เริ่มใช้ Hit Counter

2848 ความคิดเห็น โดย Logos เมื่อ 21 มีนาคม 2015 เวลา 22:21 ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 63855

บล็อกนี้ เพิ่งเริ่มใช้ Hit Counter ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2558 ครับ


ทดสอบ

2507 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 17 กุมภาพันธ 2012 เวลา 16:56 ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 68182

ทดสอบ

คอมพิวเตอร์ผม มีไวรัสเข้ามาทาง สแปม จึงเอาไปล้างเครื่อง

เมื่อล้างหลายอย่างต้อง set ใหม่ ทำให้บางอย่างหายไปเพราะพลาดไม่ได้เก็บ

และ print ออก ไม่ได้ หอบไปให้ช่างเขาบอกทำได้ แต่ต้อง ติดตั้งโปรแกรมใหม่ ก็เท่ากับล้างเครื่องใหม่อีก วนเวียนเช่นนี้

เรื่องของเรื่องเราไม่มีความรู้ เป็นผู้ใช้อย่างเดียว

พยายาม upload ผ่าน word อย่างที่เคยทำ นั้น ทำเท่าไหร่ก็ไม่ได้สักที

วันนี้เลยลองใช้วิธี เปิด ลานแล้วเขียนสดๆ  อิอิ


ตอบเบิร์ด..

2317 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 3 กุมภาพันธ 2012 เวลา 21:44 ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 56515

“พี่บู๊ทคะ เวลานักพัฒนาอย่างพี่บู๊ทมองย้อนหลัง แล้วเทียบสิ่งที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน พี่บู๊ทคิดยังไงบ้างคะ เคยคิดมั้ยว่าเป็นตามที่เราฝันหรือเปล่า”

เป็นประเด็นที่ค้างการตอบไว้ วันนี้พอมีเวลาครับ

พี่มีข้อสรุปอย่างหนึ่งว่า สังคมเคลื่อนตัวไปตลอด งานพัฒนาชนบทที่ทำมานั้นก็เคลื่อนตัวไปตามสังคมที่เคลื่อนไป ซึ่งการเคลื่อนตัวของสังคมนั้นเป็นพลังที่ทำให้ทุกอย่าง “ลู่ตามลม” พลังของการเคลื่อนตัวของสังคมหากมีพลังมากก็จะพาให้ปัจจัยต่างๆของวิถีชีวิตของคนในชนบท ถูกกระแสสังคมพัดพาไป มากน้อยแล้วแต่ความมั่นคงของสำนึก และการรู้เท่าทัน กระแสสังคมมีทั้งสิ่งดีดี และสิ่งที่ซ่อนมากับความทันสมัย ค่านิยม ใครๆก็มี ใครๆก็ทำกัน ซึ่งมีพลังแรงมาก คนในสังคมชนบท หรือที่ไหนๆมีแรงต้านพลังนี้แตกต่างกัน เด็กวัยรุ่นในชุมชน หากไม่มีปัจจัยสร้างให้สำนึก เขาก็ง่ายที่จะไหลตามกระแสบริโภคนิยม เช่น มือถือ มอเตอร์ไซด์ การแต่งตัว คำพูด กิจกรรมที่ทำ ฯลฯ งานพัฒนามักจะไม่ได้ทำหน้าที่สร้างพลังของการรู้เท่าทันมากนัก ไปทำกิจกรรมเพื่อสร้างความมีอยู่มีกินเสียมากกว่า

หากจะถามว่าแนวคิดในงานพัฒนาเปลี่ยนไปไหม เปลี่ยนครับ แนวคิดในงานพัฒนาก็พัฒนาตัวมันเองไปตลอด ละเอียดมากขึ้น แต่ก็ขึ้นกับตัวนักพัฒนา เจ้าของโครงการ สาระที่ทำงาน นักพัฒนาบางคนสนใจงานวัฒนธรรม ก็จะเล่นแต่วัฒนธรรม ด้านอื่นสนใจแต่ให้น้ำหนักน้อย เช่นเดียวกัน ใครที่สนใจสิ่งแวดล้อมก็เล่นแต่สิ่งแวดล้อม งานสตรี งานเด็ก งานสุขภาพ ก็เป็นไปในทำนองเดียวกัน ทั้งๆที่วิถีชีวิตนั้นประกอบด้วยทุกส่วน แต่งานพัฒนาทำเพียงบางส่วนเท่านั้น

งานสมัยก่อนไม่มีประเด็น Gender และสิ่งแวดล้อมมากนัก พี่พูดถึงสมัยปี 2518 ที่พี่เริ่มเข้ามาทำงาน องค์ความรู้เรื่องการทำงานพัฒนา นำเข้าจากต่างประเทศด้วยซ้ำไป เช่น ฟิลิปปินส์ก็คือ PRRM ของ ดร.เจมส์ ซี เยน ที่ ดร.ป๋วยนำหลักการมาทำที่ชัยนาท อันเป็นสถานที่ที่ท่านโดดร่วมลงมาสมัยท่านเป็นเสรีไทย และชาวบ้านที่วัดสิงห์ช่วยชีวิตท่านไว้ ท่านจึงกลับไปทำงานพัฒนาชนบทที่นั่น อิสราเอลก็หลักการคิบบุช และโมชาบ แม้เกาหลี ก็หลักการแซมาเอิน อันดง และศรีลังกาก็คือ หลักการซาโวดายา

NGO เมืองไทย “บูม” มากๆก็หลัง 14 ตุลา เพราะนักศึกษาที่มีอุดมการณ์แห่กันไปทำโครงการพัฒนาชนบทกันมากมายจนถึงปัจจุบัน

ที่ธรรมศาสตร์มีโครงการบัณฑิตอาสาที่ ดร.ป๋วยจัดตั้งขึ้นเป็นครั้งแรก และแนวคิดนี้ก็ขยายไปในหลายมหาวิทยาลัย เช่น จุฬา ขอนแก่น เป็นต้น มีการเปิดภาควิชาพัฒนาชุมชน ต่อยอดจากคณะสังคมสงเคราะห์ ของธรรมศาสตร์ ทำให้มีบัณฑิตจบออกไปทำงานพัฒนามากขึ้นทุกภูมิภาค และทำให้กระบวนการทำงานพัฒนาในเมืองไทยก้าวกระโดดมาก เป็นตัวของตัวเองมากกว่าจะไปเรียนมาจากต่างประเทศเหมือนยุคก่อน มีการตั้ง กป.อพช. หรือคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน ซึ่งพี่เป็นชุดก่อตั้งในสมัยนั้นด้วย

วงการพัฒนาก้าวไปทำเรื่องการพึ่งตนเอง เกษตรธรรมชาติ ตามแนวคิด ฟูกูโอกะ เกษตรอินทรีย์ สตรี เด็ก คนพิการ เกิดโรงเรียนที่แหวกกฎกระทรวง เช่น หมู่บ้านเด็กที่กาญจนบุรี การเกษตรเพื่อการพึ่งตนเอง ฯลฯ

เมื่อมองย้อนหลังสะเมิง สิ่งที่สะท้อนเห็นๆและบอกได้ว่านั่นคือ impact ของงานพัฒนาที่เราทำกันมาคือ

  • สมัยนั้นเรามีการฝึกผู้นำชาวนา โดยการรับมาเข้าหลักสูตรฝึกอบรมที่สำนักงานเกษตรภาคเหนือ สมัยนั้น ดร.ครุย บุญสิงห์ สามีอาจารย์เต็มศิริ บุญสิงห์ ที่โด่งดังในการรับเชิญไปแสดวความเห็นบนจอทีวีสมัยสามสิบปีที่ผ่านมา และเราเอาชาวบ้านหนุ่มๆมาทำวานกับพวกเราโดยมาฝึกให้เป็นผู้รู้เรื่องเครดิตยูเนี่ยน และให้เขาออกไปเป็นพี่เลี้ยงให้ชาวบ้าน เราพบว่า บุคลากรเหล่านี้มากกว่า ร้อยละ 80 มาเป็น พ่อหลวง(ผู้ใหญ่บ้าน) เป็นแคว่น(กำนัน) ในปัจจุบันมากมาย แม้คนขับรถของเราก็เป็นกำนัน และมีบทบาทในการพัฒนาชุมชน เด็กหนุ่มสองคนที่เราจ้างมานั้นกลายเป็น นายกองค์การบริหารส่าวนตำบล หากถามว่าเพราะอะไร ตอบแบบเข้าข้างตนเองโยยังไม่ได้ทำการวิจัยคือ เขาถูกฝึกอบรมให้มีแนวคิดในการพัฒนาในด้านต่างๆมากมายตลอดสามปีทุกเดือน ความคิดต่างๆที่ได้ เขาได้ใช้แสดงบทบาทในชุมชนของเขาเอง ออกความเห็น เสนอแนะ และสร้างกิจกรรมต่างๆขึ้นเองในชุมชนของเขา ต่อมาเขาจึงถูกเสนอชื่อให้ขึ้นเป็น พ่อหลวง และกำนัน เพราะเขาคลุกคลีกับเรา และเราก็กรอกหูเรื่องงานพัฒนาทุกวัน เขาจึงซึมซับแนวคิดเหล่ารี้ไปไม่มากก็น้อย แล้วเอาไปใช้จริงๆ เกือบทุกหมู่บ้าน อย่างน้อยที่สุด สมาชิก อบต. ก็แนคนเดิมๆเหล่านั้นของเรา
  • สิ่งที่เราประทับใจมากประการหนึ่งคือ สมัยนั้นเจ้าหน้าที่ทุกคนของโครงการจะต้องไปรับการฝึกอบรมที่ โครงการบูรณชนบทที่ชัยนาท อันเป็นโครงการของ ดร.ป๋วยดังกล่าว เราจำลองกิจกรรมหลายกิจกรรมจากชัยนาทไปใช้ที่สะเมิง เช่น ที่ชัยนาทมี Buying club หรือร้านค้าชุมชน เราก็เอาไปใช้ที่สะเมิง และเติบโตจนถึงปัจจุบัน โดยชาวบ้านดำเนินการเอง ถือหุ้นกัน ทำบัญชีเอง ประชุมเอง ซื้อสินค้ามาจำหน่ายเอง… ที่แอบบภูมิใจมากๆคือ มีการทำกลุ่มออมทรัพย์ แต่เราเลือกใช้กลุ่มเครดิตยูเนี่ยน เพราะเราไปฝึกอบรมเรื่องนี้มาจากสันนิบาตเครดิตยูเนี่ยนแห่งประเทศไทย สมัยนั้นยังขึ้นกับสภาแคทอลิคแห่งประเทศไทยโยมีคุณพ่อบุญเลื่อน มั่นทรัพย์เป็นผู้นำเข้ามาในเมืองไทยและเริ่มแรกที่สลัมคลองเตย …เราศรัทธาหลักการและกระบวนการ จึงเอาไปใช้ในชุมชนสะเมิงที่เป็นป่าเขา ซึ่งพี่เองเป็นผู้รับผิดชอบในการอบรม จัดตั้ง ประชุม ทำบัญชี ฯลฯ ตั้งแต่เริ่มจนเป็นกลุ่มขึ้นมา ใน 24 ชุมชน 4 ตำบล ทำไป ไม่แน่ใจไปเพราะเป็นชุมชนเกษตรกรรม ไม่มีเงินเดือนมีแต่เงินตามฤดูกาล แล้วจะเงินที่ไหนมาสะสมกันทุกเดือนๆ น้องเบิร์ด ปัจจุบันกลุ่มทั้งหมดรวมตัวกันเป็นกลุ่มระดับตำบล และแต่ละกลุ่มมีเงินหมุนเวียนนับสิบล้านบาท ที่มากที่สุด 46 ล้านบาท พี่ได้ยินเมื่อปีใหม่ ก็ตกใจว่าเป็นไปได้อย่างไรกัน จากการที่สะสมกันมาคนละ 5 บาท 10 บาทแต่ละเดือนนี่นะ… กลุ่มยังขยายการบริการสมาชิกจากสะสม กู้ ขยายเป็นจัดกำไรเป็นสวัสดิการแก่สมาชิกในรูปแบบต่างๆ เช่น ตาย ป่วย เกิด ได้เงินจำนวนหนึ่ง และอื่นๆอีก กลุ่มก็โตเอาโตเอา ปรับระเบียบข้อบังคับให้สอดคล้องกับสภาพแบบปัจจุบันมากขึ้น ใครอยากซื้อรถ มากู้เอาเงินสดไปเลย แล้วผ่อนกับสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนดอกเบี้ยถูกๆ
  • ผลกระทบทางเสียก็มี คือ มีผู้นำที่ทำงานคู่กับเราคนหนึ่ง ทั้งสามี ภรรยาทุ่มเทการทำงานให้กับชุมชนมากเกินไป เราก็ไม่เอะใจ เราพบว่าฐานเศรษฐกิจครอบครัวเขาพังลงไป เพราะ ทั้งสามี และภรรยามีบทบาทมากในการทำกิจกรรมเพื่อชุมชน ตามที่โครงการพัฒนาชนบทมีกิจกรรมในบ้านนั้นๆ ทำให้เขาไม่มีเวลาสำหรับกิจกรรมส่วนตัว ไร่นาพังเป็นแถบๆเมื่อเจ้าของนาเอาแต่ตระเวนไปประชุมที่นั่นที่นี่ เศรษฐกิจครอบครัวพังลง เขาไม่อาจทำงานเสียสละต่อไปได้ เขาต้องหอบครอบครัวออกมาในเมืองเชียงใหม่เพื่อฟื้นเศรษฐกิจโดยการมาเปิดร้านขายอาหารที่หน้าแม่โจ้
  • มีกิจกรรมหนึ่งที่เราเสียใจมากคือ วัยรุ่นสตรี มีความสนิทสนมกับเรามากเพราะเราไปกินนอนบ้านชาวบ้านทุกครั้งที่เดินทางเข้าพื้นที่ ตระเวนไปประชุมที่นั่นที่นี่ เรามีความคิดที่จะสอนให้เขารู้ว่า การหนีออกจากหมู่บ้านไปเมืองเพื่อขายตัวหรือไปทำงานบริการต่างๆในเมืองนั้น ไม่ดี อันตราย จึงพาเยาวสตรีจำนวนหนึ่งเดินทางเข้ากรุงเทพฯไปดู อาบอบนวด สถานที่บริการต่างๆที่เป็นเด็กสาวภาคเหนือลงมาทำงานเอาเงินเดือน ไปคุยกับรุ่นพี่พี่ที่เขามาก่อนว่า ลำบากแค่ไหน ข้าวของราคาแพง และเสี่ยงต่อโดนถูกหลอก ดูไปสรุปควาคิดเห็นกันไป แล้วต่อมาเราทราบว่า เด็กสตรีที่อยู่ในกลุ่ม จำนวน 3 คนแอบออกจากชุมชนกลับไปกรุงเทพฯเพื่ออยากทำงานแบบรุ่นพี่ เราวุ่นวายกันใหญ่กว่าจะเอาตัวกลับมาได้ เรื่องนี้ไปตรงภาษิตที่ว่า ชี้โพรงให้กะรอก…

