ที่ว่างของชาวบ้าน..
อ่าน: 8092ก่อนจะมาอีสานผมคุยกับเพื่อนๆว่า เราต้องรู้จักคน ดิน น้ำ ป่า ของอีสาน เราต้องเข้าใจพื้นฐานของสิ่งเหล่านี้ มิเช่นนั้นเราจะทำงานไม่ตรงกับคนและสภาพของอีสาน
วันหนึ่งมีการสัมมนาที่สถาบันวิจัย มหาวิทยาลัยขอนแก่นเกี่ยวกับเรื่องน้ำในอีสานนี่แหละ มีนักวิชาการผู้ชำนาญการหลายท่านมาให้ความรู้ความเข้าใจและความเห็นต่อการบริหารจัดการน้ำในอีสาน ผมเห็นวิทยากรท่านหนึ่งถูกแนะนำว่าเป็นชาวบ้าน เป็นปราชญ์ เมื่อท่านพูด นำเสนอประสบการณ์ของท่าน ผมก็ทึ่งว่าชาวบ้านท่านนี้ทำไมใช้สื่อเพื่อการนำเสนอเก่งจัง สาระก็เป็นฐานรากของปัญหาและประสบการณ์การแก้ไขที่ท่านลงมือทำเอง
เนื่องจากผมทำงานพัฒนาชนบทมาพอสมควร รู้จักชาวบ้านพอสมควร ย่อมรู้ดีว่า ชาวบ้านนั้นเป็นนักปฏิบัติ พูดไม่เก่ง ยิ่งนำเสนอเป็นเรื่องเป็นราวนั้นยิ่งไปใหญ่เลย แต่ก็มีชาวบ้านจำนวนหนึ่งที่เด่นชัดเจน ชาวบ้านเหล่านั้นมักเป็นคนที่มีตำแหน่ง มีหน้าที่อยู่ในชุมชน หรือท้องถิ่นนั้นๆ แต่ท่านผู้นี้วาจาคารมคมคายนัก ง่ายๆ ตรงๆ และถูกใจผมมาก
แม้ว่าจะมีการแนะนำตัวผมก็ไม่รู้จักท่าน จริงๆ แล้ววันเวลาก็ผ่านเลยไปจนผมก้าวเข้ามาในสังคมเสมือน Cyber community ที่ Go to Know หรือที่เรียกกันภายในว่า G2K ผมก็มาพบชาวบ้านท่านผู้นี้อีกครั้ง ท่านเขียนบันทึกทุกวัน มากมายนับไม่ถ้วน ผมกลายเป็นแฟนคลับท่านไปโดยไม่รู้ตัว เพราะติดใจในสาระและรสอักษรของท่าน ….
ผู้นำหลายคนที่ทำเก่งมาก แต่พูดไม่ได้ความ ผู้นำบางคนทำพอใช้ได้ แต่พูดเก่งเป็นไฟ และก็มีบางคนที่พูดน่าฟัง มีหลักมีเกณฑ์ แต่ไม่ได้ทำเท่าไหร่ การพูดคนธรรมดานั้นหลายท่านก็เอาเรื่องอยู่ เพราะวัฒนธรรมการใช้ภาษาของแต่ละท้องถิ่นแตกต่างกัน ต้องตีความหมาย และชาวบ้านจะไม่พูดอะไรเป๊ะๆ แต่จะใช้ภาษาแบบประมาณนั้น, คล้ายๆแบบนั้น, ทำนองนั้น, ฯลฯ แต่ท่านผู้นี้ใช้ภาษาได้ดี โดยเฉพาะภาษาไทยโบราณ จนบางคำผมลืมไปแล้ว
ผมชอบใจที่ท่านพูดดี เขียนก็ดี และที่สำคัญทำงานก็ดี สรุปบทเรียนดี เป็นคุณสมบัติที่หายากยิ่งในระดับชาวบ้าน
ผมมีโอกาสเดินทางไปชุมนุมเพื่อนร่วมก๊วนเขียนบล็อก ที่บ้านของท่านผู้นี้ ผมต้องทึ่งอีก เพราะที่พักของท่านแวดล้อมไปด้วยต้นไม้ หลากหลาย ร่มรื่น และที่นี่เองเป็นห้องเรียนสารพัดเรื่อง
