วิภา กูเป็นกู

201 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 28 เมษายน 2009 เวลา 21:41 ในหมวดหมู่ ทุนสังคม, เฮฮาศาสตร์ #
อ่าน: 6613

ผมไม่ใช่หมอ

ผมไม่ใช่นักจิตวิทยา

ผมไม่ใช่นักพฤติกรรมศาสตร์

แต่ผมอยากแสดงความคิดเห็นต่อบันทึก “กูเป็นกู” ที่นี่ http://lanpanya.com/jogger/?p=371

รู้สึกดีมากที่กระบวนการได้สร้างความสั่นสะเทือนในจิตใจแก่นักศึกษาแพทย์ผู้มีอนาคตเหล่านั้น

แต่จากการสะท้อน reaction ออกมาระหว่างกระบวนการนั้น นับว่าเป็นเลิศแล้วในความคิดผมเพราะ

  • ไม่ใช่ง่ายเลยที่จะสร้างเครื่องมืออะไรสักอย่างที่จะกระแทกให้คนเรา ได้เกิดแรงบีบในห้วงคำนึงจนต้องปลดปล่อยออกมาด้วยน้ำตาและคำพูดที่ยากจะออก มาในภาวะปกติ
  • ปรากฏการณ์นี้ผมมีความเชื่อส่วนตัวว่าดี และมีส่วนสำคัญให้เธอผู้นั้น เกิดคลื่นสะเทือนทางความสำนึก รู้สึก ความคิดต่อเนื่องต่อไปอีก เป็น อาฟเตอร์ช๊อค
  • กระบวนแต่ก่อนทำนองนี้ที่เป็นประสบการณ์ผมนั้น  ได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในตัวผู้นั้นครั้งยิ่งใหญ่ หากผลสะเทือนนั้นๆไปสร้างภูมิสำนึกขั้นสูง จนเขาเหล่านั้นกล่าวว่า “นี่คือการเกิดใหม่” ทีเดียว  ซึ่งแล้วแต่คน แล้วแต่สถานการณ์ แล้วแต่เงื่อนไข แล้วแต่กระบวนการ แล้วแต่สิ่งแวดล้อม แล้วแต่สาระตอนนั้น แล้วแต่ภูมิหลัง
  • ในงานพัฒนาชนบท ผมก็ใช้สิ่งนี้เหมือนกันในการสร้างสำนึกชาวบ้านให้หันกลับมามองตัวเอง สังคมดั้งเดิม วัฒนธรรมชุมชน ผ่านพิธีกรรม และการกระตุกสำนึกขั้นสูง…จนหลายคนเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมใหม่ เป็นคนใหม่ …..(แล้วผมจะหนีจากเขาไปไหนได้อย่างไร ก็วนเวียนอยู่ตรงนี้แหละ)
  • มีสิ่งหนึ่งที่กระบวนการนี้ขาดไป ในความคิดผมคือ …ไม่มีกระบวนการต่อเนื่อง หลังการเกิดแรงกระทบทางจิตใจอย่างแรงจนน้ำหูน้ำตาหลั่งไหลออกมาพร้อมคำกล่าวต่างๆนั้น ที่ปกติจะไม่ได้ยินคำกล่าวเ้หล่านั้น  แต่การทำงานพัฒนาชนบทเรามีกระบวนการต่อเนื่อง คือการเยี่ยมเยือน ไปมาหาสู่ ทำกิจกรรมต่อเนื่อง อย่างน้อยที่สุดการสนับสนุนให้เขาจับกลุ่มกันขึ้น สร้างเครือข่ายคนรู้ใจกัน ที่เขาจะสร้างกิจกรรมต่อเนื่องร่วมกัน…..
  • มันเหมือนกับตอนที่ผมบวชเป็นพระปฏิบัติ 1 พรรษาที่สำนักวิปัสสนาไทรงาม เขตรอยต่อ อ่างทอง สุพรรณบุรี พระอาจารย์ ธรรมธโร ท่านให้เราปวารณาตัวเองไม่พูดระหว่างวัน ปฏิบัติ ปฏิบัติ ปฏิบัติ ตามวิธีของท่าน แล้วตกค่ำก็เข้าประชุมร่วมกันทั้งวัด แล้วพระอาจารย์จะ “เป็นผู้มาสอบธรรม” ซักถามความรู้สึกที่เกิด ซึ่งมีสารพัดจะได้ยินจากพระนักปฏิบัติทั้งหลาย เป็นอุบายการเรียนรู้ที่วิเศษจริงๆ ให้แนวทางปฏิบัติ(หลักการ) แล้วไปปฏิบัติ(ทำ) เกิดอะไรก็มาซักถาม พูดคุยกัน(แลกเปลี่ยนความคิดเห็น, อธิบายความหมายที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติ, หรือ ก็คือ Group Discussion นั่นเอง) โดยมีพระอาจารย์ผู้แก่กล้าทางประสบการณ์เป็นผู้คอยให้คำแนะนำ
  • กระบวนการของเราขาดขั้นตอน หลังการเกิดผลสะเทือน แน่หละเพราะเงื่อนไขต่างๆที่เราเข้าใจกัน
  • แต่เชื่อว่า ในกลุ่มนักศึกษาแพทย์นั้น หลังที่เธอกลับไปแล้วน่าที่จะมีการจับกลุ่ม เพื่อนสนิท แลกเปลี่ยนกันต่อโดยธรรมชาติ บางคน หรือหลายคนอาจจะเกิดพฤติกรรมใหม่ๆเชิงบวก บางคนอาจจะคิดอะไรในระยะยาวออกไป และหรือเกิดอะไร อะไร เชิงบวกอีกมากมายสุดจะคาดได้….

