ถึงฯพณฯท่านนายก..

1300 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 20 เมษายน 2010 เวลา 13:02 ในหมวดหมู่ การบริหารจัดการประเทศ #
อ่าน: 16904

ผมทราบว่าท่านมีโจทย์หนักอึ้งดั่งภูผาใหญ่

บางโจทย์ต้องใช้เวลาและการเริ่มกระทำที่เป็นรูปธรรมเดี๋ยวนี้

บางโจทย์ก็ยากที่จะถอดสลักระเบิดออกมาอย่างนิ่มนวล

บางเรื่องซับซ้อนเกินกว่าความเร่งด่วนจะปัดเป่าได้

เมื่อฟังท่านยืนยันว่าไม่ถอดใจ และยึดมั่นในสิ่งที่ถูกต้อง

ประชาชนส่วนหนึ่งได้ทำบางอย่างที่สนับสนุนท่าน

ขณะที่ประชาชนอีกส่วนหนึ่งหูหนวก ตาบอด

ฟังแต่ไม่ได้ยินในสิ่งที่ท่านพูด

มองแต่ไม่เห็นเจตนา และความพยายามในเส้นทางที่ถูกต้องที่ท่านกำลังทำ

จะอย่างไรก็ตาม ท่านเป็นประวัติศาสตร์ไปแล้ว

ขอได้จงเขียนประวัติศาสตร์นี้ด้วยสติ ธรรมภิบาล และความตั้งใจที่บริสุทธิ์ต่อไปเถิด

และแสดงออกมาให้ประชาชนได้เห็น แม้จะมีอีกจำนวนหนึ่งที่ไม่เห็นก็ตาม

ประชาชนจะยืนอยู่ข้างท่าน

และวันข้างหน้าประชาชนอีกส่วนหนึ่งจะเข้าใจสิ่งที่ท่านทำ

ผมยืนอยู่ในด้านที่ถูกต้อง

ผมยืนอยู่เคียงข้างท่าน..


โศลกแดง..

604 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 10 มีนาคม 2010 เวลา 20:36 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 11806

โศลกแดง


เราเกิดมาในบ้านหลังนี้ เรารักเราผูกพัน

เรารู้ว่าพี่น้องเราไม่เท่าเทียมกัน บางคนร่ำรวย บางคนยากจน

คนคนหนึ่งได้รับการศึกษา ในสถาบันระดับสูงของประเทศ

แต่อีกมากมายนักไม่มีโอกาสเช่นนั้น

คนที่ได้รับการศึกษาคนนั้นมีโอกาสมากมายที่จะเลือกทางเดินแห่งชีวิต

แต่เขาเลือกเดินลงสู่ชนบท เพราะเขารักบ้านหลังนี้

ความรักนี้ไม่ได้มากไปกว่าคนอื่นๆหรอก แต่เลือกที่จะยึดอาชีพการทำงานกับชนบท

ไม่มีเกียรติ์ และไม่มีความร่ำรวยรออยู่ข้างหน้า

มีแต่ปัญหาและความหวังดีและกล้าที่จะเผชิญพร้อมๆกับพี่น้อง

มาวันนี้บ้านหลังใหญ่หลังนี้เดือดร้อน เพราะคนในบ้านทะเลาะกัน

เราท่านก็รู้ดีว่าเพราะอะไร

ช่วยกันเถอะครับ…ช่วยเป็นหนึ่งในความพยายามที่จะให้พี่น้องเราหันหน้ามาคืนดีกัน

“หากเราไม่เป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหานี้ เราก็คือส่วนหนึ่งของปัญหานั่นเอง..”


เที่ยวลาวใต้ ปราสาทวัดพู 2

35 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 8 มีนาคม 2010 เวลา 19:41 ในหมวดหมู่ ทุนสังคม #
อ่าน: 2945

ตรงทางเข้าปราสาทวัดพูเราก็พบพิพิธภัณฑ์ ที่เขาห้ามถ่ายรูป แต่มีชาวฝรั่งเศสมาถ่ายทำสารคดี เขาคงขออนุญาตพิเศษ เราเข้าไปชมก็พบ อรรธนารีศวร ที่นี่ แต่ไม่สมบูรณ์เท่าที่อุบลฯครับ

ไกด์สาวพาเราเดินขึ้นปราสาทวัดพู ก่อนขึ้นไปมีชาวบ้านเอาเครื่องเซ่นไหว้พระรูปมาขาย เราซื้อมาแสดงคารวะ ต่อพระรูปตระหง่านก่อนทางขึ้นนั่น

ทางผ่านด้านล่างก่อนขึ้นปราสาทนั้นไกด์บอกว่ามีสามชาติมาสนับสนุนการฟื้นฟูมี อินเดีย ฝรั่งเศษ และอิตาลี

ช่วงที่ไปเที่ยวบังเอิญต้นลีลาวดีสองข้างบันไดขึ้นปราสาทกำลังออกดอก ดูสวยจริงๆเต็มไปหมด

เมื่อ สว.ปีนบันไดชันจำนวนนับร้อยขั้น ผลออกมา เฮ่อ…ขอน้ำเย็นดื่มหน่อย… ไกด์สาว ที่หอบหิ้วน้ำเย็นผ้าเย็นคอยบริการลูกค้า.. นี่ดีนะว่าลูกค้ามีแค่สามคน

เมื่อถึงชั้นปราสาทแล้ว พบชาวบ้านมาขายเครื่องบูชาพระรูปในตัวปราสาท ไปที่ไหนก็มีฝรั่ง อิอิ ฝรั่งคลานขึ้นคลานลงก็มีให้เห็น

นักท่องเที่ยวบางคนศรัทธามาก เอาขวดเปล่าไปรองน้ำที่หยดมาตามรอยแตกของหิน ถือว่าเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ ด้านหลังปราสาทวัดพูมีร่องรอยงานแกะสลักที่ยังไม่แล้วเสร็จปรากฏอยู่

ด้านเหนือของตัวปราสาทมีก้อนหินใหญ่ก็มีร่องรอยของการแกะสลับรูปช้าง บันไดนาค และรอยลึกของจระเข้เพื่อประกอบพิธีกรรมต่างๆตามความเชื่อ..

นับว่าเป็นปราสาทที่สวยอีกแห่งหนึ่งที่น่าไปชม หากการฟื้นฟูตัวปราสาทด้านล่างสำเร็จหมด ก็จะยิ่งสร้างคุณค่าของปราสาทวัดพูอีกมากมาย

ดอกลีลาวดีที่พื้นบันไดหินนั้นเหมือนเทวดามาโปรยปรายให้เหล่ามนุษยชนขึ้นไปดื่มด่ำกับอดีตกาลที่มีศรัทธาที่ยิ่งใหญ่ ต่างเพื่อสันติและธรรมแห่งการอยู่ร่วมกัน..


วันสตรีสากล..สตรีในมุมของอดีต

3 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 8 มีนาคม 2010 เวลา 14:18 ในหมวดหมู่ ทุนสังคม #
อ่าน: 1943

เทวรูปอรรธนารีศวรพระองค์นี้อยู่ที่พิพิธภัณฑ์อุบลราชธานี อย่างที่บันทึกไปแล้ว และผมไปพบรูปนี้ที่พิพิธภัณฑ์ปราสาทวัดพู เมืองจำปาสัก ปากเซ ซึ่งเอารูปนี้ไปอธิบายเทวรูปที่เป็นวัตถุโบราณที่นั่น ซึ่งมีขนาดเล็กกว่าและไม่งดงามเท่าที่อุบล มีคำบรรยายเป็นภาษาลาว ผมให้น้องไกด์อ่านให้ฟัง

มีตอนหนึ่งพยายามอธิบายความหมายเทวรูปที่มีสองเพศนี้โดยกล่าวว่า

“….เนื่องจากสตรีคือพลังแห่งการสร้างโลก…”

เนื่องในวันสตรีสากลจึงหยิบเอามุมนี้ของ “อรรธนารีศวร” มาบอกกล่าวกันครับ

..สตรีจงเจริญ..


เที่ยวลาวใต้ ปราสาทวัดพู 1

307 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 7 มีนาคม 2010 เวลา 21:48 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 7774

เช้าวันที่อบอุ่นเราออกเดินทางจากที่พักหอพักราชภัฏอุบลฯเราทิ้งรถของเราไว้ที่บริษัทนั่งรถตู้ที่เราซื้อบริการทัวร์เพียงครอบครัวเดียวไปรับลูกสาวที่บินมาจากรุงเทพฯแล้วก็ตรงสู่ช่องเม็กชานแดนไทยลาว

ถนนหลายช่วงชำรุดแต่ส่วนใหญ่ก็ใช้ได้ดี ทัวร์บกพร่องไปหน่อยไม่จัดการใบผ่านแดนให้เรียบร้อยทั้งที่บอกว่าจะจัดการไว้ล่วงหน้า แต่ก็ไม่ได้ใช้เวลามากนัก อาจเป็นเพราะจำนวนคนยังไม่มาก ปกติมากับทัวร์ เขาจะจัดการให้หมด ลูกค้าแค่นั่งคอย และพ่อค้าก็เข้าใจรู้ว่าไม่ว่าจะออกหรือจะเข้าคนที่ผ่านก็ต้องคอย

ดังนั้น บริษัทดาวเรืองของลาวจึงมาสร้างร้าน Duty free ขนาดใหญ่มาก ใหญ่กว่าที่ด่านสะหวันนะเขตเสียอีก และได้ผลจริงๆ พี่ไทยแห่เข้าร้านและซื้อ ซื้อ ซื้อ ส่วนมากก็คือ เหล้าฝรั่ง ไวน์ เครื่องสำอาง น้ำหอม คนทั่วไปก็ถือโอกาสเข้าห้องน้ำดีดีที่นี่ ทานกาแฟร้อนเย็น ซึ่งราคาแพงกว่าบ้านเรา อิอิ

