เฮฮาศาสตร์.. เจ้าเป็นไผ

โดย bangsai เมื่อ 12 พฤษภาคม 2009 เวลา 16:58 ในหมวดหมู่ เฮฮาศาสตร์ #
อ่าน: 8919

อาสายกร่าง สรุปตัวตนเฮฮาศาสตร์ เจ้าเป็นไผ ให้ทุกท่านช่วยต่อเติมเสริมแต่ง เพื่อใส่ใน เจ้าเป็นไผ๑ ครับ

เฮฮาศาสตร์รวมตัวกันอย่างไร

นับตั้งแต่ “การจัดการความรู้” (KM) เป็นหลักการที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวางในสังคมแล้ว นั้น รูปแบบการจัดการก็พัฒนาอย่างหลากหลายมากขึ้น รูปแบบหนึ่งที่เป็นที่นิยมกันคือ บล็อก สมาชิกที่ใช้บล็อกบันทึกเรื่องราว แลกเปลี่ยนเรียนรู้ แวะอ่าน ทักทาย และแลกเปลี่ยนความคิดเห็น จนถูกคอกัน จึงขยับจากโลกเสมือนอันเชื่อมโยงสมาชิกข้ามระยะทาง และข้อจำกัดของเวลา สู่โลกความเป็นจริงของกิจกรรมกลุ่ม เสริมสร้างความผูกพันระหว่างกัน

เป็นการรวมตัวกันแบบธรรมชาติ ต่างมีอิสรเสรีภาพ เป็นตัวของตัวเอง เอาความเป็นคนคนหนึ่งเข้ามาหากันมิได้มาด้วยยศฐาบรรดาศักดิ ตำแหน่งหน้าที่การงาน ฐานะ หัวโต ตัวเล็ก ขี้เหร่ ความหล่อ ความสวย เพศ คุณวุฒิ วัยวุฒิ ฯลฯ เหล่านี้ไม่ใช่เงื่อนไขของการมารวมกลุ่ม หรือกล่าวโดยสรุปรวมก็คือ รวมกันด้วยใจนั่นเอง

ทำไมต้องเฮฮาศาสตร์

ทุกคนจำเจกับระบบ ไม่ว่าราชการหรือธุรกิจ หรือองค์กรอื่นๆ อยากสัมผัสอะไรที่ง่ายๆ กันเอง ไร้รูปแบบแต่ไม่ไร้สาระ เอาใจว่ากัน สนุกสนานก็มีสาระได้ ไม่เครียดไม่ผูกมัดแต่รับผิดชอบ ยืดหยุ่น สัมพันธ์กันด้วยลักษณะทางวัฒนธรรมพื้นๆของสังคมแต่ไม่ใช่ระเบียบ ข้อบังคับ หรือการขึ้นต่อ หากกลุ่มตกลงทำร่วมกันก็ทำ ก็ขอเรียกว่าเฮฮาศาสตร์

เฮฮาศาสตร์คือองค์กรแบบไหน

เฮฮาศาสตร์ไม่ใช่องค์กรแบบปกติทั่วไป (Formal Organization) ที่มีโครงสร้างบุคลากรเป็นชั้นของตำแหน่งความรับผิดชอบ เรียกกันว่า Organization chart เช่น มีผู้มีตำแหน่งสูงสุด แล้วลดหลั่นกันลงมา มีการแบ่งบทบาทหน้าที่ ความรับผิดชอบกันอย่างชัดเจน เช่น องค์กรในระบบราชการ องค์กรบริษัท ระบบธุรกิจต่างๆ แต่เฮฮาศาสตร์เป็นองค์กรที่ไม่มีโครงสร้าง เป็น Un-Structural Organization หรือ Non-Formal Organization ไม่มีชั้นของตำแหน่งความรับผิดชอบ ไม่มี Organization chart ไม่มีการแบ่งบทบาทหน้าที่กันอย่างชัดเจน

