น้ำแดง

310 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 25 พฤศจิกายน 2011 เวลา 8:45 ในหมวดหมู่ ทุนสังคม #
อ่าน: 8042

ไม่เกี่ยวกับน้ำท่วมตอนนี้ เป็นเรื่องเกี่ยวกับน้ำเหมือนกัน แต่เป็นน้ำสีแดงในขวด ที่เราเรียดน้ำอัดลม


จากรูปตรงนี้คือหัวสะพานปูนยาวประมาณ 80 เมตร อยู่ในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง เรียกกันว่าสะพานขาว ด้านขวามือของสะพานนี้เป็นอ่างเก็บน้ำรอบๆอ่างเป็นถนนปูน มักเป็นสถานที่ออกกำลังกายของสมาชิกสถาบันนี้

ท่านที่เห็นรูปนี้แล้วก็อาจ งง งง เอาน้ำอัดลมมาเลี้ยงคนงานหรือไง หรือนักศึกษามาทำกิจกรรมแล้วสั่งน้ำอัดลมมาบริการกัน…ฯลฯ แต่คงไม่คิดไปถึงว่า ใครมาลืมน้ำอัดลมแน่นะครับ..

เป็นน้ำอัดลมสีแดงที่ชาวสถาบันแห่งนี้เอามาเส้นไหว้ เจ้าพ่อสะพานขาว เพื่อหวังผลอะไรสักอย่าง บางท่านอาจเรียกว่าติดสินบนก็ได้มั๊ง.. เช่น ถวายน้ำแดงหนึ่งขวด ขอให้สอบผ่านในกรณีที่นักศึกษาไม่มั่นใจตัวเองจะทำข้อสอบได้ นักศึกษาบางคนอาจถวายน้ำแดงหนึ่งขวดแล้วขอให้ได้เกรดเอ.. บางคนอาจจะเกทับ ถวายน้ำแดงหลายขวดไปเลย เพื่อให้มั่นใจมากขึ้นว่า เจ้าพ่อจะพึงพอใจแล้วให้ในสิ่งที่ต้องการ…

มีคนพูด วิเคราะห์เรื่องนี้มามากมายแล้วโดยเฉพาะนักสังคมวิทยา มานุษยวิทยา ซึ่งมุมมองจะแตกต่างกับท่านที่มาทางสายวิทยาศาสตร์

เชื่อว่านักศึกษาบางคนอาจจะสัมฤทธิ์ผลจึงร่ำลือกันไป ยิ่งลือมาก ก็ยิ่งมีขวดน้ำแดงมาวางมาก…

แต่ก็น่าที่จะมีการเอาน้ำแดงมาถวายเจ้าพ่อโดยไม่ได้ขอเกรด หรือขออะไร เพียงแสดงความเคารพความศรัทธาเฉยๆ ตามค่านิยม ความเชื่อด้านลึกของคนไทยเรา

แต่การให้เพื่อหวังผลนั้นมันต่อยอดไปไม่เพียงน้ำแดงหนึ่งขวดเพื่อขอเกรดเท่านั้น ค่านิยมนี้ ความเชื่อนี้ถูกผันแปรไปเป็นเงื่อนไขอื่นๆมากมายในสังคม บางท่านเรียกปรากฏการณ์นี้ว่าระบบอุปถัมภ์ แต่ผมคิดว่าระบบอุปถัมภ์แบบดั้งเดิมนั้นมิใช่เลวร้ายเช่นความหมายในปัจจุบันนี้ มันมีเส้นบางๆแบ่งกันระหว่างความเอื้ออาทร กับการอุปถัมภ์แบบหวังผล

