ประสบการณ์เล็กๆแต่มีราคาเกี่ยวกับน้ำ…

อ่าน: 10654

เหตุผลที่สำคัญที่เรากู้เงินมิยาซาวา เมื่อปี 40 และเหตุผลที่สำคัญของ สปก. อ้างถึงในการขอแบ่งเงินกู้จากประเทศญี่ปุ่นเมื่อมาทำโครงการพัฒนาชนบทคือ ระบบการเงินของประเทศพัง เราต้องการมาฟื้นฟูประเทศ การฟื้นฟูมีหลายแนวทาง หนึ่งก็คือการสร้างความอุดมสมบูรณ์ให้เกิดขึ้นในสังคมโดยเฉพาะชนบท เพื่อเกษตรกรมีรายได้ ทีกำลังซื้อ ดังนั้นอีสานแห้งแล้งจึงเป็นต้นเรื่อง เพื่อให้เหตุผลขลังก็จ้างบริษัทที่ปรึกษามาทำการศึกษา Feasibility study (FS) ว่าชาวอีสานต้องการแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร ประโยคนี้พูดที่ไหน เมื่อไหร่ก็ถูก

แล้วโครงการเงินกู้มิยาซาวาก็ได้รับการอนุมัติ ซึ่งผมได้รับมอบหมายให้มีส่วนรับผิดชอบดำเนินงานมาเกือบสิบปี การประเมินผลที่เรียกว่า External Final Evaluation เพิ่งเกิดขึ้น ผลเป็นอย่างไรผมขอไม่ลงรายละเอียด ระหว่างการดำเนินงานส่วนหนึ่งก็อยู่ในบันทึกลานดงหลวงนั่นแหละ

ถามอีสานแล้งจริงไหม คงไม่ต้องตอบ เพราะมันกลายเป็นคำคู่กับภาคอีสานมานานแล้ว แต่จริงๆที่ไหนๆก็แล้ง เหนือ กลาง ตะวันออก ตะวันตก แม้ภาคใต้ก็เคยแล้ง เพียงแต่อีสานเกิดปรากฏการณ์มากกว่า และทางเลือกมีน้อยเพราะลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ราบสูงนั่นเอง

ไม่ใช่อีสาน แห้งแล้งเท่านั้น น้ำท่วมก็เกิดขึ้นมาหลายครั้งแล้ว และเกิดขึ้นมาคู่กับโลก เพราะหากเราเป็นคนทำงานชนบทและสนใจ “พัฒนาการสังคมชนบท” เราก็ใช้วิธี Dialogue ผู้เฒ่าผู้แก่ของชุมชน เราก็จะทราบ “พัฒนาการของหมู่บ้าน ชุมชน สังคม” กระบวนการนี้ดีมากๆ ไม่เห็นโรงเรียนที่ไหนทำเลย มีแต่เรียนสิ่งไกลตัว ผู้เฒ่าผู้แก่ก็เอามานั่งให้กราบไว้เท่านั้น ไม่พอครับ ประสบการณ์ของท่านคือประวัติศาสตร์

ผู้เฒ่าผู้แก่บอกว่า การย้ายถิ่นฐานของคนในอดีตเป็นเรื่องปกติ ทำไมต้องย้าย ก็โรคร้ายระบาดผู้คนล้มตาย หรือเกิดแห้งแล้งหนักข้าวปลาขาดแคลน หรือตรงข้ามน้ำท่วมใหญ่ ผู้เฒ่าผู้แก่มีพิธีกรรมความเชื่อเป็นของคู่กับสังคมโบราณ เมื่อ “นางเทียม” บอกให้ย้ายหมู่บ้าน ก็พากันย้าย… ย้ายไปไหน นี่แหละความรู้หรือที่เรียกภูมิปัญญาของคนโบราณเขาก็เลือกเอาพื้นที่ที่ดอน แต่มีแหล่งน้ำใกล้ๆ มีป่าให้หาสิ่งก่อสร้างอิงอาศัย เป็นแหล่งอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค มีพื้นที่ให้เพาะปลูก ดูดินว่ามีความอุดมสมบูรณ์แค่ไหน เมื่อทุกอย่างได้ ก็ทำพิธีขอพื้นที่ตั้งหมู่บ้าน

ดิน น้ำ ป่า เป็นสิ่งสำคัญสำหรับคนโบราณ และสืบทอดมาจนปัจจุบันและยังหนาแน่นในกลุ่มบางชนเผ่าเช่น กะโซ่ที่ดงหลวง หรือชุมชนชาวเขาเผ่าต่างๆ หรือชุมชนที่อาว์เปลี่ยนเล่าให้ฟังนั่น

