บทเรียนสวนป่าของบางทราย..

109 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 14 พฤษภาคม 2010 เวลา 14:23 ในหมวดหมู่ เฮฮาศาสตร์ #
อ่าน: 3809

ตัวเองมาพินิจพิจารณาจากการไปสวนป่าครั้งนี้ มีบทเรียน และความคิดเห็นหลายประการ ดังบันทึกไปบ้างแล้ว อยากบันทึกความคิดเห็นต่อบทเรียนชิ้นสำคัญ กรณีอาจารย์โสรีช์ ที่ผมประทับใจบทบาทและลีลาของท่านอย่างไม่เคยพบอาจารย์ท่านใดทำมาก่อน


ท่านอาจารย์ปฏิบัติตัวเองเป็นทั้งผู้บอกกล่าวและเพื่อนเล่น เพื่อนร่วมการเรียนรู้ อาจารย์โสรีช์ท่านเล่นหลายบทบาทในตัวเอง ในมุมมองของผมนั้นประทับใจการสร้างความกลมกลืน ความเป็นกันเอง การเปิด ฯ ของอาจารย์ต่อลูกศิษย์คนอื่นๆ ผมคิดว่านี่คือปฐมบทของกระบวนการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ยิ่งท่านเอาความสามารถเฉพาะตัวเรื่องการเล่นกีต้าร์ มาเป็นเครื่องมือสร้างการเรียนรู้ผ่านบทเพลงอันไพเราะ เพลง Greenfields นี้ผมยิ่งฟังยิ่งไพเราะ เมื่อผมเดินทางถึงบ้านเดินไปหยิบเอา CD แผ่นนี้มาเปิดซ้ำแล้วซ้ำอีก และนึกถึงการบรรยายของอาจารย์ที่กินความหมายลึกซึ้งยิ่งนัก เป็นแรงผลักให้ผมยกระดับการมองอะไรอะไรให้ไปสู่อีกมิติหนึ่งทีเดียว จนผมมองตัวอาจารย์โสรีย์ในอีกสถานะหนึ่ง เหมือนนักเทศนาทางด้านจิตวิญญาณเลยทีเดียวครับ

ผมขอพิจารณากรณี Session ที่ผมดำเนินการ ความคิดเห็นของแต่ละคนต่อชนบทนั้นมีบทพิจารณาอย่างไร


เป็นเรื่องปกติเหลือเกินที่คนมองดวงจันทร์วันเพ็ญแล้วอธิบายด้วยสาระที่แตกต่างกันมากมาย หรือใกล้เคียงกัน เช่นเดียวกัน แต่ละคนมองชุมชนในมิติที่หลากหลายเพราะ “ฐานการมอง” ที่แตกต่างกัน ซึ่งฐานการมองที่แตกต่างกันนั้นมาจาก “เบ้าหลอมชีวิต” ที่แตกต่างกัน ซึ่งเบ้าหลอมนี้เองที่ได้เป็นเหตุปัจจัยให้วิสัยทัศน์ของบุคคลนั้นๆแตกต่างกันและมีส่วนสำคัญส่วนหนึ่งที่ผลักดันให้เกิดการเดินบนเส้นทางที่เหมือนกัน ต่างกัน หรือใกล้เคียงกัน


เบ้าหลอมหลายคนมีอิทธิพลมาจากครอบครัว การศึกษา ความสนอกสนใจเฉพาะตัว หรือเกิดสำนึกสูงส่งใดๆขึ้นมา ประสบการณ์ชีวิตก็มีส่วนสำคัญ วัฒนธรรม ประเพณี ความเชื่อ ศาสนา ก็ยังมีผลต่อเบ้าหลอม และเบ้าหลอมอื่นๆ ฯลฯ นี่เองที่เรามักพูดถึงระบบการศึกษาสร้างอะไรแก่เด็ก ระบบครอบครัวมีส่วนมากน้อยแค่ไหนในการสร้างเด็กรุ่นใหม่ และแม้แต่สภาพชุมชน ที่มีทุนทางสังคม หรือการแตกสลายของทุนทางสังคมก็ส่วนสำคัญต่อเด็กรุ่นใหม่.. และฐานมุมมองก็ไม่ได้มาจากอิทธิพลปัจจัยด้านใดด้านหนึ่ง อาจจะผสมผสาน ปนเปกันไปตามเหตุผลที่แตกต่างกัน


ขออนุญาตยกกรณี การแสดงความคิดเห็นของท่านอาจารย์โสรีช์ต่อ ตารางสี่เหลี่ยมที่ผมนำมาเป็นสื่อการเข้าสู่กระบวนการเรียนรู้นั้น ท่านตอบว่ามีรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสเพียงหนึ่งรูปเท่านั้น(จากทั้งหมด 30 รูป) ท่านมีคำอธิบายที่เป็นคำอธิบายในมิติ ปรัชญา จากฐานการมองที่แตกต่างจากกลุ่มคนอื่นๆ และน่าสนใจ ทำให้ผมเกิดมิติการเรียนรู้เพิ่มขึ้นจากมุมมองของท่าน

“ในความต่างมีความเหมือน ในความเหมือนมีความต่าง” ท่านมองในมุมความแตกต่างมีความเหมือน ซึ่งท่านเน้นว่ามุมนี้เป็นมุมบวก หากเรามองแต่ความแตกต่างก็สามารถพัฒนาไปสู่ความขัดแย้ง แตกแยกได้ ตรงข้ามหากเรามองเห็นความเหมือนในความต่าง ก็จะเป็นวิธีมองที่ไม่เกิดความแตกแยก..

ผมยอมรับมิติของท่าน แต่ผมก็มีความคิดเห็นต่อเนื่องมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเราในฐานะที่คนทำงานต้องเผชิญหน้ากับคนที่เป็นเป้าหมายที่มีความแตกต่างในเรื่องฐานการมองที่แตกต่างกันมากมาย และมิติเชิงปรัชญานี้ต้องเป็นคนที่มีสติปัญญาที่ถูกพัฒนามาระดับหนึ่งเท่านั้นจึงจะสัมผัสได้ เข้าใจได้ นั่นหมายความว่า ผู้ทำงานต้องเป็นผู้เล่นดนตรีได้หลายคีย์ อ่านบุคคลต่อหน้าให้ออกว่าเขาอยู่ในคีย์ไหนแล้วยกระดับตัวเราให้ใกล้เคียงกับเขาแล้วคุยกันเพื่อยกระดับเขา

แต่นักปฏิบัติต้องฝึกฝนมิตินี้อย่างมากมายทีเดียวก่อนที่จะลงสนามทำงาน มิเช่นนั้นก็เป็นเพียงผู้เล่นดนตรีเท่านั้น เพลงที่บรรเลงไม่มีความไพเราะเอาเสียเลย

เมื่อสรุปได้ดังนี้ผมก็มองมาดูตัวเอง โอ้พระเจ้า เรายังต้วมเตี้ยมอยู่เลย..


Walk through learning (WTL)สวนป่า

432 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 10 พฤษภาคม 2010 เวลา 21:22 ในหมวดหมู่ งานพัฒนาสังคม, เฮฮาศาสตร์ #
อ่าน: 11463

ผมชอบกิจกรรมเดินสวนป่าที่พ่อครูบาฯเป็นผู้นำ กลุ่มผู้สนใจเดินตาม จะหยุดเป็นช่วงๆ แล้วพ่อครูบาก็แนะนำพืชนั้นๆ และความรู้ทั่วไปที่เกี่ยวข้องกัน

ผมนึกถึง Walk through Survey (WTS) ซึ่งเป็นเทคนิคชนิดหนึ่งของ กระบวนการมีส่วนร่วมประเมินสภาพชุมชนชนบทแบบเร่งด่วน Participatory Rapid Appraisal หรือ PRA ที่เราใช้สำหรับสำรวจสภาพพื้นที่โดยรวมของชุมชน หรือพื้นที่เป้าหมายที่เราจะเข้าไปทำงานว่ามีสภาพด้วยตาประจักษ์นั้นเป็นเช่นใด แล้วจัดทำเป็นรายงานระดับต่างๆขึ้นมา

สาระสำคัญของ WTS ใน PRA นั้นคือการค้นหา Key informance (KI) ในชุมชนนั้นๆที่เป็นผู้รู้เรื่องชุมชนดีที่สุดและเข้าใจลักษณะสภาพทางกายภาพของพื้นที่ชุมชนทั้งหมด ซึ่งอาจจะมากกว่า 1 คนแล้วพากันเดินดูสภาพชุมชนทั้งหมด โดยมี KI เป็นผู้อธิบายเรื่องราวทุกเรื่องที่เดินผ่านไปแต่ละก้าว ทีมงานจะซักถามเพื่อให้ได้ข้อมูลที่สำคัญมากที่สุด แล้วทำการบันทึกไปพร้อมๆกัน ทั้งนี้อาจทำแผนที่แบบต่างๆทางกายภาพประกอบด้วย อาจถ่ายรูป อาจวาดภาพประกอบ ฯ