กรณีเด็กสาวชาวบ้านมาเรียนหนังสือระดับอุดมศึกษา แต่บ้านยากจนมากพ่อแม่ไม่มีปัญญาส่งเรียน เด็กสาวคนนี้ก็ดิ้นรนมาเป็นคนดูแลผู้สูงอายุ คุณแม่(ยาย)ผม เพื่อเอาเงินค่าจ้างไปเรียนหนังสือทั้งพี่ทั้งน้อง สองคน เราก็จ้างเธอทั้งสองให้ดูแลคุณแม่กลางวันคนหนึ่งกลางคืนคนหนึ่ง เธอยังนอนเคียงข้างจนวาระสุดท้ายของคุณแม่เลยทีเดียว เราซาบซึ้งในความเอาใจใส่ และทำดีของเธอ จึงส่งเธอเรียนต่อจนสำเร็จปริญญาตรี และปฏิบัติต่อเธอเหมือนบุตรสาวเราอีกคนหนึ่ง(ผู้พี่เรียนจบก่อนคุณแม่เสีย) เรานั้นไม่ได้หวังตอบแทนจากเธอทั้งสอง แต่เราต้องการตอบแทนเธอที่ดูแลคุณแม่แทนเราที่ต้องไปทำงานหาเงิน ไม่ได้ดูแลข้างเตียงตลอดเวลา..

คุณแม่เสียชีวิตไปหลายปีแล้ว เธอผู้น้องเรียนจบและได้ทำงาน พยายามสอบเป็นทนายความจนได้และทำงานที่ภูเก็ตในปัจจุบันนี้ ผู้พี่แต่งงานไปทำสวนผักอยู่บ้าน จะเอาส้มสูกลูกไม้และข้าวสารมาให้เราทุกสามเดือน สี่เดือน โดยเราไม่ได้ร้องขออะไรเลย มันเป็นการผูกพันแบบเอื้ออาทรกัน เธอผู้น้องหากขึ้นมาบ้านขอนแก่นก็แวะมานอนที่บ้านเราก่อน

การที่เธอผู้พี่เอาสิ่งของมาให้ตลอดหลายปีที่ผ่านมา เราบอกว่าอย่าเอามาให้ลำบากเลย มันเยอะแยะ กินไม่หมด เหลือทิ้ง จนต้องแบ่งให้คนรีดผ้า คนดูแลบ้าง เพื่อนบ้านข้างๆทุกครั้งไป เธอก็แอบเอามาให้ตอนเราไม่อยู่บ้าน อิอิ

พฤติกรรมแบบนี้แตกต่างจากคนที่เอาขวดน้ำแดงไปถวายเจ้าพ่อ

แต่ที่ข้าราชการผู้ใหญ่มีเงินสดเก็บในบ้านเป็นสิบล้านร้อยล้านนั้นมันผิดปกติธรรมดาคนนะครับ

คิดเอาเองก็แล้วกันว่าเหมือนเจ้าพ่อที่ได้น้ำแดงมากองเยอะแยะหรือไม่ น้ำลดตอผุด หรือน้ำท่วมเลยวิ่งชนตอเลย หุหุ


“ระเบียบบ้าน” การแก้ไขปัญหาในชุมชนลาว

249 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 15 ธันวาคม 2010 เวลา 15:09 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 6231

“คำเตือน เป็นบันทึกยาว ตั้งสติก่อนอ่านนะครับ อิอิ”

โจทย์ที่พบในการศึกษาสภาพการณ์ปัจจุบันของระบบชลประทานแห่งหนึ่งในลาวคือ สมาชิกกลุ่มผู้ใช้น้ำไม่จ่ายค่าน้ำ ซึ่งส่งผลให้กลุ่มไม่สามารถจ่ายค่ากระแสไฟฟ้าได้ ก่อให้เกิดหนี้สินสะสมเป็นจำนวนมาก

ถามว่าสาเหตุคืออะไร มีหลายปัจจัย เช่นระบบโครงสร้างคูคลองยังมีปัญหาในการจัดแบ่งน้ำ ผู้รับผิดชอบขาดประสิทธิภาพในการทำหน้าที่ สมาชิกกลุ่มผู้ใช้น้ำไม่เคารพกติกาของกลุ่ม เกิดการดื้อแพ่ง ฯลฯ ทั้งหมดนี้เกี่ยวเนื่องกันและกัน แต่ที่น่าสนใจที่พื้นที่รับน้ำชลประทานแห่งนี้ถูกใช้ประโยชน์เต็มที่ ถึงขนาดแย่งกันเช่าที่นาทำนาปรังกันเลยทีเดียว