ประเด็น

  • จะมีทางสร้างกระบวนการที่ต่อเนื่องหลังจากที่เธอเหล่านั้นเดินทางกลับไปแล้วบ้างไหม… ระหว่างเขาเหล่านั้นเอง…หน่วยงานหรือสถาบันที่เธอเหล่านั้นสังกัดเข้าใจกระบวนการนี้แล้วเป็นผู้ร่วมสร้างกระบวนการที่ต่อเนื่อง
  • หรือ สวนป่ามีกระบวนการรองรับ…??

ทิ้งประเด็นไว้เฉยๆไม่ต้องการคำตอบครับ

______________________________

ผมขอขอบคุณกระบวนกรทุกท่านที่ร่วมกันสร้างผลสะเทือนเหล่านี้

ขอขอบคุณโอกาส ที่ได้สร้างปรากฏการณ์ดีดีแบบนี้

ขอขอบคุณเจ้าของสถานที่ที่เป็นความทรงจำที่สวนป่าจะฝังลึกในห้วงคำนึงของเธอเหล่านั้นไปอีกนานเท่านาน

ขอขอบคุณฝ่ายสนับสนุน ผู้ปิดทองหลังพระทุกท่านที่ทำอาหารคาวหวาน น้ำท่า สารพัดจะประกอบขึ้นมาเพื่อ หนุนเนื่องให้เกิดปรากฏการณ์เชิงบวกเหล่านี้

และขอบคุณเจ้าของบันทึกที่ถ่ายทอดสิ่งนี้ออกมา ความจริงน้องหมอเจ๊ น้องสร้อย น้องอึ่งอ๊อบ และหลายๆท่านที่ไม่ได้กล่าวถึง ก็บันทึกทำนองนี้ออกมาก่อนแล้ว แต่ผมไม่มีโอกาสแสดงความเห็นเต็มๆ เช่นครั้งนี้..

