ครึ่งที่เหลือ….(1)

479 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 4 มีนาคม 2009 เวลา 14:57 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 7495

รับปากกับน้องอึ่งไว้ว่าจะเขียนขยายความเรื่องที่พี่เปี๊ยกไปพูดที่สวนป่าเมื่อวันที่ 28 ก.พ. ที่ผ่านมา พี่เปี๊ยกพูดหลายเรื่องสั้นๆ ขอหยิบเอาเรื่อง 50/50 ก็แล้วกัน

ความหมายของ 50/50 นี้ไม่ใช่ “วัดครึ่งหนึ่งกรรมการครึ่งหนึ่ง” นะครับ แต่เป็นแนวคิดการจัดการศึกษาของประเทศสังคมนิยมเวียตนามที่ตัดสินใจจัดกระบวนการเรียนการสอนในห้องเรียนเพียง ครึ่งวัน อีกครึ่งวันให้ใช้ชีวิตแบบครอบครัว…

ผมได้ไปแลกเปลี่ยนกับพี่เปี๊ยกต่อเมื่อวันอังคารที่ผ่านมาว่ารายละเอียดเรื่องนี้คืออะไร ก็ได้ความกระจ่างมากขึ้นว่า คำว่า “อีกครึ่งวันให้ใช้ชีวิตแบบครอบครัว” นั้นมิได้หมายความว่า ให้เด็กกลับบ้านไปอยู่กับพ่อแม่ เสมือนว่าโรงเรียนเรียนแค่ครึ่งวันเท่านั้น แล้วเด็กก็กลับบ้านไปอยู่กับพ่อแม่ปกติ

มิใช่ครับ มิได้ครับ ความหมายที่แท้จริงคือ ให้จัดกระบวนการเรียนการสอนใหม่ที่อยู่นอกห้องเรียน ซึ่งหมายรวมไปถึงอาจให้เด็กกลับบ้านไปช่วยพ่อแม่ทำงานตามปกติที่พ่อแม่มีงานอยู่ก็ได้ โดยครูกับครอบครัวต้องคุยกัน ปรึกษาหารือกันว่างานที่จะให้เด็กทำนั้นแม้เป็นงานบ้าน งานอาชีพของครอบครัว เช่น ค้าขาย ก็ขอให้มีกระบวนการเรียนการสอนแบบธรรมชาติแฝงไว้ด้วย ส่วนแฝงอย่างไรนั้นคุณครูทั้งหลายคงเดาเรื่องนี้ออกนะครับ..

ผมจึงขอใช้คำว่า ครึ่งที่เหลือ…

ก่อนอื่นนั้นพี่เปี๊ยกตั้งคำถามว่า เรามีเป้าหมายในการศึกษาว่าอย่างไร ต้องตอบคำถามนี้ก่อน สมมติว่าเรามีเป้าหมายเพื่อ ให้เด็กเป็นคนดีของสังคม มีความรู้ความสามารถต่างๆเพียงพอในการออกไปประกอบอาชีพหรือศึกษาต่อ และมีความรู้ มีวิจารณญาณที่ดีที่เท่าทันการพัฒนาของโลก ดังนั้นรายละเอียดต่อไปก็คือทำอย่างไรจึงจะร่วมกันสร้างให้เด็กเดินเข้าสู่เป้าหมายนั้นๆ

สำหรับครึ่งแรกที่อยู่ในห้องเรียนนั้น เรียนอะไรบ้าง เรื่องนี้คุณครู หรือนักจัดการเรียนการสอนตามหลักสูตรย่อมทราบดี แต่มีมุมมองที่น่าสนใจที่ผมเรียนรู้มาจากฝรั่งต่างชาติที่เคยทำงานด้วย และเมื่อมาพิจารณาผมก็เห็นด้วยกับเขา กล่าวคือ หลักสูตรกระบวนการเรียนการสอนในห้องเรียนนั้นควรพิจารณา 3 ฐานความรู้สำหรับอนาคต

ประกอบด้วย พื้นฐานความรู้ในการนำไปเรียนต่อเป็นวิชาชีพ ตัวเลือกต่อไปคือภาษาอังกฤษ เพราะปัจจุบันและอนาคตนั้นเป็นความรู้พื้นฐานสำหรับการประกอบอาชีพและการเรียนรู้ระดับสากลไปแล้ว ฐานความรู้สุดท้ายคือระบบการสื่อสารขั้นพื้นฐานคือคอมพิวเตอร์ หากเป็นเมื่อยี่สิบปีที่แล้วก็เป็นเครื่องพิมพ์ดีด แต่ปัจจุบันใครที่ไม่เป็นคอมพิวเตอร์ก็ตกรุ่นไปแล้ว.. แต่ทั้งนี้ให้พิจารณาตามความเหมาะสมกับเงื่อนไขต่างๆประกอบด้วย

ในห้องเรียนมิได้หมายถึงสิ่งกล่าวมาทั้งหมดเท่านั้น วิชาความรู้ต่างๆต้องสอดคล้องต่อความต้องการของเด็ก ครอบครัว ท้องถิ่น ทัศนคติ และพัฒนาการของสังคมที่เคลื่อนตัวไปด้วย