สรุปว่ามีทั้งที่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ และไม่สำเร็จตามประสงค์และที่ไม่คาดคิดที่ดีและไม่ดีครับ สิ่งที่น่าสนใจคือ พี่เสนอให้ทำการโครงการมาประเมิน Development Impact หรือ After Project ครับ อยากเห็นกระบวนการปรับตัวของชุมชนในกิจกรรมต่างๆที่โครงการสมัยก่อนได้ทำไว้ เพราะอะไร อะไรเป็นปัจจัย ฯลฯ อยากเห็นพัฒนาการของความคิดของผู้นำ และชาวบ้านหลังโครงการสิ้นสุดลง ฯลฯ


….ตามหาส่วนที่ขาดหายไป

2567 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 18 มกราคม 2012 เวลา 23:01 ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 62939

ยอมรับว่าผมนั้นหลงเสน่ห์ชนบทในหลายด้าน

หนึ่งในนั้นคือ ความเป็นชนบท

แม้ว่าตัวเองจะไม่ได้ทำตัวเป็นคนชนบทก็ตาม

ภูเขา ทุ่งนา กระต๊อบ ลำห้วย วัว ควาย ชาวบ้าน ฯลฯ

ในสายตาทั่วไปบอกว่านั่นมันล้าหลัง ยังไม่พัฒนา สกปรก ไร้สาระ ฯ

แต่ในเนื้อในก็มีความเอื้ออาทร จริงใจ ตรงไปตรงมา ที่ต่างไปจากสภาพเมือง

ผมไม่รังเกียจเมืองหรอก เพราะผมก็ใช้ชีวิตในเมือง

แต่ผมก็อยากใช้ชีวิตในชนบทด้วย

หลายคนบอกว่าชีวิตในเมืองเป็นชีวิตที่ใช้ความเร็ว

แต่ชนบทเป็นชีวิตที่ช้ากว่า

ผมเคยได้ยินศิลปินใหญ่ พี่เทพศิริ สุขโสภา กล่าวว่า

ความเร็วนั้นทำให้เราไม่เห็นความงามของดอกไม้ ใบไม้สองข้างทาง

ท่านตั้งชื่อเรื่องนั้นว่า “ฉันตามหาส่วนที่ขาดหายไป”

จริงๆชีวิตในเมืองก็ตามหาจริงๆ

จริงๆผมก็คิดว่า ผมตามหาส่วนที่ขาดหายไปเหมือนกัน….


ต้นไม้

2206 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 17 มกราคม 2012 เวลา 21:11 ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 55335

ทดสอบครับ post ไม่ได้มานานแล้ว


ทราย..

2573 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 2 มกราคม 2012 เวลา 22:25 ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 57455

หากเราอยู่ที่หลวงพระบางจะเดินทางไปเมืองหงสา แม้ว่าจะมีถนนสายตรง แต่คนจะนิยมไปเส้นทางหลวงพระบาง-ไชยบุรี-หงสา แม้ว่าจะอ้อม ก็ยังปลอดภัยกว่า ถนนจากไชยบุรีไปหงสานั้นลาดยางแล้ว แต่มีสภาพแคบและเป็นเส้นทางบนภูเขา ท่านที่ไม่คุ้นเคยต้องขับรถอย่างระมัดระวัง ส่วนเส้นทางหลวงพระบาง-ไชยบุรีนั้น ร้อยละเก้าสิบเป็นถนนลูกรัง มีแต่ฝุ่นหนาทึบ


บนเส้นทางหลวงพระบาง-ไชยบุรีนั้นจะต้องผ่านแม่น้ำโขงที่บ้านท่าเดื่อ ขณะนี้กำลังเริ่มก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงตรงนี้ ปัจจุบันใช้เรือเฟอรี่ข้าม ใครจะข้ามก็ไปเข้าคิว บางครั้งรอนานเป็นชั่วโมงกว่าจะได้ข้ามเพราะรถแน่นมาก หรือ ไม่มีรถเรือเฟอรรี่ก็จะไม่ข้ามจนกว่าจะมีรถมากเพียงพอ


ที่สองฝั่งจะมีสาวๆมาสร้างเพิงขายสินค้า ส่วนมากก็เป็นอาหาร เช่นข้าวเหนียว ไก่ย่าง ส้มตำ และเครื่องดื่มประเภทน้ำดื่มและเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนทั้งหลาย ซึ่งเป็นสินค้าที่มาจากฝั่งไทยทั้งหมด


สังเกตเห็นกองทรายมหึมาที่น้ำโขงพัดพามากองริมฝั่ง ทรายล้วนๆ บริสุทธิ์ เด็กชาวบ้านมาเล่นกันบนนั้น แต่ ข้างล่างนั่นมีคนทำกิจกรรมอะไรอยู่ตรงนั้น


ผมซูมภาพเข้าไปก็เห็นชัดเจนว่านั่นคือชาวบ้านกำลังตักทรายใส่ลงในเรือที่มีลักษณะยาวๆที่จอดติดกับกองทรายใหญ่นั่น มันง่ายมากเพราะกองทรายใหญ่ สูง เรือต่ำกว่าก็ตักใส่ได้โดยตรง ชาวบ้านขุดทราย หรือตักทรายใส่เรือ ไปทรายข้างบนก็พังลงมา เพราะมีทราบมากมาย ขนหรือบรรทุกกันเป็นหมื่นๆเที่ยวก็คงไม่หมด



ไกลออกไปทางทิศเหนือ ก็มีกองทราย และมีชาวบ้านหนึ่งคนทำการตักทรายลงเรือเหมือนกัน เมื่อทรายเต็มเรือ เขาก็ติดเครื่องเรือแล่นไปอีกฝั่งตรงข้าม ที่นั่นผมเห็นรถและเรือทรายที่เข้าไปจอดและตักทรายจากเรือเอาไปใส่รถ ภาพนี้ทำให้เราเข้าใจว่า นี่คือระบบธุรกิจขนทราย ค้าทราย คงเป็นงานก่อสร้างที่กำลังเติบโตเต็มที่ที่เมืองไชยบุรี ทั้งถนนหนทางและอาคารตึกรามต่างๆ ล้วนต้องการทราย และก็ง่ายมากๆที่จะหาทรายป้อนให้งานก่อสร้าง ชาวบ้านก็มารับจ้างขนทราย


นี่เป็นภาพลูกโซ่ของวงจรธุรกิจ ชาวบ้านเป็นเพียงโซ่ข้อหนึ่งขององค์ประกอบธุรกิจทั้งครบ และการสร้างบ้านสร้างเมือง ชาวบ้านผู้รับจ้างขนทรายอาจรู้ว่าทรายนั้นไปที่ไหน แต่ไม่รู้ว่า สิ่งก่อสร้างนั้นจะเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตเขาหรือไม่ เกี่ยวข้องส่วนไหน อย่างไร เพราะสังคมนี้ใหญ่เกินระดับหมู่บ้าน ชุมชนของเขาเสียแล้ว..


วัดสีมุงคุน เมืองหงสา

2550 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 2 มกราคม 2012 เวลา 16:28 ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 43101

..

สมเด็จพระเทพฯท่านเสด็จมาที่นี่ถึงสองครั้ง อยากรู้เรื่องราวไปหมด โดยเฉพาะพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ และวิถีชีวิตของพี่น้องชาวบ้านที่นั่น

สิ่งที่เป็นประวัติศาสตร์ของท้องถิ่นที่ดีที่สุดคือวัด เพราะวัดเป็นที่รวมของประวัติศาสตร์ ศิลปกรรม ความเชื่อ พิธีกรรม วิถีชีวิต และการบ่งบอกถึงความเป็นมาเป็นไปของอดีตสู่ปัจจุบัน มิใช่เพียงที่อยู่อาศัยของสงฆ์เท่านั้น


เมืองหงสา ติดต่อกับชายแดนไทยปัจจุบันที่อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดน่าน เมืองหงสาขึ้นกับแขวงไชยบุรีซึ่งอยู่ฝั่งขวาแม่น้ำโขง ของ สปป. ลาว ผมสนใจความเป็นท้องถิ่นและวิถีชีวิตของชุมชนที่เป็นแบบจำลองอดีตของชุมชนไทยในสมัยโบราณ ที่เราไม่เห็นอีกแล้วในบ้านเรา ความจริงสภาพที่เป็นในประสบการณ์ของผมมันก็คือ “ชุมชน” เท่านั้น ทำไมเรียก “เมือง” เช่นเมือง “หงสา” “เมืองเงิน”

เนื่องจากมีเวลาน้อยจึงไม่ได้เจาะลึกลงไปในสิ่งดังกล่าวข้างต้น แต่เดินชมสัมผัส จิตวิญญาณของพื้นที่และสิ่งที่พบเห็น ก็รูปสึกเคารพผู้คน ชุมชนแห่งหงสานี้แล้ว สิมหลังเก่านี้ เรียบๆง่ายๆเสียจนคนสมัยใหม่ยุคดิจิตอลอาจคิดว่ามันเป็นแค่อาคารเก่าหลังหนึ่งที่หลงเหลืออยู่เท่านั้น ไม่มีลายปูนปั้นอันวิจิตร ไม่มีพระพุทธรูปทรงเครื่องทรงอลังการ