เหตุต่างๆนั้นในทางหลักการมีแนวทางแก้ไขอยู่แล้ว เมื่อลองมาสอบถาม “คนใน” ว่าเขามีความคิดในการแก้ไขอย่างไร

สอบถามเจ้าหน้าที่ชลประทานทุกคนตอบว่า ต้องเอาระเบียบกลุ่มผู้ใช้น้ำไปออกเป็นกฎหมายเท่านั้น เพื่อเอามาบังคับใช้ แต่เมื่อสอบถามชาวบ้าน คณะกรรมการบ้าน ตอบว่า ควรโอนบทบาทหน้าที่มาให้คณะกรรมการหมู่บ้านทำหน้าที่จัดเก็บค่าน้ำเอง…

ข้อเสนอแรกนั้น ส่วนตัวมีคำถามต่ออีกมาก เพราะมีกฎหมายดีดีมากมายที่ไม่สามารถบังคับใช้ได้ หากผู้ถือกฎหมายไม่ทำหน้าที่ หรือทำหน้าที่แบบสองมาตรฐาน สามมาตรฐาน ฯ และหากสมาชิกกลุ่มผู้ใช้น้ำไม่เล่นด้วย แบบดื้อแพ่ง ปัญหาก็ยังคงมีอยู่

ส่วนข้อเสนอข้อหลังที่โอนบทบาทหน้าที่มาที่คณะกรรมการบ้าน แม้จะยังมีคำถามอีกมาก แต่ด้วยประสบการณ์สนใจแนวทางนี้มากกว่า

โครงสร้างของคณะกรรมการบ้านของลาวนั้นไม่เหมือนประเทศไทย


ที่โครงสร้างนี้มีหน่วยไกล่เกลี่ยบ้าน ที่ประกอบด้วยหัวหน้าคณะกรรมการชุดต่างๆมารวมกันเป็นทีมงานที่ทำหน้าที่แก้ปัญหาความขัดแย้งในชุมชน ผมถามว่าลองยกตัวอย่างการแก้ปัญหาความขัดแย้งในชุมชนโดยหน่วยไกล่เกลี่ยบ้าน หัวหน้าหน่วยตอบว่า เวลามีวัยรุ่นกินเหล้าแล้ววิวาทกัน ก็เรียกทั้งสองฝ่ายมาพูดคุยกัน ซึ่งการไกล่เกลี่ยนี้ใช้ฐานของวัฒนธรรมชุมชนที่สืบต่อกันมาดั้งเดิม และใช้ “ระเบียบบ้าน”

เมื่อซักไซ้พบว่าบทบาทหน่วยไกล่เกลี่ยนี้ช่างเหมือน “ระบบเจ้าโคตร” ของสังคมชุมชนอีสานโบราณที่เจ้าโคตร หรือผู้ใหญ่ของตระกูล ของชุมชน ที่เป็นที่เคารพนับถือทั้งชุมชนจะทำหน้าที่เรียกลูกหลานที่เป็นคู่กรณีมาคุยกัน บนฐานของความรัก ความเอ็นดู เมตตา โน้มน้าวให้คู่กรณีลดราวาศอก เพื่ออยู่ร่วมกัน ผู้อาวุโสเหล่านั้นผ่านชีวิตมากมาย ย่อมรู้จักประวัติของพ่อแม่ ญาติพี่น้องทั้งสองฝ่าย การสาธยายอดีตที่ผูกพัน ช่วยเหลือกันมา อดอยากร่วมกัน รักใคร่สามัคคี กัน ด้วยท่าที ด้วยคำพูด สำเนียง สิ่งเหล่านี้ทำให้กรณีความขัดแย้งจบลงที่การขอขมาลาโทษ และยกโทษให้แก่กัน…หน่วยไกล่เกลี่ยทำหน้าที่เหมือนกัน

อย่างไรก็ตามทุกกรณีไม่ได้จบลงทั้งหมด อาจจะมีบางคู่ที่ไม่ยอมจบ ระเบียบบ้านก็กำหนดไว้หลายขั้นตอน จนที่สุดเมื่อ เอาไม่อยู่ ก็ส่งเข้าระบบการปกครองโดยกฎหมายรัฐ คือระบบศาล..