ข้อมูลที่ได้มานั้น ทีมงานจะนำมารวบรวมไว้ จัดหมวดหมู่ความรู้ วิเคราะห์ข้อมูลนั้นๆ และอาจจะนำไปสู่การสังเคราะห์ เพื่อให้เห็นศักยภาพ จุดเด่น จุดด้อย และอื่นๆที่มีคุณค่าต่อองค์ความรู้และการนำไปใช้ประโยชน์ โดยมากทีมงานที่จะทำ WTS นั้นจะเป็น Multi disciplinary ทั้งนี้เพื่อให้ทีมงานแต่ละด้านใช้ความถนัดของตัวเองเจาะข้อมูลที่สำคัญๆออกมา เพื่อความสมบูรณ์
ในการวิเคราะห์ และสังเคราะห์ต่อไป

สวนป่าอาจจะดัดแปลงมาใช้ได้ ประเด็นคือ ต้องมีผู้ที่มีความรู้ เข้าใจและเคยใช้ WTS มาช่วยจัดทำ Session design ซึ่งก็จะขึ้นกับการกำหนดเป้าหมายว่าการเดินครั้งนี้เพื่ออะไร คาดหวังมากน้อยแค่ไหน ซึ่งเราสามารถจะ design ออกมาได้ และในกรณีที่พ่อครูเป็น KI เพราะเป็นเจ้าของสวนป่า แต่อาจจะมี Facilitator หรือกระบวนกร ช่วยเสริมในการขยายความ ตั้งประเด็นคำถาม กระตุ้นให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ฯลฯ

เมื่อสิ้นสุด WTL อาจจะจัดการแบ่งกลุ่ม โดยให้โจทย์แต่ละกลุ่มอาจจะเหมือนกันหรือต่างกันก็แล้วแต่เพื่อให้ทำการสรุป ยกตัวอย่าง

กลุ่มที่ 1 จำนวนสมาชิก 5-10 คน ให้สรุปชื่อพืชที่พบที่สามารถกินได้ พืชสมุนไพร พืชอาหารสัตว์ ฯลฯ
พร้อมเอาใบพืชนั้นมาแสดงด้วย

กลุ่มที่ 2 จำนวนสมาชิก 5-10 คน ให้วาดแผนที่ และสิ่งสำคัญที่พบทั้งหมดตลอดเส้นทางที่เดิน

กลุ่มที่ 3 จำนวนสมาชิก 5-10 คน ให้สรุปชื่อพืชไม้ยืนต้นที่เอาไปใช้ประโยชน์ต่างๆได้ พร้อมเอาใบพืชนั้นมาแสดงด้วย

กลุ่มที่ 4 จำนวนสมาชิก 5-10 คน ให้สรุปชื่อสัตว์ทุกชนิดที่พบ คุณค่า อันตราย พร้อมเอาหลักฐานเช่น ขน รูป หรือวาดรูป ตำแหน่งที่พบ แสดงด้วย
ฯลฯ


การแบ่งกลุ่มอาจจะแบ่งก่อน walk through ก็ย่อมได้ แล้วแต่วัตถุประสงค์

วิทยากร หรือพ่อครูบา อาจจะพูดให้น้อยที่สุด แล้วให้ กลุ่มต่างๆนั้นซักถามเพื่อเขาจะได้ความรู้แล้วเอาไปรวบรวมตามโจทย์ที่มอบหมายให้ ฯลฯ สารพัดที่จะดัดแปลงให้เกิดการเรียนรู้

หากจะเอาหลักการของท่านไร้กรอบ ที่จอมป่วนเอามาพูดบ่อยๆว่า Learn how to learn นั้นอาจจะเน้น
ดัง diagram นี้

คือมอบโจทย์ให้แล้วแต่ละกลุ่มหาคำตอบเอง ไปเรียนรู้เอง ไปหาข้อมูลเอง ไปสัมผัสเอง

การกระทำ walk through learning แบบนี้เป็นการใช้กระบวนการเรียนรู้มาช่วย แทนที่พ่อครูจะเดินเล่า อธิบายไปเรื่อยๆ โดยมีคนเดินตามจำนวนมากไม่ได้สนใจ ไม่ฟัง เมื่อเดินจบอาจไม่ได้เรียนรู้อะไร เท่าไหร่นัก ยกเว้นคนที่สนใจจริงๆ

โจทย์ อาจจะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ เช่น ให้กลุ่มหนึ่งไปเรียนรู้เรื่องราวของวัว.. ไก่ต่างๆในสวนป่า ฯ และให้เขาไปหาความรู้เอง อาจจะแนะบ้างว่าไปหาความรู้ได้ที่ไหนบ้าง กรณีวัวนั้น พ่อครูอาจเอาคนเลี้ยงวัวในสวนป่าเป็นครู แทนพ่อครู เป็นการใช้ทรัพยากรคนในสวนป่าเพิ่มขึ้นอีก พ่อครูค่อยมาเติมเอาทีหลัง

ตอนกลุ่มมาสรุปที่สนุกคือ ระหว่างการเรียนรู้ให้เก็บหลักฐานมาแสดงด้วย เช่น ใบไม้ทุกชนิดที่เรียนรู้มา เปลือกไม้ กิ่งไม้ หรือวาดรูปมา หรือถ่ายรูปมา หรือ ฯ…. เอาหลักฐานเหล่านี้มาติดที่กระดาษให้เป็นหมวดหมู่ หรือแล้วแต่กลุ่มจะออกแบบเอง…

การสรุปนั้นควรที่จะเน้นดังนี้

  • ความรู้ที่ได้
  • ความรู้สึกที่เกิดขึ้นจากการเดิน จากการสัมผัส จากการพบปะ ฯ
  • กระบวนการเรียนรู้มีกี่วิธี แต่ละวิธีเป็นอย่างไรบ้าง จะโน้มนำไปใช้ในชีวิตได้อย่างไร
  • เรียนรู้อะไรบ้างเกี่ยวกับระบบนิเวศ ป่า พืช พืชและสัตว์ คน-พืช-สัตว์-ป่า ฯลฯ
  • การเรียนรู้เป็นกลุ่มเป็นเช่นไรบ้าง
  • ฯลฯ

ทั้งหมดนี้เป็นตัวอย่างที่สามารถสร้างสรรค์ ดัดแปลงได้มากมายโดยเฉพาะท่านที่เป็นครูบาอาจารย์ ศิลปินแบบออต หรือนักคิดสร้างสรรค์ต่างๆ แล้วแต่วัตถุประสงค์ แล้วแต่เงื่อนไขวันนั้นๆ ฤดูกาลนั้นๆ องค์ประกอบของทีมผู้สนับสนุน ฯลฯ

สวนป่ายังเล่นอะไรได้อีกมากมายครับ..


สัตว์ประหลาดที่สวนป่า

196 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 9 พฤษภาคม 2010 เวลา 15:18 ในหมวดหมู่ เฮฮาศาสตร์ #
อ่าน: 4320

สมัยที่ทำงานกลุ่มป่าห้วยขาแข้ง นครสวรรค์นั้น เราเข้าป่าไปดูความอุดมของป่า ผมเองพบเห็นทั้งพืช สัตว์หลายชนิดแบบไม่เคยเห็นมาก่อน นักป่าไม้อธิบายเป็นฉากๆ คุณหมอแผนใหม่และแผนโบราณต่างพูดตรงกันว่า ความอุดมของป่าคือสุขภาพของมนุษย์ เพราะยังมีพืชพันธุ์ไม้ป่าอีกจำนวนมากที่เรายังไม่ทราบสรรพคุณทางยาของเขา หากป่าหมด ความอุดมเหล่านี้ก็หมด อันตรายของมนุษย์ก็เข้าสู่วิกฤตอีกมุมหนึ่งด้วย


ผมยอมรับความจริงนี้ และตระหนัก สำนึกในการปลูกป่าเป็นยิ่งนัก การอนุรักษ์ความสมบูรณ์ของป่านั้นมีคุณค่ามากมายที่เราคิดไม่ถึง สมกับคำกล่าวว่า “ป่าอยู่ได้โดยไม่ต้องมีคน แต่คนอยู่ไม่ได้ถ้าไม่มีป่า” เมื่อไม่นานมานี้ นักวิชาการไทยก็เดินทางเข้าป่าทั้งไทย ลาว เขมร เวียตนาม เพื่อค้นหาพืชชนิดหนึ่งที่มีคุณค่าทางรักษาโรคมะเร็ง เขาต้องการค้นหาว่าพืชชนิดนี้มีกี่สายพันธุ์ อยู่ที่ไหนบ้าง ธรรมชาติของเขาเป็นเช่นไร และพืชชนิดนี้ ต่างสถานที่กันจะมีคุณสมบัติทางยาแตกต่างกันอย่างไร มากน้อยแค่ไหน..


