(หยิบเอามาตัดต่อ ปรับปรุงใหม่เพื่อ “เจ้าเป็นไผ ๑”)
เด็กบ้านนอกอีกคน….
บ้านริมแม่น้ำน้อย ต.ศาลเจ้าโรงทอง อ.วิเศษชัยชาญ จ.อ่างทอง สมัยเมื่อสี่สิบปีที่แล้วเป็นชนบทไปไหนมาไหนก็เดินด้วยเท้าเปล่า อย่างดีก็จักรยานหรือพายเรือ ชาวบ้านเกือบทั้งหมดคือชาวนา ชีวิตผันไปตามฤดูกาล ชนบทคือโรงเรียนที่กล่อมเกลาจิตใจให้คุ้นเคยกับทำนองวิถีและวัฒนธรรมชาวนาภาคกลาง
เป็นครอบครัวใหญ่ ปู่มีย่าสองคน แต่ละย่ามีลูก 7 คน พ่อเป็นลูกย่าใหญ่และเป็นคนโตจึงรับภาระเลี้ยงน้องสองแม่มาทั้งหมด กระนั้นพ่อยังกระเสือกกระสนเรียนจนจบ ม 3 และได้สิทธิเป็นครูเลย แม่เป็นชาวนาธรรมดาที่กำพร้าพ่อมาแต่เล็ก ซึ่งสัตย์และจิตใจเหมือนพุทธศาสนิกชนทั่วไป ชอบทำบุญ ไหว้พระ เข้าวัด ฟังเทศน์ เลี้ยงลูก 6 คนด้วยการทำนา พยายามให้ได้เรียนหนังสือทั้งหมด
ก๋ง(ปู่)มีเชื้อจีน จึงรู้จักทำมาค้าขายแต่มาแต่งงานกับชาวนาจึงผันมาทำนา เป็นคนดุมากๆ น้องพ่อคนถัดมาจึงทนไม่ไหว เพียงขโมยปืนปู่ไปเล่นก็แจ้งตำรวจมาจับลูกเข้าคุกเลย อาคนนี้ออกจากคุกได้ก็ไม่กลับบ้านเข้าป่าเป็นเสือปล้นเขากินไปเลยแต่ก็มาถูกเสือด้วยกันฆ่าตาย พ่อมีนิสัยดุเหมือนปู่ เอะอะอะไรก็ไม้เรียวที่เหน็บข้างฝาตลอดสองอัน เกือบทุกวันที่บ้านจะต้องมีลูกคนใดคนหนึ่งถูกตี….
สภาพสังคมสมัยนั้น
เรียนโรงเรียนวัดที่พ่อเป็นครูใหญ่ จึงถูกตีเป็นตัวอย่างเสมอหากทำอะไรผิด โรคคางทูมระบาด เป็นกันทั้งโรงเรียน อีสุกอีใสระบาด เป็นกันทั้งตำบล โรคอหิวาระบาด เป็นกันทั้งอำเภอ เจ็บตายกันมาก สถานที่อนามัยที่ดีที่สุดสมัยนั้นคือไปหาหมอมิชชันนารี ที่มาเปิดโรงพยาบาลเล็กๆที่ตลาดวิเศษชัยชาญ รักษาได้ทุกโรค…ราคาถูก แถมแจกเอกสารศาสนาด้วยเป็นการ์ตูน
สิ่งที่ชอบที่สุดคือ งานวัด หนังกลางแปลง งานบุญกลางบ้าน งานประเพณีต่างๆ ได้กินขนมแปลกๆ ได้กินน้ำแข็งใสใส่น้ำสีแดงสีเขียวและนมข้นโรย ข้าวโพดคั่ว ตังเม … ถ้าเป็นงานศพก็ได้กิน “ข้าวตัง” ก้นกระทะใบบัวใหญ่ที่เขาใช้หุงข้าวเลี้ยงคนทั้งวัดที่มาในงาน คืนไหนมีหนังกลางแปลงมาฉาย ไม่เคยดูหนังจบสักเรื่องหลับก่อน พ่อต้องแบกกลับบ้านทุกที แต่ตื่นเช้ามืดกับพี่ชายจะวิ่งกันมาที่บริเวณฉายหนัง เพื่อเดินหน้ากระดานหาสตางค์ที่อาจจะมีคนมาดูหนังทำหล่นตามพื้นเมื่อคืน ก็มักจะได้บ่อยๆ…
เมื่อลูกชาวนาไปเรียนหนังสือ….
หน้าฤดูทำนาก่อนไปเรียนหนังสือทุกคนต้องตื่นแต่ตี 4 แบกไถบ้าง จูงควายบ้างออกไปทำนากับพ่อ เดินทางไกลเป็นกิโล กลัวผีก็กลัวเพราะต้องเดินผ่านวัด ผ่านป่าช้า ขณะเดินตาก็หลับ จึงล้มลุกคลุกคลาน ไปกับโคลนบ้าง ขี้ควายบ้าง ถึงนาก็ฟ้าสางพอดี เอาควายเทียมไถ ไถนาพอเหนื่อย สว่างเต็มที่แม่กับพี่สาวก็หาบกระจาดข้าวมาถึง จึงหยุดพักกินข้าว แล้วก็รีบกลับบ้านไปอาบน้ำไปโรงเรียน
หน้าแล้งก็เอาควายไปเลี้ยงกับพี่ กับน้องและเพื่อนบ้าน เอาผ้าขาวม้าปูท้องนาบ้างใต้ต้นไม้ใหญ่บ้าง ดูท้องฟ้า เห็นเครื่องบินพ่นควันสีขาว ใจก็ฝันอยากเป็นนักบิน เห็นนักเรียนนายสิบแต่งตัวด้วยเครื่องแบบหล่อ เท่ห์กลับบ้าน ใจก็อยากแต่งชุดแบบนั้นบ้าง
ขึ้นชั้นมัธยมก็ไปโรงเรียนประจำอำเภอ ต้องเดินวันละ 10 กิโลไป-กลับ ผ่านตลาดวิเศษชัยชาญ เด็กตลาดเรียนเก่ง เด็กบ้านนอกอย่างเราเข็นแล้วเข็นอีก กำลังจำดีดี พ่อตะคอกหน่อยเดียวความรู้วิ่งหนีไปหมด กลัวจนลาน แอบร้องให้ น้อยใจที่เห็นพ่อลูกคนอื่นเขาเล่นกัน กอดกัน แต่บ้านเราไม่มีเลย
กระแสการสร้างชีวิตคือการเรียนหนังสือและเข้ารับราชการ เก้าสิบเปอร์เซ็นต์จะให้ไปเรียนต่อครู ปกศ. ที่ อยุธยา ใครเก่งก็เข้าสวนสุนันทา บ้านสมเด็จ ที่กรุงเทพฯ สมัยนั้นที่วิเศษชัยชาญมีครูคนเดียวที่จบปริญญาตรีมาจากประสานมิตร
เด็กบ้านนอกมาอยู่ในเมืองใหญ่….