แต่เฮฮาศาสตร์ “มีโครงสร้างแบบไม่มีโครงสร้าง” ความหมายคือ กลุ่มจัดรูปของกลุ่มตามฐานความรู้ ความสามารถ ความถนัด จัดเจน เฉพาะที่ปรากฏออกมาในระหว่างสมาชิกในกลุ่ม และเป็นที่ยอมรับกันโดยปริยาย ตามการแสดงออก ตามการนำ ตามการศรัทธา นี่แหละเป็นโครงสร้างแบบดั้งเดิมของสังคมเรา

อธิบายขยายความได้ดังนี้ ย้อยหลังไปรัชการที่ 5 ก่อนที่ระบบราชการจะเข้าไปสู่สังคมชนบทนั้น สังคมชนบทอยู่ร่วมกันแบบดั้งเดิมตามธรรมชาติ ไม่มีกำนัน ไม่มีผู้ใหญ่บ้าน ไม่มีอนามัยตำบล ไม่มีผู้ช่วยฯ ไม่มีสารวัตร ไม่มีตำรวจ ฯลฯ แต่สังคมชนบทมีหมอพื้นบ้าน มีช่างไม้ ช่างหล่อ มีผู้ทำพิธีกรรมพื้นบ้าน ผู้ทำพิธีกรรมทางศาสนา ทางอีสานก็มี เจ้าโคตร เฒ่าจ้ำ หมอธรรม หมอเป่า หมอนวด นางเทียม ฯลฯ ทุกภูมิภาคไม่ว่าเหนือ ใต้ กลาง อีสาน ทุกชุมชนจะมีบุคลากรเหล่านี้อยู่ ซึ่งต่างก็มีบทบาทในสังคมนั้น ๆ และระหว่างชุมชนที่เราเรียกท้องถิ่น ต่างอยู่ร่วมกันแบบพึ่งพาอาศัยกัน มิได้ใช้เงินทองมาเป็นสื่อกลางในการพึ่งพาว่าจ้าง มีน้ำใจแก่กันและกัน เคารพ ยอมรับและมีมารยาทระหว่างกันที่เราเรียกว่ารวม ๆ ว่าวัฒนธรรมชุมชน หรือวิถีชุมชน

ภาพชนบทดั้งเดิมดังกล่าวเราเรียกว่าเป็น Local structure หรือ Traditional structure และซ่อนตัวอยู่ในสังคมปัจจุบันที่เอาโครงสร้างระบบราชการที่เรียกว่า การปกครองท้องถิ่นเข้าไป โครงสร้างดั้งเดิมเหล่านั้นก็ถูกลดบทบาทลง และเลือนจางหายไปกับกาลเวลา มากน้อย แล้วแต่ปัจจัย เช่น ความเข้มแข็งของระบบดั้งเดิมของบางชุมชนยังหนาแน่นเพราะมีบุคลากรของชุมชนเป็นผู้มีบารมี ทั้งชุมชนยอมรับนับถือ เคารพ หรือปัจจัยที่นักสังคมศาสตร์มักเรียกว่า ความเข้มข้นของระบบดั้งเดิม อาจดูจากระยะห่างของที่ตั้งหมู่บ้านนั้นกับศูนย์กลางอำนาจ (Periphery theory) แต่หลักการนี้ด้อยลงไปมากเมื่อระยะทางในสมัยก่อนถูกลดลงด้วยระบบการสื่อสารยุคดิจิตอลในปัจจุบัน ในป่าในเขาก็สามารถรับรู้เรื่องไข้หวัด H1N1 ได้พร้อมๆกับในเมืองและทั่วโลก

เวลาเราเข้าไปทำงานในชุมชนเราจะวิเคราะห์โครงสร้างชุมชนด้วยสองมิติ คือ มิติสมัยใหม่ หมายถึงระบบกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อบต. ซึ่งเปิดเผยชัดเจน เห็นชัดจับต้องได้ มีสถิติ มีการจดบันทึก มีรายงาน ฯ อีกมิติคือ ระบบโครงสร้างเดิมของชุมชน ใครคือเจ้าโคตร ใครคือเฒ่าจ้ำ ใครคือหมอธรรม ใครคือหมอนวด ใครคือช่าง ใครคือผู้นำจิตวิญญาณ เราหาตัวได้อย่างไรมีหลายวิธี นักวิชาการก็ใช้ Sociogram