แล้วฝรั่งก็มาล่าเมืองขึ้น ใครลืมประวัติศาสตร์นี้ก็ไปทบทวนดู มันรู้สึกเจ็บลึกๆเหมือนกันที่ความศิวิไลซ์ของชนเผ่าผิวขาวตะวันตกมาแย่งชิงดินแดนเราไปอย่างด้านๆโดยใช้เล่ห์เพทุบายต่างๆ และที่สำคัญใช้กำลังบังคับ ผมว่าการที่อมริกันไม่ชนะสงครามเวียตนามนั้น ตะวันตกได้บทเรียนที่มีค่ามากๆ อ้าว..เรื่อยเปื่อยไปแล้วนะเนี่ย

เมื่อยุคการพัฒนาเข้ามา อ้างอิงกันถึง สัญญาเบาริง อ้างถึงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติกี่แผนต่อกี่แผนมานี่น่ะ ลัทธิเมืองขยายตัว ลัทธิธุรกิจแผ่พลังครอบคลุมชนบท ตามหลักทฤษฎีทั้งเศรษฐศาสตร์และสังคม ชนบทค่อยๆกลายเป็นเมือง คุณค่าชนบทตกอยู่ภายใต้นิยามของการพัฒนา ว่าเป็นพื้นที่ด้อยการพัฒนา…?? แต่ภายหลังมายกยอปอปั้นว่าชนบทมีทุนทางสังคมมากที่สุด ชนบทมีภูมิปัญญา….??? แต่ดูเหมือนก็ยังแค่เป็นเพียงคำพูด “การพัฒนาก็ยังใช้หลักการทางเศรษฐศาสตร์ตะวันตกเป็นธงนำ ไม่ได้ใช้ทุนทางสังคมเป็นตัวตั้ง”

“สภาพกายภาพของพื้นที่” การเกษตรค่อยๆเปลี่ยนแปลงไปตามกระแสการพัฒนาตามหลักการที่กล่าวว่า “เพื่อความเจริญ” แต่หลายเรื่องหลายอย่างไปขัดกับสภาพธรรมชาติของการเกิดและการถ่ายเทน้ำ

ทุกครั้งที่โครงการพัฒนาชนบทที่ผมทำงานอยู่มีงานพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น สระน้ำประจำไร่นา ฝายกั้นน้ำ หรือใหญ่ขึ้นไปหน่อยคือ โครงการสูบน้ำด้วยไฟฟ้า ก็จะมีวิศวะการใหญ่มาคุมงาน นัยใช้ความรู้มหาศาลมาบริหารจัดการเพื่อประโยชน์สุขมวลประชา และตามหลักการมีขั้นตอนที่ต้องประชุมพูดคุยกับชาวบ้านในชุมชนนั้นๆ ชาวบ้านก็ตอบคำถามตามประสบการณ์พื้นที่ของเขาแบบตรงๆ แต่ไม่มี Subject area ด้านงานก่อสร้างดังวิศวกร แต่วิศวกรก็ไม่มี Subject area ด้านสภาพชุมชน ขอโทษนะครับวิศวกรทั้งหลาย วิศวกรที่ผมพบนั้นยืนหยัดถึงความรู้แห่งตน มากเกินไปที่จะรับฟังชาวบ้าน แล้วความผิดพลาดมักพบภายหลังการก่อสร้างเสมอๆ มิเพียง “ไม่สำเหนียกเสียงชาวบ้าน” แม้เจ้าหน้าที่อย่างผมที่บริหารโครงการเขาก็ไม่ฟัง

แม้ว่า สตง.จะตามมาตรวจสอบ แต่เล่ห์เหลี่ยมของความจัดเจนในกลยุทธนั้น วงการระบบ..ย่อมรู้แก่ใจ

ความบกพร่องผิดพลาดย่อมเกิดขึ้นได้ในทุกๆงาน ไม่ว่างานนั้นราคา 10 บาท หรือ หมื่นล้านบาท แต่หากราคานั้น 10 บาทก็ถือว่าเล็กน้อย หากราคางานนั้นสูง สิ่งที่เสียหายคือสังคม ประเทศชาติ และที่ร้ายคือความรู้สึก

ขอยกตัวอย่าง งานก่อสร้างโครงการสูบน้ำด้วยไฟฟ้าที่พื้นที่ผมรับผิดชอบ ถูกออกแบบมาจากกรุงเทพฯ โดยดูพื้นที่จากแผนที่ ต่อให้เป็นแผนที่ที่ละเอียดแค่ไหนก็ตามเถอะก็ต้องออกไปดูพื้นที่จริง ต่อให้ดูพื้นที่จริงแค่ไหนก็เถอะ หากไม่คุยกับชาวบ้าน หรือต่อให้คุยกับชาวบ้านแค่ไหนก็เถอะ หากไม่มี Subject area ทางด้านสังคม-วิศวกรรม หรือวิศวกรรมสังคม หรือจะเรียกอะไรก็แล้วแต่ ที่เป็นรายละเอียดเชิงประวัติศาสตร์พื้นที่ อันตราย

