ที่ว่างของชาวบ้าน..

412 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 2 ตุลาคม 2011 เวลา 0:52 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป, เฮฮาศาสตร์ #
อ่าน: 7859

ก่อนจะมาอีสานผมคุยกับเพื่อนๆว่า เราต้องรู้จักคน ดิน น้ำ ป่า ของอีสาน เราต้องเข้าใจพื้นฐานของสิ่งเหล่านี้ มิเช่นนั้นเราจะทำงานไม่ตรงกับคนและสภาพของอีสาน

วันหนึ่งมีการสัมมนาที่สถาบันวิจัย มหาวิทยาลัยขอนแก่นเกี่ยวกับเรื่องน้ำในอีสานนี่แหละ มีนักวิชาการผู้ชำนาญการหลายท่านมาให้ความรู้ความเข้าใจและความเห็นต่อการบริหารจัดการน้ำในอีสาน ผมเห็นวิทยากรท่านหนึ่งถูกแนะนำว่าเป็นชาวบ้าน เป็นปราชญ์ เมื่อท่านพูด นำเสนอประสบการณ์ของท่าน ผมก็ทึ่งว่าชาวบ้านท่านนี้ทำไมใช้สื่อเพื่อการนำเสนอเก่งจัง สาระก็เป็นฐานรากของปัญหาและประสบการณ์การแก้ไขที่ท่านลงมือทำเอง

เนื่องจากผมทำงานพัฒนาชนบทมาพอสมควร รู้จักชาวบ้านพอสมควร ย่อมรู้ดีว่า ชาวบ้านนั้นเป็นนักปฏิบัติ พูดไม่เก่ง ยิ่งนำเสนอเป็นเรื่องเป็นราวนั้นยิ่งไปใหญ่เลย แต่ก็มีชาวบ้านจำนวนหนึ่งที่เด่นชัดเจน ชาวบ้านเหล่านั้นมักเป็นคนที่มีตำแหน่ง มีหน้าที่อยู่ในชุมชน หรือท้องถิ่นนั้นๆ แต่ท่านผู้นี้วาจาคารมคมคายนัก ง่ายๆ ตรงๆ และถูกใจผมมาก

แม้ว่าจะมีการแนะนำตัวผมก็ไม่รู้จักท่าน จริงๆ แล้ววันเวลาก็ผ่านเลยไปจนผมก้าวเข้ามาในสังคมเสมือน Cyber community ที่ Go to Know หรือที่เรียกกันภายในว่า G2K ผมก็มาพบชาวบ้านท่านผู้นี้อีกครั้ง ท่านเขียนบันทึกทุกวัน มากมายนับไม่ถ้วน ผมกลายเป็นแฟนคลับท่านไปโดยไม่รู้ตัว เพราะติดใจในสาระและรสอักษรของท่าน ….

ผู้นำหลายคนที่ทำเก่งมาก แต่พูดไม่ได้ความ ผู้นำบางคนทำพอใช้ได้ แต่พูดเก่งเป็นไฟ และก็มีบางคนที่พูดน่าฟัง มีหลักมีเกณฑ์ แต่ไม่ได้ทำเท่าไหร่ การพูดคนธรรมดานั้นหลายท่านก็เอาเรื่องอยู่ เพราะวัฒนธรรมการใช้ภาษาของแต่ละท้องถิ่นแตกต่างกัน ต้องตีความหมาย และชาวบ้านจะไม่พูดอะไรเป๊ะๆ แต่จะใช้ภาษาแบบประมาณนั้น, คล้ายๆแบบนั้น, ทำนองนั้น, ฯลฯ แต่ท่านผู้นี้ใช้ภาษาได้ดี โดยเฉพาะภาษาไทยโบราณ จนบางคำผมลืมไปแล้ว

ผมชอบใจที่ท่านพูดดี เขียนก็ดี และที่สำคัญทำงานก็ดี สรุปบทเรียนดี เป็นคุณสมบัติที่หายากยิ่งในระดับชาวบ้าน

ผมมีโอกาสเดินทางไปชุมนุมเพื่อนร่วมก๊วนเขียนบล็อก ที่บ้านของท่านผู้นี้ ผมต้องทึ่งอีก เพราะที่พักของท่านแวดล้อมไปด้วยต้นไม้ หลากหลาย ร่มรื่น และที่นี่เองเป็นห้องเรียนสารพัดเรื่อง

พ่อชาดี วงษ์กะโซ่ ปราชญ์ชาวบ้านแห่งดงหลวงนั้นมีความเป็นตัวของตัวเองสูงนักเกินชาวบ้านทั่วไป ท่านยึดมั่นหลักการยิ่งนัก พ่อแสน แห่งดงหลวงก็เช่นกัน รับรางวัลมาหลายครั้งทั้งระดับจังหวัดและระดับชาติ ก็เพราะท่านเป็นนักสังเกตธรรมชาติและเอามาดัดแปลงใช้ในป่าครอบครัวของท่าน การค้นพบหลายอย่างของท่านก็มาจากการปฏิบัติ และเฝ้าพิจารณาเมื่อพบความจริงก็เอามาขยายต่อ ทดลองทำจนพบความสำเร็จ นายสีวร หนุ่มผู้อกหักจากการเร่ร่อนไปรับจ้าง แต่ก็มาปลื้มกับเกษตรผสมผสานหลังบ้านแปลงเล็กๆที่เหลือกินเหลือใช้ ขายจนมีรายได้วันละ 200-300 บาท

ท่านเหล่านี้ผมได้นำชีวิตท่านยกขึ้นบนเวทีสาธารณะในสังคมเสมือน เพราะผมตั้งเจตนาไว้ประการหนึ่งว่า บล็อก นี้ควรจะเป็นเวทีสำหรับชาวบ้านบ้าง ผ่านเราผู้ไปพบไปเห็นไปสัมผัส ก็ควรนำท่านมาสู่สาธารณะบ้างตามวาระ

ในสังคมสื่อสารนั้นไม่ว่าหน้าหนังสือพิมพ์ หน้าจอทีวี เสียงทางวิทยุ หรือแม้แต่ Social network ต่างๆนั้น ล้วนเป็นคนชั้นกลางขึ้นไปทั้งนั้นที่มาวาดลวดลายบนสื่อเหล่านี้ ทั้งทำเองและนักสื่อสารหยิบเอามาทำข่าวด้วยวัตถุประสงค์ต่างๆกัน แต่ไม่มี หรือมีน้อยมากๆที่จะเป็นพื้นที่ของชาวบ้าน ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ

เมื่อผมคุ้นชินกับสังคมเสมือนและกลายเป็นสมาชิกของสังคมนี้ ผมดีใจที่สังคมแห่งนี้มีพื้นที่สำหรับชาวบ้าน โดยเฉพาะชาวบ้านอย่างปราชญ์แห่งอำเภอสตึก จังหวัดบุรีรัมย์ ที่ชื่อ ครูบาสุทธินันท์ ปรัชญาพฤทธิ์ ที่ผมเรียกท่านว่าพ่อครูบาฯ ท่านสร้างเวทีของท่านเอง ท่านสร้างพื้นที่ในสังคมแห่งนี้ขึ้นมาเอง และบรรเลงเพลงชีวิตการต่อสู้เพื่อความอยู่รอดของชาวชนบท ที่มักเป็นอันดับท้ายๆของการพัฒนาจริงๆ แต่เป็นอันดับต้นๆของการประชาสัมพันธ์โดยรัฐและการชอบอ้างถึงของนักการเมืองยุคทุนนิยม

ประสบการณ์ที่อัดแน่นในชีวิตของพ่อครูบานั้นเป็นครูสำหรับคนทั่วประเทศ เป็นห้องสมุดให้นักศึกษามาค้นคว้าทำปริญญากันมากมาย เป็นลายแทงให้นักแสวงหาทั้งหลายมาค้นหา เป็นทองคำบริสุทธิ์ให้ผู้คนทั่วสารทิศมาร่อนเก็บเอาไป ฯลฯ และเป็นบึงใหญ่น้ำใสแจ๋วให้ลูกหลานได้ดื่มกินจนชุ่มชื่นใจ

พื้นที่แห่งนี้คือพื้นที่ของพ่อครูบาฯ ชาวบ้านของปวงชนที่สร้างขึ้นมาเพื่อสังคม ผู้แสวงหาเท่านั้นจึงจะค้นพบ…

พ่อครูบาฯ….. ชาวบ้านน้อยคนนักที่จะมีที่ยืนเช่นนี้


ขอนแก่นอบอุ่น

296 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 10 ธันวาคม 2010 เวลา 12:41 ในหมวดหมู่ เฮฮาศาสตร์ #
อ่าน: 8489

เข้าฤดูหนาวนานพอสมควรแล้วในความรู้สึกผมก็ไม่หนาวเท่าไหร่ เรียกว่า อากาศกำลังดีมากกว่า ไม่ร้อนจนเหงื่อโซก และไม่หนาวสั่นสะท้าน ไม่ได้ออกรอบ ตีกอล์ฟมานานแล้วเพราะงานเขียนล้นมือให้ก้นติดกับเก้าอี้มากกว่า ยิ่งงานใหม่นั้นต้องปรับบรรยากาศการทำงาน การทำรายงานใหม่ด้วย


พี่น้องลานที่ขอนแก่นมีหลายคน ก็ไม่ค่อยได้พบปะกันหากไม่มีการนัดพิเศษ ต่างคนก็มีภารกิจของตัวเอง มากบ้างน้อยบ้างตามเงื่อนไข

สองสามวันก่อนทราบว่าจอมป่วนจะเดินทางไปสวนป่า เลยขอให้แวะขอนแก่นหน่อย คิดถึง จอมป่วนก็รับปากจะมาทานกาแฟที่ร้านเพื่อนออต หน้าสถานีรถไฟ

เมื่อเช้าเก้าโมงกว่าๆ นั่งเขียนรายงานตั้งแต่เช้า อยากจะเร่งให้เสร็จเร็วๆจะได้ไปทำอย่างอื่นบ้าง คนข้างกายก็ก้มหน้าทำรายงานด่วนของเธอ อยากให้เสร็จก่อนพาครอบครัวเที่ยวปีใหม่กัน พ่อแม่ลูกไม่ค่อยพบกัน มีแต่โทรศัพท์หากันจนบริษัทบริการมือถือรวยล้นฟ้าไปแล้ว (อิอิ เว่อไปหน่อย…) จอมป่วนโทรมาบอกว่าจะถึงขอนแก่นเร็วกว่าที่นัดหมาย..