ส่วนตัวผมสนใจกระบวนวิธีนี้มากและสนใจที่จะศึกษารายละเอียดลงไปอีก ผมขอระเบียบบ้านจากหมู่บ้านแห่งหนึ่งในลาวมาศึกษา อาว์เปลี่ยนกรุณาอ่านและขยายความให้ฟัง ลองดูตัวอย่างนะครับ

……………..

มาตรา 4 บุคคลใด ครอบครัวใด ได้ลักเอาทรัพย์สิน สิ่งของคนอื่นมาเป็นของตนเอง ถ้าว่าการจัดตั้งสืบรู้ มีหลักฐานเพียงพอ ครั้งที่ 1 จะปรับไหม 100,000 กีบ ถึง 300000 กีบ พร้อมทั้งเขียนใบสำรวจ ศึกษา อบรม ส่วนค่าเสียหายของเจ้าของทรัพย์สิน มอบให้ผู้กระทำผิดเป็นผู้รับผิดชอบทั้งหมด ในกรณีร้ายแรง มีความเสียหายหลวงหลาย ทั้งเป็นของรวมหมู่บ้านของรัฐ แม่นประกอบคดีส่งให้ขั้นเทิงเป็นผู้พิจารณา และปฏิบัติตามกฎหมาย

มาตรา 5 บุคคลใดทิ่มระเบิด ซ๊อทปลา เบื่อปลา เบื่อสัตว์ทุกชนิด ถ้าผู้ใดละเมิด ครั้งที่ 1 ปรับไหม 500,000 กีบ ถึง 800,000 กีบ พร้อมทั้งยึดเอาอุปกรณ์ทั้งหมด ในกรณีผู้กระทำผิดถ้าบ่เข็ดหลาบ แม่นประกอบคดี ส่งให้ขั้นเทิงปฏิบัติตามกฎหมาย

มาตรา 7 บุคคลใดตัดไม้ทำลายป่าเลื่อยไม้แบบซะซายโดยบ่ได้รับอนุญาตจากการจัดตั้งขั้นบ้านจะต้องถูกปรับไหม 50,000 กีบ ถึง 100,000 กีบต่อ 1 ครั้ง หาก มีความเสียหายอย่างหลวงหลาย แม่นประกอบคดีส่งให้ขั้นเทิงปฎิบัติตามกฎหมาย

มาตรา 11 บุคคลใดยังได้ก่ออาละวาด ตีกัน หรือทำให้ผู้อื่นบาดเจ็บแล้วจะถูกปฏิบัติดังนี้ ครั้งที่ 1 ผู้ต้นเหตุลงมือก่อน ทำให้ผู้อื่นบาดเจ็บจะถูกปรับไหม 500,000 กีบ ถึง 1,000,000 กีบ พร้อมทั้งดูแลผุ้บาดเจ็บ และทำสู่ขวัญตามฮีตคองประเพณี ในเมื่อบาดเจ็บสาหัส ร้ายแรง แม่นมอบให้เจ้าหน้าที่ดำเนินคดีตามกฎหมาย

มาตรา 12 บุคคลใดมีผัวหรือเมียเป็นครอบครัวแล้วยังมีการพัวพันแอบชู้สาวกับคู่ผัวเมียคนอื่น ทำให้ครอบครัว หรือคู่ผัวเมียแตกแยก ทำให้ผัวเมียปะร้างกัน เกิดปัญหาในครอบครัว การจัดตั้งจะต้องปรับไหม 100,000 กีบถึง 500,000 กีบในกรณีผู้กระทำผิด ถ้าหากบ่เข็ดหลาบครั้งต่อไป แม่นประกอบคดีส่งขั้นเทิงประกอบคดีตามกฎหมาย