การก่อสร้างโรงสูบน้ำถูกออกแบบมาแล้วดังกล่าวสมมุติว่าสูง 10 เมตร นัยว่า ข้อมูลที่ใช้นั้นรอบด้านแล้ว เจ๋งแล้ว แต่เมื่อลงมือก่อสร้างผมได้พูดคุยกับชาวบ้านและผู้นำชาวบ้านว่า น้ำท่วมสูงสุดแค่ไหน ก็ได้คำตอบ และแบบที่ออกมานั้นก็ดูจะไม่มีปัญหา แต่เมื่อไปสอบถามผู้เฒ่าผู้แก่พบว่า ในรอบ 20 ปี จะมีน้ำท่วมใหญ่ครั้งหนึ่งโดยประมาณ เมื่อตามตรวจสอบระดับน้ำที่ท่วมพบว่ามันสูงกว่าที่คนอื่นๆพูดกัน…

ตายหละหว่า…หากอนาคตข้างหน้าครบรอบ 20 ปีที่น้ำจะท่วมใหญ่ อาคารสูบน้ำที่ไม่ใช่ระบบ Floating station มันก็อวสาน บานทะโล่หละซี เท่านั้นเองงานก่อสร้างต้องหยุดชะงักเอาไปออกแบบใหม่ ยกขึ้นอีก 1 เมตร….??

หลังจากนั้นสองปี น้ำก็ท่วมสูงสุดดังที่ผู้เฒ่าบอกกล่าว หากไม่ยกสูงอีก  1 เมตรก็เรียบร้อย….?

เกือบไปแล้วไหมล่ะ ….!!!???


ความหิวหรือความตาย..

387 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 29 เมษายน 2010 เวลา 21:41 ในหมวดหมู่ มหากาพย์ดงหลวง, ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 18770

อาจารย์ บางครั้งเราไม่ได้กินข้าวเลย 15 วันเต็มๆ

เรารูดใบไม้กินแทนข้าว

ความหิว ความทุกข์ ความสกปรก ความยากลำบาก

และการเสี่ยงโดนกระสุนปืน

ไม่มีใครกลัวตายสักคน แต่กลัวความหิวมากที่สุด

เพราะความตายก็จบสิ้นไป แต่ความหิวนี่ซิ มันทรมานพวกเรา..

…บางช่วงบางตอนของชีวิตสหายในป่าดงหลวง…


มหากาพย์ดงหลวง

1814 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 29 เมษายน 2010 เวลา 7:05 ในหมวดหมู่ มหากาพย์ดงหลวง #
อ่าน: 49521

หลายปีก่อนได้คุยกับอาว์เปลี่ยนว่า เรามาทำงานที่ดงหลวงนี้ เรารู้ว่าดงหลวงมีประวัติศาสตร์ที่น่าบันทึกไว้ในหลายด้าน หนึ่งในนั้นคือเรื่องราวของสหายจำนวนมากมาย ที่ก้าวออกจากป่าด้วยนโยบายรัฐบาล 66/23 เป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทยเป็นพื้นที่สุดท้ายของประเทศ.. เราคิดว่าน่าที่จะทำการบันทึกไว้เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์เพื่อการศึกษาแก่ชนรุ่นหลังต่อไป แต่เราก็วุ่นอยู่กับงานประจำจนไม่มีเวลามาทำงานพิเศษนี้ มาบัดนี้เป็นช่วงเวลาสุดท้ายของโครงการ ก่อนที่เราจะโยกย้ายไปตามวาระตัดสินใจว่าจะจัดการเวลามาทำงานนี้เท่าที่จะทำได้..


มีคำถามมากมายที่อยากถามพี่น้องสหายทั้งหลายที่ดงหลวงนี้ เราเตรียมร่างคำถามไว้ เพื่อจะสอบถามสาระให้ครอบคลุม จากประสบการณ์การทำ PRA เราก็จัดทำ semi structure interview ไว้ แล้วลุยทันที


เป้าหมายแรกนั้นคือสหายธีระ หรือพ่อบัวไล วงษ์กะโซ่ หรือเซียนผักหวานป่า เราเดินไปหลังบ้าน สหายธีระหอบเอาเสื่อ เอาน้ำดื่มมา ตามวัฒนธรรมพื้นบ้าน ผมหอบเครื่องบันทึกเสียง พร้อมที่จะบันทึกการพูดคุยไว้อย่างละเอียด พื้นที่หลังบ้าน ร่มเงากอไผ่เงียบสงบแบบชนบท ได้บรรยากาศดีครับ

ใครสนใจอยากถามเรื่องอะไรช่วยบอกด้วยนะครับ..