เย็นวันที่เราประชุมกันนั้น พอตกค่ำก่อนหยุดประชุม คุณคอน พาผมไปดูสัตว์ประหลาดตัวนี้ ซึ่งเกาะอยู่ที่เสาโรงงานปั้นอิฐใกล้ที่เรานั่งประชุมนั้นเอง ค่ำแล้วถ่ายได้ไม่ชัด รุ่งเช้าก่อนเดินทางกลับ ผมจึงย่องไปถ่ายรูปใหม่

เดาเอาว่าเป็นแมลงชนิดหนึ่ง ธรรมชาติของเขาจะสร้างเกราะกำบังตัวอ่อนที่อยู่ภายใน ก็กลายเป็นสองชั้นไป ความปลอดภัยสูงมากขึ้น


มหัศจรรย์ชีวิต มหัศจรรย์ธรรมชาติ นี่ถ้าเป็นนักกีฏวิทยาคงมานั่งนอนที่โรงปั้นอิฐนี่เพื่อเฝ้าศึกษาวงจรชีวิตสัตว์แปลกหน้าตัวนี้นะครับ


พ่อครูบาฯ กับผึ้ง..

615 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 8 พฤษภาคม 2010 เวลา 0:07 ในหมวดหมู่ เฮฮาศาสตร์ #
อ่าน: 32096

วันที่ไปจ่ายตลาดที่สตึกวันนั้น ผมเดินตามแม่ครัว บังเอิญผมไปเห็นคุณยายท่านนี้นั่งขายรังผึ้งอยู่ มีหลายรังครับ ผมจึงนั่งลงถามคุณยาย


บางทราย: คุณยายผึ้งรังนี้ราคาเท่าไหร่ครับ ผมชี้ไปที่รังใหญ่นั่น

คุณยาย: รังนี้ราคา 70 บาทจ้า

บางทราย: คุณยายไปเอามาจากไหนครับ

คุณยาย: ไปรับเขามา เขาเอามาจากหลายที่ตามชายแดน

บางทราย: คุณยายมานั่งขายทุกวันเลยหรือ…

คุณยาย: มาขายทุกวันแหละจ้า..

…..


ผมนึกย้อนไปถึงพ่อครูบาฯ เย็นวันนั้นพ่อครูเล่าให้ฟังว่า

คุณแม่ผมท่านอายุมากแล้ว ไม่สบายหนักมากคุณหมอไม่รับแล้ว พ่อครูบอกว่า ตัดสินใจเอามาสวนป่า พร้อมชี้มือไปที่อาคารหลังเล็กนั่น เอามาอยู่ที่นี่ ใจก็คิดว่าจะเอาอย่างไรดีกับแม่…

พ่อครูไม่รู้จะรักษาแม่อย่างไร ข้าวปลากินไม่ได้แล้ว ก็ไปเอารังผึ้งมา คัดเลือกเอาเฉพาะลูกผึ้งที่เป็นตัวอ่อนของผึ้งที่อยู่ในรัง บีบเอาน้ำลูกผึ้งมาผสมกับน้ำผึ้ง หยอดใส่ปากแม่ ค่อยๆทำไป พอดีแม่พอกลืนกินได้ พบว่าอาการแม่ดีวันดีคืน ถึงกับลุกขึ้นมาฝึกเดินใหม่ได้จากการนอนแบบกับพื้น

พ่อครู เล่าว่า คุณแม่มีอายุยืนต่อมาถึง 7 ปี…

สาธุ สาธุ สาธุ..


ไอศกรีมที่สวนป่า

103 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 7 พฤษภาคม 2010 เวลา 22:13 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป, ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 6788

ผมจำชื่ออ้ายท่านนี้ไม่ได้แล้ว

สายวันนั้น ทุกคนมายืนล้อมอ้ายท่านนี้เพื่อซื้อไอศกรีมแบบทำเองดูดแก้ร้อนกัน ช่วงเวลาหนึ่งครุปูกับผมยืนตรงนั้น ครูปูเลี้ยงไอศกรีมผมและหลายๆคน (ขอบคุณมากๆครับ) ผมถามว่าทราบได้อย่างไรว่าในสวนป่านี้มีคนมาหลายคนแล้วเข้ามาขายไอศกรีม

อ้ายตอบว่า ก็ผ่านมาที่ถนนใหญ่เห็นรถบัสเข้ามาก็เลยขับตามมาครับ ไอ้ติมนี่ไปรับเขามาอีกที

อ้าย พรุ่งนี้จะมีคนมาอีก อ้ายจะมาไหมล่ะ อ้ายตอบว่าหากมีคนก็มาซิครับ

เออ..งั้นก็จะโทรบอกเอาไหมว่ามีคนเข้ามาสวนป่าตอนไหน มีโทรศัพท์ไหมล่ะ จะได้บอกได้

อ้าย งุ่นง่านเล็กๆ เขินๆ แล้วก็บอกว่า ผมไม่มีโทรศัพท์ครับ

เราก็ถามต่อว่า อ้าว…งั้นก็ส่งข่าวบอกไม่ได้ซิว่าพรุ่งนี้ตอนไหนจะมีคนเข้ามาในสวนป่านี้..จะได้มาขายไง ขายดีนะ อากาศร้อนๆเช่นนี้ ใครๆก็อยากกินไอศกรีม

ครูปูกับผมพยายามหาทางให้ อ้าย มาขายในสวนป่าให้ได้ แต่ติดตรงที่ว่าจะบอกอย่างไร…

คุยไปมาสักพัก อ้ายบอกว่า ได้ ได้ เดี๋ยวผมทำได้

ครูปู รีบถามทันทีว่า อ้าย..จะหาเงินไปซื้อมือถือหรือ ไม่เอานะ ไม่สมควร ไม่จำเป็น..

อ้ายทำหน้า ปูเลี่ยนๆ เราก็เลยหาทางออกให้ว่า เอางี้ซี ทุกครั้งผ่านถนนใหญ่มาทางนี้ก็แวะมาดูซะหน่อยว่ามีคนจำนวนมากมาที่สวนป่านี่หรือเปล่า..

….

ครูปู และท่านอื่นๆอุดหนุน อ้าย ไปมากพอสมควร ผมก็ว่าน่าจะมากพอที่จะกระตุ้นให้อ้ายท่านนี้ คงต้องแวะมาสวนป่าทุกครั้งที่ผ่านมา…

ไอศกรีม ของอ้าย บรรเทาความร้อนไปได้โขทีเดียวครับ คนที่เป็นแฟนประจำน่าจะเป็น คอน.. อิอิ


เมื่อสวนป่าต้อนรับ..

17 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 4 พฤษภาคม 2010 เวลา 22:25 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป, ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 3151

เชิญคร๊าบบบบ….

สวนป่ายินดีต้อนรับ คร๊าบบบ

จับจองที่พักเอาตามสบาย ชอบมุมไหนเอาเล้ยยยยย

อ้าว…ป้าจุ๋มควงใครมาน่ะครับ..อิอิ

(แหล่งที่มา: Reader’s Digest)


คิดนอกกรอบ..

20 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 27 เมษายน 2010 เวลา 10:36 ในหมวดหมู่ การบริหารจัดการประเทศ, งานพัฒนาสังคม #
อ่าน: 3033

วันนั้นเดินที่สวนป่า เห็นขนไก่ตกอยู่หยิบมาพิจารณาดู รู้สึกชอบ สวยดีครับ หากคนช่างคิดเห็นขนไก่ชิ้นนี้เข้าคงคิดต่อยอดไปหลายอย่าง เช่น

  • เอาไปตกแก่ง เสื้อผ้า หมวก กระเป๋า ถือว่าเป็นแฟชั่นอย่างหนึ่ง
  • เอาไปตกแต่งบอร์ด การนำเสนอผลงานต่างๆ ตามโรงเรียน สถาบัน สถานที่หน่วยงานต่างๆ ฯ
  • เอาไปเป็นต้นแบบในการทำรูปภาพต่างๆ
  • เอาไปเป็นต้นแบบในการทำตกแต่งการบรรจุหีบห่อผลิตภัณฑ์ต่างๆ
  • หากมีจำนวนมากๆก็เอาไปฟอกแล้วเอาไปทำวัสดุทำหมอนรองหัวหรืออื่นๆ
  • หากเอานักต่างๆมาดู น่าจะเกิด “จินตนาการ” ต่างๆมากมายในการเอาไปใช้ประโยชน์น่ะครับ

ความจริงวันนั้นก็คิดอยู่ว่า จะเอาไปเป็นกรณีศึกษาให้นิสิตแพทย์ดูแล้วถามว่า ท่านเห็นวัสดุสิ่งนี้แล้ว

  • ท่านคิดอะไรบ้าง
  • ท่านคิดทำประโยชน์อะไรได้บ้าง
  • ท่านคิดว่าวัสดุสิ่งนี้จะเป็นที่มาของเชื้อโรคต่างๆอะไรได้บ้าง