บทบาทของโครงสร้างนี้ในสังคมชุมชนมีบทบาทไม่แพ้โครงสร้างทางระบบการปกครองท้องถิ่น ใครทำงานกับชุมชนแล้วไม่เข้าใจมิตินี้ก็ทำงานยากสักหน่อย

เฮฮาศาสตร์จำลองภาพโครงสร้างสังคมเดิมนี้มา หรือมีลักษณะที่ใกล้เคียงมาก และหากเราจะทำ Sociogram ในกลุ่มเฮฮาศาสตร์ เราก็จะพบว่า ใครมีปัญหาเรื่อง บล็อก คอมพิวเตอร์ ก็ต้องวิ่งไปหา คอน เม้ง โสทร ใครมีคำถามเรื่องสมุนไพรก็ต้องแวะไปจีบป้าจุ๋ม ใครอยากสนทนาเรื่องการส่งเสริมการเกษตรก็ต้องน้องสิงห์ป่าสัก และหากจะถามว่าทั้งกลุ่มยอมรับใคร ศรัทธาใครในลักษณะนำก็ต้องพ่อครูบาฯ ลุงเอก เป็นต้น การยอมรับเป็นไปโดยอัตโนมัติโดยไม่ต้องแต่งตั้ง แต่ไม่มีโครงสร้าง แต่มีการยอมรับในความรู้ความสามารถ ซึ่งคล้ายๆบทบาทหน้าที่โดยธรรมชาติต่อกลุ่ม

เป้าหมายเฮฮาศาสตร์เพื่ออะไร

ถ้าจะดูพัฒนาการของกลุ่มเฮฮาศาสตร์จะเห็นว่าเป็นกลุ่มที่ไม่ได้จัดตั้งขึ้นมาโดยใคร หน่วยงานไหน ฯ จึงไม่มีวัตถุประสงค์เฉพาะ ไม่มีเป้าหมายเฉพาะ แต่เฮฮาศาสตร์เกิดจากการค่อยพัฒนาความสัมพันธ์ จากบันทึกมาสู่รูปแบบกลุ่มก้อนของคนถูกคอกัน แบบหลวมๆ ที่ไม่ได้มีเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์ใดๆในปัจจุบัน เป็นเพียงการเริ่มต้น และกำลังเดินทางไปสู่อนาคตที่ยังไม่ได้กำหนด แต่ทุกคนมองเห็นกว้างๆร่วมกันว่า เพื่อกันและกัน จากแคบสู่กว้าง จากปัจเจกสู่สังคม ทุกย่างก้าวในห้วงเวลาที่เคลื่อนตัวไป เฮฮาศาสตร์กำลัง Formulate ตัวเองอย่างค่อยเป็นค่อยไป แบบธรรมชาติ ไม่มีเงื่อนไขที่จะต้องเป็นนั่นเป็นนี่ ไม่มีกำหนดเวลา แต่กลุ่มคิดอ่านทำกิจกรรมร่วมกันตามจังหวะแห่งความลงตัวของตัวเอง น้อยมากไม่สำคัญ ใหญ่เล็ก ไม่ใช่สาระสำคัญ แต่การเสริมสร้าง หนุนเนื่องกำลังใจและศักยภาพแก่กันและกันนั้นเป็นสาระที่กลุ่มเลือกที่จะทำ ตามความเห็นชอบร่วม อาจกล่าวว่าเพื่อสมาชิก เพื่อกลุ่มที่หลวมๆ เพื่อสังคมนี่คือแนวทางที่เป็นไป ปล่อยให้การเคลื่อนตัวและเวลาในอนาคตเกิดการปรับตัวไปสู่สภาพที่เหมาะสมที่สุดของความเป็นเฮฮาศาสตร์