กะไว้ว่ามีเวลามากบ้างน้อยบ้างก็จะถอดเทปออกมาลงในลานแห่งนี้ให้สาธารณะได้เรียนรู้ ได้รู้จักสหายที่เป็นชาวบ้าน ทำไมถึงเข้าป่า ชีวิตในป่า ทำไมถึงออกมา มีใครบ้างที่ยังมีบทบาทในทางการเมืองปัจจุบัน ฯลฯ


ทำไมถึงเอาสหายธีระก่อนคนอื่นๆ? เพราะว่าสหายท่านนี้เมื่ออยู่ในป่าใกล้ชิดกับ เหวง ณ ราชประสงค์มากเพราะเป็น “หมอป่า” ด้วยกัน การบันทึกภาพแห่งความหลังอาจจะทำให้เรารู้จัก เหวง ได้เพิ่มขึ้น

ผมได้ไปปรึกษากับสหายหลายท่าน ถึงเรื่องนี้ ท่านเหล่านั้นเห็นด้วย และพอดีที่สหายดงหลวงทั้งหมดกำลังเริ่มเตรียมการจัดสร้างอนุสรณ์สถานขึ้น หากงานชิ้นนี้เสร็จก็จะถือเป็นองค์ประกอบของอนุสรณ์สถานนี้ไปด้วยเลย

อย่าลืมนะครับ ใครสนใจอยากถามเรื่องอะไร ตั้งคำถามได้นะครับ..


KM ธรรมชาติของลุงเตี้ย

2266 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 17 สิงหาคม 2009 เวลา 22:33 ในหมวดหมู่ งานพัฒนาสังคม #
อ่าน: 126767

ลุงเตี้ย: สีวร วงษ์กะโซ่ หรือลุงเตี้ย แต่งงานเร็วตั้งแต่อายุ 18 แล้วก็มีลูกเลย พ่อแม่เมียสีวรไม่พึงพอใจที่สีวรไม่มีอะไรเป็นตัวเป็นตน อายุก็ยังน้อย ทำอะไรก็ไม่เป็น สีวรจึงมีความพยายามโดยการช่วยทำนาทำไร่ และไปขายแรงงานเป็นช่างไม้ ช่างปูน กับเพื่อนๆที่อุบลราชธานี ที่สกลนคร ที่นครพนม ไม่ได้ลงกรุงเทพฯ แต่เงินทองค่าจ้างที่ได้มาก็ไม่เป็นกอบเป็นกำ ได้มาก็กินก็หมดไป แค่ได้กินปลาทูเท่านั้นแหละ…

พ่อหวัง วงษ์กะโซ่ ผู้สร้าง KM ธรรมชาติให้ ลุงเตี้ย

พ่อหวังครูสร้างคนตัวจริง: ลุงเตี้ย: ผมมักไปเล่นที่บ้านพ่อหวัง วงษ์กะโซ่ บ่อยเข้าพ่อหวังก็อ่านผมออกว่าผมมีทุกข์อะไร ต้องการอะไร พ่อหวังออกปากชวนผมมาอยู่ด้วยที่บ้านสวน ไปทำงานไร่นากัน เป็นเจตนาของพ่อหวังต้องการฉุดเด็กหนุ่มโซ่อย่างผมให้ขึ้นมาจากหลุมของความสับสนในชีวิต ไม่มีทางออก พ่อหวังใช้งานผมทุกอย่าง ไร่ นา ทั้งกลางวันกลางคืน เช้า สาย บ่ายเย็น ตลอดทั้ง 2 ปี พ่อหวังใช้งานผมแล้วสอนผม ให้สติผม แนะนำผม เตือนผม บอกกล่าวในสิ่งที่คนหนุ่มอย่างผมจะต้องรู้และคิด ผมก็น้อมรับ เหมือนคนบ้า ทำงานทุกอย่างเพราะไม่อยากไปขายแรงงานอีกแล้ว

ผมกินนอนที่บ้านสวนพ่อหวัง เมียผมทำอาหารไปส่ง ผมไม่ไปนอนที่บ้าน นอนที่สวน พ่อหวังไม่ได้จ้างแรงงานผม แต่พ่อหวังเอาชีวิตผมมาสอน สอนแบบตัวต่อตัวโดยการทำจริงๆ พ่อหวังก็ให้กินให้ใช้บ้าง