ได้เลย ..รีบจัดการตัวเอง โทรนัดป้าหวาน ไปรับป้าหวานไปที่ร้านนัดหมาย อ้าวจอมป่วนมาถึงแล้ว… มีออตคอยอยู่แล้ว มีรานี และครูสุมาด้วย ดีจัง ไม่ได้พบมานานแล้ว

ถามไถ่กัน ถามถึงคนนั้นคนนี้ ครูสุถามป้าหวานว่ามาในลานได้อย่างไรนี่.. ป้าหวานยิ้มหวานตามสไตล์ แล้วก็เล่าให้ฟัง พาดพิงไปถึงใครต่อใครมากมายที่คิดถึงกัน แล้วป้าหวานก็ยกหูโทรศัพท์คุยกับหนุ่มเชียงรายผู้มีหนวดงาม แล้วก็ให้คนโน้นคนนี้ได้คุยกันให้หายคิดถึง

น้องรานีและครูสุบอกว่าอยากจัดเฮฮาเหมือนที่ดงหลวงอีก ชอบบรรยากาศแบบนั้นมาก ผมก็ว่าหากสมาชิกพร้อมใจกันก็ยินดีประสานงานได้ และเห็นด้วยที่อยากให้เกิดแค้มป์เฮฮาศาสตร์อีกหลังจากที่ห่างหายไปนาน

ที่ไหนก็ได้ที่เป็นป่าเขา แม้ในลาว ว่างั้น แต่ที่ลาวนั้นต้องปรึกษาอาวเปลี่ยน

จอมป่วนมีนัดหมายรายทางอีกก่อนถึงสวนป่า จึงร่ำลากันเมื่อถึงเวลาอันควร

ที่ไหนก็ได้ที่มีพี่น้องเฮฮาศาสตร์ มันอบอุ่น อ่ะ..


ทดสอบเครื่องใหม่

191 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 2 ตุลาคม 2010 เวลา 8:50 ในหมวดหมู่ เฮฮาศาสตร์ #
อ่าน: 1899

เครื่องเดิมที่ใช้เป็นของส่วนตัว จอพัง frame แตก แป้นหลุด เพราะใช้งานหนัก พอมาเมื่อสองปีที่ผ่านมาโครงการซื้อเครื่องให้้ใช้ตอนนี้โครงการจะปิด ต้องโอนเครื่องให้ราชการ เลยไปถอยเครื่องมาใหม่ มาลอง set เครื่องเพื่อใช้งานต่อไป


คนไม่มีกรอบ..

1190 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 25 พฤษภาคม 2010 เวลา 20:44 ในหมวดหมู่ เฮฮาศาสตร์ #
อ่าน: 20812

คนที่บ้านมีนิสัยอ่านหนังสือเยอะมาก สมัยเด็กๆเล่าว่าอ่านหนังสือกำลังภายในซะหมดร้านเลย ตอนเราตกลงใจมาใช้ชีวิตด้วยกัน เธอก็สั่งหนังสือหลายเล่ม ผมเองอ่านมติชน ทั้งรายวัน รายสัปดาห์ Reader’s digest, นิตยสารรายปักษ์อีกสองสามเล่ม เธอก็สั่ง สกุลไทย และ.. อ่านกันไม่หวาดไม่ไหว.. สิ้นปีก็โล๊ะขายที โห.ได้ตังค์กินไอติมหลายอัน


พอระบบทีวีบ้านเรามีการสรุปข่าวทุกเช้า ทุกเย็น ทุกค่ำ เราก็เลยยกเลิกหนังสือพวกนี้เกือบหมด ยกเว้น สกุลไทย เธอยังต้องอ่านประจำขาดไม่ได้ เรื่องใหญ่เลยหละ อิอิ หนังสือสกุลไทยเก่ากองล้นบ้าน เคยขนเอาไปให้อาว์เปลี่ยนอ่านต่อที่มุกดาหาร จริงๆผมไม่อ่านนิยายเลยสักเรื่อง ดูก็ไม่ดู แต่ในสกุลไทยก็มีหน้าวิชาการ กฎหมาย และสัมภาษณ์ดีดี บ่อยๆ


วันนี้กลับมาจากที่ทำงาน เห็นสกุลไทยเล่มใหม่ที่รั้ว เปิดดูก็พบชื่อ อ.ไร้กรอบ ก็แอบเปิดอ่านก่อนคนที่บ้าน อิอิ เลยเอามาบอกกล่าวกัน

สไตล์ไร้กรอบพูด หายห่วง ห่วงหาย ก็แล้วกัน ใครสนใจก็ตามไปดูกันเด้อครับ

(เอ..วันนี้ถ่ายรูปไม่ชัดเลย)


บทเรียนสวนป่าของบางทราย..

109 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 14 พฤษภาคม 2010 เวลา 14:23 ในหมวดหมู่ เฮฮาศาสตร์ #
อ่าน: 3677

ตัวเองมาพินิจพิจารณาจากการไปสวนป่าครั้งนี้ มีบทเรียน และความคิดเห็นหลายประการ ดังบันทึกไปบ้างแล้ว อยากบันทึกความคิดเห็นต่อบทเรียนชิ้นสำคัญ กรณีอาจารย์โสรีช์ ที่ผมประทับใจบทบาทและลีลาของท่านอย่างไม่เคยพบอาจารย์ท่านใดทำมาก่อน


ท่านอาจารย์ปฏิบัติตัวเองเป็นทั้งผู้บอกกล่าวและเพื่อนเล่น เพื่อนร่วมการเรียนรู้ อาจารย์โสรีช์ท่านเล่นหลายบทบาทในตัวเอง ในมุมมองของผมนั้นประทับใจการสร้างความกลมกลืน ความเป็นกันเอง การเปิด ฯ ของอาจารย์ต่อลูกศิษย์คนอื่นๆ ผมคิดว่านี่คือปฐมบทของกระบวนการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ยิ่งท่านเอาความสามารถเฉพาะตัวเรื่องการเล่นกีต้าร์ มาเป็นเครื่องมือสร้างการเรียนรู้ผ่านบทเพลงอันไพเราะ เพลง Greenfields นี้ผมยิ่งฟังยิ่งไพเราะ เมื่อผมเดินทางถึงบ้านเดินไปหยิบเอา CD แผ่นนี้มาเปิดซ้ำแล้วซ้ำอีก และนึกถึงการบรรยายของอาจารย์ที่กินความหมายลึกซึ้งยิ่งนัก เป็นแรงผลักให้ผมยกระดับการมองอะไรอะไรให้ไปสู่อีกมิติหนึ่งทีเดียว จนผมมองตัวอาจารย์โสรีย์ในอีกสถานะหนึ่ง เหมือนนักเทศนาทางด้านจิตวิญญาณเลยทีเดียวครับ

ผมขอพิจารณากรณี Session ที่ผมดำเนินการ ความคิดเห็นของแต่ละคนต่อชนบทนั้นมีบทพิจารณาอย่างไร


เป็นเรื่องปกติเหลือเกินที่คนมองดวงจันทร์วันเพ็ญแล้วอธิบายด้วยสาระที่แตกต่างกันมากมาย หรือใกล้เคียงกัน เช่นเดียวกัน แต่ละคนมองชุมชนในมิติที่หลากหลายเพราะ “ฐานการมอง” ที่แตกต่างกัน ซึ่งฐานการมองที่แตกต่างกันนั้นมาจาก “เบ้าหลอมชีวิต” ที่แตกต่างกัน ซึ่งเบ้าหลอมนี้เองที่ได้เป็นเหตุปัจจัยให้วิสัยทัศน์ของบุคคลนั้นๆแตกต่างกันและมีส่วนสำคัญส่วนหนึ่งที่ผลักดันให้เกิดการเดินบนเส้นทางที่เหมือนกัน ต่างกัน หรือใกล้เคียงกัน


เบ้าหลอมหลายคนมีอิทธิพลมาจากครอบครัว การศึกษา ความสนอกสนใจเฉพาะตัว หรือเกิดสำนึกสูงส่งใดๆขึ้นมา ประสบการณ์ชีวิตก็มีส่วนสำคัญ วัฒนธรรม ประเพณี ความเชื่อ ศาสนา ก็ยังมีผลต่อเบ้าหลอม และเบ้าหลอมอื่นๆ ฯลฯ นี่เองที่เรามักพูดถึงระบบการศึกษาสร้างอะไรแก่เด็ก ระบบครอบครัวมีส่วนมากน้อยแค่ไหนในการสร้างเด็กรุ่นใหม่ และแม้แต่สภาพชุมชน ที่มีทุนทางสังคม หรือการแตกสลายของทุนทางสังคมก็ส่วนสำคัญต่อเด็กรุ่นใหม่.. และฐานมุมมองก็ไม่ได้มาจากอิทธิพลปัจจัยด้านใดด้านหนึ่ง อาจจะผสมผสาน ปนเปกันไปตามเหตุผลที่แตกต่างกัน


ขออนุญาตยกกรณี การแสดงความคิดเห็นของท่านอาจารย์โสรีช์ต่อ ตารางสี่เหลี่ยมที่ผมนำมาเป็นสื่อการเข้าสู่กระบวนการเรียนรู้นั้น ท่านตอบว่ามีรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสเพียงหนึ่งรูปเท่านั้น(จากทั้งหมด 30 รูป) ท่านมีคำอธิบายที่เป็นคำอธิบายในมิติ ปรัชญา จากฐานการมองที่แตกต่างจากกลุ่มคนอื่นๆ และน่าสนใจ ทำให้ผมเกิดมิติการเรียนรู้เพิ่มขึ้นจากมุมมองของท่าน

“ในความต่างมีความเหมือน ในความเหมือนมีความต่าง” ท่านมองในมุมความแตกต่างมีความเหมือน ซึ่งท่านเน้นว่ามุมนี้เป็นมุมบวก หากเรามองแต่ความแตกต่างก็สามารถพัฒนาไปสู่ความขัดแย้ง แตกแยกได้ ตรงข้ามหากเรามองเห็นความเหมือนในความต่าง ก็จะเป็นวิธีมองที่ไม่เกิดความแตกแยก..

ผมยอมรับมิติของท่าน แต่ผมก็มีความคิดเห็นต่อเนื่องมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเราในฐานะที่คนทำงานต้องเผชิญหน้ากับคนที่เป็นเป้าหมายที่มีความแตกต่างในเรื่องฐานการมองที่แตกต่างกันมากมาย และมิติเชิงปรัชญานี้ต้องเป็นคนที่มีสติปัญญาที่ถูกพัฒนามาระดับหนึ่งเท่านั้นจึงจะสัมผัสได้ เข้าใจได้ นั่นหมายความว่า ผู้ทำงานต้องเป็นผู้เล่นดนตรีได้หลายคีย์ อ่านบุคคลต่อหน้าให้ออกว่าเขาอยู่ในคีย์ไหนแล้วยกระดับตัวเราให้ใกล้เคียงกับเขาแล้วคุยกันเพื่อยกระดับเขา

แต่นักปฏิบัติต้องฝึกฝนมิตินี้อย่างมากมายทีเดียวก่อนที่จะลงสนามทำงาน มิเช่นนั้นก็เป็นเพียงผู้เล่นดนตรีเท่านั้น เพลงที่บรรเลงไม่มีความไพเราะเอาเสียเลย

เมื่อสรุปได้ดังนี้ผมก็มองมาดูตัวเอง โอ้พระเจ้า เรายังต้วมเตี้ยมอยู่เลย..


วิเคราะห์ เฮงซวย..