แต่ผมสัมผัสถึงความศรัทธา ความเชื่อมั่น และการน้อมนำหลักพุทธมาเป็นครรลองชีวิต ความวิจิตรเป็นเพียงสิ่งประกอบภายนอก ความเป็นสถานที่เพื่อให้คบองค์ประกอบทางพิธีกรรม และการถือปฏิบัติที่เต็มเปี่ยมด้วยศรัทธาต่างหากที่มีล้นเหลือ มากกว่าสิ่งภายนอกแม้จะสร้างความหรูหราแต่หากไม่มีจิตข้างในทุ่มเทให้ ความวิจิตรนั้นก็เป็นแค่ศิลปกรรมที่ซื้อขายกันในตลาดเท่านั้น


อาคาร สิม หลังนี้มีอายุมากกว่าร้อยปี ชาวบ้านบอกมากกว่าสองร้อยปี ก่อสร้างด้วยดินเผาและโคลน หุ้มโครงสร้างหลักคือเสาและเครื่องบนไม้ ที่เป็นนวัตกรรมท้องถิ่นโบราณ ที่ชุมชนห้อมล้อมด้วยป่าไม้นานาพรรณ หลังคาเป็นแผ่นไม้ที่หาได้ทั่วไปในล้านนา ล้านช้าง แม้ปัจจุบัน


ผมถือวิสาสะลองผลักประตูเก่าโดยออกแรงนิดหน่อยก็ถูกเปิดออก ทำให้เห็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ภายใน ผมกราบแสดงคารวะต่อพระพุทธองค์จำลอง เรียบ ง่ายเท่านั้น โครงไม้ หลังคาที่มีรูโหว่ทั่วไป


ผมหลับตามองเห็นผู้คนชาวชุมชนหงสาทั้งจากบ้านสีมุงคุน(ศรีมงคล)และบ้านอื่นๆในบริเวณนี้ต่างพากันมานั่งในอาคารหลังนี้เพื่อประกอบพิธีกรรมต่างๆทางศาสนา ในบริเวณนี้จึงเต็มไปด้วยจิตอันบริสุทธิ์ที่หลอมรวมกันเพื่อแสดงถึงความศรัทธาอันเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ของการสืบทอดศาสนา ผมสัมผัสสิ่งนั้น ไม่มีอะไรจะยิ่งใหญ่ไปกว่าสิ่งนี้


นี่คือสิมหลังใหม่ที่อยู่ไม่ไกลจากกัน ศิลปกรรมถูกพัฒนาขึ้นมาอีกยุคหนึ่ง มีความพยายามที่จะใส่ความศรัทธานั้นไปบนฝาผนัง แม้จะเป็นฝีมือช่างท้องถิ่น แต่ก็สื่อความหมายได้ แต่ละแผ่นภาพคือศรัทธา มีการยกฐาน หลังคาสองชั้นมีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ ที่เชิงชายมีศิลปกรรมเพิ่มเติม


ใบหน้าพระประธานอิ่มเอิบ หน้าบันพัฒนาขึ้นมามาก แต่ผมพบรูรั่วของหลังคมและร่องรอยของปลวกที่กำลังเกาะกินโครงสร้างไม้ของหลังคมสิมหลังใหม่นี้…


พ่อเฒ่าแม่เฒ่าแห่งบ้านสีมุงคุนบอกว่า สมเด็จพระเทพฯท่านเสด็จมาถึงสองครั้ง วัดบ้านนอกคอกนามีอะไรดีหรือ พระองค์ท่านจึงเสด็จมาถึงสองครั้ง ข้าน้อยมิบังอาจประเมินได้ แต่การสัมผัสเพียงผิวเผินของบ้านสีมุงคุน สิมเก่า สิมใหม่ แต่อายุเกินร้อยปีทั้งนั้น มันบ่งบอกความเป็นชุมชน วิถีแห่งการอยู่ร่วมกัน และครรลองการดำเนินชีวิต
ศิลปกรรม ความเชื่อ ความศรัทธา ฯ

สิ่งเหล่านี้คือเสน่ห์ของชุมชน ท้องถิ่นที่ผมและใครอีกหลายคนหลงใหล ติดหนึบ มันตรงข้ามกับสังคมเมืองที่ก้าวเดินไปไกลมากแล้ว….


พระธรรมดิลก เกจิอาจารย์ล้านนา

2278 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 30 ธันวาคม 2011 เวลา 0:22 ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 67052

ที่ศาลากลางหลังเก่าของเชียงใหม่นั้นเป็นอาคารที่สวยงามมาก ปัจจุบันทำเป็นพิพิธภัณฑ์ ลำดับประวัติศาสตร์ล้านนา ท่านที่สนใจหาเวลาไปเยี่ยมชมนะครับ ผมว่าดีมากๆ ไม่เคยเห็นที่ไหนทำดีเท่านี้


หากยืนหันหน้าเข้าอาคารศาลากลางหลังนี้ ทางซ้ายมือคือวัดอินทขีลสะดือเมือง สวยผิดตาเพราะผมไม่ได้มาแถวนี้เสียนาน ผมจำได้สมัยที่เรียนจบมช.ใหม่ๆ ผมมาเป็นนักข่าวให้กับหนังสือพิมพ์ส่วนกลางฉบับหนึ่ง จึงมาต้อนรับท่านผู้ว่าราชการจังหวัดคนใหม่ที่ศาลากลางแห่งนี้ และได้มาอาศัยสิมหลังนี้นั่งพัก สมัยนั้นเก่าโทรมมากๆ

ติดกับวัดอินทขีลคือพิพิธภัณฑ์อีกแห่งหนึ่ง เกี่ยวกับสมเด็จพระเจ้าติโลกราชเจ้าผู้ครองนครล้านนา ที่เคยนำทัพไปช่วยเจ้าผู้ครองนครล้านช้างสู้รบกับแกวในสมัยโน้น..

ผมเดินชมเพลินๆ ซึ่งไม่เคยเข้ามาก่อนเลย จัดดีมากๆอีกเช่นเคย แนะนำว่าใครที่ไปเชียงใหม่ควรที่จะหาเวลามาชมมาเรียนรู้ประวัติศาสตร์เสียที่นี่จะเข้าใจล้านนาดีมากกว่าภาพที่เห็นในปัจจุบัน

สิ่งที่ผมประทับใจจนต้องน้อมกายก้มลงกราบ.สุดหัวใจคือพระอาจารย์ของผมซึ่งถูกจารึกให้เป็นเกจิอาจารย์แห่งล้านนา ซึ่งมี 6 รูป นับตั้งแต่ครูบาศรีวิชัย หลวงปู่แหวน สุจิณโณ หลวงพ่อเกษม เขมิโก หลวงปู่หล้า ตาทิพย์ และองค์สุดท้ายคือ พระธรรมดิลก หรือจันทร์ กุสโล

 


พระธรรมดิลกนั้น ผมรู้จักชื่อเสียงท่านตั้งแต่สมัยเรียนหนังสือที่ มช. เพราะท่านจัดรายการวิทยุทุกเช้ามืด เทศนาสั่งสอนญาติโยมให้อยู่ในศีลในธรรม ให้ทุกคนสามัคคี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กัน สังคมจึงจะเป็นสุข เมื่อผมเข้าทำงานพัฒนาชนบทที่อำเภอสะเมิง ก็มีโอกาสใกล้ชิดท่านเพราะท่านเป็นพระนักพัฒนา ทำงานเพื่อคนยากจน เพื่อคนชนบทมากมาย

ซึ่งปกติท่านเป็นเจ้าอาวาสวัดเจดีย์หลวงกลางเมืองเชียงใหม่ แต่ท่านชอบที่จะไปประจำที่วัดป่าดาราภิรมย์ที่ อ.แม่ริม และที่นั่นผมไปกราบท่านบ่อยๆ เพื่อปรึกษางานท่านและขอรับความร่วมมือจากมูลนิธิของท่าน

เมื่อผมปรารถนาจะบวชให้พ่อแม่ หนึ่งพรรษากับพระอาจารย์ธรรมธโรที่สำนักปฏิบัติธรรมไทรงาม จังหวัดสุพรรณบุรีรอยต่อกับวิเศษชัยชาญบ้านเกิดผม ผมก็ปวารณาตัวว่าจะขอมาลาสิกขาเพศที่วัดป่าดาราภิรมย์กับพระอาจารย์จันทร์ ซึ่งเราคุ้นชินเรียกท่านว่า หลวงพ่อวัดป่าดาราภิรมย์…

ท่านมีเมตตามาเป็นประธานสึกจากพระให้ผม สั่งสอนอบรมผม… และผมก็มีโอกาสร่วมงานกับท่านอีกเมื่อกลับไปทำงานพัฒนาชนบท

เมื่อผมย้ายไปทำงานอีสานท่านก็มีเมตตาส่ง สคส. ปีใหม่ไปให้ประจำทุกปี ผมพบท่านหลังสุดเมื่อผมไปทำงานที่ดงหลวงแล้ววันหนึ่งฟ้าบรรดาลให้ผมขับรถไปที่จังหวัดนครพนม ไปกราบพระธาตุพนม แล้วผมก็พบท่านโดยบังเอิญ ท่านมากับญาติโยมด้วยรถตู้ที่สร้างพิเศษสามารถนำผู้ป่วยขึ้นลงรถได้โดยระบบไฮโดรลิค เพราะท่านเดินไม่ได้แล้ว นั่งแต่บนรถเข็ญ แต่สุขภาพโดยรวมยังสดใส ผมไปก้มกราบท่าน รายงานตัวให้ท่านทราบว่าผมคือใครในอดีต ท่านจำได้ยิ้มให้ผมและให้ศีลให้พรผม.. หลังจากนั้นผมก็ไม่ได้ไปกราบท่านอีกเลยจนท่านมรณภาพไป

มาพบท่านที่เป็นหุ้นขี้ผึ้งร่วมกับเกจิอาจารย์ล้านนาแห่งนี้ ผมปิติมากที่ขึ้นมาเชียงใหม่ครั้งนี้ได้มากราบท่านอีกครั้งแม้จะอยู่ในสถานภาพเช่นนี้ก็ตาม


หนาววว

2811 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 15 ธันวาคม 2011 เวลา 16:54 ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 164777

ตอนนี้มาอยู่กับอาว์เปลี่ยน เมืองหงสา

หนาวววววว จริงๆ นั่งทำงานทั้งวัน ไม่มีเวลาเข้ามา


เส้นทางที่เดิน..

717 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 5 ธันวาคม 2011 เวลา 10:32 ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 20169


 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

เขียนให้น้องๆที่มูลนิธิพัฒนาอีสาน ในวาระที่ครบรอบ ๓
ทศวรรษ สถานที่แห่งนี้คือเบ้าหลอมหนึ่งของผม คือทางเดินของผม คือบ้านของผม เรามีพี่น้องมากมายเดินตามกันมา เรามีทั้งความสุขและบาดเจ็บ แต่เราก็มุ่งมั่นในเส้นทางเดินนี้ไม่ว่าจะยืนอยู่ตรงไหนของแผ่นดิน สถานะไหนของสังคม กำพืดเราได้ถูกหล่อหลอมมาจากที่นี่

 

ภาพนี้วาดโดย อ.ผ่อง เซ่งกิ่ง ผอ.โรงเรียนรุ่งอรุณ

มูลนิธิพัฒนาอีสานคือโครงการ NET เดิมที่ผมเคยทำงานที่นี่เมื่อสมัยสามสิบปีที่แล้วมา เป็นโครงการที่เกิดขึ้นเพราะเกิดสงครามอินโดจีนแล้วมีค่ายอพยพตามชายแดนมากมาย มีหน่วยงานต่างประเทศและของไทยเองเข้าไปช่วยเหลือ เกิดการเปรียบเทียบว่า ผู้อพยพในค่ายกินดีอยู่ดีมากกว่าชาวบ้านรอบๆค่ายอพยพ จึงเกิดโครงการพัฒนาชุมชนขึ้นทั้งโดยหน่วยงานต่างๆเหล่านั้นเอง และองค์กรใหม่ๆที่เห็นประเด็นนี้ โครงการ NET เกิดขึ้นเพราะ CUSO (Canadian University Service Oversea) เป็นผู้สนับสนุน รวบรวม NGO ไทยมาร่วมกันทำงานที่ชายแดนไทย กัมพูชาที่จังหวัดสุรินทร์ เมื่อโครงการสิ้นสุดก็ตั้งเป็นมูลนิธิและทำงานต่อเนื่องมาจนปัจจุบันนี้ ผู้เป็นกำลังสำคัญท่านหนึ่งที่ดึงให้ CUSO มาสนับสนุนคือ ท่านอาจารย์ ดร.สุธีรา (ทอมสัน) วิจิตรานนท์ ท่านนี้คืออาจารย์ของคุณหมอสงวน นิตยารัมภ์พงศ์ เจ้าของความคิดสามสิบบาทรักษาทุกโรคตัวจริง

 

 

    


จดหมายหายไปไหน..