คุณตาอดีตอาจารย์ใหญ่โรงเรียนแถว สำเหร่ ธนบุรี ท่านเดินทางไปเยี่ยมญาติพี่น้องที่วิเศษชัยชาญมานอนค้างที่บ้าน เพราะเป็นบ้านหลังเดียวที่มีส้วมซึม เห็นเราทำงานช่วยพ่อแม่ ตักน้ำใส่ตุ่ม กวาดบ้านถูบ้าน ตัดไม้ รดน้ำต้นไม้ คุณตาก็ออกปากให้ไปเรียนต่อ มศ. 4-5 ที่ โรงเรียนสมบุญวิทยา ที่คุณตาเป็นอาจารย์ใหญ่ที่นั่น
พ่อพาผมเดินทางเข้ากรุงเทพฯทางเรือซึ่งมีเรือบรรทุกสินค้าขนาดใหญ่สองชั้นวิ่งจากท่าเตียน กรุงเทพฯ ผ่านอยุธยา อ.ผักไห่ อ.วิเศษชัยชาญ ไปสิ้นสุดที่ อ.โพธิ์ทอง เพื่อไปส่งสินค้า ขาล่องว่างเปล่าก็จะรับคนเดินทางลงกรุงเทพฯ ถึงท่าเตียนก็เช้ามืดพอดี
คืนแรกที่ธนบุรี คลองสำเหร่ บ้านสวน ก็น้ำตาตก เมื่อมาอยู่สภาพเมืองที่เราไม่เคย อึดอัดไปหมด จะทำอะไรก็ย่องๆ ไม่กล้าคุยกับใคร อยู่บ้านนอกกินข้าวทีเป็นจานพูนเต็มๆ ตักเพิ่มเอาเต็มที่ ก็บ้านเราทำนา ข้าวปลาเหลือเฟือ คนเมืองกรุงเขากินข้าวนึ่งเป็นก๊อกเล็กๆ มันจะไปอิ่มอย่างไง จะกินหลายก๊อกก็ไม่ได้ อายเขา กลางคืนท้องร้อง หิว นอนร้องให้ คิดถึงแม่ที่บ้านนอก คิดถึงน้อง คิดถึงพี่ แต่ก็ต้องทนเพราะมาเรียนหนังสือ…
เช้าตื่นขึ้นมาคุณน้ามีลูกสาวสองคนเรียนชั้นประถมโรงเรียนเดียวกันก็ต้องจูงมือไปโรงเรียนด้วยกัน แหกปากร้องทุกวันเดินไปด้วยร้องไปด้วย เราก็ถือกระเป๋ามือหนึ่ง อีกมือก็จูงน้อง
บางคืนนั่งดูหนังสือเรียนทนไม่ไหว หิวข้าว ค้นกระเป๋ากางเกงมีเหรียญสิบบาทเหลืออยู่ ก็แอบออกจากบ้านลงใต้ถุนไปปากซอยซื้อราดหน้ากินห่อหนึ่งแล้วแอบเข้าบ้าน หมาเห่าเสียงดังลั่น เลยความแตกว่าเราแอบออกจากบ้านไปปากซอย พ่อรู้เรื่องจึงขึ้นมาสั่งสอนเสียยกใหญ่ โอย..ไม่อยากอยู่แล้วเมืองหลวงเมืองหลอน อยากกลับบ้านนอกดีกว่า
เด็กมหาวิทยาลัยกลิ่นอายบ้านนอก
สอบผ่าน ม.ศ. 5 แล้วสอบ Entrance(1) ติดที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทั้งๆที่ไปสอบครูพิเศษที่อยุธยาก็ได้ แต่สละสิทธิเพราะเลือกเอามหาวิทยาลัย ทราบข่าวว่าพ่อดีใจเป็นที่สุดที่ลูกได้เรียนมหาวิทยาลัย เที่ยวเดินอวดคนโน้นคนนี้ แม่เล่าว่าตกกลางคืนนอนเอามือก่ายหน้าผาก แล้วบ่นว่า “แล้วจะเอาเงินที่ไหนส่งลูกเรียน” พี่สาวก็เรียน น้องอีก 4 คนก็กำลังเรียนไล่ๆขึ้นมา ครูประชาบาลกับแม่บ้านที่เป็นชาวนาจะเอาเงินที่ไหนส่งลูกเรียน
แม่ไปขอยืมเงินพระที่วัด พ่อต้องกู้เงินครู และทำนามากขึ้น ที่จำแม่นที่สุด ครั้งหนึ่งปิดเทอมกลับมาบ้าน ตอนถึงเวลาต้องกลับไปเรียน มช. ทางบ้านไม่มีเงินเลย แม้ค่ารถจะเดินทางไปเชียงใหม่ แม่บอกให้ผมลงไปใต้ถุนบ้านหาเก็บเศษขวดที่หลงเหลืออยู่รวบรวมไว้พรุ่งนี้เอาไปขาย ได้เท่าไหร่ก็เอา แล้วจะไปขอยืมเงินหลวงพ่อที่วัดอีก…..