ศักยภาพของเฮฮาศาสตร์

การเป็นเฮฮาศาสตร์แบบไม่มีโครงสร้างเหมือนรูปแบบองค์กรทั่วไปนั้น เป็นทั้งจุดแข็งและจุดอ่อนในตัวเอง เมื่อย้อนกลับไปพิจารณาพัฒนาการจากเริ่มต้นจนมาถึงปัจจุบันนั้น เฮฮาศาสตร์เกิดขึ้นและพัฒนามาอย่างไร ความไม่ติดยึดต่างๆนั้น เป็นลักษณะที่มีความยืดหยุ่นสูง ซึ่งมองว่าน่าจะส่งผลให้มีการปรับตัวได้สูง หากต้องการการปรับตัว แต่สุมเสี่ยงต่อการทำกิจกรรมร่วมกันที่มีความซับซ้อนมาก

กรณีเมื่อกลุ่มมีภารกิจงานที่มีความซับซ้อนที่ต้องการความจัดเจนต่องานนั้นๆ ก็สุ่มเสี่ยงหากกิจกรรมนั้นๆอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่จำกัดต่างๆ เช่นเวลาที่จำกัด ย้อนไปนึกถึงสังคมดั้งเดิมจะจัดงานใหญ่ เช่น งานศพ หรืองานโกนจุก บวชนาค ในหมู่บ้านนั้น จะมี “แม่งาน” เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ ซึ่งก็คือ เจ้าภาพนั่นเองหรือญาติสนิทของเจ้าภาพ ก็จะปรึกษาหารือกันว่างานมีอะไรบ้างที่ต้องทำ ขนาด จำนวน เวลา ฯ จะทำได้อย่างไร ก็ต้องไหว้วานญาติสนิท เพื่อนบ้านที่สนิท หรือ เพื่อนบ้านที่เป็นผู้ชำนาญการในเรื่องนั้นๆ เช่นจะทำขนมหม้อแกงต้องป้าจุ๋ม จะแกงเผ็ดเป็ดย่างต้องแม่สร้อย จะทำห่อหมกต้องแม่เบิร์ด จะจัดอาสนะสำหรับพระมาสวดมาเทศน์ ต้องพ่อเหลียง จะหุงข้าวกระทะใบบัวต้องตาจอมป่วน จะประดิษฐ์ประดอยดอกไม้ถวายพระต้องตาออต เหล่านี้เป็นต้น ก็ไปเชิญมา บอกกล่าวมา หรือบางทีไม่ต้องบอกเขาเหล่านั้นก็มาโดยอัตโนมัติ รู้งาน จิตอาสา เกิดขึ้นเองโดยอัตโนมัติ ดูซิงานที่ซับซ้อนไม่มีองค์กรโครงสร้างก็จัดได้ ทำได้ สำเร็จลงได้ด้วยความเป็นชุมชนแบบหมู่บ้าน

เฮฮาศาสตร์กำลังปรับตัวจำลองภาพชุมชนดั้งเดิม แต่น่าจะดีกว่า เพราะเราไม่ได้อยู่ในยุคสังคมโบราณ สามารถดัดแปลงความรู้ความสามารถสมัยใหม่เข้ามาปรับใช้ เฮฮาศาสตร์เป็นสังคมพิเศษของยุคสมัย เป็น Cyber community เป็นชุมชนเสมือน เราพบปะกันทุกวันบนตัวอักษร แม้ความสัมพันธ์ระหว่างกันนี้ ไม่เหมือนชุมชนดั้งเดิมจริงที่สัมพันธ์กันแบบคลุกคลีถึงตัวกันทุกวัน ความสัมพันธ์ระหว่างกันจึงแนบแน่นกว่าหลายเท่าตัว เฮฮาศาสตร์ก็น่าจะพัฒนาไปในทิศทางนั้น

ดูเพิ่มเติมได้ที่

« « Prev : ร่องรอยบางทราย

Next : รังใหม่.. » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

378 ความคิดเห็น


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 6.6035640239716 sec
Sidebar: 0.049839019775391 sec