17 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 12 พฤษภาคม 2010 เวลา 0:38 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป, เฮฮาศาสตร์ #
อ่าน: 1140

บ่อยครั้งที่เราได้ยินคนพูดว่า ร้องเพลงคนละคีย์ เล่นเพลงคนละคีย์

บ่อยมากๆ นั่งฟังพระเทศน์แล้วไม่รู้เรื่อง เพราะพระท่านพูดคนละภาษากับผู้ฟัง อธิบายได้คือ พระท่านเอาหลักธรรมมาเทศน์ ที่มีความหมายลึกซึ้งเกินกว่าปุถุชนจะฟังเพียงผ่านหูเท่านั้นแล้วเข้าใจ คำบางคำอาจจะต้องปฏิบัติเป็นแรมปีจึงจะเข้าใจลึกซึ้งถึงความหมายนั้นๆ เช่น มหาสติปัฏฐาน 4 (การเห็นกายในกาย การเห็นเวทนาในเวทนา การเห็นจิตในจิต และการเห็นธรรมในธรรม)
ยกตัวอย่าง การพิจารณาให้เห็น เวทนา ในเวทนา หมายถึง เข้าใจในเวทนาจริงๆอย่างถูกต้อง เห็นเวทนาตามความเป็นจริงไม่ถูกครอบงําโดยกิเลส หรือทิฎฐุปาทาน(ยึดมั่นในความเชื่อของตนเองอย่างผิดๆ)
เห็นว่าสักแต่เพียงกระบวนการทางธรรม(ชาติ)เป็นปกติอย่างนี้ตลอดกาล เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ไม่ไปยึดมั่นหรือถือมั่นให้เป็นอุปาทานในเวทนาหรือการเสพรสความรู้สึกรับรู้ ในอารมณ์ที่บังเกิดขึ้นนั้น (ข้อมูลจาก www.kammatan.com)

ถามว่าการที่ปุถุชนคนทั่วไปอย่างเราๆ ท่านๆ เดินไปทำบุญที่วัดแล้วพระท่านพูดว่า “ให้ญาติโยมมั่นพิจารณา เวทนาในเวทนานะ…” เราจะเข้าใจไหม ผมเชื่อว่ามีน้อยคนนักที่จะเข้าใจ ตรงนี้เองที่ผมเรียกว่า พูดกันคนละภาษา เล่นเพลงคนละคีย์

ผมเรียนหนังสือกับท่านอาจารย์ ถวัลย์ ดัชนี สมัย มช.ปี 2512 นั้น ท่านเพิ่งกลับมาจากนอก และกำลังดังเป็นพลุแตก เข้ามาสอนวิชา Art appreciation เดือนแรกฟังท่านไม่รู้เรื่องเลย อะไรโลกิยะ อะไรโลกุตระ จนพวกเราเรียก Art อัปรีย์ อิอิ

การที่พระคุณเจ้าเอาสาระของมหาสติปัฏฐาน 4 มากล่าวนั้น ท่านกล่าวด้วยฐานของท่านที่มีความรู้ ความเข้าใจ มากกว่าปุถุชน กล่าวในฐานที่ท่านพัฒนาจิตไปนั่งอยู่ในสภาวธรรมนั้นๆ คำพูดของท่าน สาระของท่านจึงอยู่เหนือคนทั่วไปจะเข้าใจท่านได้

เช่นเดียวกับท่านอาจารย์ ถวัลย์ ดัชนี ท่านศึกษาและปฏิบัติด้านโลกุตระธรรมมามากมายจนจิตท่านขึ้นไปแขวนลอยอยู่ที่ตรงนั้น สิ่งที่ท่านพูด ทำ คิด อ่าน จึงมีภาษาออกมาที่อยู่บนฐานของธรรมที่ท่านสถิตที่ตรงนั้น ดูได้จากงานของท่าน

แน่นอนท่านอาจารย์ ดร.โสรีย์ ท่านรู้ เข้าใจ ปฏิบัติ ฝึกฝนจิตสำนึกของท่านในทางปรัชญาธรรมมากกว่าเราๆ ท่านๆ หลายคำที่ท่านแสดงความเห็น เราจึงต้องตั้งสติ ฟังอย่างโยนิโสมนสิการ แต่กระนั้นมิอาจเข้าใจได้ทั้งหมด ต้องฟังซ้ำ ขอคำอธิบายเพิ่มเติม และเหมือนท่านควบคุมสติให้นิ่งสงบอยู่ในมิตินั้น จึงไม่ง่ายนักที่เราจะเข้าใจท่าน

เมื่อเราใช้มิติของปุถุชนไปสอบถามท่าน ซึ่งเป็นเรื่องปกติ ในขณะที่ท่านอยู่ในมิตินั้นๆ ท่านอาจจะรำคาญกับคำถามแบบนี้ ท่านย่อมกล่าวคำที่ไม่เสนาะหูออกมา ด้วยความที่เป็นศิลปิน ภาษาที่ใช้จึงบาดหู ที่ในชีวิตปกติเราไม่ค่อยได้ยินคำนี้บ่อยนัก ผมเองพยายามปรับตัวตั้งนานกว่าจะพยายามเขย่งตัวเองขึ้นไปฟังสาระในคำกล่าวต่างๆของท่าน

คนพูดพูดด้วยคีย์หนึ่ง คนฟังฟังด้วยอีกคีย์หนึ่ง

นั่นคือ ป้าหวานอยู่ในคีย์หนึ่ง ขณะที่อาจารย์ขึ้นไปอยู่ในอีกคีย์หนึ่ง

ความต่างตรงนี้เองที่เป็นที่มาของคำว่า..เฮงซวย.. หากผมเป็นคนพูดคำถามนั้น ผมก็โดน เฮงซวย เป็นสองเท่า..


Walk through learning (WTL)สวนป่า

432 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 10 พฤษภาคม 2010 เวลา 21:22 ในหมวดหมู่ งานพัฒนาสังคม, เฮฮาศาสตร์ #
อ่าน: 11344

ผมชอบกิจกรรมเดินสวนป่าที่พ่อครูบาฯเป็นผู้นำ กลุ่มผู้สนใจเดินตาม จะหยุดเป็นช่วงๆ แล้วพ่อครูบาก็แนะนำพืชนั้นๆ และความรู้ทั่วไปที่เกี่ยวข้องกัน

ผมนึกถึง Walk through Survey (WTS) ซึ่งเป็นเทคนิคชนิดหนึ่งของ กระบวนการมีส่วนร่วมประเมินสภาพชุมชนชนบทแบบเร่งด่วน Participatory Rapid Appraisal หรือ PRA ที่เราใช้สำหรับสำรวจสภาพพื้นที่โดยรวมของชุมชน หรือพื้นที่เป้าหมายที่เราจะเข้าไปทำงานว่ามีสภาพด้วยตาประจักษ์นั้นเป็นเช่นใด แล้วจัดทำเป็นรายงานระดับต่างๆขึ้นมา

สาระสำคัญของ WTS ใน PRA นั้นคือการค้นหา Key informance (KI) ในชุมชนนั้นๆที่เป็นผู้รู้เรื่องชุมชนดีที่สุดและเข้าใจลักษณะสภาพทางกายภาพของพื้นที่ชุมชนทั้งหมด ซึ่งอาจจะมากกว่า 1 คนแล้วพากันเดินดูสภาพชุมชนทั้งหมด โดยมี KI เป็นผู้อธิบายเรื่องราวทุกเรื่องที่เดินผ่านไปแต่ละก้าว ทีมงานจะซักถามเพื่อให้ได้ข้อมูลที่สำคัญมากที่สุด แล้วทำการบันทึกไปพร้อมๆกัน ทั้งนี้อาจทำแผนที่แบบต่างๆทางกายภาพประกอบด้วย อาจถ่ายรูป อาจวาดภาพประกอบ ฯ

ข้อมูลที่ได้มานั้น ทีมงานจะนำมารวบรวมไว้ จัดหมวดหมู่ความรู้ วิเคราะห์ข้อมูลนั้นๆ และอาจจะนำไปสู่การสังเคราะห์ เพื่อให้เห็นศักยภาพ จุดเด่น จุดด้อย และอื่นๆที่มีคุณค่าต่อองค์ความรู้และการนำไปใช้ประโยชน์ โดยมากทีมงานที่จะทำ WTS นั้นจะเป็น Multi disciplinary ทั้งนี้เพื่อให้ทีมงานแต่ละด้านใช้ความถนัดของตัวเองเจาะข้อมูลที่สำคัญๆออกมา เพื่อความสมบูรณ์
ในการวิเคราะห์ และสังเคราะห์ต่อไป

สวนป่าอาจจะดัดแปลงมาใช้ได้ ประเด็นคือ ต้องมีผู้ที่มีความรู้ เข้าใจและเคยใช้ WTS มาช่วยจัดทำ Session design ซึ่งก็จะขึ้นกับการกำหนดเป้าหมายว่าการเดินครั้งนี้เพื่ออะไร คาดหวังมากน้อยแค่ไหน ซึ่งเราสามารถจะ design ออกมาได้ และในกรณีที่พ่อครูเป็น KI เพราะเป็นเจ้าของสวนป่า แต่อาจจะมี Facilitator หรือกระบวนกร ช่วยเสริมในการขยายความ ตั้งประเด็นคำถาม กระตุ้นให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ฯลฯ

เมื่อสิ้นสุด WTL อาจจะจัดการแบ่งกลุ่ม โดยให้โจทย์แต่ละกลุ่มอาจจะเหมือนกันหรือต่างกันก็แล้วแต่เพื่อให้ทำการสรุป ยกตัวอย่าง

กลุ่มที่ 1 จำนวนสมาชิก 5-10 คน ให้สรุปชื่อพืชที่พบที่สามารถกินได้ พืชสมุนไพร พืชอาหารสัตว์ ฯลฯ
พร้อมเอาใบพืชนั้นมาแสดงด้วย

กลุ่มที่ 2 จำนวนสมาชิก 5-10 คน ให้วาดแผนที่ และสิ่งสำคัญที่พบทั้งหมดตลอดเส้นทางที่เดิน

กลุ่มที่ 3 จำนวนสมาชิก 5-10 คน ให้สรุปชื่อพืชไม้ยืนต้นที่เอาไปใช้ประโยชน์ต่างๆได้ พร้อมเอาใบพืชนั้นมาแสดงด้วย

กลุ่มที่ 4 จำนวนสมาชิก 5-10 คน ให้สรุปชื่อสัตว์ทุกชนิดที่พบ คุณค่า อันตราย พร้อมเอาหลักฐานเช่น ขน รูป หรือวาดรูป ตำแหน่งที่พบ แสดงด้วย
ฯลฯ


การแบ่งกลุ่มอาจจะแบ่งก่อน walk through ก็ย่อมได้ แล้วแต่วัตถุประสงค์

วิทยากร หรือพ่อครูบา อาจจะพูดให้น้อยที่สุด แล้วให้ กลุ่มต่างๆนั้นซักถามเพื่อเขาจะได้ความรู้แล้วเอาไปรวบรวมตามโจทย์ที่มอบหมายให้ ฯลฯ สารพัดที่จะดัดแปลงให้เกิดการเรียนรู้

หากจะเอาหลักการของท่านไร้กรอบ ที่จอมป่วนเอามาพูดบ่อยๆว่า Learn how to learn นั้นอาจจะเน้น
ดัง diagram นี้

คือมอบโจทย์ให้แล้วแต่ละกลุ่มหาคำตอบเอง ไปเรียนรู้เอง ไปหาข้อมูลเอง ไปสัมผัสเอง

การกระทำ walk through learning แบบนี้เป็นการใช้กระบวนการเรียนรู้มาช่วย แทนที่พ่อครูจะเดินเล่า อธิบายไปเรื่อยๆ โดยมีคนเดินตามจำนวนมากไม่ได้สนใจ ไม่ฟัง เมื่อเดินจบอาจไม่ได้เรียนรู้อะไร เท่าไหร่นัก ยกเว้นคนที่สนใจจริงๆ