ที่เชียงใหม่ มีโลกกว้างมีเพื่อนใหม่ทุกภูมิภาค เพื่อนปักษ์ใต้สนิทกันที่สุดเพราะบ้านเขาส่งของกินมาให้เรื่อยๆ จำพวกปลาแห้ง เอามาทอดกินกับข้าวต้มกลางคืนดึกๆที่ดูหนังสือกัน สมัยนั้นเข้าสู่ 14 ตุลา บรรยากาศมหาวิทยาลัยอบอวลไปด้วยการอภิปราย การทำกิจกรรมนอกหลักสูตร เราอยู่ในกลุ่มเด็กบ้านนอกที่สนใจเรื่องความยากจน ปัญหาชนบท บ้านเมืองจึงเข้ากลุ่ม และมีท่านอาจารย์หลายท่านมาเป็นที่ปรึกษา และรุ่นพี่พี่ที่แรงสุดๆ
ทำกิจกรรมในมหาวิทยาลัยมากมาย เช่น ล้มระบบเชียร์แบบเก่าๆที่เป็นระบบ ว๊ากเกอร์ จับกลุ่มศึกษาหนังสือป็อกเก็ทบุ๊คที่ออกมามากมายในช่วงนั้นที่เป็นหนังสือที่เรียกว่าก้าวหน้า เช่น เรื่อง การพัฒนาความด้อยพัฒนา หนังสือของจิตรภูมิศักดิ์ ยูโทเปีย งานของสตาลิน เหมา แม่ของกอร์กี้ หนังสือโฉมหน้าศักดินา ที่เป็นหนังสือต้องห้าม เดอ แคปปิตัลลิส และมากมาย…. เราอ่านกันอย่างจะไปสอบ ทีหนังสือเรียนหละไม่ค่อยเอา เอามาเสวนากัน คุยกัน ถกกัน แลกเปลี่ยนความเห็นกัน เชิญอาจารย์มาแสดงความเห็น เชิญรุ่นพี่พี่มาแสดงความเห็น และที่สุดขีดคือเราไปล้มงานบอลที่นักศึกษาอีกกลุ่มหนึ่งชอบจัดงานแบบนั้น ที่เราเห็นว่าไร้สาระ
ในที่สุดเราจัดค่ายศึกษาที่เรียกค่ายจร(2) เอาเพื่อนนักศึกษาที่สนใจทิศทางเดียวกันออกชนบท จัดกันเอง ควักกระเป๋ากันเอง แล้วเอาสาระที่พบมาแลกเปลี่ยนชีวิตที่ไปอยู่ชนบทกัน มันสุดๆเพราะสารพัดสิ่งที่พบมา ยี่สิบคนที่ผ่านค่ายศึกษาจรจะกล่าวถึงตลอด ล้วนเป็นนักศึกษาแพทย์ เภสัช ทันตะ เทคนิคการแพทย์ พยาบาล ที่เรามักเรียกกันว่าฝั่งสวนดอก มีพวกสังคมไม่กี่คน ทั้งกลุ่มนี้เข้าป่ากันหมด
จัดตั้งพรรคการเมืองในมหาวิทยาลัยชื่อพรรคประชาธรรม เสนอตัวเป็นนายกองค์การนักศึกษา มช. โดยผมเป็นเลขาธิการพรรค ฟอร์มทีมกันลงเลือกตั้งเป็นนายกองค์การ ผมอยู่เบื้องหลัง และทีมเราได้รับเลือก เอาแต่ทำกิจกรรมชนบท ไม่ค่อยได้เรียน แต่เราก็จบออกมา
เส้นทางอาชีพ..
เมื่อเกิด 16 ตุลา เพื่อนๆเข้าป่าหมด ผมก็เข้าป่าหลังดอยสุเทพ แต่เป็นป่าเพื่อทำงานพัฒนาชนบท เป็นโครงการของมูลนิธิฟริดริช เนามัน แห่งเยอรมัน สังกัดสำนักงานเกษตรภาคเหนือ มี ดร.ครุย บุญยสิงห์เป็น ผอ. สมัยนั้น พื้นที่ทำงานคืออำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ สมัยนั้นเรียกว่าเป็นสังคมกึ่งปิดเพราะ การเดินทางเข้าออกยากลำบาก มีรถปิคอัพวันละเที่ยว ถนนเป็นลูกรัง ฝุ่นในฤดูแล้ง เป็นโคลนในฤดูฝน ในรถที่ใช้จึงต้องมีอุปกรณ์เสริมคือ มีด เลื่อย โซ่ จอบ เสียม สำหรับใช้ประโยชน์ตอนต้นไม้ล้มขวางทาง ติดหล่ม ส่วนเจ้าหน้าที่โครงการใช้มอเตอร์ไซด์วิบากรุ่นแรกๆ
ชาวบ้านในพื้นที่เป้าหมายคือ คนเมือง ไทยลื้อ และชาวไทยภูเขา เช่น ปกากะญอ ม้ง(3) มูเซอร์ คนเมืองและไทยลื้อมีจำนวนมากที่สุดนับได้ว่าเป็น NGO หรือ องค์กรเอกชนเพื่อการพัฒนาชนบทแห่งยุคแรกๆของประเทศไทย
เนื่องจากเป็นยุคหลัง ตุลาทมิฬ ราชการจะเพ่งเล็งนักกิจกรรมมหาวิทยาลัยที่มาทำงานชนบท ก็จะติดตามสอดส่องดูแลการทำงานแบบลับๆตลอดโดยเราไม่รู้ตัว มีวิธีมากมายที่จะหาข้อมูลพิสูจน์ว่าเราคือใครกันแน่ โดยคนใกล้ตัวเรามากที่สุดนั่นแหละเป็นผู้ให้ข้อมูลที่เรียก แหล่งข่าว หรือสายตำรวจ
บ่อยครั้งที่เราไม่ได้นอนพักที่สำนักงานที่หน้าอำเภอสะเมิง แต่ไปพักตามบ้านชาวบ้านและที่พักที่โครงการไปสร้างไว้แบบง่ายๆในตำบล เพื่อนคนหนึ่งเอาแฟนเข้าไปพักด้วย เราก็อาศัยเธอได้ช่วยทำอาหารให้ ต่อมาเพื่อนสังเกตว่าทำไมเธอต้องออกจากพื้นที่เข้าจังหวัดทุกเดือน แรกๆเธอก็บอกว่ากลับบ้านตามปกติ แต่เมื่อสังเกตอย่างละเอียดเธอผิดปกติไป ในที่สุดเรารู้ว่าเธอเป็นสายให้ตำรวจเพราะในสมุดบันทึกเธอนั้นทำรายงานไว้ว่าใครทำอะไรที่ไหน เมื่อไหร่ อย่างไร แล้วที่เธอออกไปในเมืองเพราะเอารายงานไปส่งให้ตำรวจลับ…