ครั้งหนึ่งพ่อหวังรู้ว่า ผมติดกัญชา พ่อหวังเรียกผมไปบอกว่า “…เตี้ย..เดินผิดทางแล้ว..ปรับตัวเสียใหม่ เลิกเสียเถอะ..สิ่งเสพติดไม่ดี เลิกซะ..” พ่อหวังใช้วิธีให้สติผมแล้วกักบริเวณผม ให้อยู่ที่สวน ห้ามไปไหน พ่อหวังควักเอาเงินให้ผม แต่บอกว่าไม่ให้เอาไปซื้ออะไรกิน อยากกินอะไรจะหามาให้หมด..ผมต่อสู่กับตัวเองสำเร็จ แต่ก็เพราะพ่อหวัง…


สร้างชีวิตใหม่ : สองปีที่ลุงเตี้ยได้ใช้ชีวิตอยู่ในไร่นา สวนกับพ่อหวังนั้น เหมือนกับโรงเรียนฝึกปฏิบัติจริง เมื่อพ่อหวังเห็นแววว่าลุงเตี้ยคนนี้ใช้ได้แล้ว เป็นผู้ใหญ่ที่มีความคิดอ่านเต็มตัวแล้ว มีสติมีหลักคิดและยึดมั่นในการพึ่งตนเอง ปล่อยให้ลุงเตี้ยกลับบ้านได้ พ่อแม่เมียลุงเตี้ยและพ่อแม่ลุงเตี้ยเองเห็นลุงเตี้ยเปลี่ยนไปเช่นนั้นก็มอบที่ดินให้ ทำสวน 3 ไร่ และที่นาอีก 5 ไร่

ลุงเตี้ยหอบครอบครัวมาสร้างบ้านบนที่ดินผืนนี้ที่ว่างเปล่า โล่งโจ่ง เพราะใช้ปลูกมันสำปะหลัง ปลูกปอมาตลอด ลุงเตี้ยก็เริ่มปลูกทุกอย่างจากประสบการณ์ที่ทำมากับมือตั้งแต่วันนั้นจนถึงวันนี้ ที่ดินที่ว่างเปล่าก็เต็มไปด้วยไม้ยืนต้น พืชผักผลไม้สารพัดชนิด


พ่อหวังดึงผมเข้าไปในเครือข่ายไทบรูตั้งแต่แรก และยิ่งเข้าไปเรียนรู้จากการประชุม ฝึกอบรม ศึกษาดูงาน แลกเปลี่ยนความเห็น แม้แต่เอกสารต่างๆที่ผมได้รับมา ผมอ่านครับ มันตอกย้ำว่าการเดินทางของวิถีชีวิตของผมถูกต้องแล้ว.. การไม่มุ่งหวังข้างนอก การสร้างชีวิตด้วยอาชีพเกษตรแบบผสมผสาน เน้นเพื่อการพึ่งตนเอง

มาถึงวันนี้เมียผมพอใจมากที่เรามีรายได้ประจำวัน จากการปลูกทุกอย่างที่กินได้แล้วมันเหลือเฟือเราก็เอาไปขาย โดยเมียผมเป็นคนไปขาย เขาเก็บเงินเอง ได้เท่าไหร่ผมไม่รู้ เขาเก็บเองทั้งหมด ผมเป็นคนทำให้..

ยกระดับการผลิต: ลุงเตี้ยกล่าวว่า ผมพร้อมแล้ว ผมมีทุกอย่าง ผมพึ่งตัวเอง อยากกินอะไรผมมีหมด ผมมีนา ด้านหลัง แต่ก่อนทำนาไม่พอกิน เพราะเป็นนาโนน น้ำท่ามีปัญหา ทำข้าวไม่พอกิน ผมศึกษาธรรมชาติว่าเมื่อมีต้นไม้ใหญ่ความชื้นมันก็มี ผมก็ปลูกไม้ยืนต้น แล้วผมก็ขุดบ่อเล็กๆท้ายสวนติดนา ผมพบว่าเกิดมีน้ำออกมาเป็นน้ำซับ


ผมเลยไปขุดอีกแห่งใกล้กันก็ได้อีก ผมโชคดีครับ ผมก็เอาน้ำนี้ไปรดพืชผักต่างๆในสวน และปรับปรุงนาโนนโดยเอาน้ำนี้ไปใส่นาจนกลายเป็นนาลุ่มไปแล้ว ผมใช้น้ำหมักชีวภาพใส่นาจากดินที่แข็งมาเป็นดินที่นุ่มร่วนซุยมากขึ้น ผลผลิตข้าวที่ไม่เคยพอกิน ผมมีข้าวพอกินแล้วและเป็นข้าวอินทรีย์ ไม่ใช้ปุ๋ยเคมีมานานแล้ว


ผมได้รับเงินจาก ส.ป.ก. 3,000 บาท ที่สนับสนุนให้เป็นแปลงเรียนรู้ ผมเพิ่มไปอีกเท่าหนึ่งไปซื้อวัวตัวแม่มาตัวหนึ่ง มาเลี้ยงปีหนึ่งได้ลูกวัวแม่เพิ่มมาอีกตัว ผมได้ปุ๋ยมูลวัวมาใส่สวนใส่นาอีก ผมดีใจที่ได้ลูกวัวเล็กเป็นเพศแม่ ต่อไปภายหน้าผมจะมีวัวมากขึ้น..