โจทย์ อาจจะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ เช่น ให้กลุ่มหนึ่งไปเรียนรู้เรื่องราวของวัว.. ไก่ต่างๆในสวนป่า ฯ และให้เขาไปหาความรู้เอง อาจจะแนะบ้างว่าไปหาความรู้ได้ที่ไหนบ้าง กรณีวัวนั้น พ่อครูอาจเอาคนเลี้ยงวัวในสวนป่าเป็นครู แทนพ่อครู เป็นการใช้ทรัพยากรคนในสวนป่าเพิ่มขึ้นอีก พ่อครูค่อยมาเติมเอาทีหลัง

ตอนกลุ่มมาสรุปที่สนุกคือ ระหว่างการเรียนรู้ให้เก็บหลักฐานมาแสดงด้วย เช่น ใบไม้ทุกชนิดที่เรียนรู้มา เปลือกไม้ กิ่งไม้ หรือวาดรูปมา หรือถ่ายรูปมา หรือ ฯ…. เอาหลักฐานเหล่านี้มาติดที่กระดาษให้เป็นหมวดหมู่ หรือแล้วแต่กลุ่มจะออกแบบเอง…

การสรุปนั้นควรที่จะเน้นดังนี้

  • ความรู้ที่ได้
  • ความรู้สึกที่เกิดขึ้นจากการเดิน จากการสัมผัส จากการพบปะ ฯ
  • กระบวนการเรียนรู้มีกี่วิธี แต่ละวิธีเป็นอย่างไรบ้าง จะโน้มนำไปใช้ในชีวิตได้อย่างไร
  • เรียนรู้อะไรบ้างเกี่ยวกับระบบนิเวศ ป่า พืช พืชและสัตว์ คน-พืช-สัตว์-ป่า ฯลฯ
  • การเรียนรู้เป็นกลุ่มเป็นเช่นไรบ้าง
  • ฯลฯ

ทั้งหมดนี้เป็นตัวอย่างที่สามารถสร้างสรรค์ ดัดแปลงได้มากมายโดยเฉพาะท่านที่เป็นครูบาอาจารย์ ศิลปินแบบออต หรือนักคิดสร้างสรรค์ต่างๆ แล้วแต่วัตถุประสงค์ แล้วแต่เงื่อนไขวันนั้นๆ ฤดูกาลนั้นๆ องค์ประกอบของทีมผู้สนับสนุน ฯลฯ

สวนป่ายังเล่นอะไรได้อีกมากมายครับ..


สัตว์ประหลาดที่สวนป่า

196 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 9 พฤษภาคม 2010 เวลา 15:18 ในหมวดหมู่ เฮฮาศาสตร์ #
อ่าน: 4201

สมัยที่ทำงานกลุ่มป่าห้วยขาแข้ง นครสวรรค์นั้น เราเข้าป่าไปดูความอุดมของป่า ผมเองพบเห็นทั้งพืช สัตว์หลายชนิดแบบไม่เคยเห็นมาก่อน นักป่าไม้อธิบายเป็นฉากๆ คุณหมอแผนใหม่และแผนโบราณต่างพูดตรงกันว่า ความอุดมของป่าคือสุขภาพของมนุษย์ เพราะยังมีพืชพันธุ์ไม้ป่าอีกจำนวนมากที่เรายังไม่ทราบสรรพคุณทางยาของเขา หากป่าหมด ความอุดมเหล่านี้ก็หมด อันตรายของมนุษย์ก็เข้าสู่วิกฤตอีกมุมหนึ่งด้วย


ผมยอมรับความจริงนี้ และตระหนัก สำนึกในการปลูกป่าเป็นยิ่งนัก การอนุรักษ์ความสมบูรณ์ของป่านั้นมีคุณค่ามากมายที่เราคิดไม่ถึง สมกับคำกล่าวว่า “ป่าอยู่ได้โดยไม่ต้องมีคน แต่คนอยู่ไม่ได้ถ้าไม่มีป่า” เมื่อไม่นานมานี้ นักวิชาการไทยก็เดินทางเข้าป่าทั้งไทย ลาว เขมร เวียตนาม เพื่อค้นหาพืชชนิดหนึ่งที่มีคุณค่าทางรักษาโรคมะเร็ง เขาต้องการค้นหาว่าพืชชนิดนี้มีกี่สายพันธุ์ อยู่ที่ไหนบ้าง ธรรมชาติของเขาเป็นเช่นไร และพืชชนิดนี้ ต่างสถานที่กันจะมีคุณสมบัติทางยาแตกต่างกันอย่างไร มากน้อยแค่ไหน..


เย็นวันที่เราประชุมกันนั้น พอตกค่ำก่อนหยุดประชุม คุณคอน พาผมไปดูสัตว์ประหลาดตัวนี้ ซึ่งเกาะอยู่ที่เสาโรงงานปั้นอิฐใกล้ที่เรานั่งประชุมนั้นเอง ค่ำแล้วถ่ายได้ไม่ชัด รุ่งเช้าก่อนเดินทางกลับ ผมจึงย่องไปถ่ายรูปใหม่

เดาเอาว่าเป็นแมลงชนิดหนึ่ง ธรรมชาติของเขาจะสร้างเกราะกำบังตัวอ่อนที่อยู่ภายใน ก็กลายเป็นสองชั้นไป ความปลอดภัยสูงมากขึ้น


มหัศจรรย์ชีวิต มหัศจรรย์ธรรมชาติ นี่ถ้าเป็นนักกีฏวิทยาคงมานั่งนอนที่โรงปั้นอิฐนี่เพื่อเฝ้าศึกษาวงจรชีวิตสัตว์แปลกหน้าตัวนี้นะครับ


ประชุมย่อยเฮฮาศาสตร์

516 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 9 พฤษภาคม 2010 เวลา 10:26 ในหมวดหมู่ เฮฮาศาสตร์ #
อ่าน: 9069

บ่ายวันนั้น พ่อครูกล่าวว่าสวนป่าวันนี้มากันมากหน้าหลายตาอยากจะประชุมปรึกษาหารือกัน ทุกคนก็เห็นด้วย หลังจากที่มอบหมายงานให้ทีมงานอ.โสรีย์แล้ว คอน ก็หิ้วเก้าอี้ไปก่อนเพื่อนเลย เดินสวนทางกับผมก็บอกว่าเดี๋ยวประชุมกันที่โรงปั้นอิฐ เอาเก้าอี้มาด้วยคนละตัว


สักพักใหญ่ๆ ประมาณ 5 โมงเย็น ทุกคนก็หอบหิ้วเก้าอี้ไปนั่งล้อมวงที่ลานหน้าโรงปั้นอิฐชายป่า ห่างไกลจากบ้านพักและทีม อ.โสรีย์พอสมควร ความที่ใครต่อใครก็เอาเก้าอี้มาฝากเพื่อนๆด้วยพบว่าเก้าอี้เกิน อิอิ.. ผมนับดูมี 14 คนรวมทั้งผมด้วย

นั่งมองหน้ากัน ก็ยังไม่มีใครพูดอะไร ต่างจับคู่คุยส่วนตัวกัน ผมก็เลยเอ่ยขึ้นมาว่า หากไม่มีประเด็นผมก็เสนอว่า ลองที่ประชุมนี้ให้มุมมองสถานการณ์เฮฮาศาสตร์ปัจจุบันนี้หน่อยว่า แต่ละคนคิดเห็นเช่นไรบ้าง ผมเองประสงค์ว่าต่างมุมมองอาจจะช่วยให้เราเห็นเฮฮาศาสตร์ในภาพรวมๆปัจจุบันของเรามากขึ้น และจะบ่งบอกถึงกลุ่มในหลายเรื่องในอนาคต

ยังไม่มีใครกล่าวอะไรในประเด็นนี้ พอดีพ่อครูก็เอ่ยขึ้นมาว่า กลุ่มเรามีเฮย่อยๆหลายครั้ง มีพวกเราไปกันมากบ้างน้อยบ้าง บางคนจะรู้สึกอะไรบ้างไหม ? ผมฟังแล้วรับรู้ได้ว่าพ่อครูเป็นห่วงความรู้สึกลูกหลานทุกคน..

หลายคนในที่ประชุมพิเศษแห่งนี้ต่างก็กล่าวไปในทำนองเดียวกันว่า คงไม่มีใครน้อยเนื้อต่ำใจอะไรหรอก เพราะแต่ละคนก็มีเงื่อนไขเฉพาะ ไม่สามารถลงตัวไปร่วมเฮได้ทุกแห่ง เพราะพวกเฮมีหลากหลายอาชีพ หน้าที่การงาน …

ประเด็นต่อไปพ่อครูกล่าวว่า เฮฮาศาสตร์ก่อเกิดมาก็เข้าหลายปีแล้ว แต่สมาชิกไม่ขยายเท่าไหร่ พวกเราคิดกันอย่างไรบ้างล่ะ

เพื่อนบางท่านกล่าวแสดงความเห็นว่า ไม่เห็นจำเป็นต้องมีสมาชิกมากๆ ยิ่งมีมากยิ่งมีปัญหามาก คุมกันไม่อยู่ บริหารไม่ได้ ก็มีตัวอย่างให้เห็น จำนวนน้อยๆก็ไม่เป็นไร ค่อยๆขยายไปตามธรรมชาติของมันเอง

พ่อครูและท่านอื่นแสดงความเห็นต่อว่า ดูเหมือนกลุ่มเฮจะต่อติดกับ “ร่มธรรม” ได้ดี โดยเฉพาะที่ตัวท่านอาจารย์ไร้กรอบ ก็อย่างที่รับรู้กัน สิ่งเหล่านี้มันเป็นธรรมชาติของมันเอง เฮฮาศาสตร์มีลักษณะเฉพาะของมัน ที่ต้องเป็นคนประเภทนี้เท่านั้นที่จะก้าวเข้ามาได้ ไม่ใช่วิเศษ พิเศษ เลอเลิศอะไร มันก็ธรรมดานี่แหละ แต่มันมีความเป็นธรรมดาในธรรมดา..

การพูดกันพอจะออกรสก็มืดค่ำกันทีเดียว แม่ครัวที่จะเตรียมอาหารเย็นก็นั่งอยู่ในวงนี่ จึงจำเป็นต้องยุติลงแบบไม่จบประเด็น เพราะเป็นห่วงทีมงานอาจารย์โสรีย์จะหิวข้าว

แต่เป็นวงคุยที่ออกจะเครียดๆ ดูหน้าตาแต่ละคนไม่ค่อยยิ้มเท่าไหร่เลยนะ

ผมน่ะบันทึกเสียงไว้ในเครื่อง แต่เอาเข้าจริงหาไม่พบว่าเอาไปซ่อนไว้ตรงไหน เพื่อนๆช่วยกันเติมหน่อยนะครับ ทั้งที่ได้คุยกันและความคิดเห็นเพิ่มเติม

นะคร๊าบบบบบ


พ่อครูบาฯ กับผึ้ง..