122 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 4 ธันวาคม 2011 เวลา 17:38 ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 5407

 

รูปนี้ไม่ค่อยชัด เป็นพนักงานไปรษณีย์ที่ขอนแก่นกำลังนำกล่องพัสดุจำนวนมากใส่ท้ายรถมอเตอร์ไซด์ไปส่งผู่รับตามโซนที่เขารับผิดชอบ


ถามว่าคุณเขียนจดหมายฉบับสุดท้ายเมื่อไหร่….? จำไม่ได้แล้วใช่ไหม…

นับตั้งแต่มี Social network เกิดขึ้นมา นับตั้งแต่เครื่องโทรศัพท์ Mobile phone เกิดขึ้นมานี่ จดหมายค่อยๆทยอยหายไปจดหมดสิ้น โทรเลขที่เรามักใช้โทรขอเงินแม่ในสมัยก่อนก็ยกเลิกไปหลายปีแล้ว ผมยังเก็บโทรเลขฉบับสุดท้ายที่เขาเปิดให้ใช้เป็นครั้งสุดท้ายอยู่เลย

ดีไหมที่จดหมายหายไป มือถือเข้ามา internet เข้ามา …..อะไรต่อมิอะไรเข้ามาแทนที่ ก็บอกว่าดีและไม่ดีในทัศนของผมนะครับ

สมัยที่เรียนที่ มช. ทุกเดือนต้องรายงานการเรียนให้ทางบ้านทราบโดยเฉพาะพ่อ ที่ดุมากกกก สั่งเป็นเด็ดขาดยิ่งกว่าคำสั่ง ศปภ. อีกหากไม่รายงานก็อดเงิน เอากะพ่อซิ ผมจึงต้องเขียน เขียน เขียนรายงานทุกเดือน แล้วก็ได้เงิน ผมได้เดือนละ 500 บาทครับ ปี 2512 ที่เชียงใหม่สมัยนั้นอยู่ได้ครับหากไม่เที่ยว กินเหล้า ดูหนัง สูบบุหรี่ เล่นการพนัน..สารพัดที่เด็กวัยรุ่นผู้ชายจะทำ

ตอนที่เขียนจดหมายมากๆดูจะเป็นตอนจีบสาวนี่แหละ เขียนทุกวัน สมัยนั้นค่าแสตมป์ แค่ 50 สตางค์ แล้วก็มาเป็น 1 บาท แล้วก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทักษะการเขียนจึงเกิดไม่มากก็น้อย ประสบการณ์นี้ส่งผลไปถึงการเขียนรายงานในช่วงที่ก้าวเข้ามาทำงานด้วย

ตอนสาวไปเรียนเมืองนอกเราก็ซื้อ aerogram เขียนถึงทุกสัปดาห์ กระไรเลยเธอก็เก็บไว้หมด แถมหอบเอากลับมาเมืองไทยซ่อนไว้
จนเราอยู่ด้วยกันมีลูกด้วยกัน แล้วลูกดันไปพบ อ่านเข้า ฮากันตึงไปเลย…..พ่อกับแม่จีบกัน…..ห้า ห้า ห้า… มันเชยระเบิดในทัศนเธอว่างั้น….

เดี๋ยวนี้ไม่มีจดหมายอีกแล้ว ไปรษณีย์ก็เป็นองค์กรธุรกิจ เปลี่ยนบทบาทไปทำอย่างอื่น ดูจะรับส่งพัสดุนี่แหละที่มากที่สุด

ผมได้ประโยชน์มากๆอีกอย่างจากไปรษณีย์ ขอให้ทุกท่านรับทราบไว้ เพราะท่านอาจจะนึกไม่ถึง แต่ผมได้ค้นพบแล้วว่าผู้ที่รู้แผนที่ชุมชน หมู่บ้านทุกหมู่บ้านในประเทศไทยนี้คือไปรษณีย์ เพราะอะไรท่านทราบดีนะครับ เขาจะทำแผนที่ไว้ เป็น village profile หลายปีก่อนผมร่วมงานกับ ดร.มณีมัย แห่ง มข. ร่วมมือกับ WB ศึกษาเรื่องทุนสังคมในอีสาน เราต้องสัมภาษณ์ชาวบ้านในหลายหมู่บ้านที่เราไม่คุ้นเคย ก็ได้คำแนะนำว่าให้ไปขอแผนที่จากไปรษณีย์ แล้วมาทำการสุ่มตามหลักสถิติ เจ๋งจริงๆครับ เราได้รับความร่วมมือดีมาก ได้แผนที่แสดงที่ตั้งหมู่บ้าน แสดงที่ตั้งครัวเรือน บ้านเลขที่ ชื่อถนน ตรอก ซอกซอยละเอียดยิบ

คราวที่ผมมาทำงานที่ธัญบุรี ลำลูกกา หนองเสือก่อนน้ำท่วมใหญ่นั้นผมก็ใช้ความรู้นี้ขอข้อมูลจากไปรษณีย์ ไม่พลาดครับ

จดหมายหายไป แต่การสื่อสารยังมีอยู่และมากขึ้นโดยใช้เครื่องมือสมัยใหม่ที่ใช้วิธีพูด และกดข้อความสั้นๆ ทักษะการเขียนสื่อความหมายเปลี่ยนไป

มิน่าเล่า อาจารย์หลายท่านส่ายหัวว่าเด็กสมัยใหม่เขียนรายงานไม่เป็น

นักวิชาการสมัยใหม่หลายท่านเขียนรายงานโดยการขอดูของเก่าว่าเขาเขียนกันอย่างไร ให้เริ่มด้วยตัวเอง คิดไม่ออกว่าจะเขียนอย่างไร

หรือสถาบันการศึกษาน่าจะส่งเสริมให้เด็กเขียนจดหมายมาส่งครูซะแล้ว….


เรื่องที่เล่าไม่มีวันจบสิ้น..

58 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 3 ธันวาคม 2011 เวลา 1:55 ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 2976

อย่างที่เคยบอกว่าพี่ชายใหญ่ของยาหยีผมนั้นเคยเป็นนายตำรวจ แต่มีเหตุผลส่วนตัวเลยลาออกมาเป็นประชาชนธรรมดา พาครอบครัวทำขนมขายจนลูกเรียนจบมีหน้าที่การงานกันทั้งนั้น พี่ชายคนนี้ก็เลยพาพี่ผู้หญิงท่องเที่ยวไปยามเป็น สว. บังเอิญพี่ผู้หญิงเกิดเป็นโรคร้ายที่หน้าอก จึงต้องตัดทิ้งไปและหัวใจก็ผิดปกติต้องใส่เครื่องกระตุ้นมาหลายปีแล้ว

เมื่อหนีภัยน้ำท่วมกรุงเทพฯ บ้านผมซึ่งยาหยีผมนั้นเป็นน้องสุดท้อง จึงอาสาต้อนรับผู้ประสบภัยจากกรุงเทพฯ นี่เป็นเหตุหนึ่งที่ผมต้องทิ้งลูกสาวให้ไปอยู่กับเพื่อนเธอ แล้วผมก็ขึ้นไปดูแลพี่ตามสมควร

นับเป็นโอกาสดีที่เวลาเป็นของเรา การกินข้าวมื้อเย็น หรือช่วงกาแฟ จึงเป็นช่วงที่เราขุดเอาสารพัดเรื่องมาคุยกัน ส่วนหนึ่งก็เบี่ยงเบนเรื่องราวน้ำท่วมบ้านไปซะ อีกส่วนหนึ่งผมก็สนใจเรื่องราวอดีตที่พี่ชายคนนี้ผ่านมา เรื่องราวเหล่านี้ ท่านอาจารย์ศรีศักดิ์ วัลลิโภดม ท่านกล่าวว่ามันเป็นประวัติศาสตร์บอกเล่านะ

พี่ชายคนนี้เป็นนายตำรวจคนหนึ่งที่มีโอกาสได้รับใช้ในหลวง สมัยที่ท่านขึ้นไปบุกเบิกงานชาวเขาใหม่ๆ ช่วงสร้างงานใหม่ให้ชาวเขาจากการที่ไปบอกเขาให้เลิกปลูกฝิ่น ท่านมีหมายกำหนดการเดินทางไปภูเขาโน่นนี่ตลอด เพื่อศึกษาสภาพพื้นที่และมองหาลู่ทางพัฒนา พี่ชายคนนี้จึงมีหน้าที่ไปเซอเวย์ล่วงหน้าในพื้นที่ที่จะไป รวมทั้งกำกับการเดินทางของ ในหลวง เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ปลอดภัย

เป็นงานที่หนักและเครียด เพราะต้องประสานงานกับฝ่ายทหารหน่วยต่างๆ ตำรวจฝ่ายต่างๆ โดยเฉพาะกับทางจังหวัดและพื้นที่ พี่ชายจะมีวิทยุมือถือที่เรียก “วอคกี้ทอคกี้” ที่ในหลวงสามารถติดต่อตรงได้ตลอดเวลา.. เกือบสิบปีที่พี่ชายทำหน้าที่นี้จนพื้นที่ภาคเหนือทะลุปรุโปร่งหมด เพราะต้องเดินทางไปสำรวจก่อน บ่อยครั้งต้องพาทีมงานเดินด้วยเท้า รถไม่สามารถใช้ได้ หลายแห่งต้องเดินทางเป็นวันๆ เพื่อไปเตรียมสถานที่ให้ เฮลิคอปเตอร์ของในหลวงลงจอดได้

ช่วงนั้นกำลังมีภัยคอมมิวนิสต์ จึงมีอันตรายมากหากผิดพลาดขึ้นมา การทำงานจึงต้องลับที่สุดและปลอดภัยที่สุด จึงเป็นภาระที่หนักหนาสาหัส การประสานงานและกำลังจึงเป็นเรื่องสำคัญ

มีครั้งหนึ่งที่คณะที่พี่ชายติดวงล้อมของ ผกค. วิทยุของพี่ชายติดต่อทหารให้เอาเฮลิคอบเตอร์ไปรับทีมงานออกมาด้วย

พี่ชายเล่าให้ฟังด้วยน้ำตา..ว่า ทหารวิทยุกลับไปบอกว่าไม่สามารถเอา “ฮอ” ไปรับได้เพราะอันตราย….. บังเอิญในหลวงท่านฟังวิทยุอยู่จึงรับสั่งว่า …เมื่อเขาไม่ไปรับก็เอาเครื่องของฉันไปรับ… เครื่องพระที่นั่งเพียงลำเดียวที่ฝ่ากระสุนปืนเข้าไปรับพี่ชายและทีมตำรวจออกมา พี่ชายจึงรอดชีวิตมาจนปัจจุบันนี้..