เพื่อนก็ให้เธอออกไปจากพื้นที่ แล้วเราก็มุ่งหน้าทำงานกันต่อและระวังตัว แต่งานของเรานั้นต้องพบปะชาวบ้าน ประชุมกับชาวบ้าน ยามค่ำคืนเพราะกลางวันชาวบ้านไปไร่นาทำงานจึงใช้เวลากลางคืนประชุม ในสายตาราชการนั้นผิดปกติเพราะการประชุมต้องใช้เวลากลางวันเท่านั้น เราสนิทสนมกับเจ้าหน้าที่อนามัยตำบลที่เป็นสตรีเพราะเธอห้าวเหมือนผู้ชาย และคบผู้ชาย เล่นกีฬาแบบผู้ชายขี่มอเตอร์ไซด์วิบากลุยๆ แถมพูดภาษาก้าวหน้า วันหนึ่งเราขี่มอเตอร์ไซด์ไปทำงานพบซองจดหมายตกอยู่ระหว่างทาง เราหยิบขึ้นมาดูเห็นลายมือเรารู้ว่าเป็นของอนามัยตำบลท่านนั้น แต่ส่งถึงตู้ป.ณ.แห่งหนึ่งที่เชียงใหม่ เราและเพื่อนสงสัยตัดสินใจเปิดดู เราตกใจมากเพราะนี่คือจดหมายส่งรายงานให้ตำรวจลับที่เชียงใหม่ โดยใช้หมายเลขแทนตัวบุคคล ที่สาระเรื่องราวคือการทำงานของเราที่ไปประชุมกับชาวบ้านในที่ต่างๆ
เราจ้างชาวบ้านที่สำเร็จ ปวช. มาเป็นเลขาสำนักงาน ทำหน้าที่เลขาทั่วไป บันทึกการประชุม พิมพ์รายงาน ฯลฯ ไปประชุมที่ไหนหัวหน้างานก็เอาเธอไปด้วย ปีละครั้งที่เราออกนอกพื้นที่ไปเปลี่ยนบรรยากาศประชุมสรุปงานกันตามชายทะเลบ้าง หรือที่ที่ทุกคนลงความเห็นว่าอยากไป เลขาท่านนี้ก็ลุยๆ สามารถนั่งวงดื่มกับพวกเราที่กำลังแตกเนื้อหนุ่มได้ยันสว่าง ทุกครั้งที่เธอออกไปในตัวเมืองก็มักอ้างว่าขอไปเยี่ยมเพื่อนที่นั่นที่นี่ แล้วเราก็จับได้ว่า เธออีกคนที่เป็นสายลับให้ตำรวจ หมดตูด อะไรต่อมิอะไรที่เป็นเอกสารในการทำงาน ที่เราคุยกันแบบส่วนตัว มุมมอง ความคิดเห็นต่างๆที่เป็นส่วนตัว สาระที่เราคุยกันในวงเหล้า เธอเก็บรายละเอียดหมดสิ้นแล้วถูกส่งไปที่.. เป็นอันว่าคนรอบข้างเราถูกตำรวจลับซื้อตัวไปหมดสิ้น
นอกจากเรื่องราวเครียดๆแบบนี้แล้วผมยังพบเรื่องเหลือเชื่ออีกหลายอย่าง พื้นที่ที่มีสภาพป่าเขาอย่างสะเมิงสมัยนั้น วิถีชาวบ้านยังเดิมๆความเชื่อเรื่องสิ่งเหนือธรรมชาติมีมากและมักมีปรากฏการณ์ที่ทำให้ต้องเชื่อ นี่เองที่เป็นเบ้าหล่อหลอมให้คนชนบทมีพฤติกรรมความเชื่อที่ต่างไปจากคนเมือง
เรื่องเหลือเชื่อมีหลายครั้ง ซึ่งเป็นความเชื่อของสิ่งเหนือธรรมชาติของชาวบ้าน ครั้งที่สำคัญคือ การเผชิญหน้ากับ “เจ้าพ่อข้อมือเหล็ก”(4) ที่แสดงอิทธิฤทธิจนงานค่ายอบรมเยาวสตรีแตกกระเจิง เจ้าพ่อข้อมือเหล็กคือผีเจ้านายที่คอยดูแลพื้นที่รอบๆตัวเมืองเชียงใหม่ ส่วนที่เป็น อ.สะเมิงกับอ.แม่ริม เรื่องราวโดยสรุปคือ เยาวสตรีคนหนึ่งไปอาบน้ำที่ห้วยกลางทุ่งนาแล้วฉี่ บังเอิญตรงนั้นมีหอเจ้านาย หรือศาลเจ้าที่ตั้งอยู่ เจ้าที่จึงอาละวาดในรูปของผีเข้าร่างสตรีคนนั้น ชาวบ้านและพระมาช่วยกันแก้ไขแต่ไม่สำเร็จ เมื่อค่ายแตกกลับออกมาข้างนอกอ.สะเมิงผีเจ้านายจึงมาเข้าร่างแล้วบอกว่า สตรีนางนี้ทำผิด ฮีตคอง จึงต้องทำพิธีโบราณขอขมาลาโทษจึงหาย