มาตรา 14 ถ้าบุคคลใดสัญจรไปมา ยามดึกเปิดเทป ซีดี เครื่องเสียงอื่นๆเกินขอบเขต เมื่อถึง 4 ทุ่ม 30 นาที ต้องยึดเอาไว้ ถ้าครอบครัวใดจัดงาน แม่นผูกแขน งานดองหรืออื่นๆ ต้องเสนอ ปกส(ตำรวจ) บ้าน หรือนายบ้านเพื่ออนุญาตก่อน ถ้าครอบครัวใดยังละเมิดไม่ปฏิบัติ ครั้งที่ 1 จะถูกศึกษา อบรม และกล่าวเตือน เขียนใบสำรวจ ครั้งที่ 2 จะปรับไหมแต่ 50,000 กีบ ถึง 100,000 กีบ

มาตรา 15 ห้ามไม่ให้แตกแยกความสามัคคี สร้างความปั่นป่วน ผิดข้องต้องการ กันในครอบครัว และบุคคลอื่น บ่จ่มเหล้า ดูหมิ่น นินทา อนาจาร ป้อยด่าซะซายใส่การจัดตั้ง และทำให้ทุกคนในการจัดตั้งเสียหาย เสียศักดิ์ศรี จะถูกปรับไหม ครั้งที่ 1 50,000 กีบถึง 200,000 กีบ ถ้าต่อไปไม่เข็ดหลาบ แม่นประกอบคดีส่งให้ขั้นเทิงดำเนินคดีตามกฎหมาย

มาตรา 16 ทุกครอบครัว เมื่อมาประชุม ห้ามไม่ให้ผู้หญิงนุ่งทรงขาสั้นและเสื้อสายเดี่ยวมาประชุม และบ่ให้กินเหล้าเมามาประชุมบ้าน และหนีจากกองประชุมที่ประชุมบ่ทันแล้ว ถ้าผู้ใดยังละเมิด ครั้งที่ 1 ถูกกล่าวเตือน ศึกษา อบรม ครั้งที่ 2 จะปรับไหม 50,000 กีบ ถึง 100,000 กีบ

มาตรา 17 บุคคลใด เที่ยวโสเภณี ครั้งที่ 1 จะถูกปรับไหม 200,000 กีบถึง 500,000 กีบ ครั้งที่ 2 จะปรับไหม 1,000,000 กีบ ครั้งที่ 3 แม่นประกอบคดีส่งขั้นเทิงปฏิบัติตามกฎหมาย

หมู่บ้านปกครองกันเอง ออกระเบียบบ้านเอง ยอมรับเอง และถือปฏิบัติกันอย่างเคร่งครัด สังคมลาวจึงมีความสงบค่อนข้างสูง ทุกคนในระดับบ้านสนับสนุนให้เอาระเบียบกลุ่มผู้ใช้น้ำมาขึ้นเป็นระเบียบบ้าน และประกาศใช้ตามขั้นตอน คิดว่าน่าสนใจในมุมที่ชาวบ้านจัดการกันเอง

การที่รัฐให้อำนาจปกครองกันเองแก่ชุมชนขั้นพื้นฐานแบบนี้นั้น มันก็เป็นการกระจายอำนาจแบบหนึ่งที่เมืองไทยร้องหา…

เรื่องนี้มีรายละเอียดอีกมาก แต่หลักการน่าสนใจมากครับ ย้อนกลับมาที่สังคมบ้านเรา เมาประชาธิปไตย หรือบางครั้งสิทธิมนุษยชนกลายมาเป็นข้ออ้าง

แต่วัฒนธรรม ประเพณี ดีงามของเราที่เรียกทุนทางสังคมนั้นละเลยกันหมดสิ้น ไม่เห็นอ้างหรือเรียกร้องกันเลย หรือมองไม่เห็นของดีดั้งเดิมของเราเสียแล้ว…


ตอบโจทย์พ่อครูบาฯ..2

5 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 12 กรกฏาคม 2009 เวลา 21:48 ในหมวดหมู่ งานพัฒนาสังคม, ทุนสังคม, เฮฮาศาสตร์ #
อ่าน: 2827

ขอมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นต่อโจทย์ที่พ่อครูบาเสนอไว้ครับ โจทย์ที่สั้นๆแต่ใหญ่โตมโหฬาร ระทึก กึกก้อง “พูดคุยวิเคราะห์กับ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ในเรื่องสภาพปัญหาที่เป็นรากฐานและทางออกของสังคมไทยในด้านเศรษฐกิจและสังคม ในเขตชนบทของภูมิภาคต่างๆ“… หน้ากระดาษแห่งนี้คงไม่ใช่ความสมบูรณ์ของความคิดเห็นและสูตรสำเร็จใดๆของทางออก เป็นความเห็นเพียงเสี้ยวส่วน..


