ระลึกถึงครูองุ่น มาลิก…
อ่าน: 4574ผมได้รับจดหมายจากมูลนิธิไชยวนา ซึ่งอยู่ในบริเวณเดียวกันกับสถาบันปรีดี พนมยงค์ ซอยทองหล่อ ถนนสุขุมวิท เขตวัฒนา กทม
ความจริงผมก็ได้รับข่าวสารประจำของมูลนิธิแห่งนี้ แต่คราวนี้เป็นการเชิญเข้าร่วมงานรำลึกถึงครูองุ่น มาลิก ครบรอบ 19 ปีที่ท่านถึงแก่กรรมไปในวันอาทิตย์ที่ 21 มิถุนายน 2533 ตรงพอดีที่ครอบครัวเราขึ้นไปลำพูน เชียงใหม่ จึงรับปากกับคุณสินสวัสดิ์ ยอดบางเตย กรรมการและเลขานุการมูลนิธิไชวนา จะเขียนบันทึกถึงครูองุ่น
ลูกช้างรุ่นเก่าๆโดยเฉพาะคนที่ทำกิจกรรมทุกคนย่อมรู้จักครูองุ่น มาลิก ท่านนี้ เพราะท่านเป็นครูสอนจิตวิทยา หลาย Courses ซึ่งวิธีการสอนของท่านก็ไม่เหมือนท่านอื่นๆ นักศึกษาคนใดที่เป็นนักกิจกรรมก็ยิ่งรู้จักท่าน เพราะท่านเป็นผู้สนับสนุนคนให้เรียนหนังสือ และใช้เวลาว่างทำกิจกรรมที่ประเทืองปัญญา และช่วยเหลือสังคม
เดินขึ้นบันไดไปห้องขวามือแรกสุดที่เห็นนั่นแหละครับคือวิมานของผม
แน่นอนครับผมทั้งเรียนกับท่านและทำกิจกรรมกับท่าน และพวกที่ทำกิจกรรมส่วนใหญ่ก็เป็นคนที่มาจากครอบครัวที่ยากจน ที่มาจากครอบครัวมีอันจะกินก็มีแต่จำนวนน้อยกว่า พวกที่มีฐานะยากจนก็มักพบปัญหาเรื่องการเงินสนับสนุนจากทางบ้าน ผมจำได้ว่าครอบครัวผมส่งธนาณัติไปให้ผมเดือนละ 600 บาทเพื่อนบางคนได้น้อยกว่าผมอีก ครูองุ่นท่านไปซื้อที่ดินข้างมหาวิทยาลัย ปลูกบ้านแล้วอนุญาตให้นักศึกษาพวกนี้ไปสิงสถิตที่นั่น เราเรียกที่ตรงนี้ว่า “สวนอัญญา” ที่นี่จึงเป็นแหล่งนักกิจกรรมของมหาวิทยาลัยซึ่งรวมนักศึกษาที่มาจากเกือบทุกคณะ
ที่นี่เป็นที่พัก เป็นที่ประชุมทั้งทางการและไม่ทางการ เป็นที่สะสมเอกสารความรู้ต่างๆที่เราใช้เพื่อการเสวนากันและเป็นที่พักผ่อนหย่อนกาย จึงเป็นที่เพ่งเล็งของพวกตำรวจทั้งในเครื่องแบบและนอกเครื่องแบบ จนครั้งหนึ่งถูกเผาเสียเรียบอย่างอยุธยาเสียเมือง…
ครูองุ่นเป็นสาวสวยจากรั้วจามจุรี ท่านเป็นดาวจุฬา ดูรูปสิครับสาวๆท่านสวยมาก ท่านบินข้ามฟ้าไปเรียนเมืองนอกเมืองนา แล้วกลับมาเป็นครูสอนที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ตั้งแต่สมัยแรกๆ ปี 2512 ผมเข้าไปเรียน มช. ผมพักที่หอชายอาคาร 1 ท่านก็พักที่นี่เป็นห้องมุมสุดขวามือ
ท่านเดินไปสอนที่คณะสังคมศาสตร์ เป็นครูท่านเดียวที่นุ่งผ้าถุงไปสอน พูดจาฉะฉาน active เกินคนปกติ มีจิตใจเมตตาธรรมเหลือประมาณนับ โดยเฉพาะลูกศิษย์ลูกหาที่ยากจน และพวกบ้ากิจกรรมเพื่อส่วนรวม เพื่อสังคม ท่านจะเข้าไปสนับสนุน ช่วยเหลือ ให้คำแนะนำเสมอแม้กระทั่งเงินทองกินข้าวท่านก็ให้บ่อยๆ โดยไม่คิดจะเอาคืน