แล้วเอาความคิดแต่ละคนจัดกลุ่มดูว่า คนเรานั้นคิดอะไร แบ่งได้กี่กลุ่ม แต่ละกลุ่มนั้นผู้คิดมีพื้นฐานจากอะไร (อาจจะสะท้อนภูมิหลังของเขา) การเอาความคิดออกมาจากกลุ่มก็จะเรียนรู้กันเอง และจะช่วยฝึกฝนกระบวนการคิดได้ หลายคนอาจจะต่อยอดไปได้ บางคนอาจเกิดแรงบันดาลใจบางอย่างขึ้นมาได้…ฯลฯ

นี่คือการเรียนนอกกรอบ นอกห้องเรียน กลางป่า กับธรรมชาติ ฯลฯ

บางทีการเรียนรู้นอกกรอบแบบนี้ เอาสิ่งรอบตัวมาเป็นสื่อในการเรียนรู้ แล้วโน้มนำ เข้าสู่ชีวิตเราได้ สนุก กระตุกต่อมคิด สร้างสรรค์ ฯ และหลายครั้งเราได้แนวคิดที่เราคิดไม่ถึงบ่อยๆเช่นกันครับ


AAR นิสิตแพทย์มาสวนป่า

50 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 26 เมษายน 2010 เวลา 18:53 ในหมวดหมู่ การบริหารจัดการประเทศ, งานพัฒนาสังคม #
อ่าน: 3048

เท่าที่ฟังคุณหมอคุยกันถึงนิสิตแพทย์นั้น ดูจะมีแต่เรื่องเรียน สอบ เครียด ปัญหาการเรียนนิสิตแพทย์ ปัญหาหลักสูตรแพทย์ การมองทางออกต่างๆ การคงความเป็นวิชาชีพแพทย์ เกณฑ์ขั้นต่ำของการเป็นแพทย์ ความร่วมมือของทีมอาจารย์ ฯลฯ ล้วนหนักหนาทั้งนั้น ผมฟังแล้วก็หนักหัวไปด้วย…


ในฐานะที่ผมมีเพื่อนเป็นแพทย์หลายคน มีน้องมีพี่ร่วมสถาบันที่ใกล้ชิดกันเป็นแพทย์หลายคน ที่สนิทสนมรักใคร่ขนาดเตะกันได้ก็มี ที่เคยร่วมอุดมการณ์ปฏิวัติสังคมก็มี เมื่อมาทำงานก็ใกล้ชิดวงการแพทย์อันเนื่องมาจากต้องดูแลคุณแม่(ยาย)ที่เข้าๆออกๆ 7 ปี กับโรงพยาบาลทั้งรัฐ ทั้งเอกชนจนพยาบาลร้องอ๋อกันหมดเมื่อเอ่ยชื่อคุณยาย ผมว่าวงการแพทย์นั้นเป็นข้าราชการที่ก้าวหน้าที่สุด มีระบบที่สุด และตื่นตัวทางการเมืองมากที่สุด ทุกครั้งที่มีเรื่องของบ้านเมืองนั้น ต้องมีแพทย์นั่งร่วมโต๊ะให้ข้อเสนอแนะ แก้ปัญหา คัดหางเสือสังคมเสมอ..

แต่ก็ทราบมาว่าแพทย์ที่ “น่าตีก้น” ก็มีไม่น้อยเหมือนกัน ก็เป็นเรื่องปกติของปุถุชน เพราะอาชีพไหนๆก็ย่อมมีคนต่างประเภทกัน แต่เป็นที่ยอมรับกันว่า แพทย์นั้นมีมาตรฐานสูง..


อาชีพแพทย์นั้นเคลื่อนตัวเองตลอดเวลา ผมหมายถึง ปรับเปลี่ยนให้เข้ากับสภาพสังคม ดูจะมากกว่าอาชีพอื่นๆมั๊ง… ดูซิ ทีมอาจารย์หมอพานิสิตแพทย์มาลุยสวนป่าแทนที่จะไปใช้โรงแรมหรูคุยกัน ซึ่งพ่อครูบาฯและอาจารย์แสวงยังบ่นใส่อาจารย์คณะเกษตรศาสตร์เลยว่า ไม่ออกลงสัมผัสดิน นั่งรากงอกอยู่แต่ในห้อง… อันนี้น่าที่จะเป็นวิสัยทัศน์ของผู้บริหารการศึกษาสถาบันนั้นๆ รวมทั้งทีมครู อาจารย์….

โดยส่วนตัวผมไม่ได้คาดหวังว่าการใช้เวลา 2-3 วันที่สวนป่านั้นจะพลิกฟ้าพลิกแผ่นดินให้นิสิตแพทย์เปลี่ยนแปลงไปเฉกเช่น ทีมกลุ่มหมอชนบท หรือหมอเมืองพร้าวในสมัย 14 ตุลา ที่ เอาชนบทเป็นวิถีชีวิตของตัวแพทย์เอง แต่ผมคิดว่า บรรยากาศ การขับกล่อมของทีมวิทยากร การตั้งอกตั้งใจของทีมหมอพี่เลี้ยงหรือทีมอาจารย์หมอ ความยากลำบากบ้างในชีวิตคืออีกบทเรียนที่ความเป็นแพทย์ควรที่จะสัมผัส

ที่เด่นและชอบมากคือ การดึงการเรียนรู้ออกมาจากห้องแล็ป ออกมาจากหนังสือ Text ที่หนาเตอะ ออกจากห้องเรียนที่คุ้นชิน ออกจากบรรยากาศของโรงพยาบาล


ผมจำได้ว่าหลักสูตรการศึกษาในประเทศจีนนั้น ทุกสาขาวิชาก่อนจบจะต้องเข้าไปใช้ชีวิตในชนบทเป็นเวลา 1 ปีเป็นอย่างน้อย ผมสนับสนุนแนวคิดนี้ เพราะนิสิตแพทย์ส่วนใหญ่เป็นคนเมือง และมากกว่าครึ่งของคนในเมืองนั้นถูกเลี้ยงดูมาแบบลูกแก้ว เหมือนไข่ในหิน และประเทศไทยสัดส่วนใหญ่ของพื้นที่และประชากรนั้นคือชนบท เราจะต้องลงไปสัมผัส ไปรับรู้ ไปเรียนรู้ ไปซึมซับ ไปเป็นหนึ่งในวิถีของเขา แล้วย้อนกลับมาร่ำเรียนและใช้ประสบการณ์ในชนบทนั้นๆคิดหาทางว่า “เราจะใช้วิชาชีพแพทย์สร้างสุขภาพชนบทให้ทัดเทียมเมืองได้อย่างไร” ผมว่านิสิตแพทย์มีความเก่งโดยพื้นฐานอยู่แล้ว การนำพา หรือเปิดโอกาสให้เธอเหล่านั้นสัมผัสชนบทอาจเป็นคุณูประการให้เขาเกิดการสร้างสรรค์นวัตกรรมต่างๆออกมาเพื่อสังคมชนบท เพื่อสังคมส่วนใหญ่


ในฐานะที่เป็นประชาชนที่คลุกคลีชนบท ขอชื่นชมคณะอาจารย์แพทย์จากจุฬาทุกท่านที่เฝ้าเติมต่อก่อสร้างคนที่มีคุณค่าเหล่านี้ให้บรรลุเจตนารมณ์ ความเป็นแพทย์เพื่อสังคมสำหรับเธอเหล่านั้นในอนาคต ขอบคุณสวนป่าที่เปิดเวทีแห่งความเป็นธรรมชาติอีกมิติที่นิสิตแพทย์ได้สัมผัสและจะเป็นหน่ออ่อนของการเอ๊ะ..ในที่สุด


เบื้องหลัง session บางทรายที่สวนป่า

1644 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 24 เมษายน 2010 เวลา 22:13 ในหมวดหมู่ งานพัฒนาสังคม #
อ่าน: 20784

ได้รับโจทย์จากพ่อครูบาฯว่าจะกระตุ้นอย่างไรให้นิสิตแพทย์รู้จักคิดรักษาคนไปพร้อมๆกับรักษาไข้ในกรณีชนบท

ผมพยายามหาข้อมูลเพิ่มเติมว่า นิสิตแพทย์กลุ่มนี้คือใคร ให้มากที่สุดเท่าที่เวลาและโอกาสจะมีอยู่ โดยการแอบฟังคนโน้นคนนี้คุยกัน โดยเฉพาะกลุ่มหมอพี่เลี้ยงและคุณสุชาดา SCG ที่มาช่วยงานนี้คุยกัน ก็พอได้ภาพคร่าวๆว่าเป็นกลุ่มนิสิตแพทย์กลุ่มพิเศษที่เข้าเรียนแพทย์จุฬาโดยโควตา และต้องออกไปประจำชนบทในท้องถิ่น ที่ผ่านมาหลายคนก็จ่ายเงินเพื่อซื้อตัวออกจากเงื่อนไขดังกล่าวเพื่อก้าวไปข้างหน้า บางคนก็ไปเรียนต่อ… และสภาพปัจจุบันกลุ่มอาจารย์หมอบ่นว่านิสิตแพทย์เรียนหนักมากๆ แต่ละคนจึงไม่ค่อยสนใจอะไรเอาแต่เรียนๆๆๆเพื่อสอบ..และฯลฯ