เมื่อข้ามสะพานที่ญี่ปุ่นสร้างให้นั้น เราก็พบบ้านที่กำลังก่อสร้างทางตลิ่งซ้ายมือ มันใหญ่โตมาก ไกด์สาวบอกว่านี่คือบ้านของเจ้าของบริษัทดาวเรือง หรือ ดาวเฮือง ผู้ยิ่งใหญ่เรื่องกาแฟ อะราบิกา ของลาว

เราไม่เข้าที่พักก่อนตรงไปทานข้าวกลางวันและเลยไปเที่ยวปราสาทวัดพู อาหารกลางวันก็นับว่าใช้ได้ครับส่วนใหญ่เป็นปลา แม้ว่าผมจะทานไม่ได้แต่ครอบครัวก็เอร็ดอร่อย ทุกอย่าง แล้วเราก็มุ่งไปทางทิศใต้ตามเส้นทางหมายเลข 13 ของลาว แล้วต้องไปข้ามแพแม่น้ำโขงกลับไปอยู่ฝั่งขวาอีกครั้ง

ไกด์สาว นั่งบ่นอุบอิบไปตลอดทางที่จะข้ามแพ ถามได้ความว่า แพจะข้ามฝั่งได้ต้องรอรถมาเต็มแพ หากไม่เต็มก็ไม่ออกไป จะนานเท่าไหร่ก็ต้องรอ บังเอิญช่วงนี้ทัวร์มากันมากจึงไม่ต้องรอนาน แต่ดูสภาพแพยนต์แล้วแตกต่างจากที่เมืองไชยบุรีมาก ที่นั่นทันสมัยกว่ามาก โครงสร้างพื้นฐานของลาวต้องพัฒนาอีกมากครับ


เมื่อขึ้นอีกฝั่งก็มีร้านค้าท้องถิ่นขายสินค้าพื้นบ้าน แต่ก็ไม่มีรถคันไหนจอดให้คนลงไปชมต่างก็รีบมุ่งหน้าเดินทางต่อไปวัดพู ที่นี่คือเมืองจำปาสัก ดั้งเดิมจริงๆ ยังมีอาคารโบราณสมัยฝรั่งเศสปกครองหลงเหลืออยู่ และทำเป็น “เฮือนพัก” ให้ฝรั่งมาเช่าพักแบบ B&B หรือ Bed and Breakfast สำหรับพวกBackpacker


น้องหมากับดอกไม้..

1022 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 18 กุมภาพันธ 2010 เวลา 22:48 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 12512

พอมีเวลาว่างก็เอาน้องหมาไปเดินเล่นที่สวนสาธารณะขอนแก่นใกล้ๆบ้าน หมาเขารู้นะ พอเราเปิดกระบะท้ายรถ เขาก็วิ่งมามองแล้ว ยิ่งพอเราหยิบโซ่ทำเสียงกริ๊งกร๊าง แค่นั้นแหละ เขาก็กระดี๊กระด้า เต้นโหย่งเหยง ดีใจขึ้นมา วิ่งไปวิ่งมาวนใกล้รถนั่นแหละ เมื่อเอาชุดใส่สายโซ่ล่ามใส่เท่านั้น ก็วิ่งไปปีนท้ายรถทันที

อิอิ เนื่องจากเธออ้วนกระโดดขึ้นไม่ได้ เราต้องอุ้มสองขาหลังใส่ท้ายรถให้ แล้วก็กระดิกกระดี๊อยู่ในกระบะรถนั่นแหละ เมื่อไปถึงสวนก็กระวนกระวายอยากจะลงทันที เราก็ต้องอุ้มเขาลง อิอิ หนักน่าดูเลย

หากไปแต่เช้าๆยังไม่มีคนมาเดินเล่นเราก็ปลดสายโซ่ให้เขามีอิสระได้สนุกเต็มที่


เมื่อเขามีอิสรภาพ ก็จะวนเวียนใกล้ๆเรานั่นแหละ วิ่งไปมาก็เหลือบดูเราสักครั้ง แล้วก็วิ่งไปโน่นนี่ “นุ๊กอีแหล่ว”….

ผมก็คว้ากล้องมองดูอะไรที่เข้าตาบ้าง ดอกไม้ นก วิว ธรรมชาติอื่นๆ ซึ่งมีมากมายที่เราเพลิดเพลินกับสิ่งเบาๆในวันเบาๆแบบนี้







หาความสุขเล็กๆกับวันหยุดบ้างครับ เอารูปมาฝาก

(เรื่องจากแฟ้ม)


ชายคนนั้นกับขยะริมถนน..

171 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 21 มกราคม 2010 เวลา 21:54 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 3651

ผมและคนข้างกายเดินทางถึงล้านนาศรีนครพิงค์ตั้งแต่บ่าย 5 โมง เพื่อนจากมุกดาหารโทรติดต่อมาตั้งแต่เช้าว่า มาล้านนาก็ดีแล้วช่วยเข้าไปใน มช. เอาเสื้อ มช.และอื่นๆไปขายในงานราตรีอ่างแก้วสิ้นเดือนนี้ด้วยซี จะได้ไม่เสียเที่ยว เอาใส้อั่วและแคบหมูไปโตยเน้อ.. ครับผม..รีบบึ่งเข้า มช.ก่อน CMU shop จะปิด โฮ…รถติดระเบิด เพราะวันนี้รับปริญญากัน

ได้ลูกสาวเพื่อนที่เรียนคณะวิศวะที่นี่ช่วยจัดการให้ ทุกอย่างก็เรียบร้อยในเวลา 45 นาที ได้ของไปลังใหญ่กลับขอนแก่นและจะเลยต่อไปมุกดาหาร เหลือใส้อั่วกับแคบหมู ค่อยไปหาซื้อในวันกลับ

ผมมาล้านนาครั้งนี้เพราะอย่างที่ประกาศไว้ว่ามาร่วมงานฉลองครบรอบอายุท่านอาจารย์ อคิน รพีพัฒน์ ซึ่งท่านมีบ้านที่นี่ด้วย งานก็ทั้งวัน จะต้องร่วมเสวนาตอนบ่ายด้วย น้องๆผู้จัดแซวว่า จะเอาผมขึ้นเวทีด้วย อิอิ เอากันแบบไม่ได้ตั้งตัวนี่นา…


เสร็จธุระหมด ผมก็เข้าที่พักประจำของผมกลางเมืองราคาถูกๆ แล้วรองเท้ามันก็พาเราไปนั่งที่ร้านอาหารเกาหลี มาทุกครั้งก็มากินร้านนี้ทุกครั้ง ชอบกิมจิน่ะซี…แต่ไม่ชอบดาราเขาหรอกนะ ผมน่ะตก เทรนไปนานแล้ว โน่นต้องลูกสาว พวกวัยรุ่นโน่น ผมชอบอาหารเขาต่างหาก ก็ไม่ได้โปรดปรานอะไร แค่เปลี่ยนรสชาดน่ะครับ

หลังจากพุงกางแล้วก็ควงคนข้างกายเดินเล่น ไปกินกาแฟ ดูชีวิตศรีนครพิงค์ ผมหิ้วเป้ที่ใส่อุปกรณ์ถ่ายรูป แต่ก็ไม่ได้รูปอะไรที่น่าสนใจ นั่งคุยกันสักพักก็เดินกลับกะว่าจะทบทวนภาระพรุ่งนี้


แต่แล้วก็มีอะไรเข้ามาในสายตาผม คนเก็บขยะครับ เขาก้มหน้าควานหาถุงพลาสติกและกล่องกระดาษ แล้วก็เอาไปรวมๆไว้ แล้วก็ย้ายไปขยะกองอื่น ผมคว้ากล้องมาถ่ายรูปเขาโดยไม่ใช้แฟลช เกรงว่าเขาจะโกรธ หรือไม่พอใจ เขาเดินมาใกล้ผม ผมก็ตัดสินใจเดินไปคุยกับเขา


…เอาไปขายหรือครับ… ใช่ เอาไปขาย ผมคุยต่อว่า ดีมากครับ ดีมากครับพร้อมยกนิ้วหัวแม่มือให้เขา เขายิ้มให้ผมแล้วเดินมาคุยว่า ..โผ เคยไปซามักงาน เขาว่าโผ เป บ้า โผเลยไม่มี งาน สำเนียงแบบนี้ ใครก็เดาออกว่าเขาเป็นชนเผ่า ผมเลยถามว่า เป็นม้งหรือครับ เฮา เป อาข่า อ้อ เผ่าอาข่า ผมเคยคลุกคลีพักหนึ่งที่เชียงรายสมัยที่สมเด็จย่าอยู่ เขาบอกว่า บ้านเขาอยู่แม่สรวย ผมก็ต่อว่าดอยวาวีใช่ไหมที่มีกาแฟดังๆ เขาบอกใช่

ผมมีลูกสามคน กำลังเรียนสองคน คนที่สามได้มาไม่ตั้งใจ ยังเล็กอยู่ คนโตเรียน ม.6 กำลังจะเข้ามหาวิทยาลัย ผมต้องหาเงินให้ลูกเรียนหนังสือ

แค่นั้นเอง..ผมสะอึก… เขาพูดต่อว่า ผมไม่มีงานที่มีค่าจ้างทำ มีทางเดียวที่จะหาเงินได้คือขยะเหล่านี้มีเงินทองซ่อนอยู่ แค่ผมใช้เวลากับมันผมก็ได้เงิน เก็บสะสมให้ลูกได้

“เพื่อลูก..พ่อทำได้ทุกอย่าง..”