อีกเรื่องที่เหลือเชื่อ..ต่อเนื่องจากเจ้าพ่อข้อมือเหล็ก ผู้จัดต้องทำจดหมายราชการไปขออนุญาตผู้ปกครองเด็กเยาวสตรีทุกคน เมื่องานค่ายจบสิ้นไปแล้ว วันหนึ่งสมาคมฯได้รับซองจดหมายที่เคยส่งไปถึงผู้ปกครองเยาวสตรีตีกลับมาที่สำนักงานตามที่อยู่หัวซองจดหมาย หลังจากตรวจสอบแล้วพบว่า เป็นการใช้ซองจดหมายสมาคม ลบการจ่าหน้าซองเดิมออกแล้วจ่าหน้าซองใหม่ ส่งไปให้คนคนหนึ่งที่สมาคมไม่เกี่ยวข้องด้วย แต่จดหมายไม่ถึงผู้รับจึงตีกลับ(เข้าใจว่าที่อยู่ผิดพลาด) เมื่อเปิดอ่านความภายในทุกคนก็ต้องตกตะลึง ตึง ตึง เพราะเป็นจดหมายที่ส่งไปจากผู้ใหญ่บ้านคนหนึ่งในพื้นที่ทำงาน สะเมิง จดหมายไปถึงคนหนึ่ง สาระคือ คนเดิมที่ส่งรายละเอียดวันเดือนปีเกิดมาให้นั้นคนนั้นตายไปแล้ว คราวนี้ส่งเพิ่มมาให้ใหม่ขอให้ทำพิธีไสยศาสตร์ฆ่าคนนี้ รายชื่อที่ระบุนี้เป็นผู้นำชาวบ้านของเรา มีความขัดแย้งกับผู้นำหมู่บ้าน ทำไงดีล่ะเมื่อเรื่องเป็นเช่นนี้ ผมเข้าไปตรวจสอบข้อมูลพื้นที่พบว่ามีคนตายในหมู่บ้านจริงโดยไม่ทราบสาเหตุ เราก็เอาจดหมายนี้ไปแจ้งความตำรวจไว้ก่อน พร้อมกับไปแจ้งให้ผู้มีรายชื่อนั้นทราบ แล้วก็ทำพิธีแก้เคล็ด วุ้ย เสียว อย่าลบหลู่เป็นเด็ดขาด
ความอ่อนด้อยในประสบการณ์ชีวิตแบบนี้ และความบริสุทธิ์ในความตั้งใจทำงาน คิดอะไรพูดอย่างนั้น แต่ในสถานการณ์บ้านเมืองที่ระแวดระวังเรื่องลัทธินั้น เรากลายเป็นพวกสุ่มเสี่ยง แค่ปีเดียว ผมก็โดนตำรวจพื้นที่ซิวในฐานะ “ผู้เป็นภัยต่อสังคม” ตามข้อหานักเคลื่อนไหวสมัยนั้น ที่ศูนย์การุณยเทพภาคเหนือ ผมพบอาจารย์มหาวิทยาลัยหลายท่าน อาจารย์วิทยาลัยครู นักศึกษา แม้กระทั่งผู้นำชาวนามากมายเต็มศูนย์ไปหมด
ทหารและตำรวจ เอาตัวเราไปอบรมประชาธิปไตยเสียใหม่ สามเดือนก็ปล่อยออกมาพร้อมใบประกาศว่าผ่านการอบรมมาแล้ว และให้กลับเข้าไปทำงานเดิมได้ แต่อยู่ภายใต้การติดตามของตำรวจลับ
ที่ศูนย์การุณยเทพฯเชียงใหม่นั้น ผมได้พบนักศึกษาสาว มช.รุ่นน้องคนหนึ่ง เธอสวยงามและเธอเป็นผู้มีอันจะกินคนหนึ่งในเชียงใหม่ เป็นบุตรสาวร้านหนังสือที่ใหญ่ที่สุดในเชียงใหม่ และเป็นพระสหายด้วย ผมพบอดีตดาวจุฬาที่มาเป็นอาจารย์ มช. และเป็นอาจารย์ผม ท่านอาจารย์ท่านนี้มีสมบัติเป็นที่ดินในกลางกรุงเทพฯราคานับหลายร้อยล้าน แต่ท่านอาจารย์ได้บริจาคให้เป็นที่ตั้งของสถาบันปรีดีพนมยงค์ ผมพบน้องนักศึกษา ปวช.ที่มีความสามารถทางการวาดการ์ตูน และต่อมาเขาโด่งดังในเรื่องความสามารถของเขาเพราะเป็นการ์ตูนนิสในหนังสือพิมพ์ที่ขายดีของเมืองไทยทั้งรายวันและรายสัปดาห์
แม้ว่าที่ทำงานเก่าจะยินดีรับกลับเข้าทำงาน แต่ฝรั่งเจ้าของงานอิดออดที่จะให้ทำต่อ อ้างว่ายังส่งผลกระทบต่อหน่วยงานราชการที่เคลือบแคลงใจในตัวผม ผมบวชซะเลย ที่สำนักวิปัสสนาไทรงาม สุพรรณบุรี 1 พรรษา แล้วมาสึกในพื้นที่ทำงานโดยพระอาจารย์ท่านเจ้าอาวาสวัดเจดีย์หลวง เมืองเชียงใหม่
การทำงานพัฒนาชนบทที่สะเมิง ผมพบคนข้างกายที่เธอเป็นบัณฑิตอาสารุ่น 6 มธ. เธอจบจุฬา ภาษาเยอรมัน จึงพูดกับเจ้าของโครงการที่เป็นชาวเยอรมันได้ ครั้งหนึ่งรัฐมนตรีกระทรวงหนึ่งของเยอรมันเดินทางมาดูงานที่เยอรมันให้การสนับสนุน โดยมี ท่านอานันท์ ปัญยารชุน อดีตเอกอัคราชทูตไทยประจำเยอรมันพามาพื้นที่ คนข้างกายถือโอกาสนำเสนองานเป็นภาษาเยอรมัน ท่านรัฐมนตรีสตรีชื่อ มิส แฮมบรูเชอร์ ฟังเมื่อจบ ท่านทูตก็ควักนามบัตรออกมามอบให้แล้วก็กล่าวว่า “หากต้องการไปศึกษาต่อที่เยอรมันที่ไหนก็ได้ ยินดีสนับสนุน”
สถานการณ์ผมไม่ดีขึ้นโดยเฉพาะฝ่ายบริหารโครงการ ผมเลยไม่สร้างความอึดอัดอีกต่อไป ลาออก ไปหางานอีสานทำดีกว่าและได้งานทำที่สุรินทร์ คนข้างกายผม ก็เดินทางไปเรียนต่อที่เยอรมันโดยทุนของมูลนิธิหนึ่ง
ที่สุรินทร์ผมทำงานชายแดนกับชาวเขมรแถบ อ.กาบเชิง อ.สังขะ อ.บัวเชด อ.ปราสาท เป็นช่วงที่ทหารเขมรมักจะบุกเข้ามาปล้นเอาข้าวไปกิน ฆ่าชาวนาตาย หรือชาวนาเข้าป่าไปเหยียบกับระเบิดตาย เป็นโครงการที่สนับสนุนโดย CUSO แคนาดา โดยมี ดร.สุธีรา ทอมสัน(วิจิตตรานนท์) เป็นที่ปรึกษาโครงการ ผมมาเรียนภาษาเขมรกับวิทยาลัยครูสุรินทร์