ช่วงเวลาที่จำกัดผมก็ออกแบบ session ของผมเป็นแบบเบาๆ ง่ายๆ แต่พยายามสะท้อนข้อเท็จจริงให้เขาได้หลักคิดบ้างเท่านั้น ในฐานะที่ผมจบมาทางการศึกษา แต่มาทำงานพัฒนาคนชนบท ก็ออกแบบ session นี้โดย 1) ผมขอกระดาษ a4 แล้วทำตารางสี่เหลี่ยมจัตุรัส ที่มีรูปเล็กๆจำนวน 16 รูป 2) ผมจะต้องแบ่งกลุ่มนิสิตออกสัก 5 กลุ่ม เพื่อให้ทำกิจกรรมร่วมกันโดยการวาดรูปชนบท 3) แล้วให้กลุ่มมา อธิบายงานวาดรูปที่เขาทำ นั้นให้เพื่อนฟัง 4) หลังจากนั้นเป็นการ สะท้อนมุมมองทั้งหมด โดยพยายามโยงให้เข้าโจทย์คือการเข้าใจคนชนบท ในมุมที่แพทย์จะเอามุมมองเหล่านี้ไปใช้ประโยชน์ต่อไปในภายหน้า

กิจกรรมเหล่านี้ผมเล่นมาบ่อยๆ แต่คนละวัตถุประสงค์กัน แต่เครื่องไม้เครื่องมือต้องพร้อมกว่านี้เช่นมีบอรด์จำหรับการเขียนสรุป พื้นที่ติดรูปที่แสดง และ power point ซึ่งผมเตรียมไปบ้าง แต่การจัดสถานที่ต้องออกมานอกห้อง และไม่มีไวท์บอร์ด จึงบกพร่องไปบ้าง ไม่เป็นไร เราทำงานบนความไม่พร้อมตามแนวคิดที่พ่อครูกล่าวบ่อยๆ ได้.. ยืดหยุ่นได้ โชคดีที่ทีมงานอาจารย์แพทย์มีกระดาษ a4 มีสีเทียนกล่องเตรียมมาพร้อมจึงได้ใช้ประโยชน์

1) ผมเริ่มโดยการเอาตารางนี้มาให้นิสิตดู


แล้วถามนิสิตว่าช่วยกันดูว่ามีรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสทั้งขนาดเล็กและใหญ่รวมกันทั้งหมดกี่รูป ทิ้งช่วงเวลาให้นิสิตดูสักพัก จริงๆควรวาดรูปนี้ใหญ่ๆติดไวท์บอร์ดหน้ากลุ่ม แล้วให้ทุกคนพิจารณาดูสักช่วงเวลาหนึ่ง บางคนอาจจะเอากระดาษมาวาดรูปแล้วพยายามนับ หาคำตอบจากโจทย์

เมื่อได้เวลาพอสมควรก็ให้แต่ละคนช่วยกันตอบคำถาม ซึ่งมักพบว่า นับจำนวนได้ไม่เท่ากัน ขาดบ้างเกินบ้าง ซึ่งจริงๆมีจำนวน 30 รูป จริงๆแล้วควรเฉลยโดยการให้แต่ละคนออกมาอธิบายวิธีนับก็ได้ และหาจุดที่ไม่ได้นับ(มองไม่เห็นว่ามันคือรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส) เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ในที่ประชุมนั้นว่าจริงๆแล้วมีจำนวนเท่าไหร่แน่ จนทุกคนเห็นพ้องต้องกันหมด เราก็เดินประเด็นต่อไปนี้


ประเด็นของการเรียนรู้ตรงนี้ก็คือ เพราะอะไรคนเราจึงนับจำนวนรูปสี่เหลี่ยมนี้ได้ไม่เท่ากัน ? และสามารถตั้งคำถามอีกมากมายให้เกิดการอภิปรายกันอย่างกว้างขวาง ประเด็นที่สำคัญอีกประเด็นหนึ่งคือ

จากบทเรียนนี้เราพบว่าคำตอบที่ถูกต้องคือ 30 รูป นี่คือข้อเท็จจริง ที่เป็นที่สุด ประเด็นสำคัญ จากบทเรียนเราพบว่า ขนาดเรื่องราวที่เราเห็นกับตา สัมผัสได้ด้วยจักขุสัมผัส โสตสัมผัส อาจจะลุกเดินออกมาดูใกล้ๆ อาจจะเอากระดาษมาลอกโจทย์แล้วลองนับ ก็ยังพบว่า เรานับได้ไม่เท่ากัน ซึ่งนี่คือความจริงในสังคมเรา ทุกอย่างที่เราเห็นนั้น เราเข้าถึงความจริงได้ไม่เท่ากัน แม้รูปธรรมที่เห็นจะจะเราก็เห็นได้ไม่เท่ากัน เรานับได้ไม่เท่ากัน เราเข้าถึงความจริงได้ไม่เท่ากัน ซึ่งมาสาเหตุมากมายของแต่ละคน เบื้องหลังของแต่ละคน เบ้าหลอมของแต่ละคน พื้นฐานของแต่ละคน ประสบการณ์ของแต่ละคน

แล้วเรื่องราวที่เป็นจริงในสังคมนี่ล่ะ….???? แล้วคนที่อยู่ต่อหน้าของเรานี่ล่ะ แล้วคนไข้ที่อยู่ตรงหน้าคุณหมอนี่ล่ะ หมอจะวินิจฉัยอาการอะไรสักอย่างนั้นต้องมีข้อมูลที่มากที่สุด ซึ่งในทางกระบวนการทางวิทยาศาสตร์การแพทย์นั้นมีเครื่องมือช่วยเหลือมากมายที่จะได้มาซึ่งข้อมูลบอกอาการของคนไข้ แต่สาเหตุที่มาของอาการเหล่านั้นก็เป็นเรื่องสำคัญไม่ยิ่งหย่อนกัน…?????

2) ผมทิ้งเรื่องทั้งหมดไว้ตรงนั้นแล้ว เริ่มเรื่องใหม่ แบ่งกลุ่มนิสิตแพทย์เป็น 5 กลุ่ม แล้วเอากระดาษ a4 ให้ แล้วให้โจทย์ว่า แต่ละกลุ่มช่วยกันวาดภาพชนบทให้ได้รายละเอียดมากที่สุดเท่าที่กลุ่มจะทำได้ ให้เวลาสักพักหนึ่ง แล้วให้ตัวแทนกลุ่มออกมาอธิบายรูปที่ตัวเองช่วยกันวาดไปนั้นว่ามีอะไรบ้าง มีความหมายอย่างไรบ้าง ฯลฯ ส่วนมากสนุกครับเพราะความแตกต่างกัน เพราะรูปร่างต่างๆที่เขาวาดลงนั้นมันตลก มันแตกต่าง แต่สาระก็คือ


รูปแต่ละรูปนั้นอธิบายชนบทได้ครบถ้วนมากน้อยแค่ไหน…? ตลอดการเล่นมามักพบข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งคือ มักจะมีภูเขาสองลูก มีดวงอาทิตย์ขึ้น มีนกบิน มีกระต๊อบ มีทุ่งนา มีลำธาร มีควาย มีเป็ด ไก่ มีชาวนา บางคนมีมีวัด มีโรงเรียน..ฯ

สรุปเราพบว่า ภาพวาดเหล่านั้นสะท้อนให้เห็นสิ่งที่เป็นกายภาพของพื้นที่มากที่สุด คือสิ่งที่เห็นง่าย สัมผัสได้ง่าย นับได้ง่าย แล้วบางกลุ่มก็ลงลึกไปอีกมีวิถีชีวิต มีสัญลักษณ์สะท้อนวัฒนธรรมบ้าง เช่นวัด โบสถ์ เป็นต้น

ประเด็นหลักที่ต้องการเน้น ให้กลุ่มย้อนกลับไปดูรูปสี่เหลี่ยมที่เรานับมาว่าเราพบว่าบางกลุ่มนับรูปสี่เหลี่ยมได้ไม่ครบข้อเท็จจริง คือ 30 รูป บางคนนับได้ 22 รูป เพราะเขามองไม่เห็นอีก 8 รูป มันเหมือนข้อเท็จจริงที่ซ่อนอยู่เรายังไม่ได้เข้าถึง หรือเข้าถึงไม่ได้ หากไม่รู้คำตอบที่สุดของมันเราก็อาจจะทึกทักเอาว่า ความจริงที่สุดนั้นมีแค่ 22 รูปเท่านั้นทั้งๆที่จริงๆมี 30


แต่เรามักพบว่าสิ่งที่ขาดไปจากรูปที่วาดคือ เรื่อง ความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคน คนกับสิ่งแวดล้อม และที่ขาดมากที่สุดคือคนกับสิ่งเหนือธรรมชาติ คือความเชื่อ ต่างๆของหมู่บ้าน ชุมชน ท้องถิ่น ชนเผ่าฯ (อย่าไปเบรมนิสิตว่าเขาบกพร่อง เป็นเพียงการช่วยกันสะท้อนบทเรียนเท่านั้น)