ผมชมเขา ดีมากครับ ดีมากครับ เขายิ้มให้ผมแล้วพูดว่า “ขอบคุณที่ให้กำลังใจ” เขาก้มหน้าทำหน้าที่พ่อแก่ลูกของเขาอย่างแข็งขัน เขาไม่เอ่ยปากขอเงินผมเลย ทั้งที่ผมเดาว่า เขาอาจจะเป็นเหมือนหลายคนที่เคยพบคือ อยากแสดงความน่าสงสารแล้วเรียกร้องเงินทอง อะไรทำนองนั้น ไม่เลยเขายิ้มและทำงานของเขาต่อไป เขาเพียงขอบคุณที่ให้กำลังใจเขา….


ผมเดินจากมา ในมโนสำนึกผมคิดอะไรไปมากมาย

ผมอยากจะคุยเขาอีกหลายอย่าง…

หูผมยังก้องคำที่ว่า… เพื่อลูก พ่อทำได้ทุกอย่าง….

..ขอบคุณที่ให้กำลังใจ…

ผมไม่รู้จักชื่อเขาด้วยซ้ำไป แต่การพูดคุยไม่กี่คำกับเขา ให้สติดีจริงๆ..

ผมเป็นคน sensitive ตั้งแต่เมื่อไหร่…ผมเดินจากมาด้วยน้ำตาซึมๆ พร้อมจูงแขนคนข้างกายกลับที่พักเพื่อทำภารกิจอื่นเพื่อพรุ่งนี้ต่อไป…


พระธาตุอิงฮัง..

1819 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 11 ธันวาคม 2009 เวลา 21:12 ในหมวดหมู่ งานพัฒนาสังคม, เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 39961

ผมไม่ได้ข้ามไปฝั่งสะหวันนะเขตบ่อยนัก นอกจากมีภารกิจเท่านั้น แต่คราวนี้ต้องพาผู้ใหญ่เบอร์สองไปเที่ยว ก็เลยต้องข้ามไป ก็แปลกหูแปลกตาไปพอสมควร


ยังจำได้ว่าเราเคยพาคณะกรรมการตลาดชุมชนของ 4 จังหวัดไปฟังประธานหอการค้าจังหวัดพูด สมัยนั้นคือ ดร.อีดิธ เป็นฝรั่งนะครับพูดไทยได้ และเป็นประธานหอการค้าจังหวัด ท่านอย่าแปลกใจว่าทำไมฝรั่งมาเป็นตำแหน่งสำคัญนี้ ก็เพราะเธอแต่งงานกับคนไทย เธอทำธุรกิจศูนย์ โตโยต้า ที่มุกดาหาร

หลังจากนั้นเราก็พาเกษตรกรข้ามประเทศไปคารวะท่านกงสุลใหญ่ประเทศไทยประจำแขวงสะหวันนะเขต ฟังท่านบรรยายและทานอาหารกลางวัน พอเดินทางกลับมาฝั่งไทย ส่งทุกคนกลับบ้าน ข่าวสึนามิถล่มฝั่งอันดามันไทยก็ประกาศลั่น


อาคารนี้สำหรับซื้อตั๋วเข้าพระธาตุ            อาคารเล็กๆนี้สำหรับสตรีนุ่งผ้าถุง

ข้ามไปฝั่งสะหวันนะเขตก็ต้องไปกราบพระธาตุอิงฮัง ซึ่งไกลออกไปประมาณ 14 กม. พระธาตุองค์นี้มีความสำคัญเท่ากับพระธาตุนครพนม ชาวบ้านสองฟากฝั่งให้ความเคารพบูชาเหมือนกัน เท่ากัน ผมชอบประเพณีที่นี่คือ ห้ามสตรีเดินเข้าไปชั้นในของตัวองค์พระธาตุ ได้แต่กราบไหว้ด้านนอกเท่านั้น และจะเข้าบริเวณวัด จะต้องนุ่งผ้าถุง.เท่านั้น….???


ดีจังเลย…สาวไทยที่นุ่งกางเกงเอวต่ำเอวสูงไม่มีสิทธิเข้าไปกราบนอกจากจะซื้อบัตรผ่านแล้วไปเอาผ้าถุงมาใส่ทับกางเกงเข้าไป ซึ่งเขามีบริการสุภาพสตรีครับ ค่าบัตรผ่านก็ราคา 5,200 กีบครับ คิดเป็นเงินไทยก็ 20 บาท สาวไทยยุคโลกาภิวัตน์บางคนก็ไม่เคยนุ่งผ้าถุงมาเลย ดูเขินๆ และคอยจะหลุดอยู่เรื่อย ต้องคอยจับ อิอิ..


ผู้ที่จะไปกราบพระธาตุจะต้องซื้อ เครื่องบูชา เหมือนบายศรี แบบที่เห็นนี้ จะมีชาวบ้านทำมาวางขายข้างทางริมถนนก่อนถึงพระธาตุ ที่บริเวณวัดจะไม่มีเครื่องบูชานี้ขาย จะมีแต่ธูปเทียนเท่านั้น



ขอไม่เล่าประวัติพระธาตุอิงฮังนะครับ สภาพทั่วไปก็ไม่หรูหรา เท่าพระธาตุพนมของเรา แต่ความหรูหราไม่ใช่สาระ ความศรัทธาต่างหากที่พี่น้องลาวไทยตลอดริมโขงบริเวณนี้ต้องมากราบไหว้สักครั้งในชีวิต


ใกล้ๆองค์พระธาตุจะมีศาลาหลังย่อมๆ มีพระและแม่ชีมานั่งประจำหมุนเวียนกัน เพื่อให้ผู้มีศรัทธาเข้าไปขอพรและให้ผูกข้อมือ โดยจะบริจาคหรือไม่ก็ไม่กะเกณฑ์ใดๆ


ด้านหน้าขององค์พระธาตุจะมีผู้เฒ่าคอยทำพิธีพิเศษให้ท่านที่ต้องการตรงบานประตูเข้าองค์พระธาตุ สังเกตเห็นว่า เครื่องบูชานั้นจะถูกนำไปวางเรียงกันที่ฐานองค์พระธาตุ และจะมีมะพร้าวอ่อนที่เปิดกะลาออกแล้วพร้อมดื่มน้ำ วางเรียงด้วยกัน ผมไม่มีโอกาสสอบถามรายละเอียด เดาเอาว่า น่าจะเป็นเครื่องบูชาอีกประการหนึ่ง ตามความเชื่อเฉพาะของที่นี่

ที่น่าสนใจอีกอย่างคือ หากใครเป็นคนช่างสังเกตที่บานประตูที่ปิดทองนั่นนะครับมีภาพ อีโรติคแกะสลักอยู่ ไม่ได้สอบถาม จึงไม่มีคำอธิบายครับ แต่เอามาให้ชมกันเป็น “รหัสธรรม” ก็แล้วกัน


มีโปรแกรมอื่นอีกเราก็เดินทางออกจากที่นี่ มาถึงปากซอยก่อนจะเลี้ยวเข้าตัวเมืองสะหวันนะเขต ก็เห็นภาพนี้ครับ


ชนบทที่ไหนๆก็มีภาพเหล่านี้ครับ

มุมหนึ่งก็นึกไปว่า ประเทศที่ปกครองด้วยอีกลัทธิหนึ่งนั้น ก็ไม่น่าที่จะมีภาพเหล่านี้ปรากฏ ก็ไหนว่า ลัทธิทุนนิยมงมงาย ฟุ้งเฟ้อ มีแต่ขยะทางจิตวิญญาณสะสมให้แก่เด็กยุคใหม่ที่จะเป็นอนาคตของประเทศ นี่คือความจริง

คิดอีกทีก็เพราะมีอย่างนี้น่ะซีจึงมีคนอย่างเราเข้ามาทำงานพัฒนาชนบท หากดีไปหมดเราก็ตกงานน่ะซี อิอิ อิอิ..ยุส่งไปเลย…


พระจันทร์..