ส่วนครึ่งที่เหลือที่เรียกว่า “นอกห้องเรียน” นั้นแบ่งเป็นสองส่วนคือ ส่วนที่เกี่ยวข้องกับครอบครัวโดยตรงและส่วนที่เรียกว่า กิจกรรมโรงเรียนนอกห้องเรียน ส่วนนี้ให้พิจารณาตามเงื่อนไขที่เหมาะสมของพื้นที่ ท้องถิ่นนั้นๆ ซึ่งวัตถุประสงค์ใหญ่คือ การนำเด็กไปเรียนรู้เรื่องต่างๆนอกห้องเรียนที่สอดคล้องกับหลักสูตรและวิถีชีวิตท้องถิ่นนั้นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งให้เด็กได้ซึมซับ “ทุนทางสังคม” ของท้องถิ่น ภูมิภาค และของประเทศไทยเรา ซึ่งสาระหลักจะเป็นเรื่องคุณธรรม การอยู่ร่วมกันบนความหลากหลาย แตกต่าง วัฒนธรรม ประเพณี ทั้งการเข้าร่วมและความหมายด้านลึก การช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ความดี ความชั่ว กิริยามารยาท หลักศาสนา หลักแห่งการอยู่ร่วมกัน การรู้ตัวทั่วพร้อมไม่ไหลตามกระแสหลัก ฯลฯ

มีตัวแบบมากมายในการเรียนการสอนอิงครอบครัว เช่นการเรียนรู้เรื่องราวต่างๆในวิถีชีวิตของครอบครัว ชุมชน ท้องถิ่น เผ่าพันธุ์ ฯลฯ โดยพ่อแม่เองเป็นครู หรือผู้เฒ่าผู้แก่ในชุมชนเอง หรือผู้รู้ต่างๆในชุมชน การเข้าร่วมงานบุญ ประเพณีของท้องถิ่นแบบเรียนรู้ มิใช่เพื่อสนุกเพียงอย่างเดียว… (ต่อตอนสอง)


น้ำตา..เนื่องมาจากพี่เปี๊ยก..

950 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 2 มีนาคม 2009 เวลา 1:29 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 18695

ผมเอาเรื่องพี่เปี๊ยกมาเขียนหน่อย..

พี่เปี๊ยกไม่มีรายได้อะไร เพราะไม่มีงานประจำอย่างเราๆท่านๆ…แล้วมีชีวิตอยู่อย่างไร..?

ก็น้องๆที่แวะเวียนไปหาพี่เปี๊ยกก็ช่วยสนับสนุนกันตามกำลังบ้าง..

การเชิญพี่เปี๊ยกเป็นที่ปรึกษางานโน่นนี่ก็พอมีค่าตอบแทนบ้าง ซึ่งก็ไม่แน่นอน..

ดูการใช้ชีวิตของพี่เปี๊ยกแล้วทุกท่านคงเดาออกนะครับว่าเรียบง่ายเสียจน..

ในคราวที่น้องๆรวบรวมบทความของพี่เปี๊ยกรวมเล่มเรื่องวัฒนธรรมชุมชนนั้น

ก็มอบให้พี่มาจำนวนหนึ่งเพื่อให้ไปจำหน่ายเอาเอง ได้เงินมาก็เป็นของพี่เปี๊ยกเอง

การมาสวนป่าคราวนี้ก็เช่นกัน….พี่เปี๊ยกบอกผมว่า บู๊ด..เอาหนังสือไปขายบ้างได้ไหม..

ผมก็ว่าได้ เดี๋ยวผมจัดการให้พี่เอาหนังสือมาให้ผม..

น้องๆที่ขอนแก่นก็รวบรวมหนังสือให้ได้มานิดหน่อยเพราะไม่ได้เตรียมตัวมาก่อน..

น้องขจิต และน้องมะเดี่ยว ช่วยจัดการให้..

หลังการพูดเสร็จ หนังสือขายหมดเกลี้ยงเลย.. ไม่พอเสียด้วยซ้ำไปเพราะหลวงพี่ติ๊กสนใจก็หมดเสียแล้ว

ผมบอกหลวงพี่ว่าผมจะเอาไปถวายเองที่วัดสระเกศ

เพราะวันจันทร์ผมมีประชุมที่กรุงเทพฯจะหาเวลาแวะไปกราบท่าน

ช่วงที่ทุกคนเดินทางไปทานอาหารกลางวัน มีบางท่านมาซื้อหนังสือจากเดี่ยวจนหมดนั้น ต่างก็ยื่นหนังสือให้พี่เปี๊ยกเซนต์

แต่พี่เปี๊ยกให้มากกว่าลายเซ็น คือเขียนกลอนให้ด้วย

พี่จะมองหน้าท่านนั้นแล้วซักถามเรื่องส่วนตัวสักสองสามคำถาม

จากนั้นก็ตั้งสติ แล้วก็ “จารบทกลอน” สดๆลงไป…

เมื่อถึงคราวคุณสุภาพสตรีท่านที่ยืนตรงกลางเอาหนังสือให้พี่เปี๊ยกจาร

ใช้เวลาไม่นานนัก…

เมื่อเสร็จเธอก็รับมาแล้วก็อ่าน..อ่าน..ให้เพื่อนฟังด้วย..

เมื่ออ่านจบ เธอน้ำตาไหลออกมาครับ จนเธอต้องลุกเดินออกไป..

คุณสุภาพบุรุษท่านที่ยืนข้างกายนั้น เดินตามไปพร้อมกับน้ำตาไหลรินออกมาด้วย..

อยากทราบว่าบทกลอนบทนั้นว่าอย่างไร..

ขอให้ท่านไปถามสุภาพสตรีท่านนั้นเถิดครับ….

ผมเชื่อว่าเธอยินดีที่จะกล่าวถึงครับ…..



Main: 0.029199123382568 sec
Sidebar: 0.068871021270752 sec