3) สรุป โดยปกติเรามักจะเข้าถึงความจริงทั้งหมดไม่ได้อย่างทันที ต้องใช้เครื่องมือ ใช้ประสบการณ์ ใช้มุมมองที่ฝึกฝนมา ใช้ตัวช่วย ใช้…….เพราะไม่มีใครเข้าถึงความจริงของคนเพียงหนึ่งคนได้ทั้งหมด ยิ่งเป็นครอบครัว ชุมชน ท้องถิ่น ฯ แต่การยับยั้งชั่งใจ การตั้งสมมุติฐาน การค้นคว้าหาข้อเท็จจริงเรื่อยๆ สร้างฐานข้อมูลที่ครบถ้วนให้มากที่สุดเท่าที่ความจำเป็นควรจะมี ฯลฯ ข้อมูลเหล่านั้นมีส่วนสำคัญในการช่วยให้นักพัฒนาเข้าใจมากขึ้น เข้าถึงข้อเท็จจริงมากขึ้น ตัดสินใจถูกต้องมากขึ้น ในมุมมองของแพทย์ ข้อมูลบุคคลหากมีมากที่สุดช่วยให้คุณหมอวินิจฉัยโรคได้ถูกต้องมากขึ้น…?

แต่หลายเรื่องมันไม่ง่ายนักของการได้มาของข้อมูล เช่น ความเชื่อต่างๆ หรือ วัฒนธรรมการบริโภคของคนบางชุมชน บางชนเผ่า บางท้องถิ่น ที่เหมือนเป็นรูปสี่เหลี่ยมที่เรานับไมได้ เหมือนมันซ่อนอยู่ที่เรามองไม่เห็น สัมผัสไม่ได้ หากไม่มีระบบข้อมูลป้อนให้ หรือเราไม่ sense เราไม่ตระหนัก เราฉาบฉวย เราไม่ฉุกคิด เราไม่เอ๊ะ เรา..ฯลฯ

มีเรื่องราวมากมายที่เกิดขึ้นในสังคมที่มีเหตุมาจากเรื่องนี้


นอกจากนี้แล้วชนบท คนชนบทยังมีบริบทที่คนเมืองเข้าใจผิดพลาดมาก็เยอะ เช่น ภาษาถิ่น ยิ่งคนชนบทนั้นมีภาษาของเขา มีสำนวนของเขา มีบริบทการสื่อสารของเขาเอง.. คนเมืองย่อมเข้าใจคลาดเคลื่อนได้ ยิ่งคนที่ไม่คุ้นเคยกับชนบท บริบทของภาษาถิ่นย่อมรับทราบสำนวนคำตอบของชาวบ้านที่ผิดพลาดได้ แค่คำถามของคนเมืองบ่อยครั้งชาวบ้านก็ไม่เข้าใจ …. ฯลฯ สิ่งเหล่านี้คือจุดเปราะบางที่ทำให้เราเข้าไม่ถึงความจริงทั้งหมดได้ หากไม่ตระหนัก ไม่เข้าใจ และไม่พยายามทำความเข้าใจ ไม่พยายามสร้างระบบที่จะก่อให้เกิดความเสี่ยงน้อยที่สุด ฯลฯ

จากดังกล่าวทั้งหมด นักกระบวนกร สามารถที่จะให้เทคนิคของตัวเองเปลี่ยนวัตถุประสงค์ไปใช้ในสาระอื่นๆได้ตามการสร้างสรรค์ของกระบวนกร และใช้เทคนิคเฉพาะตัวสร้างสรรค์การเรียนรู้ได้มากกว่าที่กล่าวมาทั้งหมดมากมาย


สะท้อน กรณีนิสิตแพทย์ที่สวนป่า

- นิสิตแพทย์ตอบคำถามเรื่องรูปสี่เหลี่ยมได้ดี ตอบจำนวนได้ถูกต้อง ซึ่งหลายครั้ง หลายกลุ่มไม่มีใครตอบถูกเลย ข้อสังเกตว่านิสิตแพทย์เก่งในเรื่องเหล่านี้ค่อนข้างมากกว่ากลุ่มอื่นๆ

- สาระภาพรวมทั้งหมดนั้น นิสิตมีพื้นฐานมาก่อนแล้วเพราะบางคนตอบว่า เคยเรียนเรื่องเหล่านี้มาแล้ว จึงเข้าใจได้…??

- นิสิตมีคำอธิบายภาพได้เป็นเรื่องราวได้ดีสมควร แต่ก็น้อยไปในเรื่องที่กล่าวมาข้างต้นคือความสัมพันธ์คนกับคน คนกับสิ่งแวดล้อมและคนกับสิ่งเหนือธรรมชาติ เพราะน้องๆเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นคนเมือง ได้ถามบางคนที่เป็นเด็กอีสานว่ารู้จักเจ้าปู่ หรือปู่ตาไหม เธอบอกว่าไม่รู้จัก จริงๆ ปู่ตาคือศาลเจ้าที่ประจำชุมชนที่ชาวบ้านเคารพนับถือ มากน้อยแตกต่างกันไป บางชุมชนนับถือมาก ใครจะเข้าจะออกจากหมู่บ้านก็ต้องไปกราบไหว้ รวมไปถึงยามเจ็บไข้ได้ป่วย หรือการรักษาโรคภัยไข้เจ็บด้วย..

- บรรยากาศ อาจจะกร่อยไปหน่อยเพราะ ขาดเครื่องมือที่ผมมักใช้คือ ไวท์บอร์ด กระดาษร่างแบบ ที่ช่วยให้เกิดการบันทึก การเขียนความคิดเห็นลงไป ยิ่งในช่วงระดมความคิดเห็น ควรที่จะบันทึกลงในกระดานหน้าชั้นให้ทุกคนเห็นมากกว่าการพูดเพียงอย่างเดียว

- ฯลฯ อาจจะมีเพื่อนๆช่วยสะท้อนเพิ่มเติมได้ครับ



อภิปรายคำถามหลักพ่อครูบาฯ

595 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 18 สิงหาคม 2009 เวลา 10:40 ในหมวดหมู่ งานพัฒนาสังคม, ทุนสังคม, เฮฮาศาสตร์ #
อ่าน: 15097

คำถามหลัก
อะไรเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้กระบวนการจัดการความรู้ตามแนวคิดของครูบา
สุทธินันท์ ปรัชญพฤทธิ์ทำให้ชุมชนหรือสังคม มีการพัฒนาไปสู่การเป็นสังคมแห่งภูมิปัญญา และการเรียนรู้

อภิปรายคำถามหลัก จากการวิเคราะห์คร่าวๆ

  • เป็นความลงตัวระดับหนึ่งของตัวคนคือครูบาฯ และระบบสื่อสารในยุคนี้คือ blog แต่เนื่องจากครูบามีต้นทุนในหลายประการอยู่ในตัวตน มีสวนป่าที่น่าสนใจยิ่ง มีคนที่รู้จักมักจี่ในท้องถิ่นใกล้ ไกลมากมาย มีบุคลิกท่าทีที่มีเสน่ห์ใครเห็นก็เย็นตาเย็นใจ ยิ่งเนื้อในมีความรู้ มีสาระ ใส่สีสันวาทะเข้าไปก็กระเจิดกระเจิง ถูกใจโก๋ กี๋ กิ๊ก กั๊ก ทั้งหลายแหล่
  • พ่อครูบาเขียนบันทึกลง Blog อันเนื่องมาจาก blog นี่เองและปัจจัยต้นทุนดังกล่าว ก็มีสิงห์เหนือเสือใต้ หมี แมว ทั้งหลายเดินเข้ามาเจริญสัมพันธไมตรี ก็เกิดรู้จักกัน เกิดไปมาหาสู่กัน เลยกลายเป็นข่ายเป็นเครือทั้งเหนือทั้งใต้ ออก ตก กลายเป็น Cyber Community / bond / net / node
  • เมื่อคนรู้จักกัน ก็ย่อมปะทะสังสรรค์ การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความรู้ ความคิดเห็น ในสาระต่างๆทุกแนวก็เกิดขึ้นและพัฒนาต่อเนื่องต่อไป
  • การปะทะสังสรรค์ย่อมเกิดผลออกมา ที่สำคัญคือ การเรียนรู้สาระต่างๆซึ่งกันและกัน ต่อยอดความรู้ มันเป็นเครือข่ายความรู้ online รู้ตัวคนที่เป็นฐานความรู้ ประสบการณ์เฉพาะด้าน ใครอยากรู้อะไรก็ไป shopping ใน blog ท่านนั้นๆ หรือติดต่อโดยตรงส่วนตัว ก็เกิดการถ่ายเทความรู้กัน หากการถ่ายเทความรู้นี้มีแสงไฟประกายออกมา เราคงจะเห็นแสงสว่างวูบวาบไปตลอดเวลา สว่างมากน้อย แล้วแต่วาระ ความสนใจ ประเด็น ฯลฯ นี่คือสังคมแห่งการเรียนรู้
  • ความรู้มีหลายลักษณะ เช่น สิ่งที่ต้องรู้ สิ่งที่ควรรู้ สิ่งที่รู้ก็ได้ ไม่รู้ก็ได้ ฐานวิชาชีพของแต่ละคนแตกต่างกัน สิ่งที่ต้องรู้ที่อิงอาชีพจึงแตกต่างกัน ความหลากหลายจึงเกิดขึ้น แต่ทั้งหมดที่คล้ายๆกันคือ ฐานความรู้การดำรงชีพให้มีความสุข ยืนนาน ทุกคนควรจะมีพื้นฐานอันเดียวกัน ใกล้เคียงกัน ก็ขึ้นกับความสนใจ การเอื้อมากน้อยที่ต่างกัน


