เก็บตกน้ำท่วม..

1188 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 24 พฤศจิกายน 2011 เวลา 0:47 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 89156

ผมกลับลงกรุงเทพฯ เมื่อเพื่อนบ้านบอกว่าที่บ้านลูกสาวปลอดภัย น้ำขึ้นมาแต่ฟุตบาทแล้วก็ตั้งเครื่องสูบน้ำออกได้หมด โดยสมาชิกในหมู่บ้าน ออกเงินรวมกันประมาณ 1 แสนบาทเพื่อใช้จ่าย แต่ก็ใช้ไปเพียงสามหมื่นบาทเอง

ผมกลับเข้าบ้านพร้อมลูกสาว บ้านช่องปกติ เริ่มขนของลงมาจากชั้นบน ผมทำคนเดียวค่อยๆทำไปทีละอย่างสองอย่าง ก็ดีได้ออกกำลังกายไปด้วย แต่ยุงมากมายจริงๆ พอเย็นย่ำยืนคุยกับเพื่อนบ้านแล้วลองแกว่งมือไปมา โฮ..โดนยุงเป็นฝูงๆเลย เพื่อนบ้านถือเครื่องกำจัดยุงแบบไฟฟ้าสถิต รูปร่างคล้ายไม้ตีเทนนิส มันดังแป๊ะๆตลอดเวลา..


ช่วงน้ำท่วมคนรู้จัก TEAM group กันมากขึ้นเพราะคุณชวลิต กรรมการบริษัทออกทีวีทุกวันเรื่องข้อมูลน้ำท่วมกรุงเทพฯ เป็นเพราะบริษัททีมได้งานเกี่ยวกับโครงสร้างต่างๆในกรุงเทพฯมานาน จึงมีข้อมูลทางกายภาพเยอะ เอามาใช้ประโยชน์ซะเลย

รูปที่เห็นนั้นก็คือน้ำท่วมถนนหน้าบริษัท พนักงานต้องนั่งรถหกล้อของบริษัทกัน เป็นที่ตลกที่ชุดทำงานกลายเป็นขาสั้น เสื้อผ้าเหมือนไปเที่ยวหรือนั่งอยู่บ้าน ก็ดีไปอย่างนะดูสบายๆ ตอนนี้น้ำแห้งเกือบร้อยเปอร์เซนต์แล้ว


ภาพนี้เป็นภาพสามมิติที่ดูที่ตั้งบริษัททีมจาก กูเกิล เดี๋ยวนี้ระบบกราฟฟิก พัฒนาไปไกลมากแล้วนะครับ จะดูมุมไหนก็หมุนได้หมด 360 องศา นี่หากจะทิ้งระเบิด ก็แค่เอาพิกัดที่ตั้งไปใช้ก็เรียบร้อย ..


ภาพนี้คือแผ่นป้านรถที่ตกจมน้ำเนื่องจากรถวิ่งฝ่าน้ำไปแล้วแผ่นทะเบียนหลุดจมน้ำ ชาวบ้านก็ไปเก็บเอามาวางขายให้เจ้าของซะเลย ไม่รู้ว่าโจรซื้อไปทำทะเบียนปลอมเพื่อกระทำผิดหรือเปล่านะ

เรื่องนี้มีทุกมุมเมือง วันก่อนทีวีก็ออกข่าวเรื่องนี้ คนที่เอามาวางตรงนี้เพื่อคืนเจ้าของ (พูดซะแบบคนทำบุญ อิอิ) แต่จริงๆก็ขายคืนให้เจ้าของในราคา..ผมไม่ได้ถาม แต่ที่ในทีวีเป็นอีกสถานที่หนึ่ง เขาบอกว่า หากจะให้เงินเขาเท่าไหร่ก็ได้ ไม่มีเงินก็เอาคืนไปฟรีๆก็ได้ ส่วนใครจะให้ก็ตามสะดวก ดูเหมือนว่ามีเจ้าของตามมาเอาคืนมากเหมือนกัน ส่วนใหญ่บริจาค 100 บาท มีที่ให้สูงสุด 1,000 บาท

เอ้า..ของใครแถวนี้มีบ้างไหม เดินไปดูหน้ารถ หลังรถของเราว่าป้ายทะเบียนยังอยู่หรือเปล่า หากหายไปก็มาค้นเอา

อย่างน้อยก็เป็นการหารายได้จากวิกฤติน้ำคราวนี้ครับ


ผมเห็นสิ่งที่เกิดจากน้ำท่วม..

21 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 17 พฤศจิกายน 2011 เวลา 20:45 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 2870

เธอเป็นลูกคนเดียวและอยู่คนเดียวมานาน เพราะต้องไปเรียนหนังสือในสถานที่ห่างไกลจากบ้านเกิด ความห่างจากพ่อแม่ทำให้เธอต้องคลุกคลีกับสิ่งแวดล้อมที่ห้อมเธออยู่ ความห่างเหินทำให้กิริยามารยาทเธอออกจะห้าวๆ ตรงเหมือนขวานผ่าซาก เชื่อมั่นตัวเองและ ถูกเปรียบเทียบว่าเป็นชาล้นถ้วย แม้จะสอบถาม แลกเปลี่ยนปัญหา อุปสรรค กับแม่ของเธอทางโทรศัพท์ เธอก็รับฟังแต่ดูเหมือนว่า มันไม่ได้ช่วยอะไร แล้วเธอก็กลับไปทำตามในสิ่งที่เธอคิดเห็น

ลักษณะอุปนิสัยเช่นนี้ ทำให้เธอปะทะกับเพื่อนร่วมงานที่เป็นคนไทยด้วยกัน โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุสูงกว่าเธอ แต่ตรงข้ามฝรั่งกลับบอกว่าเธอมีนิสัยเหมือนฝรั่ง ตรงๆ ไม่อ้อมค้อม และไม่มีลีลา การเอื้อนเอ่ยมธุรสวาจา ฟันเปรี้ยงลงไปเลย

เธอมีหน้าที่เป็นผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อของสำนักงานธุรกิจยักษ์ใหญ่แห่งหนึ่ง ผมประเมินเองว่า ด้วยหน้าที่การงาน ความรับผิดชอบที่เธอมีอำนาจในมือคือกำลังซื้อ ด้วยเงินงบประมาณของบริษัท เหมือนมีอำนาจที่ไปเสริมคุณลักษณะบางประการของเธอ ตรงๆ ฟันเปรี้ยงลงไปเลย และต่อรองเป็นที่สุด พูดหยาบๆคือ บีบสุดๆที่จะได้เงื่อนไขดีที่สุดสำหรับสินค้าจาก Suppliers เพราะผมเห็นลีลาเธอในบางโอกาสที่ทำหน้าที่นี้แต่มิใช่ธุรกิจของหน่วยงานที่เธอสังกัด

แต่เธอก็มีบางมุมที่ตรงข้าม…..

เมื่อเกิดกรณีน้ำท่วมใหญ่กรุงเทพฯ น้ำเป็นปัจจัยสำคัญของชีวิต หากขาดน้ำชีวิตก็อยู่ไม่ได้ แต่หากน้ำมากเกินไปก็เกิดทุกข์ เกิดอุปสรรค ต่อการดำเนินชีวิตและอาชีพการงานมากมาย

Supplier ส่งไก่แช่แข็งให้องค์กรธุรกิจของเธอรายหนึ่งไม่สามารถส่งไก่ตามจำนวนและเวลาที่ตกลงกันไว้ เพราะน้ำท่วมส่งผลให้เกิดปัญหาดังกล่าว แม้ว่าจะพยายามแก้ปัญหาแต่ก็ไม่สามารถรักษาระบบเดิมได้ เธอจึงแจ้งให้องค์กรธุรกิจทราบถึงอุปสรรค และพยายามจะแก้ปัญหาให้เร็วที่สุด

ขณะที่สาขาขององค์กรธุรกิจต่างๆทั่วประเทศที่เธอสังกัดนั้น ส่งหนังสือแจ้งถึงการขาดแคลนสินค้านี้มากมาย ปัญหานี้เธอรับทราบและรีบปรึกษากับทีมงานและโดยเฉพาะหัวหน้าใหญ่ เจ้าของธุรกิจไก่แช่แข็งรายนี้เป็นสตรีสูงอายุ ซึ่งก็ไม่ใช่เจ้าของธุรกิจรายใหญ่เหมือนบางบริษัทที่เรารับทราบว่าเป็นเจ้าพ่อธุรกิจด้านนี้ เธอเป็นเพียงรายย่อย และรักษามาตรฐานที่ดีมาตลอดแต่ผลการเจรจา เธอพบว่า พนักงานบริษัททุกราย รวมทั้งหัวหน้าของเธอที่เป็นฝรั่ง ยืนยันหลักการตามสัญญาที่มีต่อกัน ไม่สนใจว่าอุปสรรคที่เกิดขึ้นนั้นมันสุดวิสัย

เจ้าของธุรกิจไก่แช่แข็งตระเวนไปพยายามอธิบายกับผู้รับผิดชอบหลายต่อหลายคน แต่ดูเหมือนไม่มีทางออกใดๆเลยนอกจากบริษัทจะต้องยกเลิกสัญญาที่ทำกันไว้ แล้วหันไปทำสัญญากับรายอื่นต่อไป

แต่เมื่อ เจ้าของธุรกิจมาคุยกับเธอ กลับได้รับคำเห็นอกเห็นใจและแม้ว่าเจ้านายใหญ่จะตัดสินไปแล้ว แต่เธอจะพยายามเสนอชื่อเธอกลับคืนมา….