16 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 29 พฤศจิกายน 2009 เวลา 0:43 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 3680


พระจันทร์ที่สวนป่าใหญ่เท่านี้ไหมครับ…อิอิ


แมลงมุม-สาบ

196 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 28 สิงหาคม 2009 เวลา 0:50 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 5490

เช้าวันนั้น จะเข้าไปในห้องเก็บของ เห็นแมลงมุมกำลังกินแมลงสาบอยู่ เลยวิ่งไปเอากล้องมาเก็บภาพไว้ เพิ่งเคยเห็นเป็นครั้งแรก แมลงมุมตัวใหญ่ๆในบ้านมีหลายตัว เราคอยไล่มันเพราะหลายคนกลัว มาเห็นวิถีชีวิตมันเช่นนี้ ก็อือ…เป็นการจัดการโดยธรรมชาติ


สับปะรด

273 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 22 สิงหาคม 2009 เวลา 23:21 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 5973

ผมชอบทานสับปะรด โดยเฉพาะสับปะรดน้ำหนึ่ง
จากท่าอุเทน นครพนม หวานอร่อยครับ

บ่อยครั้งที่ไปซื้อแล้วขอแกนสับปะรดจากแม่ค้ามาด้วย เขาให้ฟรีๆ บอกเขาว่าเอาไปให้หมาคุ้กกี้ อิอิ แต่เราก็แอบกินด้วย เห็นหมอบอกว่า แกนสับปะรดมีส่วนช่วยแก้นิ่วที่ไตด้วย

สับปะรดบางร้านมีผึ้งมาเกาะเต็มไปหมด เขาพยายามมาเอาน้ำหวานไป แม่ค้าขายสับปะรดก็แถมผึ้งไปด้วย

เจ้าคุ้กกี้ที่บ้านชอบกินผลไม้ทุกอย่างรวมทั้งแกนสับปะรดด้วย เลยคนกะหมานั่งกินแกนสับปะรดด้วยกัน แบ่งกันคนละแกน ไม่ได้กินแกนเดียวกันนะ อิอิ


อภิปรายคำถามหลักพ่อครูบาฯ

595 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 18 สิงหาคม 2009 เวลา 10:40 ในหมวดหมู่ งานพัฒนาสังคม, ทุนสังคม, เฮฮาศาสตร์ #
อ่าน: 14955

คำถามหลัก
อะไรเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้กระบวนการจัดการความรู้ตามแนวคิดของครูบา
สุทธินันท์ ปรัชญพฤทธิ์ทำให้ชุมชนหรือสังคม มีการพัฒนาไปสู่การเป็นสังคมแห่งภูมิปัญญา และการเรียนรู้

อภิปรายคำถามหลัก จากการวิเคราะห์คร่าวๆ

  • เป็นความลงตัวระดับหนึ่งของตัวคนคือครูบาฯ และระบบสื่อสารในยุคนี้คือ blog แต่เนื่องจากครูบามีต้นทุนในหลายประการอยู่ในตัวตน มีสวนป่าที่น่าสนใจยิ่ง มีคนที่รู้จักมักจี่ในท้องถิ่นใกล้ ไกลมากมาย มีบุคลิกท่าทีที่มีเสน่ห์ใครเห็นก็เย็นตาเย็นใจ ยิ่งเนื้อในมีความรู้ มีสาระ ใส่สีสันวาทะเข้าไปก็กระเจิดกระเจิง ถูกใจโก๋ กี๋ กิ๊ก กั๊ก ทั้งหลายแหล่
  • พ่อครูบาเขียนบันทึกลง Blog อันเนื่องมาจาก blog นี่เองและปัจจัยต้นทุนดังกล่าว ก็มีสิงห์เหนือเสือใต้ หมี แมว ทั้งหลายเดินเข้ามาเจริญสัมพันธไมตรี ก็เกิดรู้จักกัน เกิดไปมาหาสู่กัน เลยกลายเป็นข่ายเป็นเครือทั้งเหนือทั้งใต้ ออก ตก กลายเป็น Cyber Community / bond / net / node
  • เมื่อคนรู้จักกัน ก็ย่อมปะทะสังสรรค์ การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความรู้ ความคิดเห็น ในสาระต่างๆทุกแนวก็เกิดขึ้นและพัฒนาต่อเนื่องต่อไป
  • การปะทะสังสรรค์ย่อมเกิดผลออกมา ที่สำคัญคือ การเรียนรู้สาระต่างๆซึ่งกันและกัน ต่อยอดความรู้ มันเป็นเครือข่ายความรู้ online รู้ตัวคนที่เป็นฐานความรู้ ประสบการณ์เฉพาะด้าน ใครอยากรู้อะไรก็ไป shopping ใน blog ท่านนั้นๆ หรือติดต่อโดยตรงส่วนตัว ก็เกิดการถ่ายเทความรู้กัน หากการถ่ายเทความรู้นี้มีแสงไฟประกายออกมา เราคงจะเห็นแสงสว่างวูบวาบไปตลอดเวลา สว่างมากน้อย แล้วแต่วาระ ความสนใจ ประเด็น ฯลฯ นี่คือสังคมแห่งการเรียนรู้
  • ความรู้มีหลายลักษณะ เช่น สิ่งที่ต้องรู้ สิ่งที่ควรรู้ สิ่งที่รู้ก็ได้ ไม่รู้ก็ได้ ฐานวิชาชีพของแต่ละคนแตกต่างกัน สิ่งที่ต้องรู้ที่อิงอาชีพจึงแตกต่างกัน ความหลากหลายจึงเกิดขึ้น แต่ทั้งหมดที่คล้ายๆกันคือ ฐานความรู้การดำรงชีพให้มีความสุข ยืนนาน ทุกคนควรจะมีพื้นฐานอันเดียวกัน ใกล้เคียงกัน ก็ขึ้นกับความสนใจ การเอื้อมากน้อยที่ต่างกัน


  • แต่ละคน(Subject) มีประสบการณ์ มีความรู้ ความสนใจ(Subject area) ซ้ำกันบ้าง เหลื่อมกันบ้าง เหลื่อมมากเหลื่อมน้อยบ้าง แต่ต่างมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันอยู่บนฐานของ “เอาใจมาให้กัน” นี่คือจุดเด่นของชุมชนแห่งนี้

คำถามรอง
1. กระบวนการจัดการความรู้ตามแนวคิดของครูบาสุทธินันท์ ปรัชญพฤทธิ์ มีกระบวนการอย่างไร
2. มีปัจจัยสำคัญใดบ้างที่เป็นปัจจัยส่งเสริมในกระบวนการจัดการความรู้ตามแนวคิดของครูบาสุทธินันท์ ปรัชญพฤทธิ์
3. มีปัญหา และข้อจำกัดอะไรบ้าง ในกระบวนการจัดการความรู้ตามแนวคิดของครูบาสุทธินันท์ ปรัชญพฤทธิ์

ไม่อภิปรายในข้อหนึ่ง

ข้อสอง

ปัจจัยที่เสริมในกระบวนการเรียนรู้น่าจะเป็น

  • ความเป็นครูบาสุทธินันท์ Personality ที่มีองค์ประกอบในหลายประการ อาจจะเรียกรวมๆว่าเสน่ห์ เช่น ท่วงท่า ลีลา การวางตัว อักษรที่จารลงไปในบันทึก ฯลฯ
  • องค์ความรู้ ที่เป็นทุนภายในของครูบาสิทธินันท์ มีมากมาย เพราะเก็บเกี่ยวประสบการณ์ชีวิตมามาก เรียนรู้มาเยอะ ทั้งของตนเองและเชื่อมต่อกับท่านอื่นๆ
  • หากย้อนไปดูนิวาสถานที่อยู่อาศัยเป็นป่ากลางทะเลทราย นี่ก็เป็นสถานตักศิลาที่เหมาะสม ใครๆเห็นก็อยากจะมา มากกว่าเป็นตึกรามใหญ่โตแต่แห้งแล้ง ธรรมชาติคือองค์ประกอบสถานที่ที่มีคุณค่าแก่การมาเรียนรู้อย่างยิ่ง ทั้งเรียนรู้ธรรมชาติ และเรียนรู้เรื่องอื่นๆท่ามกลางธรรมชาติ โบราณก็เรียนในป่าทั้งนั้น
  • เครือข่าย อันนี้หายากครับ หากใครมีเครือข่าย หรือพูดง่ายๆคือเพื่อนที่อุดมความรู้ ท่านครูบาไม่รู้ไปทุกเรื่อง และใครๆก็เป็นเช่นนั้น แต่สามารถระดมความรู้มาได้ บอกกล่าวได้ เชื่อมได้
  • วิธีคิด มุมมอง ทัศนคติ ในประเด็นต่างๆนั้น ครูบามีแตกต่างจากท่านอื่นๆ ใครที่ตามมาคุยด้วยก็จะได้เปิดสมองส่วนที่ยังไม่ได้ใช้ออกมา
  • ฯลฯ

ปัญหาน่ะมีไหมในกระบวนการจัดการความรู้ของครูบาฯ

  • ไม่ว่าแบบไหนๆก็มีทั้งนั้นแหละ การศึกษาในระบบจึงมีคนสอบได้สอบตกไง มีคนแค่สอบผ่านกับคนที่ได้เกรียตินิยม ก็เป็นเรื่องปกติ
  • หากเอาปัจจัยของเสริมของครูบาตั้งขึ้น แล้วมองปัญหาในกระบวนการก็คือ ผู้ที่มาเรียนรู้ มาเพราะถูกบังคับให้มา มาเพราะเอาคะแนน อย่างคนทำวิทยานิพนธ์นี้ไง อิอิ หรือมาเพราะสนใจ อย่างหมอจอมป่วนบึ่งรถมาจากเมืองพิษฯตรงดิ่งยังกะกระทิงโทน ลุยตรงมาเลย แบบนี้ก็ได้ไปเต็มๆ
  • ผู้มาเรียนอาจจะสนใจจริง แต่รับลูกไม่ทัน ตามไม่ทัน เพราะไม่มีพื้นฐานมาก่อน ไม่มีการปูพื้นฐานมาก่อน เคนชินกับระบบเดิมๆ พอมาแบบนี้ก็งง แปลก เลย เก็บความรู้ตกๆหล่นๆ ต้องเตรียมตัวมาก่อน มีฐานการเรียนรู้มาก่อนจึงจะรับได้เต็มๆ พ่อครูบาใช้ชีวิตผ่านองค์ความรู้มามากมาย การพูดจาบางครั้งก็เป็นธรรมะ เป็นบทสรุปสุดยอด เด็กใหม่ไม่คุ้นชินก็ลำบากเหมือนกันในบางสาระ
  • เหมือนคนสนใจปฏิบัติธรรมวิปัสสนากรรมฐาน บางคนชอบแบบสัมมาอรหัง บางคนคุ้นชินแบบยุบหนอพองหนอ หลายคนสนใจแบบคู้เหยียดแขน ทั้งๆที่ทั้งหมดเป็นอุบายเพื่อเดินทางเข้าสู่จิตสงบ บรรลุธรรมะ ดังนั้น หลายคนไม่ถนัดที่จะเรียนแบบครูบา ตรงข้ามหลายคนได้สัมผัสแล้วน้ำตาไหล..
  • ครูบาได้ใช้ประโยชน์เฮฮาศาสตร์มาก แต่เฮฮาศาสตร์ไม่ใช่สถาบันการศึกษา เช่นวงน้ำชา เชียงราย ที่วันดีคืนดีก็เรียกทีมงานมานั่งประชุมยกระดับกระบวนการให้เหมาะกับคนที่จะมาเรียนรู้ในสำนัก แต่เฮฮาศาสตร์เป็นอีกแบบหนึ่ง ที่หลวมๆ โดยมีครูบาเป็นแกนกลาง เห็นเหง้าหลัก หากขาดไปก็อาจจะกระทบต่อกระบวนการนี้ได้ทันที อาจสุ่มเสี่ยงต่อความไม่ต่อเนื่อง และความยั่งยืน อนาคตอาจจะมีทางออกดีดีก็ได้