  • แต่ละคน(Subject) มีประสบการณ์ มีความรู้ ความสนใจ(Subject area) ซ้ำกันบ้าง เหลื่อมกันบ้าง เหลื่อมมากเหลื่อมน้อยบ้าง แต่ต่างมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันอยู่บนฐานของ “เอาใจมาให้กัน” นี่คือจุดเด่นของชุมชนแห่งนี้

คำถามรอง
1. กระบวนการจัดการความรู้ตามแนวคิดของครูบาสุทธินันท์ ปรัชญพฤทธิ์ มีกระบวนการอย่างไร
2. มีปัจจัยสำคัญใดบ้างที่เป็นปัจจัยส่งเสริมในกระบวนการจัดการความรู้ตามแนวคิดของครูบาสุทธินันท์ ปรัชญพฤทธิ์
3. มีปัญหา และข้อจำกัดอะไรบ้าง ในกระบวนการจัดการความรู้ตามแนวคิดของครูบาสุทธินันท์ ปรัชญพฤทธิ์

ไม่อภิปรายในข้อหนึ่ง

ข้อสอง

ปัจจัยที่เสริมในกระบวนการเรียนรู้น่าจะเป็น

  • ความเป็นครูบาสุทธินันท์ Personality ที่มีองค์ประกอบในหลายประการ อาจจะเรียกรวมๆว่าเสน่ห์ เช่น ท่วงท่า ลีลา การวางตัว อักษรที่จารลงไปในบันทึก ฯลฯ
  • องค์ความรู้ ที่เป็นทุนภายในของครูบาสิทธินันท์ มีมากมาย เพราะเก็บเกี่ยวประสบการณ์ชีวิตมามาก เรียนรู้มาเยอะ ทั้งของตนเองและเชื่อมต่อกับท่านอื่นๆ
  • หากย้อนไปดูนิวาสถานที่อยู่อาศัยเป็นป่ากลางทะเลทราย นี่ก็เป็นสถานตักศิลาที่เหมาะสม ใครๆเห็นก็อยากจะมา มากกว่าเป็นตึกรามใหญ่โตแต่แห้งแล้ง ธรรมชาติคือองค์ประกอบสถานที่ที่มีคุณค่าแก่การมาเรียนรู้อย่างยิ่ง ทั้งเรียนรู้ธรรมชาติ และเรียนรู้เรื่องอื่นๆท่ามกลางธรรมชาติ โบราณก็เรียนในป่าทั้งนั้น
  • เครือข่าย อันนี้หายากครับ หากใครมีเครือข่าย หรือพูดง่ายๆคือเพื่อนที่อุดมความรู้ ท่านครูบาไม่รู้ไปทุกเรื่อง และใครๆก็เป็นเช่นนั้น แต่สามารถระดมความรู้มาได้ บอกกล่าวได้ เชื่อมได้
  • วิธีคิด มุมมอง ทัศนคติ ในประเด็นต่างๆนั้น ครูบามีแตกต่างจากท่านอื่นๆ ใครที่ตามมาคุยด้วยก็จะได้เปิดสมองส่วนที่ยังไม่ได้ใช้ออกมา
  • ฯลฯ

ปัญหาน่ะมีไหมในกระบวนการจัดการความรู้ของครูบาฯ

  • ไม่ว่าแบบไหนๆก็มีทั้งนั้นแหละ การศึกษาในระบบจึงมีคนสอบได้สอบตกไง มีคนแค่สอบผ่านกับคนที่ได้เกรียตินิยม ก็เป็นเรื่องปกติ
  • หากเอาปัจจัยของเสริมของครูบาตั้งขึ้น แล้วมองปัญหาในกระบวนการก็คือ ผู้ที่มาเรียนรู้ มาเพราะถูกบังคับให้มา มาเพราะเอาคะแนน อย่างคนทำวิทยานิพนธ์นี้ไง อิอิ หรือมาเพราะสนใจ อย่างหมอจอมป่วนบึ่งรถมาจากเมืองพิษฯตรงดิ่งยังกะกระทิงโทน ลุยตรงมาเลย แบบนี้ก็ได้ไปเต็มๆ
  • ผู้มาเรียนอาจจะสนใจจริง แต่รับลูกไม่ทัน ตามไม่ทัน เพราะไม่มีพื้นฐานมาก่อน ไม่มีการปูพื้นฐานมาก่อน เคนชินกับระบบเดิมๆ พอมาแบบนี้ก็งง แปลก เลย เก็บความรู้ตกๆหล่นๆ ต้องเตรียมตัวมาก่อน มีฐานการเรียนรู้มาก่อนจึงจะรับได้เต็มๆ พ่อครูบาใช้ชีวิตผ่านองค์ความรู้มามากมาย การพูดจาบางครั้งก็เป็นธรรมะ เป็นบทสรุปสุดยอด เด็กใหม่ไม่คุ้นชินก็ลำบากเหมือนกันในบางสาระ
  • เหมือนคนสนใจปฏิบัติธรรมวิปัสสนากรรมฐาน บางคนชอบแบบสัมมาอรหัง บางคนคุ้นชินแบบยุบหนอพองหนอ หลายคนสนใจแบบคู้เหยียดแขน ทั้งๆที่ทั้งหมดเป็นอุบายเพื่อเดินทางเข้าสู่จิตสงบ บรรลุธรรมะ ดังนั้น หลายคนไม่ถนัดที่จะเรียนแบบครูบา ตรงข้ามหลายคนได้สัมผัสแล้วน้ำตาไหล..
  • ครูบาได้ใช้ประโยชน์เฮฮาศาสตร์มาก แต่เฮฮาศาสตร์ไม่ใช่สถาบันการศึกษา เช่นวงน้ำชา เชียงราย ที่วันดีคืนดีก็เรียกทีมงานมานั่งประชุมยกระดับกระบวนการให้เหมาะกับคนที่จะมาเรียนรู้ในสำนัก แต่เฮฮาศาสตร์เป็นอีกแบบหนึ่ง ที่หลวมๆ โดยมีครูบาเป็นแกนกลาง เห็นเหง้าหลัก หากขาดไปก็อาจจะกระทบต่อกระบวนการนี้ได้ทันที อาจสุ่มเสี่ยงต่อความไม่ต่อเนื่อง และความยั่งยืน อนาคตอาจจะมีทางออกดีดีก็ได้

เอาแบบด่วนๆนะครับ อิอิ


ไปสุรินทร์ทำไม..

14 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 8 กรกฏาคม 2009 เวลา 2:22 ในหมวดหมู่ งานพัฒนาสังคม, ทุนสังคม, เฮฮาศาสตร์ #
อ่าน: 2578

ขณะที่ผมนั่งดูรายการระลึกถึงไมเคิล แจคสัน พิธีกรเชิญคุณมาโนช พุฒตาลมาคุยด้วย ซึ่งเขาเป็นผู้รู้ในเรื่องเสียงเพลงและประวัติบรรดานักร้องต่างประเทศ คุณมาโนชพูดถูกใจผมมาก กล่าวว่า ความคลั่งใคร้ของแฟนๆไมเคิลนั้น “เกินจริง ยกให้ไมเคิลเป็น King of Pop เขามีชื่อเสียงมากตั้งแต่เด็ก และดังมาตลอด วิถีเขาอย่างราชา จนเขาไม่เคยสัมผัสชีวิตความเป็นปุถุชนว่าเป็นอย่างไร ซึ่งเกินจริง ในสังคมนี้มีสิ่งเกินความจริงหลายอย่าง… การที่คนยกย่องเขามากมายมหาศาลนั้นมันไม่ได้ก่อประโยชน์แก่สังคม อาจจะมีเพียงธุรกิจเท่านั้นที่รองรับการเป็น Superstar ของเขา ขณะที่มีคนเล็กๆที่ทำประโยชน์แก่สังคมนี้ แต่เขาอยู่ในมุมมืดของการเป็นข่าว การดำเนินชีวิตของเขาเป็นประโยชน์แก่สังคมมากกว่าไมเคิล แต่สังคมไม่เคยกล่าวถึงเขาเหล่านั้น....”