ความซาบซึ้งนั้นมีมากมาย เรื่องเล่าภารกิจของพระองค์ท่านต่อชนบท ต่อบ้านเมือง ต่อความยากจนนั้น เล่าไม่มีวันจบสิ้น

เนื่องในวันมหาสมัยที่พระองค์ท่านครบ 7 รอบ..

ขอพระองค์ทรงพระเจริญยิ่งยืนนานเทอญ..


อร่อยจริงๆ..

5 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 2 ธันวาคม 2011 เวลา 0:54 ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 3047

คนเมืองกาญจน์นั้นพูดตรงๆ

อร่อยก็บอกว่าอร่อย..อ่ะ


เณรน้อย..

22 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 1 ธันวาคม 2011 เวลา 17:04 ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 2947

ที่คำแสดรีสอร์ท มีสถานที่ติดริมแม่น้ำ บริเวณกว้าง ต้นไม้สวยงามมาก

ทดสอบระบบ เพราะไป reinstall โปรแกรมมาใหม่


หนีน้ำ..

234 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 9 พฤศจิกายน 2011 เวลา 2:13 ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 4814

ผมหนีน้ำท่วมกรุงเทพฯมาด้วยเหตุผลสองสามประการ

หนึ่ง เห็นปริมาณน้ำมากมายแล้วไม่คิดว่าเราจะรับมือไหว ด้วยสภาพหมู่บ้านจัดสรรแบบกรุงเทพฯ ที่เพิ่งจะมาอยู่ร่วมกัน และยังขายไม่หมด การรวมตัวเพื่อแก้ปัญหาร่วม อาจจะไม่มีประสิทธิภาพ

สอง ต้องแก้ปัญหาลูกสาวที่ที่ทำงานไม่หยุด หากเธอต้องมาทำงานและต้องกลับมาพักบ้านจะลำบากมากๆ หากปิดบ้านและให้เธอไปอยู่กับเพื่อนรักของเธอน่าจะสะดวกกว่า

สาม อันนี้สำคัญสุด คือ ญาติที่เป็นพี่ชาย พี่สะใภ้ ถูกลูกๆบอกให้อพยพไปอยู่บ้านเราที่ขอนแก่นก่อนดีกว่า เพราะพี่สะใภ้เป็นมะเร็งที่หน้าอก ตัดเต้าทิ้งไปแล้ว ลูกๆขอดูแลบ้านที่กรุงเทพฯเอง น้ำแห้งเมื่อไหร่ก็ค่อยกลับไป

เราจึงอพยพกลับบ้านขอนแก่น เพื่อดูแลพี่ๆ แล้วก็เปิดทีวี วิทยุ และสื่อต่างๆเพื่อติดตามสถานการณ์น้ำที่กรุงเทพฯ ถามไถ่กับญาติพี่น้องคนนั้นคนนี้ ….. โทรถามเพื่อนบ้านว่าน้ำถึงไหนแล้ว ดูวุ่นวายกับน้ำนี้จริงๆ…จนลูกสาวผมบ่นเหมือนคนกรุงเทพฯหลายๆคนว่า “น้ำน่ะ จะมาก็มาซะให้รู้แล้วรู้รอดซะเลยดีกว่า….”

บ้านลูกสาวพี่สะใภ้ที่ขึ้นไปขอนแก่นด้วย เพื่อช่วยกันดูแลคนป่วยก็บอกว่าน้ำเข้าบ้านท่วมถึงหน้าอกแล้ว พ่อบ้านเป็นคนส่งข่าว พี่ชายอีกคนของภรรยาผมที่อยู่เสนานิเวศก็ท่วมแล้ว อพยพไปเช่าที่พักวุ่นวายไปหมด น้องชายผมอยู่ฝั่งธนก็โดนเต็มๆ หนีแบบทุลักทุเล เพราะมีน้องหมาด้วย …..

ปัญหาใหญ่ของคนที่เป็นพ่อแม่คือ ลูกๆยังต้องทำงาน ที่ทำงานไม่หยุด จะอพยพไปไกลก็ห่วงลูก ยิ่งเป็นลูกสาวก็ยิ่งห่วงจะไปอยู่ที่ไหนกับใคร จะไปทำงานอย่างไรสะดวกสบายแค่ไหน มันเป็นปัญหาใหญ่โดยเฉพาะแรกๆ แต่ต่อมาดูจะคลี่คลายมากขึ้น เมื่อที่ทำงานได้ช่วยเหลือที่พักให้ บางแห่งจัดให้พักฟรี บางแห่งให้งบประมาณเช่าที่พักตามอัธยาศัย..ดีขึ้นมามากทีเดียว…

ส่วนผมนั้น ยาหยีผมก็งานล้นมือไม่ได้พักได้ผ่อน เดินทางตลอด เดี๋ยวลงมาภาคใต้สามคืน เดี๋ยวไปยโสธร สองคืน ไปเชียงรายห้าคืน นี่ไปอุดรอีกสองคืน… ผมรับหน้าที่ดูแลพี่สะใภ้ที่ป่วยไข้ห่างๆ เพราะเขามีลูกสาวและพี่ชายใหญ่ดูแลใกล้ชิดอยู่แล้ว แต่ในฐานะที่เราเป็นเจ้าของบ้านก็ต้องบริหารจัดการเรื่องการกินการอยู่ให้เรียบร้อย พร้อมที่จะรองรับสถานการณ์เช่นนี้

คนป่วยเข้มแข็งมาก ออกเที่ยวเกือบทุกวัน แล้วก็กลับมานอนพักผ่อน หยูกยาเต็มไปหมด ขาดอะไรก็ให้ส่งมาจากกรุงเทพฯด่วน ผมก็บอกว่า ที่ขอนแก่นน่าจะมียาทุกอย่างสามารถจะซื้อหาได้ แต่พี่เขาอยากได้จากกรุงเทพฯ

บ้านขอนแก่นโชคดีที่น้ำไม่ท่วม แค่ปริ่มๆท่อระบายน้ำจากตัวบ้านออกไปข้างนอก แล้วก็ลดลงตามลำดับ ตอนนี้น้ำเริ่มเน่าเหม็น และลมก็พัดเข้าบ้านเสียด้วย ผมทำหน้าที่กำจัดน้ำเน่าโดยเอา EM ที่ทำไว้ประจำอยู่แล้วเอาไปราด ไปเทตลอดริมน้ำริมรั้ว ผมคิดว่าได้ผมครับ นี่สำรวจด้วยสายตาและสังเกตสภาพทั่วไป

การมีเวลาอยู่กับญาติพี่น้อง ถือโอกาสคุยกันถึงชีวิตของพี่พี่เขา โดยเฉพาะพี่ชายของภรรยาผมท่านนี้อดีตเป็นนายตำรวจอยู่เชียงใหม่ทำหน้าที่รับใช้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ท่านเสด็จสร้างดอยอ่างขางใหม่ๆ เป็นประวัติศาสตร์ที่หาฟังยาก นอกจากนี้พี่ชายยังใกล้ชิดจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ การจัดการกับนายครอง จันดาวงศ์ การปะทะกับคอมมิวนิสต์ กำเนิดแนวคิดพระราชทานพอเพียงของในหลวง ฯลฯ

เสียดายที่เรื่องราวที่เกี่ยวกับองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้นผมเอามาเขียนไม่ได้ด้วยมารยาทและความเหมาะสมในเนื้อหาสาระ ผมคิดว่าเป็นโอกาสดีที่ผมได้รับฟังเรื่องราวจากพี่ชายของภรรยาผมท่านนี้ กล่าวได้อย่างเดียวว่า พระองค์ท่านทรงมุ่งมั่น ทุ่มเทในการสร้างบ้านสร้างเมืองอย่างเต็มที่มาตลอด…

ขอพระองค์ทรงพระเจริญ ยิ่งยืนนาน…


ภาพน้ำท่วมอยุธยาจากนาซา..

11 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 8 พฤศจิกายน 2011 เวลา 23:39 ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 3744


ภาพจาก นาซา ของส่วนหนึ่งของจังหวัดอยุธยาเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2554

ภาพเดียวกันจาก นาซา เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2554

 

ท่านที่สนใจเข้าไปดูภาพอื่นๆได้ที่ http://www.theatlantic.com/infocus/2011/10/thailand-floods-pass-their-peak/100181/


การแก้ปัญหากรณีความขัดแย้งการเปิดบานประตูน้ำชลประทาน

18 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 8 พฤศจิกายน 2011 เวลา 16:28 ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 3692

ผมเรียกว่าการเผชิญหน้าเพื่อการแก้ปัญหา Conflict Confrontation เป็นเรื่องที่ยากมากๆที่จะเข้ามาแก้ปัญหาในลักษณะเผชิญหน้าเช่นนี้ โอกาสในการแก้ปัญหานั้นมีเท่าๆกับไม่มี ต้องดูที่ ความเดือนร้อนของประชาชนได้รับ ประเด็นของปัญหาเป็นตัวหรือส่วนรวม พัฒนาการของความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับเจ้าหน้าที่ชลประทาน ผลกระทบที่เกิดขึ้นและที่อาจจะเกิดขึ้น ทางออกมีกี่ทางในทางเทคนิคและสังคม ฯลฯ

สิ่งที่ผมเสนอต่อไปนี้ เป็นเพียงความเห็นของคนภายนอกที่ไม่มีรายละเอียดของข้อมูล จึงเป็นความคิดเห็นทั่วไปเท่านั้น

  • ความเดือดร้อนคือแรงผลัก

ไม่สามารถเป็นอย่างอื่นได้ เมื่อมวลชนประสบปัญหาและกระทบต่อวิถีชีวิตของเขาอย่างรุนแรง และเกิดข้อเปรียบเทียบระหว่างพื้นที่น้ำท่วมมากกับพื้นที่น้ำท่วมน้อยกว่า เพียงมีสิ่งก่อสร้างมาแบ่งความรุนแรงของปัญหา เป็นปกติของสำนึกขอผลประโยชน์ของบุคคลทั่วไป ไม่ว่าใครจะมีสำนึกแค่ไหนก็อดไม่ได้ที่จะเปรียบเทียบ เมื่อไม่มีคำอธิบายความอดทนก็ถึงจุดระเบิด ที่จะต้องแสดงออกถึงความเดือดร้อนและความคิดเห็น หากมีเพื่อนร่วมความทุกข์ ก็ง่ายที่จะร่วมความรู้สึก ความรู้สึกที่ร่วมก็ง่ายต่อการรวมตัวกันแบบหลวมๆแล้วแสดงความอัดอั้นภายในออกมาตามบรรยากาศที่เอื้อและแรงหนุนที่อาจจะมี

หากการแสดงออกไม่ได้รับการตอบสนองทันทีก็ย่อมก่อให้เกิดการพัฒนาไปได้หลายทาง เช่น จากการรวมตัวแบบหลวมๆพัฒนาไปสู่องค์กรง่ายๆ ผู้มีอิทธิพลทั้งทางการเมือง และกลุ่มผลประโยชน์สามารถใช้ความขัดแย้งนี้ให้เป็นประโยชน์ต่อเขาได้ง่าย เพียงเดินมาสนับสนุนและให้ท้าย ที่เป็นพลังเสริม ฯลฯ

การแสดงออกของกลุ่มผู้เดือดร้อนโดยธรรมชาติจะหาพรรคพวกเพื่อนร่วมความทุกข์ให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แล้วคุยกันถึงสิ่งที่ควรทำ บวกอารมณ์ที่ไม่ได้รับการชี้แจงแถลงไขอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ก่อนเกิดความเดือดร้อน กระทำในสิ่งที่เขาตกลงกันมาก่อน หรือไม่ได้ตกลงแต่มีคนเริ่มก่อน อาจจะเรียกสถานการณ์ช่วงนี้ได้ว่า Chaos ก็ได้ ดังที่ปรากฏในจอทีวีครั้งแล้วครั้งเล่า ซึ่งจะเป็นพฤติกรรมเลียนแบบก็เป็นได้