สังคมอีสานที่เปลี่ยนแปลงมาจากอดีตอยู่ในรูปปัจจุบัน ก็ไม่แตกต่างไปจากสังคมปัจจุบันของภูมิภาคอื่นๆ เพราะพลังและอำนาจของการเปลี่ยนแปลงนั้นมาจากแหล่งเดียวกัน คือการปกครองสังคมและระบบทุนนิยมโลกาภิวัฒน์ ที่ชายแดนมุกดาหารมีโลตัสเหมือนกลางกรุงเทพฯมหานคร


ถามว่ามีอะไรที่เป็นพลังของการเปลี่ยนแปลง นักวิชาการก็คงตอบว่ากระแสหลัก(กระแสทุนนิยมโลกาภิวัตน์) ที่มาแรงสุดๆ เป็นกระแสที่มีพลังมากที่สุด และเพราะเปลี่ยนค่านิยมจากเดิมมาเป็นทันสมัย ก้าวหน้า ทันต่อโลก ฯลฯ ได้ส่งผลสะเทือนเข้าไปในทุกหนทุกแห่งที่มีถนนเข้าไป ที่มีวิทยุ ที่มีทีวี หนังสือพิมพ์ และสื่อต่างๆทั้งหมด ระบบธุรกิจที่มุ่งผลกำไรสูงสุด ไม่ได้พูดความเหมาะสมขององค์ประกอบการดำรงชีวิต แต่สร้างภาพลักษณ์ที่ทุกคนที่ต้องการความทันสมัย ก้าวหน้า ทันต่อโลก คุณจะต้องรีบหาสินค้านั้นๆมาไว้ครอบครอง


การเปิดโลกใหม่สุดๆเช่นนี้ ผมก็คิดว่า ต่อให้หมู่บ้านใดๆมีเฒ่าจ้ำร้อยเฒ่าจ้ำก็หยุดไม่อยู่ เพราะเฒ่าจ้ำก็ไม่เข้าใจต่อสิ่งใหม่ที่เข้ามา เพราะเขาอยู่ในโลกเกษตรกรรม โลกสิ่งแวดล้อมเดิมๆ และสิ่งใหม่เข้ามาพร้อมๆกับคำว่า ทันสมัย ก้าวหน้า ทันต่อโลก ฯลฯ เขาเหล่านั้นไม่เข้าใจเท่าทัน และคนในสังคมก็ไม่เท่าทัน อย่างกรณี กรมกสิกรรมกระทรวงเกษตรนำเอาข้าวพันธุ์ใหม่ ปุ๋ยวิทยาศาสตร์ สารเคมีเพื่อเพิ่มผลผลิตข้าว เพื่อขาย เพื่อเงิน เพื่อชีวิตที่ดีกว่า แต่ใน พ.ศ. นี้ กลับเดินย้อนรอยเดิม พร้อมสารภาพว่า ต้องใช้ปุ๋ยคอก ทำปุ๋ยอินทรีย์ ใช้พันธุ์พื้นบ้านที่เหมาะสมต่อสภาพแวดล้อม เพราะเขาพัฒนามานานแสนนานจนเหมาะต่อสภาพพื้นที่นั้นๆอยู่แล้ว สติที่กลับคืนมาก็ต่อเมื่อเวลาผ่านไปนับเกือบชั่วอายุคน แล้วนวัตกรรมอื่นๆเหล่า มีใครกล้าออกมาสารภาพเช่นนี้บ้าง

คำถามใหญ่คือ อะไรคือตัวคัดกรองของสังคมต่อการเปลี่ยนแปลง อะไรคือภูมิคุ้มกัน อะไรคือพลังคัดหางเสือสังคม เมื่อเฒ่าจ้ำ และบรรดาผู้อาวุโสในสังคมตามไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงนี้แล้ว..

เราจะหวังที่ระบบการศึกษาหรือ…?