615 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 8 พฤษภาคม 2010 เวลา 0:07 ในหมวดหมู่ เฮฮาศาสตร์ #
อ่าน: 31763

วันที่ไปจ่ายตลาดที่สตึกวันนั้น ผมเดินตามแม่ครัว บังเอิญผมไปเห็นคุณยายท่านนี้นั่งขายรังผึ้งอยู่ มีหลายรังครับ ผมจึงนั่งลงถามคุณยาย


บางทราย: คุณยายผึ้งรังนี้ราคาเท่าไหร่ครับ ผมชี้ไปที่รังใหญ่นั่น

คุณยาย: รังนี้ราคา 70 บาทจ้า

บางทราย: คุณยายไปเอามาจากไหนครับ

คุณยาย: ไปรับเขามา เขาเอามาจากหลายที่ตามชายแดน

บางทราย: คุณยายมานั่งขายทุกวันเลยหรือ…

คุณยาย: มาขายทุกวันแหละจ้า..

…..


ผมนึกย้อนไปถึงพ่อครูบาฯ เย็นวันนั้นพ่อครูเล่าให้ฟังว่า

คุณแม่ผมท่านอายุมากแล้ว ไม่สบายหนักมากคุณหมอไม่รับแล้ว พ่อครูบอกว่า ตัดสินใจเอามาสวนป่า พร้อมชี้มือไปที่อาคารหลังเล็กนั่น เอามาอยู่ที่นี่ ใจก็คิดว่าจะเอาอย่างไรดีกับแม่…

พ่อครูไม่รู้จะรักษาแม่อย่างไร ข้าวปลากินไม่ได้แล้ว ก็ไปเอารังผึ้งมา คัดเลือกเอาเฉพาะลูกผึ้งที่เป็นตัวอ่อนของผึ้งที่อยู่ในรัง บีบเอาน้ำลูกผึ้งมาผสมกับน้ำผึ้ง หยอดใส่ปากแม่ ค่อยๆทำไป พอดีแม่พอกลืนกินได้ พบว่าอาการแม่ดีวันดีคืน ถึงกับลุกขึ้นมาฝึกเดินใหม่ได้จากการนอนแบบกับพื้น

พ่อครู เล่าว่า คุณแม่มีอายุยืนต่อมาถึง 7 ปี…

สาธุ สาธุ สาธุ..


ไฮกุ จากสวนป่า..

41 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 7 พฤษภาคม 2010 เวลา 20:49 ในหมวดหมู่ งานพัฒนาสังคม, เรื่องทั่วไป, เฮฮาศาสตร์ #
อ่าน: 2995

สวนป่าเพื่อสหกัลยาณมิตร “บ้านมกรา” มีหลายรายการ ผมชอบ session ของ ออต เหมือนทุกคน เพราะความเป็น artist ของออต ที่ออกแบบ session ได้สวยงาม โดยเฉพาะ ไฮกุ ที่เอาไปสัมพันธ์กับผัสสะที่เกิดขึ้นกับคนๆนั้น

ออตเริ่มด้วยการแจก เมล็ดมะรุมคนละเมล็ด ให้ทุกคนพิจารณาแล้วใส่ปาก ค่อยๆ อม กัด เคี้ยว แล้วค่อยๆพิจารณารสสัมผัสที่เกิดขึ้น แล้วให้เขียนผัสสะนั้นออกมาเป็น “ไฮกุ” น่ารักซะ และมีความหมายมากครับ ชอบมากที่แต่ละคนแสดงออกมา ซึ่งมันบอกอะไรหลายอย่าง

เห็นลูกศิษย์ท่าน อ.โสรีย์ หน้าเบ้ เมื่อเคี้ยวเมล็ด ส่ายหน้า แล้วทำท่าจะคายทิ้ง อาจเพราะนี่เป็นครั้งแรกที่เธอสัมผัส และเธออาจไม่รู้มาก่อนว่านั่นคือ สมุนไพรที่มีคุณค่าทางยา

ออต อ่านไฮกุ แต่ละคน มีความหมายกว้างแล้วแต่ท่านนั้นๆจะแสดงออกมา แม้ว่าจะเป็นไฮกุแบบไทยๆแต่มีความหมายครับ

รอบต่อไป ออตแจก ใบผักฮว้านง๊อก สมุนไพรลือลั่นที่มาจากเวียตนาม และเป็นอาหารเราบางมือที่แสนอร่อย ออตให้ร่างรูปขอบใบผักนี้ พิจารณาแล้วเคี้ยวมัน รับรส แล้วเขียนไฮกุ


บ้าน อาหาร น้ำ ยา ป่าปัจจัย

ไม่มีเราเขายัง

ไม่มีเขาเราสิ้นเผ่าพันธุ์

สุดท้าย ออตทิ้งโจทย์ให้ทุกคนไปทำการบ้านมา คือ ให้ไปถ่ายรูปอะไรก็ได้ในสวนป่า แล้วเอารูปนั้นมาเขียนไฮกุ แล้วเอามาดูกันในเวลากลางคืน

ไฮกุนั้นเป็นวีธีการเขียนกวีของญี่ปุ่นที่ผมไม่รู้จักเท่าไหร่ ผ่านๆตาบ้างแต่ก็ชอบ แต่ไม่เคยเขียน ครั้งนี้เป็นครั้งแรกครับ ออตกล่าวว่า ไฮกุมี สามบรรทัด บรรทัดที่ 1 มี 7 คำ บรรทัดที่ 2 มี 5 คำ บรรทัดที่ 3 มี 7 คำ

รูปภาพข้างบนนั้นเป็นรูปที่ถ่ายป่าสวนป่าจากที่พักชั้นบนของอาคาร 6 เหลี่ยม เช้าวันนั้นด้วยมือถือ แล้วเอามาแต่งเป็นขาวดำ แล้วเอามาทดลองแต่งไฮกุแบบ ไม่เค๊ย ไม่เคย

ก็แค่มาเล่าให้เพื่อนๆฟังน่ะครับ


ยืนอยู่บนสิ่งที่มี..

10 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 6 เมษายน 2010 เวลา 16:39 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป, เฮฮาศาสตร์ #
อ่าน: 722


ชนบทนั้น “ยืนอยู่บนสิ่งที่มี” รอบข้างตัวมีอะไรที่ใช้ประโยชน์ได้ ก็ใช้สิ่งนั้น ง่ายๆ การกระทำเหล่านี้มีหลายมุมมอง นักวิชาชีพด้านต่างๆมีเหตุผลมองสิ่งเหล่านี้บนพื้นฐานวิชาชีพของตัวเอง จากมาตรฐานของวิชาชีพ ซึ่งเป็นสิ่งที่ยอมรับได้


นี่คือโครงสร้างกระต๊อบในสวน ไม่มีสมุดโน้ต สวยๆ ไม่มีเครื่องอีเลคโทรนิคบันทึก ก็ใช้โครงสร้างกระต๊อบนี่แหละเป็นบันทึกหมายเลขโทรศัพท์ของลูกหลาน และคนที่จำเป็นต้องติดต่อ ใช้ถ่านแทนปากกา แค่นี้ก็บรรลุวัตถุประสงค์การบันทึกเหมือนกัน

การบรรลุวัตถุประสงค์ของชนบทนั้น “ยืนอยู่บนสิ่งที่มี”


บอกแล้วก็ไม่เชื่อ..

567 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 6 เมษายน 2010 เวลา 12:47 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป, เฮฮาศาสตร์ #
อ่าน: 10914

เฮีย…บอกแล้วว่าอย่าเล่นการพนัน บอกเท่าไหร่ก็ไม่เชื่อ

เล่นแล้วมันจะหมดตัว….!!??


Meeting on blog

301 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 23 พฤศจิกายน 2009 เวลา 20:34 ในหมวดหมู่ ทุนสังคม, เฮฮาศาสตร์ #
อ่าน: 2258

เราทราบกันดีว่าสังคม Blog ได้สร้างมิติใหม่ของการเรียนรู้ในบ้านเรา ที่เรียก KM และแนวความคิดเรื่องนี้ก็กระจายไปมาก มี Blog เกิดขึ้นมากมายจนนับไม่ถ้วน ทั้งที่รู้จักและไม่รู้จัก ทั้งที่ก่อประโยชน์ และสร้างปัญหา

แต่ที่ลานแห่งนี้เป็นกลุ่มคนคอเดียวกัน แต่ก็กำลังเคลื่อนตัวไปสะดุดบ้าง ราบรื่นบ้างก็เป็นไปตามปรากฏการณ์ของการเคลื่อนตัวขององค์กรที่ผมเฝ้าสังเกตมา ผมไม่กล่าวถึงตรงนั้น แต่อยากจะขยายมุมมองที่พ่อครูบาฯพยายามใช้เวทีนี้ให้เป็นประโยชน์ และได้ใช้มาแล้วหลายครั้ง ท่านเองก็พอใจ(ระดับหนึ่ง)

ผมเข้ามาอยู่ในวงการนี้ก็ สามปีแล้ว เห็นประโยชน์และพยายามเอาไปขยายสู่องค์กรที่สังกัด แต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จเลย ทั้งหมดเป็นผู้อ่านเพียงอย่างเดียว แปลกนะ เวลาประชุมต่อหน้าบ่อยครั้งก็คุยกันข้ามวันข้ามคืน แต่ไม่เขียน เวลาผมเขียนก็ไม่มีความคิดเห็นย้อนกลับ เฉย เงียบ เลยไม่รู้ว่า เอ มันเอาไงแน่ รู้แต่ว่า หัวหน้างานที่เป็นชาวต่างประเทศ เอาไปแปลและสนับสนุนให้ขยายเรื่องนี้ต่อไปจนเปิด Web ขององค์กร แล้วอบรมเลขานุการทุกสำนักงานให้เอาผลงานทุกอย่างของโครงการไปใส่ที่นั่น เพื่อทุกคนจะได้เข้าถึงข้อมูลทันที ลดการส่ง Fax เอกสารที่เป็น hard copy ลดต้นทุน…

ย้อนกลับมาที่ ประเด็นของพ่อครูฯ ที่ท่านใช้ Blog เป็นเวทีระดมความคิดเห็น และหลายๆคนก็แสดงความเห็นไปใน Comment และท่านก็เอาผลไปประมวลแลกเปลี่ยนกับกลุ่มอื่นๆต่อไป ผมอยากเรียกว่า เป็นการประชุมทาง Blog ซึ่งผมชอบมาก การประชุมทาง Blog นี้มีประโยชน์หลายประการ


อย่างที่ผมลองสรุปมาเป็นเบื้องต้นนี้ ผมประมวลว่า ทั้งตัว Blog นั้นมีประเด็นที่น่าสนใจและความคิดเห็นของเพื่อนๆที่แสดงเข้ามาก็น่าสนใจ หลายครั้งผมพบว่ามันช่วย เตือนสติเรา เป็นความรู้ใหม่มีประโยชน์ก็เอาไปปรับใช้ มีมากมาย เช่น การปลูกผักของโสทร ผมก็เอาไปใช้ แนวทางการป้องกันโรคของหมอตา ความรู้เรื่องกฎหมายที่ดินที่ อัยการเล่าให้ฟัง พืชผักที่เป็นประโยชน์ต่างๆที่อาม่าเอามาขยาย ที่พ่อครูเล่าให้ฟัง โอยมากมาย