  • สถานการณ์เผชิญหน้า

ขึ้นกับว่ากลุ่มผู้เดือดร้อนนี้มีกลุ่มนำเป็นแบบไหน หากเป็นผู้มีความรู้ มีสติ มีตำแหน่งหน้าที่การงาน ก็จะมีขั้นตอนการเรียกร้อง เช่น ไปพบเจ้าหน้าที่เพื่อชี้แจงความเดือดร้อน และขอรับการแก้ไข อาจจะทำหนังสือส่วนตัวชี้แจงความเดือดร้อนและขอรับการแก้ไข หรือทำหนังสือและมีบัญชีหางว่าวของผู้ร่วมการเดือดร้อนมาขอรับการแก้ไข

หรือบางกลุ่มที่ไม่สนใจขั้นตอนดังกล่าวก็จะรวมตัวกันแล้วพากันเดินมาหาเจ้าหน้าที่ กดดันให้แก้ปัญหาทันที นี่คือการเผชิญหน้า ซึ่งโดยทั่วไปก็จะใช้เสียง อารมณ์และกลุ่มคนเป็นเครื่องมือในการกดดัน

หากเจ้าหน้าที่ไม่มีการศึกษา ฝึกฝนการเผชิญหน้ามาก่อนย่อมทำอะไรไม่ถูก มีแต่ขอปรึกษาผู้ใหญ่ เมื่อไม่มีคำตอบ กลุ่มเรียกร้องย่อมยิ่งมีอารมณ์ เมื่อมีอารมณ์มากก็ยิ่งด้อยเหตุผลและความสุขุมรอบคอบ และนำไปสู่การกระทำตามที่กลุ่มต้องการ นั้นคือการทำลายคันดิน บานประตู เพื่อเจาะทางให้น้ำไหลไปได้ เพื่อให้บรรลุความต้องการ พฤติกรรมกลุ่มแบบนี้ขึ้นกับผู้นำว่าจะนำไปทางไหน หรือไม่มีผู้นำแต่มีผู้กระทำบางสิ่วบางอย่าวออกมาก่อน ก็จะมีคนตาม เช่นอ่อนหน่อยก็การใช้วาจาที่หยาบคาย ท่าทีที่โมโห แล้วก็รุนแรงมากขึ้นตามลำดับ

หรือแม้จะมีคำตอบ คำอธิบาย ตามหลักการซึ่งจะอยู่ในลักษณะของเนื้อหาที่ ยืนยันในสิ่งที่ชลประทานดำเนินอยู่ ที่ไม่ได้ตอบสนองความต้องการของผู้เรียกร้อง คำอธิบายเหล่านี้ยิ่งไปเพิ่มแรงผลักให้กลุ่มเรียกร้องกดดันรุนแรงมากขึ้น ในวินาทีนั้น กลุ่มผู้ร้องเรียนต้องการคำตอบ เมื่อไม่ได้ก็ต้องแสดงพลังความต้องการทันทีเมื่อกลุ่มตัดสินใจ จึงเกิดการทำลายเกิดขึ้น

 

  • เจ้าหน้าที่ควรทำอย่างไร..?

หากเจ้าหน้าที่ไม่ได้ทำงานมวลชนมาก่อนดังที่นำเสนอไว้นั้น สิ่งที่ควรทำคือ การเผชิญหน้าอย่างมีสติ หนักแน่น และยึดกุมผลประโยชน์ส่วนรวม เจ้าหน้าที่ย่อมทราบดีว่ามีแรงต้านจากประชาชน จึงควรเตรียมตัวปรึกษาหารือถึงหลักการ นโยบาย คำสั่ง แนวทางการปฏิบัติ ระเบียบ ฯ ทั้งหลายอย่างรัดกุม และเตรียมพร้อมการเผชิญหน้าอย่างมีสติ และใจเย็นเป็นที่สุดๆ อดทนต่อคำกล่าวที่ไม่เข้าหูต่างๆที่อาจเกิดขึ้น

เมื่อหลักการต่างๆ หรือนโยบายไปขัดต่อความประสงค์ของประชาชนก็ต้องเจรจาอย่างสุขุมรอบคอบ สติ อดทน ท่าทีเป็นเรื่องสำคัญที่สุดในวิกฤติเช่นนี้ ท่านที่ไม่เคยผ่านตรงนี้มาก่อนย่อมตื่นเต้น จนบางท่านไม่สามารถคุมสติได้ ยิ่งโดนมวลชนใช้วาจาที่หยาบคาย ก็จะเป็นแรงกดดันมหาศาลต่อการเจรจา

  • เจรจา

การเจรจานั้นอาจเกิดขึ้นในหลายลักษณะตามแรงดันที่มีอยู่ โดยหลักการนั้นจะให้ฝ่ายเรียกร้องตั้งตัวแทนมาจำนวนหนึ่งมาเจรจากับผู้มีอำนาจหรือได้รับมอบหมายของหน่วยงาน ในที่นี้อาจเป็นผู้บริหารของชลประทานระดับสูง แต่หลายครั้งการเผชิญหน้านั้นมีองศาของอารมณ์ที่สูงมากบีบบังคับให้เจ้าหน้าที่คุยกันตรงนั้น ต้องการคำตอบตรงนั้น การเจรจาจึงอาจเกิดขึ้นตรงนั้น เจ้าหน้าที่จะเป็นฝ่ายเสียเปรียบที่ถูกห้อมล้อมด้วยแรงกดดันของมวลชนที่เดือดร้อน เพราะทุกครั้งที่ฝ่ายมวลชนกล่าวอะไรไปก็จะมีเสียงสนับสนุนมาจากเพื่อนมวลชน นี่หากเจ้าหน้าที่ไม่มีสติ ไม่มีท่าทีที่ดี ไม่มีความอดทน ไม่เข้มแข็ง ก็อาจ “หลุด” ได้ง่ายๆ

การเจรจาที่ดีนั้น เจ้าหน้าที่ต้องรับฟังมากๆ รับฟังเหตุผล ต่างๆ ความเดือดร้อนที่เกิดขึ้น และความต้องการ จับประเด็นให้ได้ ให้เวลากับเขามากๆเพื่อเป็นการระบายองศาของความร้อนลงไปด้วย การรับฟังก็ต้องมีท่าทีที่ดี สงบ เยือกเย็น น้อมรับสิ่งที่เกิดขึ้น เก็บประเด็นต่างๆไว้ เพื่ออธิบายเหตุผลต่างๆที่มีอยู่

หากไม่มีการทำงานมวลชนมาก่อนการอธิบายด้วยหลักวิชาทางชลประทานนั้น ยากที่ชาวบ้านจะเข้าใจและยอมรับ นี่คือจุดอ่อนในการเผชิญหน้าที่ขาดการทำงานมวลชนมาก่อน นี่คือการตั้งรับที่ต้องอดทน

ในที่สุดก็ต้อง ทางออกก็ต้องต่อรองและเจ้าหน้าที่ชลประทานต้องชั่งน้ำหนัก หากผู้เจรจามีอำนาจตัดสินใจได้ก็ดี หากไม่สามารถตัดสินใจได้ก็ต้องรีบหาคำตอบด่วนที่สุด เพราะความเดือดร้อนนั้นมันไม่ได้รอ หากไม่มีคำตอบ หรือคำตอบไม่ผ่อนคลายใดๆเลยมีแต่ยืนหยัดหลักการ นโยบายอย่างเอาเป็นเอาตาย เชื่อว่า กลุ่มมวลชนย่อมใช้เสียงสนับสนุนของเขานั้นทำลายระบบจัดการน้ำอย่างใดอย่างหนึ่งแน่นอน

ยกเว้นว่าหัวหน้ากลุ่มมวลชนเป็นผู้มีเหตุผลและสามารถรับฟังเจ้าหน้าที่ที่ขอเวลาปรึกษากับฝ่ายบริหารระดับสูงในเวลาที่กำหนดร่วมกัน

  • ข้อพึงตระหนักในการเผชิญหน้า

ไม่ยั่วยวน ไม่ใช้ไม้แข็ง ไม่มีท่าที่ที่แข็งเกินไป ไม่รับฟัง ใช้อำนาจเพียงอย่างเดียว ท้าทาย ข่มขู่ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้เท่ากับการไปเติมเชื้อเพลิงของฝ่ายมวลชนที่กำลังร้อนแรงและจะพัฒนาไปสู่การไร้เหตุผลได้ในที่สุด พัฒนาไปสู่ลักษณะ Chaos ซึ่งอันตรายและมีแต่ความเสียหายเกิดขึ้น

 

นี่ไม่ใช่คำตอบ ไม่ใช่แนวทางประเสริฐ ไม่ใช่สูตร แต่เป็นความคิดเห็นหยาบๆที่อยากแสดงออกเท่านั้น เพราะผู้เขียนเคยเผชิญสิ่งเหล่านี้มาบ้างแล้ว ไม่ว่าในกรณีการเมืองสมัย 14 ตุลา หรือความขัดแย้งในชนบทลักษณะต่างๆ หลายครั้งผู้เขียนอยู่ฝ่ายมวลชนนั้นเองด้วย….


เมื่อมะเร็งหนีน้ำ

9 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 3 พฤศจิกายน 2011 เวลา 1:07 ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 2807

ครอบครัวภรรยาผมเป็นครอบครัวใหญ่ มีพี่น้องหลายคนที่มาใช้ชีวิตในกรุงเทพฯ หลายท่านก็เป็น สว. ต่างก็หาทางหนีทีไล่น้ำที่มาเยือนเมืองหลวงครั้งนี้

ครอบครัวพี่ใหญ่ของภรรยาผมท่านหนึ่งอดีตท่านเป็นรองผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ก็ปิดบ้านที่กรุงเทพฯและเผ่นไปนครศรีธรรมราชมานานแล้ว ท่านหัวเราะเอิ๊กอ๊าก เมื่อเราโทรไปสอบถามสารทุกข์สุกดิบกัน

พี่อีกท่านหนึ่งเป็นรองผู้ว่าการการประปานครหลวง ก็ไม่เคยอยู่ติดบ้านเพราะต้องทำหน้าที่ที่รับผิดชอบเรื่องระบบประปานครหลวงที่มีปัญหาดังข่าวที่เราทราบกันเต็มที่ตลอด 24 ชั่วโมง จึงไม่มีเวลาดูแลบ้านตัวเอง ปล่อยให้พี่สาวทำหน้าที่เกินกว่าแม่บ้าน แต่ก็ยังอยู่รอดปลอดภัย

อีกท่านหนึ่งพี่สะใภ้ที่อดีตเป็นครูของโรงเรียนสังกัด กทม. อายุท่านเลย 70 ไปแล้วท่านเป็นมะเร็งที่หน้าอก และรักษาพยาบาลกันมานานนับปีแล้ว โชคดีที่ท่านมีบุตรสาวคนหนึ่งเป็นพยาบาลวิชาชีพ จึงใช้ความรู้ตัวเองมาดูแลคุณแม่เต็มที่ ขณะที่ทำงานไปด้วย

เพื่อมิให้เกิดปัญหาต่อสภาพปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพฯ ท่านจึงอพยพไปอยู่วังน้ำเขียว แม้ว่าเจ้าของที่พักจะไม่เอาเงินทองแต่อย่างใด แต่ความที่เกรงใจกัน ภรรยาผมซึ่งเป็นน้องสุดท้องของครอบครัวนี้จึงออกปากว่าไปพักบ้านเราที่ขอนแก่นดีกว่า เราพี่น้องกัน และที่บ้านก็มีห้องว่างตั้งสามสี่ห้อง ไม่มีปัญหาน้ำท่วม สะดวกสบาย อาหารการกิน จะเที่ยวที่ไหนก็ได้ เราจึงชวนพี่เขามาพักผ่อนที่บ้าน นานที่สุดเท่าไหร่ก็ได้ ไม่มีปัญหา