เราจะหวังที่สถาบันการศึกษาหรือ…?

เราจะหวังที่หน่วยงานราชการหรือ…?

หรือหวังที่ตัวเองโดยการสร้างชุมชนในรูปแบบใหม่…?

แผนผังแสดงความคิดเห็นเบื้องต้นต่อทางออก

น่าสนใจการพัฒนาชุมชนในรูปแบบใหม่ที่มีความพร้อมต่อการหนุนสร้างทุนทางสังคม สร้างบุคลากรที่มีความพร้อม เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคมใหม่ๆ สร้างสิ่งคัดกรองการพัฒนาในรูปแบบต่างๆว่าสิ่งใดเหมาะสมหรือไม่เหมาะสม ฯลฯ

ภาพนี้ผมแอบถ่ายที่ปั้มน้ำมันแห่งหนึ่งระหว่างเดินทางไปมุกดาหาร ตรงนี้คือห้องน้ำของปั้มน้ำมันที่อยู่ในมุมปิด ทุกครั้งที่ผมแวะและเข้ามาใช้บริการ จะพบเด็กนักเรียน ทั้งชายหญิง ขี่มอเตอร์ไซด์มามั่วสุม ไม่ไปเรียนหนังสือ เด็กสาวรุ่นคนนี้ไม่ไปเรียนหนังสือแต่กลับมาวุ่นวายอยู่กับโทรศัพท์มือถือ เมื่อผมไปถามคนที่ปั้มน้ำมัน เขาก็บอกแบบไม่สนใจว่า “เด็กมันก็มามั่วสุมที่นี่กันทุกวัน”…..

สรุปว่าชุมชนไปหวังคนไกลตัวไม่ได้ หวังระบบก็ไม่ได้ หวังสถาบันต่างๆก็มองไม่เห็นแสงไฟ มีแต่หวังที่ตัวเอง คนในชุมชนด้วยกันเอง … แล้วสร้างอย่างไรล่ะ..เป็นหนังยาวอีกม้วนหนึ่งครับ….


วาทะพ่อใหญ่..

334 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 22 เมษายน 2009 เวลา 15:42 ในหมวดหมู่ ทุนสังคม #
อ่าน: 4161

ลูกเอ้ย….

พ่อใหญ่เห็นโลกมานานพอสมควรแล้ว

ผิดชอบชั่วดีนั้นสามัญสำนึกก็บอกได้ จำแนกได้

เวลาที่เหลือก็เพียงแค่ประคองใจ กาย ให้อยู่ในครรลองธรรมเท่านั้น

ก่อนที่จะดับสูญไปตามวาระ

มันไม่ใช่วาระแห่งชาติ แห่งโลกอะไรนะลูกนะ

มันเป็นวาระแห่งชีวิตน่ะลูก…

ไอ้คนที่มาอ่านนี่ก็อยู่ในวาระนี้กันทั้งน้านแหละ… เหอะ..เหอะ..

…..

คนอย่างพ่อใหญ่จะพูดอะไรก็ไม่มีใครฟังร๊อก..

แต่หากใครจะฟังบ้างก็เป็นกุศลซึ่งกันและกัน

พ่อใหญ่อยากจะบอกว่า

“ธรรมะเท่านั้นที่เป็นฐานของสังคมสันติสุข”

……

โสร่งพ่อใหญ่ สวยไหมล่ะ นี่ดีที่สุดเท่าที่มีแล้วนา..

วันนี้มาพูดกับลูกๆ เลยเอาโสร่งตัวโปรดมาใส่ซะหน่อย..

มันไม่ได้ช่วยให้คำพูดพ่อใหญ่ดังคับฟ้าร็อก..

เพราะ ใครๆก็รู้คำนี้อยู่แล้ว

เหลือแต่ว่า เอาไปปฏิบัติเท่านั้นเองแหละ..เหอะ..เหอะ..

เอา… เอา… พ่อใหญ่ไปก่อนหละลูก..

ให้อยู่เย็นเป็นสุขกันทั่วหน้านะลูกเอ้ย….



Main: 0.036226987838745 sec
Sidebar: 0.044042825698853 sec