ความรู้ทั้งหลายนั้นเอามาวางในที่สาธารณะใครๆก็เข้ามาเรียนรู้ได้ ทุกเมื่อเชื่อวัน วงสังคมนี้เชื่อมความสัมพันธ์แก่กัน ผมมาอยู่ขอนแก่นจนเป็นชาวขอนแก่นไปแล้วนานมาแล้วไม่รู้จักป้าหวานที่อยู่ใกล้ๆกันเอง แต่ก็มารู้จักกันใน Blog นี้ และที่สำคัญ หากมีการระดมความคิดเห็นต่อประเด็นใดๆ ก็สามารถเอาเหตุผลทั้งหมดนั้นมาสรุปความรู้ได้

มันก็เหมือนการประชุมทาง Blog นี่เอง


ผมสนับสนุนเวทีแบบนี้ เพราะผมมองเห็นประโยชน์หลายอย่าง ดังตัวอย่างที่ผมสรุปมาในแผนผังข้างบนนี้ เลยนึกไปถึงว่า คนข้างกายผมเดินทางไปประชุมกรุงเทพบ่อย จน ไมล์เลจน์ มากพอที่จะได้ตั๋วฟรีให้ลูกสาวบินไปไหนต่อไหนมาหลายครั้งแล้ว

ผมลองคำนวณดูว่า หากเราประชุมทาง Blog โดยไม่เดินทาง คงจะประหยัดงบประมาณมากมายทีเดียว เช่น ค่าเครื่องบิน ค่าที่พัก ค่าอาหาร ค่าแท็กซี่ ค่าอื่นๆ ต่อคนก็ไม่ใช่น้อย และเอาจำนวนคนคูณเข้าไปก็มหาศาลทีเดียว การประชุมหลายครั้งก็ไม่ได้พูดสักคำ ปิดประชุมแล้ว

ยกเว้นการประชุมที่สำคัญๆที่จำเป็นต้องเห็นกันต่อหน้า

แน่นอนจุดอ่อนก็มี แต่เราก็สามารถพิจารณาได้ว่า การประชุมแบบไหนที่ใช้ Blog ก็พอ การประชุมแบบไหนที่ต้องแบบเห็นหน้ากัน หรือจะใช้แบบ tele-conference ก็เป็นทางเลือกมากขึ้นในปัจจุบัน


เด็กวิเศษฯ ๑

2528 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 15 พฤศจิกายน 2009 เวลา 2:19 ในหมวดหมู่ ทุนสังคม, เรื่องทั่วไป, เฮฮาศาสตร์ #
อ่าน: 18543

บ้านผมอยู่ติดวัด กิจกรรมต่างๆที่เกิดขึ้นที่วัดจึงอยู่ในสายตาครอบครัวผมทั้งหมด บ้านติดแม่น้ำน้อยซึ่งเป็นสาขาแม่น้ำเจ้าพระยา แยกมาจากตัวเขื่อนเจ้าพระยาที่จังหวัดชัยนาท และไปออกแม่น้ำเจ้าพระยาอีกครั้งที่จังหวัดอยุธยา แม่น้ำน้อยเส้นนี้มีบทบาทสำคัญในอดีต เพราะไหลผ่านตัวเมืองวิเศษชัยชาญ ที่เป็นเมืองด่านสำคัญก่อนที่พม่าจะเข้าถึงกรุงศรีอยุธยา


วัดใกล้ๆบ้านยังมีร่องรอยของบรรยากาศการสู้รบกับพม่า คือมีการพบกะโหลกศีรษะคนโบราณที่บนเพดานโบสถ์วัดอ้อย คนเฒ่าคนแก่เล่าต่อกันมาว่า เป็นกะโหลกชาวบ้านที่หนีกองทัพพม่าขึ้นไปแอบบนเพดานโบสถ์ จนกระทั่งเสียชีวิตบนนั้น


การที่มีบ้านติดแม่น้ำนั้นมีทั้งส่วนดีและไม่ดี ส่วนดีก็คือ หน้าหนาวก็ไม่หนาวจัดเพราะไออุ่นจากน้ำจะส่งผลไปถึงบ้านที่อยู่ติดแม่น้ำ และหน้าร้อนก็ได้ลมที่พัดมาตามลำน้ำเข้าสู่ตัวบ้าน ก็ลดความร้อนลงไปได้ แต่ข้อเสียคือ ตลิ่งหน้าบ้านพังทุกปี จนถึงเสาเรือนและในที่สุดก็ต้องย้ายบ้านไป บ้านที่ปลูกริมแม่น้ำในมุมที่น้ำกัดเซาะนั้นจะพบปัญหานี้ทั้งนั้น ครอบครัวที่มีเงินก็ลงทุนทำที่ชะลอน้ำที่ภาษาภาคกลางเรียก “รอ” หรือ เขื่อน กันตลิ่งพัง แต่โดยทั่วไปก็จะใช้ปลูกต้นไม้ ที่นิยมมากคือ “ต้นพง” น่าจะประเภทเดียวกับ แขม อ้อ (หากผิดพลาดก็อภัยนะครับ)

บ้านภาคกลางนั้นจะมีทรงเดียวคือใต้ถุนสูง มีหลายเหตุผล คือ ภาคกลางนั้นน้ำท่วมจำเป็นต้องยกพื้นสูง การมีบ้านใต้ถุนสูงช่วยในเรื่องการถ่ายเทลมได้ดี จึงช่วยลดความร้อนในช่วงฤดูร้อนได้ และมีหลายหลังคาเรือนที่ใช้ใต้ถุนบ้านดัดแปลงเป็นคอกสัตว์ ซึ่งส่วนมากเป็นควาย ในช่วงฤดูแล้ง หากช่วงน้ำหลากก็ย้ายควายไปอยู่บนร้าน หรือที่อยู่ของควายที่สร้างเป็นเรือนยกพื้นสูงขึ้น ไม่มีฝา อาจจะมีหลังคา แต่ก็โปร่ง ตลอดช่วงน้ำท่วมควายจะอยู่บนเรือนนั้น เจ้าของจะเกี่ยวหญ้ามาให้กิน และจูงลงมากินน้ำ หรือตักน้ำไปให้กิน
หรือจูงลงไปอาบน้ำขัดสีฉวีวรรณให้ ควายชอบน้ำ จึงชอบนอนในน้ำเป็นเวลานาน เด็กๆก็ขึ้นไปขี่บนหลังพร้อมกับขัดตัวให้ด้วย ชาวนาจึงใกล้ชิดกับสัตว์เลี้ยงที่ใช้แรงงานมาก

บ้านผมทั้งติดวัดและติดคอกควายของเพื่อนบ้าน จึงนอนดมกลิ่นขี้ควายตลอด ชาวนาจะแข่งขันกันเลี้ยงควายให้อ้วนท้วนและอวดกัน คุณพ่อผมนอกจากรับราชการเป็นครูใหญ่แล้วก็ทำนาช่วยแม่ด้วย พ่อจึงมีควายโปรดสองตัวไอ้ม่วงกับไอ้มั่น อ้วนท้วนมาก เรียกว่าควายถึกก็ได้


ผมเฉียดตายมาแล้วเพราะเจ้าสองตัวนี่แหละ ครั้งหนึ่งช่วงเก็บเกี่ยวข้าวในนาแล้วเสร็จ ก็ต้องขนย้ายฟ่อนข้าวเข้าลานใกล้ๆบ้านพัก การขนย้ายฟ่อนข้าวก็จะใช้เกวียนเทียมควาย เกวียนก็มีทั้งขนาดใหญ่ กลาง เล็ก หากเล็กมากๆก็เรียก “เลื่อน” ที่บ้านมีทั้งขนาดใหญ่และขนาดกลาง วันนั้นพ่อให้ผมเอาเกวียนขนาดกลางไปขนข้าวกลางนาที่มีญาติพี่น้องคอยอยู่ที่ทุ่งนาแล้ว ให้ผมเอาเกวียนเทียมไอ้ม่วงไอ้มั่นไปบรรทุกกลับมา นัยว่าพ่อต้องการฝึกผมทำงาน ผมก็สนุกซี นั่งบนเกวียนที่มีควายถึงอ้วนท้วนเป็นแรงลากเกวียนไป สักพักเดียว มันเห็นควายตัวเมียเพื่อนบ้านอยู่ข้างหน้า มันก็เดินอย่างเร็วไปหาตัวเมีย จะบังคับหรือส่งเสียงอย่างไรมันก็ไม่ฟัง มุ่งแต่จะไปหาตัวเมีย

ยิ่งดึงยิ่งบังคับมันยิ่งโขยก หรือวิ่งเหยาะๆไป มันเป็นเกวียนนะไม่ใช่รถ ล้อเกวียนไม่มีโชคอับ ไม่มียาง มีแต่ไม้ล้วนๆ เกวียนถูกควายถึกลากไปออกนอกเส้นทางมันก็ไปโดนคันนาเข้าซิ เกวียนก็กระดอนโหยง เท่านั้นเอง ผมก็ตัดสินใจกระโดดลงจากเกวียน ปล่อยให้ควายถึงวิ่งไปหาตัวเมียทั้งที่บ่ามันเทียมเกวียนอยู่ ดูดู๋ ความรักของมันหน้ามืดตามัวไม่ฟังเสียงเจ้าของแล้ว ปรากฏว่าเกวียนพังล้อหลุดไปข้างหนึ่งมันจึงหยุดเพราะวิ่งต่อไปไม่ได้แล้ว พ่อผมและเพื่อนบ้านเห็นจึงวิ่งมาช่วยกันจับ…เฮ่อ เกือบพิการไปแล้ว.. ชาวบ้านจึงมักตอนควาย การตอนก็ทำให้ฮอร์โมนเพศลดลงหรือหมดไป ทำให้ฤดูการ “เป็นสัตว์” ของควายที่ตอนแล้วไม่ดุดันอย่างที่เล่ามา

แล้วท่านทราบไหมว่าภาคกลางแต่ก่อนนั้นเขา “สนสะพาย” “ตอนควาย” ทำ “ลานกองข้าว” กันอย่างไร….