เอาแบบด่วนๆนะครับ อิอิ


KM ธรรมชาติของลุงเตี้ย

2266 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 17 สิงหาคม 2009 เวลา 22:33 ในหมวดหมู่ งานพัฒนาสังคม #
อ่าน: 126230

ลุงเตี้ย: สีวร วงษ์กะโซ่ หรือลุงเตี้ย แต่งงานเร็วตั้งแต่อายุ 18 แล้วก็มีลูกเลย พ่อแม่เมียสีวรไม่พึงพอใจที่สีวรไม่มีอะไรเป็นตัวเป็นตน อายุก็ยังน้อย ทำอะไรก็ไม่เป็น สีวรจึงมีความพยายามโดยการช่วยทำนาทำไร่ และไปขายแรงงานเป็นช่างไม้ ช่างปูน กับเพื่อนๆที่อุบลราชธานี ที่สกลนคร ที่นครพนม ไม่ได้ลงกรุงเทพฯ แต่เงินทองค่าจ้างที่ได้มาก็ไม่เป็นกอบเป็นกำ ได้มาก็กินก็หมดไป แค่ได้กินปลาทูเท่านั้นแหละ…

พ่อหวัง วงษ์กะโซ่ ผู้สร้าง KM ธรรมชาติให้ ลุงเตี้ย

พ่อหวังครูสร้างคนตัวจริง: ลุงเตี้ย: ผมมักไปเล่นที่บ้านพ่อหวัง วงษ์กะโซ่ บ่อยเข้าพ่อหวังก็อ่านผมออกว่าผมมีทุกข์อะไร ต้องการอะไร พ่อหวังออกปากชวนผมมาอยู่ด้วยที่บ้านสวน ไปทำงานไร่นากัน เป็นเจตนาของพ่อหวังต้องการฉุดเด็กหนุ่มโซ่อย่างผมให้ขึ้นมาจากหลุมของความสับสนในชีวิต ไม่มีทางออก พ่อหวังใช้งานผมทุกอย่าง ไร่ นา ทั้งกลางวันกลางคืน เช้า สาย บ่ายเย็น ตลอดทั้ง 2 ปี พ่อหวังใช้งานผมแล้วสอนผม ให้สติผม แนะนำผม เตือนผม บอกกล่าวในสิ่งที่คนหนุ่มอย่างผมจะต้องรู้และคิด ผมก็น้อมรับ เหมือนคนบ้า ทำงานทุกอย่างเพราะไม่อยากไปขายแรงงานอีกแล้ว

ผมกินนอนที่บ้านสวนพ่อหวัง เมียผมทำอาหารไปส่ง ผมไม่ไปนอนที่บ้าน นอนที่สวน พ่อหวังไม่ได้จ้างแรงงานผม แต่พ่อหวังเอาชีวิตผมมาสอน สอนแบบตัวต่อตัวโดยการทำจริงๆ พ่อหวังก็ให้กินให้ใช้บ้าง

ครั้งหนึ่งพ่อหวังรู้ว่า ผมติดกัญชา พ่อหวังเรียกผมไปบอกว่า “…เตี้ย..เดินผิดทางแล้ว..ปรับตัวเสียใหม่ เลิกเสียเถอะ..สิ่งเสพติดไม่ดี เลิกซะ..” พ่อหวังใช้วิธีให้สติผมแล้วกักบริเวณผม ให้อยู่ที่สวน ห้ามไปไหน พ่อหวังควักเอาเงินให้ผม แต่บอกว่าไม่ให้เอาไปซื้ออะไรกิน อยากกินอะไรจะหามาให้หมด..ผมต่อสู่กับตัวเองสำเร็จ แต่ก็เพราะพ่อหวัง…


สร้างชีวิตใหม่ : สองปีที่ลุงเตี้ยได้ใช้ชีวิตอยู่ในไร่นา สวนกับพ่อหวังนั้น เหมือนกับโรงเรียนฝึกปฏิบัติจริง เมื่อพ่อหวังเห็นแววว่าลุงเตี้ยคนนี้ใช้ได้แล้ว เป็นผู้ใหญ่ที่มีความคิดอ่านเต็มตัวแล้ว มีสติมีหลักคิดและยึดมั่นในการพึ่งตนเอง ปล่อยให้ลุงเตี้ยกลับบ้านได้ พ่อแม่เมียลุงเตี้ยและพ่อแม่ลุงเตี้ยเองเห็นลุงเตี้ยเปลี่ยนไปเช่นนั้นก็มอบที่ดินให้ ทำสวน 3 ไร่ และที่นาอีก 5 ไร่

ลุงเตี้ยหอบครอบครัวมาสร้างบ้านบนที่ดินผืนนี้ที่ว่างเปล่า โล่งโจ่ง เพราะใช้ปลูกมันสำปะหลัง ปลูกปอมาตลอด ลุงเตี้ยก็เริ่มปลูกทุกอย่างจากประสบการณ์ที่ทำมากับมือตั้งแต่วันนั้นจนถึงวันนี้ ที่ดินที่ว่างเปล่าก็เต็มไปด้วยไม้ยืนต้น พืชผักผลไม้สารพัดชนิด


พ่อหวังดึงผมเข้าไปในเครือข่ายไทบรูตั้งแต่แรก และยิ่งเข้าไปเรียนรู้จากการประชุม ฝึกอบรม ศึกษาดูงาน แลกเปลี่ยนความเห็น แม้แต่เอกสารต่างๆที่ผมได้รับมา ผมอ่านครับ มันตอกย้ำว่าการเดินทางของวิถีชีวิตของผมถูกต้องแล้ว.. การไม่มุ่งหวังข้างนอก การสร้างชีวิตด้วยอาชีพเกษตรแบบผสมผสาน เน้นเพื่อการพึ่งตนเอง

มาถึงวันนี้เมียผมพอใจมากที่เรามีรายได้ประจำวัน จากการปลูกทุกอย่างที่กินได้แล้วมันเหลือเฟือเราก็เอาไปขาย โดยเมียผมเป็นคนไปขาย เขาเก็บเงินเอง ได้เท่าไหร่ผมไม่รู้ เขาเก็บเองทั้งหมด ผมเป็นคนทำให้..

ยกระดับการผลิต: ลุงเตี้ยกล่าวว่า ผมพร้อมแล้ว ผมมีทุกอย่าง ผมพึ่งตัวเอง อยากกินอะไรผมมีหมด ผมมีนา ด้านหลัง แต่ก่อนทำนาไม่พอกิน เพราะเป็นนาโนน น้ำท่ามีปัญหา ทำข้าวไม่พอกิน ผมศึกษาธรรมชาติว่าเมื่อมีต้นไม้ใหญ่ความชื้นมันก็มี ผมก็ปลูกไม้ยืนต้น แล้วผมก็ขุดบ่อเล็กๆท้ายสวนติดนา ผมพบว่าเกิดมีน้ำออกมาเป็นน้ำซับ


ผมเลยไปขุดอีกแห่งใกล้กันก็ได้อีก ผมโชคดีครับ ผมก็เอาน้ำนี้ไปรดพืชผักต่างๆในสวน และปรับปรุงนาโนนโดยเอาน้ำนี้ไปใส่นาจนกลายเป็นนาลุ่มไปแล้ว ผมใช้น้ำหมักชีวภาพใส่นาจากดินที่แข็งมาเป็นดินที่นุ่มร่วนซุยมากขึ้น ผลผลิตข้าวที่ไม่เคยพอกิน ผมมีข้าวพอกินแล้วและเป็นข้าวอินทรีย์ ไม่ใช้ปุ๋ยเคมีมานานแล้ว


ผมได้รับเงินจาก ส.ป.ก. 3,000 บาท ที่สนับสนุนให้เป็นแปลงเรียนรู้ ผมเพิ่มไปอีกเท่าหนึ่งไปซื้อวัวตัวแม่มาตัวหนึ่ง มาเลี้ยงปีหนึ่งได้ลูกวัวแม่เพิ่มมาอีกตัว ผมได้ปุ๋ยมูลวัวมาใส่สวนใส่นาอีก ผมดีใจที่ได้ลูกวัวเล็กเป็นเพศแม่ ต่อไปภายหน้าผมจะมีวัวมากขึ้น..