เปลี่ยนแปลงบทบาท…
ที่สุรินทร์นี่เองที่พี่ใหญ่ในวงการและเพื่อนๆ NGO(5) รวมตัวกันตั้ง NGO-CORD และจัดประชุมสัมมนาทุกปี ผมเป็นกรรมการอยู่พักหนึ่งก็ลาออกให้รุ่นน้องๆทำต่อ เพื่อนที่ขอนแก่นชวนมาทำงานกับโครงการ USAID ที่สำนักงานเกษตรท่าพระ ก็เปลี่ยนจาก NGO มาเป็นที่ปรึกษา
ช่วงปี พ.ศ. 2526 ช่วงหลังสงครามอินโดจีน วงการ NGO คึกคักมากที่สุด เกิดองค์กรใหม่ๆมากมายที่ทำงานกับชาวบ้านทั้งเป็น Local และ International NGO และเป็นผลพวงของการเมืองในประเทศ นักศึกษาจึงออกชนบทมากและมีอุดมการณ์สูง นอกจากนี้โครงการขนาดใหญ่ของรัฐก็มีจำนวนไม่น้อย
ย้ายไปทำงานที่ โครงการ Northeast Rainfed Agricultural Development (NERAD) ที่ท่าพระ สนับสนุนโดย USAID โดยมีสำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรฯเป็นแม่งาน มีทุกกรมภายใต้กระทรวงเกษตรฯมาร่วมงานด้วย เป็นโครงการที่ใหญ่มีพื้นที่ ชัยภูมิ ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ สกลนคร และขอนแก่น ซึ่งเป็นพื้นที่ตัวอย่างนำร่อง เป็นช่วงที่โครงการอีสานเขียวเข้ามาพอดี
ทำงานกับฝรั่ง ในฐานะผู้เชี่ยวชาญสังกัดกรมวิเทศสหการ เป็นครั้งแรกที่ทำงานร่วมกับฝรั่งเต็มทีมซึ่งเป็นอาจารย์จากมหาวิทยาลัยเคนตั๊กกี้ มีสิทธิพิเศษสามารถสั่งเหล้าฝรั่งทุกยี่ห้อในราคาสินค้า PX ผมก็ PX บ้างแต่ไม่รู้ว่ามันแปลว่าอะไร กินเหล้าฝรั่งยี่ห้อดังๆซะหมดทุกยี่ห้อแล้วในราคาไม่ถึงพันบาทต่อ “ขวดใหญ่”
สถานที่ทำงานแห่งนี้เองที่ ผมได้เรียนรู้เครื่องมือทำงานวิจัยและสามารถนำมาใช้ในกระบวนการพัฒนาชนบทที่เรียก RAT (Rapid Assessment Technique) ซึ่งเข้ามาครั้งแรกในประเทศไทยที่สถาบันวิจัยระบบการทำฟาร์ม(FSR/E) มหาวิทยาลัยขอนแก่น ฝรั่งที่โครงการก็ร่วมมือกับคณะเกษตรเอาเข้ามาใช้ แล้วพัฒนาเครื่องมือนี้เป็น RRA (Rapid Rural Appraisal) และเป็น PRA(Participatory Rapid Appraisal) ในที่สุด ก่อนที่จะดัดแปลงไปอีกมากมายขยายไปทั่วโลกจนถึงปัจจุบันนี้
เครื่องมือที่สำคัญอีกตัวหนึ่งที่เรียนรู้ในครั้งนั้นคือ Agro-ecosystem Analysis (AEA) เป็นเครื่องมือใช้วิเคราะห์พื้นที่ เหมาะที่จะใช้ประกอบการวางแผนงานพัฒนาพื้นที่โดยเฉพาะทางกายภาพ ต่อมาได้พัฒนาให้เป็นตัวเด่นตัวหนึ่งในการวิเคราะห์ PRA ประมาณปี 2525-2530 ที่ทำงานที่นั่น ได้เรียนรู้เทคนิคการทำงานต่างๆมากมาย ประสบการณ์ครั้งนั้นยังเอามาใช้ในการทำงานจนทุกวันนี้
วนเวียนไปกับโครงการขนาดใหญ่ของรัฐอีกหลายแห่ง เช่น โครงการไทย-ออสเตรเลีย เรื่องน้ำดื่มน้ำใช้ทั่วภาคอีสาน โดยมีสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สภาพัฒน์ฯ) เป็นแม่งาน และร่วมมือกับหน่วยงานของรัฐทุกหน่วยที่ทำงานเกี่ยวกับน้ำดื่มน้ำใช้ เช่น กรมชลประทาน กรมอนามัย กรมการปกครอง กรมโยธาธิการ กรมการพัฒนาชุมชน กรมทรัพยากรธรณี สำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบท และมหาวิทยาลัยขอนแก่นที่มีโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็กอยู่ที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ สมัยแจกโอ่งยักษ์ให้ชาวบ้านเพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำดื่มในระดับครัวเรือน
แล้วไปโครงการ ไทย-เนเทอร์แลนด์ เรื่องการพัฒนาน้ำในระดับไร่นาที่เขื่อนลำปาว กาฬสินธุ์ ที่นี่รู้จักระบบชลประทาน ระบบการทำการเกษตรแบบก้าวหน้า การปลูกพืชเศรษฐกิจนานาชนิด ระบบ Contract farming โดยจัดจ้างเจ้าหน้าที่สนามจำนวนมากจากผู้ที่เรียนจบอุดมศึกษามาร่วมงาน