คืนนั้นเธอโทรศัพท์ไปคุยกับแม่เธอ แล้วร้องให้ดังลั่น ด้วยความรู้สึกสงสาร เห็นใจเป็นที่สุดแก่เจ้าของธุรกิจไก่แช่แข็งขนาดย่อม ซึ่งเป็นสตรีสูงอายุท่านนั้น และตั้งคำถามว่าทำไมองค์กรธุรกิจจึงไม่รับฟัง และยอมรับข้อเท็จจริง น้ำท่วมเป็นไปโดยธรรมชาติ สุดที่จะแก้ไขได้ และส่งผลกระทบต่อธุรกิจของที่ต้องรับผิดชอบ

ความกร้าวแกร่งของเธอในมุมหนึ่งนั้น ก็มีมุมเด็กน้อยที่สงสารผู้ที่ตกทุกข์ด้วยเรื่องสุดวิสัย

เราเห็นสองมุมของเธอ

เราเห็นผลกระทบจากน้ำท่วม เหมือนคลื่น ที่เกิดจากการที่เราขว้างก้อนหินลงกลางสระน้ำ แล้วเกิดคลื่นกระจายไปรอบๆจากใหญ่ตรงใจกลาง แล้วเล็กลง เล็กลงไปเรื่อยๆ เมื่อคลื่นเคลื่อนตัวไปหาชายฝั่ง ปัญหาที่เกิดขึ้นกับเจ้าของธุรกิจไก่แช่แข็ง คือ คลื่นน้ำท่วมที่มากระทบนั่นเอง

ส่วนเธอคนนั้นคือลูกสาวผมเอง


ไปดูบ้าน

160 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 15 พฤศจิกายน 2011 เวลา 0:10 ในหมวดหมู่ การบริหารจัดการประเทศ, เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 5880

เป็นคำพูดที่ได้ยินบ่อยเหมือนอีกหลายคำในช่วงนี้

ที่บ้านขอนแก่นรับญาติมาพักด้วยสองครอบครัว ก็หนีน้ำมานั่นแหละ ครอบครัวผู้เป็นลูกสาวมาดูแลครอบครัวคุณแม่ที่ป่วย ทุกวันเธอก็โทรลงไปกรุงเทพฯถึงสามี ถึงเพื่อนบ้าน ให้ไปดูบ้านแล้วรายงานให้ทราบหน่อย เธอก็ซักไซ้อย่างละเอียดเหมือนอยากจะเห็นเองนั่นแหละ ก็ตัวอยู่ขอนแก่น ใจมันอยู่ที่กรุงเทพฯ เธอบอกว่าเฟอร์นิเจอร์ประเภท Build-in ในห้องรับแขกนั้นพังพินาจ และอื่นๆเพราะตอนหนีมาเก็บของได้ไม่มากนัก…เธอหลับตาทีไรเห็นรายจ่ายจำนวนมากรออยู่ข้างหน้า

เมื่อวันก่อนเธอบอกว่าได้รับ VDO ที่ญาติเดินทางไปดูบ้านแล้วถ่ายส่งมาให้ดู เออ เหมือนไปดูบ้านทางวีดีโอ..


(ขอยืมภาพน้ำท่วมมาประกอบ)

ญาติอีกรายอยู่เสนานิเวศ เป็นหมู่บ้านจัดสรรยุคแรกๆของพื้นที่นี้ เมื่อเวลาผ่านมาถึงปัจจุบันหมู่บ้านกลายเป็นที่ลุ่มเพราะหมู่บ้านที่สร้างภายหลังถมสูงขึ้นกันทั้งนั้น เมื่อฝนตกหน่อยเดียวเสนานิเวศน้ำฝนก็ท่วมทุกที มาคราวนี้มีหรือจะรอด ญาติอพยพไปเช่าที่พักอยู่ใกล้ๆ ทั้งที่หน่วยงานจัดหาที่พักให้ แต่ชอบที่จะอยู่ที่เช่าเอง เพราะต้องการอยู่ใกล้บ้าน เพื่อ “ไปดูบ้าน”

ดูทีวีเห็นหลายต่อหลายคนหนี้น้ำท่วมไปได้ไม่เท่าไหร่ก็ต้องย้อนกลับมาดูบ้าน โดยเฉพาะพี่น้องแถบบางบัวทอง ต้องเช่าเรือไปในราคาขูดรีดคนทุกข์ แต่ก็ยินยอมจ่ายเพราะใจมันอยู่ที่บ้าน ญาติผมที่เสนานิเวศก็เช่นกัน เหมาเรือพายลำหนึ่ง หลายสตางค์ พายเข้าไปในหมูบ้านเพื่อ ดูบ้าน น้ำลึกมาก เข้าไปในบ้าน เห็นแล้วก็น้ำตาตกเอาทีเดียว

พื้นไม้ลอยละล่อง น้ำสีดำและมีกลิ่นเหม็น เธอบอกว่ายังเห็นฟองอากาศลอยขึ้นมาปุดๆจากพื้นห้องบ้านชั้นล่าง เสียหายหมดสิ้น พยายามทำใจแต่ก็อดเศร้าโศกไม่ได้ วิมานของเธอพังพินาจสิ้น


(ขอยืมภาพน้ำท่วมมาประกอบ)

ได้เห็นภาพบ้านแล้วก็สมใจที่ได้ “ไปดูบ้าน” แต่ก็หดหู่ใจเป็นที่สุด ขากลับออกมาไม่มีแรงพายเรือ พี่ชายต้องลงเดินลุยน้ำจูงเรือออกมา ห้องที่เช่าพักนั้น เช่าเป็นเดือนได้เลย และอาจจะต้องหลังปีใหม่ไปแล้วกว่าจะได้กลับเข้าบ้านจริงๆ เพราะแม้น้ำจะลดลงในวันนี้ แต่การซ่อมแซมนี่ซิ อาจจะใช้เวลามากกว่าเดือน

โดยเฉพาะไม่มีช่างให้จ้างไปซ่อมบ้านน่ะซี

อือ…วันนี้คุณ “ไปดูบ้าน” หรือยัง


หากเป็นนครสวรรค์โมเดล..

477 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 13 พฤศจิกายน 2011 เวลา 0:11 ในหมวดหมู่ การบริหารจัดการประเทศ #
อ่าน: 6514

ปัญหาน้ำท่วมนั้นมันซับซ้อนมากกว่าปกติ การพัฒนาสร้างบ้านสร้างเมืองนั่นแหละกลายเป็นการผูกปมปัญหามากขึ้น ความมีเสรีมีส่วนสร้างองค์ประกอบให้เกิดปัญหา การพัฒนาเพื่อเพิ่มผลผลิต เพื่อเพิ่มรายได้ ก็มีส่วนสร้างปมเงื่อนไขให้เกิดปัญหาอย่างคาดไม่ถึงมาก่อน ไม่ได้คิดถึง รู้เท่าไม่ถึงการณ์ ไม่ได้พิจารณามาก่อน การพัฒนาที่ดินเพื่อมุ่งหวังกำไรแบบไร้วิสัยทัศน์ว่ากิจกรรมที่ทำนั้นจะมีส่วนสร้างปัญหาน้ำท่วมโดยรวม กิจกรรมมนุษย์ขาดมิติการพัฒนาที่สอดคล้องกับธรรมชาติ

ข่าวไทยพีบีเอสเมื่อเย็นวันนี้กล่าวว่า

ผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ลงลุยไถนาในวันรณรงค์ ฟื้นฟู ชาวบ้านหลังเผชิญอุทกภัยน้ำท่วม และกล่าวรณรงค์ให้เกษตรกรทำนาเพียงสองครั้งต่อปีคือ นาปีกับนาปรัง ทั้งนี้มีเหตุผลว่า หลีกเลี่ยงความเสี่ยงต่ออุทกภัยเช่นปีนี้ ซึ่งรัฐจะต้องตั้งงบประมาณมาชดเชยมากมาย จึงเรียกร้องให้เกษตรกรทำการผลิตข้าวเพียงสองครั้งต่อปี….และประกาศเป็นการรณรงค์เรื่องนี้

ผู้สื่อข่าวไปถามชาวบ้านแถบนั้นแล้วได้ข้อเท็จจริงว่า

ชาวนา: มันเป็นไปไม่ได้หรอกครับที่ท่านผู้ว่ามารณรงค์เช่นนั้น เพราะความจริงก็คือ ชาวนาแถบนี้จำนวนมากที่เช่านาทำ เจ้าของนาคิดค่าเช่าไร่ละ 900 บาทต่อปี ใครเช่า 5 ไร่ก็ 4500 บาทต่อปี และที่สำคัญที่เป็นเหตุผลว่าไม่สามารถทำตามที่ท่านผู้ว่ารณรงค์ได้ก็คือ เจ้าของที่นาจะคิดค่าเช่า 900 บาทต่อไร่ต่อปีนั้น หมายถึงผู้เช่าจะทำนา สองครั้งหรือสามครั้งก็คิดเท่าเดิม…. แล้วชาวนาผู้เช่าที่ดินคนไหนจะทำนาเพียงสองครั้งในเมื่อเสียค่าเช่าเท่าเดิม…คือ 900 บาทต่อไร่ต่อปี ไม่เปลี่ยนแปลง…