บ้านสวนผมไม่มีไฟฟ้าใช้ ก็ดีนะประหยัด แต่ผมก็มีตู้เย็นนะครับ โน่นไงตู้เย็นผม ลุงเตี้ยชี้ไปที่ ท่อซีเมนต์ขนาดกลางที่ซื้อเอามาเลี้ยงปลา กบ เขียด สารพัดสัตว์ที่เราจะกินมันได้ ก็เอามาเลี้ยงไว้ ผมเรียกมันว่าเป็นตู้เย็นของครอบครัวผม อยากกินปลาก็ไปเอามาได้ทุกเมื่อ…

ขยายสู่เพื่อน: เห็นร่มไผ่นั่นไหม ตรงนั้นน่ะเพื่อนฝูงมาเยี่ยมเยือน ผ่านไปมาก็แวะมานั่งคุยกัน หน้าหนาวก็สุมไฟคุยกัน คุยไปคุยมาเรื่องสาระชีวิตก็กลายเป็นประเด็น เพื่อนบ้านเห็นสวนผม มีพืชผักมากมาย มีของจากสวนไปขายในตลาดทุกวัน มีรายได้เข้าบ้านตลอด เพื่อนๆเขาก็เห็น เขาก็อยากทำ…


แล้วผมก็ได้เพื่อนที่ต้องการอยากจะทำ นายยงค์ มาเรียนรู้จากผมแล้วก็เอาไปทำสวนเขาอยู่ใกล้ๆผม แรกสุดก็เอาพืชง่ายๆก่อน คือสวนกล้วย ระหว่างแถวก็เอาไม้ผลไปลง แม้ว่าเพิ่งจะเริ่มเพียง 4 เดือน นายยงค์มาสวนวันละหลายรอบ ดีใจที่เห็นกล้วยโตสวยงาม และไม้ผลก็ตั้งตัวได้แล้ว นายยงค์มีแผนจะมาปลูกกระต๊อบที่สวน มีน้ำแล้วเพราะเจาะบาดาล นายยงค์บอกว่า ผมก็ได้ลุงเตี้ยแนะนำ และผมสนใจ อยากมาใช้ชีวิตสวนแบบลุงเตี้ยเขา…


อีกคนที่เริ่มทำสวนพอเพียงมาในระยะเวลาใกล้เคียงกันคือนายจง.. ลุงเตี้ยบอกว่า คนนี้ได้ทุกอย่างที่ผมได้มา เช่น ผมได้ ไม้ผลมาสองต้นก็แบ่งให้เขาหนึ่งต้น ได้ กล้าผักหวานป่ามาก็แบ่งให้เขาครึ่งหนึ่ง เมียนายจงก็ไปขายพืชผักกับเมียผม บางทีติดธุระก็ฝากกันไปก็มี บางทีก็นักกันว่า วันนี้เธอเอาอะไรไปขาย จะได้ไม่เอาพืชผักไปขายตรงกัน…

ทั้งหมดนี้เป็นเสี้ยวส่วนของเรื่องราวของ “ครูคนอย่างพ่อหวัง”

“คนขายแรงงานกลับใจมาทำการเกษตรผสมผสาน” ที่บ้านอย่าง “นายสีวร”

“นายยงค์ นายจง เพื่อร่วมอาชีพที่ลุงเตี้ยขยายแนวคิด” นี้ออกไป

สรุป KM ธรรมชาติในที่นี้คือ การที่นายสีวรเรียนรู้เรื่องราวการทำการเกษตรโดยการลงมือทำจริงๆกับพ่อหวัง นั้นเป็นแบบ ชาวบ้านกับชาวบ้าน เป็น lateral knowledge transfer

การที่มีการขยายความคิดและการกระทำจากนายสีวรไปสู่นายยงค์ นายจง ก็เป็นเช่นเดียวกัน

ส่วนการฝึกอบรม การศึกษาดูงาน และการศึกษาจากเอกสารนั้นเป็นตัวเสริม


ภาพเก่าเล่าเรื่อง 20 Temple Hotel..

2009 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 12 สิงหาคม 2009 เวลา 8:34 ในหมวดหมู่ งานพัฒนาสังคม #
อ่าน: 33159

สถานที่: โครงการพัฒนาชนบทสมบูรณ์แบบ อ.สะเมิง

วันเดือนปี: ปี พ.ศ. 2518-2523

โดย: Fridrich Naumann Stiftung ภายใต้ สำนักงานเกษตรภาคเหนือ

สมัยนั้น เมื่อเราเดินทางออกไปทำงานส่วนใหญ่ไม่ได้ไปเช้ากลับเย็น แต่จะตระเวนไปทั้งสัปดาห์ ออกจากหมู่บ้านนี้ ไปบ้านถัดไป เรื่อยๆตามแผนงานทั้ง 4 ตำบล 27 หมู่บ้าน

ปกติเราจะพักบ้านชาวบ้านที่เราสนิทสนมด้วย ซึ่งเราก็ฝากท้องไว้กับชาวบ้าน และชาวบ้านก็ยินดีมากที่เราไปพักด้วย บางครอบครัวก็เรียกเราเป็นลูกหลาน ผ่านไปไม่พักก็งอนเอาเลย ต้องไปง้อ และแน่นอนช่วงสงกรานต์เราก็ตระเวนไปรดน้ำดำหัวท่านเหล่านั้น

แต่ก็มีบ่อยๆที่เราไปเป็นคณะหลายคนรวมทั้งฝรั่งผู้รับผิดชอบโครงการ เราจึงไปพักที่วัด ก็โบสถ์ด้านหลังรูปนี้แหละครับ เป็นทั้งที่ประชุมชาวบ้านไม่ว่ากลางวันหรือกลางคืน เป็นสถานที่ใช้ฝึกอบรมต่างๆ เป็นสถานที่กินข้าว..ฯลฯ สารพัดประโยชน์ รวมทั้งเป็นที่นอน ท่านเจ้าอาวาสเป็นพระหนุ่มก็ยินดีและมาดูแลอย่างดี

ดูเหมือนว่าวัด โบสถ์ เป็นสถานที่ที่ใช้ประโยชน์มากสำหรับสังคมชนบท และการใช้ประโยชน์ต่างๆนั้นจะมีความเชื่อกำกับอยู่ในมโนสำนึกว่า อยู่ในบริเวณวัด เป็นสถานที่มงคล ศักดิ์สิทธิ์ จะไม่พูดจาที่โกหก หรือเป็นเท็จ

ก่อนทำกิจกรรมใดๆ และเมื่อจบสิ้นกิจกรรมใดๆทุกคนก็ก้มกราบพระประธานในโบสถ์นั้นๆ อย่างน้อยที่สุดกิจกรรมต่างๆที่ทำในที่นั้นจะอยู่บนความเชื่อและหลักการศาสนากำกับอย่างแน่นอน..

แม้แต่เราใช้เป็นที่นอนพักผ่อน เราก็ก้มกราบพระก่อนทุกครั้ง ฝรั่งเลยเรียกว่า Temple Hotel อิอิ


เบ้าหลอมวิถี..

984 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 12 สิงหาคม 2009 เวลา 0:43 ในหมวดหมู่ งานพัฒนาสังคม #
อ่าน: 13087

เย็นวันศุกร์หนึ่ง ผมเดินทาง มุกดาหาร-ขอนแก่น เส้นทาง ดงหลวง-สมเด็จ-กาฬสินธุ์-ขอนแก่น แวะเติมน้ำมันที่กุฉินารายณ์


เห็นรถปิคอัพสวยคันนี้ เป็นรถของคุณครู เดาเอาว่าคุณครูคงใจดีให้นักเรียนนั่งรถกลับบ้านด้วย เด็กนักเรียนสตรีใส่กระโปรง ม่อฮ่อม น่ารัก

เธอก้าวออกมาจาก 711 ทุกคนหิ้วถุงมาคนละใบในนั้นคงเป็นขนมหลายชนิด ส่วนใหญ่เป็นพวก มันฝรั่งทอด

ต่างเอามาอวดกัน แล้วก็เดินขึ้นไปนั่งกะบะหลังรถ เอาขนมออกมากินกัน คงสนุกน่าดู…

มันเป็นภาพปกติประจำวันที่เราก็อาจเห็นที่ไหนๆก็ได้

มันเป็นภาพปกติที่อาจจะเกิดกับบุตรหลานของเราเองก็ได้

มันเป็นภาพปกติที่คนที่หิ้วถุงนั้นอาจเป็นเราเองก็ได้

แต่ผมเดินทางมาจากดงหลวง ที่ไม่มีภาพเหล่านี้ต่อเด็กในวัยเดียวกันที่นั่น

บางทีเพราะเราคิดว่ามันเป็นปกติ

เราเลยมองไม่เห็นเบ้าหลอมวิถีใหม่ของชีวิตแบบบริโภค

แม้แต่เราเอง..


ภาพเก่าเล่าเรื่อง 19 เจ้าเล็ก..