บ้านสวนผมไม่มีไฟฟ้าใช้ ก็ดีนะประหยัด แต่ผมก็มีตู้เย็นนะครับ โน่นไงตู้เย็นผม ลุงเตี้ยชี้ไปที่ ท่อซีเมนต์ขนาดกลางที่ซื้อเอามาเลี้ยงปลา กบ เขียด สารพัดสัตว์ที่เราจะกินมันได้ ก็เอามาเลี้ยงไว้ ผมเรียกมันว่าเป็นตู้เย็นของครอบครัวผม อยากกินปลาก็ไปเอามาได้ทุกเมื่อ…

ขยายสู่เพื่อน: เห็นร่มไผ่นั่นไหม ตรงนั้นน่ะเพื่อนฝูงมาเยี่ยมเยือน ผ่านไปมาก็แวะมานั่งคุยกัน หน้าหนาวก็สุมไฟคุยกัน คุยไปคุยมาเรื่องสาระชีวิตก็กลายเป็นประเด็น เพื่อนบ้านเห็นสวนผม มีพืชผักมากมาย มีของจากสวนไปขายในตลาดทุกวัน มีรายได้เข้าบ้านตลอด เพื่อนๆเขาก็เห็น เขาก็อยากทำ…


แล้วผมก็ได้เพื่อนที่ต้องการอยากจะทำ นายยงค์ มาเรียนรู้จากผมแล้วก็เอาไปทำสวนเขาอยู่ใกล้ๆผม แรกสุดก็เอาพืชง่ายๆก่อน คือสวนกล้วย ระหว่างแถวก็เอาไม้ผลไปลง แม้ว่าเพิ่งจะเริ่มเพียง 4 เดือน นายยงค์มาสวนวันละหลายรอบ ดีใจที่เห็นกล้วยโตสวยงาม และไม้ผลก็ตั้งตัวได้แล้ว นายยงค์มีแผนจะมาปลูกกระต๊อบที่สวน มีน้ำแล้วเพราะเจาะบาดาล นายยงค์บอกว่า ผมก็ได้ลุงเตี้ยแนะนำ และผมสนใจ อยากมาใช้ชีวิตสวนแบบลุงเตี้ยเขา…


อีกคนที่เริ่มทำสวนพอเพียงมาในระยะเวลาใกล้เคียงกันคือนายจง.. ลุงเตี้ยบอกว่า คนนี้ได้ทุกอย่างที่ผมได้มา เช่น ผมได้ ไม้ผลมาสองต้นก็แบ่งให้เขาหนึ่งต้น ได้ กล้าผักหวานป่ามาก็แบ่งให้เขาครึ่งหนึ่ง เมียนายจงก็ไปขายพืชผักกับเมียผม บางทีติดธุระก็ฝากกันไปก็มี บางทีก็นักกันว่า วันนี้เธอเอาอะไรไปขาย จะได้ไม่เอาพืชผักไปขายตรงกัน…

ทั้งหมดนี้เป็นเสี้ยวส่วนของเรื่องราวของ “ครูคนอย่างพ่อหวัง”

“คนขายแรงงานกลับใจมาทำการเกษตรผสมผสาน” ที่บ้านอย่าง “นายสีวร”

“นายยงค์ นายจง เพื่อร่วมอาชีพที่ลุงเตี้ยขยายแนวคิด” นี้ออกไป

สรุป KM ธรรมชาติในที่นี้คือ การที่นายสีวรเรียนรู้เรื่องราวการทำการเกษตรโดยการลงมือทำจริงๆกับพ่อหวัง นั้นเป็นแบบ ชาวบ้านกับชาวบ้าน เป็น lateral knowledge transfer

การที่มีการขยายความคิดและการกระทำจากนายสีวรไปสู่นายยงค์ นายจง ก็เป็นเช่นเดียวกัน

ส่วนการฝึกอบรม การศึกษาดูงาน และการศึกษาจากเอกสารนั้นเป็นตัวเสริม


อาม่า..ข้าวพื้นบ้าน..ดงหลวง

15 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 15 กรกฏาคม 2009 เวลา 23:50 ในหมวดหมู่ งานพัฒนาสังคม #
อ่าน: 3071