ชาวนา: ผมก็จะยังต้องเช่านาทำ และขอเสี่ยงปลูกข้าวครั้งที่สามต่อไป

ผมไม่ทราบว่าจังหวัดดำริเรื่องนี้โดยไม่มีการศึกษารายละเอียดเรื่องนี้ได้อย่างไร แนวคิดการเสนอให้เกษตรกรทำนาเพียงสองครั้งเพื่อลดความเสี่ยงในการปลูกข้าวครั้งที่สามลง และเป็นการประหยัดงบประมาณรัฐที่จะต้องจัดสรรงบชดเชย ดูจะเป็นเจตนาดีที่ขาดความรอบคอบในการทำงานเพื่อแก้ปัญหานี้

ผมละหวาดเสียวว่าเจตนาดีเรื่องนี้จะประกาศเป็น “นครสวรรค์โมเดล” ขึ้นมาอีกน่ะซี


การพร่องน้ำเขื่อน

349 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 12 พฤศจิกายน 2011 เวลา 7:54 ในหมวดหมู่ การบริหารจัดการประเทศ, งานพัฒนาสังคม #
อ่าน: 7939

เนื่องจากเคยทำงานที่เขื่อนลำปาว จ.กาฬสินธุ์ ในโครงการจัดการน้ำในระดับไร่นาสนับสนุนโดยรัฐบาลเนเทอร์แลนด์ และมาทำงานกับกลุ่มบริษัท ยูโรคอลซัล เรื่องปรับปรุงและพัฒนาการใช้ประโยชน์เขื่อนในภาคอีสาน หลายแห่ง โดยมีกรมชลประทานเป็นหน่วยงานหลัก อยากแสดงความเห็นเกี่ยวกับการพร่องน้ำของเขื่อนต่างๆ ไม่ใช่คำอธิบายเชิงวิชาการ เป็นเพียงความเข้าใจที่มีโอกาสใกล้ชิดเรื่องนี้

  • น้ำในเขื่อนมาจากไหน

เขื่อนในประเทศเรานั้นยกเว้นเขื่อนเจ้าพระยา หรือเขื่อนที่กั้นแม่น้ำนั้น น้ำมาจากฟ้า คือน้ำฝน เขื่อนแบบนี้เราเรียก Dam ส่วนเขื่อนเจ้าพระยานั้นเป็นการก่อสร้างขวางทางแม่น้ำขนาดใหญ่ จึงไม่จำเป็นต้องคอยน้ำฝน แค่เอาบานประตูน้ำปิดลง วันเดียวน้ำก็เต็มหน้าเขื่อน เขื่อนแบบนี้เรียกว่า River-Pondage (หากสะกดผิดก็ขออภัยด้วย)

  • วัตถุประสงค์การสร้างเขื่อนเพื่ออะไร

หากเป็นเขื่อนของกรมชลประทานก็เน้นเรื่องหลักคือ เพื่อการเกษตร โดยสร้างระบบคลอง คูส่งน้ำขึ้นมาเชื่อมต่อกับประตูระบายน้ำปกติจะทำสองบานซ้ายขวา กระจายไปตามพื้นที่การเกษตรโดยอาศัยแรงโน้มถ่วงโลก หรือระดับสูงต่ำของพื้นที่เป็นตัวนำน้ำไป และพยายามกระจายออกไปให้มากที่สุดตามกำลังความสามารถของปริมาณน้ำที่เก็บกักได้ในเขื่อนและสภาพพื้นที่

การเกษตรในที่นี้หมายถึงน้ำเสริมการทำนาข้าวในฤดูฝนสำหรับปีที่ฝนน้อย หรือฝนทิ้งช่วง แต่หลักๆคือน้ำเพื่อการเกษตรในฤดูแล้ง หรือหลังนาปี ไม่ว่าเกษตรกรจะใช้น้ำเพื่อปลูกข้าวนาปรัง ปลูกพืชเศรษฐกิจอื่นๆ หรือแม่แต่เลี้ยงปลา กรมชลประทานก็สามารถจัดการน้ำให้ได้

อีกวัตถุประสงค์หนึ่งคือเพื่อชะลอการไหลบ่าของน้ำหลากที่จะทำให้เกิดน้ำท่วมพื้นที่ใต้เขื่อนได้ แต่ก็มีข้อจำกัดแค่ปริมาณความสามารถในการเก็บกักเท่านั้น หากปริมาณฯฝนมากเกินกว่าเก็บกัก ก็ไม่สามารถช่วยอะไรได้ วัตถุประสงค์ข้อนี้มักกล่าวอ้างประโยชน์ของเขื่อน แต่ผู้อธิบายไม่ได้อธิบายทั้งหมดว่ามีข้อจำกัดนะ.. หากเกินระดับเก็บกักแล้ว มีเขื่อนก็เหมือนไม่มีเขื่อนเพราะเก็บกักไม่ได้แล้ว ต้องปล่อยไปตามธรรมชาติ

เขื่อนของกรมชลประทานแบบนี้จะสร้างทั้งขนาดเล็ก กลาง และ ใหญ่ ซึ่งมีความจุมากที่สุดก็นับหลายพันลูกบาศก์เมตร โดยมีหน่วยวัดที่ระดับเก็บกักจากระดับน้ำทะเลปานกลาง

ส่วนเขื่อนของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต หรือ กฟผ นั้นสร้างขึ้นเพื่อใช้ประโยชน์พลังน้ำในการสร้างกระแสไฟฟ้าเอาไปใช้เป็นหลัก มิได้มีวัตถุประสงค์เพื่อการเกษตร นอกจากจะดัดแปลงเล็กน้อยเพื่อการเกษตรได้บ้าง

  • การเก็บกักน้ำของเขื่อน

เขื่อนที่สร้างขึ้นมานั้นมีการศึกษาความเหมาะสม อย่างรอบด้านแล้ว จึงตัดสินใจก่อสร้าง โดยกำหนดระดับเก็บกักน้ำฝนที่คาดว่าจะก่อเกิดประโยชน์สูงสุดต่อสภาพพื้นที่และในแง่มุมต่างๆ ตัวเลขเก็บกักนั้นใช้มาตรฐานสากลระบุ คือปริมาตรลูกบาศก์เมตรที่ระดับน้ำทะเลปานกลาง คนในวงการก็จะพูดสั้นๆว่า เขื่อนนี้มีปริมาตรความจุเท่ากับ …. ที่ระดับเก็บกักฯ นายช่างชลประทานที่รับผิดชอบจึงต้องศึกษาสถิติน้ำฝนในรายละเอียดย้อนหลังไปมากที่สุดเพื่อศึกษาค่าเฉลี่ยและ Trend ในแต่ละช่วงปี โดยมีข้อมูลการพยากรณ์อากาศของกรมอุตุนิยมวิทยาเป็นข้อมูลหลัก

  • จัดการน้ำในเขื่อน

วัตถุประสงค์เขื่อนแตกต่างกัน การจัดการน้ำจึงไม่เหมือนกันในรายละเอียด แต่หลักการใหญ่ๆคือ ปริมาณน้ำที่เก็บกักได้ก็จะบริหารปล่อยออกไปตามแผนงานที่กำหนดไว้ล่วงหน้าแล้ว และปรับปรุงไปตามสภาวการณ์ทุกช่วงระยะที่กำหนด เช่นทุกสัปดาห์ เป็นต้น หากเป็นเขื่อนเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าก็จะต้องพิจารณาปริมาณกระแสไฟฟ้าที่ต้องการผลิตซึ่งจะบ่งชี้ปริมาณน้ำที่ต้องใช้สร้างกระแสไฟฟ้า คือปริมาณน้ำที่ต้องปล่อย

เช่นเดียวกันน้ำเพื่อการชลประทานก็ต้องปล่อยน้ำลงคลองส่งน้ำตามแผนงานของฝ่ายส่งเสริมการผลิตว่ามีพื้นที่ที่ทำการเกษตรเท่าไหร่ ปลูกอะไร ช่วงเวลานั้นอยู่ระยะไหนของการเพาะปลูก ซึ่งต้องการน้ำที่แตกต่างกัน เจ้าหน้าที่ชลประทานแต่ละตอนส่งน้ำจะต้องเตรียมประชุมกับเกษตรกรในพื้นที่ของตนตั้งแต่ต้นฤดูการผลิตเพื่อสำรวจจำนวนครัวเรือนที่ประสงค์จะทำการผลิตในช่วงฤดูแล้งนี้มีจำนวนกี่ครัวเรือน รวมพื้นที่กี่ไร่ แปลงที่ทำการผลิตอยู่ตรงไหน ตั้งใจจะปลูกพืชอะไร แยกชนิด ประเภท จัดทำระบบข้อมูลอย่างละเอียดจึงมาวางแผนปล่อยน้ำว่าจะเริ่มปล่อยน้ำให้เกษตรกรได้เมื่อใดวันที่เท่าใด โดยคำนึงถึงการประหยัดน้ำ เพราะน้ำทุกหยดมีต้นทุน