พ่อชาดี วงษ์กะโซ่ ปราชญ์ชาวบ้านแห่งดงหลวงนั้นมีความเป็นตัวของตัวเองสูงนักเกินชาวบ้านทั่วไป ท่านยึดมั่นหลักการยิ่งนัก พ่อแสน แห่งดงหลวงก็เช่นกัน รับรางวัลมาหลายครั้งทั้งระดับจังหวัดและระดับชาติ ก็เพราะท่านเป็นนักสังเกตธรรมชาติและเอามาดัดแปลงใช้ในป่าครอบครัวของท่าน การค้นพบหลายอย่างของท่านก็มาจากการปฏิบัติ และเฝ้าพิจารณาเมื่อพบความจริงก็เอามาขยายต่อ ทดลองทำจนพบความสำเร็จ นายสีวร หนุ่มผู้อกหักจากการเร่ร่อนไปรับจ้าง แต่ก็มาปลื้มกับเกษตรผสมผสานหลังบ้านแปลงเล็กๆที่เหลือกินเหลือใช้ ขายจนมีรายได้วันละ 200-300 บาท
ท่านเหล่านี้ผมได้นำชีวิตท่านยกขึ้นบนเวทีสาธารณะในสังคมเสมือน เพราะผมตั้งเจตนาไว้ประการหนึ่งว่า บล็อก นี้ควรจะเป็นเวทีสำหรับชาวบ้านบ้าง ผ่านเราผู้ไปพบไปเห็นไปสัมผัส ก็ควรนำท่านมาสู่สาธารณะบ้างตามวาระ
ในสังคมสื่อสารนั้นไม่ว่าหน้าหนังสือพิมพ์ หน้าจอทีวี เสียงทางวิทยุ หรือแม้แต่ Social network ต่างๆนั้น ล้วนเป็นคนชั้นกลางขึ้นไปทั้งนั้นที่มาวาดลวดลายบนสื่อเหล่านี้ ทั้งทำเองและนักสื่อสารหยิบเอามาทำข่าวด้วยวัตถุประสงค์ต่างๆกัน แต่ไม่มี หรือมีน้อยมากๆที่จะเป็นพื้นที่ของชาวบ้าน ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ
เมื่อผมคุ้นชินกับสังคมเสมือนและกลายเป็นสมาชิกของสังคมนี้ ผมดีใจที่สังคมแห่งนี้มีพื้นที่สำหรับชาวบ้าน โดยเฉพาะชาวบ้านอย่างปราชญ์แห่งอำเภอสตึก จังหวัดบุรีรัมย์ ที่ชื่อ ครูบาสุทธินันท์ ปรัชญาพฤทธิ์ ที่ผมเรียกท่านว่าพ่อครูบาฯ ท่านสร้างเวทีของท่านเอง ท่านสร้างพื้นที่ในสังคมแห่งนี้ขึ้นมาเอง และบรรเลงเพลงชีวิตการต่อสู้เพื่อความอยู่รอดของชาวชนบท ที่มักเป็นอันดับท้ายๆของการพัฒนาจริงๆ แต่เป็นอันดับต้นๆของการประชาสัมพันธ์โดยรัฐและการชอบอ้างถึงของนักการเมืองยุคทุนนิยม
ประสบการณ์ที่อัดแน่นในชีวิตของพ่อครูบานั้นเป็นครูสำหรับคนทั่วประเทศ เป็นห้องสมุดให้นักศึกษามาค้นคว้าทำปริญญากันมากมาย เป็นลายแทงให้นักแสวงหาทั้งหลายมาค้นหา เป็นทองคำบริสุทธิ์ให้ผู้คนทั่วสารทิศมาร่อนเก็บเอาไป ฯลฯ และเป็นบึงใหญ่น้ำใสแจ๋วให้ลูกหลานได้ดื่มกินจนชุ่มชื่นใจ
พื้นที่แห่งนี้คือพื้นที่ของพ่อครูบาฯ ชาวบ้านของปวงชนที่สร้างขึ้นมาเพื่อสังคม ผู้แสวงหาเท่านั้นจึงจะค้นพบ…
พ่อครูบาฯ….. ชาวบ้านน้อยคนนักที่จะมีที่ยืนเช่นนี้