จดหมายเปิดผนึกถึงพ่อครูบาฯ ลุงเอก อาม่า ป้าจุ๋ม และชาวลานทุกท่าน

98 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 24 ตุลาคม 2009 เวลา 9:58 ในหมวดหมู่ งานพัฒนาสังคม, ทุนสังคม, เฮฮาศาสตร์ #
อ่าน: 5339


ที่ http://lanpanya.com/dongluang/archives/1207#comment-681

คุยกับ Nothing เกี่ยวกับวันเด็ก สั้นๆ แล้วเกิดความคิดว่า หากสมาชิก Lan เราเขียนเล่าชีวิตวัยเด็ก เน้นเฉพาะวัยเด็กเอามาสู่กันฟังก็น่าสนใจนะครับ เหตุผลนั้นผมคิดว่าอยากศึกษาว่าชีวิตวันเด็กแต่ละคนนั้นเติบโตมาในสภาพใด จนมาเป็นปัจจุบัน

ผมสนใจการบันทึกอดีตของปัจจุบันผ่านตัวบุคคล โดยเริ่มจากสมาชิกลานก่อนซึ่งมีอยู่ทุกภาคทุกส่วน น่าที่จะสะท้อนสิ่งต่อไปนี้

  1. วิถีครอบครัวของคนสมัยนั้น
  2. วีถีสังคมที่อยู่อาศัย ท้องถิ่น ระบบสังคม ญาติพี่น้อง
  3. สิ่งแวดล้อมต่างๆ ดิน น้ำ อากาศ ต้นไม้ คน ฯลฯ
  4. ระบบวัฒนธรรม ประเพณี ความเชื่อ ปรากฏการณ์ต่างๆทางสังคม ฯลฯ
  5. ระบบการศึกษา โรงเรียนวัดนั้นไม่เคยเห็นแล้วในปัจจุบัน แบบเรียนหนังสือ ระบบการตี การท่องบ่น ฯลฯ
  6. การทำมาหากิน อาชีพ การพึ่งพาอาศัย ดินฟ้าอากาศ
  7. การเติบโตของคนไปพร้อมๆกับการเปลี่ยนแปลงสังคม เล่าให้ละเอียดว่าสังคมเปลี่ยนอย่างไร แล้วส่งผลต่อเราอย่างไรต่อครอบครัว ต่อเพื่อนบ้าน ท้องถิ่นอย่างไร
  8. เพลงลูกทุ่ง ลูกกรุงมีอิทธิพลความคิดเราอย่างไร
  9. วิทยุ โทรทัศน์ โทรศัพท์ ไฟฟ้า เข้ามาเมื่อไหร่ มีอิทธิพลอย่างไร
  10. ใครเคยใช้ตะเกียงลาน ตะเกียงโป๊ะ ตะเกียงเจ้าพายุ(ศัพท์ภาคกลาง)บ้าน เป็นอย่างไร
  11. งานสังคมเป็นอย่างไรบ้าง เช่น งานศพ แต่งงาน งานโกนจุก บวชนาค เข้าพรรษา ออกพรรษา วันพระ ทอกกฐิน ผ้าป่า ฯลฯ
  12. ตลาด หรือการซื้อขายสินค้าเป็นอย่างไร
  13. เสื้อผ้า การแต่งกาย รสนิยม ค่านิยม ฯลฯ
  14. คนเฒ่าคนแก่ ทำอะไร ปฏิบัติกันอย่างไร การเข้ากรรม เข้าศีล เป็นอย่างไร กินหมากกินพลู เด็กสมัยนี้ไม่ได้เห็นแล้ว ควรหารูป และบันทึกไว้
  15. ไปสัมภาษณ์พ่อแม่ปู่ย่าตายายที่ท่านยังมีชีวิต ถามถึงการเปลี่ยนแปลง ความคิด ความรู้สึกของท่านจากอดีตสู่ปัจจุบัน…
  16. แรงบันดาลใจ ฝังใจ ชอบใจ พลังใจ ฯลฯ
  17. ปัญหาสังคมต่างๆในอดีต ทั้งปัญหาครอบครัวและสังคมต่างๆ การแก้ปัญหานั้นๆในอดีต
  18. ฯลฯ ฯลฯ ฯลฯ

นี่อาจจะเรียกว่าเป็นงานวิจัยย่อยๆก็ได้

ทั้งหมดข้างต้นอาจจะเรียกว่า Interview guide หรือ Semi structure life review ก็ได้

การบันทึกออกมาจากตัวเองมีข้อดีที่เรามีเวลาใคร่ครวญไตร่ตรอง ไม่ได้เอาคะแนน ไม่ได้ไปส่งอาจารย์ แต่บันทึกเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์สังคมผ่านตัวบุคล

แรงบันดาลใจต่างๆมาจากอะไรจนทำให้เรามาเป็นวันนี้

น่าเสียดายที่ประวัติศาสตร์นี้จะหดหายไปกับการสิ้นสุดชีวิตคน นี่อาจจะเป็นครั้งแรกที่ระดมการบันทึกอย่างเป็นระบบในทุกภูมิภาคผ่านลานปัญญาครับ

ด้วยความเคารพรักยิ่ง

เรียนมาปรึกษาหารือครับ


ค่ายเด็กของ ออต..

475 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 31 สิงหาคม 2009 เวลา 15:35 ในหมวดหมู่ งานพัฒนาสังคม, ทุนสังคม, เฮฮาศาสตร์ #
อ่าน: 9896

วันที่ 1-3 ก.ย. นี้จะมีการจัดค่ายเด็กที่ อ.หว้านใหญ่ ริมโขง จ.มุกดาหาร โดย ออต ของเราเป็นโต้โผใหญ่จัดงานเด็ก แต่ไม่เล็กครั้งนี้ ผมสารภาพว่าเป็นคนทื่อๆ ไม่ค่อยมีศิลปะเท่าไหร่ แม้จะชอบ แต่ก็เข้าหูซ้ายออกหูขวาประเภทนั้น เมื่อมาคบกับออต ก็ค่อยๆซึมซับ วิธีคิด วิธีมอง เมื่อผมไปร่วมการสัมมนาที่ RDI จัดเพิ่งจะเสร็จสิ้นไปนั้นก็ได้สาระเกี่ยวกับเรื่องราวเอาศิลปะเป็นสื่อการเรียนรู้ จนผมปิ๊งแว๊บมาว่า เจ้าพิพิธภัณฑ์ที่ผมรู้จักชื่อมานานนั้นมันมีประโยชน์ไม่ใช่เพียงแค่เป็นที่สะสมของเก่า แล้วเดินเข้าไปชื่นชมเท่านั้น แต่นักพิพิธภัณฑ์ยังสามารถเอาของเก่าเป็นสื่อลากไปถึงอดีต และเรียนรู้เรื่องราวของบรรพชนได้อย่างดี


ผมชอบมาก ถึงมากที่สุดเพราะว่า ผมเองก็เคยทำ Dialogue โดยใช้โบสถ์เก่าเป็นสื่อในการพาผู้คนในชุมชนย้อนรำลึกอดีตอย่างมีคุณค่าและได้สำนึกของท้องถิ่นคืนมา

มุกดาหารมีของเก่าที่ทรงคุณค่าหลายแห่ง และ ออตมาค้นพบจึงจะสร้างห้องเรียนขึ้นแล้วระดมทรัพยากรผู้รู้มาช่วยกันย้อนรำลึกอดีตให้แก่ เด็กๆมุกดาหารได้ตระหนักคุณค่าของพัฒนาการของคนในท้องถิ่น


มันเหมือนนั่ง Time Machine ย้อนไปท่องเที่ยวท้องถิ่นแถบนี้ โดยมีเด็กๆเป็นเป้าหมายที่จะให้ประสบการณ์ใหม่ๆจากของเก่าๆ โดยทีมงานของ ออต

ยิ่งผมทราบมาว่า อดีต ออต คือนักปลุกจิตสำนึกให้แก่ชาวบ้านทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ โดยหน่วยงานนี้เห็นฝีมือฉกาจของ ออต เลยยกแผนงานนี้ให้ทั้งหมด…?? ยิ่งทำให้ออต มีชั่วโมงบินที่ไปเทียบเซียนได้เลย

วันที่ 1-3 นี้ เราได้วิทยากรเอกอย่าง อาม่า มาเขย่าแม่น้ำโขงให้เกิดละลอกคลื่นแห่งความรู้ ความสุขอีกด้วยละก็ น่าจะเป็นการพัฒนาทีมงานของ ออต ก้าวไปอีกหลายขุมทีเดียว

ท่านที่สนใจ หนุ่มน้อย ต่อยหนักคนนี้ เตรียมตารางแผนงานไว้เถอะ..


อย่าป๊ะกัน

391 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 27 สิงหาคม 2009 เวลา 0:07 ในหมวดหมู่ เฮฮาศาสตร์ #
อ่าน: 4857

หลังการประชุมสรุปบทเรียนเรื่องการปลูกพืชเศรษฐกิจในพื้นที่งานสูบน้ำเพื่อการชลประทานแล้ว ต่างก็แยกย้ายกันไป บ้านใครบ้านมัน เจ้าหน้าที่ชวนกลุ่มอาวุโสของกลุ่มผู้ใช้น้ำ มากินก๊วยเตี๋ยวร้านริมถนน

เราถือโอกาสคุยกันต่อเรื่องทำมาหากินวันนี้ของชาวบ้าน

บางทราย: พ่อเมย พ่อดอกไม้ พ่อทองคำ ปีที่ผ่านมา งานปลูกพืชของพ่อเมยกับพ่อดอกไม้ไม่เป็นไปตามแผน เป็นเพราะพวกเราไม่คุ้นเคยกับการปลูกพืชที่ต้องมีการดูแลใกล้ชิด ซับซ้อน…

แล้ววงสนทนาก็โขมงพร้อมๆกับการกินก๊วยเตี๋ยว เมื่อกินเสร็จก็นั่งผึ่งพุงพร้อมกับคุยกันต่อ


พ่อทองคำ: ประชุมกันทีไรเห็นอาจารย์พวกเรา “ก็ดีใจ” แล้ว ขออย่างเดียวนะอาจารย์ “อย่าป๊ะกันเด้อ” (อย่าทิ้ง หรือหนีกัน ป๊ะในความหมายที่เป็นภาษาอีสาน)

บางทราย: ??????!!!!!!! มันเป็นความรู้สึกที่ปนๆกัน ชาวบ้านต้องการเรา พี่น้องรู้ตัวว่าต้องการเราเป็นพี่เลี้ยง แนะนำ บอกกล่าว… ชาวบ้านติดกับบุคคล เป็นจุดอ่อนของการพยายามสร้างการพัฒนาแบบยั่งยืน แต่ที่มั่นใจคือชาวบ้านมีความสัมพันธ์ในระดับสูงกับเรา เกิดความผูกพันกัน ก็เป็นปกติของมนุษย์ที่รู้สึกดีดีต่อกัน..

เหตุการณ์แบบนี้ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้นที่ดงหลวงนี้ เกิดขึ้นเกือบทุกแห่งที่เราผ่านงานสนามมา ไม่ว่าที่สะเมิง เชียงใหม่ ชายแดนไทยสุรินทร์ ที่ชายกลุ่มป่าห้วยขาแข้ง นครสวรรค์

หากผมกลับไปที่สะเมิงวันนี้ ผมเชื่อว่าพี่น้องที่นั่นจะชวนผมกินข้าว นอนค้างที่บ้าน เอาส้มสูกลูกไม้มาให้แน่นอน เพราะช่วง 5 ปีที่นั่น แม้ว่าจะนานมากกว่า 30 ปีแต่เหมือนเพิ่งผ่านไป ความรู้สึกที่มีต่อกันนั้นยังเหมือนเดิม

ผมเองก็เชื่อว่า ในเฮฮาศาสตร์ของเรานั้น จะมีลิ้นกระทบฟัน ฟันเผลอไปกัดลิ้นบ้างก็เป็นเรื่องวิสัยมนุษย์ที่เกิดขึ้นได้ หากเราคิดยาวๆ ไกลๆ และยืนบนฐานของความรัก ความตั้งใจดีต่อกัน สิ่งที่ขัดข้องหมองใจที่มีบ้างนั้น ก็เป็นเรื่องเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ให้อภัยแก่กัน และก้าวข้ามฝุ่นละอองทางอารมณ์นั้นเถอะครับ

โถ…คนดีดีอย่างสมาชิกเฮฮาศาสตร์ หากจะรักกันแล้ว ความรักเป็นใหญ่กว่าเรื่องอื่นๆ ผมเชื่อเช่นนั้นครับ เราให้อภัยกันได้ครับ หากมีขยะทางใจ ผมอยากจะขอรับสิ่งเหล่านั้นไว้ ช่วยส่งมอบให้ผมด้วยเถอะ ผมจะเอาไปทิ้งแม่น้ำโขงครับ..