  • การพร่องน้ำ

โดยสภาพปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมาในแต่ละปีนั้นจะมีปริมาณมากเกินการเก็บกักของเขื่อน และมีความไม่แน่นอนว่าแต่ละปีจะตกกี่ครั้ง กี่วัน ที่เรียกว่าการกระจายตัวของฝน แต่ละครั้งนั้นมีปริมาณน้ำที่จะเข้าเขื่อนจำนวนเท่าใด ข้อมูลเหล่านี้วิศวกรแหล่งน้ำที่ควบคุมการบริหารจัดการน้ำเขื่อนจะต้องศึกษาข้อมูลต่างๆที่เกี่ยวข้องอย่างละเอียด และฝนตกแต่ละครั้งต้องรีบตรวจสอบว่ามีปริมาณเท่าใดที่เข้ามาในเขื่อน และศึกษาข้อมูลคาดการณ์ข้างหน้าว่าจะมีฝนตกอีกกี่ครั้ง น้ำที่จะเข้าเขื่อนจำนวนเท่าใด

โดยปกติ วิศวกรแห่งน้ำที่ควบคุมและบริหารน้ำเข้าและออกจากเขื่อนจะเปิดบานประตูเขื่อนให้น้ำในเขื่อนไหลออกไปจำนวนหนึ่ง เพื่อให้เขื่อนมีปริมาตรเก็บกักน้ำมากเพียงพอที่จะรับน้ำฝนใหม่ที่จะตกลงมา การเปิดบานประตูและปล่อยน้ำออกจากเขื่อนนี้เราเรียก “การพร่องน้ำเขื่อน”

หากข้อมูลชัดเจน และการคาดการณ์จากการพยากรณ์แม่นยำ แน่ชัด หรือมีความเชื่อมั่นสูง การพร่องน้ำในปริมาณที่เหมาะสมก็จะพอดีกับปริมาณน้ำที่จะเติมเข้ามาใหม่จากฝนที่ตกลงมา หากบริหารได้เช่นนี้ ก็จะไม่ส่งผลเสียหายแต่อย่างใด และหากในแต่ละปีปริมาณฝนที่ตก และการกระจายตัวของฝนอาจจะคลาดเคลื่อนไปบ้าง การบริหารจัดการก็ไม่น่าจะมีปัญหาอย่างใด

แต่ในกรณีที่ปีใดที่มีฝนตกมาก เช่นปีนี้ที่มีพายุเข้ามาถึง 5 ครั้ง แต่ละครั้งปลดปล่อยน้ำออกมามากมายลงสู่หน้าเขื่อน จนเกินระดับเก็บกัก ก็จำเป็นที่จะต้องระบายน้ำออกมากกว่าทุกปี เพื่อรักษาความปลอดภัยของตัวเขื่อนให้มีความมั่นคงในการเก็บกัก ตรงนี้เองที่ปริมาณน้ำที่พร่องออกมามากเกินกว่าปกติย่อมส่งผลต่อพื้นที่ด้านล่างของตัวเขื่อน คือ น้ำท่วม และก่อให้เกิดความเสียหายต่างๆ

  • พร่องน้ำเขื่อนอย่างไรจึงจะปลอดภัย

คำถามนี้ วิศวกรแหล่งน้ำผู้ควบคุมย่อมอธิบายได้ แต่ในมุมมองของผมนั้นคิดว่าในกรณีปกตินั้นไม่มีปัญหาอย่างใด แต่ในปีที่มีฝนตกมาก เช่น ปีนี้ ยากที่จะบริหารจัดการน้ำ เพราะการพร่องน้ำมากมันรุนแรงกว่าฝนตกมาก เพราะฝนตกมากนั้นมันตกกระจายตัวในพื้นที่กว้าง แต่การพร่องน้ำในปริมาณที่มากออกมานั้น มันมากเกินกว่าที่ลำน้ำหน้าเขื่อนจะรับได้ เพราะเป็นปริมาณที่มากผิดปกติ หากไม่พร่องก็อาจก่อปัญหาความมั่นคงของตัวเขื่อน ปล่อยมามากก็ทำให้เกิดการท่วมอย่างรวดเร็ว และส่งผลเสียหายมากกว่า โดยเฉพาะพื้นที่สองข้างริมฝั่งลำน้ำที่เป็นทางไหลออกขากน้ำจากเขื่อน

อาจจะพร่องน้ำบ่อยครั้งในปริมาณที่ไม่กระทบต่อการท่วมย่อมได้ แต่ก็เสี่ยงต่อน้ำฝนที่จะเติมลงมาใหม่ว่าจะมีมากเพียงพอให้เก็บกักตามแผนงานหรือไม่ แม้จะใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ สถิติ การพยากรณ์ที่แม่นยำ แต่ไม่มีหลักประกันในความเชื่อมั่นสูงแต่อย่างใด การบริหารงานเก็บกักน้ำจึงเป็นการบริหารงานความเสี่ยงแบบหนึ่ง

ยิ่งหากมีการเมืองเข้ามาแทรก หรือมีอำนาจที่เหนือกว่ามาสั่งการให้บริหารจัดการตามประสงค์ของผู้สั่งการ โดยไม่ได้อยู่บนฐานข้อมูลและความเหมาะสมแล้ว ความผิดพลาดในการบริหารงานย่อมเกิดขึ้นได้เสมอ

  • ประโยชน์ของเขื่อน

ทัศนะส่วนตัวเห็นว่าเขื่อนมีประโยชน์โดยเฉพาะเพื่อการเกษตร เป็นความฉลาดของมนุษย์ที่ดัดแปลงธรรมชาติมาเพื่อความมั่นคงด้านอาหาร แต่ขนาดของเขื่อนนั้นอาจไม่จำเป็นต้องใหญ่มากเพราะส่วนที่ทำให้เกิดผลเสียก็ย่อมมี เช่นไปกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สภาพธรรมชาติต่างๆ สองด้านนี้ต้องศึกษาและประเมินแบบมีส่วนร่วมอย่างละเอียดว่าความเหมาะสมอยู่ที่ตรงไหน


ศูนย์ผู้ประสบภัยน้ำท่วม

682 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 10 พฤศจิกายน 2011 เวลา 16:35 ในหมวดหมู่ การบริหารจัดการประเทศ, งานพัฒนาสังคม, ทุนสังคม #
อ่าน: 5130

นั่งดู ไทยพีบีเอส หลายวันรู้สึกชอบใจรายการ “ชุมชนคนสู่น้ำ” ที่ตระเวนไปหลายแห่งเอาการจัดการศูนย์ประสบภัยออกมาเผยแพร่ว่าที่นั่นที่นี่จัดการอย่างไร มีปัญหาอะไรบ้าง การช่วยเหลือของรัฐเป็นอย่างไร และที่เน้นมากคือการบริหารจัดการอย่างไร โดยมีหมอโกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ เป็นวิทยากรคอยเสริม คอยสรุปออกมาเป็นหลักการ แนวคิด ฯลฯ

ไทย พีบีเอส คัดเลือกศูนย์ฯที่ประสบผลสำเร็จในการบริหารจัดการและเอามาเผยแพร่นับว่ามีประโยชน์กับศูนย์ผู้ประสบภัยอื่นๆเอาไปดัดแปลง ปรับใช้ และมีแง่มุมที่น่าคิดมากมาย ของชื่นชม ไทย พีบีเอส โดยเฉพาะน้องหมอโกมาตร ที่ไม่ได้พบกันมานานนับสิบๆปี


(ภาพจากอินเตอเนท)

ขออนุญาตกล่าวถึงน้องหมอโกมาตร ผมคิดว่าเป็นหมอที่เดินออกมาจากอิทธิพลการเคลื่อนไหว 14 ตุลา ที่มีหมอหลายท่านออกสู่ชนบททั้งที่เปิดเผยตัวตน เช่น หมอสงวน นิตยารัมพงศ์ ที่ท่านเสียชีวิตไปแล้ว หมอแหยง หรือสำเริง แหยงกะโทกแห่งโคราช หมอโกมาตร และอีกหลายต่อหลายท่าน บุคคลเหล่านี้เคยร่วมงานกันมาสมัยโน้น แล้วต่างแยกย้ายไปกันตามเส้นทาง ท่านเหล่านี้เป็นแบบอย่างหมอรุ่นใหม่หลายท่านตามมา

หมอโกมาตรเป็นหมอคนแรกๆที่ก้าวออกมาสนับสนุนแพทย์แผนไทย สมุนไพร และกระบวนการเยียวยาตามภูมิความรู้โบราณของท้องถิ่น อาจจะเรียกการแพทย์ทางเลือกก็ได้ ท่านศรัทธาชุมชน และภูมิปัญญาชุมชนที่ท่านเอาไปผสมผสานความรู้ทางการแพทย์สมัยใหม่ จนท่านได้มีโอกาสไปเรียนต่อต่างประเทศทางด้านมานุษยวิทยา(ถ้าจำไม่ผิด) ซึ่งหายากมากที่แพทย์ไปเรียนต่อทางด้านนี้ ส่วนใหญ่ก็เรียนทางผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน…

ผมขอกล่าวถึงศูนย์ประสบภัยที่ออกรายการวันนี้ คือศูนย์บ้านม้า เขตประเวศ กทม.นี่แหละ เป็นชุมชนอิสลาม อยากสรุปสั้นๆว่า


(ภาพจากอินเตอเนท)

  • แรกเข้า

หมอโกมาตรเรียกว่าการจัดการพื้นที่ มีการประมวลผลผู้เข้ามาอยู่ในศูนย์ผู้ประสบภัยนี้อย่างไรบ้าง ลงทะเบียนให้หมดที่เราเรียกว่าทำฐานข้อมูล จากฐานข้อมูลก็มาคัดกรองเป็นกลุ่ม ตามความเหมาะสม เช่น กลุ่มผู้ป่วยควรจะอยู่ในพื้นที่ที่ง่ายต่อการเคลื่อนย้าย กลุ่มผู้สูงอายุควรจะอยู่ใกล้ห้องน้ำและไม่อยู่ในชั้นสูงๆของอาคาร กลุ่มสตรี กลุ่มที่มีครอบครัว ฯลฯ