1514 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 10 สิงหาคม 2009 เวลา 23:23 ในหมวดหมู่ งานพัฒนาสังคม, เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 9728

สถานที่: โครงการพัฒนาชนบทสมบูรณ์แบบ อ.สะเมิง

วันเดือนปี: ปี พ.ศ. 2518-2523

โดย: Fridrich Naumann Stiftung ภายใต้ สำนักงานเกษตรภาคเหนือ

เล็กเป็นชื่อเล่นเขา ความที่เป็นลูกสุดท้องของพ่อชาวสุพรรณ ตระกูลนี้มีการศึกษาดี ญาติพี่น้องจึงมีหน้าที่การงานสูงๆ แต่เล็กออกจะเกเร กระนั้นก็ยังไปเรียนจนจบ High school จากปีนัง มีความรู้ด้านภาษาอังกฤษเป็นอย่างดี

ปากเปราะ จริงใจ มีน้ำใจ รักเพื่อนฝูง ขี้เล่น และออกจะกรุ้มกริ่มกับสาวๆซักหน่อย เขาเข้ามาร่วมโครงการเป็นรุ่นที่สาม มาพร้อมกับภรรยาสาวและลูกชายเล็กๆสองคน เนื่องจากบุคลิกง่ายๆ คล่องแคล่ว กว้างขวางในความสามารถ จึงเป็นฝ่ายสนับสนุนของโครงการ

ครั้งหนึ่งเราขึ้นไปเยี่ยมชนเผ่ากระเหรี่ยง หรือปกากะญอบนดอยสูงด้วยมอเตอร์ไซด์ แล้วเจ้าเล็กโดนตัว “ต่อป่า” ต่อยเอาที่ต้นคอ เล็กรู้สึกเจ็บแปลบๆ เพียงไม่กี่นาทีเท่านั้นความผิดปกติก็เกิดขึ้นกับเล็กทันที รู้สึกบวมขึ้นอย่างทันทีทันใด และเริ่มหายใจติดขัด ทั้งตัวขึ้นผื่นเต็มไปหมด

ด้วยสัญชาติญาณ ผมเอาเล็กซ้อนท้ายมอเตอร์ไซด์ บึ่งลงจากยอดดอย ลัดเลาะไหล่เขา ทุ่งนา หมู่บ้าน ลำห้วยมุ่งสู่ตัวอำเภอสะเมิง เป้าหมายคือสถานีอนามัยอำเภอ ขณะนั้นเวลาบ่าย ผมขับมอเตอร์ไซด์เร็วมากกว่าขับแข่งอีก เพราะ เล็กที่นั่งข้างหลังพูดตลอดเวลาว่า ..หายใจไม่ออก ปวด…

ผ่านตรงไหนมา ชาวบ้านต่างแปลกใจว่าผมทำไมขับรถเร็วจังวันนี้ จะรีบไปไหน ผมพาเล็กมาถึงสถานีอนามัยใช้เวลาเกือบ 45 นาทีจากยอดดอย ปกติน่าจะใช้เวลามากกว่าชั่วโมง… เล่าเรื่องให้พี่อนามัยทราบ พี่เขาเข้าใจจับนอนบนเตียงแล้วก็ฉีดยาเข้าไปหนึ่งเข็ม… ทันที

พี่อนามัยบอกว่า ทำบุญมามากนะนี่ หากช้ากว่านี้ เล็กคงหายใจไม่ออกอันตรายถึงชีวิตได้เลย เพราะเล็กเขาแพ้พิษของตัวต่อป่า พิษตัวต่อทำให้เกิดบวม เห่อด้านในหลอดลม หลอดลมหายใจตีบลง นี่แหละที่ทำให้หายใจไม่ออก….

เล็กคนนี้คืออดีตสามีของป้าดาว ที่ผมชวนเธอมาร่วมปลูกป่าที่พระบาทห้วยต้ม ลี้ ลำพูนคราวที่แล้วด้วย ปัจจุบันเล็กมีครอบครัวครั้งที่สาม อยู่กินกันที่แม่สาย เชียงราย เขาเคยมานอนพักกับผมที่มุกดาหารนานนับสัปดาห์…


ภาพเก่าเล่าเรื่อง 17 รดน้ำดำหัว

185 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 9 สิงหาคม 2009 เวลา 0:52 ในหมวดหมู่ งานพัฒนาสังคม, ทุนสังคม #
อ่าน: 7406

สถานที่: โครงการพัฒนาชนบทสมบูรณ์แบบ อ.สะเมิง

วันเดือนปี: ปี พ.ศ. 2518-2523

โดย: Fridrich Naumann Stiftung ภายใต้ สำนักงานเกษตรภาคเหนือ

(ทีมงานโครงการรดน้ำดำหัว Mr. Klaus Bettenhausen ผู้รับผิดชอบโครงการ)

ต่อเติมทุนทางสังคม วัฒนธรรมท้องถิ่นภาคเหนือเมื่อถึงสงกรานต์ก็นำน้ำส้มป่อยไปรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ในชุมชน เพื่อขอขมาลาโทษสิ่งต่างๆที่ล่วงเกิน และขอพรจากท่าน

เป็นวัฒนธรรมท้องถิ่นที่เป็นต้นทุนทางสังคมที่ดีงาม เป็นการปฏิบัติทางวัฒนธรรมที่มีสาระในการเชื่อมระหว่างรุ่น ระหว่างวัย ระหว่างบทบาทหน้าที่ให้ร้อยรัดต่อกัน

ผู้น้อยแสดงความเคารพ นับถือต่อผู้อาวุโส

ผู้อาวุโสก็แสดงเมตตาต่อผู้น้อย

น้ำส้มป่อยเป็นเพียงสื่อกลางที่ใจมีต่อใจ ตัวตนต่อตัวตน

ความขัดข้องหมองใจ ช่องว่างที่มีต่อกันก็ปิดลงด้วยประเพณีปฏิบัติของท้องถิ่น ความสัมพันธ์ระหว่างคนต่อคนก็เชื่อมร้อยเป็นสายใยผูกพันต่อกัน เรื่องร้ายกลายเป็นดี เรื่องร้อนกลับเป็นเย็น การอึมครึมกลายเป็นยิ้มแย้มแจ่มใส…

ของดีมีอยู่..

ที่เป็นรากของสังคมไทยเรา

ที่เป็นต้นทุนทางสังคมของเรา


ภาพเก่าเล่าเรื่อง 16 หม่อมสามหย่อม

26 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 7 สิงหาคม 2009 เวลา 13:51 ในหมวดหมู่ งานพัฒนาสังคม #
อ่าน: 4322

สถานที่: โครงการพัฒนาชนบทสมบูรณ์แบบ อ.สะเมิง

วันเดือนปี: ปี พ.ศ. 2518-2523

โดย: Fridrich Naumann Stiftung ภายใต้ สำนักงานเกษตรภาคเหนือ

พวกเราเรียกเขาว่าหม่อม หรือพี่ชาย หรือคุณชาย เพราะชื่อเต็มๆคือ มรว.อัฉรียชัย รุจวิชัย คนนครชัยศรี นครปฐม จบเกษตรศาสตร์บางเขน

หม่อมเป็นคนร่าเริง สนุกสนาน ออกจะเรทอาร์นิดๆ พอหอมปากหอมคอ ทำให้คำเรียกว่าหม่อมนั้นเพื่อนๆจะเอาไปเล่นซะสนุกเชียว เช่น ที่จั่วหัวไว้นั่นแหละ ชาวบ้านมีงานอะไรมักจะเชิญพวกเราไปร่วม เพราะเราบริจาคภาษีสังคมแล้วก็จะตั้งวงเหล้าขาว แล้วก็แหกปากร้องเพลงกันหามรุ่งเชียว..อิอิ (คิดแล้วบ้าจริงๆ..)

หม่อมไปทำงานสะเมิงเป็นรุ่นที่สอง ต่อมาโครงการขยายพื้นที่ไปที่ อ.ลี้ ลำพูน ตอนนั้นกำลังแยกเป็นกิ่ง อ.ทุ่งหัวช้าง หม่อมไปเป็นหัวหน้าโครงการที่นั่น

หม่อมมีความสามารถพิเศษเรื่องการร้องเพลงไทยสากลและเล่นดนตรีไทย ถึงกับเคยร่วมวงดนตรีกับทูลกระหม่อมพระเทพฯ สมัยที่เรียนอยู่ที่บางเขน เข้ากับชาวบ้านเก่ง ทำงานดี เป็นที่รักใคร่ของเพื่อนฝูงและชาวบ้าน

วันหนึ่งในอดีต เมื่อโครงการใกล้จะสิ้นสุดสัญญา หม่อมมีอาการชาที่มือซ้าย ขึ้นไปที่ไหล่ และมากขึ้นเรื่อยๆ เข้าโรงพยาบาลสวนดอกซึ่งเป็นโรงเรียนแพทย์ก็ไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจน นับวันอาการมากขึ้นจนเกือบจะพูดไม่ได้ สวนดอกตัดสินใจส่งเข้าพระมงกุฎที่กรุงเทพฯโดยเอารถพยาบาลไปส่ง อาการหม่อมมากขึ้นจนถึงขั้นหนัก ต้องให้อ๊อกซีเจนระหว่างนอนในรถจากเชียงใหม่เข้ากรุงเทพฯ

ระหว่างทางเกิดเหตุการณ์ระทึกขวัญเพราะอ๊อกซีเจนหมดถัง ไม่ได้เตรียมมาเผื่อ แต่บุญเหลือเกินที่หม่อมทำความดีมาไว้มาก รถพยาบาลวิ่งถึงนครสวรรค์พอดี จึงแวะไปเอาถังอ๊อกซีเจนที่โรงพยาบาลประจำจังหวัด แล้วก็บึ่งเข้ากรุงเทพฯ

ทีมหมอรออยู่แล้วจัดการตรวจสอบอย่างละเอียด ในที่สุดพบก้อนเนื้องอกที่ต้นคอด้านหลังไปทับเส้นประสาท…. ผ่าตัดด่วนคืนนั้น

หม่อมรอดชีวิตมาแบบไม่ปกติต้องฟื้นฟูร่างกายทำกายภาพอยู่นานจนกลับมาเป็นปกติ ปัจจุบันหม่อมปักหลักอยู่ที่เชียงใหม่ ทำสวนไม้ดอก เป็นนายกสมาคมผู้ปลูกไม้ดอกเชียงใหม่ และปลูกบ้านอยู่ในสะเมิง มีครอบครัวที่น่ารักมาก..