และสำนึกผมบอกว่า เพื่อนเฮที่รักทุกท่าน “อย่าป๊ะกันเด้อครับ”


ขอบคุณเธอ

767 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 26 สิงหาคม 2009 เวลา 1:18 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป, เฮฮาศาสตร์ #
อ่าน: 12002


อภิปรายประเด็นของเบิร์ด..

1633 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 19 สิงหาคม 2009 เวลา 20:32 ในหมวดหมู่ งานพัฒนาสังคม, เฮฮาศาสตร์ #
อ่าน: 10601

เบิร์ดตั้งประเด็นว่า ทรัพยากรและโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อให้เราดำรงอยู่ได้คืออะไร??

ต้องขออภัยที่เอา diagram ไปขึ้นใน comment ไม่เป็นเลยยกมาเปิดบันทึกใหม่ตอบครับ


พี่ลองร่างวิเคราะห์เส้นทางเดินของเฮฮาศาสตร์ โดยอาศัยประสบการณ์เฝ้ามองพัฒนาการขององค์กรชุมชนมาเป็นตัวแบบ ยืนยันว่าเป็นเพียงสมมุติฐานเท่านั้น เพราะพี่ไม่ใช่หมอฟันธง หรือหมอคอนเฟิร์ม อิอิ

(ขออนุญาตวิเคราะห์ตรงๆนะครับ อย่าคิดเป็นเรื่องทำร้าย ทำลายแต่อย่างใด)

เส้นทางเดินมักเป็นดังภาพ ช่วงแรกหลังการ “ฟอร์มตัวตน” ขึ้นมาแล้วต่างก็มีความสุขกับสิ่งใหม่ ตื่นเต้น กระปรี้กระเปร่า จ๊ะจ๋า เจี้ยวจ้าว ต่างก็ยิ้มแย้มเข้าหากัน ความรักมีมากล้นรำพัน พี่เรียกช่วงนี้ว่า “ช่วงฮันนิมูน” กำลังฟอร์มตัว ปรับตัวในเบื้องต้น ทุกคนจึงเอาใจมากองไว้ มาให้แก่กัน ทำงานกันเพลินไม่เหน็ดเหนื่อย เมื่อยล้า ช่วงนี้มีความสุขมากครับ

อาจจะบ่งชี้ช่วงนี้ได้ คือ ช่วงที่เราจัดเฮฮาศาสตร์ตั้งแต่ครั้งที่ 1 จนถึงครั้งล่าสุด เรามีความสุขมาก พี่มีความสุขมาก ทุกคนอิ่มเอม การกอดรัดฟัดเหวี่ยง ยังตราตรึงในความทรงจำ ความประทับใจที่เรามากินมานอนมาคุยแลกเปลี่ยน มาใช้ชีวิตหมู่ร่วมกัน

(ขอกราบอีกครั้งว่าที่จะกล่าวต่อไปนี้มิใช่จะหมายถึงเฮฮาศาสตร์ แต่เอาข้อเท็จจริงของการพัฒนาองค์กรชุมชนมาเทียบเคียง)

ขอหักมุมไปที่องค์กรชุมชน เมื่อช่วงฮันนิมูนผ่านไป ความมีตัวตนของคณะกรรมการ ผู้นำ และสมาชิกบางคนก็ออกลาย ผู้นำบางคนที่จะเอาองค์กรชุมชนเป็นเครื่องมือ ก็หันเหองค์กรไปรับใช้ความคิดเขามากขึ้น จนฝ่าฝืนกฎ กติกา ระเบียบ ข้อบังคับก็มีให้เห็น กรรมการบางคนก็แผลงฤทธิ์ เช่น กู้แล้วไม่คืน หรือคืนช้าไม่เป็นไปตามกำหนด เป็นต้น แล้วใช้ความเป็นกรรมการ ให้อภัยแก่ตัวเอง สมาชิกบางคนเริ่มเบี้ยว หรือวิภาควิจารณ์องค์กร ทำไมไม่เป็นอย่างนั้น ทำไมไม่เป็นอย่างนี้ หากสมาชิกคนนี้มีฟอร์ม การออกฤทธิ์ก็ส่งผลสะเทือนไม่น้อย

ทั้งหมดนี้ พี่เรียกว่า “แรงกดดัน A” ตามไดอะแกรม

หากองค์กรมีผู้นำที่ไม่เข้มแข็ง หากคณะกรรมการไม่เข้มแข็ง หากสมาชิกไม่เข้าใจถ่องแท้ องค์กรก็ซวนเซ ตั้งข้อสงสัย ระแวง ไม่มั่นใจ ฯลฯ เป็นแรงกดที่ทำให้องค์กรแกว่ง

หากว่าผู้นำมีคุณธรรม เข้มแข็ง มีทีมงาน คณะกรรมการที่เข้มแข็งอยู่บ้าง มีสมาชิกที่เข้าใจ เชื่อมั่น ยืนหยัดหลักการองค์กรดีอยู่แล้ว ต่างก็ก้าวเข้ามาช่วยกันแก้ไขปัญหา ช่วยกันประคับประคองสถานการณ์ หาจุดอ่อน เสริมความเข้มแข็ง ฯลฯ องค์กรก็ตั้งตัวได้ใหม่ ก็ดำเนินการได้ ก้าวไปข้างหน้าได้อีก

ทั้งหมดนี้พี่เรียก “แรงปรับ a” ตามไดอะแกรม

ดำเนินไปอีก ทำกิจกรรมต่างๆขององค์กรไปอีก ก็เกิดปัญหาใหม่ๆขึ้นมาอีก สารพัดชนิด ประเภทของปัญหา พี่เรียก “แรงกดดัน B” แล้วก็มี แรงปรับ b” หากคณะกรรมการ ผู้นำเข้มแข็ง สมาชิกส่วนหนึ่งเข้มแข็งก็ประคับประคองไป

เวลาผ่านไปก็เกิด “แรงกดดัน C” และมี “แรงปรับ c” อีก

ช่วงที่เกิดแรงกดดัน แรงปรับ ครั้งแล้วครั้งเล่านี้ พี่เรียกว่า “ช่วงวิบากกรรม”

โดยภาพรวมนี้ทั้งหมดนี้พี่เรียกว่า “กระบวนการปรับตัวขององค์กร” ทั้งหมดนี้เพื่อเดินเข้าสู่เป้าหมายขององค์กร ต้องยอมรับว่าชาวบ้านนั้นไม่ได้จบ MBA ไม่มีหลักการบริการสารพัดสูตรอย่างที่เราเรียนรู้กัน ชาวบ้านใช้สามัญสำนึกที่ยืนบนวัฒนธรรมท้องถิ่น หรือ ผลประโยชน์ที่แอบแฝง ในกรณีที่เขาผู้นั้นใช้องค์กรให้เป็นประโยชน์แก่ตนเอง

การสวิงไปมานั้น บางแห่งบางองค์กร สมาชิกลาออกเกือบหมด แล้วฟื้นตัวขึ้นมาใหม่ แล้วก้าวไปอย่างเข้มแข็งเพราะเขามีบทเรียนและมีประสบการณ์ที่ดี

หากการปรับตัวขององค์กรก้าวเข้ามาอยู่ใน “ภาวะนิ่ง” ก็จะเป็นการก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคง บางแห่ง บางองค์กรก้าวกระโดด มีสมาชิกแห่เข้ามา มีความก้าวหน้ามากมาย ก็มีให้เห็น

ทั้งหมดนี้อาจจะไม่เป็นอย่างสมมติฐานนี้เลยก็ได้นะครับ

ดังนั้น อภิปรายประเด็นของเบิร์ด ได้ว่า ทรัพยากรที่เอื้อต่อการดำรงอยู่คืออะไร พี่เห็นก็คือ “คน” ที่มาอยู่ในองค์กรนั่นเอง หากเข้ามาแบบเข้าใจ ศรัทธา เชื่อมั่น หลักการขององค์กรแล้ว พลังในการแก้ไขปัญหาต่างๆก็มีมากมาย พลังในการผลักดันองค์กรให้ก้าวหน้าก็มีมากมาย คนเป็นทรัพยากรที่สำคัญที่สุด ทั้งผู้นำ คณะกรรมการ สมาชิก ภารกิจที่สำคัญขององค์กรคือ กระบวนการพัฒนาคนในองค์กร เพื่อร่วมกันเดินไปสู่เป้าหมาย… หากคนในองค์กรมีประสิทธิภาพ ทรัพยากรอื่นๆก็ตามมาโดยอัตโนมัติ

ส่วนประเด็นโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อให้เราดำรงอยู่ได้คืออะไร กรณีองค์กรชุมชนนั้นส่วนใหญ่มีโครงสร้างมาตรฐานอยู่แล้ว แต่ก็สามารถปรับให้เข้ากับบริบทของท้องถิ่นนั้นๆได้ เพื่อให้เหมาะสมต่อเงื่อนไขขององค์กรนั้นมากที่สุด

แต่สำหรับเฮฮาศาสตร์นั้น เราไม่อยู่ในรูปขององค์กรสากล เราเป็นองค์กรพิเศษ จะเรียกอะไรก็ตาม โครงสร้างก็ควรจะปล่อยให้ก่อรูปและปรับไปตามสภาวะต่างๆที่เกิดขึ้น ซึ่งปัจจุบันเราเห็นภาพลางๆขององค์กรนี้แล้ว เช่นมีพ่อครูบาเป็นเสาหลัก มีรอกอดมาเสริม มีป้าจุ๋ม มีน้องครูปู มีอ.แฮนดี้ มี พี่หลิน มี จอมป่วน มีแป๊ด มีออต มีอีกหลายๆคนที่เข้ามาช่วยเสริมอย่างใกล้ชิด ทำให้หัวขบวนเคลื่อนตัวไปได้เรื่อยๆไม่ติดขัดเท่าไหร่นัก

ก็เป็นโครงสร้างที่เป็นไปตามสถานการณ์และความพร้อมของบุคลกรที่มีเงื่อนไขที่เอื้อต่อการเคลื่อนตัว

หากจะถามว่าเฮฮาศาสตร์จำเป็นต้องมีโครงสร้างที่เป็นรูปแบบไหม ในขั้นนี้คิดว่าให้พัฒนาไปตามธรรมชาติ เมื่อถึงเวลามันจะลงตัวของมันเอง หากจะผลักดันให้เกิดขึ้นมาล่ะ คิดว่ายังไม่จำเป็น หากทุกคนพร้อมที่จะก้าวเข้ามาร่วมมือกันในทุกสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ตามเงื่อนไขที่ทำได้ แน่นอนอาจจะทำให้มีพลังไม่เต็มที่นัก ในแง่หน้าที่ความรับผิดชอบ แต่เฮฮาศาสตร์เป็นองค์กรพิเศษที่มาด้วยใจ bonding ที่มีใจเป็นสายใยนั้นอาจจะมีพลังมากกว่าคำว่าบทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบในองค์กรปกติเสียอีก

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงความเห็นส่วนตัวนะครับ



Main: 1.8631730079651 sec
Sidebar: 0.067010164260864 sec