จากนั้นเข้าร่วมกับโครงการ NEWMASIP กับกลุ่มประเทศประชาคมยุโรปเรื่องน้ำชลประทานทั่วภาคอีสาน เป็นโครงการของกรมชลประทานโดยตรง มีการพัฒนาระบบการบริหารจัดการน้ำในระบบเขื่อนขนาดกลาง และใหญ่ของภาคอีสาน การส่งเสริมการผลิต การตลาดพืชผัก การฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ชลประทานให้มีความรู้ความสามารถเพิ่มขึ้น และการพัฒนาหลักสูตรการสร้างวิศวกรชลประทานยุคใหม่ ที่ใช้ระบบผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศที่ชำนาญการเฉพาะด้านมากมาย ช่วยให้กรมชลประทานมีประสบการณ์เพิ่มขึ้นมาก
แล้วก็ย้อนไปทำงาน International NGO ที่ห้วยขาแข้ง นครสวรรค์ คือ องค์การ Save the Children (USA) เป็น NGO ขนาดใหญ่ที่มีงบประมาณมาก และทำงานช่วยเหลือเด็กในพื้นที่ยากจน ตามพื้นที่ชายขอบกลุ่มป่าห้วยขาแข้งที่อุดมสมบูรณ์ ที่นี่เองได้ร่วมมือกับ ส.ป.ก.และ NGO ท้องถิ่นทำโครงการพัฒนาพื้นที่ ส.ป.ก.ตลอดแนวชายขอบป่ากลุ่มป่าห้วยขาแข้ง ทั้งในจังหวัดนครสวรรค์ จังหวัดอุทัยธานี โดยได้รับการสนับสนุนจากDANCED ประเทศเดนมาร์ค คลุกคลีกับป่ามากที่สุดทั้งในแง่วิชาการและการปฏิบัติกับชาวบ้าน เพราะเป็นพื้นที่ที่ท่าน สืบ นาคะเสถียร ปลิดชีพตัวเองสังเวยป่า จนเกิดกระบวนการดูแลรักษาป่าอย่างจริงจังต่อเนื่องมา มีโอกาสร่วมงานกับกรมป่าไม้อย่างใกล้ชิด มีเจ้าหน้าที่สนามซึ่งเป็นเด็กหนุ่มสาวที่จบอุดมศึกษามาร่วมงานจำนวนมาก
แล้วชีวิตก็ผันผวนอีกครั้งเมื่อต้องเข้ากรุงเทพฯไปทำงานกับบริษัทที่ปรึกษา คือ บริษัท TEAM Consulting Engineering and Management จำกัด เป็นบริษัทคนไทยที่มีขนาดใหญ่ มีบริษัทในเครือมากมาย ผมไปรับผิดชอบด้านสังคมกับโครงการของรัฐหลายโครงการ เช่น การก่อสร้างเขื่อนท่าด่านที่จังหวัดนครนายก การศึกษาประเมินผลเขื่อนที่จังหวัดลำปาง การศึกษาผลกระทบการวางท่อน้ำมันเข้าสนามบินสุวรรณภูมิ ศึกษาผลกระทบด้านเสียงของเครื่องบินที่ขึ้นลงของสนามบินสุวรรณภูมิต่อสถาบันเทคโนโลยี่ลาดกระบัง การศึกษาผลกระทบการก่อสร้างเขื่อนท่าแซะจังหวัดชุมพร ร่วมมือกับ ADB ศึกษาผลกระทบการก่อสร้างถนนทางหลวงของกรมทางหลวง ศึกษาผลกระทบการก่อสร้างถนนวงแหวนรอบนอกของ กรุงเทพฯ ศึกษาแนวทางการยกระดับความสามารถของเจ้าหน้าที่กรมชลประทานในการพัฒนาการใช้ประโยชน์จากเขื่อนต่างๆ
เมื่อ ส.ป.ก.ได้โครงการ “ฟื้นฟูสภาพแวดล้อมที่เสื่อมโทรมในเขตปฏิรูปที่ดินด้วยการพัฒนาการเกษตรแบบผสมผสานในภาคอีสาน” เป็นเงินกู้จากญี่ปุ่น ซึ่งบริษัทที่ผมสังกัดได้งานนี้ ร่วมกับอีกสองบริษัท จึงส่งผมกับทีมงานไปประจำที่จังหวัดมุกดาหารจนถึงปัจจุบันนี้..
งานที่มุกดาหารเป็นโจทย์ที่ยากเพราะชาวบ้านในพื้นที่ ส.ป.ก. ที่ติดเชิงเขาภูพานน้อย เป็นชนเผ่าไทโซ่ที่มีลักษณะเฉพาะแตกต่างไปจากประสบการณ์เดิมที่เคยมีมา จึงเป็นงานที่ท้าทายเป็นอย่างมาก
บทเรียนชีวิตในงานพัฒนาชนบท
โดยส่วนตัวชอบอ่านหนังสือ แล้วเอามาเขียนย่อให้ตัวเองเข้าใจ สรุปสาระนั้นๆไว้เป็นส่วนตัว เพราะการเขียนเป็นการกลั่นกรองความคิดออกมา เอาเฉพาะแก่นออกมา โดยใช้เทคนิค Flowchart, diagram, mind map, graph, note ย่อ วิธีการเขียนก็เอาตามแบบสไตล์ตัวเองที่ชอบ ที่เข้าใจง่าย จับหลักให้ได้ แล้วขยายรายละเอียดทีหลัง การที่เราสนใจดังกล่าว รู้สึกว่าเราจะได้มุมมองเรื่องราวต่างๆได้ดี เราเห็นทั้ง Overview และเฉพาะเจาะลึก
เทคนิคที่เราเรียนมาจากการร่วมลงมือทำ กรณี AEA นั้นทำให้เรามีมุมมอง Overview มากกว่าเพื่อนคนอื่นๆบางคน และเมื่อเราคุ้นเคยกับการใช้เครื่องมือต่างๆของ PRA ทำให้เราสามารถเจาะลึกถึงข้อมูลต่างๆได้ดี และพยายามหาข้อมูลด้านนี้มาประกอบการตัดสินใจด้วยเสมอ