เรายังติดต่อกันเป็นประจำ เพราะหม่อมเป็นหย่อมๆ คือ เพื่อนรักของพวกเรา…อิอิ.

(ขออภัยที่ชื่อเรื่องหวือหวาไปหน่อย เพราะเอามาจากเรื่องจริงในอดีต..)


ให้กำลังใจตัวเอง..บ้าง

17 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 1 สิงหาคม 2009 เวลา 17:21 ในหมวดหมู่ งานพัฒนาสังคม, เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 2180

เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาผมมีประชุมโครงการเช้ายันบ่ายแก่ๆที่ขอนแก่น แล้วก็เดินทางเข้ามุกดาหารเพื่อพาคุณ TOMOKO สตรีญี่ปุ่นเข้าไปศึกษาดูงานในวันรุ่งขึ้น ระหว่างเดินทางไปมุกดาหารเราคุยกันไปตลอดทางอย่างสนุกสนาน เธอเล่าถึงงานที่ทำในประเทศแซมเบีย ว่ามันยากเย็นมากมายแค่ไหน

ผมเองก็เล่าถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในโครงการที่มุกดาหาร และความคิดเห็นของผมที่เกิดขึ้นตลอดเวลาการทำงาน ผมเอาความคิดเห็นนั้นมาแลกเปลี่ยนกับเธอ รวมทั้งการเขียนบันทึก KM ในลานปัญญาแห่งนี้ เธอตื่นเต้น ผมเลยเอาให้เธอดูตัวอย่างเมื่อเดินทางถึงมุกดาหารแล้ว หลายเรื่องเกี่ยวเนื่องกับโครงการ เธอจึงขอสำเนาไปศึกษา


เธอไปมุกดาหารเป็นจังหวัดสุดท้าย พร้อมปอปั้นผมว่า มาที่นี่ได้เรียนรู้มากกว่าเรื่องงานที่รับผิดชอบ มากกว่ากิจกรรมที่เธอต้องการมาศึกษา แต่ที่สำคัญเปลี่ยนวิธีคิดของเธอไปด้วย โดยเฉพาะเรื่องมันสำปะหลัง และสระน้ำประจำไร่นา….

ผมแปลกใจเล็กๆคำพูดด้วยสาระเดียวกันนั้นผมพูดกับผู้บริหารโครงการเมื่อเช้าช่วงการประชุม ทุกคนเฉยๆ แค่ผ่านหูซ้ายไปขวาเท่านั้น แต่เธอที่เป็นสตรีญี่ปุ่นกลับตื่นเต้นที่มาเข้าใจวิถีชาวบ้านที่ปลูกมันสำปะหลังเพื่ออะไร ความต้องการสระน้ำในแปลงนาเพื่ออะไร… และสิ่งที่ผมค้นพบนั้นมันจะส่งผลให้ย้อนไปดูวัตถุประสงค์ของโครงการ..ซึ่งจะต้องพิจารณาปรับปรุงใน phase ใหม่ต่อไป

วันรุ่งขึ้นผมพาเธอตระเวนไปทั่วเป้าหมายในดงหลวงทั้งแปลงมันสำปะหลังและตลาดชุมชน แล้วก็บึ่งรถเข้าขอนแก่นส่งเธอขึ้นเครื่องลงกรุงเทพฯ เมื่อคืนผมส่งบันทึกในลานในเรื่องที่เกี่ยวข้องไปให้เธอ สายวันนี้ผมก็ได้รับ Email ตอบมาดังนี้ครับ

Ajaan Paisal,
Good morning, how are you?

Thank you very much again for all the contribution you made during 1 day trip to Mukdahan.
I’ve learned a lot from you, I am really lucky person to have that chance.

I received your respectful 8 articles, thank you very much for your prompt action.
I’ll ask our secretaries to translate them from Morning, it’ll be really interesting for me and I’ll share them with my colleagues in Japan too.

OK, talk to you more later. Please give my best regard to your wife too.

Thank you very much, again.

Tomoko NISHIGAKI

ไม่มีอะไรครับ..ก็แค่ให้กำลังใจตัวเองเล็กๆน้อยๆเท่านั้นครับ


ท่องอีสาน ดูการจัดการน้ำ..เมืองเพีย

8 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 31 กรกฏาคม 2009 เวลา 20:55 ในหมวดหมู่ งานพัฒนาสังคม #
อ่าน: 2351

เมืองเพียตั้งอยู่ห่างจากตัวอำเภอบ้านไผ่ไปทางทิศตะวันตก บนเส้นทางที่จะไปอ.มัญจาคีรี ประมาณ 4 กม. ผมขับรถผ่านเมืองเพียนับครั้งไม่ถ้วน แต่ผมไม่รู้จักอะไรเลยเกี่ยวกับเมืองเพีย…


จนเช้าวันที่ 27 ก.ค. 52 คณะก็หยุดที่สนามหญ้าในวัดกลางเมืองเพีย คณะผู้จัดแนะนำให้รู้จักโอ๋ ลูกหลานชาวบ้านคนหนึ่งที่ตื่นตัวมาทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานรักแม่น้ำชี แนะนำให้เรารู้จักสถานที่วัดแห่งนี้


ทีมงานเอาเก้าอี้มาให้ อ.ศรีศักดิ์ได้นั่งแล้วก็ถามน้องโอ๋ว่าพามาที่วัดนี้ทำไม ฯ โอ๋บอกว่าพามาดูหลักฐานว่าสถานที่แห่งนี้คือเมืองเพีย ที่ตั้งสังคมโบราณที่มีการจัดการน้ำ หลักฐานก็คือคูน้ำที่มีล้อมรอบที่ตั้งตัวบ้านเรือน และพระมงคลหลวงเป็นพระประธานในโบสถ์แห่งนี้ ที่กล่าวกันว่าเป็นพระสมัยทวาราวดี อ.ศรีศักดิ์สอบถามข้อมูลต่างๆก่อนที่จะเดินเข้าไปกราบและพิจารณาพระประธานในโบสถ์ ตามหลักวิชาการ แล้วกล่าวยอมรับ..

อาจารย์ก็มานั่งร่ายยาวถึงระบบการจัดการน้ำโดยระบบคูรอบที่ตั้งชุมชน กล่าวว่า หากพวกเธอต้องการศึกษาเรื่องนี้ให้เข้าใจถ่องแท้ต้องมีสิ่งสำคัญต่อไปนี้


ประการแรกให้เอาแผนที่มาตราส่วน 1:50000 หรือละเอียดกว่านี้ยิ่งดีมาดู และต้องเป็นแผนที่ที่ครอบคลุมบริเวณกว้างขวางมากกว่าแผนที่เฉพาะที่ตั้งชุมชน เพราะระบบนิเวศวัฒนธรรมและการจัดการน้ำเป็นเรื่องของภาพกว้างที่เกี่ยวเนื่องกันหมด (PRA เรียก Secondary Data Collection)

ประการที่สอง เธอต้องเข้าใจสัญลักษณ์ของแผนที่ทั้งหมด อ่านแผนที่เป็น

ประการที่สาม เธอต้องลงสนามไปคุยกับชาวบ้านผู้รู้(Key Informance)มากๆ พร้อมทั้งขอดูหลักฐานทางโบราณคดีต่างๆ และสิ่งสำคัญต่างๆที่จะบ่งบอกเรื่องราวของอดีต และพัฒนาการของสังคมอดีต (PRA เรียก Focus Group Discussion)

ประการที่สี่ เธอต้องเดินดูสภาพพื้นที่จริงทั้งหมดด้วยตาเธอเองพร้อมกับชาวบ้านซักถามข้อมูลต่างๆ (PRA เรียก Walk-Through Survey)

ทั้งหมดที่ท่านอาจารย์ได้เมตตาสอนพวกเรานั้น มันช่างตรงกับหลักการการทำ PRA ที่ผมมีความคุ้นเคยอยู่แล้ว จึงเข้าใจเครื่องมือต่างๆ แต่ผมนั้นมืดบอดสนิทในเรื่องความรู้ทางโบราณคดีทางด้านประวัติศาสตร์ ที่ต้องการนำความรู้ด้านนี้มาพิจารณาและถอดรหัสหลักฐานต่างๆที่ค้นพบในชุมชนนั้นๆ

อาจารย์บอกทิศทางการไหลของน้ำตามธรรมชาติก่อนมาสู่คูเก็บกักน้ำรอบๆหมู่บ้านนี้ โดยการดูในแผนที่ที่มีเส้นคอนทัวร์ น้ำที่เก็บไว้ในคูเก็บน้ำรอบที่ตั้งชุมชนนี้ ก็คือ Water Tank ที่ไหลมาจากพื้นที่ที่สูงกว่า และน้ำในคูเก็บกักน้ำนี้โบราณเอาไว้ใช้อุปโภคบริโภคของชุมชนนี้

อาจารย์สอนคนโบราณเลือกทำเลที่ตั้งชุมชน ที่ต้องมีทางไหลของน้ำ เข้าและออก มีพื้นที่ที่เหมาะแก่การเพาะปลูก เป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์….

ท่านอาจารย์มีเมตตาเหลือเกินที่ให้ความรู้มากมายแก่คณะของเรา โดยเฉพาะผมเอง หูตาสว่างขึ้นเยอะทีเดียว….



Main: 1.6484909057617 sec
Sidebar: 0.36597204208374 sec