ขอบคุณ “กูเป็นกู”

หมายเหตุ วิภา หมายถึง รัศมี, แสงสว่าง, ความแจ่มแจ้ง, ความสุกใส, ความงดงาม จากพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน หน้า 745


Soc-Ant กับ Dialogue for Consciousness

230 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 1 กุมภาพันธ 2009 เวลา 17:10 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 5255

สมัยที่ทำงานกับ USAID ที่ขอนแก่นประมาณปี 2524 สงครามในอินโดจีนยังร้อนแรง เพื่อนชาวอเมริกันที่สนิทสนมกันเล่าให้ฟังว่า รัฐบาลอเมริกันวิตกมากว่าทำอย่างไรก็ไม่สามารถเอาชนะสงครามเวียตนามได้ ในช่วงท้ายสงครามนั้น รัฐบาลอเมริกาเขาส่งนักมานุษยวิทยาเข้าไปในเวียตนามทำการศึกษา วิเคราะห์เจาะลึกว่า ทำไมคนเวียตนามจึงสามารถสู้กับทหารอเมริกันที่มีเทคโนโลยีการฆ่าคนล้ำยุค แต่ไม่สามารถเอาชนะสงครามในเวียตนามได้…!!

ทฤษฎีการส่งเสริมการเกษตร กับชุมชนนั้น องค์ประกอบที่สำคัญคือ นอกจากจะมีนักเกษตรแล้วต้องมีนักสังคมวิทยารวมอยู่ในทีมด้วย….!!

การศึกษาวิจัยสนามถึงสาเหตุของโรคภัยต่างๆนั้น องค์ประกอบของทีมวิจัยจะต้องมีนักสังคมศาสตร์รวมอยู่ด้วย…!!

เมื่อคืนก่อนดูรายการรู้ทันประเทศไทยทาง ASTV ของ ดร.เจิมศักดิ์ กับคุณสันติสุข ประเด็นหนึ่งพูดกันถึงข่าวที่นักศึกษาตีกัน แล้ว อ.เจิมศักดิ์บอกว่า ต้องลงไปพูดคุยกับเด็กเหล่านั้นอย่างกันเอง และมีระบบของการพูดคุย ก็จะสามารถหาทางออกในการแก้ปัญหาเหล่านี้ได้

อ.เจิมศักดิ์ เล่าให้ฟังว่า อดีตนั้นในอเมริกามีกรณีที่คนผิวดำมักจะมีปัญหาตีรันฟันแทงกับคนผิวขาวเสมอ การแก้ไขแบบนักการเมืองไม่เคยได้ผล การแก้ไขโดยใช้กฎหมายของตำรวจก็ไม่ได้ผล แต่เมื่อเอานัก Anthropologist ลงไปทำการพูดคุยอย่างเป็นระบบ พบว่า คนผิวดำมากกว่าครึ่งหนึ่งเลิกพฤติกรรมแบบนั้น??

น่าตั้งคำถามว่าเพราะอะไรหรือ..?? อ.เจิมศักดิ์ อธิบายว่า เพราะนัก Anthropologist มีกระบวนการตั้งคำถาม และวิธีการพูดคุยที่ดี การพูดคุยแลกเปลี่ยนนั้นได้ไปกระตุ้นการลำดับเหตุผลต่างๆขึ้นมา การเชื่อมโยงผลและเหตุ จนสร้างความตระหนักแห่งสำนึกเกิดขึ้น และเมื่อเกิดสำนึก ความเป็นเหตุเป็นผลที่มีสำนึกนั้นจะช่วยยับยั้งพฤติกรรมก้าวร้าวลงไป และหันมากระทำในสิ่งที่ดีกว่า สร้างสรรค์กว่า นี่คือการเกิดสติ ….

ผมคิดว่านี่คือ Dialogue for consciousness หรือ Dialogue for awareness นั่นเอง

กระบวนการนี้…หมอจอมป่วน..หมอตา..ฯลฯ วิ่งไปข้างหน้าแล้ว…

(หมายเหตุ Soc-Ant หมายถึง Sociologist and Anthropologist)



Main: 0.022523880004883 sec
Sidebar: 0.065372943878174 sec