(ภาพจากอินเตอเนท)

  • ปฐมนิเทศ

มีการปฐมนิเทศผู้ที่เข้ามาพักพิงในศูนย์ เพื่อให้เข้าใจระเบียบ ข้อตกลงที่จัดทำกันขึ้นมาเองโดยผู้อพยพนี้ ข้อแนะนำการพักพิง การปฏิบัติตัวในการอยู่ร่วมกันซึ่งจะไม่มีความเป็นส่วนตัวเหมือนบ้านของตัวเอง การทำความเข้าใจเบื้องต้นนี้เป็นความสำคัญในการที่ชุมชนชั่วคราวควรพูดจากันให้รู้เรื่อง เข้าใจ เช่นห้องตากเสื้อผ้ารวม ห้องแต่งตัวสตรี ห้องเก็บของส่วนกลาง ห้องนอน พื้นที่ทิ้งขยะ ฯลฯ หากไม่ทำความเข้าใจกันคงมั่วน่าดู

  • การบริหารจัดการศูนย์ฯ

ดูเป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องการผู้รับผิดชอบในเรื่องต่างๆที่จะต้องทำร่วมกัน ผู้บริหารศูนย์จึงระดมคนในศูนย์นั่นแหละมาช่วยกันรับผิดชอบใครมีความสามารถอะไร ถนัดอะไรก็มาช่วยกัน แบ่งความรับผิดชอบกัน เช่น ฝ่ายลงทะเบียน ฝ่ายรับและบริหารจัดการของบริจาค ฝ่ายรักษาความสงบ ฝ่ายทำอาหาร ฝ่ายสุขอนามัย ฝ่ายเก็บขยะ ฝ่ายน้ำดื่มน้ำใช้ สารพัดฝ่ายที่จำเป็น ที่สมควรจัดทำขึ้น

  • การบริหารจัดการเฉพาะเรื่องเฉพาะฝ่าย

ตรงนี้สำคัญมาก กรณีที่น่าสนใจคือ ผู้บริจาคไม่ทราบว่าผู้รับบริจาคต้องการอะไร ขาดแคลนอะไร แต่ละคนแต่ละครอบครัวไม่เหมือนกัน แต่ละเพศไม่เหมือนกัน แต่ถุงยังชีพนั้นจัดสิ่งของเหมือนกันหมด ของบริจาคหลายอย่างไม่ได้ใช้ สิ่งที่ต้องการไม่ได้รับการบริจาค ฯลฯ และผู้บริจาคไม่ได้เข้าระบบการจัดการ เห็นผู้ประสบภัยก็ให้อย่างเดียว เรียกว่าเจตนาดีแต่ไม่ตรงกับความต้องการ ศูนย์แห่งนี้มีกระบวนการคือของบริจาคทั้งหมดมากองรวมกันเป็นส่วนกลาง แล้วแยกแยะออกเป็นกลุ่ม แล้วจัดสรรให้ตรงตามต้องการแก่ผู้พักอาศัย เท่าที่จำเป็นก่อน ส่วนเหลือยังอยู่เป็นส่วนกลาง ใครหมดก็มาเบิกไปใหม่ และเบิกได้เฉพาะเวลาเท่านั้น โดยมีการลงทะเบียนหรือจัดทำระบบข้อมูลขึ้นมาเพื่อควบคุมให้เกิดความเรียบร้อย ทั่วถึง ขาดแคลนอะไรก็สามารถร้องขอโดยตรงต่อผู้บริจาคได้.ยังมีรายละเอียดอีกมาก..

กรณีบ้านม้าที่เป็นชุมชนมุสลิมนั้นพบว่าสิ่งของบริจาคบางอย่างเป็นสิ่งต้องห้ามทางศาสนา เช่น เนื้อหมูบริจาค ก็สามารถส่งคืนผู้บริจาคหรือส่งต่อไปให้ศูนย์อพยพอื่นๆได้

  • อย่าให้เวลาล่วงเลยไปอย่างไร้ประโยชน์

ทางศูนย์ทราบดีว่าการมาร่วมกันนั้นคืออพยพหนีภัยน้ำท่วมบุคคลที่มีหน้าที่ก็ออกไปทำหน้าที่ ยังมีส่วนที่เหลืออยู่ในศูนย์ เช่นเด็กและผู้สูงอายุ อย่าปล่อยให้วันเวลาผ่านไป ศูนย์สามารถจัดการเพิ่มพูนความรู้ต่างๆให้แก่กลุ่มคนเหล่านี้ได้ตามความเหมาะสม ซึ่งอาจจะสำรวจความต้องการก่อน หรือจากการสังเกตเห็นของผู้บริหารงานศูนย์ เช่นกลุ่มเด็กๆ ก็อาจจัดกิจกรรมที่เหมาะสมสำหรับเด็กที่สร้างสรรค์ โดยการหาผู้ที่มีความสามารถภายในศูนย์เอง หากไม่มีก็แสวงหาจากภายนอกได้ ผู้สูงอายุก็สามารถจัดกิจกรรมที่เหมาะสมได้เช่นเดียวกัน

มีรายละเอียดอีกมากที่น่าสนใจ ท่านที่ได้ติดตามรายการนี้คงทราบดี ผมประทับใจบทเรียนที่คณะวิทยากรสรุปและหมอโกมาตรสรุปคือ

  • การจัดตั้งเดิมของชุมชน: ชุมชนมุสลิมมีองค์กรเฉพาะของเขาอยู่เดิมแล้วซึ่งมิใช่โครงสร้างของการปกครองของรัฐบาล การจัดตั้งเดิมนี้คือฐานสำคัญที่มาหนุนเนื่องให้เกิดการแก้ไขปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพ
  • ระบบเครือข่าย: นอกจากการจัดตั้งดั้งเดิมของชุมชน ยังมีเครือข่ายมุสลิมมรชุมชนอื่นๆทั้งใกล้เคียงและห่างไกล เมื่อเพื่อนประสบภัยต่างก็หนุนช่วยกันเต็มที่ เป็นพลังกลุ่ม และเครือข่ายที่เห็นประโยชน์ชัดเจน
  • ชุมชนที่มีฐานศาสนาร่วมกันและเคร่งครัดเช่นมุสลิมนี้ ต่างใช้วิกฤตินี้เรียนรู้สัจธรรมของคำสอนและธรรมชาติ: เช่นมีการสรุปจากวิกฤตินี้ว่า แก่นแท้ของชีวิตคืออะไร ยามปกติเราก็ประมาท เมื่อประสบภัยเราก็ตระหนักถึงพื้นฐานง่ายๆของชีวิตที่จำเป็นและต้องการ ส่วนเกินของชีวิตมีมากมาย
  • หมอโกมาตรกล่าวว่า บางศูนย์ขนาดใหญ่เอาดนตรีวงใหญ่ๆมาขับกล่อม เพียงเจตนาช่วยด้านบันเทิงมิให้จมในกองทุกข์ แต่อีกมุมหนึ่งเป็น”ทัศนะกลบเกลื่อน” ความเป็นจริง ตรงข้ามควรที่จะเอาความจริงนั้นมาสรุปบทเรียนชีวิตต่างหาก มิได้ปฏิเสธกิจกรรมบันเทิง แต่ความเหมาะสมอยู่ตรงไหน อย่างไร เป็นรายละเอียดที่ต้องใส่ใจมากกว่าเพียงเจตนาดี
  • ท่านผู้นำศาสนาท่านหนึ่งสรุปว่า “ศีลธรรม จริยธรรม ไม่มีใครเป็นเจ้าของ” ทุกคนสามารถมีได้ สร้างขึ้นมาได้ รักษามันได้ และมันเป็นแก่นแกนของดารดำรงชีวิตร่วมกัน

    ผมเรียนรู้จากรายการนี้มากทีเดียว และเชื่อว่าศูนย์อพยพอื่นๆก็มีการบริหารจัดการ ซึ่งอาจจะแตกต่างไปตามความเหมาะสม และท้ายที่สุดท่านนักบวชมุสลิมพบว่า ยามนี้ต้องใช้ปลัก 3 ป. คือ ป เปิด คือเปิดใจรับสิ่งที่มันเกิดขึ้น ฯลฯ ป ปรับ คือ ต้องปรับชีวิตให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เผชิญอยู่ให้ได้ และ ป เปลี่ยน คือการที่ไม่เคยเปิดก็ต้องเปิด และที่ไม่เคยปรับก็ต้องปรับ

    ขอบคุณหมอโกมาตร นักบวชและผู้นำอิสลามบ้านม้า และรายการชุมชนคนสู้น้ำ แห่ง ไทยพีบีเอสครับ


บางส่วนของปัญหาการจัดการน้ำในภาพรวม

458 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 9 พฤศจิกายน 2011 เวลา 11:31 ในหมวดหมู่ การบริหารจัดการประเทศ, งานพัฒนาสังคม #
อ่าน: 9650