ดูอาม่าเมื่อเช้าทำให้ย้ำความตั้งใจที่ทีมงานร่วมกันคิดไว้ว่า เรามาช่วยกันฟื้นพันธุ์ข้าวพื้นบ้าน และขยายข้าวอินทรีย์ออกไปในพื้นที่โครงการ…


ปาลียน ส่งต่องานวิจัยแบบชาวบ้านไว้เรื่องการเพิ่มผลผลิตข้าวในพื้นที่ดงหลวงไว้ น้องๆทีมงานก็สานงานต่อ และเราก็มีข้อสรุปครั้งที่หนึ่งไว้ว่า เป็นไปได้ที่เราจะเพิ่มผลผลิตข้าวในสภาพปกติ และเป็นข้าวอินทรีย์ ปีนี้เราก็ดำเนินการต่อเพื่อศึกษาเพิ่มเติมในรายละเอียด..


ก่อนที่พี่น้องดงหลวงจะลงนาเมื่อต้นเดือน พ.ค. ที่ผ่านมานั้น ทีมงานก็ไปเอาข้าว “เล้าแตก” และ “มะลิแดง” มาจากกาฬสินธุ์เพื่อมาให้พี่น้องดงหลวงขยายพันธุ์และเอาไปปลูกกันในปีต่อๆไป อาม่าบอกว่า ข้าวเล้าแตกมีคุณค่าเหมาะกับ สว.ทั้งหลาย และ…

เมื่อวันก่อนผมกับทีมงานก็ไปประสานงานกับสำนักงานชลประทานจังหวัดเพื่อแลกเปลี่ยนกันถึงแหล่งน้ำที่กรมชลประทานมาก่อสร้างไว้ในดงหลวง และการใช้ประโยชน์ เราก็แอบคิดในใจว่า พื้นที่ที่จะขยายพันธุ์ข้าวดังกล่าวควรจะอยู่ในพื้นที่ชลประทานเป็นอันดับแรก เพราะจะมีหลักประกันในเรื่องน้ำไว้ก่อน และต่อไปก็เป็นเกษตรกรที่มีสระน้ำประจำไร่นาที่สมัครใจ


หากโครงการต่อเฟสที่สองได้ คงต้องเตรียมเกษตรกรในเรื่องการเป็นแหล่งผลิตข้าวพื้นบ้านอินทรีย์ แต่ทั้งหมดนี้ต้องผ่าน กระบวนการ “ชุมชนสนทนา” (Community Dialogue) ก่อน…

ขอบคุณอาม่าครับ..



แรงกระทบใจ..

7 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 3 มิถุนายน 2009 เวลา 12:10 ในหมวดหมู่ ทุนสังคม, เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 2560

ใครอ่านบันทึกของผมเกี่ยวกับดงหลวงมาตั้งแต่ blog เดิม คงจะพอรู้ว่าดงหลวงเป็นอย่างไร ท่านที่เข้าร่วมเฮฮาศาสตร์ครั้งที่ 3 ดงหลวงก็คงได้สัมผัสชาวบ้านที่เป็นชนเผ่าโซ่มาบ้างแล้ว


เนื่องจากเมื่อวานผมประชุมทีมงานเพื่อรื้อแผนงานทั้งหมดใหม่ เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงกลุ่มผู้บริหารระดับสูง ดังที่ผมเกริ่นมาตลอดนั่นแหละว่ามีการเปลี่ยนแปลงเบอร์หนึ่งไปแล้ว เลี้ยงส่งกันแล้วที่ร้อยเอ็ดเมื่อคืนวานนี้ เจ้าหน้าที่หน่วยงานใหม่ก็มาต้อนรับกัน…เฮ่อ


ผมก็ทำความเข้าใจกับทีมงานว่าเราถูกจำกัดงบประมาณหมดสิ้น จากที่เคยมีเคยได้ เคยทำ เป็นถูกรวบยอดไว้ที่ท่านคนเดียว กิจกรรมจำนวนหลายกิจกรรมเราจึงไม่มีงบประมาณ ทีมงานก็ออกไปทำงานก็ไม่มีงบประมาณสนับสนุนเท่าที่ควร หลายต่อหลายครั้งเจ้าหน้าที่ก็ตัดสินใจควักกระเป๋าเองแล้วเอามาเบิกงบประมาณบริหารสำนักงาน ซึ่งเราพอเจียดให้ได้ แต่ก็จำกัดจำเขี่ยเต็มที

