและกัน ไม้ใหญ่มีระบบราก ลำต้น เผ่าพันธุ์ที่สูงใหญ่ ก็ปล่อยให้ไม้เล็กเกาะ อาศัยเลื้อยขึ้นไปชูคอสูดอากาศข้างบน หรือขึ้นสู่เรือนยอด ผมนึกถึงระบบสังคมมนุษย์ที่สำคัญเรื่องหนึ่งคือ “ระบบอุปถัมภ์” สังคมไม้ป่า หรือสังคมไม้บ้านก็ตามก็มีระบบอุปถัมภ์เหมือนกัน

ผมเองได้ยินคำนี้ตั้งแต่เริ่มเข้ามาทำงานพัฒนาชนบท ในสนามและท่าน ดร. มรว.อคิน รพีพัฒน์ กับ อ.ดร.จิมศักดิ์ ปิ่นทอง ที่เป็นวิทยากรอบรมท่านกล่าวถึงเรื่องนี้ไว้นานมากแล้ว แรกๆก็รับรู้แต่ไม่เข้าใจเท่าไหร่
ต่อเมื่อเข้าไปทำงานสนามนานๆเข้า ก็เห็น ย้อนมามองตัวเองเกี่ยวข้องเพียบเลย และมีกระจายไปทั่วหัวระแหงของสังคม ไม้ของไทยและสังคมไหนๆก็ตาม เพียงแต่ว่าจะมองในแง่ไหน จะใช้ระบบนี้ในแง่ไหน

นักวิชาการสังคมวิทยา มานุษยวิทยา กล่าวถึงเรื่องนี้ไว้ค่อนข้างมากในแง่ที่สร้างปัญหาต่อสังคมโดยรวม เช่น ระบบเส้นสายก็คือระบบอุปถัมภ์ ความพึงพอใจส่วนตัวเอามาเป็นเหตุผลมากกว่าการเคารพกฎกติกา หรือเหตุผลที่เหมาะสม ก็คือระบบอุปถัมภ์ชนิดหนึ่ง ฯลฯ ซึ่งเป็นความจริงในสังคมนี้

เมื่อผมเห็น “สังคมป่าไม้ที่สะแกราช” ดังกล่าวนี้ทำไม่ผมอ่านได้ว่า ระบบอุปถัมภ์ที่เป็นธรรมชาติแบบสังคมป่าไม้นั้นต่างพึ่งพาอาศัยกันและกัน ยังประโยชน์แก่กัน หากเถาวัลย์ไม่มีไม้ใหญ่เกาะเกี่ยว มีหรือเขาจะเจริญเติบโต ออกลูกหลานเผ่าพันธุ์สืบมาจนปัจจุบันนี้ ผมเดาเอาเองว่า ไม้ใหญ่ก็ให้อิงอาศัยแม้ว่าอาจจะทำให้เกิดอุปสรรคบ้างในการเจริญเติบโต แต่คงไม่มาก และที่สำคัญไม่ได้ทำให้ชีวิตสิ้นสุดลง ตรงข้ามพื้นที่ส่วนน้อยของเขาได้ยังชีวิตเถาวัลย์เล็กๆ และไม้อิงอาศัยได้มากที่สุด เพราะธรรมชาติของเขาต้องอิงอาศัย ต้องเกาะยึดสิ่งอื่นๆ

ผมนึกถึงที่บ้านขอนแก่น ผมเอา กลอย และ ต้นมันป่าจากดงหลวงไปปลูก ช่วงฤดูฝนนี้เขาแตกยอดใหม่เลื้อยออกมาจากหัว หาต้นไม้ข้างเคียงเกาะยึด แล้วเขาก็เลื้อยพันขึ้นไปข้างบนจนถึงยอดไม้อิงอาศัย เราดูก็อาจจะสงสารต้นไม้หลักที่เขายึดเกาะ เพราะเจ้า กลอย และมันป่าจะงาม แตะกิ่งก้านสาขาจนเกือบจะปกปิดต้นหลัก แต่เขาก็อยู่เพียงไม่กี่เดือนก็สิ้นสุดการเติบโตเข้าสู่วงจรการนอนหลับหรือการหยุดการเจริญเติบโต (Hibernation เอใช้คำนี้ได้เปล่า เปลี่ยน) ใบหลุดร่วงตายไป หัวกลอย หัวมันขยายใหญ่ขึ้น เพราะได้สังเคราะห์แสงเก็บอาหารไว้เต็มที่ตามลักษณะเผ่าพันธุ์ และไม่มีที่ผิดแผกไปจากนี่

แต่มองย้อนกลับมาที่สังคมมนุษย์ เพราะ กิเลส ตัญหา ความทะยานอยาก การไม่อยู่ในหลักการแห่งการอยู่ร่วมกันคือ ศีลธรรม คุณธรรม ปฏิเสธความพอเพียง ระบบอุปถัมภ์ก็กลายเป็นเครื่องมือก้าวไปสู่ความเป็นเลิศที่ตัวเองต้องการ โดยสร้างปัญหากระทบต่อสังคมรอบข้าง โดยกระทบตั้งแต่น้อยไปหามาก จากเบาไปหาหนัก (เอ เหมือนอะไรน้อ..)

เมื่อมองจากมุมสังคมไม้ป่า ก็พบว่า ระบบอุปถัมภ์นั้นมีประโยชน์ เพราะธรรมชาติของเผ่าพันธุ์เป็นตัวควบคุม และไม้ไม่มีจิตวิญญาณ แต่สังคมมนุษย์ผู้ประเสริฐ ได้ใช้ปัญญาไปในทางที่ผิด ใช้ไปในทางทำลายมากกว่าการสร้างสรรค์เพื่อการอยู่ร่วมกัน ใช้เงื่อนไขทั้งหมดเพื่อความมั่งคั่งส่วนตนและพวกพ้อง เพราะรัศมีการอุปถัมภ์ของสังคมไม้ป่านั้นอยู่วงรอบของทรงพุ่มเท่านั้น แต่รัศมีระบบอุปถัมภ์ของสังคมมนุษย์นั้นครอบไปทั่วทั้งสังคมใหญ่คือประเทศ

ดังนั้นคนชายขอบเขาจะอยู่ไม่ได้เลยหากหมู่บ้าน ชุมชน สังคม และประเทศไม่โอบอุ้มเขาด้วยระบบอุปถัมภ์ เอื้ออาทร การช่วยเหลือเกื้อกูลกัน การยื่นน้ำใจให้แก่กัน

เช่นเดียวกันคนที่มีปัญหา หาทางออกไม่ได้ก็ต้องอาศัยระบบของสังคมมาเยียวยาด้วย หนึ่งในนั้นคือระบบอุปถัมภ์ที่มีศีลธรรม คุณธรรม และทุนทางสังคมแบบเดิมๆของเราเป็นสะพานเชื่อม



Main: 2.2069308757782 sec
Sidebar: 0.12077116966248 sec