พี่สะใภ้ที่เป็นมะเร็งนั้นแน่นอนต้องทานนาเป็นกำๆต่อวัน ท่านสุขภาพกายเป็นไปตามวัยและอาการของโรค แต่จิตใจท่านดีมากๆ เบิกบาน แม้ความตายรออยู่ข้างหน้าที่ก็พร้อมที่จะเดินเข้าหาเมื่อไหร่ก็เมื่อนั้น พี่สะใภ้มีสามีที่เป็นพี่ชายใหญ่ของภรรยาผมนั้นที่ยังแข็งแรงแม้อายุเลย 70 ไปหลายปีแล้ว จึงเป็นคนดูแลที่สำคัญสำหรับพี่สะใภ้ ดูแลเรื่องหยูกยาต่างๆ ชวนออกไปเที่ยว เดินเที่ยว นั่งรถเที่ยวไป บังเอิญพี่สะใภ้เป็นคนชอบเที่ยวจึงไปกันได้ดี

เรายินดียิ่งนักที่มีโอกาสได้ต้อนรับพี่พี่ที่ป่วยไข้และหนีน้ำท่วมมา เราดีใจที่มีส่วนอนุเคราะห์ให้กับพี่พี่ และพร้อมที่จะรับใช้ท่านตามเงื่อนไขและโอกาส เรามีประสบการณ์ดูแลคุณแม่ซึ่งเจ็บป่วย นอนบนเตียงมา 7 ปีก่อนที่ท่านจะสิ้นลมไปตามวาระที่อวัยวะทุกอย่างหมดสภาพไปตามกาล มาคราวนี้พี่สะใภ้มาพักพิงกับเราก็ยินดีที่ได้รับใช้ทดแทนพระคุณท่านที่เคยดูแลภรรยาผมมาสมัยที่ยังเป็นเด็กเล็ก

บุตรสาวที่เป็นพยาบาลก็มีบทบาทที่สำคัญในการดูแลอาหารการกิน หยูกยา การพาเที่ยวโน่นเที่ยวนี่ จริงๆพี่สะใภ้ท่านนี้มิใช่เจ็บป่วยเป็นมะเร็งอย่างเดียว ผู้สูงอายุท่านนี้เป็นไปตามวัย เพราะท่านเป็นความดัน เบาหวาน และโรคหัวใจ ในร่างกายท่านมีหัวใจเทียม และมีเครื่องช่วยกระตุ้นหัวใจฝังติดกับร่างกายมานานหลายปีแล้ว และเจียนอยู่ เจียนไปก็หลายครั้ง แต่แล้วท่านก็ยังอยู่กับเราเป็นขวัญ กำลังใจแก่น้องนุ่ง ลูกหลานอีกหลายคน…

ผมบอกท่านว่า มาพักที่ขอนแก่นหนีน้ำมานั้นถูกแล้ว เพราะขอนแก่นมีโรงพยาบาลที่เป็นโรงเรียนแพทย์มีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านมากมาย การไปมาโรงพยาบาลก็สะดวก ขอให้พักอยู่นานๆเถอะ เรายินดียิ่งนัก มีอะไรขึ้นมาเราก็พร้อมจะพาท่านไปโรงพยาบาล สะดวกกว่าอยู่ในกรุงเทพฯ

เรายินดีที่มีส่วนช่วยเหลือญาติพี่น้องที่หนีน้ำมา และยิ่งท่านเป็นผู้เจ็บป่วยเราก็ยิ่งให้ความสำคัญมากขึ้น


หนีภัยน้ำท่วม.. หนีภัยโตโจ..

27 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 2 พฤศจิกายน 2011 เวลา 23:06 ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 3094

ครอบครัวผมก็คงเหมือนๆกับหลายครอบครัวที่มีญาติพี่น้องที่มาใช้ชีวิตในกรุงเทพฯ ตามเงื่อนไขของชีวิต นอกจากพี่น้องคลานตามกันมาแล้วก็มีญาติฝ่ายสามี ฝ่ายภรรยา เพื่อนรักของญาติ ของลูก ผู้มีพระคุณ และใครต่อใครอีกมากมายตามวัฒนธรรมสังคมไทยที่เป็นครอบครัวขยาย

โดยปกติเราก็จะคิดถึงกัน ถามไถ่กันตามโอกาส ใครเจ็บป่วยก็ไปเยี่ยมยามกัน หรือส่งข้าวของไปเยี่ยมกันตามเงื่อนไข

ยิ่งมีอุทกภัยคราวนี้ก็มีความถี่ในการถามไถ่กันด้วยความเป็นห่วง ต่างรู้สภาพกันดีว่าใครอยู่บนเงื่อนไขอย่างไร ต่างก็พิเคราะห์กันว่าจะทำอะไร อย่างไรถึงจะดีที่สุด ก็เหมือนๆกับทุกคนในสภาพนี้แหละครับ เพียงแต่ทางออกของแต่ละคนไม่เท่ากัน ไม่เหมือนกัน เมื่อเกิดวิกฤติเช่นนี้ก็เห็นชัดเจนว่า อะไรคือความสำคัญของชีวิต องค์ประกอบชีวิต อะไรคือความอยู่รอด และการสร้างเงื่อนไขของการอยู่รอด และต่างก็ถามไถ่ ปรึกษาหารือกันเพื่อเสนอความเห็น คำแนะนำแก่กันและกัน

การที่ส่วนใหญ่อพยพไปต่างจังหวัด ทำให้ผมนึกถึงสมัย “สงครามโตโจ” หลายคนไม่รู้จักชื่อนี้นะครับ ก็แนะนำเลยว่า ก็คือมหาสงครามเอเชียบูรพา หรือสงครามญี่ปุ่น หรือสงครามโลกครั้งที่สองนั่นเอง ที่ญี่ปุ่นต่อสู้กับอเมริกาโดยญี่ปุ่นบุกประเทศต่างๆในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้แล้วบังคับให้เอากำลังทหารเข้าร่วมรบกับอเมริกา …โอยเดี๋ยวยาว….

“โตโจ” คือชื่อนายพลญี่ปุ่นที่นำทัพบุกประเทศไทย สมัยนั้นมีการสอบ Entrance พอดีจึงมีการงดสอบทั่วประเทศกลางคัน แล้วเมื่อสงครามสงบก็มีการสอบใหม่ เป็นการสอบสองครั้ง ซึ่งผมเกิดไม่ทันหรอกครับ แต่รุ่นผมนั้นก็มีการสอบ Entrance สองครั้ง ไม่ใช่เพราะเกิดสงครามแต่เพราะข้อสอบรั่ว..อิอิ ขายหน้าจริงๆ กระทรวง ทบวงมหาวิทยาลัยจึงประกาศยุติการสอบกลางคัน และให้สอบใหม่หมด จึงเป็นรุ่นที่สอบ Entrance สองครั้งเหมือนสมัยที่นายพลโตโจบุก เลยเรียกรุ่นผมสอบว่าเป็น “รุ่นโตโจ” ไปด้วย…

อ้าวเรื่อยเปื่อยไปเลย…

ย้อนกลับมา เมื่อเกิดสงครามญี่ปุ่นก็ใช้เครื่องบินทิ้งระเบิด แน่นอน เขาก็ทิ้งสถานที่สำคัญๆที่เป็นจุดยุทธศาสตร์ ที่จะทำให้เมืองเป็นอัมพาต ไปทั้งหมด นั่นคือตัดเส้นทางคมนาคม ทิ้งระเบิดสถานีไฟฟ้าวัดเลียบ สะพานพุทธ และ…..เมื่อมีการทิ้งระเบิด ประชาชนก็อพยพซิ ไปไหนล่ะ ก็ออกต่างจังหวัดซิ ใครมีญาติโกโหติกาที่ไหนๆก็อพยพไปกันทุลักทุเลพิลึกพิลั่นเชียว เพราะคมนาคมมันแย่กว่านี้แบบเทียบกันไม่ได้

บ้านผมที่วิเศษชัยชาญกลายเป็นที่พักของคุณตา สำเภา ถาวรอยู่ และครอบครัว ความจริงคุณตาไม่ได้เป็นญาติกับตระกูลผมโดยตรง แต่คุณตามีญาติพี่น้องในหมู่บ้านเดียวกัน คุณตามีอาชีพเป็นครูวัดรางบัว ครอบครัวก็เป็นผู้มีความรู้ ย่อมมีนิสัยเรื่องสุขอนามัย วิเศษชัยชาญสมัยเมื่อ 60-70 ปีที่แล้วนั้นคือบ้านนอก ขอโทษนะครับ ไม่มีส้วมสักหลัง เข้าป่าข้างบ้านกันทุกเช้า เป็นที่รู้กัน มีเพียงบ้านผมเท่านั้นที่พ่อผมเป็นครูประชาบาล และมีส้วมซึม…. ญาติพี่น้องคุณตาจึงแนะนำให้มาพักบ้านผม พ่อผมก็ยินดีต้อนรับเต็มที่ถือเป็นความเต็มใจยิ่ง ที่ได้ต้อนรับคนจากเมืองกรุง หนีภัยสงครามมา

ตั้งแต่นั้นมาครอบครัวตระกูลผมกับครอบครัวคุณตาก็เคารพนับถือกันเสมือนญาติพี่น้อง หลายสิบปีเมื่อสงครามผ่านไปคุณตาและเพื่อนๆคุณตารุ่นเดียวกันต่างพากันไปย้อนความหลังที่วิเศษชัยชาญ และไปนอนที่บ้านผม ผมโตแล้ว คุณตาและเพื่อนร่วมภัยสงครามนั่งกินข้าวที่บ้านผม ต่างเล่าถึงความหลังกันลั่นบ้าน ผมเป็นเด็กก็นั่งฟังผู้ใหญ่เขาคุยกัน และคอยรับใช้พ่อที่ให้ไปหยิบโน่นหยิบนี่มาให้

ผมกวาดบ้าน ถูบ้าน ตักน้ำใส่ตุ่ม ใส่ห้องน้ำ ทำงานบ้านทุกอย่าง คุณตาเห็นก็ออกปากว่า เมื่อเรียนจบมศ. 3 แล้ว อยากเรียน มศ.4-5 ก็ไปเรียนที่ฝั่งธนบุรีได้โดยไปพักที่บ้านคุณตานั่นแหละที่สำเหร่ ให้พักฟรีไม่ต้องเสียค่าเช่า แถมกินฟรีด้วย นั่นคือเงื่อนไขที่ผมได้เข้ามาเรียนที่ฝั่งธนบุรีก่อนจะสอบ entrance ในที่สุด

การอพยพหนีภัยสงครามของคุณตา ก็คล้ายๆคนหนีน้ำในปัจจุบันมากันแต่ตัวเอาเสื้อผ้าเท่าที่จำเป็นไปเท่านั้น

แต่คราวนี้เป็นภัยน้ำท่วม….


Flood Effect

71 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 29 ตุลาคม 2011 เวลา 23:19 ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 4317

ท้องฟ้าวันเดินทาง

เช้าวันที่ 27 เวลาตีห้า ผมตื่นขึ้นมาตรวจสอบงานที่รับผิดชอบก่อนที่จะส่งให้บริษัท

ลูกสาวยืนยันกับเพื่อนว่าสายวันนี้จะหอบผ้าหอบผ่อนไปอยู่ด้วย เพื่อนก็แสนดี ยินดีต้อนรับ เธอโทรบอกคุณแม่เพื่อนคนนั้นแจ้งความประสงค์ ซึ่งครอบครัวเพื่อนก็เตรียมตัวรับ

สายหน่อยเธอพยายามติดต่อกับเจ้านายเพื่อแจ้งว่าจะเข้าทำงานสายเพื่อเก็บสิ่งของครั้งสุดท้ายก่อนที่จะแยกย้ายกัน คือผมกลับขอนแก่น รับแม่เขาที่สนามบินขึ้นอีสาน เธอจะอพยพไปอยู่กับเพื่อนที่ออกปากต้อนรับไว้ก่อนแล้ว

เราช่วยกันเก็บข้าวของขึ้นชั้นบนอีกครั้ง ลากตู้เย็นและเครื่องซักผ้าไปไว้ในที่ที่เหมาะสมแล้วเอาถุงพลาสติกใหญ่ ห่อ มัด ดูเหมือนของขวัญไปเลย

แม่ของลูกสาวโทรมาจากกระบี่ว่ากำลังจะเดินทางเข้ากรุงเทพฯ น้ำเป็นไง เก็บของหรือยัง ไปบ้านขอนแก่นด้วยกันได้ไหม..น้ำมาถึงไหนแล้ว…ฯลฯ….