เพื่อควบคุมงบประมาณบริหารสำนักงานให้อยู่ในวงที่พอสัมมาพาควร แก่เหตุแก่ผล ผมจึงกล่าวกับน้องๆว่า ทุกครั้งที่เราไปประชุมกับชาวบ้านนั้นไม่จำเป็นต้องขนกระติก ถ้วยกาแฟ แก้วน้ำ ขนมอีกเป็นปี๊บๆ ไปบริการชาวบ้านทุกครั้ง เพราะการเอากาแฟไปให้ชาวบ้านกินเดี๋ยวชาวบ้านติดกาแฟก็จะไปสร้างรายจ่ายให้แก่เขา เอาขนมไปเป็นปี๊บๆแจกพร้อมกาแฟ พร้อมทั้งเทให้หมดเมื่อจบการประชุม มันเป็นเงื่อนไข เดี๋ยวคราวต่อๆไปไม่มีไปให้ก็จะถูกต่อว่า เอาแค่น้ำดื่มสะอาด ก็เพียงพอ อีกทั้งประหยัดงบประมาณที่เราก็ไม่ค่อยมีด้วย ขนมที่ซื้อยกปี๊บไปให้นั้นเราก็รู้ดีว่าคุณค่ามันไม่มีอะไรหรอก มีแต่แป้งกับน้ำตาล กินมากๆก็จะเป็นการเสียวัฒนธรรมการบริโภค ติดน้ำตาล กลายเป็นการกระตุ้นให้เกิดโรคเบาหวานขึ้นมาอีก เจตนาดีแต่ผลที่เกิดไม่ดีต่อสุขภาพ


ที่ร้านสหกรณ์กลางหมู่บ้านแห่งหนึ่ง เราเคยสนับสนุนการบริหารจัดการของเขานั้น เราพบว่า ในถังขยะมีแต่กระป๋องกาแฟสำเร็จรูปที่โฆษณาทางทีวีสารพัดยี่ห้อ ยิ่งเครื่องดื่มชูกำลังแล้ว กินกันจนติดเป็นนิสัยไปแล้ว จะเข้าป่าไปหากบหาเขียดก็ต้องแวะมาซื้อเจ้าขวดนี้ก่อนไป เงินเสียไปโดยไม่ควรเสีย…ขวดเกลื่อนป่าเป็นมลภาวะต่อไปอีก…..

ในกรณีเช่นนี้เป็นการมองต่างมุมกันนะครับ ความจริงแต่ละครั้งๆนั้นใช้งบประมาณไม่มากมายอะไรหรอก สำนักงานบริหารได้ แต่หลักการ แนวคิด เหตุและผล มองต่างกัน


น้องเธอบอกว่า สงสารชาวบ้านเขา ยิ่งช่วงนี้ ข้าวใหม่กำลังปลูก ยังไม่ได้ผลผลิต ข้าวเก่าก็เริ่มน้อยลงหรือเกือบหมด หรือบางครอบครัวหมดลงแล้ว จึงต้อง “หากินซามตาย” ความสงสารของนักพัฒนานั้นมีท่วมหัวอกหัวใจ เราเข้าใจแต่มิใช่เอากาแฟเอาขนมที่ไม่มีประโยชน์ไปให้ กินข้าวก็พอแล้ว…

ข้าวนั้นทำให้เยอะๆ ทั้งข้าวทั้งกับข้าว เลี้ยงไปเลย ไม่ว่ากัน…

เพราผมต้องแอบบอกความลับไว้อย่างหนึ่งว่า ผมเคยน้ำตาตกมาแล้วที่การประชุมครั้งหนึ่งชาวบ้านมากันมากพอสมควร เราเองก็ไม่ได้คิดอะไร ไม่ได้เอะใจอะไร แต่ดีใจที่ชาวบ้านมากันมาก

ท่านครับ… แต่ละคนตักข้าวพูนจาน กับข้าวพูนจาน คนเมืองมาเห็นก็จะต้องคิดว่า พี่น้องโซ่ของผมมูมมาม ตะกละตะกราม ไม่มีมารยาทในการกิน (มารยาทคนเมือง)


แต่ท่านครับ…เมื่อทุกคนอิ่มข้าวแล้ว ที่หม้อแกงนั้นมีแกงติดก้นหม้อมีแต่น้ำโหลงเหลง คนแก่ คนเฒ่า ทั้งชาย หญิง และคนเป็นแม่หลายคนกำลังตักใส่ถุงพลาสติกที่เตรียมมารวมทั้งข้าวที่เหลือด้วย แล้วก็เอาใส่ถุงย่าม หรือห่อพกของตนเอง บางคนก็เดินกลับบ้านไปเลย บางคนก็รอการประชุมบ่ายต่อไป…

เขาไม่ได้กินข้าวอิ่มมาหลายวันแล้วครับ..

ลูกหลานที่บ้านก็รอข้าวเหมือนกัน…ครับ..




Main: 0.073980808258057 sec
Sidebar: 0.28983616828918 sec