ครูองุ่นเป็นลูกศิษย์ตัวยงของท่านพุทธทาส ท่านเอานักศึกษาลงไปสวนโมกหลายต่อหลายครั้ง ท่านเอาคำสอนและแนวคิดของท่านพุทธทาสไปเผยแพร่ในห้องเรียน ซึ่งหลายเรื่องสอดคล้องกับวิชาที่ท่านรับผิดชอบการสอน ท่านเอาเอกสารสวนโมกไปแจก ให้นักศึกษาได้เรียนได้อ่าน และตั้งวงเสวนาเล็กๆกันเป็นประจำ ผมเองสมัยนั้นไม่ได้สนใจศาสนาในมุมการปฏิบัติธรรม แต่สนใจศาสนาในแง่หลักการสร้างคนให้เป็นคนดี ยุติธรรม ไม่เบียดเบียนกัน ไม่ทำร้ายซึ่งกันและกัน และเรามักจะตีความคู่ขนานไปกับหลักการของระบบคอมมูน ท่าน ดร.นิพนธ์ ศศิธร อดีตอธิการบดี มช.และอดีตรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ(ท่านเสียชีวิตไปเมื่อเดือนที่แล้วเอง) ท่านเคยกล่าวในเวทีอภิปรายไว้ว่า ใครก็ตามที่พัฒนาความรู้ในวิชาสาขาใดๆก็แล้วแต่ไปสู่สูงสุด ก็จะไปสู่จุดเดียวกันของความจริง
สมัยก่อนและหลัง 14 ตุลา 2516 นั้น ถือว่าเป็นยุคแรกๆของขบวนการนักศึกษาของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ การอภิปรายในเรื่องเกี่ยวกับบ้านเมืองนั้นเกิดขึ้นบ่อยครั้งพอๆกับการจัดงานเต้นรำที่เรียกงานบอลล์ของนักศึกษาอีกกลุ่มหนึ่ง ครูองุ่นจะเข้าร่วมการฟังบ่อยครั้งที่สุดและแน่นอนเกือบทุกครั้งท่านจะยกมือลุกขึ้นแสดงความเห็นเป็นประจำ จะเรียกขาประจำก็ได้ หลายครั้งเมื่อจบการอภิปรายแล้ว พวกเรายังมาตั้งวงคุยกันต่อที่สวนอัญญา ครูองุ่นก็ตามมาร่วมแจมด้วย ผมจำได้ว่าเหตุผลของครูนั้นเน้นเรื่องความยุติธรรม ความเท่าเทียมกัน และหลักการของพุทธศาสนาในแง่มุมต่างๆ โดยเฉพาะแนวทางที่มนุษย์สามัญทั่วไปควรยึดถือปฏิบัติ
ด้วยความที่ครูเป็นผู้ศรัทธาพุทธศาสนาแรงกล้า ครูจึงชวนพวกนักกิจกรรมทางการเมืองเข้าวัดบ่อยๆ วัดหนึ่งที่ท่านมีกิจกรรมประจำคือวัดประจำมหาวิทยาลัยเชียงใหม่คือวัดฝายหิน ที่ตั้งอยู่ที่สูงขึ้นไปเหนือที่ตั้งมหาวิทยาลัย เราต้องเดินขึ้นไป ครูองุ่นไปสนทนาธรรมกับท่านเจ้าอาวาส ท่านชวนพวกเรามาปลูกต้นไม้ มาพัฒนาบริเวณวัดให้น่าดูน่าพักผ่อน และหลายครั้งเราก็ใช้บริเวณวัดเป็นที่ตั้งวงเสวนาการเมืองกัน
ครั้งหนึ่งท่านศิลปินใหญ่ อาจารย์ถวัลย์ ดัชนี ท่านมีงานสอนที่คณะศึกษาศาสตร์ในวิชา Art Appreciation ผมก็ลงเรียนกับท่านด้วย ตอนนั้น อ.ถวัลย์กำลังดังสุดขีด ท่านได้รับเชิญไปอภิปรายในมหาวิทยาลัยหลายต่อหลายครั้ง และทุกครั้งคนฟังล้นหลามจริงๆ ทึ่งในความเป็นศิลปินของท่าน การแต่งเนื้อแต่งตัว การพูดจาฉะฉานเอะอะ ดังทะลุเหมือนฟ้าจะแตก แต่สาระทุกคำพูดของท่านล้วนมาจากแก่นแกนของพุทธศาสนาทั้งนั้น ผมฟังท่านไม่กระดิกหรอกครับ แต่ได้สร้างประเด็นในใจติดตัวมาจนผมออกบวชนั่นแหละจึงศึกษาในหลายเรื่องที่ท่านกล่าวไว้ ครูองุ่นชวนพวกเราและอาจารย์ถวัลย์ไปเปิด นิทรรศการงานศิลปะของอาจารย์ถวัลย์ที่ Rock Bowl ที่วัดฝายหิน เดิ่นซะไม่เมี๊ยะ ก็ช่วยกับแบกงานศิลปะซึ่งเป็นแผ่นงานเขียนรูปบนผ้าใบบ้าง บนแผ่นเหล็กบ้างจำนวนมาก ไปวางตามโขดหิน โน่นบ้าง นี่บ้าง เต็ม Rock Bowl แล้วอาจารย์ถวัลย์ก็ยืนเอามือกอดอกผมยาวที่ม้วนเรียบร้อยดูเคร่งขรึม นักศึกษาอาจารย์ต้องปีนภูเขาขึ้นมาดูงานศิลป์ อาจารย์ถวัลย์ก็เดินอธิบาย ครูองุ่นก็เติมเต็มในมุมสาระของศาสนา…