การที่เราผ่านการใช้เครื่องมือการหาข้อมูลต่างๆมาพอสมควร ช่วยให้เรามี “จินตนาการ” ได้ดีกว่า เมื่อเอ่ยถึงเรื่องใดเรื่องหนึ่ง(Subject) เราสามารถกวาดข้อมูลมาจากแหล่งต่างๆได้ (Subject area) แม้จะไม่มีข้อมูลเราก็รู้ว่าจะไปหาที่ไหน
การเรียนที่ดีที่สุดคือทำเอง ปฏิบัติเอง เพราะมันมีช่องว่างระหว่างภาษาอักษรกับภาษาความรู้สึก ตัวอักษรไม่มีรายละเอียดเท่า หรือหากจะบรรยายให้เทียบเท่าก็ไม่ใช่ความรู้สึกจริงๆ การปฏิบัติจริงมันมีความรู้สึกเข้ามาอยู่ในผลของการเรียนรู้ด้วยที่ต่างจากการเรียนจากตัวหนังสือ หรือเพียงการบอกเล่า ความรู้สึกจะช่วยให้เราชั่งน้ำหนักในขั้นตอนสุดท้ายได้
เนื่องจากเราเป็นมนุษย์สามโลก คือโลกในเมือง โลกในชนบท และโลกในจินตนาการ การคลุกคลีสองโลกเมืองกับชนบทจึงเห็นโลกที่สามว่าภาพรวมควรเป็นอย่างไร เหล่านี้ช่วยให้เรามีทัศนคติกว้างต่อสังคมโดยรวม และเฉพาะส่วนที่เราเข้าไปทำงานด้วย
เห็นว่าสังคมชาวบ้านนั้นถูกลากถูไปโดยรัฐและระบบธุรกิจโดยไม่เข้าใจถ่องแท้ต่ออัตลักษณ์ของชุมชนทั้งหลาย ซึ่งเขามีลักษณะเฉพาะ แตกต่าง ที่มีส่วนดีอันเป็นทุนทางสังคมอยู่แล้ว กลับโดนระบบข้างนอกมาทำลายอย่างไม่รู้ตัว ยิ่งนานวันช่องว่างของสังคมเมืองกับชนบทยิ่งห่างไกลมากขึ้นแน่แง่ของวิถีคิดและการดำรงชีวิต
เฮฮาศาสตร์
ไม่คิดว่าจะมาพบสังคมแบบนี้ เมื่อมาพบก็ประทับใจ เฝ้ามองแบบเป็นเนื้อในไปด้วยในตัว
จุดเด่นคืออยู่บนฐานของจิตใจที่เอามุมดีมารวมกันที่สังคมจริงขาดแคลน แต่ขณะเดียวกัน หลวมเพราะไม่มีโครงสร้างซึ่งมีผลบ้างต่อการทำงานใหญ่ที่ซับซ้อน แต่หากดัดแปลงวิถีสมัยใหม่เข้ามาใช้เฉพาะกิจก็จะเสริมความแข็งแกร่งของกลุ่มได้ แต่ความหลวมนั้นเองกลายเป็นความสัมพันธ์ใหม่ของกลุ่มคนในสังคมที่เอื้อต่อการเสริมสร้างทุนทางสังคม
ผลกระทบ(Impact)ต่อการรวมกลุ่มมีมากมายในทิศทางที่ดี เช่น เกิดการนำความรู้ไปต่อยอด เกิดการขยายวงสัมพันธ์ไปถึงเด็กๆที่เป็นลูกหลาน อันเป็นการส่งต่อไม้ทางวัฒนธรรม ระหว่างวัย
เป็นสังคมเติมเต็มบางส่วนของวิถีชีวิตปกติ
คิดอะไร…..
เป็นคนหนึ่งในสังคมใหญ่ที่หนาแน่นไปด้วยคนที่แก่งแย่งกันไปยืนอยู่ข้างหน้า หรือให้เหนือกว่า สูงกว่า ผมจะเลือกตรงข้าม
เพราะเป็นคนชนบท ยากจน และบังเอิญผ่านกระบวนการ 14-16 ตุลาเต็มๆ จึงตั้งใจว่าจะทำงานเกี่ยวกับชนบท และได้ทำสมใจอยาก
คิดเยอะ แต่ทำได้น้อย แต่เพียงนิดหน่อยก็ขอให้ได้ทำเถอะ ดีกว่าคิดเฉยๆหรือพูดเฉยๆยังมีเพื่อนที่คิดคล้ายเรา ทำคล้ายเราอีกมากก็ไปจับมือกับเขา
ไม่จำเป็นต้องมาทำเหมือนกันหมด ยืนตรงไหนก็ทำดีที่ตรงนั้นได้ เพราะสังคมมิใช่มีแต่ชาวนา เกษตรกร มีอีกหลายกลุ่ม ทุกกลุ่มประกอบกันเป็นสังคม ประเทศ ที่ต่างพึ่งพาอาศัยกันและกัน แต่อย่าเอารัดเอาเปรียบกัน ขี่คอกันขึ้นไป ผมจะอยู่ตรงข้ามทันที
คำสอนทุกศาสนาคือสิ่งที่เราพยายามดัดแปลงตนเองให้เข้าใกล้มากที่สุด เห็นว่าเส้นทางเดินตามคำสอนนั้นคือทางรอดของมวลมนุษยชาติ และต้องเป็นผู้ปฏิบัติเท่านั้น
ธรรมชาติคือสรรพสิ่ง เราก็เป็นเสี้ยวส่วนของธรรมชาติ เราไม่มีทางอยู่รอดได้หากไม่มีธรรมชาติ แต่ธรรมชาติอยู่ของเขาได้แม้ไม่มีเรา
สังคมไทยเราไม่ได้สนใจการพัฒนาที่ใช้มุมมอง ทุนทางสังคม และอัตลักษณ์ ไม่จำแนกแยกแยะ ไม่เคารพและใช้ฐานของอัตลักษณ์นั้นเป็นที่ตั้ง
ระบบราชการไม่เหมาะสมกับการเป็นโครงสร้างในการพัฒนาสังคมไทยในสภาพปัจจุบันแล้ว
ให้อภัยเขาก่อนให้อภัยตัวเอง..
เชิงอรรถ
-
-
-
-
-