ในช่วงเดือน สิงหาคมถึงเดือนตุลาคม รวมสามเดือนที่ผมได้เข้าไปลุยพื้นที่คลองต่างๆของปทุมธานีเพื่อเก็บข้อมูลชุมชน ความคิดเห็นของผู้นำชุมชนและประชาชนในงานก่อสร้างโรงงานผลิตยาแห่งที่สองขององค์การเภสัชกรรมที่คลอง 10 ซึ่งเป็นพื้นที่ อำเภอธัญบุรี นอกจากนี้ในรัศมี 5 กม.จากที่ตั้งโครงการ ยังต้องไปเก็บข้อมูลต่างๆเช่นเดียวกัน นั่นหมายถึงครอบคลุมพื้นที่ของ อำเภอหนองเสือ ซึ่งอยู่ด้านเหนือของอำเภอธัญบุรีและติดต่อกับอำเภอวังน้อยของจังหวัดอยุธยา และเก็บข้อมูลทางด้านใต้ของ ธัญบุรีคืออำเภอลำลูกกา


ผมไม่เคยมาพื้นที่แถบนี้มาก่อนแรกๆจึงงงกับสภาพพื้นที่ ที่เป็นคลองจากทิศเหนือ-ใต้ และคลองขวางทางตะวันออกตะวันตก ตลอดสามเดือนนั้นผมได้พบข้าราชการตั้งแต่ระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล ผู้นำชาวบ้านรวมถึงตัวเกษตรกรเอง และ เจ้าหน้าที่บริหาร อปท. จึงมีความเข้าใจพื้นที่นี้มากขึ้น ซึ่งเกี่ยวข้องกับน้ำท่วมครั้งนี้ด้วย

  • สองวัตถุประสงค์หลักของระบบคลองน้ำ

พื้นที่ของจังหวัดประทุมธานีส่วนนี้ถูกพัฒนามาตั้งแต่รัชการที่ 5 เท่าที่รับฟังมานั้นพระองค์ทรงมีประสงค์จะสร้างทางระบายน้ำจากทิศเหนือกรุงเทพฯไปลงทะเลโดยให้ผ่านพื้นที่เหล่านี้ เป็นระบบป้องกันน้ำท่วมกรุงเทพฯ ในขณะเดียวกันก็สามารถพัฒนาพื้นที่เป็นเขตเกษตรกรรมก้าวหน้า เพราะสามารถจัดการน้ำเข้ามาหล่อเลี้ยงได้ตลอดปี

เจ้าของพื้นที่ดั้งเดิมตรงนี้นั้นเป็นพื้นที่ของพระมหากษัตริย์ ที่ทรงพระราชทานให้แก่พระบรมวงศานุวงศ์ทั้งหลาย เมื่อพัฒนาระบบคลองส่งน้ำจึงมีชื่อคลองที่เป็นชื่อ “เจ้านาย” อยู่หลายแห่ง และในระยะเวลาต่อมาที่ดินเปลี่ยนมือไปสู่ประชาชนที่เป็นผู้มีเงินทอง….

แต่ผมสอบถามผู้นำชุมชนและเกษตรกรพบว่าร้อยละ 70-90 ของพื้นที่เหล่านี้เป็นพื้นที่เช่า..เกษตรกรเช่าในอัตราที่แตกต่างกันไปตามลักษณะของพื้นที่..

  • การเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดิน

เป็นที่ทราบดีว่าอาชีพหลักของประชาชนไทยเรานั้นคือการทำการเกษตร ทำนา ทำสวน กรุงเทพฯในสมัยรัชการที่ 5 นั้นเหมือนกรุงเวียงจันทร์ปัจจุบันที่กลางกรุงยังมีการทำนากันอยู่ พื้นที่ปทุมธานีเขตนี้ก็ทำการเกษตรทั้งหมด

เมื่อน้ำดีการพัฒนาการเกษตรก็ก้าวหน้า จนเกิดนวัตกรรมพันธุ์ข้าวหลายสายพันธุ์เกิดขึ้นที่นี่ ที่มีชื่อเสียงคือพันธุ์ข้าว “เหลืองปทุม” และอื่นๆเพราะมีสถานีข้าวของกรมการข้าวที่นี่ น้ำดี การพัฒนาเทคโนโลยี่การผลิตการเกษตรดี จึงเป็นเขตเกษตรก้าวหน้า และอยู่ใกล้กรุงเทพฯ จึงเป็นแหล่งผลิตที่สำคัญเพื่อการบริโภคของคนเมืองกรุง และการส่งออกต่างประเทศ

เมืองพัฒนาไปมากเท่าใด ก็ขยายตัวออกไปรอบๆกรุงเทพฯมากขึ้น ที่ดินในกรุงเทพฯแพงขึ้น อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ขนาดย่อมและขนาดเล็กก็ขยายตัวไปรอบๆกรุงเทพฯรวมทั้งพื้นที่ตรงนี้ด้วย โดยเฉพาะรอบๆถนนสายหลักและตามต้นลำคลองทั้งหลาย จนมีการพบมลพิษและปัญหาต่างๆมากขึ้นจึงมีการกำหนดให้พื้นที่ปทุมธานีส่วนนี้เป็นพื้นที่สีเขียว ไม่อนุญาตให้ทำโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ขนาดกลาง แต่มีขนาดย่อมและขนาดเล็กมากมายนับร้อยนับพันแห่ง


อุตสาหกรรมขยาย และที่ดินกรุงเทพฯแพงมาก และเป็นพื้นที่ใกล้กรุงเทพฯ การคมนาคมสะดวก จึงเกิด “บูม” ในเรื่องที่พักอาศัย ทั้งเป็นที่พักของแรงงานในโรงงานอุตสาหกรรมแถบนั้น และบ้านพักข้าราชการที่ขยายไปอยู่ การลงทุนหมู่บ้านจัดสรรนั้นเติบโตเกินไป และพบปัญหาระบบน้ำประปาไม่มี อาศัยน้ำใต้ดินที่คุณภาพน้ำไม่เหมาะที่ใช้ดื่ม แม้เป็นน้ำใช้ก็มีปัญหา จึงเกิดล่มสลายของหมู่บ้านจัดสรรมากมายอย่างน่าเสียดายยิ่งนัก บางแห่งทั้งโครงการมีผู้อยู่อาศัยไม่ถึงสิบหลัง นอกนั้นปล่อยร้างต้นไม้ขึ้นเป็นป่า หรือซื้อแล้วทิ้ง ซื้อแล้วให้ธนาคารยึดมากมายเหลือคณานับนัก


ดังนั้นพื้นที่เกษตรเดิมถูกสภาพเมืองบุกรุกกลายเป็นบ้านจัดสรร โรงงานอุตสาหกรรม แม้แต่สนามกอล์ฟ ทำให้พื้นที่เกษตรกรรมลดลง พื้นที่เหล่านั้นถูกถมเพื่อก่อสร้าง ทำให้พื้นที่รองรับน้ำเดิมลดลงไป

  • การปรับเปลี่ยนระบบการเกษตร

การเกษตรดั้งเดิมคือการทำนาทำสวน เมื่อระบบคลองถูกพัฒนา น้ำดี ระบบประตูน้ำชลประทานเข้ามาจัดการน้ำ จึงเหมาะอย่างยิ่งต่อการพัฒนาการเกษตรเป็นแบบก้าวหน้า เมื่อเทคโนโลยี่การเกษตรพัฒนามากขึ้น การทำนาแถบนี้เป็นแบบก้าวหน้าทั้งสิ้น ไม่มีวัว ควาย มีแต่เครื่องจักรร้อยเปอร์เซ็นต์ พบว่าในสองปีทำนา 5 ครั้ง พบว่าเมื่อเก็บเกี่ยวเสร็จก็เริ่มเพาะปลูกข้าวรุ่นใหม่ต่อไปเลยทันที เกิดระบบพืชสวนขนาดใหญ่ หลายแห่งเปลี่ยนจากการทำนามาเป็นทำสวน ยกร่อง ปลูกพืชเศรษฐกิจอื่นๆ เช่น ส้ม ซึ่งส้มทั้งหมดล้มละลายไปเมื่อสิบปีที่แล้วเพราะโรคระบาดหนัก เกษตรกรหลายคนมีหนี้สินเป็นหลายล้านบาท ใช้หนี้ธนาคารมาจนถึงปัจจุบัน ทำสวนฝรั่ง มะนาว ฟัก แฟง บวบ ฯลฯ การปลูกพืชเศรษฐกิจแบบนี้ไม่เหมือนภาคกลางส่วนอื่นหรือภาคเหนือภาคอีสานที่ปลูกอย่างมากก็ไม่เกินสองไร่ แต่พื้นที่แถบนี้อย่างต่ำ สิบไร่ขึ้นไป

น้ำท่วมครั้งนี้ยังมีสื่อสารมวลชนไปสอบถามชาวบ้านคลอง 9 ว่ากำลังงมฟักที่เตรียมเก็บขายนับ 10 ตันมาจากใต้น้ำ..?

การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการผลิตการเกษตรนั้นเป็นไปอย่างอิสระ ใครใคร่ปลูกอะไรปลูก..จึงไปกระทบวัตถุประสงค์ของระบบชลประทานพื้นที่นี้ที่เพื่อการเกษตรและเพื่อระบายน้ำออกทะเลยามที่น้ำหลากมากเกินไปและจะเข้าท่วมกรุงเทพฯ


ช่วงปลายเดือนสิงหาคมเรื่อยมาจนถึงต้นเดือนตุลาคมนั้นเป็นช่วงเก็บเกี่ยวข้าวของภาคกลาง ที่แต่ละเจ้า แต่ละรายไม่ได้ปลูกข้าวพันธุ์เดียวกัน เวลาเดียวกัน ข้าวจึงสุกพอจะเก็บเกี่ยวได้ไม่พร้อมกัน เมื่อเจ้าหน้าที่ชลประทานได้รับคำสั่งให้พร่องน้ำในคลองและเปิดรับน้ำเข้าคลองมากขึ้นจึงไปกระทบช่วงการเก็บเกี่ยวข้าวของเกษตรกร ปัญหาก็เกิดขึ้น…เอาหละซี..น้ำก็มากขึ้น คำสั่งกรมชลประทานก็สั่งให้นายช่างเปิดประตูรับน้ำเข้าคลอง เกษ๖รกรที่ยังไม่ได้เก็บเกี่ยวก็ไปร้อง อบต เกษตรอำเภอ นายอำเภอ สส. ใครใกล้ชิดใครก็ไปที่นั่น โดยเฉพาะนักการเมืองท้องถิ่นและระดับชาติในพื้นที่นั้นๆก็ย่อมรักษาฐานเสียง หรือหาเสียงนี่คือโอกาสการสร้างความเชื่อถือในอำนาจ ต่างก็วิ่งสุดฤทธิเพื่อระงับการรับน้ำเข้าคลองเพื่อให้เกษตรเก็บเกี่ยวให้เสร็จก่อน

ดังกล่าวว่า พันธุ์ข้าวไม่เหมือนกัน ปลูกไม่พร้อมกัน กำหนดสุดท้ายของการเก็บเกี่ยวจึงไม่สามารถกำหนดได้ คนนี้เกี่ยวเสร็จ คนนั้นยังไม่เสร็จ และปัจจัยอื่นๆ เช่น ไม่มีแรงงาน ใช้เครื่องจักรก็ไม่สามารถลงไปในท้องนาได้เพราะน้ำสูงไป อุปสรรคจึงซับซ้อนมากขึ้นหลายเท่าตัวนัก

การเมืองย่อมเหนือกว่าหลักการ การเปิดรับน้ำเข้าคลองเพื่อเร่งช่วยระบายน้ำลงทะเลตั้งแต่ต้นมือจึงล่าไปกว่าที่ควรจะทำ….?????

แล้ววิกฤติก็มาเผชิญอย่างใหญ่หลวง..ดังที่เราเห็น


  • การเคร่งครัดต่อความรับผิดชอบในหน้าที่

สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นมันเหมือนห่วงโซ่ของเหตุปัจจัย มันมิใช่เพียงสิ่งใดสิ่งหนึ่ง แต่มาจากหลายปัจจัย การแก้ปัญหาจึงเป็นเรื่องใหญ่เพราะสังคมเราซับซ้อนมากขึ้น มากขึ้น เหมือนที่ผมมีความเห็นต่อระบบจราจรในกรุงเทพฯกับต่างจังหวัด ว่า กฎจราจรอันเดียวกัน ต่างจังหวัดจะย่อหย่อนไปก็ไม่ค่อยกระทบปัญหามากนัก แต่ในกรุงเทพฯที่มีรถมาก ถนนแคบ เวลามีจำกัด ยิ่งต้องเคร่งครัดกฎระเบียบมาก หากใครละเมิดจะส่งผลกระทบมากมาย

การจัดการน้ำก็ทำนองเดียวกัน เมื่อปีไหนน้ำน้อย หรือไม่มากจนท่วม การจัดการก็ยืดหยุ่นได้ ไม่กระทบอะไรมากนัก หากปีไหนน้ำมากมาย หากการจัดการน้ำไม่เคร่งครัดต่อหลักการจัดการน้ำย่อมส่งผลกระทบมากมายเพราะปริมาณน้ำจำนวนมากมายนั้นไม่สามารถผลักให้รีบไหลลงทะเลได้ ก็เอ่อท่วม

นานๆ หรือหลายปีน้ำจะมากมายสักที แม้เจ้าหน้าที่ชลประทานเอง เจ้าหน้าที่ อบต. เทศบาล และเจ้าหน้าที่รัฐส่วนที่รับผิดชอบต่างก็ละเลยการสำรวจตรวจตราระบบคลองให้มีความพร้อมในการระบายน้ำได้เต็มศักยภาพ ปล่อยให้มีการบุกรุก ปล่อยให้มีวัชพืชขึ้นเต็มคลอง ปล่อยให้คูคลองตื้นเขินตามกาลเวลา บานประตูเสียหายไม่ได้แก้ไข..ฯลฯ ล้วนมีผลต่อระบบระบายน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ

นี่คือความเห็นส่วนตัวที่เป็นเหตุ ปัจจัยส่วนหนึ่งในประสบการณ์ของผม ยังมีเหตุ ปัจจัยอีกมากมายนักที่เป็นองค์ประกอบของการเกิดเหตุน้ำท่วมครั้งนี้

มองไปข้างหน้าแล้ว ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยในการแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำท่วม แต่มนุษย์ย่อมมีปัญญาในการแก้ไขปัญหา หากสามัคคีกัน ร่วมมือกัน…

แต่เอ จะมีวันนั้นไหมหนอ.. เพราะมัวแต่ชี้นิ้วว่า เองน่ะผิด…??


กรณีความขัดแย้งเรื่องบานประตูน้ำชลประทาน..

411 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 7 พฤศจิกายน 2011 เวลา 15:18 ในหมวดหมู่ การบริหารจัดการประเทศ, งานพัฒนาสังคม #
อ่าน: 11740

กรณีความขัดแย้งบานประตูเปิดปิดน้ำชลประทานเพราะน้ำท่วม… หากมีใครถามผมว่า หากคุณเป็นผู้รับผิดชอบ คุณจะทำอย่างไร..? ผมอยากแสดงความคิดเห็นในฐานะคนทำงานพัฒนาคน… โดยมองจากประสบการณ์ แม้ว่าเงื่อนไข รายละเอียด สาระ และปัจจัยต่างๆไม่เหมือนกัน แต่พยายามนำเสนอเพื่อต่อยอดเท่านั้นเอง

  • ไม่มีสูตรสำเร็จในการแก้ปัญหา

เพราะชุมชนแตกต่างกัน มากมาย การแก้ปัญหาที่อีสานอาจจะสำเร็จ แต่กระบวนวิธีเดียวกันอาจจะใช้ไม่ได้เลยที่ปทุมธานี อาจใช้หลักการเดียวกันได้ แต่ผู้ดำเนินการต้องพลิกแพลงไปตามปัจจัยในระหว่างการดำเนินการ หรืออาจจะพบช่องทางที่นำไปสู่ความสำเร็จได้หากคิดวิเคราะห์ไปตลอดเวลาของการจัดทำกระบวนการ


(ขอบคุณภาพจาก อินเตอเนท)

  • ทำงานมวลชนแบบต่อเนื่อง

เป็นที่ยอมรับกันว่าการทำงานกับคนนั้น ต้องจริงใจเป็นเบื้องต้น มีความพยายามเข้าใจเขาผู้เดือดร้อน ถามว่าแสดงอย่างไร… ตอบว่า มันไม่ใช่พอน้ำท่วมแล้วมาแสดงด้วยคำพูดกันใหญ่ว่า เข้าใจ เห็นใจ จริงใจ แล้วก็หายหน้าไป เดี๋ยวก็โผล่มา เดี๋ยวก็หายไป ต้องมีความผูกพันกันมาก่อนหน้านี้แล้วนานพอสมควรที่ชุมชนนั้นๆจะรู้จักเราดี

นั้นหมายความว่าเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบบานประตูชลประทานต้องทำงานมวลชนมาก่อนหน้านี้ตลอดเวลามานานแล้ว

  • งานมวลชนคืองานอะไร..?

งานที่เจ้าหน้าที่ชลประทานจะต้องเข้าไปคลุกคลีกับชุมชน ตั้งแต่หัวหน้าชุมชนทุกระดับจนถึงชาวบ้านทุกครัวเรือน ทั้งในภาระงานที่รับผิดชอบนำความรู้ความเข้าใจไปอธิบายให้ชุมชนฟัง อธิบายอย่างหมดเปลือก ถึงภาระหน้าที่ บทบาท การบริหารน้ำ ปัญหา อุปสรรค ข้อจำกัด ผลดี ผลเสีย ประโยชน์ต่างๆ ชุมชนได้อะไร เสียอะไร ระบบน้ำทั้งหมดเป็นอย่างไร ฯลฯ อธิบายซ้ำซาก ใช้เครื่องมือต่างๆทางเทคนิควิทยาการมาช่วย เช่น ระบบ Simulation ทั้งนี้เพื่อให้ประชาชนที่อยู่รอบๆบานประตูน้ำและทั้งระบบน้ำ เข้าใจบทบาทหน้าที่ของบานประตูและความต่อเนื่องของระบบการจัดการในภาพใหญ่ ภาพรวม นี่คือเป้าหมายแรกของงานมวลชน