ผมนึกถึงเรื่องในอดีตน้องเขยผมมีเหตุขัดคอกับเพื่อนบ้านที่เป็นคนนอกเข้ามาอยู่ในสายเครือญาติ เขาไม่ทราบพัฒนาการตระกูลเราเพราะเขาเป็นคนนอก ความรุนแรงของความขัดแย้งนั้นมันบานปลายมากกว่าที่เราคิดถึง เรื่องนี้เปิดเผยมาในภายหลังอีกหลายปีต่อมา คือ คู่ขัดแย้งของน้องเขยผมไปว่าจ้างมือปืนมาให้ไปทำร้ายแก่ชีวิตน้องเขยผม ต่อมามือปืนมาสารภาพแก่ครอบครัวผมว่า เขารับงานมาไม่รู้ว่าเป้าหมายคือใคร แต่เมื่อจะลงมือทราบว่าเป็นคนในครอบครัวผม มือปืนคนนั้นยกเลิกงานชิ้นนี้ เพราะเขากล่าวว่าเขาสำนึกใน “ข้าวแดงแกงร้อน” ที่อดีตปู่ผม พ่อผมเคยมีโอกาสเลี้ยงดูเขามา บุญคุณต้องทดแทน แม้ว่าน้องเขยผมเป็นคนนอก แต่ก็เข้ามาในตระกูลผมแล้ว มือปืนคนนี้จึงไม่ทำงานชิ้นนี้ต่อให้จบ….

ผมไม่ทราบว่าสังคมนี้จะมีอะไรอย่างนี้คงเหลืออยู่มากน้อยแค่ไหน.ไม่มีสำรวจหาความคงอยู่ หรือมันเป็นเพียงสิ่งบอกเล่าเรื่องในอดีตเท่านั้น


หลายสิบปีก่อน ขณะที่ผมและเพื่อนนั่งทานก๊วยเตี๋ยวที่ร้านเล็กๆแห่งหนึ่ง มีขอทานเข้ามาขอเงิน เพื่อนผมถามว่า เอาเงินไปทำอะไร ขอทานคนนั้นบอกว่า เอาไปซื้อข้าวกิน เขายังไม่ได้กินข้าว เพื่อนผมกล่าวกับขอทานคนนั้นว่า หากหิวข้าวก็นั่งลงตรงนี้เดี๋ยวจะสั่งก๊วยเตี๋ยวให้กินเอาไหม ขอทานคนนั้นพยักหน้า แล้วเราก็นั่งกินก๋วยเตี๋ยวโต๊ะเดียวกัน เขากินเสร็จก็ขอห่อเศษที่เหลือกลับไปด้วย…… ผมจำได้ติดหูติดหาต่อการกระทำของเพื่อนคนนี้…

เวลาผมออกหมู่บ้าน และมีโอกาสกิน นอนที่หมู่บ้านชาวบ้าน เราทราบดีว่า อาหารทุกมื้อที่ชาวบ้านทำให้ผมและเพื่อนๆกินนั้น เป็นอาหารที่ดีที่สุดที่เขาสรรหามาให้

ตอนที่คุณแม่(ยาย)ผมยังมีชีวิตและนอนแบบอยู่บนเตียงเป็นเวลา 7 ปีนั้น แม่มักจะเรียกผมไปหา แล้วกล่าวว่า “แม่ดีใจที่บู๊ดอยู่บ้านให้เห็นหน้า…” คนป่วยที่ช่วยตัวเองไม่ได้เลยนั้นอยากให้คนใกล้ชิดมาวนเวียนอยู่ใกล้ๆ ก็แค่ให้สบายใจ..

ผมไม่รู้จักคุณปิ๋วเป็นการส่วนตัว แทบจะไม่เห็นหน้าค่าตาด้วยซ้ำไป แต่ผมกินข้าวจากฝีมือเธอ จากความตั้งใจของเธอ จากน้ำใจของเธอ ผมอิ่มหนำสำราญจากการประกอบอาหารของเธอให้ผมและเพื่อนๆอีกนับจำนวนไม่หมดที่ผ่านสวนป่า…

ผมเชื่อว่าเพื่อนทุกคนก็คิดเหมือนผม และมีประสบการณ์คล้ายๆที่ผมกล่าวมา เมื่อผมมีโอกาสจึงเก็บหยูกยา และของใช้สำหรับผู้ป่วยที่เป็นเบาหวานของแม่ที่เหลืออยู่ น่าจะเป็นประโยชน์แก่คุณปิ๋วมากกว่าที่เก็บไว้เฉยๆที่บ้านผม…

คุณปิ๋วต้องการกำลังใจ เธอต้องการคุณหมอและการรักษากาย แม้ว่าคุณปิ๋วเป็นฟันเฟืองเล็กๆ แต่เป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งที่ไปทำให้ฟันเฟืองใหญ่ทำหน้าที่ขับเคลื่อนสังคมนี้ สังคมในฝันของเรา…

ผมมีความรู้สึกดีดีมอบให้คุณปิ๋วน่ะครับ

นี่คือเหตุผลที่ผมไปสุรินทร์…

(หมายเหตุ: เอารูปมาจาก blog ของพ่อครูบาฯ)


น้ำตา..เนื่องมาจากพี่เปี๊ยก..

950 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 2 มีนาคม 2009 เวลา 1:29 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 18695

ผมเอาเรื่องพี่เปี๊ยกมาเขียนหน่อย..

พี่เปี๊ยกไม่มีรายได้อะไร เพราะไม่มีงานประจำอย่างเราๆท่านๆ…แล้วมีชีวิตอยู่อย่างไร..?

ก็น้องๆที่แวะเวียนไปหาพี่เปี๊ยกก็ช่วยสนับสนุนกันตามกำลังบ้าง..

การเชิญพี่เปี๊ยกเป็นที่ปรึกษางานโน่นนี่ก็พอมีค่าตอบแทนบ้าง ซึ่งก็ไม่แน่นอน..

ดูการใช้ชีวิตของพี่เปี๊ยกแล้วทุกท่านคงเดาออกนะครับว่าเรียบง่ายเสียจน..

ในคราวที่น้องๆรวบรวมบทความของพี่เปี๊ยกรวมเล่มเรื่องวัฒนธรรมชุมชนนั้น

ก็มอบให้พี่มาจำนวนหนึ่งเพื่อให้ไปจำหน่ายเอาเอง ได้เงินมาก็เป็นของพี่เปี๊ยกเอง

การมาสวนป่าคราวนี้ก็เช่นกัน….พี่เปี๊ยกบอกผมว่า บู๊ด..เอาหนังสือไปขายบ้างได้ไหม..

ผมก็ว่าได้ เดี๋ยวผมจัดการให้พี่เอาหนังสือมาให้ผม..

น้องๆที่ขอนแก่นก็รวบรวมหนังสือให้ได้มานิดหน่อยเพราะไม่ได้เตรียมตัวมาก่อน..

น้องขจิต และน้องมะเดี่ยว ช่วยจัดการให้..

หลังการพูดเสร็จ หนังสือขายหมดเกลี้ยงเลย.. ไม่พอเสียด้วยซ้ำไปเพราะหลวงพี่ติ๊กสนใจก็หมดเสียแล้ว

ผมบอกหลวงพี่ว่าผมจะเอาไปถวายเองที่วัดสระเกศ

เพราะวันจันทร์ผมมีประชุมที่กรุงเทพฯจะหาเวลาแวะไปกราบท่าน

ช่วงที่ทุกคนเดินทางไปทานอาหารกลางวัน มีบางท่านมาซื้อหนังสือจากเดี่ยวจนหมดนั้น ต่างก็ยื่นหนังสือให้พี่เปี๊ยกเซนต์

แต่พี่เปี๊ยกให้มากกว่าลายเซ็น คือเขียนกลอนให้ด้วย

พี่จะมองหน้าท่านนั้นแล้วซักถามเรื่องส่วนตัวสักสองสามคำถาม

จากนั้นก็ตั้งสติ แล้วก็ “จารบทกลอน” สดๆลงไป…

เมื่อถึงคราวคุณสุภาพสตรีท่านที่ยืนตรงกลางเอาหนังสือให้พี่เปี๊ยกจาร

ใช้เวลาไม่นานนัก…

เมื่อเสร็จเธอก็รับมาแล้วก็อ่าน..อ่าน..ให้เพื่อนฟังด้วย..

เมื่ออ่านจบ เธอน้ำตาไหลออกมาครับ จนเธอต้องลุกเดินออกไป..

คุณสุภาพบุรุษท่านที่ยืนข้างกายนั้น เดินตามไปพร้อมกับน้ำตาไหลรินออกมาด้วย..

อยากทราบว่าบทกลอนบทนั้นว่าอย่างไร..

ขอให้ท่านไปถามสุภาพสตรีท่านนั้นเถิดครับ….

ผมเชื่อว่าเธอยินดีที่จะกล่าวถึงครับ…..



Main: 0.11224794387817 sec
Sidebar: 0.067305088043213 sec