อีกช่วงหนึ่งที่ผมใกล้ชิดท่านครูองุ่นคือช่วงที่ผมออกมาทำงานพัฒนาชนบทแล้วและถูกตำรวจจับกุมในข้อหา “ผู้เป็นภัยต่อสังคม” คนสมัยนี้ได้ยินคำนี้อาจจะนึกว่าผมเป็นผู้ร้ายเที่ยวขโมย ปล้นเขากิน ลักเด็กเรียกค่าไถ่ หรือ ทำพิเรนเอาก้อนหินขว้างรถ ไม่ใช่นะครับ ข้อหานี้ความจริงก็คือกลุ่มคนที่มีความคิดเห็นทางการเมืองแตกต่างจากรัฐบาลสมัยนั้น ครูองุ่นโดนข้อหานี้ด้วย และเข้าไปอยู่ในค่ายกักกันที่เรียกเสียไพเราะว่า “ศูนย์การุณยเทพฯ” ในเวลาเดียวกับผม มีผู้นำชาวนา ผู้นำนักศึกษาที่หนีเข้าป่าไม่ทัน มีอาจารย์อีกหลายท่าน ครูองุ่นมักจะพาพวกเรานั่งสมาธิ ทำจิตใจให้สงบ และเสริมสร้างจิตใจในช่วงทุกข์ให้แก่พวกเรา
แม้ท่านออกจากราชการไปแล้วท่านก็ไม่หยุดการทำงานเพื่อสังคม ยังทำคณะหุ่นมือแล้วตระเวนไปจัดแสดงตามที่ต่างๆหลายภูมิภาคเพื่อสร้างเด็ก สั่งสอนสิ่งดีงามกับเด็กๆผ่านละคอนหุ่นมือ ครั้งหนึ่งท่านไปแสดงที่ขอนแก่น ผมพาครอบครัวไปพบท่าน ตอนนั้นลูกขวัญยังเล็ก ท่านก็ให้ลูกขวัญหยิบหุ่นมือมาหนึ่งตัว ขวัญหยิบหัวไก่โต้ง เธอเอามาเล่นที่บ้านตามจิตนาการแบบเด็กๆเป็นนาน และเอานอนบนที่นอนด้วยทุกคืนจนโต
ผมไม่อาจกล่าวคุณงามความดีของครูองุ่นได้หมด ผมกราบครูคนนี้ด้วยความสนิทใจ ความมีเมตตาของท่านนั้นเปี่ยมล้นเหลือคณา เพื่อนอดีตนักศึกษาอีกหลายท่านก็กล่าวถึงครูองุ่นมามากมายในวาระอื่นๆ
ท่านยังได้ตั้งมูลนิธิไชวนาขึ้นที่ที่ดินของท่านในซอยทองหล่อ สุขุมวิท 55 เพื่อประโยชน์แก่สังคมดังนี้
-
ขอเห็นสถานที่นี้ ร่วมเย็นเขียวขจี รักษาความเป็นธรรมชาติไว้จวบจนนิรันดร
-
ที่นี้จะเป็นศูนย์ย่อมๆแสดงถึงความรัก ความเมตตาของเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน
-
ขอให้เราเลือกเส้นทางถ่อมตน ยืนหยัด ทำหน้าที่อย่างสม่ำเสมอแบบนกน้อยทำรังแต่พอตัว
-
หวังว่าคนรุ่นหลังผู้มีจิตใจเสียสละเพื่อสังคม จะเข้ารับภาระสืบทอดดำเนินกิจกรรมในที่ดินแห่งนี้ จักมีความคิดกว้างไกล สามารถขยายงานรับใช้สังคมได้ในวงกว้างยิ่งขึ้นสืบไป
เนื่องในวาระครบรอบการเสียชีวิตของครูองุ่น ขอก้มกราบระลึกถึงคุณงามความดีของครู ที่ผมเดินบนเส้นทางวิถีชีวิตชนบทจนถึงปัจจุบันนี้นั้นก็เพราะอดีตส่วนหนึ่งสำนึกของผมเกิดมาเพราะส่วนที่เกี่ยวข้องกับครูนี่แหละ
ครูมีส่วนสร้างผมมาครับ
ลูกศิษย์ลูกหาของครูยังสืบสานเจตนารมณ์ทำงานเพื่อแผ่นดินอยู่ครับครู…