  • งานมวลชนต้องละรูปแบบทางการ

เจ้าหน้าที่ชลประทานต้องอุทิศเวลาส่วนตัว เวลางานออกไปเยี่ยมเยือน พูดคุยกับชาวบ้านอย่าง “ไม่เป็นทางการ” ไปแวะถามไถ่การทำนา ทำสวน หรือการทำอาชีพต่างๆของเขา ไปเยี่ยมเยือนผู้นำ ที่เราเรียกว่า Key informant เป็นระยะๆจนเกิดความสนิทสนม กิจกรรมแบบไม่เป็นทางการนี้แหละที่เป็นเงื่อนไขที่สำคัญสุดของงานมวลชน ก่อนที่จะนำไปสู่ความเข้าใจในสาระที่กล่าวมาข้างต้น ซึ่งงานแบบนี้เจ้าหน้าที่ชลประทาน หรือข้าราชการทั่วไปมักไม่ได้ให้ความสำคัญ ตรงข้ามมักเห็นว่าไม่ใช่หน้าที่ ไม่ได้กำหนดไว้ในบทบาทหน้าที่ และไม่ถนัดที่จะทำ เพราะส่วนใหญ่เป็นนายช่าง จะวางตัวในขอบเขตหนึ่ง ซึ่งถือเป็นจุดอ่อนของเจ้าหน้าที่ที่ทำงานเทคนิคกับมวลชน ผมเคยสอบถามว่าในวิทยาลัยชลประทานนั้นมีวิชาที่ว่าด้วยสังคมศาสตร์บ้างหรือเปล่า คำตอบคือไม่มี เน้นความเป็นเลิศทางช่างเท่านั้น นี่คือจุดอ่อนของบุคลากรเทคนิคของบ้านเรา

  • งานมวลชนต้องรับฟัง และทำซ้ำ

การใช้เวลาเพียงสามชั่วโมงไปอธิบายให้ประชาชนทั้งชุมชนเข้าใจระบบการทำงานของบานประตูกับระบบการจัดการน้ำทั้งระบบนั้น ไม่มีทางที่จะเข้าใจทั้งหมด ยิ่งใช้วิธีแบบทางการ ก็อย่าหวังว่าตามีที่มีอาชีพปลูกข้าวมาตลอด 60 ปีจะเข้าใจทั้งหมด ให้เวลาเขา รับฟังเขามากๆ ต้องทำแบบ two way communication ตลอดเวลา คือชุมชนสามารถสอบถามถึงความไม่เข้าใจ ต่างๆได้ ซึ่งมีเทคนิควิธีมากมายจะบอกกล่าวให้ชุมชนทราบ เช่น โทรศัพท์ การเดินเข้าไปหา การ เขียนจดหมายถึง การเชิญไปอธิบายเพิ่มเติม ฯลฯ ทำซ้ำๆหลายครั้งหลายหน พาไปดูของจริง ตระเวนไปดูทั้งระบบ ฯลฯ

  • งานงานมวลชนนั้นเป็นทักษะเฉพาะคน

พร้อมที่จะดัดแปลงกระบวนวิธี เพราะมวลชนนั้นแตกต่างกันมากมาย อายุ เพศ อาชีพ ลักษณะที่ตั้งชุมชน การเข้าถึงของสื่อต่างๆ ระบบถนน และระยะห่างจากสังคมเมือง สิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศ ศาสนา ความเชื่อ วัฒนธรรม ประเพณี ฯลฯ ล้วนแต่เป็นปัจจัยห่อหุ้มมวลชนให้มีลักษณะเฉพาะ และแตกต่างกันและกัน

  • งานมวลชนกับชุมชนแบบไหน

ที่กล่าวมานั้นเป็นมวลชนประเภท ชุมชนแบบดั้งเดิม ซึ่งง่ายเพราะชุมชนดั้งเดิมของสังคมไทยนั้นมีลักษณะร่วมมากกว่า มีทุนทางสังคมเป็นแรงเกาะเกี่ยวแบบดั้งเดิมอยู่แล้ว การทำงานมวลชนง่ายกว่า หากผู้รับผิดชอบเข้าใจโครงสร้างสังคมแบบดั้งเดิม และคลำหาตัวบุคคลได้ถูก เท่ากับเดินมาถูกทางไปมากแล้ว โครงสร้างชุมชนดั้งเดิมนั้นถูกซ้อนทับด้วยโครงสร้างการปกครองสมัยใหม่ พ่อเฒ่าพูดกับผู้ใหญ่บ้าน หรือนายก อบต.พูดนั้น บางชุมชนนั้น พ่อเฒ่าพูดมีน้ำหนักมากกว่า คุณผู้ทำหน้าที่เข้าใจและคลำหาบุคลากรเหล่านี้ได้หรือไม่

ส่วนชุมชนอีกแบบเป็นแบบสมัยใหม่ คือหมู่บ้านจัดสรร เป็นชุมนเมือง เป็นชุมชนที่สมาชิกมาจากทั่วสารทิศ แตกต่างกัน มีลักษณะการเกาะเกี่ยวกับด้วยกฎ ระเบียบ ข้อตกลง ข้อบังคับ มากกว่าความสัมพันธ์ทางด้านจิตใจ ความสนิทสนม มีความเป็นส่วนตัวสูง ตัวใครตัวมัน เก็บตัว มันเหมือนมีกำแพงบางอย่างขวางกั้นความสัมพันธ์ระหว่างกันอยู่

  • งานมวลชนไม่ใช่มาทำเมื่อเกิดเหตุความขัดแย้งแล้ว

คนที่ทำงานมวลชนที่หวังผลนั้นต้องทำมาอย่างต่อเนื่อง หลักการของในหลวงที่พระราชทานให้ไว้นั้นสั้นที่สุดและครอบคลุมที่สุดคือ “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” ในกระบวนการทำงานด้านสังคมชุมชนนั้นเรามีเครื่องมือมากมายที่จะ “เข้าใจชุมชนทั้งครบ” เรามี PRA, RRA, Socio-gram, Triage, Community profile, Historical profile, Sustainability analysis, Livelihoods analysis, Transect, Dairy routine work, ฯลฯ เพื่อศึกษาด้านลึกของแต่ละครอบครัว เพื่อวิเคราะห์จุดร่วม หรือเงื่อนไขที่จะเชื่อมต่อระหว่างกัน งานมวลชนแบบนี้ต้องใช้คนที่มีประสบการณ์สูงมาทำ เพราะจะเข้าใจเครื่องมือที่ใช้ ท่าที กระบวนวิธี และการสื่อสารกันและกัน เอามาวิเคราะห์ แล้วมาทำความเข้าใจร่วมกันระหว่างเจ้าหน้าที่เพื่อกำหนดบทบาทหน้าที่ด้านมวลชนเฉพาะ

นี่คือเครื่องมือที่เข้าใจเขา ประการสำคัญขอย้ำว่า ต้องมีเจ้าหน้าที่เฉพาะที่ทำหน้าที่นี้เพื่อทุ่มเทเวลาในการทำงานด้านมวลชน เพื่อเข้าใจเขา การเข้าใจเขานั้นมิใช่เพียงเข้าใจ แต่ต้องเป็นการ “เข้าใจด้านลึกของเขาทั้งครบ”


(ขอบคุณภาพจาก อินเตอเนท)

  • เขาเข้าใจเราไหม

เราเข้าใจเขาแล้วทั้งภาพรวม ภาพย่อย เงื่อนไข การเกาะเกี่ยว เอกลักษณ์ ความเป็นปัจเจก ความสามัคคี ความขัดแย้ง กลุ่มอิทธิพล การเชื่อมโยงภายในภายนอก ฯลฯ แล้วมาถึงคำถามใหญ่ว่า แล้วเขาเข้าใจเราไหม เข้าใจบานประตูชลประทานไหม เข้าใจระบบการจัดการน้ำไหม เข้าใจความเชื่อมโยงของบานประตูนี้กับบานอื่นๆ คลองอื่นๆ ส่วนอื่นๆ ระบบการสั่งการ การตัดสินใจ ฯลฯประโยชน์ต่างๆที่จะเกิดขึ้นรวมทั้งเงื่อนไข ปัญหาอุปสรรคต่างๆในการปฏิบัติงาน มวลชนต้องเข้าใจ อย่างน้อยที่สุดกลุ่มผู้นำ และ Key Informant ต้องเข้าใจโดยละเอียด ทุกครั้งที่มีการปฏิบัติงานต้อง Inform ให้กลุ่มผู้นำทราบโดยเฉพาะในช่วงฤดูการเปิดปิดประตูน้ำเพื่อการเพาะปลูกและเพื่อการระบายน้ำในกรณีน้ำท่วม อาจพิจารณาถึงขั้นตั้งผู้นำชุมชนให้เป็นคณะกรรมการที่ปรึกษาด้วยซ้ำไป


(ขอบคุณภาพจาก อินเตอเนท)

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแนวคิดหยาบๆที่นำเสนอมาภายหลังที่เกิดกรณีความขัดแย้งการเปิดปิดบานประตูน้ำชลประทานคลองต่างๆ..ในกรณีน้ำท่วม ซึ่งผมส่วนตัวเชื่อว่า เจ้าหน้าที่พยายามที่สุดแล้วแต่ดังกล่าวว่า การทำงานมวลชนนั้นมันมิใช่เพิ่งจะมาทำช่วงวิกฤตินี้ ไม่มีผลเพราะมันเกิดความคาดหวังและอารมณ์ร่วมมากกว่าเหตุผลที่เอามาพิจารณาร่วมกัน

บทเรียนนี้จะทำให้ทุกท่านที่เกี่ยวข้องทบทวนและเอาไปพิจารณากำหนดแผนงานที่สำคัญในอนาคตเพื่อยกระดับการทำงานมวลชนควบคู่ไปกับงานด้านเทคนิค



Main: 0.096257925033569 sec
Sidebar: 0.051310062408447 sec