ลูกสาว..เธอติดต่อกับเจ้านายได้ และได้รับข่าวดีว่า สำนักงานประกาศปิดจนถึงวันสิ้นเดือน เราก็เฮ….น่ะซี….. เธอยกเลิกการมาพักกับเพื่อน แจ้งว่าสำนักงานสั่งปิดจึงขอกลับขอนแก่น ไม่ลืมที่จะขอบคุณน้ำใจที่จัดที่พักไว้ให้

สาย..สาย..ได้รับ SMS จากประธานบริษัท เตือนให้พนักงานบริษัทในพื้นที่ต่างๆของ กทม.พึงระมัดระวังเรื่องน้ำท่วม แนะนำสิ่งที่ควรปฏิบัติ และประกาศจัดที่พักให้พนักงานที่น้ำท่วมบ้าน…

เที่ยง…..เราพร้อมแล้วที่จะเดินทาง ยาหยีนั่งคอยอยู่ที่สนามบินสุวรรณภูมิแล้ว สั่งลาเพื่อนบ้าน ตรวจสอบเบอร์โทรศัพท์กันแล้วฝากฝังบ้านไว้ด้วย จะโทรมาถามข่าวคราวน้ำท่วมประจำ เพื่อนบ้านที่อยู่ตรงข้ามไม่อพยพกลับสงขลา เพื่อนบ้านที่ติดกันบอกว่าจะอยู่สู้กับน้ำที่นี่

เราผ่านถนนรามอินทรามุ่งสู่วงแหวนตะวันออกและเป้าหมายคือสุวรรณภูมิ มีรถจอดเต็มบนทางยกระดับ ทั้งเห็นใจและเข้าใจว่าเขาเหล่านั้นไม่มีทางออกที่จะรักษารถ สถานที่ที่รัฐประกาศก็ไกลไปและอาจจะเต็มหมดแล้วก็ได้..

กว่าจะออกจากสุวรรณภูมิก็บ่ายสองโมง เราใช้เส้นทางทางด่วนใหม่กรุงเทพฯชลบุรี-ฉะเชิงเทรา-วังน้ำเขียว-โคราช-ขอนแก่น เป็นเส้นทางที่เราใช้ขาลง แต่ยาหยีผมแนะนำเส้นทาง ฉะเชิงเทรา-บุรีรัมย์-มหาสารคาม-ขอนแก่นสำรองไว้

พ่อเจ้า…ที่สถานที่รับส่งคนทั้งขาเข้าและขาออกที่สนามบินสุวรรณภูมิ ไม่มีระเบียบอะไรแล้ว รถติด เพราะมีรถจอดซ้อนสามแถว ทำให้รถเข้ามารับหรือส่งผู้โดยสารต้องกระดึบๆกัน แล้วมันก็ติดสะสมน่ะซี แต่มี เจ้าหน้าที่คอยจัดการ ก็พอกล้อมแกล้มไปได้

ผมขับรถฉลุยมอเตอร์เวย์ไปชลบุรี รถหนาแน่นมาก แต่ก็ทำความเร็วได้ เมื่อมาถึงทางแยกลงฉะเชิงเทรารถเริ่มติด แต่ก็พอไปได้ มีรถแซงขวามาแทรกแบบลัดคิวเช่นเคย

เนื่องจากเราสามคนพ่อแม่ลูกเพิ่งจะเริ่มเดินทาง ก็โออยู่ กระดื๊บๆไปเรื่อยๆ บางช่วงก็ทำความเร็วได้สัก 300 เมตรก็ติดอีก เป็นรถสารพัดชนิดตั้งแต่ เก๋งส่วนบุคคล กระบะ บรรทุกเครื่องครัว และรถบรรทุก 10 ล้อสารพัดสินค้า คันยาว…

เพราะข้างหน้าวิ่งผ่านตัวเมืองจึงติดไฟแดง เมื่อจำนวนรถมากก็ต้องติดแบบนี้ เราเอาเรื่องราวต่างๆมาคุยกันจนหมด ก็ยังไม่ผ่าน ข้าวกลางวันยังไม่ได้กิน แต่เราตุนขนมและน้ำมาเต็มรถ


ผู้โดยสารในรถเริ่มต้องการเข้าห้องน้ำ ปั้มก็มองไม่เห็น ได้แต่ปลอบใจกันว่า เดี๋ยวคงเจอะข้างหน้า อดทนหน่อย

รถก็วิ่งไม่ได้ กระดึ๊บๆไปเท่านั้น เพราะต่างก็อพยพมุ่งสู่อีสานกันทั้งนั้นส่วนหนึ่งคนกรุงเทพฯก็ไปวังน้ำเขียว เพื่อหลบมาสักพัก…

กว่าจะถึงกบินทร์บุรีก็นานมาก ที่ปั้ม ปตท.ก่อนจะขึ้นภูเขาวังน้ำเขียว รถแวะเข้ามาปั้มเพื่อเติมเต็มน้ำมัน เข้าห้องน้ำ พักรถ หาเครื่องดึ่ม อาหารกิน แทบไม่มีที่จอดรถ เข้าคิวเข้าห้องน้ำกันเลย ซี่งไม่เคยเห็นภาพนี้…. ลูกสาวหลับไปหลายรอบ เธอไม่ลงรถขอหลับต่อ เราจัดการปลดปล่อยน้ำออกจากร่างกายแล้วไปหาก๋วยเตี๋ยวร้อนๆกินกันสองคน สายตาก็มองคนมหาศาลที่แย่งกันกิน หาที่จอดรถ เอาน้องหมาลงมาเดิน ฯลฯ…

เราออกเดินทางต่อ มืดสนิท ปริมาณรถหนาแน่นมากขึ้น ถนนสองเลนกลายเป็นการวิ่ง 3 และ 4 เลนในที่สุด รถเราถูกบีบให้อยู่ขอบถนนซ้ายสุด แล้วก็กระดื๊บไปแบบนี้นานนับชั่วโมง การกระดื๊บ มันไม่ใช้กระดื๊บไปตลอดนะครับ แต่กระดื๊บไปสองสามวาก็หยุดสักพัก แล้วกระดื๊บใหม่ ที่เลนขาเข้าเห็นรถสวนมาน้อยมากและมีรถ ติดไปกระพริบแดงๆวิ่งไปสองสามคัน ใครๆก็เด่าว่า คงเกิดอุบัติเหตุ และนั่นอาจจะเป็นเหตุที่รถติด

 

สี่ทุ่มกว่าแล้ว ยังอยู่ที่กบินทร์บุรี ข้างทางที่เรากระดื๊บไปนั้น มีชาวบ้านถือเป็นโอกาสทำก้าวกล่องมาขาย ตั้งโต๊ะขายน้ำ ขายเครื่องดื่มประเภทกระทิงแดง และขายได้ คนที่นั่งในรถทางเลนขวาไม่ติดด้านขายของก็เดินลงจากรถมาซื้อของไปแจกจ่ายกัน บางช่วงรถเคลื่อนตัวไปกลับหารถไม่ถูกวิ่งหารถกันวุ่นไปหมด แต่จริงๆรถก็วิ่งไปไม่ไกลหรอก..เห็นแล้วก็ขำไม่ออก บางคนหน้าตาตื่นเชียว

สภาพที่ติดแหง๊กเช่นนี้ เราเห็นรถบางคันเลี้ยวเข้าปั้มน้ำมันที่ปิดกิจการ จอดรถเอาเต้นท์มากางและนอน…เออ เข้าท่านะ บางคันเลี้ยวเข้าจอดเพิงขายของของชาวบ้านข้างทาง คงให้ลูกหลานกินข้าว เขาคงไม่ได้แวะที่ปั้ม และไม่คิดว่ามันจะติดมากมายขนาดนี้

รถบางคันจอดตาย ถูกดันเข้าข้างทาง สภาพแบบนี้หากสภาพรถไม่ดี มันจะ โอเวอร์ฮีต แล้วเครื่องก็จะดับ หากยิ่งน้ำหล่อเย็นแห้งหมดละก็ เรื่องใหญ่ละค่าซ่อมไม่ต่ำห้าหมื่น…

จนถึงทางขึ้นภูเขาเราเห็นพนักงานจราจรมารวมตัวกันที่นี่จัดการบริหารรถ เราถูกเรียกให้แซงขวาขึ้นไป รดขาลงภูเขาถูกกักปล่อยให้ขาขึ้นวิ่งขึ้นใช้เวลามากกว่า เพื่อลดการติดแหง๊ก สาเหตุที่รถติดนั้นไม่ใช่อุบัติเหตุ แต่เป็นสภาพถนนตรงส่วนจะขึ้นภูเขานั่นแหละ ขบวนรถจากกรุงเทพฯวิ่งมา 3-4 เลนแล้วบีบลงเหลือ 1 เลน ไม่ติดวินาจสันตะโรก็ไม่ใช่แล้ว

วิ่งขึ้นภูเขาไปนิดเดียวก็ติดอีกแล้ว แต่กระดื๊บได้มากขึ้น เพราะผู้จัดการจราจรตรงตีนภูเขามาจัดการให้รถบรรทุกทุกประเภท ชนิด ขับชิดซ้ายเท่านั้น รถชนิดอื่นวิ่งตรงกลางถนน ทำให้รถพอขยับตัวได้ กว่าจะถึงยอดภูเขาได้ ก็ห้าทุ่มไปแล้ว

ผมเห็นทั้งขาขึ้นและขาล่องมีรถเมล์โดยสารทั้งชั้นเดียวบ้างสองชั้นบ้าง มากมายหลบมาใช้เส้นทางนี้เท่านั้น ผมนึกถึง NCA นครชัยแอร์ รถโดยสารที่คุณภาพดีที่สุด ผมว่าการออกต่างจังหวัดนั่งรถแบบนี้ดีที่สุด หนึ่ง มีห้องน้ำในตัว สองที่นั่งสบาย สามมีอาหาร น้ำดื่มตลอด สี่มีหนังให้ดู ห้าแอร์เย็นฉ่ำ หกปลอดภัยมากกว่า เจ็ดราคาถูกเพียงสี่ร้อยกว่าบาทระหว่างขอนแก่น-กรุงเทพฯ แปด สามารถเอาสิ่งของส่วนตัวติดตัวไปได้พอสมควร..

ขาลงจากภูเขาวังน้ำเขียวเข้าโคราชรถวิ่งได้ไม่ติด คนในรถหลับหมดยกเว้นคนขับรถ ถ้าคนขับหลับด้วยก็จบกัน ห้า ห้า ห้า

ถึงขอนแก่นก็ตีสามครึ่งโดยประมาณ เป็นการเดินทางที่ใช้เวลามากที่สุด เห็นใจ เข้าใจทุกท่านที่อพยพออกจากกรุงเทพฯ ต้องอดทน และเคารพกติกาสังคมกันหน่อยทุกอย่างก็จะไปได้ มันไม่สะดวกเหมือนยามปกติ

ปกติผมใช้เวลาเดินทาง ขอนแก่นกรุงเทพฯประมาณ 5-6 ชั่วโมง เมื่อคืนนี้เป็นสองเท่าเลย

นี่คือ Flood Crisis Effect จากกรุงเทพฯสู่เส้นการใช้รถใช้ถนนบนทางหลวงที่มุ่งสู่ภาคอีสาน รถติดเป็นระยะทางมากกว่า 60 กม. ไม่อยากคิดเลยว่าหากเกิดสงคราม จะทำกันอย่างไรนี่

แต่นี่มันเทียบไม่ได้กับท่านผู้สูญเสียบ้าน ทรัพย์สิน บางครอบครัวมีผู้เสียชีวิตด้วยซ้ำไปกับน้ำครั้งนี้

เป็นกำลังใจให้ครับ เริ่มใหม่ได้นะครับ



Main: 0.25200510025024 sec
Sidebar: 0.075548887252808 sec